Skip to main content
sharethis


ชื่อบทความเดิม: สถานการณ์การเลือกตั้ง สส.เขมร กับความห่วงใยสื่อขององค์กรท้องถิ่น


 


สมศรี หาญอนันทสุข


เครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี (อันเฟรล)


 


ที่ผ่านมาคนไทยให้ความสนใจกับประเด็นปราสาทพระวิหารกับความปิติยินดีของคนเขมรที่สามารถจดทะเบียนมรดกโลกได้สำเร็จ สร้างความยินดีให้กับประชาชนกัมพูชาอย่างมากมาย คงมีคนนอกประเทศจำนวนไม่น้อยที่อยากรู้ว่า แล้วบรรยากาศการเลือกตั้งของเขาในขณะนี้เป็นอย่างไรบ้าง หรือการเมืองเขมรยังเหมือนเดิม คนส่วนใหญ่คงจะออกมาลงคะแนนให้ นายฮุนเซน นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน และสมาชิกพรรค Cambodian People"s Party (CPP) ของเขากันเป็นส่วนใหญ่เหมือนเดิม และจะลองดูว่านายฮุนเซนซึ่งเป็นบุคคลที่สนิทสนมกับ อดีตนายกไทย และรัฐบาลไทยตอนนี้จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีตลอดนิรันทร์กาลอย่างที่หลายคนคาดคิดหรือไม่ การเลือกตั้ง สส.เขมรครั้งนี้มีพรรคที่ลงแข่งทั้งหมด 11 พรรค หนึ่งในนี้มีพรรคที่ชื่อว่า พรรคสิทธิมนุษยชนด้วย


 


หลายคนฟันธงไปแล้วว่า นายฮุนเซนจะได้รับเลือกด้วยคะแนนเสียงข้างมากอีกแน่นอน เพราะพรรคได้วางเครือข่ายหัวคะแนนของตนเองไปทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือสื่อของรัฐที่ตอนนี้ต่างก็ทำงานหาเสียงให้พรรคนี้อย่างไม่ลืมหูลืมตา จนไม่มีคำว่า ความเป็นกลาง อยู่ในสมองแม้แต่น้อย อันที่จริงองค์กรกลางการเลือกตั้งของเขมร ที่ชื่อว่า คอมเฟรล (COMFREL) นิกเฟก (NICFEC) และเอ็นจีโอท้องถิ่น พยายามหยิบยกประเด็นปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นขณะนี้ ให้สังคมโลกได้รับรู้ จะเห็นจากแถลงการณ์แสดงความไม่พอใจในเรื่องบรรยากาศทางการเมืองก่อนการรณรงค์หาเสียง ซึ่งดูจะไม่ให้ความหวังกับประชาสังคมเขมรแม้แต่น้อย ไม่ว่าจะเป็นการข่มขู่ คุกคามพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามแบบเดิมๆ การจับกุม นาย Dam Sith ผู้สมัคร สส.พรรค Sam Rainsy ซึ่งเป็นหัวหน้าบรรณาธิการข่าวหนังสือพิมพ์ ท้องถิ่น Moneaksekar Khmer เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ที่ผ่านมา ส่วนนาย สัม รังษี หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านเอง ก็ถูกรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศฟ้องร้องไปเรียบร้อยแล้วเช่นกัน


 


การที่กระทรวงข่าวสารของเขมรสั่งปิดสถานีวิทยุ Angkor Rotha Radio ที่จังหวัดกระแจะฐานขายเวลาออกอากาศให้พรรคการเมืองต่างๆที่ไม่ใช่พรรครัฐบาลรวมทั้งขายเวลาให้องค์กรประชาสังคมโดยไม่ได้รับอนุญาติ นั้น เป็นการทำให้คนเขมรเองไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของอีกฝ่ายหนึ่ง องค์กรกลางเขมรเพื่อการเลือกตั้งเปิดเผยข้อมูลจากการสำรวจว่า มีสถานีโทรทัศน์และวิทยุเอกชนที่ออกอากาศทั่วประเทศในกัมพูชาแบบไม่เป็นกลาง อย่างน้อย 37 ช่อง ที่มีแต่ข่าวดีๆ ของพรรค CPP ของนายฮุนเซน หรือพูดถึงการที่นักการเมืองพรรคอื่นย้ายมาอยู่พรรคนี้ สื่อเหล่านี้ไม่คำนึงถึงจริยธรรมสื่อ หรือความเป็นมืออาชีพ อีกทั้งเนื้อหาการออกอากาศยังโจมตีพรรคฝ่ายค้านเป็นส่วนใหญ่ โดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้ถูกโจมตี ชี้แจง นอกจากนั้นพิธีกรหลายคนจากสื่อดังกล่าวยังใช้คำพูดข่มขู่ผู้ที่คิดจะลงคะแนนให้ฝ่ายตรงข้ามพรรค CPP เป็นการเตือนว่า "ถ้าลงคะแนนให้พรรค สัม รังษี ก็เท่ากับเป็นการดึงให้เขมรแดงกลับมาสู่อำนาจ" เป็นต้น


 


องค์กรกลางเขมรหรือคอมเฟรลยังชี้ให้เห็นด้วยว่า การออกอากาศหรือเสนอข่าวของสื่ออิเลกโทรนิคส์ อย่างน้อย 39 สถานี ไม่มีความเท่าเทียมสมดุลย์ มีเพียง 6 สถานีเท่านั้นที่กล้าเสนอข่าวหรือพูดถึงพรรคอื่นๆ บ้าง แต่ส่วนใหญ่การเสนอข่าวพรรคฟุนซินเปค และพรรคนโรดมรณรฤท์ จะพูดถึงพิธีกรรม ภารกิจของราชวงศ์ หรือเรื่องราวในอดีตของ สมเด็จพระนโรดมสีหนุ อย่างไรก็ตามพรรคการเมืองฝ่ายค้านหรือพรรคที่ไม่ได้รับการเลือกตั้งพยายามที่จะหาทางออกด้วยการใช้สื่ออิสระวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและพรรค CPP ในประเด็นคอรัปชั่น การขึ้นราคาสินค้าทุกอย่าง ปัญหาที่ดินที่ทำกิน ทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลาย การตัดไม่ทำลายป่า ปัญหาชายแดน และคนเข้าเมือง เป็นต้น


 


ส่วนสถานีโทรทัศน์ของรัฐ TVK ซึ่งเป็นช่องสำคัญเป็นปากกระบอกเสียงของรัฐบาล และนายฮุนเซน ได้พยายามช่วยพรรค CPP เสนอข่าวบรรดาภารกิจของคนสำคัญของพรรค การไปเปิดงาน ไปพูดในที่ต่างๆ การมองรางวัล หรือแจกจ่ายของให้ประชาชน ในแต่ละวัน ซึ่ง TVK จะเสนอแต่ข่าวด้านลบของพรรค สัม รังษี รวมถึงการโจมนี้พรรคนี้ให้ด้วย แผนกจับตามองสื่อของคอมเฟรลซึ่งตรวจสอบการเสนอข่าวจากวันที่ 8 มกราคม ถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2551 นั้นยังบอกด้วยว่าพรรค CCP ได้ออกอากาศจากช่อง TVK มากถึง 84 เปอร์เซ็นต์ และเกือบทุกเรื่องเป็นด้านบวก ขณะที่พรรคฟุนซินเปกนั้น TVK ให้ความสนใจเพียง 9 เปอร์เซ็นต์ ด้วยเนื้อข่าวเป็นกลางๆ และพรรคสัม รังสี 7 เปอร์เซ็นต์ ด้วยเนื้อหาที่เป็นด้านลบ


 


ส่วนการประชาสัมพันธ์ด้านการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้งเขมร (NEC) เป็นการออกอากาศโดยสื่อบางช่องเท่านั้น เวลาที่จะประชาสัมพันธ์ในสื่อของรัฐและเอกชนมีค่อนข้างจำกัด และไม่มีทุกวัน บรรดาองค์กรเอกชนทั้งหลายจึงขอให้ กกต.เขมร ผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ให้มากกว่านี้และออกอากาศถี่กว่านี้ นอกจากนั้นยังขอให้กระทรวงข้อมูลข่าวสาร ร่วมกับ กกต. เขมร กำหนดกฏเกณฑ์ให้สื่อมีกฏระเบียบในการให้พรรคการเมืองสามารถหาเสียงจากสื่อต่างๆได้อย่างเท่าเทียม และผู้รายงานข่าวควรจะทำงานอย่างมืออาชีพกว่านี้ และได้เรียกร้องให้ กกต. ทบทวนพิจารณากรณีที่ยอมให้คนของพรรคการเมืองเป็นผู้แจกจ่ายใบแจ้งข่าวผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หรือ Voter Information Notice (VIN) ด้วยตนเอง ทำให้พรรคของนายฮุนเซน กำนัน ผู้ใหญ่บ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนของฮุนเซน ถือโอกาสหาเสียงให้พรรคอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ซึ่งไม่เป็นธรรมต่อพรรคอื่นๆ และพรรคเล็กต่างๆ ที่มักไม่ค่อยมีโอกาสหรือไม่มีเงินเหมือนพรรคใหญ่


 


ในท้ายที่สุดยังขอให้มีการแก้กฎหมายเลือกตั้งเพื่อบังคับใช้ในการตรวจสอบการทำงานของ กกต.และเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นคอมมูน ที่ทำงานผิดพลาดในการรับเรื่องร้องเรียนของพรรคการเมือง แล้วไม่พิจารณา ตัดสินใจประเด็นบางอย่างด้วยตนเอง กลับโยนไปให้สภารัฐธรรมนูญเป็นผู้พิจารณา เป็นผลให้พรรคการเมืองที่ชื่อว่า United People of Cambodia ต้องอันตรธานหายไปจากรายชื่อที่ลงแข่งขันทั้งหมด จาก 12 พรรคจึงเหลือเพียง 11 พรรค นอกจากนั้นองค์กรประชาสังคมอยากให้รัฐบาลปล่อยตัว นาย Dam Sith ผู้สมัคร สส.ที่ลงแข่งในครั้งนี้ และอนุญาตให้สถานีวิทยุ Angkor Rotha เปิดทำการออกอากาศได้ตามปกติก่อนวันเลือกตั้งจะมาถึงในวันที่ 27 กรกฏาคมนี้ด้วย 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net