คปส.จี้รัฐถอดร่างองค์กรจัดสรรรคลื่นความถี่ฯ พร้อมยุติการจับกุมวิทยุชุมชน

วานนี้ (3 ส.ค.51) คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) จัดแถลงข่าว "กรณี กทช.จับกุมวิทยุชุมชน และรัฐบาลเร่งแก้ไขกฎหมายรวบอำนาจ... สู่ความถดถอยการปฏิรูปสื่อ" พร้อมเผยแพร่แถลงการณ์หยุดรัฐบาลแก้ไขกฎหมายครอบครองคลื่นความถี่ ยุติการจับกุมวิทยุชุมชน เมื่อเวลา 13.00-14.00 น. ณ ห้องประชุมชั้น 2 มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม

 

จากกรณีเมื่อวันที่ 22 ..51 เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทช.) ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ จ.กาญจนบุรี เข้าตรวจค้นสถานีวิทยุชุมชน ตั้งอยู่ที่บ้านไม่มีเลขที่ ตรงข้ามบ้านยาวีรีสอร์ท หมู่ 3 .ท่าเสา อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี โดยจับกุมนายวสันต์ ปานเรือง ประธานคณะกรรมการชุดปฏิบัติการเรียนรู้วิทยุชุมชนบ้านเรา หรือวิทยุชุมชนน้ำตกไทรโยคน้อย พร้อมยึดอุปกรณ์เครื่องส่งสัญญาณ เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหา 4 ข้อหา คือ มีและใช้เครื่องวิทยุคมนาคม ตั้งสถานีวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จงใจกระทำให้เกิดการรบกวนหรือขัดขวางต่อการวิทยุคมนาคม และฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต ทั้งนี้นายวสันต์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และนายกเทศมนตรีเทศบาลรุ่มสุมใช้ตำแหน่งประกันตัวไปในวันเดียวกัน

 

 

หัวหน้าสถานีฯ ยืนยันต่อสู้ทุกวิถีทางให้ได้ออกอากาศอีกครั้ง

นายวสันต์ ปานเรือง ซึ่งเข้าร่วมแถลงข่าวในวันนี้กล่าวว่า ทางสถานีวิทยุชุมชนได้ยึดมติ ครม. 16 ..2545 ในการดำเนินการที่ผ่านมากระทั่งโดนจับกุม โดยมองว่าอาจจะเป็นการเชือดไก่ให้ลิงดู และถือเป็นการเลือกปฏิบัติ เพราะยังมีสถานีวิทยุจำนวนมากที่ดำเนินการในรูปแบบเดียวกัน และรอให้ กทช.ดำเนินการให้ใบอนุญาต ซึ่งยังไม่รวมคลื่นวิทยุชุมชนที่มีการดำเนินการทางธุรกิจและมีการหนุนหลังโดยนักการเมืองอีกหลายแห่ง ทั้งนี้สถานีวิทยุของชุมชนนั้นมีความสูง 30 เมตร และมีกำลังส่งเพียง 30 วัตต์ ครอบคลุมพื้นที่ 15 กิโลเมตร อีกทั้งเป็นการก่อตั้งโดยชุมชนจึงไม่รู้ว่าทำผิดกฎหมายในส่วนไหน

 

นายวสันต์กล่าวต่อมาว่า การทำสถานีวิทยุชุมชนของตนที่ผ่านมาทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม โดยทำหน้าทีเป็นสื่อกลางในการสื่อสารและการบริการสารธารณะต่างๆ ในชุมชนของ อ.ไทรโยค กว่า 21 หมู่บ้าน อีกทั้งเป็นโรงเรียนฝึกหัดเรื่องการสื่อสารของเยาวชน ซึ่งการให้ปิดสถานีวิทยุชุมชน ก็เหมือนเป็นการปิดหู ปิดตา ประชาชน ปิดกั้นการเรียนรู้ของเด็กๆ อีกทั้ง กทช.เองก็ยังไม่ได้มีหลักเกณฑ์ในการสั่งระงับคลื่นวิทยุที่แน่ชัดให้ชาวบ้าน อย่างไรก็ตามตนจะสู้ทุกวิถีทางเพื่อให้รัฐคืนคลื่นและให้กลับมาออกอากาศได้อีกครั้ง

 

"ผมอยู่ในสื่อนี้มานาน ผมรักวิทยุ" นายวสันต์กล่าวน้ำเสียงสั่นเครือด้วยความสะเทือนใจ

 

ในส่วนคดีความ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการรวบรวมสำนวนหลักฐานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อส่งฟ้องไปยังศาลภายในระยะเวลา 2 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 22 ก.ค.ที่ผ่านมา

 

 

ประธาน คปส.ชี้ร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ทวนกระแสประชาธิปไตย

รศ.ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ ประธาน คปส.กล่าวถึง ร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. .... ที่กำลังจะถูกนำเข้าสู่สภา ซึ่งเป็นการยกร่างใหม่จาก พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ พ.ศ. 2543 ว่า ได้เคยมีการจัดเวทีประชาพิจารณ์ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข โดยเฉพาะในส่วนของการรวมองค์กร 2 องค์กร คือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) โดยใช้ชื่อองค์กรกำกับการสื่อสารแห่งชาติ (กสช.) ที่มีสถานะไม่ใช่องค์กรอิสระอีกต่อไป

รศ.ดร.อุบลรัตน์ อธิบายว่าจะเป็นการดึงองค์กรอิสระกลับเข้าไปเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงไอซีที หรือเรียกว่ารวบอำนาจในลักษณะวันสต็อปเซอร์วิส ซึ่งอ้างว่าจะช่วยให้การแตกคลื่นเป็นไปได้ง่ายขึ้น แต่ผลคือประชาชนไม่สามารถเข้าถึงการจัดสรรคลื่นความถี่ได้อย่างเท่าเทียม

 

"ปัญหาการจัดสรรเป็นปัญหาเดิมที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข และจะไม่ได้รับการแก้ไขต่อไปอีก" รศ.ดร.อุบลรัตน์ กล่าว

 

ขณะนี้ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวผ่านสภาและได้รับการแก้ไขให้มีการรวมองค์กรเกิดขึ้นแล้ว ซึ่งจะสร้างความไม่เป็นธรรมให้สังคม โดยการเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มทุนใหญ่ รัฐ เจ้าของเดิม แต่จะไม่เป็นการกระจายทรัพยากร เป็นการทวนกระแสความเป็นประชาธิปไตย

 

ด้าน นส.สุภิญญา กลางณรงค์ รองประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ กล่าวว่า การปิดวิทยุชุมชนที่เกิดขึ้น สะท้อนให้เห็นความสับสนของการปฏิรูปสื่อ และนโยบายรัฐที่มีต่อวิทยุชุมชน รวมทั้งทำให้เกิดการตั้งคำถามต่อ กทช.ที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายกำกับดูแลวิทยุชุมชนว่าทำหน้าที่ดีแล้วหรือไม่ และเหตุผลและหลักเกณฑ์ของการดำเนินการปิดวิทยุชุมชนคืออะไร เป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่

 

นอกจากนิ้ยังมีคำถามต่อรัฐบาลผ่าน รมว.ไอซีที ถึงการปรับแก้กฎหมายที่ว่าให้เป็นไปตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ 2550 แต่กลับขัดต่อเจตนารมณ์ของการมีกฎหมายที่ผ่านมาด้วยการตัด มาตรา 26 ที่ให้องค์กรอิสระจัดสรรคลื่นความถี่ให้ประชาชนอย่างน้อย 20% ออกไป

 

นส.สุภิญญา กล่าวต่อมาว่า การแก้กฎหมายหลายๆ ส่วนของรัฐบาลเป็นการแก้ไขเกินกว่าเหตุ ซึ่งก็จะต้องมีการเคลื่อนไหวคัดค้านอย่างถึงที่สุด แต่ก็มีความเป็นห่วงถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยเฉพาะในส่วนของการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะต้องส่งผลกระทบถึงการเปลี่ยนแปลงของกฎหมายลูก ซึ่งในช่วงเวลาสุญญากาศนั้นจะแน่ใจได้อย่างไรว่ารัฐจะไม่ทำให้เกิดปัญหา

 

 

แถลงการณ์ คปส.จี้รัฐบาลถอดร่างกฎหมายคลื่นความถี่

นายสุเทพ วิไลเลิศ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ อ่านแถลงการณ์ "หยุดรัฐบาล แก้ไขกฎหมายครอบครองคลื่นความถี่ ยุติการจับกุมวิทยุชุมชน" ความว่า นับตั้งแต่การรัฐประหาร 19 กันยาเป็นต้นมา ทำให้การปฏิรูปสื่อซึ่งก็คือการปฏิรูปโครงสร้างการถือครองคลื่นความถี่นั้นถดถอยลง และยังมีการออกกฎหมายสื่อมาบังคับใช้หลายฉบับโดยขาดการมีส่วนร่วมจากสาธารณะและประชาชน อีกทั้งไม่คุ้มครองสิทธิโดยชอบธรรมในการสื่อสารของภาคประชาชน ทำให้มองเห็นภาพของการแทรกแซงสื่อทั้งในระดับนโยบายและการละเมิดสิทธิประชาชนในพื้นที่ซึ่งได้เริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง

 

นายสุเทพกล่าวต่อว่า การที่รัฐบาลมีนโยบายเร่งรัดพิจารณาเพื่อบังคับใช้กฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ อีกทั้งเนื้อหาร่างแก้ไข พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสีย วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. .... ที่กระทรวงไอซีทีเป็นผู้หลักดัน และ ครม.เห็นชอบเมื่อ 10 มิ.ย.51 ที่ให้อำนาจแก่รัฐมนตรีคัดเลือกบุคคลมาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และตัดสิทธิของภาคประชาชน ในการใช้คลื่นความถี่ที่เดิมกำหนดสัดส่วนไว้ว่าไม่ต่ำกว่า 20 % ทำให้เห็นว่ารัฐบาลยังมีความพยายามแทรกแซงโดยการเขียนกฎหมายรวบอำนาจเพื่อควบคุมสื่อ และทรัพยากรคลื่นความถี่โดยตรง

รูปธรรมที่สะท้อนให้เห็นการละเมิดสิทธิการสื่อสารของประชาชนในระดับพื้นที่ คือ การจับกุมวิทยุชุมชนน้ำตกไทรโยคน้อย จ.กาญจนบุรี และสถานีอื่นๆ ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ โดยทางเจ้าหน้าที่ กทช.นำกำลังตำรวจเข้าจับกุมแกนนำ ยึดเครื่องส่งพร้อมอุปกรณ์ โดยอ้างว่าเป็นการรบกวนคลื่นวิทยุคมนาคม ทั้งที่ขณะนี้ กทช.มีอำนาจหน้าที่ ในการกำกับดูแล และดำเนินการออกใบอนุญาตให้เป็นไปตามกฎหมาย

 

ทั้งนี้ คปส.มีข้อเรียกร้อง คือ 1.ขอให้รัฐบาล เคารพเจตนารมณ์ในการปฏิรูปสื่อ และสิทธิในการสื่อสารของประชาชน และขอยุติการแทรกแซงทุกรูปแบบ โดยรัฐบาลต้องถอนร่าง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ฉบับของรัฐบาลออกจากรัฐสภา และจัดให้สาธารณและประชาชนมีส่วนร่วมในการทำกฎหมายอย่างกว้างขวาง 2. ขอให้ กทช.ยุติการจับกุมวิทยุชุมชน และต้องกำหนดนโยบายคุ้มครองสิทธิการสื่อสารของประชาชน ที่ดำเนินการวิทยุชุมชนทั่วประเทศจนกว่าจะมีการออกใบอนุญาตที่ถูกต้อง

 

ในส่วนความเคลื่อนไหว นายสุเทพกล่าวว่า ในวันที่ 5 ส.ค.นี้ นายบุญส่ง จันทร์ส่องรัศมี ผู้ประสานงานสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ เตรียมเข้ายื่นหนังสือให้กับ เลขาธิการ กทช.เพื่อเรียกร้องให้ทบทวนเนื้อหาของ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ... นอกจากนี้จะมีการจัดเวทีของสถานีวิทุยุชุมชนทุกภาคทั่วประเทศเพื่อร่วมพูดคุยยกร่างกฎหมายฉบับภาคประชาชนขึ้นด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท