Skip to main content
sharethis


 


 


เมื่อวันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีการจัดเสวนาทางวิชาการ ภาควิชาประวัติศาสตร์ โดย "ศ.สรัสวดี อ๋องตระกูล" หัวข้อ "ความก้าวหน้าของการศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนาในรอบร้อยปี"


 


"ประชาไท" เห็นว่าเป็นประเด็นเรื่องประวัติศาสตร์ชาติและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ที่น่าสนใจ จึงขอเรียบเรียงมานำเสนอโดยละเอียดดังนี้


 


 






 


"ประวัติศาสตร์ชาติที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ส่งผลต่อประวัติศาสตร์ท้องถิ่นตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นโดยการแบ่งสมัยตามประวัติศาสตร์ชาติมาแบ่งสมัยของตนเอง เช่น ศึกษาประวัติศาสตร์ของลำปางในสมัยสุโขทัย ศึกษาประวัติศาสตร์ของลำปางในสมัยอยุธยา ซึ่งเป็นการศึกษาประวัติศาสตร์ในแนวทางการศึกษาประวัติศาสตร์ชาติอย่างชัดเจน"


 


"รัฐบาลไทยเองมีความพยายามที่จะส่งเสริมประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในประวัติศาสตร์ชาติ เห็นได้ชัดเจนว่าตัวข้าราชการท้องถิ่นเองเป็นกลไกสำคัญของประวัติศาสตร์กระแสนี้ทั้งกระทรวงมหาดไทย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เป็นต้น"


 


"พระครูญาณลังการ์ ในงานเขียน "จดหมายเหตุนครเชียงใหม่" พระมหาอุ่น วัดเจดีย์หลวง และ ส.ธรรมยศ เป็นผู้ที่เกิดผิดยุคผิดสมัยอย่างมาก ถ้าหากท่านเกิดในยุคนี้ คงมีความสุขมากเพราะในปัจจุบันมีแนวร่วมมากมาย ส.ธรรมยศ ท่านก้าวหน้ามาก ท่านเคยมีคำพูดว่า "ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องของประชาชน" หมายความว่า "ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาไม่ใช่ประวัติศาสตร์แต่เป็นพงศวดาร  เป็นเรื่องของกษัตริย์และราชวงศ์"


 


"ช่วงที่สองหลัง 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 - ครบรอบ 700 ปี เชียงใหม่ พ.ศ.2539 มีการตื่นตัวศึกษาประวัติศาสตร์อย่างมากหลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516   มีการตื่นตัวทางความคิดสติปัญญา มีผู้สนใจประวัติศาสตร์มากขึ้นในสังคมไทยร่วมถึงการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นด้วย เป็นผลพวงมาจากข้อจำกัดในการศึกษาประวัติศาสตร์ไทย ที่เฉพาะเจาะจงพัฒนาการของรัฐไทยที่มีราชวงศ์และมีราชธานีของสยามประเทศเป็นสำคัญ ทอดทิ้งพื้นที่ท้องถิ่นทั่วประเทศไทยไม่มีพื้นที่ให้ศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในประวัติศาสตร์ไทยกระแสหลักเลย"  


 


"ช่วงที่ 3 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 - 2550 เป็นช่วงที่มีความเฟื่องฟูของการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นแนวใหม่ที่ไม่ได้อยู่ในกรอบของจารีตอย่างในสองช่วงที่ผ่านมา เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงเร็วมากจนกระทั่งการศึกษาประวัติศาสตร์ของรัฐในกรอบจารีตตามไม่ทัน และไม่สามารถที่จะให้คำตอบแก่สังคมไทยได้   ประวัติศาสตร์จึงต้องปรับตัวขนานใหญ่ ขณะเดียวกัน ประวัติศาสตร์ได้ถูกนำมาใช้เป็นพลังของชุมชนในการแก้วิกฤตการณ์ของชุมชน มีความคิดว่าประวัติศาสตร์สามารถกระตุ้นสำนึกเพื่อใช้แก้ปัญหาสังคมได้"


 


 


ความก้าวหน้าของการศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนาในรอบร้อยปี


 


การศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนา มีมานานตั้งแต่สมัยอาณาจักรล้านนา การศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนารูปแบบเดิมมีลักษณะที่เป็นจารีต มีเป้าหมาย วิธีคิดต่างจากการศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนาในช่วงสมัยใหม่   การศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนาจึงมีการเปลี่ยนแปลงอย่างสลับซับซ้อน


 


การศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนาในรอบร้อยปี(พ.ศ.2450-2550) แบ่งได้ 3 ช่วงด้วยกัน อย่างไรก็ตาม ก็มีความเลื่อมล้ำกันอยู่ในแต่ละช่วง


 


ช่วงแรก ตั้งแต่กำเนิดพงศาวดารโยนก พ.ศ.2450 - 14 ตุลาคม 2516


 


พงศาวดารโยนกเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนาสมัยใหม่ เป็นการศึกษาของ พระยาประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค) ซึ่งในส่วนตัวเห็นว่าท่านเป็นทั้งนักประวัติศาสตร์และนักภาษาศาสตร์    เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญภาษาท้องถิ่นอย่างดี พงศาวดารโยนกตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ.2450 เป็นหนังสือประวัติศาสตร์เล่มแรกที่เขียนในช่วงสมัยใหม่แต่เป็นประวัติศาสตร์ล้านนาที่มองผ่านรัฐไทย


 


ลักษณะของงานที่มีความก้าวหน้าล้ำสมัยมากในสมัยนั้น ลักษณะงานมีความชัดเจน สามารถแบ่งออกเป็น2 ส่วน ส่วนแรก เป็นความคิดเห็นเชิงวิพากษ์วิจารณ์หลักฐานต่างๆอย่างกว้างขวาง มีการใช้ทั้งเอกสารท้องถิ่นและเอกสารต่างชาติไม่น่าเชื่อว่า ในเวลานั้นท่านสามารถหาหนังสืออ้างอิงได้จำนวนมาก งานของท่านจึงมีความแตกต่างกับนักประวัติศาสตร์สมัยหลังที่นิยมใช้วิธีการพรรณนาวิเคราะห์  


 


ส่วนที่สอง เป็นเนื้อหาประวัติศาสตร์ที่แยกความเห็นของท่านออกจากส่วนที่เป็นเนื้อหาแต่มีเชิงอรรถอธิบาย งานของท่านจึงเหมือนกับว่ารักษาคุณภาพของตำนานอยู่ในตัวของตำนานเอง เนื้อหาบางส่วนมีการแก้ไข เช่น มีการใช้คำว่า "เม็งราย" แทนคำว่า "มังราย" ซึ่งแท้จริงคำว่า "เม็งราย"ไม่มีในคัมภีร์ใบลานหรือ "เวียงป่าซาง" แทนคำว่า "เวียงป่าช้าง" อย่างไรก็ตาม ในเวลานั้นคนในท้องถิ่นภาคเหนือยังไม่มีความพร้อมที่รับวิธีคิดวิธีการของท่านมาใช้ในงานเขียนประวัติศาสตร์ของตนเอง ดังนั้นงานเขียนของท่านจึงถูกทิ้งไว้ ไม่ได้นำมาใช้อย่างกว้างขวางนัก   


 


ในงานเขียนของท่านหยุดเขียนประวัติศาสตร์ล้านนาไว้ที่ปี พ.ศ.2418 ถ้ามองบริบทของภาคเหนือในเวลานั้นจะเห็นว่าการศึกษาสมัยใหม่ยังไม่เกิดขึ้นมากมายนัก ก่อนปี พ.ศ.2516 พื้นฐานความรู้เป็นแบบปฐมและมัธยม การศึกษาในระดับอุดมศึกษายังไม่มี การคมนาคมการสื่อสารยังลำบากมาก  อย่างไรก็ตามโดยส่วนตัวเชื่อว่า การศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนาในเวลานั้นไม่ได้มีแนวทางเดียว แต่มี 3 แนวทางด้วยกัน  


 


แนวทางแรก : การเขียนประวัติศาสตร์แบบตำนาน  


เป็นกลุ่มที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆเป็นการศึกษาที่รับความคิดใหม่ไม่ได้   ยังใช้จารีตแบบเดิม   เปลี่ยนวิธีเขียนจากตำนานของพระภิกษุที่เขียนเป็นตัวเมืองแต่เขียนเป็นภาษาปัจจุบัน กรอบความคิดจึงเป็นแบบเดิม ทุกวันนี้ แนวจารีตท้องถิ่นก็ยังไม่หมดไป มีจำนวนไม่น้อยที่เห็นว่า "ลานนา" จะเป็น "ล้านนา" ไม่ได้


 


แนวทางที่สอง : ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่ได้รับอิทธิพลจากกรอบวิธีคิดจากประวัติศาสตร์ชาติ


ประวัติศาสตร์ชาติที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ส่งผลต่อประวัติศาสตร์ท้องถิ่นตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นโดยการแบ่งสมัยตามประวัติศาสตร์ชาติมาแบ่งสมัยของตนเอง เช่น ศึกษาประวัติศาสตร์ของลำปางในสมัยสุโขทัย   ศึกษาประวัติศาสตร์ของลำปางในสมัยอยุธยา   ซึ่งเป็นการศึกษาประวัติศาสตร์ในแนวทางการศึกษาประวัติศาสตร์ชาติอย่างชัดเจน   


 


รัฐบาลไทยเองก็มีความพยายามที่จะส่งเสริมประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในประวัติศาสตร์ชาติ เห็นได้ชัดเจนว่าตัวข้าราชการท้องถิ่นเองเป็นกลไกสำคัญของประวัติศาสตร์กระแสนี้ทั้งกระทรวงมหาดไทย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เป็นต้น


 


แนวทางที่สาม : มิติท้องถิ่น


เป็นการศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนาที่เป็นตัวตนของตนเอง มีการแสวงหาลักษณะเฉพาะของประวัติศาสตร์ล้านนา มองว่าประวัติศาสตร์ล้านนามีความเป็นอิสระมีตัวตนของตนเอง เป็นการศึกษาอย่างมีความภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตนเองมาก ไม่ได้มองว่า ล้านนาเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ชาติ โดยมองล้านนาเป็นแกนหลักและปฏิสัมพันธ์ที่มีกับรัฐไทย


 


เช่น พระครูญาณลังการ์ ในงานเขียน "จดหมายเหตุนครเชียงใหม่" พระมหาอุ่น วัดเจดีย์หลวง และ ส.ธรรมยศ เป็นผู้ที่เกิดผิดยุคผิดสมัยอย่างมาก ถ้าหากท่านเกิดในยุคนี้ คงมีความสุขมากเพราะในปัจจุบันมีแนวร่วมมากมาย ส.ธรรมยศ ท่านก้าวหน้ามาก ท่านเคยมีคำพูดว่า "ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องของประชาชน"   หมายความว่า "ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาไม่ใช่ประวัติศาสตร์แต่เป็นพงศวดาร   เป็นเรื่องของกษัตริย์และราชวงศ์"   


 


และยังมีคุณบุญช่วย ศรีสวัสดิ์ ในงานเรื่อง "30 ชาติในเขียงราย" ถือว่าท่านเป็นนักชาติพันธ์วิทยาคนแรก ซึ่งท่านก็เป็นคนที่ทำงานด้วยใจรัก  สามารถเก็บข้อมูลได้แม้จะยากลำบาก และอีกคนหนึ่งซึ่งมีผลงานในลักษณะสารคดีและนวนิยายคือ อ.ไชยวรศิลป์ ท่านสามารถสร้างภาพล้านนาได้น่าหลงใหลมากๆ


 


งานของอีกท่านหนึ่งก็คือ คุณสงวน โชติสุขรัตน์ งานบางชิ้นของท่าน ก็แสดงตัวตนของความเป็นคนท้องถิ่นในมิติท้องถิ่นอยู่ไม่น้อย การศึกษาประวัติศาสตร์ในช่วงเวลานี้มีลักษณะเป็นวิชาการกึ่งสารคดี    เคยมีนักวิชาการท่านหนึ่งให้ความเห็นไว้ว่า "จนกระทั้งถึงปี 2516 ยังไม่ใครเลยในภาคเหนือที่ได้ชื่อว่าเป็นนักประวัติศาสตร์อย่างแท้จริง"  


 


กระทั่งปี พ.ศ.2510 ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีการจัดสัมมนาในหัวข้อ "ประวัติศาสตร์และโบราณคดี" เพราะเวลานั้นการศึกษาประวัติศาสตร์ต้องทำควบคู่กับโบราณคดี   ประวัติศาสตร์ยังไม่ได้มีลักษณะของสังคมศาสตร์อย่างในเวลานี้ นักประวัติศาสตร์จึงต้องมีความรู้ทางด้านโบราณคดีและอาจจะต้องมีความรู้ด้านภาษาท้องถิ่นด้วย แต่นักวิชาการที่มีผลงานที่โดดเด่นในเวลานั้นส่วนใหญ่มาจากกรุงเทพฯ ที่มีความสนใจประวัติศาสตร์ไทยควบคู่กับประวัติศาสตร์ล้านนา จึงไม่มีใครทุ่มเทศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนาโดยไม่มีประวัติศาสตร์ไทยอยู่ร่วมด้วย มีผลงานด้านประวัติศาสตร์ไทยเป็นส่วนใหญ่ประวัติศาสตร์ล้านนาจึงเป็นส่วนน้อยที่แทรกตัวอยู่


 


ช่วงที่ 2 หลัง 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 - ครบรอบ 700 ปี เชียงใหม่ พ.ศ.2539


 


มีการตื่นตัวศึกษาประวัติศาสตร์อย่างมากหลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516   มีการตื่นตัวทางความคิดสติปัญญา มีผู้สนใจประวัติศาสตร์มากขึ้นในสังคมไทยร่วมถึงการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นด้วย   เป็นผลพวงมาจากข้อจำกัดในการศึกษาประวัติศาสตร์ไทย ที่เฉพาะเจาะจงพัฒนาการของรัฐไทยที่มีราชวงศ์และมีราชธานีของสยามประเทศเป็นสำคัญ ทอดทิ้งพื้นที่ท้องถิ่นทั่วประเทศไทยไม่มีพื้นที่ให้ศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในประวัติศาสตร์ไทยกระแสหลักเลย  


 


นักวิชาการส่วนใหญ่มีความเห็นว่าควรเลิกที่จะศึกษาประวัติศาสตร์ในแนวของรัฐราชสมบัติได้แล้ว  ประวัติศาสตร์ต้องเป็นประวัติศาสตร์ของสามัญชน ส่วนนี้เป็นการทำงานอย่าหนักของ "อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์" ท่านได้เปิดประเด็นไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2521 การศึกษาประวัติศาสตร์ในช่วงหลัง 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 มีความชัดเจนในการใช้หลักฐานจัดเป็นช่วงเวลา มีการแสวงหาหลักฐานเพิ่มเติมมากมาย มีงานแปลจากหลักฐานต่างๆมากขึ้น 


 


ส่วนการวิจัยนั้น ชัดเจนว่าทำไปตามหลักการของวิชาประวัติศาสตร์ จากแต่เดิมที่มีผู้รู้ท้องถิ่นทำงานกัน   ส่วนใหญ่แล้วคนที่ทำการศึกษาประวัติศาสตร์จะใช้แหล่งข้อมูลซ้ำๆกันคือที่ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จึงเปรียบเหมือนกับมหาวิทยาลัยที่ต่อยอด มีข้อสังเกตคือวิทยานิพนธ์ส่วนใหญ่มีหัวข้อเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง


 


ยุคที่มีคนสนใจมากอยู่ในสมัยของรัชกาลที่ 5 ยังไม่มีผู้ใดสนใจที่จะศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนาในทศวรรษ 2500 เป็นต้นมา จนกระทั้งถึงปี 2540 และจากปรากฏการณ์ "ครบรอบ 700 ปี เมืองเชียงใหม่"ในปี พ.ศ. 2539 มีการประชุมเพื่อที่จะทำกิจกรรมหลายๆอย่างเพื่อที่จะระลึกถึง "ครบรอบ 700 ปี เมืองเชียงใหม่"  ทั้งที่กรุงเทพฯและเชียงใหม่


 


