Skip to main content
sharethis

รัฐบาลกัมพูชา โดยสมเด็จฯฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชารับปากนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่จะถอนข้อร้องเรียนให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) จัดประชุมฉุกเฉิน เพื่อหารือถึงปัญหาการเผชิญหน้าระหว่างไทย-กัมพูชา ส่วนรอยเตอร์รายงานในเวลาต่อมา ระบุว่ารัฐมนตรีข่าวสารในฐานะโฆษกรัฐบาลกัมพูชา ยืนยันว่า นายกรัฐมนตรีฮุน เซน ตกลงเพียงแค่ชะลอการร้องขอให้มีการประชุมฉุกเฉินของยูเอ็นเอสซีเท่านั้น ไม่ได้ถอนเรื่องทั้งหมดออกมาอย่างที่นายสมัครกล่าวกับผู้สื่อข่าวที่กรุงเทพฯ


'สมัคร' ยกหู'ฮุนเซน' ถอนคำร้อง


ทั้งนี้ เวลา 16.50 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล ก่อนให้โอวาทแก่คณะเจ้าหน้าที่และนักกีฬาที่เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิค ครั้งที่ 29 ทันทีที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เดินออกมาจากประตูด้านข้างตึกไทยคู่ฟ้าเพื่อมายังตึกสันติไมตรี นายสมัครได้หยุดยืนตรงขั้นบันได ก่อนที่จะส่งยิ้มและกวักมือเรียกช่างภาพและผู้สื่อข่าวให้เข้ามาใกล้ๆ พร้อมกับพูดว่า 'มานี่ มาใกล้ๆ นี่'


นายสมัครเปิดเผยด้วยสีหน้ายิ้มแย้มปนเสียงหัวเราะว่า'ผมได้พูดโทรศัพท์กับ ฯพณฯท่าน สมเด็จเดโช ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เสร็จเมื่อสักครู่นี่เอง ตกลงกับท่านว่า วันที่ 28 กรกฎาคมนี้ จะมีการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ ที่เสียมเรียบ และท่านตกลงว่าจะยุติกับทางนิวยอร์กให้ ผมเพิ่งตกลงกันเมื่อกี้นี่เอง'


เร่งตั้งรมต.'บัวแก้ว'ถกเขมร


นายสมัครกล่าวว่า ปัญหาของตนขณะนี้ คือ จะต้องมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศตัวจริงก่อนวันที่ 28 กรกฎาคม ซึ่งเป็นหน้าที่ของผม ที่จะต้องจัดการเรื่องนี้


เมื่อถามว่า แสดงว่าแต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเรียบร้อยแล้วใช่หรือไม่ นายสมัครไม่ตอบคำถาม เมื่อถามอีกว่า ที่บอกว่าจะยุติคือปัญหาจะไม่บานปลายใช่หรือไม่ นายสมัครกล่าวว่า 'เขาจะถอนความเห็นของเขาที่นิวยอร์ก'เมื่อถามว่า จะมีการถอนกำลังทหารใช่หรือไม่ นายสมัครกล่าวว่า กำลังทหารเหมือนเดิมๆ เมื่อถามว่า จะเปิดเผยรายชื่อรัฐมนตรีใหม่วันนี้เลยใช่หรือไม่ นายสมัครไม่ตอบคำถาม


รายงานข่าวแจ้งว่า มีความเป็นไปได้ที่นายสมัครจะแต่งตั้งนายสหัส บัณฑิตกุล รองนายกรัฐมนตรี เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศควบอีกตำแหน่ง


ระบุ 2 ฝ่ายหารือ 28 ก.ค.


ต่อมาเวลา 17.00 น. ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายธฤต จรุงวัฒน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงว่า เมื่อเวลา 16.30 น.นายสมัครได้โทรศัพท์คุยกับสมเด็จฯฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา และตกลงกันว่ากัมพูชาจะถอนคำร้องขอให้ยูเอ็นเอสซีประชุมฉุกเฉิน ก่อนที่การหารือภายในของยูเอ็นเอสซีรอบสองจะเริ่มขึ้นในวันที่ 24 กรกฎาคมตามเวลาในนิวยอร์ก และตกลงว่าจะให้รัฐมนตรีต่างประเทศของทั้ง 2 ฝ่ายพบหารือกันที่เมืองเสียมเรียบในวันที่ 28 กรกฎาคนี้ ซึ่งถือเป็นความคลี่คลายไปในทางที่ดี


