นักข่าวพลเมืองรายงาน: กิจกรรมทางเลือกนักศึกษากับคำถามถึงวัฒนธรรมชุมชน

18 - 20 ก.ค. ที่ผ่านมา ที่ทุ่งนา "ดงอสูร" ต.ท่าวารี อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี ได้มีกิจกรรม "ฮักอีสาน โฮมการเรียนรู้" จัดโดยสถาบันเพื่อการพัฒนาเยาวชนแห่งประเทศไทย (สยท.) การจัดกิจกรรมในครั้งนี้มีนักศึกษาเข้าร่วมกว่า 60 คน มีการทำกิจกรรมการศึกษาทางเลือกและแลกเปลี่ยน วิเคราะห์ ประสบการณ์ ของกลุ่มเยาวชน รวมถึงการตั้งคำถามกับ "วัฒนธรรมชุมชน"

 

"แนวคิดนี้มันดูเหมือนสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน ไม่วิจารณ์ใคร ไม่เอาผิดกับใคร ไม่ขัดแย้งกับใคร ดังนั้นทุกๆ ส่วนทั้งชาวบ้าน นักพัฒนา นายทุน และผู้ปกครองล้วนได้ประโยชน์จากแนวคิดนี้ทั้งสิ้น"

 

"ถ้ามองจากวิถีการผลิตระหว่างการผลิตแบบเก่ากับกับการผลิตแบบโลกาภิวัฒน์ที่ล้ำหน้า คิดว่ามันไปกันไม่ได้ มันคนละเรื่องกัน ที่มันยังมีอิทธิพลอยู่อาจเป็นเพราะว่ามันคาบเกี่ยวกับทุนใหญ่ ทุนชาติในประเทศ ที่พยายามโปรไว้เพื่อกีดกันทุนโลกาภิวัตน์หรือเปล่า"

 

"มันเป็นสิ่งที่ชนชั้นกลางไปมองหมู่บ้าน และเลือกมองแต่สิ่งที่อยากจะเห็น คือความกลมเกลียว แล้วก็เลือกชูแต่สิ่งนั้นขึ้นมา ทั้งที่ในชุมชนมันมีด้านที่ขัดแย้งเป็นปัญหาอีกมาก ปัญหาที่ตามมาก็คือมันกลายเป็นภาพตัวแทนของชุมชน เป็นคัมภีร์ชี้นำทางการพัฒนาของบางกลุ่ม คำถามคือชุมชนจะพัฒนาได้อย่างไรถ้าเรารู้จักความจริงในหมู่บ้านเพียงครึ่งเดียว ขณะที่ด้านความขัดแย้งและจัดการความขัดแย้งที่หายไปนั้นเป็นจุดแข็งของชุมชนอีกด้วย "

 

"แต่ไม่ต้องกังวลใจนะครับ ในสังคมไทยความคิดใดเป็นมายาการไม่ได้หมายความว่าจะล้มเหลว เพราะหลายๆ อภิมหามายาการในสังคมไทย กลับรุ่งโรจน์ได้รับความนิยมสูงสุดอย่างไม่น่าเชื่อ"

 

0 0 0

 

 

เมื่อวันที่ 18 - 20 .. ที่ผ่านมา ที่ทุ่งนา "ดงอสูร" ต.ท่าวารี อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี ได้มีกิจกรรม "ฮักอีสาน โฮมการเรียนรู้" จัดโดยสถาบันเพื่อการพัฒนาเยาวชนแห่งประเทศไทย (สยท.) การจัดกิจกรรมในครั้งนี้มีนักศึกษาเข้าร่วมกว่า 60 คน จาก 13 กลุ่ม 3 ภูมิภาค แบ่งได้เป็น ภาคใต้ 3 กลุ่ม ภาคอีสาน 6 กลุ่ม และภาคกลาง 4 กลุ่ม

 

พรเวช พลล่ำ ผู้ประสานงานโครงการ ได้เล่าความเป็นมาของการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ไว้ว่า " ปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งของสังคมคือ ปัญหาความคิดของคน นักศึกษาคิดยังไงกับสังคมที่ดำรงอยู่ คิดยังไงกับสิ่งแวดล้อม และค่ายที่พบทั่วๆไป มันไม่เกิดการวิเคราะห์สังคมจริงๆ มันจึงมีลักษณะสังคมสงเคราะห์ และสายลมแสงแดด ดังนั้นทางเลือกแบบใหม่ๆ จึงควรเกิดขึ้นโดยผ่านการวิเคราะห์สังคม ภายใต้กระบวนการการทำการผลิต การถอนกล้า การดำนา ร่วมกัน ร่วมกับ การถกเถียงแลกเปลี่ยน สำหรับในกิจกรรมครั้งนี้ประเด็นที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อให้เกิดการ แลกเปลี่ยนก็คือประเด็น"แนวคิดวัฒนธรรมชุมชนคือทางออกของสังคมยุคโลกาภิวัตน์จริงหรือ...?"

 

กิจกรรมนี้อาจมองว่ามันไม่ใช่ลักษณะการออกค่าย เพราะมันไม่มีกฎระเบียบหรือธรรมนูญค่าย แต่เป็นลักษณะมาร่วมกันใช้แรงงาน แลกเปลี่ยนความคิดเห็น มีเวทีเสวนา และการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง"

 

นักศึกษาลงปฏิบัติการถอนกล้า และดำนา

ท่ามกลางสภาพความแห้งแล้งของพื้นนานักศึกษาได้ลงทำงาน ต่อไปนี้คือคำบอกเล่าของนักศึกษาที่ได้สะท้อนหลังจากออกแรงทำงาน ตลอดระยะเวลา 3 วัน

 

 

นายลีโอ เจ๊ะกรือลี ตัวแทนนักศึกษาจากภาคใต้ สะท้อนรูปแบบกิจกรรมในครั้งนี้ว่า "เป็นรูปแบบค่ายที่ไม่เคยเจอ ได้ปฏิบัติจริงๆ ทำให้เข้าถึงความรู้สึกโดยไม่ต้องอธิบาย คำตอบมันสัมผัสได้ด้วยการกระทำ จดจำได้นาน และครั้งนี้คงจะไม่ใช่ครั้งแรก" ทรรศนะต่อชาวนาอีสาน "มาอีสานครั้งนี้นาแล้งต่างกับภาคใต้ซึ่งมีน้ำทำนาได้ดี เกี่ยวกับสาธารณูปโภครัฐไม่เคย มีให้เลย ถึงจะมีเขื่อนอยู่อย่างมากมายทั่วภาคอีสานก็ตาม มันแย่มาก ชีวิตความเป็นอยู่ การเอารัดเอาเปรียบสูง นี่แค่เราทำนาแค่ 3 วันมันยังร้อนถ้าทำแบบชาวนาที่ทำเต็มรูปแบบ คงต้องเรียกว่า "มนุษย์เหล็ก "

 

นายยุทธนา ดาสี นักศึกษาจากกลุ่มเยาวธาร มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวถึงกิจกรรมนักศึกษาในมหาวิทยาลัย "กลุ่มเยาวธารเป็นกลุ่มกิจกรรมอิสระที่ไม่หลงไปกับกิจกรรมกระแสหลักในมหาวิทยาลัยที่ชอบมองชุมชนชนบทแบบโรแมนติกเพ้อฝันมากเกินไป" เมื่อถามถึงกิจกรรมของนักศึกษาทั่วๆไป ยุทธนามองว่า "ก็มีค่ายใช้แรงงานเหมือนกัน แต่ใช้แรงงานโดยไม่มีเวทีวิชาการทำให้ไม่ได้ยกระดับความคิดตัวเอง มันจึงไม่มีคำตอบว่าทำไมต้องใช้แรงงาน ใช้แรงงานไปทำไม มันก็ไม่นำไปสู่การผลักดันสังคมให้เกิดความเป็นธรรมขึ้นมาได้"

 

 

เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ "วัฒนธรรมชุมชนคือทางรอดสังคมยุคโลกาภิวัตน์จริงหรือ?"

เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งมีวิทยากรคือ อ.พฤกษ์ เถาถวิล อดีตนักกิจกรรมนักศึกษาและนักพัฒนา ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

 

 

. พฤกษ์ ได้นำวงคุยเข้าสู่เนื้อหาโดยแบ่งประเด็นหลัก 3 ประเด็นคือ 1)วัฒนธรรมชุมชนคืออะไร? 2)โลกาภิวัตน์คืออะไร? และ 3)คำถามต่อวัฒนธรรมชุมชนในกระแสโลกาภิวัฒน์ ก่อนจะเปิดให้วงคุยได้แลกเปลี่ยนความคิดในช่วงสุดท้าย

 

ในประเด็นแรก อ.พฤกษ์ ชี้ว่าวัฒนธรรมชุมชนเป็นแนวคิดการพัฒนา "กระแสหลักของกระแสรอง" คือ "การพัฒนานอกเหนือจากที่นำโดยรัฐ ยังมีกระแสรองอีกหลายกระแส แต่วัฒนธรรมชุมชนเป็นกระแสรองที่รู้จัก เป็นที่ยอมรับ และแพร่หลายที่สุด" วัฒนธรรมชุมชนเป็นทั้งแนวคิดทางวิชาการที่มี ทฤษฎี มีข้อเขียน งานวิจัยรองรับ และขณะเดียวกันก็มีปฏิบัติการทางการพัฒนาอย่างแพร่หลายด้วย ทำให้วัฒนธรรมชุมชนมีความเป็นตัวตนชัดเจน เกี่ยวกับแก่นทางความคิดของวัฒนธรรมชุมชน พวกเขาเชื่อว่าชุมชนมีลักษณะเป็น Harmony (กลมเกลียว, สมานฉันท์, เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน) ดังที่ปรากฏในการลงแขกดำนา การร่วมกันทำบุญ เป็นต้น และมองว่าในหมู่บ้านมีการต่อสู้ระหว่างวัฒนธรรม 2 กระแส กระแสหนึ่งคือ วัฒนธรรมชุมชนซึ่งมีมาแต่เดิม มีลักษณะเกื้อกูล สัมพันธ์กับธรรมชาติในลักษณะให้ความเคารพ มีภูมิปัญญา และมีความสามารถในการพึ่งตนเอง แต่ต่อมาได้เกิดวัฒนธรรมอีกกระแสหนึ่งก็คือ วัฒนธรรมกระแสทุนนิยม ซึ่งมีลักษณะเอารัดเอาเปรียบธรรมชาติและกดขี่คน ทำลายภูมิปัญญาชาวบ้าน วิถีชีวิตไม่สอดคล้องกับธรรมชาติ เข้ามาดูดกลืนทำลาย นอกจากนั้นการมองชุมชนที่สำคัญอีกประการหนึ่งของแนวคิดนี้คือ เห็นว่าชุมชนมีพัฒนาการและมีสำนึกของความเป็นอิสระจากรัฐ หรือลักษณะอนาธิปัตย์นิยม คือมีความเป็นไท ปฏิเสธการพึ่งพาหรือขึ้นต่อรัฐ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาตนเอง

 

ก่อนจบวงคุยในหัวข้อนี้ อ.พฤกษ์ ได้ชวนสมาชิกในวงคุยร่วมแลกเปลี่ยนด้วยคำถามว่า ทำไมแนวคิดวัฒนธรรมถึงได้รับการตอบรับ และนิยมจากแวดวงการพัฒนาทุกภาคส่วน? จากการร่วมแลกเปลี่ยนของสมาชิกในวงคุยสามารถสรุปได้ว่า "แนวคิดนี้มันดูเหมือนสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน ไม่วิจารณ์ใคร ไม่เอาผิดกับใคร ไม่ขัดแย้งกับใคร ดังนั้นทุกๆ ส่วนทั้งชาวบ้าน นักพัฒนา นายทุน และผู้ปกครองล้วนได้ประโยชน์จากแนวคิดนี้ทั้งสิ้น"

           

ประเด็นที่สอง โลกาภิวัตน์คืออะไร? .พฤกษ์เกริ่นนำเรื่องโลกาภิวัฒน์ว่า คือสภาวะการเชื่อมต่อกันของเศรษฐกิจการเมืองโลก ซึ่งมันมีอำนาจในการแทรกซึมเข้าไปในเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตพวกเรามากกว่าที่เราคิด "ถ้ามองเชิงวิพากษ์แล้วโลกาภิวัฒน์ก็คือพัฒนาการของทุนนิยมยุคใหม่ เป็นเศรษฐกิจแบบแข่งขัน และเอารัดเอาเปรียบที่แนบเนียน รุนแรงขึ้น มีลักษณะบ่อนทำลาย และทรงพลังในการแทรกซึม ในระดับโลกมีสถาบันทางเศรษฐกิจการเมืองที่ทรงอำนาจ ภายในประเทศมีธุรกิจใหญ่น้อยทำหน้าที่อย่างได้ผลในการขยายกระแสบริโภคนิยม...."

 

คำถามที่สำคัญที่วิทยากรใช้เป็นประเด็นแลกเปลี่ยนในช่วงนี้คือ วัฒนธรรมชุมชนจะอยู่รอดท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ที่มาแรงนี้ได้หรือไม่? โดยสามารถสรุปข้อโต้แย้งในเวทีได้ดังนี้ นักศึกษาผู้เข้าร่วมฝ่ายหนึ่งมองว่า วัฒนธรรมชุมชน มันเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไม่หยุดนิ่ง ชาวบ้านควรปรับตัวตั้งรับและหยิบใช้ประโยชน์ ดังความเห็นของพรเวช ว่า "สมัยก่อนวัฒนธรรมชุมชนมันตอบสนอง อารมณ์ ความรู้สึกของชาวบ้านได้ แต่ในปัจจุบันวัฒนธรรมชุมชนมันคงอยู่แค่รูปแบบ ไม่ได้มาจากความศรัทธา ก็คือการปะทะกันของวัฒนธรรม 2 กระแส แต่ส่วนตัวคิดว่ามันไม่ใช่การล่มสลายของวัฒนธรรมชุมชน เพราะชาวบ้านสามารถหยิบใช้ประโยชน์ได้"

 

แต่อีกฝ่ายหนึ่งมองว่า วัฒนธรรมชุมชนมันหยุดนิ่ง ไม่ไปไหน และมีลักษณะถูกกระทำจากกระแสโลกาภิวัฒน์ "มันจะถูกโลกาภิวัฒน์กลืนทั้งหมด จะหลงเหลือเพียงบางสิ่งคือตัววัฒนธรรมที่ขายได้เช่น ประเพณีต่างๆ มันถูกปรับให้สนองตอบทุนนิยม จากวัฒนธรรมที่เป็นวิถีชีวิต หรือพิธีกรรมกลายมาเป็นจุดขายทางการท่องเที่ยว และมันจะไปด้วยกันจนเราแยกไม่ออกว่าตัวไหนเป็นวัฒนธรรมชุมชนและตัวไหนเป็นสิ่งที่มาจากภายนอก" และมีอีกมุมมองหนึ่งที่แตกต่างออกไปแต่เป็นประเด็นที่สำคัญคือ "ถ้ามองจากวิถีการผลิตระหว่างการผลิตแบบเก่ากับกับการผลิตแบบโลกาภิวัฒน์ที่ล้ำหน้า คิดว่ามันไปกันไม่ได้ มันคนละเรื่องกัน ที่มันยังมีอิทธิพลอยู่อาจเป็นเพราะว่ามันคาบเกี่ยวกับทุนใหญ่ ทุนชาติในประเทศ ที่พยายามโปรไว้เพื่อกีดกันทุนโลกาภิวัตน์หรือเปล่า"

 

ในช่วงท้ายของการคุยประเด็นนี้ อ.พฤกษ์ ได้เสนอว่า การตั้งประเด็นว่าวัฒนธรรมชุมชนจะมีอยู่หรือหายไปไม่ค่อยมีประโยชน์ แต่ประเด็นมันอยู่ที่ว่าวัฒนธรรมชุมชน หรือ วัฒนธรรมอื่นใดก็ตาม มันทำให้ชาวบ้านมีอำนาจที่จะกำหนดวิถีชีวิตมากน้อยแค่ไหนต่างหาก "ตกลงนักพัฒนาห่วงวัฒนธรรมชุมชนหรือห่วงชีวิตชาวบ้านกันแน่ อันนี้เป็นปัญหาของใคร นักพัฒนาหรือชาวบ้าน"

 

วิทยากรยังวิจารณ์แนวคิดวัฒนธรรมชุมชนเป็นการปิดท้ายเอาไว้ว่า แนวคิดวัฒนธรรมชุมชนยังมีปัญหาทางความคิด ทางวิชาการเรียกว่าปัญหาของการสร้างความรู้ คือมันเป็นสิ่งที่ชนชั้นกลางไปมองหมู่บ้าน และเลือกมองแต่สิ่งที่อยากจะเห็น คือความกลมเกลียว แล้วก็เลือกชูแต่สิ่งนั้นขึ้นมา ทั้งที่ในชุมชนมันมีด้านที่ขัดแย้งเป็นปัญหาอีกมาก ปัญหาที่ตามมาก็คือมันกลายเป็นภาพตัวแทนของชุมชน เป็นคัมภีร์ชี้นำทางการพัฒนาของบางกลุ่ม คำถามคือชุมชนจะพัฒนาได้อย่างไรถ้าเรารู้จักความจริงในหมู่บ้านเพียงครึ่งเดียว ขณะที่ด้านความขัดแย้งและจัดการความขัดแย้งที่หายไปนั้นเป็นจุดแข็งของชุมชนอีกด้วย

 

ดังนั้นหมู่บ้านก็กลายเป็นเวทีการแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ของคนภายนอกมากขึ้น ทั้งนี้ยังไม่นับการมองแบบแบ่งขั้ววัฒนธรรม 2 กระแสอีก ซึ่งแท้จริงมันไม่เคยแบ่งแยกแต่ผสมปนเปหยิบยืมกันตลอด รวมทั้งประเด็นการดำรงอยู่และสำนึกอิสระซึ่งมีข้อเท็จจริงที่เป็นข้อโต้แย้งได้หมด "ในวันนี้แม้ว่าแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนมีการปรับตัวไปมากพอสมควร แต่ในหมู่นักวิชาการ และนักพัฒนาจำนวนมาก ก็ยังไม่เปิดรับปรับปรุงแนวทางการวิเคราะห์เท่าที่ควร ถ้าเป็นเช่นนี้วัฒนธรรมชุมชนก็คงเป็นคงเพียงมายาการทางวิชาการ กลายเป็นความเชื่อ ความศรัทธา ที่ไม่ต้องการเหตุผล .... " "แต่ไม่ต้องกังวลใจนะครับ ในสังคมไทยความคิดใดเป็นมายาการไม่ได้หมายความว่าจะล้มเหลว เพราะหลายๆ อภิมหามายาการในสังคมไทย กลับรุ่งโรจน์ได้รับความนิยมสูงสุดอย่างไม่น่าเชื่อ" "นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยชื่อดัง"กล่าวทิ้งท้าย

 

แม้เวลา 3 วันแห่งการจัดกิจกรรมที่หนักแน่นทั้งในส่วนของเนื้อหาและกระบวนการ แต่ดูเหมือนว่ามันไม่มีคำตอบที่สำเร็จรูปและถูกต้องทั้งหมดให้กับผู้เข้าร่วม แต่ก็ดูเหมือนว่าจะเป็นความตั้งใจของผู้จัดโครงการในครั้งนี้ ที่ต้องการให้นักศึกษาที่เป็นนักกิจกรรมได้ริเริ่มขบคิด ตั้งคำถาม และนำไปปรับใช้กับการทำงานทางสังคมในอนาคต  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท