Skip to main content
sharethis

กรณีบริษัท บอดี้แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งผลิตชุดชั้นใน และชุดว่ายน้ำ ยี่ห้อไทรอัมพ์ วาเลเซีย สลอคกี้ AMO อาศัยอำนาจศาลที่อนุญาตเลิกจ้าง น.ส.จิตรา คชเดช ประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) โดยให้ให้เหตุผลว่า น.ส.จิตราสวมเสื้อที่พิมพ์ข้อความ "ไม่ยืนไม่ใช่อาชญากร คิดต่างไม่ใช่อาชญากรรม" ออกรายการ "กรองสถานการณ์" ช่องเอ็นบีที ในหัวข้อ "ทำท้อง...ทำแท้ง" เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2551 ทำให้บริษัทเสียชื่อเสียง


 


จนทำให้พนักงานซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ทำการผละงาน ตั้งแต่วันที่ 30 ก.ค. เพื่อเรียกร้องให้บริษัทรับ น.ส.จิตรา กลับเข้าทำงานนั้น


 



 



บันทึกผลการหารือ 3 ฝ่าย เมื่อ 20 ส.ค. ที่ผ่านมา ที่กระทรวงแรงงาน


 


 


หารือ 3 ฝ่าย บริษัทยอมรับ "น.ส.จิตรา-พนักงาน" กลับเข้าทำงาน


สำหรับสถานการณ์ล่าสุดนั้น เมื่อวันที่ 20 ส.ค. เวลา 11.30-14.00 น. ที่สำนักแรงงานสัมพันธ์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ผู้แทนบริษัทบอดี้ แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ไทรอัมพ์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ได้หารือกับผู้แทนสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย เพื่อแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งระหว่าง โดยมีนายไพศาล ลือพืช เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุม และมีนายอาทิตย์ อิสโม รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ผู้อำนวยการสำนักงานสัมพันธ์สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานร่วมประชุมด้วย


 


โดยผลหารือได้แก่ 1.บริษัทฯ รับข้อเสนอเพื่อยุติปัญหา โดยคงหลักการที่ให้ลูกจ้างที่ไม่เข้าทำงาน กลับเข้าทำงานตามเดิม โดยบริษัทฯ ไม่เอาโทษทางวินัย หรือ ความผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญา ส่วนกรณี น.ส.จิตรา คชเดช บริษัทฯ รับข้อเสนอรับเข้าทำงานกับบริษัทไทรอัมพ์ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย (จำกัด) สาขาถนนเทพารักษ์ ในระดับตำแหน่งไม่ต่ำกว่าเดิม เงินเดือนค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดิม และนับอายุงานต่อเนื่อง ตลอดจนไม่มีการดำเนินคดีทางแพ่งและอาญากับ น.ส.จิตรา ตามที่เจ้าหน้าที่ฯ เสนอ


 


2.ผู้แทนสหภาพฯ รับทราบข้อเสนอของทางบริษัทฯ และเสนอขอให้บริษัทฯ พิจารณาค่าจ้างระหว่างที่ลูกจ้างไม่ทำงาน 3.ผู้แทนบริษัทฯ แจ้งว่าไม่สามารถจ่ายค่าจ้างตามข้อเสนอ และนัดเจรจาครั้งต่อไปในวันที่ 21 ส.ค. 2551 เวลา 10.00 น. สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.สมุทรปราการ โดยในท้ายบันทึกได้มีการลงนามทั้งฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายสหภาพแรงงาน และฝ่ายข้าราชการ


 


 



 


 


 



 



พนักงานอีกกลุ่มหนึ่งสวมเสื้อเหลืองออกมาชุมนุมคัดค้านไม่ให้บริษัทรับ น.ส.จิตรา คชเดช ประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนล กลับเข้าทำงาน


 


พนักงานเสื้อเหลืองชุมนุมค้านรับจิตรา ผู้บริหารขานรับ ผลเจรจาแค่ "ข่าวลือ"


อย่างไรก็ตาม เมื่อวานนี้ (21 ส.ค.) เวลาประมาณ  7 โมงเช้า ผู้บริหารกลุ่มหนึ่ง หัวหน้างานที่ไม่ใช่สมาชิกสหภาพ พนักงานออฟฟิศ และพนักงานฝ่ายผลิตที่เข้าทำงานประมาณ 400 คน สวมใส่เสื้อเหลืองและมารวมตัวกันภายในบริเวณโรงงานหันหน้ามาทางพนักงานที่กำลังผละงานด้านนอก โดยพนักงานที่สวมเสื้อเหลืองนี้ ได้นำป้ายข้อความ "พวกเราชาวไทรอัมพ์ พวกเรารักและเคารพในหลวง" มาแขวนไว้ที่ประตูด้านหน้า พร้อมกับนำพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถมาตั้งด้านหน้า และส่วนหนึ่งนำพระบรมฉายาลักษณ์มาติดกับปลายไม้ โดยมีการเปิดเพลงปลุกใจสลับกับกับการปราศรัยคัดค้านการรับ น.ส.จิตรา กลับเข้าทำงาน


 


ผู้ชุมนุมภายนอกต่างพากันกล่าวว่า "ไม่สบายใจและรับไม่ได้ที่ทางบริษัทนำเอาสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นเครื่องมือแบบนี้"


 


ต่อมา นายแคนเนต หลุย มาแชล กรรมการผู้จัดการบริษัทไทรอัมพ์ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวกับผู้ชุมนุมว่า สิ่งที่ทางสหภาพชี้แจงต่อผู้ชุมนุมด้านนอกเมื่อวาน (20 ส.ค.) ไม่เป็นความจริง เป็นข่าวลือ จึงเลื่อนการประชุมไปเป็นวันพรุ่งนี้ (22 ส.ค.51) และกล่าวอีกว่าวันนี้จะมีผู้บริหารระดับสูงจากต่างประเทศบินมาพบกับผู้ชุมนุมด้านในโรงงาน


 


ต่อจากนั้นตัวแทนผู้ชุมนุมด้านในโรงงาน ได้กล่าวแสดงจุดยืนว่า "1.ไม่เอาจิตรา 2.ไม่ให้จ่ายค่าจ้างผู้ที่ชุมนุมด้านนอก และ 3.ให้ทางบริษัทกำหนดเส้นตายว่าหากผู้ชุมนุมด้านนอกไม่กลับมา ให้บริษัทลอยแพ"


 


 


สหภาพยันตกลงกับบริษัทแล้ว เตือนทำบิดพลิ้วระวังเสียเครดิตคู่ค้า


ส่วนทางตัวแทนเจรจาของสหภาพกล่าวยืนยันว่า เมื่อวาน (20 ส.ค.) ระหว่างการเจรจาทางสหภาพแรงงานกับทางบริษัท ได้มีข้อตกลง 3 ข้อข้างต้น และว่าวันนี้ (21 ส.ค.51) เวลา 10.00 น. จะมีการคุยรายละเอียดและทำข้อตกลงกันที่แรงงานจังหวัดสมุทรปราการ จึงมีบันทึกการเจรจาและลงลายมือชื่อร่วมกันทั้ง 3 ฝ่ายที่กระทรวงแรงงาน แต่การไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงหลังการเจรจาสร้างความไม่พอใจแก่ตัวแทนพนักงานที่เข้าไปเจรจา และพนักงานที่ชุมนุมอยู่ด้านนอกเป็นอย่างมาก


 


ตัวแทนเจรจาของสหภาพแรงงาน กล่าวว่า "เรารู้สึกแย่และเลวร้ายมาก ตอนแรกไม่เคยคิดว่าจะไม่สามารถทำงานร่วมกับผู้บริหารบางส่วนเหล่านั้นได้ แต่เหตุการณ์ขณะนี้ทำให้ต้องคิดแบบนั้น พฤติกรรมของบริษัทเช่นนี้ ในอนาคตบริษัทจะไม่ได้รับความเชื่อถือจากลูกค้าและผู้ที่จะทำธุรกิจร่วมกับบริษัท รวมถึงกับฝ่ายลูกจ้างด้วย"


 


 


เผยมีการเกณฑ์ร่วมชุมนุมเสื้อเหลือง


เวลา 11.00 น. ทางผู้ชุมนุมที่อยู่ด้านนอกกล่าวว่า "พนักงานด้านใน โทรศัพท์มาบอกว่ารับไม่ได้กับพฤติกรรมของผู้บริหารบางคนที่ทำเช่นนี้ มีส่วนหนึ่งออกจากโรงงานเพื่อกลับบ้านไปเลย ส่วนหนึ่งที่ขับมอเตอร์ไซค์มาทำงาน ก็ขับมอเตอร์ไซค์กลับบ้านไปแล้วหลายคน"


 


นอกจากนี้ผู้ชุมนุมอีกรายยังกล่าวด้วยว่า "เพื่อนที่อยู่ด้านบนโทรศัพท์มาว่า มีการปิดไฟแล้วมีการใช้โทรโข่งประกาศให้พนักงานลงมาข้างล่างให้หมด ซึ่งเขาไม่อยากลงมาแต่มีการปิดไฟไล่จึงต้องลง แม้จะเข้าห้องน้ำก็ถูกเกณฑ์ลงมา"


 


และยังมีพนักงานที่ชุมนุมอยู่ด้านในบริษัทอีกรายยังกล่าวว่า "อยากออกแต่ออกไม่ได้ กลัวผิดกฏหมาย เพราะบริษัทให้เซ็นชื่อในกระดาษ"


 


 


พนักงานเผยอึดอัด เหมือนบริษัทเสี้ยมพนักงานให้ทะเลาะกัน


ส่วนผู้ชุมนุมที่อยู่ด้านในอีกรายก็กล่าวว่าอึดอัดใจ บริษัททำไม่ถูกที่ทำให้พนักงานทะเลาะกัน อยากให้เรื่องราวต่างๆ จบลงโดยการพูดคุยกันไปในแนวทางเดียวกัน ไม่ใช่ยุแหย่ให้เกิดความแตกแยกในหมู่พนักงานกันเองโดยใช้พนักงานเป็นเครื่องมือ เขายังกล่าวว่าหัวหน้างานบางคนก็เดินปั่นหัวพนักงานให้ลงลายมือชื่อคัดค้าน น.ส.จิตรา คชเดช  แต่พอตัวเขาไม่ลงชื่อ ก็ถูกไล่ออกมาข้างนอกและปิดประตูบริษัทไม่ให้พนักงานทำงาน โดยปิดแอร์ ปิดไฟ มีการประกาศว่าพนักงานที่ลงมาชุมนุม สมัครใจลงมาเอง แต่แท้จริงแล้วบริษัทบังคับให้ลงมา ขนาดหลบในห้องน้ำก็ให้ยามมาไล่ให้ลงไปรวมกัน และมีการเปิดเพลงให้เต้นรำและดื่มสุรา เหมือนปาร์ตี้ของพวกหัวหน้างาน บางคนก็เต้นรำทั้งๆ ที่ถือรูปพระบรมฉายาลักษณ์ ซึ่งไม่เหมาะสม


 


ในช่วงบ่าย พนักงานกลุ่มที่ชุมนุมด้านใน ได้มีการนำผ้าที่เป็นวัสดุตัดเย็บของโรงงานจำนวนมากมากางกันแดด  ซึ่งผ้าดังกล่าวเป็นผ้าของทางบริษัท นอกจากนี้พนักงานที่ชุมนุมด้านใน ก็มีการรูดบัตรลงเวลาทำงานตามปกติ และได้ลงชื่อทำงานล่วงเวลา


 


 


สหภาพแรงงานงดปราศรัยหลีกเลี่ยงกระทบกระทั่ง


ทั้งนี้ตัวแทนสหภาพแรงงานตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดถึงเพิ่งมีการชุมนุมในวันนี้ ในวันที่การเจรจาจะมีความชัดเจน ทำให้สงสัยว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นเพียงวิธีการหนึ่งของทางผู้บริหารบางคนที่มีแรงงานสัมพันธ์ไม่ดี แล้วเอาพนักงานและสถาบันมาเป็นเครื่องมือ


 


ผู้สื่อข่าวรายงาน ตลอดทั้งวัน พนักงานที่สวมเสื้อเหลืองด้านในมีการใช้เครื่องขยายเสียงปราศรัยอยู่ตลอด ส่วนสมาชิกสหภาพแรงงานที่ผละงานอยู่ด้านนอกไม่มีการปราศรัยใดๆ โดยทางสหภาพแรงงานชี้แจงว่าที่งดการปราศรัยเพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงการกระทบกระทั่งกับพนักงานด้วยกัน ส่วนเหตุผลที่ผู้ชุมนุมกับทางสหภาพแรงงานสวมเสื้อสีแดง เพราะคิดว่าวันนี้จะได้รับชัยชนะ และเสื้อสีแดงเป็นสัญลักษณ์ของผู้ใช้แรงงานและสหภาพแรงงาน


 


และในเวลา 22.00 น. ผู้บริหารของทางบริษัท ได้กล่าวกับพนักงานที่อยู่ภายในบริษัท ที่เหลือประมาณ 100 คนว่า วันนี้มีผู้บริหารสำคัญจากต่างประเทศมาฟังข้อมูลของพนักงานในบริษัท ขอขอบคุณที่ได้ร่วมแรงร่วมใจทำงานมา 3 สัปดาห์ และมีความจงรักภักดีต่อบริษัท ขอขอบคุณที่พวกเราจะมาทำงานและดูแลรักษาสุขภาพตนเอง ขอร้องพวกเราว่าพรุ่งนี้จะได้กลับเข้าทำงานปกติและเข้มแข็งขึ้น สิ่งต่างๆ ที่พูดคุยกันวันนี้ จะเป็นข้อมูลในการตัดสินใจ และจะแจ้งให้ทราบภายในครั้งต่อไป


 


หลังจากนั้นตัวแทนผู้ชุมนุมด้านในโรงงานนั้นได้กล่าวว่า กลุ่มตัวแทนที่เข้าไปคุยกับผู้บริหารขอยืนยันตามเดิมว่าไม่ให้รับ น.ส.จิตรากลับเข้าทำงาน และยังกล่าวว่า พรุ่งนี้รูดบัตรแล้วเข้ามานั่งเหมือนเดิม จากนั้นผู้ชุมนุมด้านในก็ทยอยกลับโดยรถรับส่งของทางบริษัท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net