Skip to main content
sharethis

ธีรมล บัวงาม
สำนักข่าวประชาธรรม


ชื่อของลุงบุตร หรือ ศรีบุตร วงศ์ชนะ ชายชราแห่งบ้านหัวฝาย หมู่ 1 .บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง คงมีน้อยคนที่จะรู้จัก

แต่หากเอ่ยถึงลุงบุตร ในฐานะ
ผู้หาญกล้ายื่นฟ้องต่อการไฟฟ้าฝ่ายผลิตในหลายๆ คดี
ผู้ได้รับผลกระทบจากเหมืองลิตไนต์ และโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ
ผู้เก็บสะสมยาพ่นขยายหลอดลม ที่ใช้จนหมดแล้วไว้ใต้เตียง
ผู้ขายบ้าน ขายรถ ประทังชีวิต และนำไปซื้อถังออกซิเจนสีเขียวใบใหญ่ อุปกรณ์ช่วยหายใจในยามที่อาการหอบกำเริบ สมบัติเพียงชิ้นเดียวที่มีค่ามากที่สุดในบ้าน
ฯลฯ

หรือกระทั่ง ผู้อดทนใช้ชีวิตจนช่วงสุดท้ายในวัย 81 ปี ณ ช่วงบ่ายแก่ๆ ของวันที่ 10 กรกฎาคม 2551 เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า "ความตายจากถ่านหิน เป็นเรื่องจริง"

คำขยายความเหล่านี้ คงพอทำให้เห็นภาพลางๆ ได้บ้างว่าเส้นทางชีวิตส่วนหนึ่งที่ลุงศรีบุตรเลือกมันเริ่มต้นแล้วจบลงตรงที่ใด


ครั้งหนึ่งในปี 2547 ลุงบุตร บอกเล่าว่า ตนเองเป็นผู้ป่วยรายหนึ่งที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจวันละไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง หลังเริ่มมีอาการป่วยและเข้ารักษาในโรงพยาบาลมานานกว่า 10 ปี กระทั่งปี 2544 ลุงบุตรจึงตัดสินใจซื้อถังออกซิเจนพร้อมชุดช่วยหายใจมาใช้เป็นส่วนตัวที่บ้าน เพราะถังออกซิเจนเพียง 1 ถัง ที่ชาวชุมชนหัวฝาย ซื้อมาด้วยเงินที่ได้จากการจัดผ้าป่าสามัคคีนั้นต้องเวียนกันใช้ในชุมชน ซึ่งไม่เพียงพอกับอาการเจ็บป่วยที่ต้องพึ่งพาถังออกซิเจน และยาพ่นขยายหลอดลมเป็นนิจสิน

ครั้งนั้นแพทย์วินิจฉัยว่า เจ็บป่วยด้วยโรคถุงลมโป่งพอง แต่ลุงบุตรยืนยันว่าตนเลิกสูบบุหรี่มากว่า 20 ปี และเชื่อว่าความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นจึงมาจากโรงไฟฟ้าถ่านหินที่อยู่ห่างไปไม่ถึงกิโล เฉกเช่นกับบรรดาสัตว์ พืชผล และผู้คนอื่นๆ ในหมู่บ้าน ที่เริ่มเจ็บป่วยและถูกหามเข้าโรงพยาบาลกันบ่อยๆ

หลังจากนั้นไม่นาน เงินที่เก็บออมมาทั้งชีวิตก็เริ่มหร่อยหรอ แม้ว่าจะมีค่ารักษาพยาบาลที่ได้จากสวัสดิการของลูกชายที่เป็นพนักงานอยู่ในการไฟฟ้า แต่ค่าใช้จ่ายอื่นเช่น ค่าเดินทางไปรักษาที่เชียงใหม่ ค่าอาหาร รวมทั้งค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันก็ไม่เพียงพอ จึงต้องทยอยขายทรัพย์สมบัติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ที่นา รถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ รวมทั้งเลิกกิจการขายของชำ ปั๊มน้ำมัน ขายบ้านไม้สักหลังงามเพื่อส่งลูกเรียนหนังสือ

