Skip to main content
sharethis

เจรจาไทยกัมพูชาได้ข้อสรุป 4 ข้อเตรียมถอนทหาร


การประชุมหารือระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศไทยและกัมพูชา ที่โรงแรมอังกอร์พาเลซรีสอร์ทแอนด์สปา เมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชานั้น ล่าสุดเมื่อเวลา 22.00 น. นายเตช บุนนาค รมว.ต่างประเทศของไทย และนายฮอร์ นัม ฮง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา ได้เปิดแถลงข่าวร่วมกัน


 


นายฮอร์ นัม ฮง กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่การประชุมครั้งนี้มีความก้าวหน้า ประสบความสำเร็จ แสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ที่ดีของสองประเทศในการแสวงหาสันติภาพ การประชุมครั้งนี้เป็นครั้งแรก แต่จะไม่เป็นครั้งสุดท้าย


 


นายฮอร์ นัม ฮง กล่าวต่อว่า การประชุมมีข้อตกลง 4 เรื่อง คือ 1.ขอให้ไทย-กัมพูชาใช้ความยับยั้ง ชั่งใจ ในการแก้ไขปัญหา 2.ให้มีการปรับกำลังทหารออกจากวัดที่ตั้งอยู่ในพื้นที่พิพาท 3.ให้มีการจัดประชุม เจบีซี (คณะกรรมการชายแดน) โดยเร็ว และ 4.ให้มีการเก็บกู้ทุ่นระเบิดสังหารในพื้นที่


 


นายฮอร์ นัม ฮง กล่าวอีกว่า การปรับกำลังทหาร จะไม่ส่งผลต่อสิทธิการปักปันเขตแดน จุดยืนของสองประเทศ และสิทธิในด้านกฏหมาย


 


"การถอนกำลังทหารจะทำในไม่ช้านี้" รัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชาย้ำ และว่า สำหรับปัญหาที่คั่งค้างอยู่ จะแก้ไขในการประชุมครั้งหน้า


 


ด้านนายเตช กล่าวว่า หวังว่าความร่วมมือครั้งนี้ จะนำไปสู่การถอนทหารในอนาคต ฝ่ายไทยจะรายงานผลการประชุมเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 29 ก.ค.


 


มีรายงานจากคณะผู้แทนไทยด้วยว่า จะมีการตั้ง รมช.ต่างประเทศ เพื่อเป็นหัวหน้าคณะไปร่วมประชุม เจบีซี ที่จะมีขึ้นในเร็วๆ นี้


 


นายฮอร์ นัม ฮง รัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชาและนายเตช บุนนาค รัฐมนตรีต่างประเทศไทยบรรลุข้อตกลงเมื่อคืนที่ผ่านมา หลังร่วมหารือตึงเครียดนานกว่า 12 ชั่วโมงที่จังหวัดเสียมราฐของกัมพูชา โดยจะแจ้งให้รัฐบาลของแต่ละฝ่ายถอนทหารออกจากพื้นที่พิพาท บริเวณรอบๆเขาพระวิหาร แต่ไม่ได้กำหนดตารางเวลาในการถอนทหาร และบอกว่าจะตัดสินใจในการประชุมครั้งต่อไปว่าจะคงทหารไว้เป็นจำนวนเท่าใด


 


 


นักวิเคราะห์ประเมินถอนทหารแค่สัญลักษณ์ ยังไม่ยุติขัดแย้ง


นักวิเคราะห์มองว่า เรื่องการถอนทหารเป็นเพียงท่าทีสัญญลักษณ์ ไม่ถึงขั้นจะสามารถยุติความขัดแย้งที่กำลังกระตุ้นความรู้สึกชาตินิยมในทั้งสองชาติ เพราะยังไม่อาจตกลงกันได้เรื่องประเด็นหลักคือเรื่องพื้นที่พิพาท แต่ที่ประชุมตกลงจะจัดการเจรจาเพิ่มเติม และแม้ยังไม่ได้กำหนดการประชุมครั้งต่อไป แต่ทั้งสองฝ่ายก็ยืนยันจะพยายามแก้ปัญหาโดยสันติ รวมทั้งมีการเสนอมาตรการต่างๆเพื่อยุติความขัดแย้ง รวมทั้งแผนการเคลียร์ทุ่นระเบิดบก เพื่อสามารถปักปันชายแดนได้


 


นายฮอร์ นัมฮง กล่าวในระหว่างการแถลงข่าวว่า เป็นการเจรจาที่ประสบความสำเร็จ และเป็นไปอย่างมีอัธยาศัยไมตรีอันดี ไม่ได้โกรธหรือพูดเรื่องการใช้กำลัง แต่พยายามแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี ที่ประชุมตกลงจะจัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจขึ้นหน่วยหนึ่ง และรายงานให้รัฐบาลเตรียมเรียกทหารทีประจำการอยู่รอบๆเขาพระวิหารกลับออกไป แต่ยังไม่ได้กำหนดเวลาที่แน่นอน เขากล่าวด้วยว่าไม่อาจแก้ปัญหาทั้งหมดในการเจรจาเพียงครั้งเดียว ต้องค่อยๆเป็นค่อยๆไป และว่างานเฉพาะหน้าคือ หลีกเลี่ยงการปะทะกันจากการเสริมกำลังทหาร ซึ่งนายเตชเห็นพ้องว่า การประชุมจะช่วยลดความตึงเครียดบริเวณชายแดนได้


 


สำนักข่าวดีพีเอ รายงานอ้างแหล่งข่าวทางการฑูตว่า ทั้งสองฝ่ายต่างไม่บรรลุเป้าหมายที่ต้องการในการเจรจาครั้งนี้ และว่ารัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ของไทยไม่มีขีดความสามารถมากพอที่จะเจรจากับผู้คร่ำควอดอย่างนายฮอร์ นัม ฮง ผู้ดำรงตำแหน่งนี้มาหลายสิบปี ขึ้นชื่อว่าเป็นนักการฑูตผู้มีสีสันและไม่เคยยอมอ่อนข้อให้ใคร


 


 


"ชวรัตน์" เสนอให้ยูพีเอฟไกล่เกลี่ย


ส่วนความเคลื่อนไหวในไทย วันเดียวกัน ที่ห้องประชุมองค์การสหประชาชาติ สหพันธ์สันติภาพสากล (UNIVERSAL PEACE FEDERATION) หรือยูพีเอฟได้จัดการประชุมผู้นำนานาชาติเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จำนวน 21 ประเทศ หัวข้อ "สู่กระบวนทัศน์ใหม่ของภาวะผู้นำกับธรรมาภิบาลเพื่อการพัฒนาและสันติภาพ" โดยนายชวรัตน์ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีพิพาทปราสาทพระวิหารระหว่างไทยกับกัมพูชาว่า การประชุมครั้งนี้เพื่อริเริ่มให้มีสันติภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งปัจจุบันกำลังเกิดความขัดแย้งมาก ทั้งกรณีข้อพิพาทปราสาทพระวิหารระหว่างไทยกับกัมพูชา หรือที่อินโดนีเซียก็มีปัญหา การประชุมที่ยูพีเอฟจัดขึ้นจะช่วยลดความขัดแย้งและสร้างความเข้าใจระหว่างประเทศในกลุ่มสมาชิกอย่างไรก็ตาม ข้อพิพาทปราสาทพระวิหาร ตนได้เสนอให้มีบุคคลที่สาม เช่น องค์กร ยูพีเอฟ เป็นผู้จัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปทำการศึกษาให้ทราบข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นและแก้ปัญหาได้ เชื่อว่าเมื่อบุคคลที่สามเข้าไป จะทำให้ 2 ประเทศเชื่อมั่นในข้อมูล เพราะจะไม่เอียงซ้ายหรือขวา


 


 


ร้องยูเอ็นไต่สวน กก.มรดกโลกเอียงข้าง


ส่วนที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายเสน่ห์ จามริก ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยนักวิชาการอิสระ ได้ออกแถลงการณ์คณะกรรมการสิทธิฯ ต่อการดำเนินการของคณะกรรมการมรดกโลกกรณีการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร โดยนายเสน่ห์กล่าวว่า ได้ทำหนังสือถึงนาย บัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติ และหนังสือเปิดผนึกถึงนายโคอิชิโร มัตซูรา ผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโก นายฟรังเซสโก บานดาริน ผู้อำนวยการศูนย์มรดกโลกยูเนสโก นางหลุยส์ อาร์เบอร์ ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติและประเทศสมาชิกคณะกรรมการมรดกโลก เพื่อแสดงความกังวลและความผิดหวังอย่างยิ่งในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง โดยที่องค์กรของสหประชาชาติละเลยต่อบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของกฎบัตรสหประชาชาติและปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ในการที่คณะกรรมการมรดกโลกให้ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกตามข้อเสนอของกัมพูชาแต่เพียงฝ่ายเดียว เป็นการตัดสินที่ขัดต่อวัตถุประสงค์ของกฎบัตรสหประชาชาติที่จะส่งเสริมการพัฒนาความสัมพันธ์ ฉันมิตรระหว่างชาติต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎบัตรฯ ข้อที่ 28 ซึ่งกล่าวว่า ทุกคนมิสิทธิในระเบียบทางสังคมและระหว่างประเทศ ซึ่งจะเป็นทางให้สิทธิและเสรีภาพที่กำหนดในปฏิญญานี้ได้บรรลุผลอย่างเต็มที่ ในแถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ได้ก่อให้เกิดความสงสัยและมีคำถามถึงวิธีการทำงานของคณะกรรมการมรดกโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติของสิทธิมนุษยชน คณะกรรมการสิทธิฯ จึงข้อตั้งคำถามไว้ 6 ประการที่ควรต้องได้รับคำตอบด้วย (อ่านรายละเอียดที่นี่)


 


 


"ชลิต" ติงกัมพูชาขอทหารเวียดนามเสริม


ด้าน พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข ผบ.ทอ. ให้สัมภาษณ์ที่ท่าอากาศยานทหารกองบิน 6 (บน.6) ถึงกรณีที่ นายเตช บุนนาค รมว.ต่างประเทศพร้อมคณะเดินทางไปเจรจา กับประเทศกัมพูชาเพื่อหาข้อยุติข้อพิพาทปราสาทพระวิหารว่า ต้องรอดูผลการเจรจา ซึ่งการเจรจาที่มากขึ้นน่าจะต้องดีขึ้น และคงไม่มีปัญหา ทั้งนี้ตนทราบว่านายเตช เพิ่งมาจับข้อมูลจึงมีโอกาสได้รับข้อมูลจากกลุ่มทหารที่ไปด้วย เช่น กรมแผนที่ทหาร ซึ่งตนคิดว่าจะดีไม่มีปัญหาอะไร และคิดว่าท่านคงทำให้ดีที่สุดเพื่อประเทศชาติ ส่วนกระแสข่าวที่ประเทศกัมพูชาร้องขอกำลังจากประเทศเพื่อนบ้าน (เวียดนาม) เข้ามาเสริมกำลังที่บริเวณชายแดนนั้น ตอนนี้ตนรับทราบว่ารัฐบาลพยายามจะให้การแก้ไขเป็นเรื่องของสองประเทศ ดังนั้นหากสามารถเจรจากันได้ก็ไม่ต้องไปวุ่นวายกับคนอื่นถ้าให้คนอื่นเข้ามาช่วยดูแลแสดงว่าความสัมพันธ์ต่างๆ ไม่ไหวแล้ว มันแย่แล้ว และในข้อเท็จจริง ถ้าเป็นชาติอาเซียนเราก็จะไม่พยายามล่วงล้ำเข้าไปในเรื่องอื่น นอกจากเรื่องความสัมพันธ์โดยทั่วไป


 


 


ไทยพาผู้ช่วยทูตทหาร 11 ชาติดูพื้นที่


ส่วนความเคลื่อนไหวเรื่องเขาพระวิหาร ตอนสายวันเดียวกัน นายประชา ประสพดี ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎรและคณะเดินทางไปรับฟังสาเหตุ ปัญหาและผลกระทบจากกรณีปัญหาเขาพระวิหาร ที่ห้องประชุมอำเภอกันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ โดยผู้แทนจากกองกำลังสุรนารี ผู้แทนจากกรมทหารพรานที่ 23 และผู้แทนจากจังหวัดศรีสะเกษ สรุปปัญหาเรื่องเส้นเขตแดน ความเดือดร้อนของประชาชนตามแนวชายแดนและปัญหาการตั้งตลาดของชาวกัมพูชา ขณะเดียวกัน พล.ท.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ เจ้ากรมข่าวทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย ได้นำผู้ช่วยทูตทหาร 11 ประเทศ อาทิ สหรัฐฯ ฝรั่งเศส แคนาดา ญี่ปุ่น ฯลฯ ขึ้นไปตรวจสอบชายแดนไทย- กัมพูชาที่เขาพระวิหาร เพื่อสัมผัสสภาพที่แท้จริงของสถานการณ์ ส่วนทหารทั้งสองฝ่ายยังนั่งร่วมวงกินข้าวและทักทายกันด้วยไมตรีที่ยิ้มแย้มแจ่มใสตามปกติ


 


 


ที่มา: ไทยรัฐ และเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net