สรุปแล้วในช่วง 23 ปี ที่กล่าวมามี 2 แนวทาง ที่มีอยู่ในการศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนา คือ แนวทางที่หนึ่งประวัติศาสตร์ชาติล้านนา ให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์ล้านนาในเรื่องของรัฐล้านนา เป็นเรื่องของชนชั้นสูงที่อยู่ข้างบนกับรัฐและราชวงศ์โดยมีความยิ่งใหญ่ของรัฐล้านนาเป็นตัวผลักดันความคิด มีความพยายามที่จะชี้ให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองของล้านนา


 


แนวทางที่สองประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่อยู่ภายใต้ประวัติศาสตร์ชาติ มีงานลักษณะนี้ปรากฏอยู่ทั้งจากผู้รู้ท้องถิ่น จากหน่วยงานของรัฐเองเช่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เป็นต้น


 


ช่วงที่ 3 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 - 2550


 


เป็นช่วงที่มีความเฟื่องฟูของการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นแนวใหม่ที่ไม่ได้อยู่ในกรอบของจารีตอย่างในสองช่วงที่ผ่านมา เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงเร็วมากจนกระทั่งการศึกษาประวัติศาสตร์ของรัฐในกรอบจารีตตามไม่ทัน และไม่สามารถที่จะให้คำตอบแก่สังคมไทยได้   ประวัติศาสตร์จึงต้องปรับตัวขนานใหญ่ ขณะเดียวกัน ประวัติศาสตร์ได้ถูกนำมาใช้เป็นพลังของชุมชนในการแก้วิกฤตการณ์ของชุมชน มีความคิดว่าประวัติศาสตร์สามารถกระตุ้นสำนึกเพื่อใช้แก้ปัญหาสังคมได้


 


การศึกษาประวัติศาสตร์ จึงขยายตัวอย่างกว้างขวางมีทั้ง นักวิชาการ, NGOs, ชาวบ้าน โดยมีแหล่งทุนสนับสนุนและยังมีบทบาทกำหนดทิศทางของงานวิจัยอยู่ไม่น้อย ตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่น


 


1.โครงการของสำนักประวัติศาสตร์สถิติ ของ อ.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และคณะ


 


2.โครงการวิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่น 4 ภาค โดยมี อ.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ เป็นผู้ประสานงานภาคเหนือ  


โดยมีแนวคิดว่าตัวประวัติศาสตร์ชาตินั้นครอบงำประวัติศาสตร์ชุมชน ดังนั้น จึงควรคืนประวัติศาสตร์ให้แก่ชุมชน และให้ชุมชนได้สร้างประวัติศาสตร์ของตนเองขึ้นมา จึงเป็นงานที่มีความสำคัญเป็นการสร้างองค์ความรู้ขึ้นมาในชุมชน


 


3.โครงการโบราณคดีชุมชน โดย อ.สายันต์ ไพรชาญจิตร์ โดยมีความคิดว่าชุมชนควรเป็นเจ้าของสมบัติทางโบราณคดี   เป็นงานที่สร้างองค์ความรู้ทำให้ชุมชนเกินความเข้มแข็งได้อย่างชัดเจน    มีการคุดค้นสร้างให้เป็นแหล่งเรียนรู้   สร้างให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเกิดประโยชน์กับชุมชนโดยตรง   ชาวบ้านหลายคนกลายเป็นวิทยากรประจำชุมชน


 


4.โครงการวิจัยประวัติศาสตร์ชุมชนโดยคนใน  เป็นรูปแบบของการศึกษาประวัติศาสตร์ใหม่ที่สุด   ทำการศึกษาประวัติศาสตร์ของชุมชนโดยใช้คนในชุมชนอย่างแท้จริง  แหล่งทุนที่ให้ส่วนใหญ่มีจุดประสงค์เพื่อกระตุ้นพลังในชุมชนเป็นสำคัญ การสร้างองค์ความรู้เป็นเป้าหมายรองลงมา                 


 


สิ่งที่เกิดขึ้นในการศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนาในรอบร้อยปี จึงมีการผลิตงานที่หลากหลาย การศึกษาประวัติศาสตร์กระแสเดิมยังคงมีอยู่  อย่างไรก็ตามไม่มีงานประวัติศาสตร์แนวใดที่ไม่มีข้อจำกัด ในอนาคตคิดว่า น่าจะมีการศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชนมากขึ้น หวังว่าการศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชนพัฒนาต่อไป.


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net