อย่างไรก็ตาม แม้ตนเองจะเจ็บป่วยต้องพึ่งพาเครื่องหายใจอยู่เสมอ แต่ลุงบุตร ก็ไม่ได้ย่อท้อ ลุงบุตร ได้ยื่นฟ้องการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ต่อศาลปกครอง โดยระบุว่า กฟผ.ทำการผลิตกระแสไฟฟ้าโดยใช้ถ่านหินลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิงหลัก ทั้งที่รู้ว่าถ่านหินลิกไนต์ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงที่มีคุณภาพต่ำ เมื่อเกิดการเผาไหม้จะทำให้เกิดฝุ่นแขวนลอยและสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์อันเป็นสารพิษจำนวนมาก ที่สำคัญ กฟผ.ยังไม่ดำเนินการควบคุมการฟุ้งกระจายของฝุ่นและสารดังกล่าวทั้งที่สามารถกระทำได้ ถือว่าขาดความระมัดระวังทำให้เกิดมลภาวะในอำเภอแม่เมาะ และอำเภอใกล้เคียง ทำให้ตนซึ่งอาศัยอยู่ที่ต.บ้านดง หายใจเอาฝุ่นแขวนลอยและสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์เข้าไปสะสมในร่างกายโดยไม่รู้ตัวเป็นเวลานานกว่า 20 ปี และเกิดอาการเจ็บป่วยเรื้อรัง จึงขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้ กฟผ.ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 102 ล้านบาท.....จวบจนวันนี้คดีดังกล่าวก็ยังไม่สิ้นสุด


...


ป้านวลจันทร์ ภรรยาคู่ชีวิตของลุงบุตร เล่าว่า ลุงบุตรเฝ้ารอการอพยพหนีมลพิษ และความตายจากถ่านหินมาตลอดชีวิต และเชื่อว่าจะได้ย้ายบ้านไปอยู่ในพื้นที่รองรับภายในสิ้นปีนี้ หลังจากที่อพยพตามมติคณะรัฐมนตรี 9 พฤษภาคม 2547 ล่าช้าและมีปัญหาอุปสรรคมาโดยตลอด


อย่างไรก็ดี แม้การจากไปของสามีอันเป็นที่รักจะทำใจให้ยอมรับได้ยากยิ่ง แต่ป้านวลจันทร์ กลับบอกว่า สิ่งที่ทำใจยอมรับได้ยากกว่าคือการต้องไปร่วมงานศพของเพื่อนบ้าน หรือลูกหลานที่ทยอยตายตามกันไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่มีวี่แววว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบจะเข้ามาแก้ไข


แม้ว่าจากนี้ป้านวลจันทร์จะไม่ได้เห็นสามีกระแอมกระไอ กระเสือกกระสนตื่นขึ้นมากลางดึก เพื่อสูดหายใจจากสายยางพลาสติกสีขาวเขียวของเครื่องช่วยหายใจ บนเตียงนอนชั้นล่างอีกต่อไปแล้ว แต่ถังออกซิเจนคู่ชีวิตของลุงบุตรใบนี้ จะถูกส่งให้ใคร และต่อจากนั้นจะเป็นใครอีก นี่คือสิ่งที่ป้านวลจันทร์ไม่อยากจะเอ่ยถึง "หรือนี่มันคือชะตากรรมที่ชาวแม่เมาะรอบๆ โรงไฟฟ้าต้องก้มหน้ายอมรับ" ป้านวล ไถ่ถาม


ป้านวล ทิ้งท้ายว่า จากนี้ต่อไปเธอจะใช้ชีวิตอยู่กับสิ่งที่สามีทิ้งมรดกเอาไว้ให้ นั่นก็คือ คดีความที่ยังคั่งค้างอยู่ในศาลปกครอง แม้จะล่าช้า แต่เธอก็มีชีวิตเพื่อรอความยุติธรรมที่สักวันต้องมาถึง


"เส้นทางชีวิตของลุงบุตรนั้นไม่ได้แตกต่างจากกว่า 300 ชีวิตที่ต้องจากไปก่อนเวลาอันควร หลายๆ ราย บ้างก็เป็นลมล้มตาย บ้างนอนหลับตาย ตามเนื้อตามตัวมีจ้ำมีจุดเขียว หมอมาชันสูตรก็บอกว่าแก่ตายบ้าง เป็นโรคนั้นโรคนี้บ้าง แต่ชาวบ้านเรารู้ว่าคนแถบนี้ตายเพราะสาเหตุอะไร หลังจากลุงบุตรก็ต้องมีรายต่อๆ ไป" คำบอกเล่าของ มะลิวรรณ นาควิโรจน์ เลขาธิการเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ องค์กรที่ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการของโรงไฟฟ้าและเหมืองถ่านหินแม่เมาะ รวมตัวจัดตั้งขึ้นมาในปี 2545

มะลิวรรณ เล่าว่า หนึ่งในสิ่งที่ลุงบุตรและชาวบ้านนับ 400 ชีวิต ร่วมกันเรียกร้องในนามเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ คือ ชาวบ้านควรจะได้รับความเป็นธรรมจากโครงการพัฒนาของรัฐที่กระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม เพราะจริงอยู่ที่โรงไฟฟ้าสร้างประโยชน์ให้กับประเทศ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าชาวบ้านรอบโรงไฟฟ้าต้องเสียสละแม้กระทั่งชีวิตของเขาเอง เพื่อให้ค่าไฟมีราคาถูก เครือข่ายสิทธิผู้ป่วยฯไม่ได้เรียกร้องอะไรเกินกว่าการมาตรฐานที่โครงการของรัฐพึงจะกระทำ เราเรียกร้องเฉพาะสิ่งที่เขาละเลยที่จะกระทำ

"
เดิมเราเรียกร้องให้เขาอพยพชาวบ้านหนีมลพิษแต่เขาก็ไม่ยอม เราเรียกร้องให้มีแพทย์เฉพาะทางมาดูแล ไม่ใช่ไปโรงพยาบาลเอายาพารามากิน แล้วกลับมาตายที่บ้านอย่างที่เป็นอยู่ มันก็ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง พอเขาไม่ทำสิ่งที่ควรต้องทำ เราก็ฟ้องศาลปกครองให้เขายุติการดำเนินการโรงไฟฟ้า ชาวบ้านก็ถูกหาว่าขัดขวางการพัฒนาของประเทศ ถ้าผู้ใหญ่ในบ้านเมืองคิดกันแบบนี้จะเรียกพวกเราว่าเป็นตัวขัดขวางก็ได้ เรายอมรับเพราะไฟฟ้าที่คุณกำลังใช้กันอยู่มันไม่ได้ผลิตจากถ่านหินสกปรกที่ไร้การจัดการที่ดีอย่างเดียว และมันรวมชีวิตมนุษย์ที่ต้องสังเวยเป็นเชื้อเพลิงด้วย"


ทั้งหมดในงานเขียนชิ้นนี้ มันเริ่มต้นจากความเชื่อที่ว่า การตายของลุงบุตร ชาวบ้านธรรมดาสามัญคนหนึ่ง แม้จะไม่พิเศษ หรือช่วยสั่นสะเทือนให้สังคมหันมาสนใจชะตากรรมที่คนทั้งชุมชนแม่เมาะกำลังแบกรับ แต่มันก็เพียงพอแล้วที่จะยืนยันว่า ลุงบุตร และชาวบ้านอีกหลายร้อยคนไม่ได้จบชีวิตเพราะหัวใจหยุดเต้น ทว่ามันคือความพิกลพิการของระบบสังคมที่ทำให้มองไม่เห็นความทุกข์ยากที่เพื่อนร่วมประเทศกำลังแบบรับ บนคำนิยามของรัฐที่เรียกกันว่า "ผู้เสียสละจากการพัฒนา"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net