สัมภาษณ์ : "ไชยันต์ รัชชกูล" : วิพากษ์การเมืองรูปแบบใหม่ของพันธมิตรฯ ฤานี่คือหมากกลการเมือง!?

ข้อสังเกตจากไชยันต์ รัชชกูลต่อกระแสการเมืองในรูปแบบพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ทั้งโมเดล 70:30 และการเขย่ารัฐบาลด้วยประเด็นต่างๆ ซึ่งอนุมานได้ว่า พันธมิตรไม่เพียงไม่โดดเดี่ยวทางการเมือง หากแต่ยังมีการร่วมคิดร่วมทำอย่างสอดคล้องกันจากหลายฝ่าย

 

 

"ตอนแรกที่กลุ่มพันธมิตรออกมาเสนอ สัดส่วน 70/30 หัวเราะกันใหญ่

แต่น่าแปลก ที่หลังจากนั้นมีกระแสขานรับขึ้นมา เรื่องรัฐบาลแห่งชาติก็เอามาพูดอีก

หนังสือพิมพ์บางฉบับยังให้ท้ายด้วย แสดงว่าความคิดแบบนี้ไม่ได้ออกมาจากเฉพาะแกนนำกลุ่มพันธมิตร แต่ชวนให้สงสัยว่า มีการช่วยกันคิดเป็นระบบ ถึงได้ประสานเสียงกันขนาดนี้"

 

"มี 2 สมมุติฐาน เรื่องประท้วงครั้งนี้ของพวกพันธมิตร

สมมุติฐานหนึ่ง คือ พวกพันธมิตรริเริ่มโครงการนี้ด้วยตัวเอง แล้วก็มีคนส่วนหนึ่งที่เห็นด้วยจึงไปร่วมชุมนุม ส่วนอีกสมมุติฐานหนึ่ง คือมีคนหนุนอยู่ข้างหลัง พวกแกนนำพันธมิตร เป็นหัวหน้าเฉพาะที่ชุมนุม

แต่เป็นลิ่วล้อของกลุ่มคนที่สำคัญกว่ามาก

ผมเองไม่ทราบว่าสมมุติฐานไหนถูก เพราะมีความเป็นไปได้สูงทั้งสองกรณี"

 

"แต่ที่ชวนให้คิด คือ ทำไมการเขย่า โจมตีรัฐบาลถึงเป็นการช่วยกันรุมจากคนละหน่วยงาน ทำไมถึงประสานเสียงประสานใจกันได้ขนาดนี้ พวกพันธมิตรตั้งลูกเตะ สื่อมวลชนร้องเชียร์ พรรคการเมืองในรัฐสภารับลูก ส่งลูกให้ศาล แล้วศาลก็เตะลูกเข้าประตู กลุ่มเหล่านี้มีมาฆบูชาทางความคิดหรือ?"

 

 

 

 

 

"ผศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล" นักวิชาการจากภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ให้สัมภาษณ์กับ "ประชาไท" โดยได้แสดงข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการเมืองรูปแบบใหม่ของกลุ่มพันธมิตรฯ พร้อมตั้งข้อสังเกตจาก 3 แง่มุม คือ แง่มุมทางปรัชญาการเมืองและสังคมวิทยาการเมือง แง่มุมทางการพัฒนาการเมืองและแง่มุมทางหมากกลการเมือง

 

ในแง่มุมทางปรัชญาการเมืองและสังคมวิทยาการเมือง อาจารย์มองอย่างไรกับการเมืองไทย ?

 

เป็นปัญหาที่ถกเถียงกันมานานว่า ในเชิงอุดมคติแล้ว ใครควรจะเป็นผู้ปกครอง? ใครควรเป็นผู้บริหารกิจการของรัฐ? นักปรัชญาบางคนบอกว่าควรเป็นพระราชาที่ทรงปัญญา (Philosopher king) แต่ไหนแต่ไรมา เรามีนักปรัชญา เรามีพระราชา อยู่มากมาย แต่แยกกันคนละคน คุณสมบัติทั้ง ๒ ที่รวมอยู่ในคนคนเดียวกัน ไม่ค่อยพบบ่อย บางคนบอกว่า ผู้ปกครองต้องมาจากสวรรค์ พระเจ้าเลือกให้ หรือที่เรารู้จักในคติความเชื่อ เทวสิทธิ์ (divine rights) แต่ก็มีคนไม่ยอมรับ ถึงมีอยู่ในประวัติศาสตร์ และมีการลองใช้มาแล้วในบางยุคบางสมัย แต่ปัจจุบัน คิดว่าเลิกใช้ไปเกือบหมดแล้ว

