ปาฐกถาศรีศักร วัลลิโภดม: "ชนเผ่าพื้นเมืองกับความหลากหลายทางวัฒนธรรมแห่งชาติพันธุ์"

เมื่อวันที่ 8 ส.ค.ที่านมา ในงาน "มหกรรมชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ประจำปี 2551" ซึ่งจัดขึ้น ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อเฉลิมฉลองปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ปาฐกถาพิเศษเรื่อง "ชนเผ่าพื้นเมืองกับความหลากหลายทางวัฒนธรรมแห่งชาติพันธุ์"

"ประชาไท" เรียบเรียงและนำมาเสนอโดยละเอียด ดังนี้...






"ความหลากหลายในสังคมที่เกิดขึ้นมันต้องเห็น 2 ระดับชนเผ่านั้น เขาจะมีอิสระ และมีพื้นที่ที่เป็นเขตแดนของเขา ส่วนชาวนาพื้นที่จำกัดและมีอาชีพในการทำนา ทีนี้ในการเป็นสังคมชาวนา หรือสังคมชนชาติก็สัมพันธ์กับชนเผ่า เพราะว่าชนเผ่าบางกลุ่มก็เคลื่อนย้ายเข้าไปเป็นชาวนา มันแยกกันไม่ออก"

"ทีนี้การพัฒนาบ้านเมืองในเวลานี้ เราไม่เข้าใจสิ่งเหล่านี้ แล้วอย่าลืมว่าในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้นมันเป็นตัวคุมทรัพยากร คือไม่ใช้ไปในทางที่เสียหาย ยกตัวอย่างเรื่องของเขาพระวิหารเป็นต้น ถ้าหากเรามองที่ตัวปราสาทเขาพระวิหารมันเป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ แต่เขาพระวิหารนั้นเกิดมาจากผีต้นน้ำมันเป็นเขาศักดิ์สิทธิ์"

"เพราะฉะนั้น ตำแหน่ง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ คือสิ่งที่จัดการพฤติกรรมที่อยู่ร่วมกัน คุมทั้งจริยธรรมอะไรต่างๆ รวมทั้งการใช้ทรัพยากร"

"หลังจากสมัยของสฤษดิ์ การพัฒนาจากสังคมกสิกรมาเป็นสังคมอุตสาหกรรม สร้างถนนหนทางไปแย่งพื้นที่ของเขาซึ่งไปละเมิดพื้นที่ของเขา ไปกระทบกับสิทธิมนุษยชน เพราะการที่เขาอยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งนั้น เขาจัดความสัมพันธ์กันแล้วเขาเกลี่ยกันในเรื่องของความเป็นสมานฉันท์ แต่พออำนาจรัฐเข้าไปมันมีปัญหาขึ้นมา"

"นี่คือปัญหาที่เราเห็นความเปลี่ยนแปลง ถ้าหากเราจะเข้าใจความหลากหลาย เราต้องเข้าใจในระดับชนเผ่า พื้นที่ เขตของเขานั้นไม่จำกัด อย่างเช่นชาวเลที่แหล่งทำกินคือท้องทะเลทั้งหมด ทำพิธีกรรมอีกจุดหนึ่ง เวลารัฐบาลไทยมองนั้นมองเพียงเฉพาะหมู่บ้าน แล้วจะไปทำอะไรได้ แต่ว่าพื้นที่ทำกินรัฐไปยึดครอง เกิดโฉนดน้ำขึ้นมา ยึดเอาไป พื้นที่ทำกินของเขาใครไปก็ได้ ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิของเขา เวลาที่รัฐบาลพัฒนาประเทศนั้นไม่เคยมองความหลากหลายของเขา ความหลากหลายที่ไปสัมพันธ์กับสิทธิของเขา"

"เวลานี้ การจัดการในทางวัฒนธรรมนั้น รัฐพูดถึงความหลากหลายของวัฒนธรรม รัฐพูดปาวๆ แต่ไม่เคยรู้ว่ามันคืออะไร"

"ในความหลากหลายนั้นเขาอยู่รวมกันโดยสมานฉันท์ และโดยเฉพาะเขามีสิ่งที่ควบคุมโดยอำนาจศักดิ์สิทธิ์ที่ควบคุมเขาอยู่ ในท้องถิ่นต่างๆ แต่ว่าในปัจจุบัน สิ่งที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนมากที่สุดก็คือรัฐ ไปแย่งพื้นที่"

"สิ่งที่เกิดขึ้น คือ รัฐเอาคนที่ไม่มีหัวนอนปลายตีนไปอยู่ในท้องถิ่น เข้ามาจากการเลือกตั้งโดยการซื้อสิทธิ์ขายเสียง เพราะฉะนั้น มันถึงพังไปหมด สังคมไทย เปลี่ยนชาวนาเป็นอุตสาหกรรม ทำให้คนไม่มีสำนึกท้องถิ่น กลายเป็นปัจเจกไปหมด คนถิ่นอื่นถาโถมเข้ามาทับ แล้วรัฐเอาโครงสร้างภาคอุตสาหกรรมลงไป"

"ผมเห็นว่าบาทของ นักวิชาการ เอ็นจีโอ ต้องลดความเป็นพี่เลี้ยง แล้วต้องสร้างคนท้องถิ่นขึ้นมา เอาเรื่องราวของตนเองขึ้นมาเพื่อที่จะเห็นความหลากหลาย"

0 0 0 0 0

 

 