'ท่าทีของรัฐบาลไทยต่อกรณีนี้ มั่นใจว่าช่องทางทวิภาคียังเปิดอยู่ และกัมพูชาก็คิดว่าช่องทางดังกล่าวสามารถเดินไปได้เช่นกัน' นายธฤตกล่าว


ยังไม่สั่งถอนทหาร-ย้ำไม่รุนแรง


นายธฤตกล่าวว่า ตั้งแต่ช่วงเช้านายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล ปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้โทรศัพท์ขอบคุณเอกอัครราชทูตของสมาชิกยูเอ็นเอสซี ประจำประเทศไทยทั้ง 11 ประเทศ ที่เข้าใจและสนับสนุนแนวทางของไทย


'นายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารบก ได้ย้ำอีกครั้งว่าทหารที่อยู่บริเวณพื้นที่ปราสาทพระวิหาร อยู่ในความสงบไม่ให้ใช้ความรุนแรง เป็นไปตามข้อตกลงในการประชุมจีบีซีที่จังหวัดสระแก้ว ซึ่งบรรยากาศของทหารของทั้งสองประเทศที่อยู่บริเวณดังกล่าวเป็นมิตรกันอย่างมาก ไม่มีสัญญาณในขณะนี้ว่าจะมีความรุนแรงใดๆ เกิดขึ้น แต่ยังไม่มีคำสั่งให้ถอนกำลังทหาร' นายธฤตกล่าว


เขมรโต้ 'สมัคร' แค่เลื่อนไม่ได้ถอน


อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานในเวลาต่อมา ระบุว่า นายเขียว กันนะริด รัฐมนตรีข่าวสารในฐานะโฆษกรัฐบาลกัมพูชา ยืนยันว่า นายกรัฐมนตรีฮุน เซน ตกลงเพียงแค่ชะลอการร้องขอให้มีการประชุมฉุกเฉินของยูเอ็นเอสซีเท่านั้น ไม่ได้ถอนเรื่องทั้งหมดออกมาอย่างที่นายสมัครกล่าวกับผู้สื่อข่าวที่กรุงเทพฯ


'เราได้ตัดสินใจที่จะเลื่อนคำร้องไปยังยูเอ็นเอสซี แต่ไม่ใช่เราถอนเรื่องทั้งหมดออกมา เราต้องการให้เห็นว่าไทยจะตอบสนองต่อท่าทีคืบหน้าของเราอย่างนี้อย่างไร'นายเขียวกล่าว และเสริมว่า การประชุมในวันที่ 28 กรกฎาคมจะจัดขึ้นที่เสียมเรียบ


ทูตไทยชี้ยูเอ็นแตก 3 กลุ่ม


ก่อนหน้านี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมภายในของยูเอ็นเอสซี เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคมตามเวลาในสหรัฐ หรือ 24 กรกฎาคมตามเวลาในไทยยังไม่ได้ข้อยุติการบรรจุข้อเรียกร้องของกัมพูชาที่จะให้ยูเอ็นเอสซีจัดประชุมฉุกเฉิน เนื่องจากมีการถกเถียงกันถึงขั้นตอนการดำเนินการ


โดยนายดอน ปรมัตถ์วินัย เอกอัครราชทูต และผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ เปิดเผยว่า ขณะนี้สมาชิกยูเอ็นเอสซีอาจแบ่งได้ 3 กลุ่ม คือกลุ่มแรกต้องการให้มีการนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาอย่างเป็นทางการนำโดยฝรั่งเศส หนึ่งในสมาชิกถาวรของยูเอ็นเอสซี ซึ่งถึงกับระบุว่า ยูเอ็นเอสซีต้องเข้ามามีบทบาทในปัญหาดังกล่าว กลุ่มที่สองที่เห็นว่าควรยืนในหลักการและขั้นตอนการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทตามที่ปฏิบัติกันทั่วไป เริ่มจากกลไกทวิภาคี ภูมิภาค แล้วค่อยมาถึงยูเอ็นเอสซี และกลุ่มสุดท้าย คือเห็นว่าไม่ใช่เรื่องที่ยูเอ็นเอสซีควรจะเข้าไปเกี่ยวข้องในขณะนี้


