Skip to main content
sharethis

วันนี้ (19 ส.ค.51) เมื่อเวลา 09.30 น. ณ อาคารศาลปกครองสูงสุด เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ ศาลปกครองสูงสุดได้นัดพิจารณาคดีครั้งแรก ใน 6 คดี หลังจากมีการยื่นอุทธรณ์ กรณีชาวบ้านลุ่มน้ำลำพะเนียง ฟ้องกรมชลประทานฐานเป็นเจ้าหน้าที่รัฐทำการละเมิด โดยใช้อำนาจหน้าที่ ในโครงการการขุดขยายลำน้ำลำพะเนียงในพื้นที่ อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู


 


เนื่องมาจากโครงการขุดลอกลำน้ำลำพะเนียง ระยะเร่งด่วน ระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร (ความยาวลำน้ำ 150 กิโลเมตร) โดยกรมชลประทาน ซึ่งดำเนินการในปี 2546 -2550 ได้ทำให้ความกว้างลำน้ำตามธรรมชาติเฉลี่ยประมาณ  7-10 เมตร ถูกขยายออกข้างละ 35 เมตร อีกทั้งทำคันดินเลียบลำน้ำฝั่งละ 6 เมตร (รวมหลังขุดขยายแม่น้ำกว้างกว่า 82 เมตร) โดยไม่มีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และทำชาวบ้านสูญเสียที่ดินไม่ได้รับค่าชดเชย โดยอ้างว่าชาวบ้านได้ยินยอมยกที่ดินให้ดำเนินการโดยไม่ขอรับค่าชดเชยใดๆ


 


ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากการถูกละเมิดสิทธิในที่ดินทำกิน 5 ตำบล (ต.หนองสวรรค์ ต.หนองหว้า ต.โพธิ์ชัย ต.หนองบัว และ ต.บ้านขาม) 12 หมู่บ้าน ในพื้นที่ อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู จึงได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง จ.ขอนแก่น ในระหว่างปี 2548-2550 ทั้งหมด 148 คดี ศาลปกครองขอนแก่นรับฟ้อง 139 คดี และพิพากษาแล้ว 29 โดยให้กรมชลประทานต้องชดเชยความเสียหายแก่ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของชาวบ้าน ซึ่งทุกคดีกรมชลประทานได้อุทธรณ์และอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด


 


ทั้งนี้ 6 คดี ที่พิจารณาในวันนี้ ประกอบด้วย 1.คดีดำเลขที่ อ.845/2550 นายสพรั่ง ขุริมนต์ บ้านธาตุหาญเทาว์ ต.บ้านขาม 2.คดีดำเลขที่ อ.123/2551 นางม้วน พิมพ์คด บ้านวังน้ำขาว ต.หนองบัว 3.คดีดำเลขที่ อ.125/2551 นายนันทชัย แหม่งปัง บ้านวังน้ำขาว ต.หนองบัว 4.คดีดำเลขที่ อ.224/2551 นางสาวสุภาภรณ์ ขุริมนต์ บ้านหมากเลื่อม ต.ลำภู 5.คดีดำเลขที่ อ.237/2551 นางปัง กับโก ผู้จัดการมรดกนายสมหวัง กับโก บ้านวังน้ำขาว ต.หนองบัว 6.คดีดำเลขที่ อ.327/2551 นางจอมศรี อ่อนฤกษ์ บ้านวังน้ำขาว ต.หนองบัว


 


โดยโจทก์ทั้ง 6 คน มาร่วมฟังการพิจารณาคดีพร้อมหน้า ส่วนโครงการชลประทานหนองบัวลำภูเป็นจำเลยที่ 1 และกรมชลประทานเป็นจำเลยที่ 2 ไม่ได้เข้าร่วมฟังการพิจารณาคดี


 


