Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


วสันต์ ลิมป์เฉลิม


 


หลักนิติธรรมและหลักการประชาธิปไตย


 


เหตุผลสำคัญที่ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 237 เพราะมาตรานี้บัญญัติโดยขัดกับหลักนิติธรรมและหลักการประชาธิปไตย ตามหลักนิติธรรมซึ่งหมายถึงการปกครองโดยมีเนื้อหาของกฎหมายเป็นกฎหมายที่ดี (good law) และการมีกลไกบังคับใช้กฎหมายที่ดีด้วยนั้น กฎหมายที่ดีจะไปลงโทษผู้ที่ไม่มีความผิดไม่ได้ และการบัญญัติโทษต้องต้องได้สัดส่วนกับความผิดนั้น


 


สำหรับหลักการประชาธิปไตยนั้นถือว่า พรรคการเมืองเป็นสถาบันหลักทางการเมืองทีเดียว พรรคการเมืองเป็นกลไกพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย พรรคมีความสำคัญอย่างยิ่งในการทำหน้าที่รวบรวมผลความคิดเห็น ผลประโยชน์ และความต้องการต่างๆ ของประชาชนไปจัดทำเป็นนโยบาย เสนอแก่ประชาชนในการแข่งขันเลือกตั้ง และเมื่อได้รับเลือกตั้งแล้ว จะต้องดำเนินการผลักดันนโยบายนั้นๆ ให้บรรลุผล พรรคการเมืองจึงเป็นองค์กรตัวแทนเจตจำนงของประชาชนอันหลากหลายซึ่งนำไปสู่วิถีการเมืองแบบสันติในรัฐสภา ด้วยเหตุนี้ ในประเทศประชาธิปไตยทั้งหลาย ไม่มีกฎหมายที่จะให้มีการยุบพรรคกระทำได้ง่ายดาย อาจพูดเป็นสำนวนว่า "ยุบพรรคง่าย ก็ทำลายประชาธิปไตยง่าย ทำลายพรรคก็เท่ากับทำลายประชาธิปไตย"


 


ในประเทศที่ยึดหลักประชาธิปไตยนั้น เหตุผลในการยุบพรรคการเมืองจะมาจากเหตุผลเดียวคือ พรรคการเมืองนั้นไมได้ต้องการระเบียบทางการเมืองแบบประชาธิปไตย แต่ต้องการโค่นล้มระบอบประชาธิปไตยเสียเอง ยกตัวอย่างเช่น พรรคนาซี พรรคคอมมิวนิสต์ในเยอรมนี ซึ่งทั้งสองพรรคต่างประกาศชัดเจนที่จะไม่เอาระบอบประชาธิปไตย ในกรณีสหรัฐฯ ศาลสูงสุดสหรัฐฯ ตัดสินว่า ตราบใดที่ไม่ได้มีการกระทำที่เป็นโค่นล้มระบอบประชาธิปไตย การเผยแพร่แนวคิดอุดมการณ์ที่ต่างจากระบอบประชาธิปไตยยังได้รับการยอมรับว่าเป็นเสรีภาพทางความคิดเห็น


 


ที่มาที่น่าเคลือบแคลงของรัฐธรรมนูญมาตรานี้


 


เท่าที่ทราบ ในชั้นกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ การปรากฏของมาตรานี้ถูกเสนอเข้ามาอย่างเงียบๆ ในตอนท้ายและไม่มีการถกอภิปรายประเด็นนี้นัก ผู้ผลักดันมาตรานี้คือบุคคลซึ่งปัจจุบันได้เข้าไปทำหน้าที่เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเองอีกด้วย


 


รัฐธรรมนูญมาตรานี้สะท้อนแนวคิดของคณะรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549 ที่ออกประกาศ คปค. ฉบับที่ 27 ซึ่งเป็นการเขียนกฎหมายย้อนหลังให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการพรรคที่ถูกยุบ และตุลาการรัฐธรรมนูญก็ได้ตัดสินยุบพรรคไทยรักไทย โดยใช้กฎหมายย้อนหลังดังกล่าวซึ่งขัดกับหลักนิติธรรม ไปแล้วเมื่อ 30 พฤษภาคม 2550


 


ปัญหาที่น่าวิตกของ มาตรา 237 คือ การกำหนดเกมต่อสู้ทางเมืองแบบที่วาง "ธง" ไว้ก่อน และทำทุกอย่างให้ไปตามธงนั้น ขณะนี้เหตุการณ์ได้คลี่คลายใกล้ให้เป็นไปตามนั้นแล้วอย่างสมบูรณ์


 


ประเด็นไม่ใช่อยู่ที่การแก้รัฐธรรมนูญเป็นการหนีความผิด ประเด็นคือมาตรานี้ไปครอบคลุมให้คนไม่ผิดต้องผิด


 


พรรคฝ่ายค้าน กลุ่มพันธมิตร สื่อมวลชนและ "นักวิชาการ" บางส่วนเห็นว่า ความพยายามในการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 237 เป็นการหลีกเลี่ยงความผิดที่ได้กระทำไว้


 


ผู้เขียนเห็นว่า ฝ่ายที่คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 237 ไม่ได้พิจารณาเหตุผลในเชิงหลักการที่สำคัญว่า การบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรานี้ขัดกับหลักนิติธรรมและหลักประชาธิปไตย การที่รัฐธรรมนูญผูกปมปัญหาทางกฎหมายและการเมืองนี้ไว้เองต่างหากที่เป็นสาเหตุของปัญหาประชาธิปไตยไทยในปัจจุบัน ใครก็ตามที่วางใจนิ่งๆ ลองทิ้งการติดยึดกับทุกพรรคลงไป ไม่ว่าพรรคพลังประชาชน พรรคประชาธิปัตย์ หรือพรรคใดๆ แล้วไตร่ตรองโดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์เฉพาะของพรรคใดเลย ก็สามารถได้คำตอบได้เช่นกันว่า กฎหมายไม่ควรบัญญัติโทษให้กับผู้ที่ไม่ได้กระทำผิด กฎหมายที่สอดคล้องกับหลักนิติธรรมจะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม กฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรมในที่สุดในระยะยาวแล้วจะก่อโทษให้แก่แม้ผู้ที่ได้ประโยชน์เฉพาะหน้าจากกฎหมายนั้นเอง


 


การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรานี้เพื่อให้คงไว้ซึ่งความยุติธรรม ฝ่ายที่คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญอ้างว่า มาตรานี้เจตนาใช้ยาแรง แต่ความจริงคือเป็นการใช้ยาแรงกับคนที่ไม่ได้ป่วยเลย ซึ่งผลกลับทำให้ผู้ไม่เจ็บป่วยต้องได้ผลร้ายจากยา


 


ปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทยแก้โดยยึดการเคารพกติกา


 


ฝ่ายคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญอ้างว่า การแก้ไขมาตรา 237 จะนำมาซึ่งความไม่พอใจของประชาชน และก่อให้เกิดกระแสความขัดแย้งในสังคมอีกครั้ง ผู้เขียนเห็นว่า ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญแสดงเหตุผลโต้แย้งได้เต็มที่ภายใต้กรอบของกฎหมาย แต่รัฐบาลมีสิทธิโดยชอบตามรัฐธรรมนูญในการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ฝ่ายที่คัดค้านอ้างว่า ประชาชนส่วนใหญ่ลงมติรับรัฐธรรมนูญนี้มา แต่เป็นที่ทราบว่า ในการลงประชามติครั้งนั้น เหตุผลผู้ลงมติสนับสนุนรัฐธรรมนูญจำนวนไม่น้อยเพราะต้องการให้มีการเลือกตั้ง ปัญหาของมาตรา 237 ไม่ได้ถูกชี้ความสำคัญให้ประชาชนได้พิจารณา ในการหาเสียงเลือกตั้งของพรรคพลังประชนชนเอง ก็ประกาศนโยบายอย่างเปิดเผยที่จะเข้าไปแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฝ่ายที่คัดค้านอ้างว่า บ้านเมืองจะวุ่นวาย แตกแยก ผู้เขียนเห็นว่า ฝ่ายค้านมีส่วนช่วยให้บ้านเมืองไม่วุ่นวายได้ โดยการใช้วิธีการสนทนาด้วยเหตุผล การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ด้วยขั้นตอนของรัฐธรรมนูญเองไม่ได้โยงอะไรกับการที่บ้านเมืองจะวุ่นวาย การสร้างความวุ่นวายต่างหากเป็นกระบวนการที่ไม่ใช้รัฐธรรมนูญ ความวุ่นวายเกิดจากการไม่ใช้เหตุผล แต่ใช้อารมณ์ ใช้อคติ การแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยวิธีทางรัฐธรรมนูญคือวิธีที่ไม่วุ่นวาย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net