ทูตชี้มีโอกาส65%ประชุมฉุกเฉิน


นายดอนกล่าวว่า กัมพูชาดำเนินการเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ ใช้วิธีจู่โจมอย่างเป็นขั้นตอน ลัดวงจร ลัดขั้นตอนปกติทั้งหมด ถ้าหากไทยตามเกมไม่ทันทุกอย่างก็คงเป็นไปตามที่กัมพูชาต้องการตั้งแต่เมื่อวันสองวันก่อนหน้านี้ แต่เมื่อไทยทำเรื่องนี้อย่างเต็มที่ กัมพูชาก็สู้ทุกอย่างเช่นเดียวกัน ถึงขณะนี้มีโอกาส 60-65 เปอร์เซ็นต์ที่ยูเอ็นเอสซีจะรับพิจารณากรณีนี้เป็นการฉุกเฉิน แต่ไทยก็พร้อมที่จะเข้าไปชี้แจงเช่นเดียวกัน โดยต้องเตรียมท่าที ข้อโต้แย้ง ความคิดเห็นให้สมบูรณ์


อาเซียนยันเรื่อง 2 ปท. หลังเขมรดื้อ


ผู้สื่อข่าวรายงานจากสิงคโปร์ว่า ในวันสุดท้ายของการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน กัมพูชายังคงหยิบยกประเด็นปัญหาระหว่างไทย-กัมพูชา ขึ้นสู่การประชุมว่าด้วยการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือเออาร์เอฟ ซึ่งเป็นเวทีการหารือเพื่อความมั่นคงเพียงเวทีเดียวในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก มีประเทศสมาชิกเข้าร่วมประชุมรวม 27 ประเทศ


นายสหัส บัณฑิตกุล รองนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยให้สัมภาษณ์ว่า หลังกัมพูชาหยิบยกเรื่องดังกล่าวขึ้นพูด ประธานที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้ไทยชี้แจง ซึ่งตนได้ยืนยันข้อเท็จจริงจากฝั่งไทย และแจกเอกสารชี้แจงที่กระทรวงการต่างประเทศได้จัดเตรียมไว้ให้กับทุกประเทศอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้แถลงการณ์ของประธานเออาร์เอฟระบุชัดเจน ขอให้ไทย-กัมพูชาหารือในระดับทวิภาคีต่อเนื่องไปก่อน ถ้าตกลงกันไม่ได้และสองประเทศร้องขออาเซียนก็พร้อมจะเข้ามาอำนวยความสะดวกให้


ฝรั่งเศสยอมแล้ว 2 ปท. คุยกันเอง


นายสหัสกล่าวว่า ตนยังได้หารือทวิภาคีกับ น.ส.รามา ยาด รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศฝรั่งเศส หนึ่งในสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคง ตอนแรกฝรั่งเศสยังลังเลเรื่องข้อเท็จจริง แต่กระทรวงการต่างประเทศก็ได้มอบข้อมูลให้ไปแล้ว แต่เข้าใจว่าเขาใกล้ชิดกันมากกว่า ก็คงได้ยินข้อมูลจากทางโน้นมากกว่า


'ตอนแรกเขามองว่ามีเหตุการณ์รุนแรง ซึ่งเป็นเรื่องที่คนในยุโรปให้ความสนใจมากเพราะมีข่าวออกไปมากว่าจะยิงกันตายอยู่แล้ว เราก็ชี้แจงว่ามันไม่ใช่ เพราะการคุยกันในจีบีซีก็มีความก้าวหน้า ยังตกลงกันไม่ได้แค่ประเด็นเล็กน้อย ท้ายสุดเขาสรุปของเขาเองว่ามันต้องเป็นขั้นเป็นตอน และก็น่าจะให้อาเซียนคุยกันเองก่อน บอกได้ว่าเขารับฟัง แต่จะออกหัวออกก้อยเราไปจับมือเขาเซ็นไม่ได้ แต่อย่างน้อยทุกคนก็พยายามเต็มที่แล้ว' นายสหัสกล่าว


นายธานี ทองภักดี รองอธิบดีกรมสารนิเทศและรองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ฝรั่งเศสบอกว่าท่าทีของเขาที่ชัดเจนในขณะนี้มี 2 ประเด็นคือ ให้สองฝ่ายใช้ความอดกลั้นอย่างถึงที่สุด และขอให้มีการแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี


'สหัส' รับช่วง ปธ.อาเซียน


ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในระหว่างการแถลงข่าวปิดการประชุมโดยสิงคโปร์ สื่อมวลชนจำนวนมากยังคงให้ความสนใจประเด็นความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชา นายจอร์จ เยียว กล่าวว่า ไทยและกัมพูชาตระหนักดีว่ากำลังถูกจับตามอง ข้อกล่าวหาและชี้แจงต่างๆ จะถูกนำไปวิเคราะห์ว่าใครถูกใครผิดใครพูดจามีหรือไม่มีเหตุผล และเห็นว่าไม่ควรนำเรื่องนี้ไปสู่ที่ประชุมยูเอ็นเอสซี โดยที่ประชุมทั้งหมดเห็นตรงกันว่าการนำเรื่องนี้ไปสู่ยูเอ็นเอสซีในเวลานี้นั้นถือว่าเร็วเกินไป


ทั้งนี้หลังการประชุมสิ้นสุดลง ได้มีพิธีส่งมอบวาระการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนจากสิงคโปร์ให้กับไทย โดยนายจอร์จ เยียว และนายสหัส ทั้งนี้ตัวแทนของสิงคโปร์แสดงความเชื่อมั่นว่า ภายใต้การนำของไทย อาเซียนจะเดินหน้าไปสู่ความสำเร็จ


ชี้พ่อค้าตราดกลับเขมรเรื่องปกติ


ด้าน พ.ต.ท.ศราวุฒิ ศิริ สารวัตรด่านตรวจคนเข้าเมืองคลองใหญ่ อ.คลองใหญ่ จ.ตราด เผยว่า ขณะนี้มีพ่อค้าแม่ค้าชาวกัมพูชาที่ตั้งร้านขายสินค้าปลอดภาษีในตลาดบ้านหาดเล็ก จำนวนเกือบ 10 ล็อค ได้ตัดสินใจขนสินค้าและทรัพย์สินออกจากตลาดไปแล้ว เนื่องจากไม่ไว้วางใจสถานการณ์ความขัดแย้งกรณีปัญหาปราสาทพระวิหาร ทั้งที่ยังไม่มีเหตุการณ์ใดๆ ที่ส่อให้เห็นว่าเกิดความขัดแย้ง นักท่องเที่ยวทั้งไทยและชาวต่างประเทศยังเดินทางเข้า-ออกที่จุดผ่านแดนถาวรบ้านหาดเล็กเป็นปกติ เป็นเพียงความรู้สึกของชาวกัมพูชาใน จ.ตราด และนักธุรกิจไทยในกรุงพนมเปญและเกาะกงเท่านั้น คงไปห้ามความรู้สึกไม่ได้ แต่ในระดับข้าราชการของทั้ง 2 ฝ่าย ยังมีความสัมพันธ์ดี ทุกวันนี้พ่อค้าชาวกัมพูชาก็ยังแย่งซื้อสินค้าไทยที่ตลาดหาดเล็กอยู่เลย


นายประเสริฐ ศิริ อดีตกำนัน ต.หาดเล็ก อ.คลองใหญ่ จ.ตราด กล่าวว่า พ่อค้าแม่ค้าชาวกัมพูชาที่ขายสินค้าในตลาดหาดเล็กเดินทางออกไปจริง แต่เป็นเรื่องปกติเพราะเขาอาจเกรงกลัวในสถานการณ์ขัดแย้ง รวมทั้งไปใช้สิทธิเลือกตั้งของกัมพูชา จากนั้นคงเดินทางกลับมาเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น และจบการเลือกตั้งแล้ว


ทหาร 2ฝ่ายชื่นมื่นกินข้าวด้วยกัน


เวลา 11.00 น. พล.อ.จิระเดช คชรัตน์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการกองทัพบก (ผช.ผบ.ทบ.) พร้อมคณะเดินทางเข้าพื้นที่ชายแดนปราสาทเขาพระวิหาร ต.เสาธงชัย อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ โดย พล.ท.สุจิตร สิทธิประภา แม่ทัพภาคที่ 2 พล.ต.วีรฤทธิ์ จรสัมฤทธิ์ รองแม่ทัพภาคที่ 2 และ พล.ต.กนก เนตระคเวสนะ ผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี คอยให้การต้อนรับและบรรยายสรุปถึงสถานการณ์ที่บริเวณผามออีแดง จากนั้นได้ตรวจเยี่ยมกำลังพลบริเวณชายแดนด้านปราสาทเขาพระวิหาร พร้อมทักทายทหารกัมพูชาที่ตรึงกำลังอยู่ประชิดกันในบางจุด ซึ่งปลายกระบอกปืนของทหารทั้ง 2 ฝ่าย จ่อกันแต่ไม่มีเหตุร้าย โดย พล.อ.จิระเดช ได้บอกกล่าวทหารไทยให้แบ่งปันอาหารแก่ทหารกัมพูชาด้วยเท่าที่จะสามารถช่วยได้


พล.อ.จิระเดชกล่าวว่า มาเยี่ยมกำลังพล และกำลังของทหารไทยกับทหารกัมพูชาต่างวางกำลังอยู่ชิดกัน หลายวันที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายไม่มีปัญหาอะไรกัน กินข้าวด้วยกัน นั่งคุยกันทุกวัน ฉะนั้นที่เป็นห่วงว่าจะมีปัญหาทางทหารนั้น ขอยืนยันว่า ขณะนี้ไม่มีปัญหาอะไร รวมทั้งผู้บังคับบัญชาของทหารกัมพูชาได้กำชับลูกน้องให้มีความเข้าใจกัน ขอยืนยันว่าเราอยู่ด้วยกันอย่างเป็นมิตร สำหรับเรื่องอื่นๆ เป็นเรื่องของระดับสูง


'ชลิต'หยุดพูด-'สมัคร'สั่ง


พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข ผู้บัญชาการทหารอากาศ กล่าวถึงกรณีข้อพิพาทเขาพระวิหารบานปลายเป็นเรื่องระดับนานาชาติ ว่า ทางกองทัพอากาศได้รับหนังสือจากทางกระทรวงกลาโหม ลงนามเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคมที่ผ่านมา ไม่ให้กองทัพอากาศให้สัมภาษณ์เรื่องดังกล่าว และไม่ทราบเหตุผล ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีทียูเอ็นจะพิจารณาเรื่องนี้จะเป็นการก้าวก่ายกิจการของไทยหรือไม่ พล.อ.อ.ชลิตกล่าวว่า 'เขาบอกแล้วไง ว่าเขาห้ามผมไม่ให้สัมภาษณ์'


เมื่อถามว่า ทางเหล่าทัพต้องตั้งวอร์รูมเตรียมรับมือสถานการณ์ที่ไม่คาดฝันหรือไม่ พล.อ.อ.ชลิตกล่าวว่า ยังไม่ถึงเวลา ทางปฏิบัติทุกเหล่าทัพ ในฐานะทหารมีหน้าที่ในการเตรียมพร้อมให้กองทัพปฏิบัติการณ์ได้ตลอด 24 ชม. เพื่อสนับสนุนรัฐบาล


ศธ.ไม่สั่งปิด ร.ร.ชายแดนเขมร


ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงการดูแลโรงเรียนและสถานศึกษาบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ว่า ขณะนี้เหตุการณ์ยังปกติ ไม่ได้มีการรบรากัน จึงไม่จำเป็นต้องปิดโรงเรียน และเชื่อว่าในเวลาอันใกล้นี้สถานการณ์น่าจะสงบเรียบร้อย ทั้งนี้ได้รับรายงานจากคุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่ามีคำสั่งกำชับให้ดูแลโรงเรียนแล้ว


จี้เร่งตั้ง รมต.กต.นำทีมแจงยูเอ็น


ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (เงา) พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ไทยควรเป็นผู้นำในการชี้แจงยูเอ็น ว่ากลไกพหุภาคียังมีอยู่ และสถานการณ์ไม่ได้รุนแรงถึงขั้นรบกัน ดังนั้น นายกฯควรรีบแต่งตั้งรัฐมนตรีต่างประเทศโดยเร็ว ไม่ควรรอถึงสัปดาห์หน้าซึ่งต้องเป็นคนมีความรู้และเข้าใจงาน เพราะไม่มีเวลาที่จะเรียนรู้แล้ว และต้องไม่เล่นการเมืองมากนัก หรือเป็นนักการเมืองก็ได้แต่ต้องสุขุมรอบคอบ นอกจากนี้การประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย-กัมพูชา ที่หลายฝ่ายมองว่าไม่ประสบความสำเร็จ แต่ตนมองตรงข้าม ว่าสำเร็จ เพราะมีการหันหน้ามาเจรจากันและนัดเจรจากันอีกครั้ง ถ้าจะให้สัมฤทธิผล จะต้องมีการวางกรอบอย่างชัดเจนให้กัมพูชาเข้าใจว่า ในที่สุดแล้วควรจะจดทะเบียนเป็นมรดกโลกร่วมกันแม้จะจดไม่พร้อมกันก็ตาม


6 กมธ. สภาสูงประกาศจุดยืน


วันเดียวกัน ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมกันระหว่างคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ของวุฒิสภา 6 คณะ ประกอบด้วย กมธ.ต่างประเทศ กมธ.การศาสนา คุณธรรมและศิลปวัฒนธรรม กมธ.สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค กมธ.การพัฒนาการเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชน และ กมธ.การศึกษา ตรวจสอบเรื่องทุจริต และธรรมาภิบาล มี ส.ว.ร่วมหารือประมาณ 35 คน เกี่ยวกับจุดยืนต่อกรณีปราสาทพระวิหาร จากนั้น น.ส.รสนา โตสิตระกูล ประธาน กมธ.ศึกษา ตรวจสอบเรื่องทุจริตฯ กล่าวว่า 6 กมธ.ขอแสดงจุดยืน ยืนยันไม่มีพื้นที่ทับซ้อน มีแต่พื้นที่ประเทศไทย โดยให้มีมาตรการเร่งรัดรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรที่อยู่ในประเทศไทยโดยเร็ว นอกจากนี้ ยังไม่เห็นด้วยที่คณะกรรมการมรดกโลกจะให้คณะกรรมการ 6 ประเทศมาจัดการพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร


ทหารเตือนอย่าให้ถึงศาลโลก


ที่สโมสรกองทัพบก คณะกรรมาธิการทหาร วุฒิสภา จัดเสวนาวิชาการเรื่อง 'ยุทธศาสตร์การอยู่ร่วมกันกับประเทศเพื่อนบ้าน' โดยนายปณิธาน วัฒนายากร จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ พล.ต.วรวิทย์ ดรุณชู รองเจ้ากรมกิจการชายแดนทหาร กองทัพบก ต่างมีความเห็นทิศทางเดียวกันว่า ไม่คิดว่าหลังการเลือกตั้งของกัมพูชาในวันที่ 27 กรกฎาคม สถานการณ์จะดีขึ้น


โดย พล.ต.วรวิทย์กล่าวว่า เรื่องไทย-กัมพูชา ต้องใช้เวทีคณะกรรมการชายแดนทั่วไป (จีบีซี) และคณะกรรมการร่วมมือรักษาความสงบเรียบร้อยในเขตชายแดน ให้เป็นประโยชน์ และหลังเลือกตั้งที่คิดว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ต้องคิดด้วยว่า หากกัมพูชาดำเนินการเชิงรุกเพื่อนำขึ้นศาลโลก ไทยจะต้องเตรียมแผนไว้ล่วงหน้า อย่าไปคิดแต่เพียงในมุมบวก เพราะหลังการเลือกตั้งของกัมพูชา ทราบข่าวมาว่าอาจต้องมีการเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรีกลาโหม


'ผมสงสารกระทรวงการต่างประเทศ และเห็นใจมาก เพราะว่าเขาไม่สามารถเป็นฝ่ายรุกได้เลย และคำถามคือถ้าเรารุก เราพร้อมขึ้นศาลโลกหรือไม่ และปลายทางจะเป็นอย่างไร เอกสารคำตัดสินจะเป็นอย่างไร เราควรต้องช่วยกระทรวงการต่างประเทศว่าจะทำอย่างไรให้ปัญหานี้เบาบางลงด้วยสันติวิธี อย่าเป็นแรงผลักดันให้ขึ้นศาลโลกแล้วเราจะเสียเปรียบ' พล.ต.วรวิทย์กล่าว


….


ที่มา:


มติชนออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net