ในการพิจารณาคดี นายสพรั่ง ขุริมนต์ โจทก์ในคดี ได้แถลงด้วยวาจาต่อหน้าศาลเพิ่มเติมจากเอกสารคำแถลงที่ได้ยื่นต่อศาลไว้แล้ว เกี่ยวกับปัญหาในการใช้น้ำ ปัญหาการสูญเสียที่ดิน และประโยชน์ที่ไม่เป็นจริงของการถมคันดินเพื่อทำถนนริมน้ำ นอกจากนั้นยังขอให้มีการลงไปตรวจสอบดูสภาพพื้นที่ปัญญาจริงๆ ของชาวบ้าน เพื่อประกอบการตัดสินคดี


 


จากนั้น ตุลาการผู้แถลงคดีได้อ่านรายงานกระบวนการพิจารณาของทั้ง 6 คดีและมีการลงรายมือชื่อรับรอง โดยแจ้งว่าจะมีการประชุมองค์คณะตุลาการผู้วินิจฉัยคดี และจะมีการแจ้งนัดเพื่อฟังคำพิพากษาคดีที่ศาล ศาลปกครอง จ.ขอนแก่น อีกครั้ง


 


นางจอมศรี อ่อนฤกษ์  ชาวบ้านวังน้ำขาว วัย 62 ปี หนึ่งในผู้ฟ้องคดี กล่าวภายหลังรับฟังการพิจารณาคดีว่า การยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองในครั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นการอุทธรณ์ของชาวบ้านเนื่องจากค่าชดเชยไม่เป็นธรรมกับความเสียหาย ขณะที่กรมชลประทานเองก็ได้อุทธรณ์ในทุกคดี เพื่อขอให้ศาลยกฟ้องหรือขอลดค่าชดเชยให้ต่ำลงจากเฉลี่ย ตารางวาละ 100 บาท เป็นเฉลี่ย ตารางวาละ 50 บาท ซึ่งการที่กรมชลประทานทำเช่นนี้ถือว่าเป็นการละเมิด และขูดรีดประชาชนมากจนเกินไปหรือไม่


 


นางจอมศรี ยังกล่าวอีกว่า ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ กรมชลประทานไม่ได้พูดความจริงเรื่องที่ชาวบ้านจะได้รับผลกระทบมากมายขนาดนี้ ไม่ได้บอกว่าไม่มีเงินชดเชย รวมทั้งไม่ได้พูดเรื่องว่าจะขอบริจาค แต่เมื่อมาถึงขั้นพิจารณาคดีในชั้นศาล เอกสารของทางกรมชลประทานกลับบอกว่าชาวบ้านไม่ให้ความร่วมมือกับรัฐ ไม่ให้ความร่วมมือกับสังคม ทั้งที่ผ่านมาชาวบ้านก็ได้บริจาคที่ดินเพื่อสาธารณะประโยชน์กันมามากมายแล้ว จะเหลือก็แต่ที่นาไว้ทำกินเท่านั้น


 


"คนรวยก็รวยเอา รวยเอา แล้วจะมาเอาอะไรกับคนจนอีก" แม่เฒ่าวัย 62 ปีกล่าว


 


นางจอมศรี กล่าวต่อว่า ชาวบ้านกว่า 10 คนที่มาฟังการพิจารณาคดีวันนี้คาดหวังว่าจะได้ฟังคำพิจารณาคดีของศาล แม้จะยังไม่ใช่คำพิพากษาแต่ชาวบ้านทั้งคนที่มาฟังและคนที่รออยู่ในพื้นที่ ต่างก็ตั้งตาคอยและลุ้นว่าแนวทางคดีนั้นจะออกมาเป็นอย่างไร เพราะชาวบ้านได้ฝากความหวังไว้กับศาลปกครองแล้ว แต่ศาลไม่ได้อ่านคำพิจารณาคดี ก็ทำให้รู้สึกผิดหวัง


 


"เราเป็นราษฎร เราก็หวังพึ่งรัฐ ถ้าไม่พึ่งรัฐแล้วเราจะไปพึ่งใคร อยากให้รัฐให้ความเป็นธรรมกับเราหน่อย" นางจอมศรีกล่าว


