นักกิจกรรมเอดส์ทั่วโลกร่วมใจหนุนรัฐบาลโคลัมเบียตัดสินใจทำซีแอล

วันพุธที่ 6 ส.ค.51 เวลา 14.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น นักกิจกรรมด้านเอดส์จากทั่วโลก ทั้งผู้ติดเชื้อฯ องค์กรพัฒนาเอกชน นักศึกษาแพทย์ และนักศึกษากฎหมายที่มาร่วมประชุมเอดส์โลกที่กรุงเม็กซิโกซิตี้ ได้มารวมตัวกันด้านหน้าศูนย์สื่อมวลชน ของเซ็นโต เบอร์นาแม็กซ์ สถานที่จัดการประชุมเอดส์โลกครั้งที่ 17 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลโคลัมเบียทำตามความรับผิดชอบทางมนุษยธรรมที่จะต้องทำให้ประชาชนเข้าถึงยาต้านไวรัสที่จำเป็น

โดยนักกิจกรรมได้ร่วมกันทำกิจกรรมชักเย่อเป็นสัญลักษณ์ประกาศทำสงครามกับบริษัทแอ็บบอต เจ้าของสิทธิบัตรยาโลพินาเวียร์/ริโทรนาเวียร์ ที่มีเพียงรัฐบาลโคลัมเบียเท่านั้นที่จะตัดสินใจว่าจะอยู่ข้างประชาชน หรืออุตสาหกรรมยายักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกา


"รัฐบาลของประเทศผม ต้องไม่ปล่อยให้ประชาชนของตัวเองตายไปทั้งๆที่มียาในราคาที่เป็นธรรมที่จะสามารถผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อเอชไอวีให้กลับมามีชีวิตปกติได้" ฟรานซิสโก รอสซี่ ตัวแทนจากกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน IFARMA-HAI จากโคลัมเบียกล่าว

 

ทางด้าน นางสาวรัตนา ตัวแทนจากเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย ได้กล่าวในการแถลงข่าวสนับสนุนในนามภาคประชาสังคมไทย อันประกอบไปด้วยเครือข่ายผู้ป่วย เครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายเกษตรทางเลือก ชมรมแพทย์ชนบท ชมรมเภสัชชนบท นักวิชาการ และ องค์กรพัฒนาเอกชน สนับสนุนให้รัฐบาลโคลัมเบียประกาศซีแอลกับยาโลพินาเวียร์/ริโทรนาเวียร์ เพื่อทำให้การเข้าถึงยาของประชาชนชาวโคลัมเบียจะได้เป็นจริง

 

"จากประสบการณ์ตรงของประเทศไทย Abbott เป็นบริษัทยาที่มีพฤติกรรมที่ไม่เป็นมนุษย์มากที่สุดบริษัทหนึ่ง ดูได้จากการที่ Abbott ถอนการขึ้นทะเบียนยา 10 ตัวเพื่อแก้แค้นการทำซีแอลของประเทศไทย โดยไม่สนใจว่าผู้ป่วยจะได้รับความทุกข์ร้อนขนาดไหน มีพฤติกรรมจับผู้ป่วยเป็นตัวประกันเพื่อให้บริษัทได้กำไรสูงสุด

 

Abbott เป็นบริษัทยาที่ไม่เคยกระทำการใดที่ชี้ให้เห็นว่า Promise for Life ไม่เคยเพิ่มการเข้าถึงยา มีแต่ Promise for Profit ยอมลดราคาเองน้อยมาก แต่เมื่อประเทศไทยประกาศทำซีแอล Abbott จึงยอมลดราคาทั่วโลก จาก 2,100 ดอลลาร์ เหลือแค่ 1,000 ดอลลาร์ต่อปี แสดงว่า ทั้งที่จริงสามารถลดราคาได้นานแล้ว แต่ไม่ยอมลดราคา

 

ในฐานะภาคประชาสังคมไทย เราขอสนับสนุนการต่อสู้ของคนโคลัมเบียให้สามารถทำซีแอลได้ เพราะนี่เป็นหนทางสุดท้ายที่จะกระตุ้นบริษัทยาให้มีสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม แน่นอนว่าซีแอลไม่ได้คำตอบสุดท้ายของการเข้าถึงยา แต่เป็นจุดเริ่มต้นที่จำเป็น รัฐบาลโคลัมเบียต้องเลิกคุยใต้โต๊ะกับ Abbott แต่ต้องแสดงเจตจำนงค์ที่ชัดเจนว่าจะทำทุกอย่างให้ประชาชนเข้าถึงยา"

 

ด้านแมรี่ แครอล เจนนิ่ง ตัวแทนสมาคมนักศึกษาแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า "รัฐบาลโคลัมเบียต้องอยู่ข้างประชาชนไม่ใช่แอ๊บบอต จากประสบการณ์ของประเทศอื่นๆที่ได้ประกาศซีแอลก่อนหน้านี้ ชี้ให้เห็นว่า สามารถนำเข้ายาชื่อสามัญราคาถูกเข้ามาช่วยชีวิตผู้ป่วยได้"

 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคมที่ผ่านมา เครือข่ายภาคประชาสังคมในโคลัมเบียได้ยื่นเรื่องให้รัฐบาลประกาศบังคับใช้สิทธิโดยรัฐ เพื่อนำเข้ายาชื่อสามัญโลพินาเวียร์/ริโทรนาเวียร์จากอินเดีย โดยที่ก่อนหน้านี้เครือข่ายภาคประชาสังคมโคลัมเบียได้เคยพยายามเจรจาต่อรองราคายา และขอให้บริษัทแอ๊บบอตให้สิทธิโดยสมัครใจแล้ว แต่แอ๊บบอตเมินเฉยมาโดยตลอด

บริษัทแอ๊บบอตขายยาคาเรทตร้าให้กับภาครัฐโคลัมเบียในราคา 1,683 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อผู้ป่วยต่อปี ส่วนราคาขายสำหรับโรงพยาบาลเอกชนอยู่ที่ 4,449 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อผู้ป่วยต่อปี ขณะที่เปรูและโบลิเวียใช้ยาชื่อสามัญในราคาต่ำกว่า 800 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อผู้ป่วยต่อปีเท่านั้น สำหรับประเทศไทยเมื่อมีการประกาศซีแอลกับยาดังกล่าว องค์การเภสัชกรรมสามารถจัดซื้อยาจากบริษัทอินเดียในราคาต่ำกว่า 700 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อผู้ป่วยต่อปี

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท