Skip to main content
sharethis

ชื่อบทความเดิม : ศิลปะมลายูที่กำลังจะถูกทำลายภายใต้ไฟสงคราม ตอนที่ 2


 


อภิศักดิ์  สุขเกษม


กรรมการบริหารสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย(สนนท.)


 


 


ย้อนหลังกลับไปเมื่อเหตุการณ์ เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 เหตุการณ์มัสยิดกรือเซะยังคงอยู่ในความทรงจำอันเลวร้ายของชาวบ้านในพื้นที่ หลังเกิดเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะอยู่ในสภาพที่ได้รับความเสียหายจากการถูกรอยกระสุนจำนวนนับไม่ถ้วน ด้วยความหวังดีของรัฐบาลในขณะนั้นจึงมีการพยายามเรียกความเชื่อมั่นจากชาวบ้านคืนโดยการอนุมัติงบประมาณจำนวนหนึ่ง ในการซ่อมแซมและบรูณะมัสยิดกรือเซะขึ้นอีกครั้งหนึ่งหลังการบรูณะแล้ว สิ่งที่หายไปจากกรือเซะคือ สภาพสถาปัตยกรรมที่มีอยู่เดิมถูกทำลายหายไป แนวคิดในการผสมผสานวัฒนธรรมสมัยใหม่ถูกแต่งเติมลงไปในรายละเอียดการซ่อมแซมไม่ว่าจะเป็น การฉาบปูนภายในใหม่ การบรูณะภายนอกที่ขาดซึ่งจิตวิญญาณดั้งเดิม หรือ "หยาบ" ในภาษาบ้านๆ


 


ชาวบ้านหลายคนที่พบเห็นมัสยิดกรือเซะ หลังการบรูณะต่างส่ายหัวและเงียบซึ่งท่ามกลางความเงียบดังกล่าวเต็มไปด้วยคำถามในใจของชาวบ้านมากมาย แต่สิ่งที่น่าสนใจเรื่องหนึ่งก็คือ มีชาวบ้านผู้หนึ่งสะท้อนว่า "ถึงแม้การซ่อมมัสยิดจะเต็มไปด้วยของใหม่ แต่สิ่งที่ปกปิดไม่ได้อย่างหนึ่งก็คือบาดแผลจากรอยกระสุน ก้อนอิฐทุกก้อนของมัสยิดนี่จะบอกเล่าได้เป็นอย่างดี ก้อนอิฐมันก็พูดได้นะ"


 


กลับมาสู่ประเด็นเรื่องสุเหร่าอาโห.... หลังจากที่มีการแจ้งความจำนงผ่านนายกเทศบาลตำบล แล้วทาง ศอบต. เองได้ลงมาสำรวจพื้นที่ด้วยตนเอง โดยประสานผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้กล่าวมาแล้ว หลายครั้งที่ชาวบ้านพยายามสะท้อนเสียงของตัวเองว่าต้องการมีส่วนร่วมในการบูรณะและซ่อมแซม แต่เสียงของชาวบ้านไร้ความหมาย.....  เมื่อเป็นเช่นนี้ทำไม ศอบต. ในฐานะหน่วยงานของรัฐที่ทำงานด้านพัฒนาไม่ฟังเสียงคนที่เป็นเจ้าของ......?? หรือเสียงของชาวบ้านดังไปไม่ถึงในระดับนโยบาย.....?? 


 


เทศบาลให้เหตุผลว่าถ้าชาวบ้านไม่ยอมรับโครงการดังกล่าวของรัฐจะทำให้ทาง ศอบต. เค้ามองว่าหมู่บ้านนี้มีความไม่ชอบมาพากล หรือปฏิเสธรัฐ การใช้อาวุธเรื่อง "ความมั่นคง" มาอ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการพัฒนานี้ ดูจะได้ผลไม่น้อยเมื่อชาวบ้านเงียบเสียงลง และยอมรับข้อเสนออย่างไม่เต็มใจนัก สิ่งที่น่าจะได้เก็บบทเรียนจากการพัฒนาสุเหร่าแห่งนี้ซึ่งมันสร้างบทเรียนราคาแพงมาแล้วถึง 2 ครั้ง 2 ครา


 


หนึ่ง ย้อนกลับไปเมื่อราว  4 เดือนก่อนได้มีคณะนักศึกษาภาคเสาร์อาทิตย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ได้ร่วมกับ นายการูดิง มูซอ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2  ต.มะนังหยง อ.ยะหริ่ง จ. ปัตตานี ได้มีโครงการพัฒนาเข้ามาในหมู่บ้านและมีโครงการที่จะบูรณะสุเหร่าอาโห ความหวังดีของคณะนักศึกษาและผู้ใหญ่บ้านในครั้งนี้ถือว่าดี แต่สิ่งที่ผิดพลาดครั้งใหญ่คือการเข้าซ่อมแซมโดยขาดสำนึกทางประวัติศาสตร์ และความรู้  การเข้ามาซ่อมแซมบรูณะในครั้งนั้นได้ทำการทาสีสุเหร่าอาโหทั้งหลัง โดยใช้สีทาไม้ ซึ่งหลังจากการบรูณะแล้วปรากฏว่าสิ่งที่หายไปของสุเหร่านี้คือความละเมียดละมัยในโครงสร้างและศิลปะดั้งเดิม  รอยด่างดำที่เกิดขึ้นจากการบรูณะโดยมิได้สอบถามความสมัครใจหรือการขออนุญาติชาวบ้านผู้เป็นเจ้าของทั้งสิ้น   นี่ถือว่าเป็นบาดแผลแรก


 


ครั้งที่สองเมื่อประมาณปี 2538 ทางอบต.(เดิม) มีโครงการที่จะก่อสร้างสถานที่อาบน้ำละหมาดบริเวณสุเหร่าอาโห ครั้งแรกที่มีการสอบถามความคิดเห็นชาวบ้านทางอบต.แจ้งว่าชาวบ้านจะมีส่วนในการออกแบบด้วย หลังจากนั้นได้มีการเอาแบบแปลนโครงสร้างมาดูร่วมกัน ปรากฏว่าแบบแปลนเดิมนั้นที่อาบน้ำละหมาดได้รับการท้วงติงจากชาวบ้านว่าสูงเกินไปทำให้ เวลาอาบน้ำละหมาดน้ำเสียที่ทิ้งลงกระเด็นมาโดนผู้อาบ หลักการศาสนานาถือว่าน้ำละหมาดขาด หลังจากที่ชาวบ้านท้วงติงไปแล้วก็มิได้รับการแก้ไขแบบแปลนการก่อสร้าง โดยอ้างว่าไม่สามารถเปลี่ยนแบบได้จะยุ่งยากในภายหลังเพราะเป็นโครงการของราชการแก้ไม่ได้ และทุกวันนี้สถานที่อาบน้ำละหมาดดังกล่าวชาวบ้านก็ไม่ใช้ถูกทิ้งร้างเนื่องจากสร้างผิดแบบแผนและขัดต่อหลักศาสนา.....นี่คือความผิดพลาดที่สอง


 


คำถามที่จะเกิดขึ้นต่อไปนั่นคือการปรับปรุงโบราณสถานหรือสถานที่สำคัญที่จะเกิดขึ้น ในอนาคตข้างหน้านี้จะมีแนวทางอย่างไร  ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอบต.) ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการพัฒนา ของรัฐ จะนำพากระบวนการที่จะเกิดขึ้นนี้ต่อไปหรือไม่เมื่อมันเป็นการซ้ำเติมชาวบ้าน...??


 


ความหวังที่จะดับไฟใต้คงจะยากหากวันนี้หน่วยงานภาครัฐเองไม่คำนึงถึงมิติเรื่อง วัฒนธรรม  ประเพณี  และศาสนา ซึ่งรัฐพูดมาตลอดว่า การดับไฟใต้ต้อง "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" แต่รูปธรรมวันนี้คือรัฐไม่เข้าใจอย่างลึกซึ้ง บาดแผลของชาวบ้านที่นี่นอกจากจะไม่เคยถูกเยี่ยวยาแล้ว  ยังจะถูกซ้ำรอยเดิมอยู่เรื่อยๆ ......  วันนี้หากภาครัฐมีธงว่าจะใช้การพัฒนาแบบนี้เพื่อแก้ปัญหาไฟใต้ ผลที่ออกมาคงเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำเสียงบและเสียเวลาโดยใช่เหตุ ท้ายที่สุดนี้ผู้ขียนคงขอฝากหน่วยงานภาครัฐที่คิดว่า "จริงใจ" ที่จะแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ช่วยใช้ "สำนึก"และ "สร้างการมีส่วนร่วม" มากกว่านี้ ก่อนที่ ปัญหาเหล่านี้จะกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง  เหมือนปัญหาความรุนแรงที่เป็นอยู่ในขณะนี้ซึ่งเมื่อมาตามแก้ทีหลังคงยากที่จะแก้ปัญหาได้......


 


…………….


อ่านตอนเก่า


 


รายงานพิเศษ : "ศิลปะมลายู" ภายใต้ไฟสงคราม ตอนที่ 1


 


* ที่มาภาพประกอบหน้าแรก learners.in.th

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net