 


นายสพรั่ง ขุริมนต์ ชาวบ้านบ้านธาตุหาญเทาว์ ผู้ฟ้องคดีอีกคนหนึ่งกล่าวว่า โครงการขุดลอกลำพะเนียงเป็นการกระทำเพื่อเอื้อประโยชน์ให้นายทุน เอารัดเอาเปรียบคนจน และชาวนาเองไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการสูญเสีย ทั้งนี้ชาวบ้านที่ฟ้องคดีส่วนใหญ่เองก็ยังไม่รู้ว่าโครงการดังกล่าวจะมาทำลายวิถีชีวิตของพวกเขาในระยะยาว เพราะการการขุดขายลำพะเนียงเป็นส่วนหนึ่งของโครงการผันน้ำโขง ซึ่งเมื่อนำมารวมกับแนวคิดเรื่องกฎหมายน้ำ ที่เกษตรกรต้องเสียเงินซื้อน้ำเพื่อใช้ในการเกษตร เพราะการผันน้ำทำให้การใช้น้ำมีต้นทุน ยิ่งเป็นสิ่งที่น่าหวาดกลัว


 


ในส่วนการต่อสู้ของชาวบ้านต่อโครงการผันน้ำโขงซึ่งเป็นโครงการใหญ่ระดับชาติ นายสพรั่ง กล่าวว่า การต่อสู้ของคนคนเดียวคงทำไม่ได้ ต้องทำให้ประชาชนส่วนมากเห็นคุณค่าของทรัพยากรณ์ธรรมชาติและเข้ามาร่วมกัน ซึ่งที่ผ่านมาชาวบ้านลำพะเนียงก็ได้ใช้พื้นที่ติดลำน้ำในการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นพลังงานจากไม้ฟืนริมตลิ่ง อาหาร พืชผัก ผลไม้ เผือกมัน ต่างๆ หากปล่อยให้โครงการตรงนี้ทำสำเร็จทุกอย่างที่ชาวบ้านเคยมีก็จะหายไปหมด


 


อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวก็ได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งในพื้นที่ขึ้นแล้วแม้จะไม่ถึงขั้นรุนแรง เพราะชาวบ้านที่มีที่ดินอยู่ห่างจากลำน้ำต่างมีความหวังจะได้ใช้น้ำจากการชลประทานเพื่อการเกษตรหากโครงการนี้สำเร็จ


 


อนึ่ง โครงการขุดลอกลำพะเนียงดังกล่าว ถูกจับตามมองจากองค์กรพัฒนาเอกชนและชาวบ้านในพื้นที่ เพราะลำพะเนียงเป็นลำน้ำสายหนึ่งที่ถูกขุดลอกเพื่อเตรียมการรองรับโครงการผันน้ำโขง - น้ำเลย - ลำพะเนียง - เขื่อนอุบลรัตน์ รวมทั้งโครงการผันน้ำโขง - ห้วงโมง - ลำพะเนียง - อุบลรัตน์ ตามโครงการก่อสร้างระบบชลประทานในโครงการผันน้ำเลย-ชี-มูล และปากชม - เขื่อนอุบลรัตน์ ซึ่งรัฐบาลได้มีมติครม.อนุมัติให้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมไปเมื่อวันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยหวั่นเกรงว่าจะส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาการจัดการน้ำภาคอีสานในวงกว้าง


 


 ........................................................


อ่านเพิ่มเติม


 


"ลำพะเนียง" ลำน้ำที่กำลังจะถูกเปลี่ยน


ข่าวประชาธรรม : ขุดลอก "ลำพะเนียง" ความล้มเหลวซ้ำซากในการจัดการน้ำ


กลุ่มอนุรักษ์ฯลำพะเนียง รุก "ชาวบ้านต้องได้รับข้อมูลและมีส่วนร่วม"


จักรภพรุดดูลำพะเนียง รับเกิดปัญหาจริง


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net