 

ถ้าพระเจ้ามาสวมมงกุฎให้ไม่ได้ มากาบัตรก็ไม่ได้ ปัญหาก็ยังตอบไม่ได้ว่า ใครสมควรจะเป็นคนเลือกใครเข้าไปเป็นผู้ปกครอง ก็มีการเปลี่ยนแปลงมาเรื่อยๆ เป็นต้นว่า ใครเสียภาษีเท่านั้นเท่านี้ถึงเลือกตั้งได้ เพศชายเท่านั้นจึงจะเลือกได้ มีที่ดินเท่านี้ถึงเลือกตั้งได้ ฯลฯ มีการทดลองมาเรื่อยจนกระทั่งระบบที่จำกัดผู้เลือกแบบนี้หายไปหมดแล้ว ยกเว้นประเทศเผด็จการ ที่ทางรัฐส่งตัวแทนมาให้ประชาชนเลือก ให้ประชาชนเลือกจะเอานาย ก. หรือนาย ข.  แต่ทั้งคู่ก็เป็นคนที่ทางรัฐเห็นชอบแล้ว

 

ในเมื่อเราไม่มีมาตรการที่เหมาะสมว่าใครมีคุณสมบัติที่ควรได้เลือก เพราะฉะนั้นก็เลยให้เลือกกันทุกคน (ยกเว้นผู้ที่ยังเด็ก อายุต่ำกว่า 18) ไม่ใช่จะจำกัดให้เฉพาะผู้มีการศึกษา ผู้มีศีลธรรมดี หรือผู้ทรงคุณวุฒิเท่านั้น เพราะไม่ได้เป็นหลักประกันเลยว่า จะสามารถเลือกได้ดีกว่าคนอื่นๆ จะมาบอกว่าฉันรู้ดีกว่า ก็เป็นการอ้างเอง เออเอง พวกพันธมิตรมีคำตอบหรือไม่ว่า ใครเหมาะสมเป็นผู้เลือก

 

การเลือกผู้ปกครอง ก็เหมือนเป็นการเลือกการใช้ชีวิต ว่าใช้ชีวิตแบบไหนถึงจะดี คำถามนี้ยากมาก ซึ่งในที่สุดแล้วก็ไม่มีใครจะเหนือใครในเรื่องนี้ จึงสมควรให้ทุกคนเลือกได้ด้วยตนเอง นี่คือความหมายของประชาธิปไตยที่จำเป็นต้องมีคำคุณศัพท์ "เสรีนิยม" หรือ liberal เป็นคำนำหน้า เป็น Liberal Democracy เราต้องการคำมาขยายข้างหน้า ไม่ใช่สร้อยยาวๆในศัพท์ภาษาไทย นี่เป็นหลักการอุดมคติที่แปรมาเป็นเชิงปฏิบัติ

 

แน่นอน ที่ไม่ได้เป็นการสร้างสวรรค์บนโลก แต่ก็เป็นแนวที่ปฏิบัติกันกว้างขวาง จะบอกว่าเป็น "สากล" ก็จะมีบางคนไม่ชอบศัพท์นี้ จะใช้คำว่าอะไรดี? ใช้ว่าตามแบบอินเดียก็ได้ แต่อินเดียเขาก็จะบอกว่า เขาตามแบบสากล แต่ถ้ามีคนเถียงว่า ประเทศไทยเราไม่เหมาะที่จะใช้แนวสากลนี้ เพราะเรามีลักษณะพิเศษ ถ้าเช่นนั้น ก็ต้องแสดงเหตุผลมาว่า ในเรื่องนี้เราไม่ต้องความเป็นสากล เราไม่ต้องการตามฝรั่ง ก็น่าจะบอกมาด้วยว่า เรื่องอะไรบ้างที่เราสมควรจะตามหรือไม่ตามฝรั่ง ความคิดเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การชุมนุมที่พวกพันธมิตรอ้างอยู่นี้ ตามฝรั่งหรือไม่? การมีระบบกฎหมายลายลักษณ์ มีประมวลกฎหมายที่ใช้ทั่วประเทศเหมือนๆกัน และระบบศาลให้ผู้พิพากษาตัดสินคดีเป็นของไทยมาแต่ไหนแต่ไรหรือ?     

 

อาจารย์มีความเห็นอย่างไร กับข้อเสนอการเมืองรูปแบบใหม่ 70/30 ของพันธมิตรฯ ?

 

หลัง "6 ตุลา" ใหม่ๆ มีการเสนอว่า ประชาธิปไตยแบบต้องค่อยเป็นค่อยไป ต้องมีประชาธิปไตยแบบนำพา แบบต้องคอยจูง (guided democracy) เพราะประชาชนยังไม่มีความรู้ แต่ข้อเสนอนี้ก็ยอมรับว่าเป็นมาตรการที่ใช้เพียงชั่วคราว ซึ่งต้องพัฒนาต่อไป ส่วนข้อเสนอแบบสัดส่วน 70/30 นี้ มีข้อเสนอด้วยหรือไม่ว่า จะพัฒนาต่อไปอย่างไร? อยากฟังว่ามีแผนจะพัฒนาต่อไปอย่างไร? หรือว่าจนกว่าประชาชนคนไทยหายโง่ก่อน พวกพันธมิตรนี่ฉลาดลึกล้ำนักหนาหรือ?

 

นักรักชาติ สื่อมวลชน คนกรุงเทพฯมักจะกล่าวหา คนชนบทว่าขายเสียง ถูกพวกนักการเมืองจูงจมูก เลยเสนอให้คนชนบทและประชาชนทั่วไป ได้ส่วนแบ่ง 30 นายสนธิบอกอย่างไม่กระมิดกระเมี้ยนเลยว่า ต้องให้ศักดินา มหาเศรษฐีมีส่วนด้วย ข้อเสนอของเขาเหมือนให้เราย้อนกลับไป สมัยก่อนปี 2475 เขาเป็นศักดินายิ่งกว่าพวกศักดินาเอง เพราะยังไม่เคยได้ยินว่า ศักดินาเสนอตัวเช่นนั้น

 

สังคมวิทยาการเมือง เป็นวิชาที่พยายามสำรวจว่า จริงๆแล้วใครปกครอง? ต่างไปจากปรัชญาการเมืองที่พยายามตอบว่า ใครสมควรปกครอง? เราก็พอรู้อยู่บ้างว่า ถึงให้ราษฎรเลือกตั้งทั้ง 100 % ตัวแทนของราษฎรก็ยังไม่ได้อยู่ในฐานะผู้ปกครองอยู่ดี แต่พลังอื่นๆ ที่แม้จะไม่ได้มาจากการเลือกตั้งก็ปกครองประเทศอยู่โดยพฤตินัย มีหลายสถาบัน ที่จริงๆ แล้วมีอิทธิพลต่อการปกครองประเทศ เช่น สถาบันทหาร สถาบันตุลาการ สถาบันการเงิน ฯลฯ แทนที่จะเป็นโควตา 70/30 น่าจะเสนอให้สถาบันทั้งหลายนี้มาจากการเลือกตั้งด้วย นี่ไม่ได้พูดประชด แต่อยากฟังเหตุผลของฝ่ายพันธมิตรที่จะคัดค้านความเห็นนี้

 

ในสมัยที่พยายามก่อฐานประชาธิปไตยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองสมัย พ.ศ. 2475 เมื่อมองจากมุมปัจจุบัน ก็อาจจะมีข้อจำกัด เช่น มีทั้ง ส.ส. ที่มาจากการแต่งตั้งและเลือกตั้ง มี พฤฒสภา และสภาผู้แทนราษฎร แต่ก็เป็นการค่อยๆเริ่มต้น หรือใช้สำนวนของปรีดี พยมยงค์ ก็ว่า "เราปีนต้นไม้ทีเดียวถึงยอดไม่ได้"

 

ช่วงก่อนยุคเผด็จการสฤษดิ์ ส.ส. ที่มาจากภาคอีสาน เป็นส.ส.ที่มีคุณภาพมาก ถ้าใช้มาตรการที่คิดถึงคนตกทุกข์ได้ยาก มากกว่าพวกมียศถาบรรดาศักดิ์ ไม่มีการซื้อเสียง ขายเสียง ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นปรากฏการณ์ใหม่ ในช่วงทศวรรษที่ 30 - 40 มากกว่า แต่มาในช่วงหลังนี้ การซื้อสิทธิขายเสียงลดลงไปมาก มีคนโจมตีว่า ถึงสมัยทักษิณจะไม่ซื้อเสียงโดยตรง ก็ใช้นโยบายของรัฐซื้อ นี่มันเป็นการขยายคำนิยามการซื้อเสียงไปจนสุดกู่ ถ้าการใช้นโยบายของรัฐเพื่อชักชวนให้คนเลือกตั้งพรรคของตนเป็นการซื้อเสียง เช่นนั้นก็คงไม่มีประเทศไหนที่ไม่มีการซื้อเสียง

 

รัฐบาลส่วนใหญ่ มักทุ่มเงินไปในกรุงเทพฯและตามหัวเมืองใหญ่ ๆ มากกว่าในชนบทไม่รู้เท่าไหร่ เช่นนี้เรียกว่าซื้อเสียงหรือไม่? จะมาเป็นผู้ว่ากรุงเทพฯ แล้วบอกจะสร้างโน้นสร้างนี่ ใช่การซื้อเสียงไหม?  ทางด่วน รถไฟฟ้าใต้ดิน มีโรงเรียนดีๆในกรงเทพฯ มีทุนให้แข่งแล้วโรงเรียนในกรุงเทพฯได้เปรียบกว่า อย่างนี้ใช่ประชานิยมหรือเปล่า? เมื่อจะใช้หลักการนี้กับคนชนบท คนกรุงเทพฯบอกว่าไปแจกเงินเขาทำไม ทำไมไม่รู้จักทำมาหากินเอง โจมตีว่าประชานิยม ว่าตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ไปโน่น ผมว่าก็ดีแล้วนี่ ประชานิยม ดีกว่าประชาไม่นิยม คนเมืองรับนโยบายแบบนี้มานานจนเป็นของธรรมดาไปแล้ว

 

พูดแบบนี้ จะมีคนหาว่าผมเป็นพวกทักษิณ เกลอ เพื่อนที่เบอร์อยู่ในมือถือผม คบกันมาตั้งแต่แตกเนื้อหนุ่ม ก็ว่าผมอย่างนั้น ผมเป็นพวกทักษิณหรือเปล่า? ผมให้คนอื่นตอบ แต่ที่ผมตอบได้ คือ ไม่ได้เป็นพวกเดียวกับฝ่ายที่ต่อต้านและล้มทักษิณ ไม่ใช่เพราะเชียร์คนแพ้ แต่สงสัยว่า "ระบอบทักษิณ" จริงๆ แล้วหมายความว่าอย่างไร? อยากจะรักษาสนับสนุนระบอบอื่นด้วยการยก "ระบอบทักษิณ" เป็นเป้าล่อหรือเปล่า?

 

ถ้าทักษิณซื้อเสียง เราจะอธิบายคนจำนวนมากที่ลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ปี "50 ว่าอย่างไร? คำกล่าวหาเรื่องชาวบ้านขายเสียง มันเป็นเพลงแผ่นเสียงตกร่องแล้ว ผมเคยทำงานองค์กรกลางสมัยปี 2535 สมัยนั้นซื้อเสียงกันมโหฬารจริงๆ มีคำสุนทรพจน์ของหัวหน้าพรรคหนึ่งที่ชอบอ้างว่าพรรคตัวเองไม่ซื้อเสียง แล้วด่าพรรคอื่นว่าซื้อเสียง แต่ผมเชื่ออาสาสมัครขององค์กรกลางมากกว่า ตามสถิติของเรา พรรคนี้ซื้อเสียงเป็นอันดับ 2 ไม่ได้หมายความว่าเป็นพรรคที่ยังมีคุณธรรมกว่า แต่เป็นเพราะส่งจำนวนผู้สมัครเป็นอันดับ 2   

 

ข้อเสนอ 70/30 ก็ท่องมนต์นี้ และเป็นการสืบต่อจากรัฐประหาร ล้มรัฐบาลทักษิณก็แล้ว รัฐประหารก็แล้ว รัฐธรรมนูญปี 50 ก็แล้ว ยังชนะไม่ได้ ต้องล้มระบบการเลือกตั้งไปด้วย ถึงจะกำราบได้หรือ?     

 

หรือว่านี่เป็นเพียงหมากกลการเมือง ?      

 

ตอนแรกที่กลุ่มพันธมิตรออกมาเสนอ สัดส่วน 70/30 หัวเราะกันใหญ่ แต่น่าแปลก ที่หลังจากนั้นมีกระแสขานรับขึ้นมา เรื่องรัฐบาลแห่งชาติก็เอามาพูดอีก หนังสือพิมพ์บางฉบับยังให้ท้ายด้วย แสดงว่าความคิดแบบนี้ไม่ได้ออกมาจากเฉพาะแกนนำกลุ่มพันธมิตร แต่ชวนให้สงสัยว่า มีการช่วยกันคิดเป็นระบบ ถึงได้ประสานเสียงกันขนาดนี้ !?

 

มี 2 สมมุติฐาน เรื่องประท้วงครั้งนี้ของพวกพันธมิตร สมมุติฐานหนึ่ง คือ พวกพันธมิตรริเริ่มโครงการนี้ด้วยตัวเอง แล้วก็มีคนส่วนหนึ่งที่เห็นด้วยจึงไปร่วมชุมนุม ส่วนอีกสมมุติฐานหนึ่ง คือมีคนหนุนอยู่ข้างหลัง พวกแกนนำพันธมิตร เป็นหัวหน้าเฉพาะที่ชุมนุม แต่เป็นลิ่วล้อของกลุ่มคนที่สำคัญกว่ามาก ผมเองไม่ทราบว่าสมมุติฐานไหนถูก เพราะมีความเป็นไปได้สูงทั้งสองกรณี

 

แต่ที่ชวนให้คิด คือ ทำไมการเขย่า โจมตีรัฐบาลถึงเป็นการช่วยกันรุมจากคนละหน่วยงาน ทำไมถึงประสานเสียงประสานใจกันได้ขนาดนี้ พวกพันธมิตรตั้งลูกเตะ สื่อมวลชนร้องเชียร์ พรรคการเมืองในรัฐสภารับลูก ส่งลูกให้ศาล แล้วศาลก็เตะลูกเข้าประตู กลุ่มเหล่านี้มีมาฆบูชาทางความคิดหรือ? มาฆบูชาทางความคิด คือ คิดอย่างเดียวกันโดยไม่ได้นัดหมาย ที่สำคัญคือ มันเป็นกลุ่มเดียวกับครั้งที่แล้วคือพันธมิตรที่ไล่ทักษิณ ถ้าจะย้อนไปดูก็จะพบว่า ยกเว้นศาลแล้ว กลุ่มเหล่านี้ทับซ้อนกับกลุ่มที่สังหารนักศึกษาเมื่อ "6 ตุลา" ในแง่ของการเปลี่ยนแปลงเชิงประวัติศาสตร์แล้ว ต้องถือว่าเป็นความต่อเนื่อง 30 ปีที่แล้ว กับช่วงนี้ เห็นได้ว่า เป็นกลุ่มคนกลุ่มเดียวกัน กลุ่มผลประโยชน์เดียวกัน บางคนก็เป็นคนเดิมด้วยซ้ำ ส่วนกรณีพันธมิตรครั้งที่แล้ว กับครั้งนี้ซึ่งห่างกันเพียง 2-3 ปี ไม่ต้องขยายความเลย 

 

ข้อเสนอและการประท้วงของพันธมิตร ไม่ใช่แค่ความคิดของพันธมิตรเท่านั้น มันย้อนไปถึงพลังที่ขัดแย้งกันอยู่ในสังคมไทยในอดีต ผมเห็นว่าการที่นักศึกษาสมัย "6 ตุลา" ถูกปราบปราม เพราะนำเสนอความคิด ที่คุกคามสถานภาพเดิม ไม่ว่าในความเป็นจริงจะคุกคามได้จริงหรือไม่ ไม่สำคัญ ประเด็นอยู่ที่ว่าผู้ปกครองรู้สึกว่าถูกคุกคาม สิ่งนี้เป็นสิ่งซึ่งมีลักษณะร่วมกันกับกรณีของทักษิณที่คุกคามสถานภาพเดิม ทักษิณเองคงไม่ได้คิดไปไกลขนาดนั้น เพียงแต่ต้องการหาเสียงและช่วยเหลือชาวชนบท เมื่อได้รับการแซ่ซ้อง กลายเป็นฐานมวลชนอันไพศาล ทักษิณจึงต้องถูกขจัดออก ถูกเรียกว่า "ระบอบทักษิณ"

 

ทำไมถึงต้องยกปัจเจกบุคคลขึ้นเป็นระบอบ ที่เราเรียกทักษิณว่าเป็นระบอบหมายความว่าตัวทักษิณเองเป็นผู้ไปคุกคามระบอบอื่นในประเทศไทย ใช่หรือไม่? เรื่องทักษิณทุจริตเป็นเพียงน้ำจิ้ม แค่ทุจริตไม่ถึงกับเป็นปีศาจร้ายขนาดนี้ และเป็น "ระบอบ" ไม่ได้ "ระบอบทักษิณ" นี่ไม่ใช่มีความหมายในตัวของมันเอง แต่เป็นคู่สัมพันธ์กับอำนาจอื่นๆ ทำนองเดียวกับการปะป้าย "คอมมิวนิสต์" ให้นักศึกษา ถ้าเราพยายามดูว่า นักศึกษาเป็น "คอมมิวนิสต์" จริงหรือ เราอาจจะไม่ได้คำตอบเท่ากับดูว่า ความหมายของคำว่า "คอมมิวนิสต์" เป็นคู่ตรงข้ามกับอะไร 

           

จากการที่ "14 ตุลา" ได้เปิดประตูให้ราษฎรเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง การเมืองไทยหลังจากทศวรรษ 20 ยิ่งเข้าลักษณะเป็นการเมืองแบบมวลชน ซึ่งแปลมาจากคำว่า Mass Politics เช่น รัฐประหาร "6 ตุลา" และ "19 กันยา" ทหารแค่ลงดาบเท่านั้น แต่การสร้างเงื่อนไข การปูพรมแดงให้ทหารเดินนั้น มีคนช่วยจัดการให้ และต้องใช้มวลชนสนับสนุน ไม่ใช่การเมืองที่เล่นกันเฉพาะในรัฐสภา หรือเป็นเกมสู้กันเฉพาะกลุ่มคนวีไอพี อีกต่อไป นี่ซิคือ "การเมืองใหม่" การเมืองที่เกี่ยวข้องกับฐานมวลชน พวกพันธมิตรก็เล่นการเมืองตามแบบนี้ ประมุขของพันธมิตรครั้งที่แล้ว ก็ต้องอาศัยกลยุทธ์นี้ มิใช่ไปงุบงิบสั่งทหารลุยเลย ทำแบบนั้นไม่ได้แล้ว การเมืองไทยปัจจุบันต่างจากแต่ก่อน ก่อนช่วง 2500

 

และนี่คือ สิ่งที่ทำให้ทักษิณยังน่ากลัว สำหรับฝ่ายตรงข้ามที่คิดว่าทักษิณมาคุกคามอำนาจ ความน่าเชื่อถือและผลประโยชน์ของตน และนี่คือภูมิหลังความเป็นมาของข้อเสนอ 70/30 หรือตัดทอนฐานมวลชนของสิ่งที่พวกนี้เรียกว่า "ระบอบทักษิณ" ผมว่าอย่าไปกล่าวหาว่าสมัครเป็นนอมินีทักษิณเลย นอมินีตัวจริงคือคนที่พร้อมจะเลือกทักษิณ หรือ กลุ่มการเมืองที่แสดงว่านิยมทักษิณ และนอมินีนี้มีมากกว่า ๑10 ล้านนะครับ ข้อเสนอของพันธมิตรก็เท่ากับว่าพยายามให้นอมินีลดไป 70% มันไม่มากไปหน่อยหรือครับพี่ มันไม่จี้ไปหน่อยหรือน้อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท