Skip to main content
sharethis


เมื่อวันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา ในงานเทศกาลมหกรรมชนเผ่าแห่งประเทศไทย ซึ่งจัดขึ้นบริเวณหอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการจัดงานเสวนาเรื่อง "โลกาภิวัฒน์และนโยบายรัฐชาติที่มีผลกระทบต่อชนเผ่าพื้นเมือง" โดยมีตัวแทนชนเผ่าพื้นเมืองและนักวิชาการได้ออกพูดถึงปัญหาและผลกระทบทางด้านภาษาและอัตลักษณ์ของชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย


ดร.นรเศรษฐ์ พิสิฐพันพร จากสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า นโยบายรัฐได้มีส่วนทำให้ภาษาในประเทศไทยนั้นมีปัญหา โดยเฉพาะนโยบายในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ส่งผลกระทบเรื่องภาษาเป็นอย่างมาก


"ผลกระทบของความคิดเรื่องนโยบายภาษามันส่งผลมาถึงปัจจุบัน เขาไม่ใช้คำว่าเรื่องภาษา แต่ใช้คำว่านโยบายการจัดการศึกษาแห่งชาติแทน ที่การเรียนในราชอาณาจักรไทยนั้นใช้ภาษาไทยเป็นหลัก ในมิติแบบนี้ทำให้หลายๆ แห่งสูญเสียสิ่งที่มีอยู่ไป คือภาษาชุมชนของตนเอง"


ดร.นรเศรษฐ์ ยังได้หยิบงานวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้ศึกษาในปี 2546 ซึ่งพบว่าประเทศไทยมีภาษาไม่ต่ำกว่า 60 ภาษา ซึ่งนโยบายที่สอนภาษาไทยเป็นหลักนั้น ได้ส่งผลกระทบต่อภาษาท้องถิ่น โดยมี 14 ภาษากำลังย่ำแย่ ยกตัวอย่างเช่น ภาษาลัวะ ปัจจุบันมีคนพูดกันราว 5,000 คนเท่านั้น ภาษามาบรี เหลือเพียง 200 คน, ภาษาซาไก เหลือไม่เกิน 100 คน,ภาษาญัฮกุร มีคนพูดประมาณ 4,000 คน, ภาษาบิซู มีคนพูด 500 คน,ภาษามอแกนหรือมอแกลน มีคนพูดไม่เกิน 1,000 คน,ภาษาอุรักลาโว้ย มีคนพูดราว 4,000 คน เป็นต้น


ดร.นรเศรษฐ์ กล่าวอีกว่า ภาษาที่กำลังย่ำแย่อยู่นี้ เราปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นผลกระทบมาจากนโยบายการศึกษา แต่ในปัจจุบัน ไม่ใช่เกิดจากผลกระทบนโยบายการศึกษาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่นโยบายเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว การพัฒนาต่างๆ ก็มีส่วนทำให้ภาษาเหล่านี้กำลังจะหมดไปด้วย


"คำถามคือเราจะทำยังไงกับภาษาเหล่านี้ ผมเสนอว่านโยบายของภาษานั้นต้องชัดเจน ซึ่งมีนโยบายภาษาอย่างเดียวนั้นไม่พอ ต้องมีการระบุว่านโยบายภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต้องได้รับการยอมรับ ต้องระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ และมีการบรรจุในหลักสูตรการเรียนของโรงเรียน และต้องระบุว่าภาษาที่กำลังจะหายไป หรือวิกฤตต้องได้รับการดูแลอย่างพิเศษ"


ดร.นรเศรษฐ์ กล่าวสรุปในตอนท้ายว่า นอกจากจะต้องแก้ไขนโยบายรัฐ เพียงแค่เราระบุให้รัฐส่งเสริมภาษานั้นไม่เพียงพอ ต้องมีเงื่อนไขภายในที่ต้องมีการเรียนรู้ภาษาแม่หรือว่าภาษาของตัวเอง เพราะภาษาพวกนี้นั้นเราเรียกว่าเป็นการล้อมปราบ ถูกล้อมด้วยคนเหนือ คนลาว นอกจากนั้น ทุกๆ คนที่เป็นเจ้าของภาษา จะต้องร่วมกันคิดว่าเราจะทำอย่างไรเพื่อที่จะทำให้ภาษาเหล่านี้คงอยู่ต่อไปด้วย


ด้านอาจารย์ถนอม คงยิ้มละมัย ตัวแทนชาวบ้านไททรงดำ กล่าวว่าปัญหาของชนเผ่าพื้นเมือง ก็คือ ไม่ค่อยพูด ไม่กล้าแสดงออก ไม่อยากถ่ายทอดหรือสืบสานอัตลักษณ์ วัฒนธรรมของตนเอง ซึ่งปัจจุบัน ในเขตพื้นที่ดั้งเดิมของลาวโซ่ง เริ่มเปลี่ยนไป เมื่อเมืองเริ่มกลายเป็นเมืองอุตสาหกรรมไปแล้ว


"วิถีชีวิตที่อะไรๆ ที่เคยอยู่ก็หายไป ในพื้นที่ตอนนี้มีการเสียพื้นที่ของลาวโซ่ง เพราะกลายเป็นเมืองอุตสาหกรรม อะไรๆ เปลี่ยนหมด การเลี้ยงผีเปลี่ยนไป วิถีชีวิตเปลี่ยนไปจากการที่มีโรงงานเข้ามา คนหนุ่มสาวต้องเข้าโรงงานทุกๆ อย่างมีค่าใช้จ่าย มีมือถือเข้ามา นอกจากนั้นการท่องเที่ยวที่กำลังเข้ามาในชุมชน กลายเป็นว่าพวกเราก็เชื่อคนเหล่านี้ กลายเป็นการทำลายวัฒนธรรมของพวกเราไป"


ในขณะที่นายองค์ บรรจุน นักวิจัยอิสระชาวมอญ ตัวแทนชาวมอญในประเทศไทย ก็ได้ออกมาย้ำว่า ความเป็นมอญในประเทศไทยนั้นมีมานากว่าสองร้อยปี แต่มีกระบวนการทำลายที่เห็นได้ชัดคือการทำลายใน สมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งทำให้วัฒนธรรมของมอญหลายส่วนหายไป ซึ่งการที่ทางการไทยห้ามใช้ ภาษา แต่งกายนั้น เป็นการปฏิเสธความมีอยู่จริง เป็นการขัดความเป็นจริงของชีวิตในชุมชน เพราะคนมอญในชุมชนก็ยังใช้ภาษามอญในการพูดคุยกัน ตามวัดวาอารามก็ยังมีชื่อที่เป็นภาษามอญอยู่ 


"จอมพล ป. นั้นเกลียดความหลากหลาย ทั้งๆ ที่ตนเองก็เป็นมอญแถวนนทบุรีกับเป็นคนจีน นั่นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาเมื่อ 60 ปีที่ผ่านมาเมื่อครั้งที่ จอมพล ป. ยังมีอำนาจ และไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นอีกครั้งที่สมุทรสาคร เพราะว่าเมื่อเร็วๆ นี้ นายวีรยุทธ เอี่ยมอำพา ผู้ว่าราชการจังหวัด มีประกาศเมื่อวันที่ 26 มกราคมถึงสถานจัดหางานต่างๆ ที่มีแรงงานต่างด้าวเข้ามาจำนวนมาก ประกาศถึงชุมชนต่างด้าว ก่อให้เกิดปัญหากระทบเมื่อรวมตัวกันเป็นจำนวนมากทำให้เกิดปัญหาต่างๆ รวมทั้งการเผยแพร่วัฒนธรรมประเพณีของต่างด้าว ที่มีวัฒนธรรมที่ไม่เหมาะสม จะทำให้เกิดความไม่เหมาะสม ความมั่นคง ซึ่งถือว่าท่านเป็นตัวแทนของรัฐชาติ น่าแปลกที่ท่านก็มีเชื้อสายมอญ และจีนเหมือนกัน เหมือนกับจอมพล ป. มาก"


ตัวแทนชาวมอญ กล่าวอีกว่า สิ่งที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ประกาศออกมานั้นได้ส่งผลกระทบไม่เฉพาะแรงงานต่างด้าว แต่ว่าไปกระทบชุมชนมอญหลักดั้งเดิมที่มีชุมชนอายุกว่า 200 ปีไปด้วย เป็นการไปปิดกั้นอัตลักษณ์ของชาวมอญในวงกว้าง


"ซึ่งลำพังท่านก็ไม่มีสิทธิประกาศในลักษณะนี้ เพราะว่ามันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนสากล รัฐธรรมนูญหลักของประเทศ ที่ทุกคนมีสิทธิในการแสดงออกซึ่งวัฒนธรรมของตนเองโดยที่ไม่กระทบกับสิทธิของผู้อื่น"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net