Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

อดิศักดิ์ ศรีสรรพกิจ


ข้าราชการบำนาญกรมวิชาการเกษตร


และอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ


 


ด้วยความเคารพท่านนายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวช แต่ขอแสดงความรู้สึกที่มีต่อท่าทีของฯพณฯ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่รายการสนทนาประสาสมัครวันอาทิตย์ที่ 13 กรกฎาคม 2551 เรื่อยมาจนถึงวันที่ ฯพณฯ ไปกล่าวเปิดงานมหกรรมมั่นใจไทยแลนด์ฯ วันที่ 17 กรกฎาคม 2551 ที่ท่านพร่ำตำหนิรัฐธรรมนูญว่าเป็นตัวปัญหา เป็นสาเหตุแห่งความยุ่งยากในการบริหารราชการของรัฐบาล มีการหมกเม็ดเพื่อมิให้รัฐบาลบริหารงานไปได้ด้วยดี


 


ฯพณฯ ยกเหตุการณ์ที่รัฐบาลจะต้องไปประชุมประชาคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือที่เรารู้จักกันในชื่อย่อว่า อาเซียน(ASEAN) ที่มีสิงคโปร์เป็นประธานการประชุมในวันที่ 20 กรกฎาคม 2551 และต่อจากนั้นก็จะถึงวาระที่ประเทศไทยจะต้องเป็นประธานอาเซียน ซึ่งฯพณฯก็แจ้งว่าคณะรัฐมนตรีเพิ่งจะทราบว่าจะต้องมีการลงนามในระหว่างการประชุม อาเซียนหลายเรื่อง ทำให้กลัวว่าจะเป็นการขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ในทำนองเดียวกันกับที่ไทยไปลงนามแถลงการณ์ร่วมสนับสนุนกัมพูชาขึ้นทะเบียนมรดกโลก เลยทำให้รัฐมนตรีทั้งหลายไม่กล้าที่จะไปประชุม อาเซียนกัน  ฯพณฯชี้แจงเองว่าแต่ละคนกลัวโดน(ศาลรัฐธรรมนูญ)ฆ่า อันเป็นสาเหตุที่เกิดวลีว่าเป็นการเสียเกียรติภูมิของกระทรวงการต่างประเทศและของรัฐบาลโดยรวม


 


ผมรู้สึกห่อเหี่ยวใจต่อคำวินิจฉัยของฯพณฯ ที่ว่าสาเหตุหลักมาจากตัวรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ที่ ฯพณฯ รู้สึกว่ามันแสนจะเลวร้าย ต้องการแก้ไขโดยด่วน  แทนที่ ฯพณฯ จะตรวจสอบว่าเรื่องที่จะต้องขอความเห็นชอบรัฐสภา แต่ทำไมไม่มีการนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเสนอรัฐสภา เพราะรัฐสภาจะใช้เวลาไม่เกิน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องดังกล่าว


 


ผมขอยกตัวอย่างเท่าที่ผมพอจะหาหลักฐานและจากความจำว่ารัฐบาลพลเอกสุรยุทธิ์


จุลานนท์ ได้เคยนำเอาเรื่องที่เกี่ยวกับสัญญาที่จะไปทำกับต่างประเทศไปเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ที่ทำหน้าที่รัฐสภาด้วย) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนที่จะไปลงนาม เช่น


1)   กฏบัตร (Charter) ศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย


2)   อนุสัญญา (Convention) ว่าด้วยองค์การความร่วมมือด้านอวกาศแห่งเอเชียแปซิฟิก


3)   อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความรับผิดทางแพ่งสำหรับความเสียหายจากมลพิษของน้ำมัน ค.ศ.1992


4)   ความตกลง (Agreement) ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับสถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง (เพื่อรับรองสถาบันฯเป็นองค์การระหว่างประเทศ)


5)   ข้อแก้ไขความตกลงที่เกี่ยวกับองค์การโทรคมนาคมทางดาวเทียมระหว่างประเทศ


6)   ข้อตกลงความร่วมมือเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA)           


7)   กฏบัตรประชาคมเศรษฐกิจ อาเซียน และปฏิญญาว่าด้วยแผนแม่บทของกฎบัตร อาเซียน


8)   การเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาปารีสว่าด้วยการคุ้มครองทรัพย์สินอุตสาหกรรม และสนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตร


 


ผมจำได้ว่ากระทรวงพาณิชย์ในขณะนั้น โดยรัฐมนตรีเกริกไกร จีระแพทย์ ได้เคยเชิญสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติจำนวนหนึ่งไปร่วมให้ข้อคิดเห็นต่อกรอบความร่วมมือ อาเซียนหลายรายการ ทั้งกรอบความร่วมมือภายใน อาเซียนกันเอง และกรอบความร่วมมือระหว่าง อาเซียนกับประเทศคู่เจรจา เช่น จีน-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ เพื่อเตรียมนำเรื่องเข้าพิจารณาในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ


 


ถ้าจะเปรียบเทียบความตั้งใจที่จะปฏิบัติให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ในสมัยพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้นำเรื่องที่จะต้องไปลงนามกับต่างประเทศเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติในช่วงที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2549 ยังบังคับใช้อยู่ ซึ่งไม่มีบัญญัติไว้ถึงการขอความเห็นชอบก่อนไปลงนามด้วยซ้ำ แต่รัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ก็ยังนำเสนอสนช. โดยอิงมาตรา38ที่กล่าวว่า "เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"


 


ที่เขียนมาเล่าสู่กันฟังนี้ก็เพื่อต้องการให้ทราบข้อเท็จจริงว่าข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญมิได้จงใจวางยารัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง แต่เป็นความต้องการให้เกิดความรอบคอบและไม่เสียเปรียบในการไปทำสัญญากับต่างประเทศ  "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับ พ.ศ.2550" ไม่ใช่ผู้ร้ายอย่างที่บางคนพยายามกล่าวหาอยู่


 


ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เราก็เห็นความรัดตัวของมาตรา 190 อยู่บ้างเหมือนกัน แต่ในมาตรานี้ก็กำหนดให้ไปออก "กฎหมายว่าด้วยการกำหนดขั้นตอนและวิธีการจัดทำหนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวางหรือมีผลผูกพันด้านการค้าหรือการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ......."  จะกำหนดกฎเกณฑ์อย่างไรที่ไม่ขัดกับหลักการสำคัญของแม่บทก็ย่อมทำได้ สมัยประชุมด้านกฎหมายกำลังจะเริ่มในอีกไม่กี่วันนี้ รัฐบาลก็น่าจะเร่งดำเนินการในโอกาสแรก


 


ถ้าใครเคยมีส่วนในการเจรจาความกับต่างประเทศอยู่บ้าง ก็จะยืนยันได้ว่าเรื่องที่จะมีการตกลงกัน ไม่ว่าจะเป็นระหว่างประเทศหนึ่งกับอีกประเทศหนึ่ง (ที่เรียกว่าแบบทวิภาคี) หรือจะเป็นระหว่างกลุ่มประเทศ (ที่เรียกว่าพหุภาคี) ไม่ใช่ว่าเจรจากันวันนี้แล้วพรุ่งนี้ตกลงลงนาม โดยเฉพาะเรื่องสำคัญๆ มักจะใช้เวลาเป็นปี หรือหลายปี ซึ่งก็เป็นความจำเป็นที่ผู้แทนที่จะไปประชุมหรือไปเจรจาจะต้องเสนอและได้รับความเห็นชอบในกรอบการเจรจา (Position) ของฝ่ายเราสียก่อน เมื่อเจรจาแล้วก็ต้องนำผลกลับมารายงานเพื่อทบทวนว่าในการเจรจาครั้งต่อๆ ไปจะยังคงท่าทีดังเดิม หรือต้องปรับท่าทีไปจากเดิม


 


เรื่องที่กระทรวง ทบวง กรม เห็นว่าอยู่ในข่ายที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา ก็ต้องทำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเสนอรัฐสภา ถ้าเรื่องใดเกิดไม่แน่ใจว่าต้องเสนอรัฐสภาหรือไม่ ก็ชอบที่จะต้องหารือกับฝ่ายรัฐสภา ซึ่งมีคณะกรรมาธิการทั้งของสภาผู้แทนราษฎร และกรรมาธิการของวุฒิสภาที่จะช่วยให้ความเห็นได้ อยู่ที่ฝ่ายบริหารจะยอมรับและให้ความสำคัญกับฝ่ายนิติบัญญัติตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดหรือไม่


 


เรื่องที่รัฐมนตรีนพดล ปัทมะไปลงนามในแถลงการณ์ร่วม เพื่อสนับสนุนพระวิหารเป็นมรดกโลก (ซึ่งเป็นการลงนามในฐานะผู้แทนแห่งราชอาณาจักรไทยเพราะใช้คำว่า The Kingdom of Thailand) จะเป็นเรื่องสำคัญมากน้อยเพียงใด กระทรวงการต่างประเทศและรัฐบาลย่อมจะต้องวินิจฉัยได้ว่าต้องนำไปขอความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าจะนำไปเปรียบเทียบกับตัวอย่างของเรื่องที่รัฐบาลพลเอกสุรยุทธิ์ จุลานนท์นำเสนอขอความเห็นชอบจากฝ่ายนิติบัญญัติ ผมจึงเห็นว่ารัฐบาลไม่ควรไปตำหนิว่าอุปสรรคการบริหารอยู่ที่ตัวรัฐธรรมนูญ แต่ต้องกลับมาตรวจสอบระบบบริหารจัดการของรัฐบาลว่ามีข้อบกพร่องในส่วนใด อย่าให้คนเอามาถากถางรัฐบาลว่ารำไม่ดีแล้วโทษปี่โทษกลอง


 


อยากเล่าให้ฟังด้วยความปราถนาดีจริงๆ ครับ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net