Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

สุรีย์ มิ่งวรรณลักษณ์


 


การประณามการใช้ "ความรุนแรง"ที่เกิดขึ้น ณ จังหวัดอุดรธานี เป็นสิ่งที่พึงกระทำ และรัฐบาลก็มิอาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้ที่ต้องเอาผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมายไม่ว่าผู้ร่วมกระทำเป็นใครก็ตาม   แต่การประฌามความรุนแรงของกลุ่มองค์กรต่างๆ สื่อสารมวลชนต่างๆ และนักวิชาการต่างๆ ก็ต้องตระหนักวิเคราะห์ถึงต้นเหตุแห่งความรุนแรงหลากหลายลักษณะทั้งหลายทั้งปวงด้วยเหมือนกัน


 


มิเช่นนั้น "ความรุนแรง" อาจกลายเป็นเครื่องมือ "ความรุนแรง" ทางการเมืองอีกชนิดหนึ่งโดยไม่รู้ตัว


 


ผู้เขียนมีข้อสังเกตและเปิดประเด็นกรณีต่างๆ ดังนี้ 


 


1. จำเป็นต้องสาวให้ลึกถึงนิยาม "ความรุนแรง" ที่มิใช่เพียงความรุนแรงทางกายภาพเท่านั้น "ความรุนแรง"ในวิกฤตการเมืองปัจจุบันนี้ บ่อเกิดความรุนแรงเชิงโครงสร้างการเมือง อาทิเช่น การไม่ยอมรับรัฐบาลที่มาจาการเลือกตั้งของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตยรัฐสภา การเสนอการเมืองใหม่ที่ย้อนยุค   ทำให้ประชาชนจำนวนไม่น้อยคิดว่า การเคลื่อนไหวล้มรัฐบาลของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนั้น  เป็นการดูถูกเหยียดหยามสิทธิในการเลือกผู้บริหารประเทศของพวกเขา ซึ่งประชาชนคนไทยทุกคนที่มีอายุเกิน 18 ปีบริบูรณ์ ย่อมมีสิทธิเท่าเทียมกันในการเลือกผู้แทนราษฎร ไม่ว่าเขาจะจบการศึกษา ร่ำรวย ยากจน พิการ เป็นผู้หญิง ผู้ชายก็ตามแต่


 


2. กรณีการเดินทางไปราชการของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.มหาดไทย และถูกต่อต้านล้อมโรงแรมจากพันธมิตรภาคใต้ (พรรค ปชป.?) จนไม่สามารถประชุมได้นั้น ถือว่าเป็นความรุนแรงรูปแบบหนึ่งด้วย แม้ว่ายังไม่ถึงขั้นเลือดตกยางออกเหมือนที่จังหวัดอุดรธานี แต่ก็สมควรออกแถลงการณ์ประณามด้วยเช่นกัน


 


3. กรณีการใช้ถ้อยคำ หยาบคาย ส่อไปในทางยุยงให้ "เกลียดชัง" มองฝ่ายเห็นต่างเป็น "ศัตรู" ย่อมก่อให้เกิดความเกลียดชัง ของเวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และเวทีของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปก.) ก็สมควรถูกประณามด้วยเช่นกัน เนื่องจากเป็นการสร้างความรุนแรงทางวาจาที่นำสู่การใช้ความรุนแรงเหมือนที่จังหวัดอุดรธานีได้เช่นกัน


 


4.กรณีการบุกเข้าดินแดนเขาพระวิหารของพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเป็นกรณีพิพาทอยู่ระหว่างการเจรจาของทั้งสองรัฐบาลนั้น โน้มนำไปสู่ความคลั่งชาติมากกว่า รักชาติ และเกิดการปะทะเล็กน้อยกับกลุ่มต่อต้านพันธมิตรประชาธิปไตย ก็สมควรประณามด้วยเช่นกัน 


 


5.กรณีการเคลื่อนไหวของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปก.) ที่ผ่านมาได้นำพาประชาชนบุกเผชิญหน้ากับการชุมนุมของพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตยโดยไม่เคารพสิทธิเสรีภาพการชุมนุม และโดยไม่จำเป็นทั้งที่ทำเนียบรัฐบาล ที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดอื่นๆ ก็สมควรประณามด้วย


 


6. "ความรุนแรง"ที่เป็นอยู่ในสังคมไทย ถ้ามิอาจหยุดยั้งได้ มีสติกันทุกฝ่าย อาจนำสู่การสร้างระเบิดเวลาของความขัดแย้งต่างๆ ที่ลุกลามมากยิ่งขึ้น ลักษณะ "ภาคนิยม"  "คนจนในชนบท-คนชั้นกลางในเมือง" เหมือนเช่นการปลุกระดมให้คลั่งชาติกรณีเขาพระวิหาร


 


7. โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง ก่อนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มีการเคลื่อนไหวเผชิญหน้าปะทะกันของสองฝ่ายในหลายครั้ง และเป็นเหตุผลหนึ่งที่คณะรัฐประหารนำมาเป็นข้ออ้าง ไม่อยากให้คนไทยฆ่ากันเอง และใช้กำลังยึดอำนาจรัฐบาลในท้ายที่สุด ซึ่งได้ก่อให้เกิดความรุนแรงเต็มรูปแบบขึ้น อย่างที่หลายคนไม่คาดหวังมาก่อน


 


สรุปได้ว่า "ความรุนแรง" ที่เกิดขึ้นทั้งปวง ไม่ว่าฝ่ายไหนกระทำ ล้วนเป็นเพียงความรุนแรงที่รอวันสุกงอมเพื่อให้เกิดความรุนแรงเต็มสูบ (รัฐประหาร) เท่านั้นเอง และจะเป็นความรุนแรงทั้งทางโครงสร้างการเมืองและทางกายภาพที่ยากจะเยียวยาอีกยาวนาน


                   


ความรุนแรงในห้วงขณะนี้ จึงมิใช่เพียงความรุนแรงที่อุดรธานีเท่านั้น !!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net