Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

Peace for Burma


 


8 สิงหาคม 2008 วันที่ทั่วโลกจับตามองไปที่พิธีเปิดกีฬาโอลิมปิกที่ประเทศจีน ย้อนหลังไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ววันเดียวกัน ได้เกิดเหตุการณ์ที่ยิ่งใหญ่ไม่น้อยไปกว่าในประเทศจีนวันนี้ คือ เหตุการณ์ 8888 ในประเทศพม่า วันที่ประชาชนและพระสงฆ์ได้ออกมาชุมนุมอย่างสันติที่กรุงย่างกุ้งและตามเมืองใหญ่ทั่วประเทศ เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยจากรัฐบาลเผด็จการทหารของนายพลเนวินที่ปกครองประเทศมายาวนานถึง 26 ปี ในวันนั้นรัฐบาลทหารพม่าได้ส่งทหารพร้อมอาวุธครบมือออกมาปราบปรามผู้ชุมนุมและปฏิบัติการสังหารโหดอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาถึง 4 วัน จนมีผู้เสียชีวิตประมาณ 10,000 คน เหตุการณ์ครั้งนั้นจีนเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ไม่ยอมวิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์โหดเหี้ยมดังกล่าว  กระทั่งเหตุการณ์ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 กันยายน  2007 ที่รัฐบาลพม่าใช้กำลังปราบปรามพระสงฆ์และผู้ชุมนุมอย่างรุนแรงอีกครั้งหนึ่ง แต่รัฐบาลจีนก็มิได้ประณามการใช้กำลังกวาดล้างผู้ชุมนุมแต่อย่างใด รวมถึงยังยืนยันในนโยบายไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่นอีกด้วย


 


อะไรเล่าที่ทำให้จีนยังคงมั่นและยืนหยัดเคียงข้างรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าตลอด 20 ปีที่ผ่านมา


 


แท้ที่จริงแล้วความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลพม่ากับรัฐบาลจีนสามารถย้อนหลังขึ้นไปได้หลายทศวรรษ และสามารถชี้ได้ว่าความผูกพันระหว่างรัฐบาลพม่าและรัฐบาลจีนต่างเป็นหนึ่งของกันและกันเสมอมา ดูได้จากการที่พม่าเป็นประเทศแรกนอกค่ายคอมมิวนิสต์ที่ประกาศรับรองสาธารณรัฐประชาชนจีน ในปี 1949 , พม่าเป็นประเทศแรกที่ทำสนธิสัญญามิตรภาพ และไม่รุกรานกัน และปักปันชายแดนกับจีนเสร็จในปี 1961, พม่าเป็นประเทศแรกที่คงความสัมพันธ์กับจีนหลังการปฏิวัติใหญ่ทางวัฒนธรรมในปี 1977 สำหรับในปัจจุบันแล้ว 20 ปีที่ผ่านมาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่จีนได้จากการกอบโกยทรัพยากรของประเทศพม่า ดูจะเป็นคำตอบเชิงรูปธรรมของความสนิทแนบแน่นของทั้งสองประเทศได้เป็นอย่างดี


 



·   ตั้งแต่ปี 1988 เป็นต้นมาจวบจนปัจจุบัน รัฐบาลจีนได้ขายอาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหารให้แก่กองทัพพม่าซึ่งประกอบไปด้วยเครื่องบินรบ รถถัง และเรือรบ ทำให้กองทัพพม่ามีแสนยานุภาพเป็นที่สองของเอเชียอาคเนย์รองจากเวียดนาม สามารถขยายกำลังพลจาก 180,000 คน เป็น 480,000 คน ในปัจจุบันกองทัพพม่ามีขนาดเป็นอันดับ 10 ของโลก ใช้งบประมาณทางทหารอันดับที่ 15 ของโลกจาก 159 ประเทศ จีนเป็นพันธมิตรทางด้านกลาโหมที่สำคัญที่สุดของพม่า นอกจากการสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์แล้ว จีนยังฝึกอบรมบุคลากรให้แก่กองทัพพม่า รวมทั้งช่วยเหลือกองทัพเรือพม่าในการก่อสร้างฐานทัพเรือแห่งหนึ่งในอ่าวเบงกอล


·   ในปี 2002-2007 อย่างน้อยมีบริษัท 10 บริษัทภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลจีนได้เข้าไปมีบทบาทในโครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ในพม่ากว่า 20 โครงการ ซึ่งมีกำลังการผลิตกว่า 30,000 เมกะวัตต์ และมีมูลค่าการลงทุนกว่า 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างเขื่อนท่าซางขนาด 7,100 เมกะวัตต์ในแม่น้ำสาละวิน ซึ่งเมื่อโครงการนี้ก่อสร้างสำเร็จแล้วจะกลายเป็นเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียอาคเนย์ 


·   ในปี 2003-2004 ปริมาณการส่งออกไม้อย่างผิดกฎหมายจากป่าทางตอนเหนือของพม่าไปยังประเทศจีนมีปริมาณสูงถึง 800,000 ตัน โดย 98% ของทั้งหมดนั้นเป็นไปอย่างผิดกฎหมาย สถานการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อทรัพยากรป่าไม้ ระบบนิเวศน์ และวิถีชีวิตของชุมชนในพม่าที่ต้องพึ่งพาป่าไม้ซึ่งไม่ได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตในมิติใดๆจากบรรดาธุรกิจค้าไม้ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วนี้ 


·   ในปี 2007 จีนได้กลายคู่ค้าสำคัญอันดับสองของพม่า การค้าระหว่างสองประเทศมีมูลค่าถึง 2,057 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าคิดเป็นอัตราร้อยละ 40.9 จากข้อมูลของสำนักงานศุลกากรแห่งชาติของจีนในปี 2006 รายงานว่าการค้าระหว่างจีน-พม่ามีมูลค่าประมาณ 1,158 ล้านดอลลาร์


·   จีนได้ลงนามบันทึกความเข้าใจและข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับพม่ารวมทั้งสิ้นกว่า 200 ฉบับ


·   จีนมีผลประโยชน์ด้านก๊าซธรรมชาติและน้ำมันในพม่าอย่างมหาศาล ในปี 2007 จีนได้สิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการซื้อก๊าซธรรมชาติปริมาณมหาศาลในแหล่งชายฝั่งอ่าวเบงกอลของพม่าในแปลงสำรวจ A-1(Shwe Gas Project) กับ A-3 ปัจจุบันกำลังจะมีการสร้างท่อส่งก๊าซจากแหล่งนอกชายฝั่งรัฐยะไข่ (Rakhine) ของพม่าเข้าสู่มณฑลยูนนานของจีน รัฐบาลพม่าให้เหตุผลว่าจีนเป็นมหามิตรที่พร้อมจะสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือแก่รัฐบาลทหารพม่าในทุกๆ ด้านอย่างไม่มีเงื่อนไข


·   จีนได้เข้าไปทำโครงการ contract farming เพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจหลายชนิดในพม่า โดยเฉพาะการขยายพื้นที่ปลูกยางพาราในพม่า ซึ่งนำมาสู่การที่รัฐบาลทหารพม่าบังคับให้ประชาชนต้องอพยพโยกย้ายออกจากถิ่นฐานของตนเอง เพื่อนำพื้นที่ไปให้รัฐบาลจีนเพาะปลูกยางพารา


·   รัฐวิสาหกิจของพม่า 53 แห่งพัฒนาขึ้นมาได้ด้วยการสนับสนุนของจีน


·   จีนเป็นกระบอกเสียงให้กับพม่าในองค์การสหประชาชาติ (UN) และบนเวทีระหว่างประเทศในโอกาสต่างๆตลอดมา จีนเป็นหนึ่งในห้าสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ซึ่งมีเสียงวีโตชี้ขาดมาตรการแก้ปัญหาต่างๆในโลก เป็นผู้ปกป้องทางการทูตที่เหนียวแน่นที่สุดของรัฐบาลทหารพม่า


 


สำหรับประชาชนทั่วไปในพม่าแล้ว ยี่สิบปีที่ผ่านมาแห่งการกอบโกยผลประโยชน์จากประเทศจีน พบว่าประชาชนราว 75% ก็ยังตกอยู่ในฐานะยากจน ค่าจ้างขั้นต่ำตกเพียงวันละ 1,000 จ๊าต/คน(ประมาณ 25-30 บาท)เท่านั้น เงินที่หาได้ต่อเดือนราว 60-80% ต้องจ่ายไปเป็นค่าอาหาร พวกเขาไม่มีค่าใช้จ่ายเหลือเพียงพอสำหรับค่ายารักษาโรค ค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายทางสังคมอื่นๆ สำหรับสถานการณ์ทางการเมืองและประชาธิปไตยก็ยังมีการควบคุมตัวและจับกุมคุมขังนักการเมือง นักกิจกรรม และประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตย รวมทั้งยังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนชาวพม่าและชนกลุ่มชาติพันธุ์มาโดยตลอด ได้เกิดทาสรูปแบบใหม่ในนามของการบังคับใช้แรงงาน การประหารชีวิตอย่างเบ็ดเสร็จโดยปราศจากเหตุผลใดๆ รวมถึงการที่ทหารได้เข้าปล้นสะดมพืชผล เผาบ้านเรือน ขู่บังคับชาวบ้านทุกๆวัน


 


ในทางกลับกันเรากลับมองไม่เห็นความจริงใจ หรือความกระตือรือร้นใดๆ ที่จะมุ่งไปสู่การสร้างประชาธิปไตยในพม่าจากรัฐบาลจีน ซึ่งเป็นเสมือนประเทศเพื่อนบ้านที่มีบทบาทสำคัญต่อการต่อสู้ของประชาชนพม่า เราเห็นแต่เพียงผลประโยชน์ทางธุรกิจที่มักจะถูกเอ่ยในนามของผลประโยชน์ของชาติอยู่เสมอ การต่อสู้ทางการเมืองของประชาชนถูกบิดเบือนให้กลายเป็นการเมืองของผู้นำและเป็นเพียงเครื่องมือการต่อรองทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศเพียงเท่านั้น การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นต่อประเด็นพม่าที่ผ่านมานั้น เกิดขึ้นจากความร่วมมือร่วมใจของภาคประชาชนในการต่อสู้เรียกร้องเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอดมากกว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากผู้นำประเทศ


 


เราขอประณามรัฐบาลจีนต่อการเพิกเฉย นิ่งดูดาย และปล่อยให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่าซ้ำแล้วซ้ำเล่า


 


20 ปีที่ผ่านมา ยาวนานเกินไปเสียแล้วที่เราจะวอนขอความปราณีจากรัฐบาลจีนให้หยุดการกระทำดั่งที่ผ่านมา


 


20 ปีที่ผ่านมา ถึงเวลาของความสิ้นสุดต่อความอดกลั้นต่อการก่ออาชญากรรมของรัฐบาลจีน


 


นับแต่นี้ต่อไป หมดเวลาแห่งการเรียกร้องกับรัฐบาลที่ก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติแล้ว


 


20 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนไม่เคยเปิดตาออกมาสัมผัสความทุกข์ทรมานของประชาชนในพม่าและในโลกใบนี้แม้แต่น้อย


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net