Skip to main content
sharethis

เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 12 ก.ค.  นายปองพล อดิเรกสาร  ประธานคณะกรรมแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญามรดกโลก ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฏร และคณะ เพื่อชี้แจงและทำความเข้าใจถึงกรณีปราสาทพระวิหารว่า เป็นผู้มาขอเข้าพบเอง เพื่อมาชี้แจงข้อเท็จจริงรวมทั้งได้นำเอกสารมติคณะกรรมมรดกโลกมาให้พรรคประชาธิปัตย์ได้ดูด้วย ทั้งนี้ส่วนตัวเห็นว่ากรณีที่มติของคณะกรรมการมรดกโลกจะไม่ส่งผลกระทบกับประเทศไทย  เพราะประเทศกัมพูชาเป็นผู้เสนอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก เรื่องต่างๆ ก็ต้องไปลงที่กัมพูชา ไม่ใช่ประเทศเรา



 


ประธานคณะกรรมแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญามรดกโลก กล่าวว่า มติตอนท้ายก็มีเงื่อนไข 4 ข้อ ที่ว่าขึ้นทะเบียนแล้วประเทศกัมพูชาต้องทำอะไรบ้าง ซึ่งคิดว่าการกระทำของประเทศกัมพูชาจะไม่กระทบกับประเทศไทย เพราะทำอยู่ในเขตดินแดนของเขา เมื่อปีที่ผ่านมาประเทศกัมพูชาเสนอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารรวมกับพื้นที่ทับซ้อน ซึ่งเราก็ไปเจรจาจนเหลือแต่ตัวประสาทจึงชัดเจนว่าไม่รุกล้ำมาในดินแดนไทย ทางคณะกรรมการมรดกโลก ก็เป็นพยาน และยืนยันว่าไม่รุกล้ำเข้ามา



ผู้สื่อข่าวถามว่า นายสมปอง สุจริตกุล หนึ่งในทีมทนายความของไทย ที่ว่าความคดีปราสาทเขาพระวิหารต่อศาลโลกในปี 2505 ได้ระบุว่า คำตัดสินของศาลโลก ไม่เคยระบุว่าเป็นพื้นที่ทับซ้อน นายปองพลกล่าวว่า  เรายอมรับอย่างนี้มาตลอด 40 กว่าปี และที่ผ่านมาก็ไม่มีใครทำอะไร ก็ยังถือว่าเป็นพื้นที่ทับซ้อนตามแผนที่ฝรั่งเศส ต่างคนจึงต่างเข้าใจว่าเป็นพื้นที่ทับซ้อน



 


ผู้สื่อข่าวถามว่า ยืนยันว่าไม่กระทบดินแดนของประเทศ ตามที่มีการปลุกกระแส ประธานคณะกรรมแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญามรดกโลก กล่าวว่า ประเด็นนี้เป็นห่วงจึงต้องมาชี้แจง  เพราะเกรงว่าหากมีการพูดกันขยายวงกว้างออกไปจะทำให้กระทบความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศได้ เพราะบางคนรู้บ้าง ไม่รู้บ้าง



 


ต่อข้อถามว่า ความรู้สึกของประชาชน รู้สึกว่าประเทศไทยได้เสียดินแดนไปแล้ว นายปองพล กล่าวว่า จึงต้องออกมาชี้แจงว่า เรายังไม่ได้สูญเสียอะไรไปเลย ส่วนที่มีหลายฝ่ายออกมาระบุว่า เราสูญเสียอธิปไตยเหนือดินแดนนั้น ก็ไม่มี เราก็ทำเหมือนเดิมที่ปฏิบัติมา 46 ปี นอกจากนี้หากกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย  ต้องการให้ตนไปชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีนี้ ก็ยินดี แต่ขอปฏิเสธที่จะชี้แจงบนเวทีพันธมิตรฯ



ผู้สื่อข่าวถามว่า คณะกรรมการ 7 ประเทศ ที่จะเข้ามาดูแลจะส่งผลกระทบอย่างไรหรือไม่ ประธานคณะกรรมแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญามรดกโลก  กล่าวว่า ในส่วนนี้เป็นเรื่องของชายแดน คณะกรรมการในส่วนของตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง จะเกี่ยวข้องแต่ในส่วนของมรดกโลกเท่านั้น เรื่องชายแดนมีผู้รับผิดชอบคือ กระทรวงการต่างประเทศ หรือทหารซึ่งเป็นหน้าที่ของบุคคลเหล่านั้นที่จะต้องเจรจากับประเทศกัมพูชา ไม่ใช่ในส่วนของตน



 


เมื่อถามว่า การเข้าชี้แจงต่อนายอภิสิทธิ์ เพื่อให้พรรคประชาธิปัตย์เห็นข้อเท็จจริง และจะไม่นำมาดำเนินการทางการเมืองกับรัฐบาลใช่หรือไม่ นายปองพลกล่าวว่า ไม่เกี่ยว คิดเสมอว่า เรื่องคณะกรรมการมรดกโลก ตนไม่มีพรรค และไม่เกี่ยวกับการเมือง เพราะคำว่า มรดกโลกเป็นคำที่กว้าง ครอบคลุมทั้งหมด รวมทั้งอยู่เหนือเรื่องความขัดแย้ง ตนเอาเรื่องมรดกโลกเป็นตัวตั้ง



 


" ผมต้องการมาชี้แจง เผื่อมีบางประเด็นที่พรรคประชาธิปัตย์ อยากสอบถาม ผมเป็นคนทำอะไรตัดไฟแต่ต้นลม ป้องกันไว้ก่อน คุยกันก่อน ผมเดินทางไปไหนก็พูดแต่เรื่องนี้ และยินดีที่ไปร่วมงานสัมมนาต่างๆ เพื่อชี้แจงกรณีนี้เช่นกัน" ประธานคณะกรรมแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญามรดกโลก  กล่าว



 


ผู้สื่อข่าวถามว่า เรื่องนี้จะเป็นบทเรียนกับกระเทศไทยอย่างไรในอนาคต นายปองพลกล่าวว่า จากการสัมผัสจากเวทีโลก บทเรียนคือ ความเป็นเอกภาพของคนในชาติเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง เพราะอำนาจต่อรองของเราในเวทีโลกอ่อนมาก เวลาเราไปเจรจาเราไม่อยู่ในฐานะที่ต่อรองอะไร  ดังนั้น เราจะต่อรอง ชี้แจง คัดค้านหรือต่อให้เดินออกจากห้อง ทำอย่างไร เขาก็ลงมติอยู่ดี



 


"เราจึงต้องทำเรื่องภายในประเทศของเราให้เรียบร้อย เพราะต่างประเทศมองสถานการณ์ในประเทศไทยอยู่ ขณะที่ประเทศกัมพูชาเป็นเอกภาพ เดินหน้าเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง แต่ไทยขาดๆ หายๆ และเราก็ไม่เป็นเอกภาพ ดังนั้น เราต้องมารวมกันให้ได้ ทั้งภาครัฐ และประชาชน รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเรื่องนี้ผมเห็นว่ายังไม่รุนแรงเท่าไหร่ เพราะเราไม่ได้สูญเสียอะไร แต่ถ้าเป็นเรื่องอื่นที่สำคัญกว่านี้ ถ้าเรายังอยู่ในสภาพเช่นนี้ ผมเป็นห่วง และพูดด้วยความหวังดี" นายปองพล กล่าว


 


นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวภายหลังฟังคำชี้แจงกรณีปราสาทเขาพระวิหารจาก นายปองพลว่า ประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ส่วนของคนไทย ได้มาพบตนและได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่เมืองควิเบค โดยสิ่งที่เราได้รับทราบจากประธานคณะกรรมการแห่งชาติ คือตัวร่างข้อมติของกรรมการมรดกโลก ตัวรายงานขององค์กรอิสระทางวิชาการที่เสนอเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุม และคำปราศรัยของท่านภายหลังที่คณะกรรมการมรดกโลกได้มีมติแล้ว


 


จุดประสงค์ของการแลกเปลี่ยนคือการมองไปข้างหน้าว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากมติครั้งนี้ ประเทศไทยควรมีการเตรียมการอย่างไรบ้าง ซึ่งในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่า โดยที่มติได้มีการขึ้นทะเบียนตัวประสาทเป็นมรดกโลกในนามกัมพูชา และได้กำหนดให้ทางกัมพูชา ต้องดำเนินการหลายเรื่องภายในวันที่ 1 กุมภาพันธุ์ 2552


 


เรื่องสำคัญมากสำหรับกัมพูชาคือการจัดทำแผนที่ ซึ่งจะเป็นแผนที่ ที่จะมีรายละเอียด เกี่ยวกับทั้งตัวปราสาทและสำคัญไม่น้อยคือ 1.การไปกำหนดบริเวรที่จะเป็นเขตอนุรักษ์ หรือเขตการจัดการต่างๆ ที่เป็นห่วงคือว่าตามมติทาง กัมพูชา จะเป็นผู้จัดทำแผนที่ ไม่ได้ระบุเอาไว้ว่าทางประเทศไทยจะไปมีส่วนร่วมอย่างไร 2.การทำแผนที่ หรือการจัดทำเขตบริหารจัดการ มีการอ้างอิงถึงแผนผังที่ได้มีการนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก แต่ปรากฎว่าแผนผังที่ว่าที่ว่าแม้แต่คณะกรรมการมรดกโลกของฝ่ายไทย ยังไม่มี ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญมากที่ต้องมีการพิจารณา


 


เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราอยากเรียกร้องรัฐบาลคือว่ารัฐบาลจะยังยืนยันอยู่ตลอดเวลาว่าเรื่องทั้งหมดไม่มีปัญหาอยู่ไม่ได้ ตอนนี้จะมีประเด็น เขาต้องมีการเชิญเราเข้าไปร่วมในคณะกรรมการประสานงาน ซึ่งประกอบด้วยกัมพูชา ยูเนสโก้ และประเทศอีกไม่เกิน 7 ประเทศ และจะต้องมีการจัดทำแผนบริหารจัดการขึ้นมา ซึ่งยังไม่ทราบว่าคลุมพื้นที่ไหน อย่างไรบ้าง


 


ที่มีความพยายามชี้แจงว่าแผนการบริหารจัดการจะมีเฉพาะตัวปราสาทนั้น เป็นไปไม่ได้ เพราะการที่จะบริหารจัดการสถานที่ให้เป็นมรดกโลก ต้องมีแผนบริหารจัดการคลอบคลุมไปหลายประเด็นมาก เพราะฉะนั้นจะไม่ใช่เฉพาะตัวปราสาทแน่นอน แต่ว่าจะกินพื้นที่เข้ามาในส่วนของดินแดนไทยมากน้อยแค่ไหนวันนี้ไม่มีใครทราบ เฉพาะฉะนั้นภาระกิจเร่งด่วนของรัฐบาลคือว่าต้องดำเนินการในการเจรจากับทางกัมพูชาให้มีกติกาการทำงานที่จะไม่กระทบกับสิทธิของประเทศไทย และความสัมพันธ์ของสองประเทศ


 


นอกจากนั้นเป็นที่ยินดีว่าแถลงการณ์ร่วมที่นายนพดล ปัทมะ ได้ไปลงนามไว้ก่อนหน้านี้ ทางคณะกรรมการมรดกโลกได้รับทราบว่าจะใช้ไม่ได้แต่นั้นเกิดขึ้นก่อนที่จะมีมติศาลรัฐธรรมนูญ วันนี้เมื่อมีมติศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ยังเป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลไทยต้องเร่งให้ประชาคมโลกรับทราบว่าแถลงการณ์ไม่เป็นที่ยอมรับของคนไทยและเป็นแถลงการณ์ที่ใช้ไม่ได้


 


วันเดียวกัน ด้าน พล.อ.บุญสร้าง  เนียมประดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ ลับ ลวง พราง เรดิโอ ทางสถานีวิทยุ 100.5 ถึงกรณีที่ทางกองบัญชาการกองทัพไทยจะจัดการสัมมนาวิชาการเกี่ยวประเด็นปราสาทเขาพระวิหารในวันที่ 13 ก.ค.นี้ว่า ในการทำงานมีบทเรียนทั้งนั้นไม่ว่าจะเสียหรือไม่เสียก็ตาม ซึ่งคิดว่าในประเทศชาติควรมีเวทีอย่างนี้บ่อยๆ เพราะจะทำให้อะไรดีขึ้น และจะมีความโปร่งใส ประชาชนได้รับรู้ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี ที่ผ่านมาพูดเสมอว่า เรื่องนี้เป็นปัญหายากและลึกซึ้งจึงต้องอาศัยการคุยกันของหลายฝ่าย และในการสัมมนาจะแสดงความคิดเห็นด้วย ทั้งนี้จะไม่ให้ผู้สื่อข่าวร่วมฟังด้วยเพราะจะทำให้นักวิชาการพูดได้ไม่เต็มที่ แต่จะแถลงในภายหลัง



 


เมื่อถามว่า มีบางคนระบุว่า ไทยได้สูญเสียพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตร.กม.ให้กับกัมพูชา พล.อ.บุญสร้าง กล่าวว่า ไม่ได้บอกว่าเสียหรือไม่เสีย ซึ่งปัญหาปราสาทเขาพระวิหารเป็นปัญหาที่ลึกซึ้ง หากไม่รู้ข้อมูลจะปวดหัว ทั้งนี้ตนจะฟังจากทุกฝ่ายอย่างชัดๆในวันที่ 13 ก.ค.นี้ เพราะคนจะพูดไม่เหมือนกัน แม้แต่คนพูดที่มีความรับผิดชอบยังพูดไม่เหมือนกันเลย จึงทำให้ประชาชนสับสน



 


"การสัมมนามีหลายฝ่าย ต้องถกกันด้วยเหตุด้วยผล คงจะหนีกันไม่ได้ ถ้าคนเก่งๆเข้ามา คนจะมาซ่อนเงื่อนหรืออะไรก็จะหนีไม่พ้น ซึ่งเราจะได้สถานะที่แท้จริงขณะนี้ และได้บทเรียนว่า ที่เราทำไปดีหรือไม่ และจะดีกว่านี้ได้ไหม และจะดำเนินการอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องปราสาทเขาพระวิหาร เพราะเรื่องยังไม่จบ ทั้งนี้หลังการสัมมนาเสร็จผมจะดูว่า ข้อคิดเห็นอะไรเหมาะที่จะเป็นประโยชน์ และอะไรที่ควรจะบอกแก่คนส่วนรวม เพราะหน่วยวิชาการเราไม่ทำอะไรลับๆ และอะไรควรที่จะส่งไปหน่วยที่เกี่ยวข้องที่ไม่รู้บ้าง นี่คือความโปร่งใสที่ช่วยได้มาก ดังนั้นเรื่องสปิริตในความโปร่งใสเป็นเรื่องสำคัญในการทำงานเพื่อส่วนรวม"พล.อ.บุญสร้าง กล่าว



 


เมื่อถามว่า แสดงว่ากองบัญชาการกองทัพไทยไม่มั่นใจในข้อมูลของกรมแผนที่ทหารที่เคยแถลงใช่หรือไม่ พล.อ.บุญสร้าง กล่าวว่า กรมแผนที่ทหารมีหน้าที่ทางเทคนิคเท่านั้น โดยมีหน้าที่แค่ไปวัดเท่านั้น ซึ่งในวันที่ 13 ก.ค.นี้ จะไปเคลียร์เรื่องนี้ด้วย ส่วนใครจะไม่พอใจเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะหน้าที่ของเขาไม่ได้เป็นผู้กำหนดว่า ตรงไหนเป็นเขตแดน และไม่ได้อึดอัดใจอะไร



 


เมื่อถามถึงกระแสข่าวว่า แผนที่ที่ทางกัมพูชาเสนอให้ทางกรมแผนที่ทหารดูเป็นคนละฉบับกับที่เสนอให้ยูเนสโก้ พล.อ.บุญสร้าง กล่าวว่า ไม่ทราบ แต่เรื่องพวกนี้ซับซ้อน หากไม่เข้าใจจะพูดกันไปเรื่อย และจะทำให้เกิดปัญหามากมาย เมื่อถามว่า จะมีการวางกรอบการแสดงความคิดเห็นของทหารหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาเหมือนจะออกมาติงช้าเกินไป พล.อ.บุญสร้าง กล่าวว่า ต้องดูว่าอะไรเหมาะสม



 


 


เรียบเรียงจาก : คมชัดลึกและแนวหน้า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net