เครือข่ายชนเผ่าพร้อมจัดงาน"มหกรรมชนเผ่าพื้นเมือง" 7-9 ส.ค.นี้

 

สืบเนื่องจากองค์การสหประชาชาติ(United Nations) ได้ประกาศให้วันที่ 9 สิงหาคมของทุกปีเป็นวัน "ชนเผ่าพื้นเมืองโลก" และกำหนดให้ระหว่างปี พ..2548 - 2557(.. 2005- 2014) เป็น "ปีทศวรรษสากลของชนเผ่าพื้นเมืองโลก"(ระยะที่ 2) นั้น

                                                                                     

อีกทั้งเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2550 ที่ผ่านมา ในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้มีมติรับรอง"ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง" อย่างเป็นทางการ เพื่อให้ประเทศสมาชิกและประชาคมโลกตระหนักถึงปัญหาและข้อกังวลต่าง ๆ ของพี่น้องชนเผ่าพื้นเมืองที่ประสบอยู่ และจะได้ร่วมช่วยกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง ตลอดจนร่วมส่งเสริม ยืนยันและรับรองสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองในทุกระดับด้วย                                 

ล่าสุด (23 ก.ค.) ที่สถานบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ร่วมกับองค์กรพันธมิตร แถลงข่าวเตรียมจัดงาน "มหกรรมชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ประจำปี 2551" ที่จะมีการจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-9 ส.ค. 2551 ณ หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อเป็นการรณรงค์และเฉลิมฉลองวันชนเผ่าพื้นเมืองและปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย รวมทั้งเพื่อพัฒนากลไกและขบวนการขับเคลื่อนงานเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย และเพื่อนำเสนอนโยบายและข้อเรียกร้องของชนเผ่าพื้นเมืองต่อรัฐบาลไทยและองค์การสหประชาชาติ

 

ในเวที รายงานว่า การจัดงานมหกรรมชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ประจำปี 2551 ครั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากองค์การสหประชาชาติ ได้ประกาศให้วันที่ 9 ส.ค.ของทุกปีเป็นวัน "ชนเผ่าพื้นเมืองโลก" และกำหนดให้ระหว่างปี พ.ศ. 2548 - 2557 (ค.ศ. 2005- 2014) เป็น "ปีทศวรรษสากลของชนเผ่าพื้นเมืองโลก" (ระยะที่ 2) อีกทั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2550 ที่ผ่านมา ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้มีมติรับรอง "ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง" อย่างเป็นทางการ เพื่อให้ประเทศสมาชิกและประชาคมโลกตระหนักถึงปัญหาและข้อกังวลต่าง ๆ ของพี่น้องชนเผ่าพื้นเมืองที่ประสบอยู่ และจะได้ร่วมช่วยกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง ตลอดจนร่วมส่งเสริม ยืนยันและรับรองสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองในทุกระดับด้วย

 

สำหรับประเทศไทยนั้น ทางเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองกลุ่มต่าง ๆ ร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนและหน่วยงานภาครัฐที่ทำงานเกี่ยวข้องกับชนเผ่าพื้นเมือง ได้จัดงานเฉลิมฉลอง โดยมีการจัดประชุมและประกาศวันชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อ 8-9 ส.ค. 2550 และจัดงานมหกรรมชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ครั้งแรก เมื่อ 5-11 ก.ย. 2550 ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นกิจกรรมสำคัญที่ชนเผ่าพื้นเมืองได้ร่วมประกาศวันชนเผ่าพื้นเมืองขึ้นในประเทศไทย และประกาศจัดตั้งเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เพื่อให้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ต่อเนื่อง และเป็นกลไกหลักในการแก้ไขปัญหาร่วมของชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยต่อไปอีกด้วย

 

นายจอนิ โอ่โดเชา ประธานคณะกรรมการจัดงานฯ กล่าวว่า งานมหกรรมชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยที่จะจัดขึ้นระหว่าวันที่ 7-9 ส.ค. 2551 นี้ นอกจากเป็นการรณรงค์และเฉลิมฉลองวันชนเผ่าพื้นเมืองและปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยแล้ว เราคาดหวังว่าให้รัฐบาลไทยเห็นความสำคัญ ยอมรับและรับรองวันชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมปฏิบัติการต่าง ๆ ที่เป็นไปตามปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองอย่างจริงจัง เพื่อให้สังคมไทยมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับชนเผ่าพื้นเมืองและเกิดความสมานฉันท์ในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ พร้อมกันนี้จะนำไปสู่การเกิดเครือข่ายการเรียนรู้และความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชนและเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองในภาคต่างๆ ที่พร้อมจะสนับสนุนการฟื้นฟูวัฒนธรรมและการพัฒนาที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตที่ยั่งยืนของชนเผ่าพื้นเมืองด้วย

 

"เราต้องการสื่อให้คนทั่วไปได้สนใจและเข้าใจชนเผ่าพื้นเมือง เราต้องการแสดงสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง และมาร่วมกันคิด วางแผนกันว่าในอนาคตเราจะขับเคลื่อนต่อไปได้อย่างไรโดยสันติวิธี"

 

นายสุนทร ศรีปานเงิน ตัวแทนชุมชนมอญในประเทศไทย กล่าวว่า งานมหกรรมชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยในครั้งนี้ ทางกลุ่มชาวมอญจะเข้าร่วมกิจกรรมด้วย เพราะคนเชื้อสายมอญในประเทศไทยนั้นก็มีอยู่กระจัดกระจายหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะในกรุงเทพฯ นนทบุรี ราชบุรี สังขบุรี แม้กระทั่งใน จ.เชียงใหม่ ก็มีคนเชื้อสายมอญอาศัยอยู่แถวเขต อ.สันป่าตอง ด้วย

 

ด้าน รศ.ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาอย่างยั่งยืน คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้ คงจะไม่ใช่เพียงแค่การแสดงทางวัฒนธรรมอย่างเดียว แต่เราจะต้องฉายแนวคิดในเรื่องสิทธิตามปฏิญญาสากลให้ได้ และเราจะต้องสร้างพื้นที่ตรงนี้เพื่อสื่อสารให้กับคนข้างนอกได้รับรู้ในวงกว้างด้วย

 






 

กำหนดการ

มหกรรมชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ประจำปี 2551

ระหว่างวันที่ 6 -9 สิงหาคม 2551

ณ ลานบริเวณหอประชุมใหญ่และห้องประชุมเล็ก ม.เชียงใหม่

 

วันพุธ ที่ 6 สิงหาคม 2551   

18.00-21.00 น. ลองไฟ แสง สี เสียง (พบกับการแสดงวัฒนธรรมชนเผ่าพื้นเมือง อินดี้ และบทกวี

ของศิลปิน นักร้อง นักกวี)

 

วันพฤหัสบดีที่ 7 สิงหาคม 2551  

08.30-09.00 น. ลงทะเบียน ณ โต๊ะอำนวยการกลางการจัดงาน

09.00-09.15 น. ชุดแสดงวัฒนธรรมเปิดงานมหกรรมชนเผ่าพื้นเมือง    

09.15-09.30 น. พิธีกรรมเปิดงานแบบชนเผ่าพื้นเมือง (แบบสรุปย่อ)

            โดย       ผู้นำพิธีกรรมชาวอิ้วเมี่ยน               

09.30-09.40 น. กล่าวชี้แจงกำหนดการและกล่าวรายงานการจัดงาน

            โดย       ประธานคณะกรรมการจัดงานมหกรรมชนเผ่าพื้นเมือง

09.40-10.15 น. กล่าวเปิดและนำเสนอนโยบายรัฐที่สนับสนุนปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิ

ชนเผ่าพื้นเมือง

โดย       ปลัดกระทรวง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

10.15-10.30 น. แสดงละครสะท้อนชีวิตคนชายขอบ

            โดย       คณะละครมะขามป้อม   

10.30 - 12.30 น.          แนวทางการสนองต่อปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองและการ

แลกเปลี่ยนแนวคิดและทิศทางที่สอดคล้องกับความต้องการและสิทธิชนเผ่า

พื้นเมืองในประเทศไทย

            โดย       ผู้แทนเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย

                        ผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชน

                        ผู้แทนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

                        คุณหญิงอัมพร  มีศุข  กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ผู้แทนองค์การสหประชาชาติ

            ดำเนินรายการโดย: ดร.ประเสริฐ ตระการศุภกร  

12.30 - 13.30 น.           พักรับประทานอาหารกลางวัน และชมสารคดี เรื่องการเลือกปฏิบัติทางเชื้อ

ชาติกับชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย

13.30 - 13.45 น.          แสดงทางวัฒนธรรมและบทกวี  (โดยแสงดาว  ศรัทธามั่น) 

13.45 - 16.30 น.           เสวนา เรื่องวิกฤติด้านสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองในบริบทโลก

            โดย       ผู้แทนชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย 

นักวิชาการ

องค์กรพัฒนาเอกชน

            ดำเนินรายการโดย : อาจารย์ชูพินิจ เกษมณี

16.30-22.00 น. เวทีวัฒนธรรม และดนตรี

 

วันศุกร์ที่ 8 สิงหาคม 2551

09.00-09.30 น. การแสดงวัฒนธรรม

09.30-10.30 น. ปาฐกถาพิเศษเรื่อง ภาษาชนเผ่าพื้นเมืองกับความหลากหลายทางวัฒนธรรม

แห่งชาติพันธุ์

            โดย       อ.ศรีศักร วัลลิโภดม

10.30-10.40 น. การแสดงวัฒนธรรม

10.40-12.30 น. นำเสนอกรณีศึกษาด้านชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง

                        - ชอง โดย อ.สุวิไล  เปรมศรีรัตน์

                        - มอญ โดย องค์บัณจุล

                        - ไททรงดำ

            ดำเนินรายการโดย : ดร.ชยันต์  วรรธนะภูติ                        

12.30-13.30 น. พักรับประทานอาหารกลางวัน

13.30-13.45 น. แสดงวัฒนธรรมชนเผ่าพื้นเมือง

13.45-14.30 น. ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง สิทธิสากลกับสิทธิมนุษยชนชนเผ่าพื้นเมือง

            โดย       ศาสตราจารย์วิทิต มันตราภรณ์

14.30-14.45 น. การแสดงวัฒนธรรมชนเผ่าพื้นเมือง

14.45-17.30 น. นำเสนอกรณีศึกษาด้านชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง

            โดย       - มอแกลน มอแกน และอุรักลาโว้ย โดย อ.นฤมล อรุโณทัย

                        - มลาบรี โดย คุณจักรินทร์ ณ น่าน

                        - ไทยใหญ่ โดย ผู้แทนชาวบ้านจาก อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่

            ดำเนินรายการโดย: ดร.ประสิทธิ์  ลีปรีชา   

17.30-22.00 น. เวทีวัฒนธรรม ดนตรี ชนเผ่าพื้นเมือง

                        ประชุมคณะกรรมการจัดงานและแกนนำเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมือง เพื่อกำหนดท่าที

แถลงการณ์  แผนงานและกิจกรรมต่อเนื่อง และการจัดงานในปีต่อไป

 

 

วันเสาร์ที่ 9 สิงหาคม 2551

09.00-11.00 น. นัดรวมกลุ่มหน้าลานวัดสวนดอก เดินรณรงค์ไปยังรอบคูเมือง

เดินรณรงค์เฉลิมฉลองวันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย

                        อ่านคำประกาศแถลงการณ์ และยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลและสหประชาชาติ

                        ณ ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์

12.00-13.00  น.  รับประทานอาหารกลางวัน

13.00 -13.30 น.  ผู้ร่วมงานเดินทางกลับโดยสวัสดิภาพ

 

 หมายเหตุ: จะมีกิจกรรมวัฒนธรรมชนเผ่าพื้นเมืองขั้นรายการในช่วงจัดเวทีสัมมนาวิชาการและมีการแสดงนิทรรศการจัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย และเฉลิมฉลองปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองตลอดงาน โดยมีการถ่ายทอดสดทางวิทยุและอินเตอร์เน็ท ตลอดการจัดงาน

 

 

 

ข้อมูลประกอบ

สำนักข่าวประชาธรรม

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท