Skip to main content
sharethis

"วิปรัฐบาล" ยันเดินหน้า แก้ไข รธน.หลัง 18 ส.ค. 2 ขยัก ส่วนง่าย-ยาก อ้างเพื่อลดความขัดแย้ง 


ที่ตึกบัญชาการ ห้องประชุม 501 นายสามารถ แก้วมีชัย ประธานวิปรัฐบาล กล่าวภายหลังการประชุมว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้บังคับว่าต้องมีกฎหมายลูกบังคับใช้ภายใน 1 ปี ซึ่งศาล รธน.เสนอร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญซึ่งในอดีตการพิจารณาของศาลไม่มีกฎหมายโดยใช้ข้อกำหนดแทน แต่รัฐธรรมนูญปัจจุบันบังคับให้มีร่างกฎหมายฉบับนี้ แต่ประเด็นที่น่าสังเกตคือเดิมนั้นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญสามารถวิจารณ์ได้ ไม่ถือว่าละเมิดอำนาจศาล แต่ร่างกฎหมายฉบับนี้ระบุว่าหากวิจารณ์หรือละเมิดคำวินิจฉัย ให้ถือว่าเป็นการละเมิดอำนาจศาลเช่นเดียวกับศาลทั่วไปคือมีโทษตั้งแต่ ให้ไล่ออกจากนอกเขตศาลไปถึงทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งที่ประชุมวิปรัฐบาล รับหลักการแล้วและจะนำเข้าหารือและพิจารณาในที่ประชุมสภาอีกครั้ง


 


นายสามารถกล่าวว่า สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ประชุมวิปรัฐบาลได้เห็นพ้องว่าจะดำเนินการยกร่างญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญภายหลังจากที่ได้รับฟังความเห็นจากคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการใช้รัฐธรรมนูญ ซึ่งจะครบวาระสิ้นสุดการศึกษาในวันที่ 18 ส.ค.นี้ โดยวิปร่วมรัฐบาลได้เสนอว่าให้นำข้อมูลจากวิปรัฐบาลชุดดังกล่าวที่มีข้อดี ข้อเสียมาเปรียบเทียบกับผลการศึกษาของอนุกรรมการวิปรัฐบาลที่มีนายชูศักดิ์ ศิรินิล เป็นประธาน รวมถึงงานด้านการศึกษาของนายมนตรี รูปสุวรรณ อดีตเลขาธิการวุฒิสภาที่ทำงานวิจัยเรื่องนี้ไว้ ซึ่งทำวิจัยเปรียบเทียบข้อดี และข้อเสียของรัฐธรรมนูญ และรวมทั้งงานของสถาบันพระปกเกล้า


 


นายสามารถกล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะแยกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนง่ายกับส่วนยาก ส่วนง่ายคือที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้งหมด เช่น การเลือกตั้งแบบเขตเดียวเบอร์เดียว ส.ส.บัญชีรายชื่อ รวมทั้ง ส.ว.ต้องมาจากการเลือกตั้ง หรือหากมาจากการแต่งตั้งจะให้เหลืออำนาจเพียงกลั่นกรองกฎหมายแต่ว่าไม่มีอำนาจถอดถอน ในส่วนยาก เช่น มาตรา 190 วรรค 2 เกี่ยวกับสนธิสัญญาต่างๆ ที่ต้องผ่านความเห็นชอบของสภานั้นจะมอบให้กระทรวงการต่างประเทศเชิญนักวิชาการมาถกเถียงเรื่องนี้ให้ตกผลึกเสียก่อน หากยังมี 6 วรรคเช่นเดิม ฝ่ายปฏิบัติก็ไม่สามารถทำอะไรได้เพราะต้องผ่านสภาทั้งหมด


 


นายสามารถกล่าวว่า มาตรา 237 วรรค2 ซึ่งต้องดูรายละเอียดต้องทำให้ชัดเจนว่าเป็นความผิดส่วนตัวหรือความผิดที่เกี่ยวโยงมาถึงพรรคไม่ใช่มาเหมารวม ให้ยุบพรรคทั้งหมด ไม่เช่นนั้นจะไม่เหลือพรรคการเมืองให้ประเทศพัฒนาพรรคเป็นสถาบันกาเมือง  มาตรา266 ที่ระบุไม่ให้ใช้สถานภาพ ส.ส.,ส.ว. ไปยุ่งเกี่ยวกับงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ตนเองหรือผู้ใด ซึ่งคำว่าผู้ใด ไม่มีคำจำกัดความ รวมทั้งมาตรา 309 ซึ่งเป็นเหมือนไส้ติ่งที่เขียนรองรับให้อำนาจ องค์กรที่แต่งตั้งโดยคณะปฏิรูปฯ ซึ่งในวันนี้ก็หมดวาระไปแล้ว มาตรานี้จะเขียนหรือไม่เขียนก็ได้ แต่ถ้าหากไม่อยากให้เหลือเศษซากของการปฏิวัติ ก็ควรตัดออกไป  เรื่องนี้ก็ต้องเปิดวงคุยก่อนดำเนินการเช่นกัน


 


นายสามารถกล่าวว่า ส่วนกรอบเวลาในการแก้ไข คาดว่าในส่วนที่เสนอแก้ไขในส่วนง่ายคาดว่าน่าจะแล้วเสร็จทันในสมัยการประชุมนี้ ส่วนของยากก็จะพิจารณาไปเรื่อยๆหากไม่แล้วเสร็จก็จะพิจารณาในสมัยการเปิดประชุมสมัยหน้า


 


ผู้สื่อข่าวถามว่าในการประชุมวิปรัฐบาลได้มีการหารือมาตรา 63 หรือไม่ ซึ่งนายสมัครระบุว่า บุคคลย่อมมีสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ โดยไม่มีการสร้างข้อมูลเท็จเอามากล่าวหา ไม่ปลุกระดมประชาชนให้หลงผิด ไม่ใช้สื่อโฆษณาชวนเชื่อ ไม่บังคับและไม่จ้างวานกลุ่มบุคคลใดๆให้มาร่วมชุมนุม


 


นายสามารถ กล่าวว่า ขอยืนยันด้วยสัตย์จริง เรื่องนี้ไม่เคยหยิบยกมาหารือ เพราะมาตราดังกล่าวเป็นการเขียนล้อรัฐธรรมนูญฉบับเดิมที่ให้สิทธิการชุมนุมถือเป็นเสรีภาพของประชาชนโดยปราศจากอาวุธ ซึ่งสามารถกระทำได้โดยอยู่ในกรอบของกฎหมาย


 


เมื่อถามว่าเหตุใดการแก้รัฐธรรมนูญต้องแก้เป็น2ขยัก แบบยากกับแบบง่าย นายสามารถ กล่าวว่า เปรียบเหมือนขบวนรถไฟขบวนไหนง่ายแก้ไขง่ายก็แก้ไปก่อนจะได้ไม่ติดและส่งผลให้ติดขัดกันไปหมด รวมทั้งการแก้ไขจะไม่แก้ทุกมาตราแต่จะหยิบยกแต่ละประเด็น    เมื่อถามว่า จะแก้ไขอย่างไรให้ดีที่สุด นายสามารถกล่าวว่า จะทำให้ดีที่สุดตามที่กฎหมายเปิดช่องไว้  เพราะมาตรา291บอกว่าแก้ไขรัฐธรรมนูญได้หากพบปัญหาก็ต้องทำให้ดีขึ้น   เมื่อถามว่าองค์กรอิสระจะแก้ไขหรือไม่ นายสามารถกล่าวว่า องค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบคนอื่นนั้น ก็ควรที่จะเปิดบัญชีทรัพย์สินให้คนอื่นตรวจสอบด้วย


 


เมื่อถามถึงว่ากลุ่มพันธมิตรฯระบุไม่ให้รัฐบาลประกาศแก้ไขรัฐธรรมนูญ50 หากเสนอเข้าสภาเมื่อใดก็จะชุมนุมทันที นายสามารถกล่าวว่า  เชื่อว่าประเด็นการแก้ไขหากมีความชัดเจน ทำความเข้าใจกัน คิดว่าพันธมิตรฯไม่น่ามีอคติ ยืนยันไม่ได้ทำเพื่อใครคนใดคนหนึ่ง โดย กมธ.วิสามัญศึกษาการบังคับใช้รัฐธรรมนูญนั้นมีตัวแทนที่มีความใกล้ชิดกับพันธมิตรร่วมอยู่ในนั้นหลายคนและเห็นด้วยว่ารัฐธรรมนูญมีปัญหาการบังคับใช้  และการแก้ไขนั้นจะเชิญทุกฝ่ายมาร่วมหารือ เช่นประสบการณ์การใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้จากฝ่ายต่างๆ เช่นครม.ฝ่ายนิติบัญญัติ โดยให้เสนอร่างแก้ไขเข้ามาแล้วนำไปประมวลยกร่าง ตอนนี้รอเพียงผู้เปิดประเด็นเท่านั้น


 


เมื่อถามว่า สรุปว่าจะเสนอให้พรรคร่วมรัฐบาลนำไปหารือกันในแต่ละพรรคว่าเห็นด้วยหรือไม่กับการแก้รัฐธรรมนูญและให้ยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรกลับมา รวมทั้งสื่อสารให้สังคมรับรู้ในทางเดียวกัน"นายสามารถกล่าว


 


เมื่อถามว่าจะทำความเข้าใจกับฝ่ายคัดค้านเช่นใด นายสามารถกล่าวว่า  อะไรที่ไม่มีปัญหาก็ทำเลย อะไรที่มีปัญหาก็ให้ร่วมกันหาข้อสรุปจากสังคม  ยืนยันจะไม่ยื่นแก้ไขเสียทีเดียวทุกมาตราและไม่เร่งรัด วิปรัฐบาลบางคนบอกว่าจะอยู่สี่ปี อะไรที่ทำได้ก็ทำ  อะไรที่ยากก็ค่อยๆทำ แก้ไขเฉพาะรายมาตรา มิได้กระทำแบบเรียงรายมาตรา แต่ทำแบบไปเรื่อยๆ


 


นายเอกพจน์ ปานแย้ม วิปรัฐบาล เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ตนได้สอบถามถึงท่าทีในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลหลังจากมีข่าวออกมาค่อนข้างสับสน ก่อนหน้านี้ระบุว่าจะยื่นแก้ไขทันทีในวันที่ 1 ส.ค. ต่อมามีข่าวว่าจะยื่นหลังวันที่ 18 ส.ค. จึงขอทราบความชัดเจน โดยนายสมารถกล่าวชี้แจงว่า สาเหตุที่ต้องแก้ 2 ขยักเพื่อต้องการลดความขัดแย้ง โดยต้องดูว่าส่วนใดที่สามารถแก้ได้และกระแสคัดค้านน้อยก็สามารถยื่นเสนอแก้ไขได้เลย โดยการยื่นขอแก้ไขจะรอหลังจากคณะกรรมาธิการวิสามัญฯศึกษาข้อดีข้อเสียเรียบร้อยแล้ว ในส่วนข้อที่ยากก็ต้องใช้เวลา ข้อที่ง่ายก็ทำไปเลย


 


ฝ่ายค้านแฉ รัฐบาลลักไก่เสนอกม.สลายม็อบไม่ผิดกม.แพ่ง-อาญา เชื่อนำไปสู่ความความรุนแรง


ทางด้านนายสาทิตย์  วงศ์หนองเตย  ประธานวิปฝ่ายค้าน  กล่าวกรณีที่ส.ส.พรรคพลังประชาชนได้เสนอร่างพ.ร.บ.จัดระเบียบการชุมนุมในที่สาธารณะเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรว่า ไม่รู้สึกแปลกใจกับท่าทีของนายกรัฐมนตรี ที่ระบุว่ากลุ่มพันธมิตรฯ กลัวการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา 63 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพการชุมนุม เพราะขณะนี้ส.ส.พรรคพลังประชาชน 26 คน นำโดยนายจุมพฏ บุญใหญ่ ได้ยื่นญัตติร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบการชุมนุมในที่สาธารณะ ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมา


 


โดยให้เหตุผลว่า แม้รัฐธรรมนูญมาตรา 63 จะให้สิทธิเสรีภาพประชาชนในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ แต่การจะจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำได้โดยอาศัยกฎหมายฉบับนี้ซึ่งมีเนื้อหาที่เป็นอันตราย เนื่องจากกำหนดว่าหากจะมีการชุมนุมต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการ โดยมีผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เป็นประธาน ส่วนในต่างจังหวัด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด  เป็นประธาน  ซึ่งถือเป็นการลิดรอนสิทธิ เสรีภาพ เกินกว่ารัฐธรรมนูญกำหนดไว้


 


นอกจากนี้ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวยังให้อำนาจเจ้าหน้าที่ยุติการชุมนุมได้ หากมีการฝ่าฝืน โดยสามารถสลายการชุมนุมได้โดยไม่ต้องรับผิดทางทั้งแพ่งและอาญา จึงเชื่อว่ากฎหมายฉบับนี้จะนำไปสู่ความรุนแรง นอกเหนือจากประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งทัศนคติของ ส.ส. พรรคพลังประชาชนส่วนใหญ่ นิยมใช้ความรุนแรงกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่ไม่ใช่พวกรัฐบาล จึงเรียกร้องให้ถอนร่างดังกล่าวออกไป ก่อนที่ปัญหาจะบานปลาย ซึ่งหากรัฐบาลไม่ทบทวน พรรคประชาธิปัตย์จะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญความ แต่ต้องรอขั้นตอนให้กฎหมายแล้วเสร็จก่อนมีผลบังคับใช้จึงจะสามารถยื่นเรื่องได้


 


"พปช." เขียนชัดห้ามชุมนุมบนถนนตั้งเวทีขวางจราจร


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจุมพฏ  พร้อมด้วย ส.ส.พรรคพลังประชาชน(พปช.) จำนวน 25 คน เสนอร่างพ.ร.บ.จัดระเบียบการชุมนุมในที่สาธารณะ พ.ศ....  ซึ่งขณะนี้ นายชัย ชิดชอบ ได้บรรจุวาระการ พิจารณาในการประชุมสภาสมัยสามัญนิติบัญญัติซึ่งเป็นเรื่องใหม่ฉบับที่ 6.6 ในวันที่ 6 ส.ค. นี้เป็นที่เรียบร้อย   กลุ่มส.ส.ดังกล่าว ได้เสนอเหตุผลในการเสนอพ.ร.บ.ฉบับนี้ ว่า ม.63 ได้รับรองสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน โดยสงบและปราศจากอาวุธ ดังนั้นเพื่อให้การชุมนุมเป็นไปตามสิทธิและเพื่อการป้องกันการใช้สิทธิดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายกับสาธารณชนทั่วไป จึงต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อจัดระเบียบการชุมนุม จึงจำเป็นต้องตราพ.ร.บ.นี้


 


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวมี จำนวน 20 มาตรา และมีหลายมาตราเป็นที่สังเกตว่าจะมีผลลิดรอนสิทธิการชุมนุมของประชาชน ซึ่งสอดคล้องกับนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี พูดเรื่องการแก้ไข รธน. ม.63 ที่กำจัดสิทธิการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯด้วย อาทิ ม.5 มีเนื้อหาว่า ห้ามไม่ให้การชุมนุม พื้นผิวจราจร ตั้งเวทีปราศรัยกีดขวางการจราจร ห้ามถ่ายทอดการชุมนุม เว้นแต่ได้การอนุญาตจากคณะกรรมการตาม ม.8


 


ม. 8 ว่า คณะกรรมการพิจารณาคำขออนุญาตชุมนุมในพื้นที่ กทม. ประกอบด้วย ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เป็นประธานกรรมการ ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย เป็นรองประธาน เป็นต้น ขณะที่คณะกรรมการพิจารณาคำขออนุญาตชุมนุมในต่างจังหวัด จะมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ม.9 ว่า คณะกรรมการดังกล่าวมีอำนาจการพิจารณาการชุมนุม     ม.10 ว่าการเคลื่อนย้ายไปชุมนุมจังหวัดอื่น จะต้องได้รับการอนุญาตจากคณะกรรมการ


 


ม.13 .กรณีอันก่อให้เกิดความไม่เรียบร้อย สามารถประกาศยุติการชุมนุม  ม.14 ว่า ประธานกรรมการมีอำนาจสั่งยุติการชุมนุมในพื้นที่สาธารณะในกรณี ไม่มีผู้จัดให้มีการชุมนุมดูแลกรชุมนุม  การชุมก่อให้เกิดความเดือดร้อน ต่อผู้อื่น หรือมีเหตุก่อให้เกิดความไม่เรียบร้อย ม.15 หากมีการยุติการชุมนุมแล้ว แต่ผู้ชุมนุมยังฝ่าฝืนประธานกรรมการมีอำนาจให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย สามารถสลายการชุมนุมได้ ม.16 เจ้าหน้าที่สลายการชุมนุมไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา ม.17  ผู้จัดการชุมนุมละเมิด ม. 5 มีความผิดจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากละเมิด ม. 13 มีความผิดจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


 


ม.18 ผู้ใดฝ่าฝืนจัดชุมนุมโดยไม่การอนุญาตจากคณะกรรมการคำขออนุญาตชุมนุม แม้การชุมนุมจะเรียบร้อย แต่มีโทษจำคุกไม่เกิน 6เดือน หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่หากทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ต้องระวังจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 1แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ม.19 ผู้จัดชุมนุมไม่ควบคุมดูแลการชุมนุมปล่อยปละละเลยเป็นเหตุให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมทำความผิดทางแพ่งและอาญา ผู้จัดการชุมนุมจะมีความผิดจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกิน1หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ


 


นายจุมพฎ กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นการลงชื่อเสนอร่วมกันของส.ส.ในกลุ่มอิสานพัฒนา เสนอเข้าสู่สภาตั้งแต่วันที่ 30 พ.ค. และถูกบรรจุให้พิจารณาเป็นฉบับที่ 6 แต่หากส.ส.ในสภาเห็นว่าเป็นกฎหมายที่สำคัญอาจจะเลื่อนขึ้นมาพิจารณาก่อนได้ โดยขั้นตอนแล้วจะใช้เวลา 1 วันในพิจารณารับหลักการ หลังจากนั้นจะตั้งกรรมาธิการแปรญัตติ ถ้าผ่านวาระที่ 1 ได้ก็ไม่มีปัญหา เพราะวาระที่ 2 เป็นแค่การปรับถ้อยคำ และเมื่อผ่านวาระที่ 3 เรียบร้อย จะลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งอีก 30 วันหลังจากนั้นจะบังคับใช้ได้


 


ทั้งนี้ ยืนยันว่าไม่ใช่กฎหมายใหม่ แต่ลอกมาจากกฎหมายของสนช.ที่เคยเสนอไว้แต่ไม่สามารถพิจารณาได้เพราะองค์ประชุมไม่ครบ ทางกลุ่มเห็นว่ามีประโยชน์ต่อสาธารณะจึงหยิบขึ้นมาพิจารณาใหม่ โดยไม่มีการแก้ไขในเนื้อหาแต่เปลี่ยนชื่อพ.ร.บ.จาก "พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะ" เป็น "พ.ร.บ.จัดระเบียบการชุมนุมในที่สาธารณะ" ซึ่งเจตนารมณ์ของกฎหมายนี้ไม่ได้ห้ามไม่ให้มีการชุมนุม แต่การชุมนุมต้องไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับคนอื่น พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนั้นอ้างรัฐธรรมนูญ ม.63 ว่าชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ว่าแต่อ้างแค่วรรคเดียวโดยไม่ยอมกล่าวถึงวรรคสองที่รัฐธรรมนูญไม่ให้การชุมนุมกระทบกับสาธารณะ และการใช้ไม้เบสบอล นั้นแม้จะไม่ใช่อาวุธโดยสภาพ แต่ถ้าสามารถนำมาใช้เป็นอาวุธ ก็ถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ


 


นายจุมพฎ กล่าวว่า หากพ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านสภาออกมาใช้บังคับ การชุมนุมบนท้องถนนจะไม่มีเลย ที่ผ่านมาภาคประชาชนมักจะใช้สิทธิกันตามอำเภอใจจนสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน ต่อไปหากจะชุมนุมต้องขอนุญาตต่อกรรมการว่าจะชุมนุมกี่วัน วันไหนถึงวันไหน เรียกร้องประเด็นอะไร จะชุมนุมสถานที่ใด ทุกอย่างต้องชัดเจน จะชุมนุมบนถนนหลวงไม่ได้ ถ้าใช้ที่สาธารณะต้องไม่สร้างความเดือดร้อนต่อประชาชน ถ้าขอชุมนุมที่ไหนแล้วปรากฎว่าใช้ยานพาหนะดาวกระจายไปทั่วถือว่าผิดกฎหมาย และถ้าการกระทำความผิดในที่ประชุม เช่นเมื่อชุมนุมกันไป เกิดมี ปล้นจี้ หรือข่มขืนกัน แกนนำต้องรับผิดชอบ


 


 "ยืนยันว่าพ.ร.บ.นี้ไม่เป็นการจำกัดสิทธิตามรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญนั้นห้ามจำกัดสิทธิประชาชนได้เพียงแค่เรื่องการนับถือศาสนาเท่านั้น ส่วนเรื่องอื่นสามารถออกกฎหมายขึ้นมาเพื่อจำกัดสิทธิได้หากเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของสาธารณะ ซึ่งการพิจารณา การชุมนุมของพันธมิตรฯไม่ใช่การเคลื่อนไหวของภาคประชาชน ที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง แต่มีการจัดตั้งแบบแนวตั้งโดยคนที่เป็นกูรูด้านสื่อเท่านั้น"นายจุมพฎ กล่าว


 


พันธมิตรฯ จวก กม.ล้าหลังอับอายชาวโลก


นายสุริยะใส  กตะศิลา  ผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า เห็นได้ชัดเจนว่าร่าง พ .ร.บ. ฉบับนี้ขัดต่อมาตรา 63 โดยมีเป้าหมายเพื่อต้องการทำลายการชุมนุมแบบสงบและสันติให้ไม่สามารถชุมนุมต่อไปได้ โดยจะต้องมีการขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่รัฐก่อนซึ่งไม่สามารถเป็นไปในทางปฏิบัติได้ เพราะคงไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดอนุญาตให้ประชาชนชุมนุมอยู่แล้ว ที่สำคัญหากร่างกฎหมายฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเมื่อใด รับรองว่ารัฐสภาไทยจะเป็นที่อับอายทั่วโลกที่มีกฎหมายว่าหากมีการชุมนุมต้องมีการขออนุญาตซึ่งไม่มีประเทศไหนในโลกทำแบบนี้ เพราะการชุมนุมไม่สามารถห้ามกันได้ เนื่องจากหากประชาชนไม่เดือดร้อนเขาก็คงจะไม่มาชุมนุม ดังนั้น การชุมนุมจึงเป็นดัชนีการชี้วัดการทำงานของรัฐบาล ถ้ารัฐบาลทำงานดีการชุมนุมก็จะมีน้อย แต่ถ้ารัฐบาลทำงานล้มเหลวการชุมนุมก็จะมีมาก


 


"รัฐบาลชุดนี้มองว่าการชุมนุมเป็นภัยต่อรัฐบาล ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจผิด ดังนั้น ขอย้ำอีกว่าถ้ากฎหมายฉบับนี้เข้าสภาเมื่อใดจะเป็นที่อับอายไปทั่วโลกที่ส.ส.ไทยเสนอกฎหมายที่ล้าหลังแบบนี้  มากไปว่านั้นผมคิดว่าการเสนอกฎหมายนี้เพื่อสกัดกั้นการชุมนุมของพันธมิตรฯ ที่พรรคพลังประชาชนทำมาทุกวิถีทาง โดยครั้งนี้จะกลไกในสภาใช้เสียงข้างมากลากไปเพื่อหวังการสลายการชุมนุมของพันธมิตรฯ การเสนอกฎหมายฉบับนี้จึงเป็นเพียงความต้องการสลายการชุมนุมพันธมิตรฯเท่านั้น" นายสุริยะใส กล่าว


 


เรียบเรียงจาก: แนวหน้า, คมชัดลึก,

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net