ความสัมพันธ์ของสังคมชนเผ่ากับสังคมชาวนา
คือการหลอมรวมบูรณาการทางวัฒนธรรม
ในปัจจุบัน คนในประเทศไทย ไม่เข้าใจว่าชนเผ่าคืออะไร เพราะเขามองว่าเป็นคนไทยไปหมด คนไหนที่ต่างไปจากคนไทยก็เกิดปัญหาขึ้นมา ซึ่งเมื่อเราจะทำความเข้าใจถึงชนเผ่านั้นผมอยากจะทำความเข้าใจว่า ก่อนสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เราเห็นภาพของชนเผ่าค่อนข้างชัดเจน แต่หลังจากสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์แล้ว มันเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย

ที่ว่าก่อนหน้าจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พัฒนาบ้านเมืองสังคมไทยประกอบเป็นสังคมอยู่ 2 ระดับ ระดับแรกเป็นสังคมของชนเผ่า ระดับต่อมาเป็นสังคมของชนชาติ ความเป็นชนเผ่านั้น หมายความว่า เขาอยู่เป็นเผ่าพันธุ์ นับถือเครือญาติ คนเหล่านี้ เท่าที่รู้จะอยู่ในเขต ที่สูง ที่เขตชายขอบ อย่างชายทะเล อะไรต่างๆ เหล่านี้ ความเป็นชนเผ่านั้นมีพื้นที่ซึ่งต่างจากความเป็นชนชาติ

อย่างพวกกะเหรี่ยง หรือว่าชาวเล พื้นที่ของเขาไม่เหมือนกับพื้นที่ของพวกที่เป็นชนชาติอย่างเช่น ชาวนา พื้นที่ที่กว้างและจะมีความเคลื่อนไหวสูงอย่างเช่นพวกชาวเลนั้น พื้นที่ที่มีอยู่เป็นหมู่บ้านก็มี แต่พื้นที่ที่เป็นอาณาบริเวณเพื่อทำมาหากิน มีเขตแดนของเขาแล้วยังมีพื้นที่ที่ทำพิธีกรรมร่วมกัน

พื้นที่ใหญ่ประกอบด้วย หนึ่ง บ้านเรือนที่อยู่อาศัย สอง พื้นที่กว้าง ที่ใช้ในการทำมาหากิน และพื้นที่รวมกันเพื่อทำพิธีกรรม ซึ่งลักษณะโครงสร้างแบบนี้จะพบในชนเผ่าหลายๆ เผ่าพันธุ์ ผมไปศึกษาที่ออสเตรเลียพบว่าพวกอะบอริจินนั้นหลายเผ่าพันธุ์เหลือเกิน เขามีพื้นที่ที่กว้างไกลเพราะว่าคนเหล่านี้ไม่ได้อยู่ติดที่ เคลื่อนย้ายไปตามฤดูกาล แต่ว่าอยู่ภายในเขตแดนที่ชัดเจน เพราะฉะนั้นความเป็นชนเผ่าเหล่านี้เขาไม่ได้อยู่เฉพาะอยู่อย่างเดียว แต่ว่าเขามีเขตแดนที่ชัดเจนของเขา มีจุดสำคัญที่จะประกอบพิธีกรรม เพื่อที่จะสร้างความสัมพันธ์กัน แล้วจุดสำคัญที่จะประกอบพิธีกรรมนั้นมักจะเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ก็จะคุมในเรื่องการใช้ทรัพยากร การใช้สิทธิต่างๆ เหล่านี้หมด ซึ่งเป็นลักษณะของชนเผ่า

ที่นี้ อีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มที่เป็นชนชาติ มักจะเป็นกลุ่มที่อยู่ในพื้นที่ราบ เป็นสังคมชาวนาอยู่ติดที่ ซึ่งลักษณะหนึ่งของชนเผ่ามักจะเคลื่อนที่ แต่ขณะที่ชนชาติหรือว่าสังคมชาวนาจะอยู่ติดที่ สองสังคมนี้อยู่ด้วยกันในสมัยก่อน เพราะว่าในการบูรณาการของสังคมไทยในสมัยก่อนนั้น เขาพยายามที่จะสร้างสังคมชาวนาให้เกิดขึ้นมา มันถึงเกิดการสร้างบ้านแปลงเมืองให้เกิดขึ้น

ในระดับของชนเผ่า เราเห็นบ้านและชุมชนที่เป็นกลุ่มหลากหลายอยู่ในพื้นที่เดียวกัน แต่ถ้าหากว่าเป็นสังคมชาวนานั้นจะมีพื้นที่ที่เป็นทั้งบ้านและเมืองเกิดขึ้น อันนี้เราจะเห็นสิ่งเหล่านี้ 

ความหลากหลายในสังคมที่เกิดขึ้นมันต้องเห็น 2 ระดับ ถ้าชนเผ่านั้น เขาจะมีอิสระ และมีพื้นที่ที่เป็นเขตแดนของเขา ส่วนชาวนาพื้นที่จำกัดและ มีอาชีพในการทำนา ทีนี้ในการเป็นสังคมชาวนา หรือสังคมชนชาติก็สัมพันธ์กับชนเผ่า เพราะว่าชนเผ่าบางกลุ่มก็เคลื่อนย้ายเข้าไปเป็นชาวนา มันแยกกันไม่ออก คนที่สูงที่ต่ำแยกกันไม่ออก ก็ไปผสมปนเปกันขึ้นมา เกิดจากการแต่งงาน และในพื้นที่ที่เป็นสังคมชาวนา เป็นบ้านเป็นเมือง ไม่ใช่เป็นการผสมผสานของคนหลายเผ่า เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นสังคมชาวนาแล้วสำนึกของความเป็นเผ่าจะสลายกลายเป็นสำนึกของชนพื้นถิ่นแทน ความต่างกันของทางวัฒนธรรมหรือว่าความหลากหลายนั้นจะต้องมองทั้งสองระดับ

เวลาที่เราพูดถึงชนเผ่าที่มีย่อยมากเลย กลุ่มพวกนี้เขามีภาษาเฉพาะตัวอยู่ แต่ว่าอยู่รวมกันเป็นพื้นที่ที่กว้างๆ แต่ว่ากลุ่มชาวนานั้นเริ่มติดที่และเริ่มมีการผสมผสานที่นี้ในกลุ่มชาวนา เวลาที่เราพูดถึงชนเผ่ามักจะเข้าใจผิด อย่างพวกเขมร มอญ ลาว บางแห่งเขาอยู่ด้วยกัน แต่ว่าพอเราไปศึกษาเรามักจะแยกเขาออกจากกัน

ในกรณีที่ผมได้ไปศึกษาแถวๆ โคราช เวลาที่เราพูดถึงไทยโคราช ในอีสานนั้นคนถิ่นเรียกว่าไทยเบิ้ง ภาษาไทยโคราชนั้นเป็นภาษาคนเมือง เหมือนกับภาษาคนญวนของเชียงใหม่ คือเป็นภาษาใหญ่ที่เป็นภาษาของชนชาติ แต่ว่าในความเป็นอยู่ของหมู่บ้าน พวกนี้มีหมู่บ้าน ลาว เขมรอยู่รวมกัน ในหมู่บ้านมีการแต่งงานปะปนกัน เราจะไม่เห็นความเป็นชนเผ่าชัดเจน แต่รู้ว่าคนเหล่านี้เป็นเผ่าไหนจากสำเนียงภาษา ในครอบครัวหนึ่งแต่งงานกัน สามีเป็นคนไทย แต่ภรรยาเป็นคนลาว เขาก็สามารถอยู่ด้วยกันได้ แต่ว่าสำเนียงนั้นจะเพี้ยนไป เพราะฉะนั้นเวลาที่มีเรื่องขัดแย้ง ความเป็นชาติพันธุ์นั้นจะออกมาในแง่ของสำเนียง นี่คือการเข้าไปถึงเรื่องของความเป็นชาติพันธุ์ 

เพราะฉะนั้น ในพื้นที่ที่เป็นสังคมชาวนา เราต้องมองตัวพื้นที่ พื้นที่เป็นสิ่งที่บูรณาการให้ความหลากหลายของชนเผ่าหมดไป แต่ในขณะเดียวกันกลายเป็นคนในพื้นที่นั้นถึงเกิดคำว่าพื้นเมืองขึ้นมา อย่างเช่น พื้นเมืองของโคราช จะเห็นว่าเขามีวัฒนธรรมของเขาเฉพาะ การสร้างบ้านก็ไม่เหมือนที่อื่น แล้วมีผลิตผลบางอย่างที่เป็นอัตลักษณ์ อย่างเช่นมีคนเคยเล่าให้ฟังว่าผ้าไหมหางกระรอกนั้น เป็นลักษณะของคนพื้นเมืองโคราช แต่ว่าท่ามกลางการเป็นผ้าหางกระรอกนั้นมันมีคนหลายเผ่าที่อยู่ในเขตนั้น ถูกบูรณาการการเป็นคนในพื้นถิ่น มันถึงเกิดคำว่า "บ้าน" และ "เมือง" ขึ้นมา

สถานที่ พิธีกรรม คือศูนย์รวมหลายเผ่าพันธุ์
ตัวท้องถิ่น คือฐานความหลากหลายของวัฒนธรรมของสังคมในชนชาติ ส่วนชนเผ่านั้นก็ยังอยู่ห่างไกลไปและบางที รัฐไม่เข้าไปเกี่ยวข้องเท่าไหร่ ในสมัยก่อนจอมพลสฤษดิ์นั้น ชนเผ่าเป็นอิสระ ถ้าหากเราขึ้นไปตามภูเขา ในเทือกตะนาวศรีนั้นมีการเคลื่อนไหวไม่ได้หยุดนิ่งเลยเพราะว่ามีเคลื่อนย้ายมาจากทางตอนใต้ของประเทศจีน แล้วชนเผ่าเหล่านี้เขามีเขตแดนของเขา

ผมได้ไปทำการศึกษาหลักฐานทางด้านโบราณคดีเรื่องระบบหินตั้ง จะพบว่าบางช่วงของเขตแดนในภูเขาเป็นของคนกลุ่มหนึ่ง แต่ว่าอีกช่วงหนึ่งเป็นของคนอีกกลุ่มหนึ่ง พื้นที่ที่มีวัฒนธรรมหินตั้งด้วยกัน รูปแบบจะต่างกัน แต่ละกลุ่มมีพื้นที่ของเขา และการอยู่รวมในพื้นภูมิประเทศเดียวกันหรือว่าวัฒนธรรมเดียวกัน มันมีตัวบูรณาการเหมือนกัน

อย่างเช่นเขาจะกำหนดเขาศักดิ์สิทธิ์อันหนึ่ง หรือว่าพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์อันหนึ่งเป็นที่มาพบปะทำพิธีกรรมร่วมกัน เพราะท่ามกลางความหลากหลายของชนเผ่าที่อยู่ในตำแหน่งที่ต่างกันต้องมีความสัมพันธ์ และความสัมพันธ์อันนี้จะสัมพันธ์ในงานใหญ่ๆ หรือว่าพิธีกรรมใหญ่ๆ ในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ อันนี้ก็เช่นเดียวกับที่อื่นๆ อย่างเช่น เผ่าพันธุ์อะบอริจิน ก็เหมือนกัน เขาจะกำหนดพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่คนหลายเผ่าพันธุ์มารวมกัน ประกอบพิธีกรรม และการประกอบพิธีกรรมร่วมกันนั้นมีการปรึกษาหารือในการใช้ทรัพยากรร่วมกัน หรือเอาสิ่งของมาแลกเปลี่ยนกัน คนเหล่านี้จึงไม่ได้อยู่โดดๆ

มองปราสาทเขาพระวิหารไม่ใช่แค่เรื่องประวัติศาสตร์
แต่คือต้นน้ำ-เขาศักดิ์สิทธิ์ที่คนหลายกลุ่มใช้ร่วมกัน
ทีนี้การพัฒนาบ้านเมืองในเวลานี้ เราไม่เข้าใจสิ่งเหล่านี้ แล้วอย่าลืมว่าในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้นมันเป็นตัวคุมทรัพยากร คือไม่ใช้ไปในทางที่เสียหาย ยกตัวอย่างเรื่องของเขาพระวิหารเป็นต้น ถ้าหากเรามองที่ตัวปราสาทเขาพระวิหารมันเป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ แต่เขาพระวิหารนั้นเกิดมาจากผีต้นน้ำมันเป็นเขาศักดิ์สิทธิ์ และความเป็นเขาศักดิ์สิทธิ์นั้นทั้งเวียดนาม ลาว และเขมรมีหมด เขากำหนดตรงโขดหินเขาพระวิหารเป็นต้นน้ำ เพราะว่าน้ำมันไหลลงมาสู่ชุมชน และตามลำน้ำลงไปต้นน้ำถึงปลายน้ำจะมีชุมชนตั้งอยู่ คนที่อยู่ที่สูงคือพวกชนเผ่า อย่างเช่นในเขตเขาพระวิหารคนที่อยู่ในเขตพื้นที่สูงคือพวกเลี้ยงช้าง เมื่อถูกเปลี่ยนให้เป็นฮินดู วัฒนธรรมฮินดู เปลี่ยนผีให้เป็นเทพ เมื่อมีการสร้างปราสาทขึ้นมา และเมื่อมีการสร้างปราสาทขึ้นมาเขาพูดถึงการเปลี่ยนทำให้คนพื้นเมืองกลายเป็นคนที่มีวัฒนธรรม ในปราสาทเขาพระวิหารพระศิวะเต้นรำ เหนือหัวช้าง และมีชื่อเรียกหลายอย่างที่บอกอย่างเช่นช่องตาเฒ่า ที่คือหมอเฒ่ามันจะอยู่ในตำนานท้องถิ่น 

เพราะฉะนั้น การเปลี่ยนแปลง ยกตัวอย่างเช่น เรื่องเขาพระวิหาร แต่เดิมคนกลุ่มหนึ่ง ชาติพันธุ์กลุ่มหนึ่งอยู่บนที่สูงบนพื้นที่ต้นน้ำ น้ำนั้นศักดิ์สิทธิ์และลงไปสู่พื้นที่ราบสูงจนมาถึงพื้นที่ท้ายน้ำเป็นที่ราบลุ่ม ตั้งแต่เขาพระวิหารไปถึงกำแพงใหญ่ศีรษะเกษเชื่อมกันด้วยลำน้ำเส้นเดียวกัน

ลักษณะอันนี้ก็เช่นเดียวกันกับพื้นที่ภาคเหนือ ที่เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการสนับสนุนการวิจัยเข้าไปทำที่พื้นที่ขุนตาล เวลานี้ที่เราอยู่เชียงใหม่ไปลำปางจะผ่านเจ้าพ่อขุนตาล แต่ถามว่าศาลเจ้าพ่อขุนตาลที่เรายกมือไหว้นั้นอยู่ตรงสันปันน้ำ เพราะว่ามันอยู่ต่อแดน ความสำคัญของเจ้าพ่อขุนตาลนั้นไมใช่เขตแดนของเชียงใหม่ ลงไปตามลำน้ำตาลผ่านไปทาง อ.ห้างฉัตร ลงไปทางท้ายน้ำ

เพราะฉะนั้น คนเหล่านี้เขาอยู่กันเป็นกลุ่ม กลุ่มที่อยู่ข้างบนตรงเขาอาจจะเป็นพวกลัวะ หรือว่าพวกอะไรมาก่อนก็ได้ เพราว่าพวกม้ง เย้านั้นมาทีหลัง ถัดลงไปเป็นคนที่อยู่ข้างล่างอาจจะเป็นชาวนาที่ถูกบูรณาการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของรัฐนั้นแล้ว แล้วเลยไปถึงสังคมเมือง 

เร็วๆ นี้ก็มีปัญหาเกิดขึ้นที่ว่าเขาขัดแย้งกันในเรื่องของการเลือกตั้ง ทะเลาะกันเรื่องการเลือกตั้ง เขายุติไปเมื่อผู้หญิงแก่ๆ ที่เป็นใหญ่ สังคมไทยนั้นแปลก ในสังคมชาวนาเป็นสังคมที่ผู้หญิงเป็นใหญ่ พวกนี้จะเป็นคนที่รู้เรื่องดี เขาบอกว่าเลิกทะเลาะกันดีกว่ายกอำนาจไปให้เจ้าพ่อขุนตาล เขาก็ทำพิธีแห่ช้างเผือกไปตั้งแต่ต้นน้ำถึงท้ายน้ำ

ผมได้คำสำคัญที่เขาพูดกันคำหนึ่งว่าเขาพูดถึงท้ายน้ำ ที่ทำให้นึกถึงสมัยก่อน ที่มีพระยาท้ายน้ำ จากท้องถิ่นที่เป็นต้นน้ำ สู่เมืองเลย ลำน้ำสายหนึ่งจากต้นน้ำถึงท้ายน้ำมีชนหลายชาติพันธุ์อยู่ แต่เขาถูกบูรณาการด้วยพิธีกรรม ด้วยความสัมพันธ์ แลกเปลี่ยนกันซึ่งกันและกัน ยกกรณีเรื่องเขาพระวิหาร เพราะขึ้นไปถึงพระวิหารพื้นที่ตรงนั้นมันไปต่อแดนกับเขมรต่ำ คนทั้งสองเขตแดนเป็นชาติพันธุ์ที่สัมพันธ์กัน ซึ่งน่าจะใหญ่ เขาจะมีการแลกเปลี่ยนสินค้ากันตลอดเวลา แต่การเข้ามาแลกเปลี่ยนสินค้านั้น เมื่อผ่านจุดนี้ต้องมีการทำพิธีกรรมร่วมกัน พื้นที่ที่ตัวเขาพระวิหารสร้างขึ้นเป็นพื้นที่ที่ ไม่เป็นของใคร แต่ว่าคนเหล่านี้ต้องมาทำพิธีกรรม เช่นเดียวกับพื้นที่ทางทิศตะวันตกของประเทศไทย อย่างที่ด่านเจดีย์สามองค์เป็นต้น ยังมีประเพณีเก่าๆ อยู่ ที่ว่าเมื่อขึ้นมาที่จุดนี้แล้วต้องโยนหินสามก้อน เพราะว่าตรงนั้นเป็นผี ต่อมาเมื่อพระพุทธศาสนาเข้าไปก็ทำเป็นเจดีย์ ก็ไม่ต่างอะไรจากการที่เขาพระวิหารเปลี่ยนจากผีมาเป็นเทพ

แล้วเวลานี้ ยกตัวอย่างปราสาทตาเมือนธมที่เกิดปัญหาขึ้นมา ก็เช่นเดียวกับปราสาทเขาพระวิหาร ที่อยู่บนโขดหินศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นเขตสันปันน้ำ คนขึ้นมาทั้งสองฝ่ายต้องทำพิธีกรรมร่วมกันไหว้ผีร่วมกัน ต่อมาเมื่อวัฒนธรรมขอมเข้ามาเปลี่ยนให้เป็นฮินดู สร้างปราสาท สร้างศิวลึงค์ขึ้นมา แต่ว่าในปัจจุบันนี้ พวกพระเจ้าวรมันตายไปหมดแล้ว พวกชาวบ้านกลับไปไหว้ผีแบบเดิม เมื่อเร็วๆ นี้ชาวบ้านทั้ง สองเขตเข้าไปไหว้ผีที่ปราสาทตาเมือน เมื่อไปไหว้ผีแล้วตรงนั้นไม่เป็นที่ของใคร เขาเอาของมาแลกกัน มันเชื่อมโยงกันหมด ลักษณะภูมิประเทศจะบอกถึงสิ่งเหล่านี้

ตำแหน่ง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ : คือตัวจัดการพฤติกรรมอยู่ร่วมกัน
คุมทั้งจริยธรรม รวมทั้งการใช้ทรัพยากร
เพราะฉะนั้น ตำแหน่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์คือสิ่งที่จัดการพฤติกรรมที่อยู่ร่วมกัน คุมทั้งจริยธรรมอะไรต่างๆ รวมทั้งการใช้ทรัพยากร

ภาคใต้ก็เหมือนกัน ผมศึกษาในเขตของพวกสายบุรี มีพรุอันหนึ่งชื่อว่าพรุลางควาย ที่คนมุสลิมถือว่าธรรมชาติอันนี้เป็นของอัลเลาะห์หมดเลย ตัวพรุนั้นเขาพูดถึงการมีหัว พุง ขา ซึ่งทุกอย่างจะต้องเป็นอันเดียวกันหมดเพื่อที่ต้องใช้ร่วมกัน แล้วรอบๆ พรุนั้นมีคนต้องหลายชาติพันธุ์อยู่ด้วยกัน เพราะฉะนั้น การที่บอกว่าสิ่งนี้เป็นของอัลเลาะห์ร่วมกัน ไม่ได้เป็นของใคร ต่างฝ่ายต่างก็ต้องยึดถือ เพื่อที่จะแบ่งปันกันใช้ทรัพยากร

ในสังคมไทยในท้องถิ่นอย่างเช่นสังคมชาวนา จะมีความหลากหลายของบ้านเมือง แต่ละท้องถิ่นที่ไม่เหมือนกัน คือท้องถิ่นต้องเป็นเมือง เมืองใดเมืองหนึ่งต้องมีการเชื่อมโยงกันด้วยพิธีกรรม

งานใหญ่ๆ งานนักขัตฤกษ์ เราต้องรวมไปถึงพิธี 12 เดือนด้วย เขาจะกำหนดพิธีกรรมอันหนึ่งขึ้นมา และคนหลายๆ ท้องถิ่นจะมาทำพิธีกรรมร่วมกัน ในการทำพิธีกรรมร่วมกันนั้นให้อำนาจแก่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่ในขณะเดียวกันก็จะคุยกันเรื่องการจัดการทรัพยากรด้วย สมมติว่าน้ำมาทางนี้อาจจะทำให้คนเดือดร้อน ต้องเปลี่ยนอย่างไรก็ต้องมาคุยกัน ซึ่งเป็นสภาของท้องถิ่น ที่ผู้ใหญ่จะมาพูดคุยกัน เหล่านี้คือกติกา เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ ความเป็นอยู่ หรือว่าความหลากหลายของผู้คนในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งมันมีการคุมในเรื่องการใช้ทรัพยากรอยู่ด้วย

ย้ำสมัยจอมพลสฤษดิ์ : เปลี่ยนแปลงสังคมจากชาวนา
จุดเปลี่ยนทางวัฒนธรรมอันหลากหลาย
แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในสมัยจอมพลสฤษดิ์ เปลี่ยนแปลงสังคมจากชาวนา คือสมัยนั้น ไม่มองสังคมแบบชาวนาด้วยซ้ำ มองเป็นสังคมแบบฟาร์มเมอร์คือพวกกสิกร มองว่าชาวนามีที่ดินเป็นของตัวเอง นักเศรษฐศาสตร์นั้นเป็นตัวอย่างที่ดีที่สร้างสภาพัฒน์ขึ้นมา เขามองว่าชาวนามีที่ดินเป็นของตัวเอง มองว่ามีลักษณะเป็นปัจเจกอยู่แล้ว ซึ่งตรงนั้นเป็นสิ่งที่ผิด เพราะว่าในสมัยนั้นยังมีสังคมที่เป็นหมู่บ้าน เป็นกลุ่มก้อน เป็นเครือข่ายในท้องถิ่น

สิ่งที่เห็นจากสังคมชาวนาคือเวลาที่หมู่บ้านนั้นจะมีมีวัด อย่างอีสานเรียกสิม ชาวบ้านก็เอาอาหารไปถวายพระร่วมกัน ไม่มีชนชั้น คนรวยคนจนอยู่ด้วยกัน ชุมชน บ้านและวัดชื่อเดียวกัน แต่ถ้าเป็นท้องถิ่น จะเป็นตัวไม่ใช่โบสถ์ หรือว่าสิม จะเป็นธาตุ จะมีพระเจดีย์ ที่อาจจะอยู่ในหมู่บ้านใดหมู่บ้านหนึ่ง แต่ในงานนักขัตฤกษ์นั้น คนที่อยู่ในหมู่บ้านก็ต้องนำมาทำพิธีกรรม ยกตัวอย่าง บั้งไฟ เป็นต้น

ส่วนในภาคกลาง คือ การแข่งเรือ ความหลากหลายในระดับหมู่บ้านมาสร้างความเป็นจิตสำนึกร่วมสร้างความเป็นอันหนึ่งในท้องถิ่น บ้านอันหนึ่ง หมู่บ้านมอญ บ้านจีน ลาวใช้ร่วมกัน สิ่งเหล่านี้ ผมเห็นจากที่ อ.ศรีมหาโภชน์ มีทั้งหมู่บ้านคนจีน คนไทย คนลาว ต่างฝ่ายต่างเอาต้นโพธิ์มาจุดที่ต้นโพธิ์ศรีมหาโภชน์ แต่ว่าในความสัมพันธ์กันนั้น ไม่ถูกกัน คนลาวถือว่าคนไทยไปกวาดต้อนมาจากเวียงจันทร์ และรังแกเขา ส่วนคนไทยเองก็บอกว่าไอ้นี่มันโจรทั้งนั้น เพราะว่ามันเป็นเขตชายแดน แล้วต่อมาคนจีนเข้ามา แต่ว่ามาไหว้ต้นโพธิ์ด้วยกัน เอาบั้งไฟมาจุดด้วยกันเกิดความสัมพันธ์กัน แต่งงานปะปนกัน ความเป็นลาว ความเป็นไทย จีน สลายลงเกิดความเป็นท้องถิ่นศรีมหาโภชน์ ตรงนี้คือฐานที่สำคัญทีนี้ในท้องถิ่นที่ต่างจากถิ่นอื่นคือความหลากหลายของวัฒนธรรม

ทีนี้ปัญหาขณะนี้ หลังจากสมัยของสฤษฎิ์ การพัฒนาจากสังคมกสิกรมาเป็นสังคมอุตสาหกรรม สร้างถนนหนทางไปแย่งพื้นที่ของเขาซึ่ง ไปละเมิดพื้นที่ของเขา ไปกระทบกับสิทธิมนุษยชน เพราะการที่เขาอยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งนั้น เขาจัดความสัมพันธ์กันแล้วเขาเกลี่ยกันในเรื่องของความเป็นสมานฉันท์ แต่พออำนาจรัฐเข้าไปมันมีปัญหาขึ้นมา เพราะฉะนั้นการไปละเมิดสิทธิโดยที่มองรัฐเป็นใหญ่นั้น เห็นชัดจากการเปลี่ยนแปลงจากสังคมชาวนาไปเป็นสังคมอุตสาหกรรม ยกตัวอย่างที่พื้นที่ที่ใช้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นตัวจัดการ แต่รัฐถือว่าแผ่นดินหรือพื้นที่ทุกๆ อย่างเป็นของรัฐทั้งหมด รัฐจะสามารถเวนคืนและไปสัมปทานให้กับผู้ใดก็ได้ ทำให้เกิดการขัดแย้งนี่คือสิ่งที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนตลอด

นี่คือปัญหาที่เราเห็นความเปลี่ยนแปลง ถ้าหากเราจะเข้าใจความหลากหลาย เราต้องเข้าใจในระดับชนเผ่า พื้นที่ เขตของเขานั้นไม่จำกัด อย่างเช่นชาวเลที่แหล่งทำกินคือท้องทะเลทั้งหมด ทำพิธีกรรมอีกจุดหนึ่ง เวลารัฐบาลไทยมองนั้นมองเพียงเฉพาะหมู่บ้าน แล้วจะไปทำอะไรได้ แต่ว่าพื้นที่ทำกินรัฐไปยึดครอง เกิดโฉนดน้ำขึ้นมา ยึดเอาไป พื้นที่ทำกินของเขาใครไปก็ได้ แต่ขณะเดียวกันพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นศาลอยู่ หรือว่าเป็นเกาะร้างอยู่ วันดีคืนดีรัฐไปให้เอกสารสิทธิคนนั้นเข้าไปอยู่ แล้วไปยึดครองที่ทำกินของเขา บางแห่งที่เป็นศาลผีทั้งหญิงและชายกลายเป็นที่เทขยะซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิของเขา เวลาที่รัฐบาลพัฒนาประเทศนั้นไม่เคยมองความหลากหลายของเขา ความหลากหลายที่ไปสัมพันธ์กับสิทธิของเขา ซึ่งแต่เดิมเขายอมรับ

ถ้าหากถามว่าแต่เดิม เวลาที่เราเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์พระมหากษัตริย์ไม่เคยทำอย่างนั้น หลายแห่งที่เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์นั้นเปลี่ยนเป็นวัดทั้งนั้น พระเจ้าแผ่นดินบอกว่าตรงนี้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ก็สร้างวัด การสร้างวัดบางทีเป็นการสร้างตำนานขึ้นมาอย่างเช่นตำนานพระเจ้าเลียบโลกเป็นต้น หลายแห่งของพวกลัวะที่อยู่ที่เชียงใหม่นั้น ตรงนั้นเป็นเขา มีหินสามก้อน มีหินตั้งถูกเปลี่ยนมาเป็นวัด สมัยติโลกราชนั้นสร้างธาตุขึ้นตามยอดเขา อย่างเช่นพระธาตุจอมซิ่นที่ อ.เทิง และหลายแห่งสร้างพระบาท คือเอาศาสนาเข้าไปครอบเพื่อที่จะดึงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของรัฐ การสร้างวัดวาในสมัยก่อนนั้นไม่ใช่การสร้างเพื่อที่จะประกาศสิทธิของรัฐ แต่เป็นการเคารพอำนาจศักดิ์สิทธิ์ในพื้นที่นั้น แต่ว่าในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษฎิ์เป็นต้นมานั้น รุกหมด มันกระทบหมด ซึ่งเป็นตัวอย่าง

เพราะฉะนั้น การที่จะเข้าใจสิ่งเหล่านี้ต้องมองอดีตที่เขามีมา เข้าใจรากเหง้าเราถึงสามารถจะจัดการได้ เวลานี้เราโหยหาถึงความสมานฉันท์ ซึ่งมันไม่เคยมี เพราะว่าในความเป็นสมานฉันท์นั้นมันต้องเป็นสังคมที่เป็น plural คือสังคมที่เป็นพหุรัฐ อย่างในอินโดนีเซีย หรือว่ามาเลเซีย เขาจะต้องรู้จักค่านิยมของแต่ละกลุ่มแล้วมาพบปะกัน มาประนีประนอมกันนั่นคือการสมานฉันท์ ต้องรู้จักกัน แต่ถ้าทว่าปัจจุบันนี้รัฐไม่เคยมองเลย เอาความคิดของตนเองมาเป็นใหญ่ แล้วเวลาที่เกิดเรื่องขึ้นมาก็มาบอกว่าต้องสมานฉันท์ จะสมานฉันท์อย่างไร แถมบางคนยังต้องการสันติวิธี สันติสุข ซึ่งความสมานฉันท์นั้นไม่มีแล้วจะมีสันติวิธีได้อย่างไร

หากเรามาดูในการอยู่รวมกันของคนเหล่านั้น เขาไม่ได้มองว่าอะไรถูกหรือว่าผิด คนหลายชาติพันธุ์ที่อยู่รวมกันในท้องถิ่นเดียวกัน สมัยโบราณนั้นไม่ได้เอาความยุติธรรมเป็นตัวตั้ง แต่ว่าเขาโหยหาความเมตตา การช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้นในกระบวนการพบปะซึ่งกัน ถ้ามีความขัดแย้งก็ใช้วิธีที่ประนีประนอม คนที่ประนีประนอมคือผู้นำ หรือว่าผู้อาวุโสของท้องถิ่นนั้น นั่นคือการประนีประนอมที่มีอยู่ แต่ว่าพออำนาจรัฐเข้าไปนั้นเอาขาว ดำ ส่งฟ้องศาลกัน มันถึงเกิดปัญหาขึ้นมา เพราะฉะนั้นเราจะเห็นว่าสมัยก่อนในการที่อยู่รวมกันหลากหลาย มันมีกระบวนการที่ประนีประนอมกันอยู่แล้ว รู้จักความต้องการของเขา ความต้องการของเรา แต่มาในยุคหลังเอาค่านิยม เอาสิ่งที่คนในเมืองที่มีอำนาจเห็นว่าถูกต้องเอามาตัดสินหมดเลย

ติงรัฐพูดถึงความหลากหลายของวัฒนธรรม แต่ไม่เคยรู้ว่าคืออะไร
สังคมไทยถูกกล่าวหาว่าไม่เป็นสังคมพหุลักษณ์
แล้วกรณีนี้เกิดใน 3 จังหวัดภาคใต้ที่มีความหลากหลายอย่างชัดเจน เวลาเรามอง 3 จังหวัดภาคใต้ เรามองเป็น 3 จังหวัดเราไม่ได้มองว่ามันมีพื้นที่ที่ต่างกัน ในเขตภูมิวัฒนธรรมของเทือกเขาสันกาลาคีรีมันเป็นหุบๆ อยู่ หุบปัตตานี สายบุรี หรือว่าอะไรต่างๆ เพราะเทือกเขาไม่ยาวเป็นแนวเดียวอย่างนครศรีธรรมราช หรือว่าสงขลา ในหุบนั้นมีกลุ่มชาติพันธุ์ต่างกัน วัฒนธรรมต่างกัน แต่สิ่งเหล่านี้นั้นมีความสัมพันธ์กันทั้งหมด เพราะว่าสังคมเมื่อก่อนนั้นมีความเชื่อมโยงกันในสิ่งเหล่านี้ ถ้าเราไม่เข้าใจความหมาย หรือว่าความเข้าใจ เราก็จัดการกับมันไม่ได้

เวลานี้ การจัดการในทางวัฒนธรรมนั้น รัฐพูดถึงความหลากหลายของวัฒนธรรม รัฐพูดปาวๆ แต่ไม่เคยรู้ว่ามันคืออะไร กระทรวงวัฒนธรรมนั้นพูดปาวๆ เรื่องความหลากหลายของวัฒนธรรมแต่เขาไม่รู้ว่ามันคืออะไร อย่าลืมว่า

ทำไมสังคมไทยถึงถูกกล่าวหาว่าไม่เป็นสังคมพหุลักษณ์แบบอินโดนีเซีย หรือว่ามาเลเซีย เพราะว่ามันมีกระบวนการบูรณาการความหลากหลายอยู่แล้วในระดับถิ่น ยกตัวอย่างชนเผ่าที่ลงมาแต่งงานกับสังคมชาวนา สังคมชนเผ่าก็สลายกลายเป็นชาวนาไป แต่ละถิ่นนั้นต่างกัน อย่างเช่นพื้นเมืองโคราชมีไหมหางกระรอก ซึ่งในความจริงเครื่องแต่งกายนั้นอาจจะบอก สี ลวด ลาย ต่างกัน แล้วความแตกต่างที่ดูง่ายที่สุดนั้น มองที่เครื่องแต่งตัวของผู้หญิง ผู้ชายนั้นไม่ค่อยมีเท่าไหร่ แต่ว่าผู้หญิงนั้นเห็นชัด โดยเฉพาะในสังคมชาวนาที่นุ่งซิ่นมัดหมี่ นี่คือความหลากหลายที่เป็นความงดงาม เพราะฉะนั้น เวลาที่เราเข้าตลาด เราก็จะรู้ว่าเป็นคนพวกนี้ๆ แต่เขามาซื้อของร่วมกัน แลกเปลี่ยนกัน

ผมไปหลายๆ แห่ง พิธีกรรมหลายอย่างประกอบด้วย 1.ให้ความสัมพันธ์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ 2.ประกอบพิธีกรรมร่วมกัน 3.เอาของมาแลกเปลี่ยนกัน พื้นที่วัดหลายๆ แห่ง หรืออย่างเช่นในเม็กซิโกที่มีพีระมิดใหญ่ที่ใช้สำหรับบูชาพระอาทิตย์ ในเวลาปกติพื้นที่ที่เป็นลานตรงนั้นก็เป็นตลาดทั้งนั้นเลย อินเดียก็เช่นกันเป็นที่รวมสิ่งต่างๆ เหล่านี้ มันมีกระบวนการบูรณาการอยู่ในท้องถิ่น แต่ท้องถิ่นก็ต่างกัน ซึ่งเห็นชัด อย่างเช่นปราสาทเมืองพระนครในสมัยนครวัด ที่เขมรขบวนช้างยาวเหยียด อันนั้นก็มีคนหลายเผ่าพันธุ์อยู่ในเมืองพระนคร เวลาที่มีขบวนแต่ละคนก็ต่างแต่งตัวที่ต่างกันไป นั่นคือสิ่งที่มีอยู่แล้ว ความหลากหลาย

แต่พอมาถึงสังคมสมัย จอมพล ป. จอมพลสฤษดิ์ ทุกอย่างกลายเป็นไทยไปหมด ห้ามกินหมาก ให้แต่งตัวเป็นไทย เขาไม่ยอมรับความหลากหลาย แต่ถ้าหากว่าเราเข้าไปในอดีตจะเห็นความหลากหลายมาก ผมคิดว่าความหลากหลายนั้นอาจจะมองแง่ของกลุ่มชาติพันธุ์ หรือสำเนียงภาษาคือสิ่งที่สำคัญที่บอกความหลากหลายด้วย อย่างเช่นทางภาคกลางที่มีพวกลาวอะไรต่างๆ นั้นก็อยู่ที่ภาษาพูด หรือเรียกตามชื่อท้องถิ่นจึงเกิดความหลากหลายขึ้นมาแล้วถูกบูรณาการด้วยพื้นที่อีก

ในความหลากหลายนั้นเขาอยู่รวมกันโดยสมานฉันท์ และโดยเฉพาะเขามีสิ่งที่ควบคุมโดยอำนาจศักดิ์สิทธิ์ที่ควบคุมเขาอยู่ ในท้องถิ่นต่างๆ แต่ว่าในปัจจุบัน สิ่งที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนมากที่สุดก็คือรัฐ ไปแย่งพื้นที่โดยเฉพาะ ถ้าหากมองในสังคมไทยเมื่อก่อนนี้ ในกฎหมายตราสามดวงทุกอย่างของแผ่นดินเป็นของพระมหากษัตริย์ แล้วให้ชาวบ้านชาวเมืองใช้ แต่ว่าปัจจุบันนั้นรัฐเป็นเจ้าของที่ดิน ไปให้สัมปทานจึงเกิดปัญหาขึ้นมา

ชาวอิสลามที่ผมพบในภาคใต้ พื้นที่ดินเป็นของอัลเลาะห์หมดเลย แล้วมันทำให้เกิดการโกงขึ้น พื้นที่สาธารณะหลายแห่งรัฐออกเอกสารสิทธิ์ มันถึงเกิดนาร้างขึ้นมา เพราะว่าคนมุสลิมนั้นไม่ได้มองในเรื่องของกรรมสิทธิ์ แล้วถูกโกงมากโดยเศรษฐกิจทุนนิยมเสรีแหลกลานหมด เพราะฉะนั้น เวลาที่เราพูดถึงคนไทย ความหลากหลายนั้นมองไม่เห็น และกรรมการสมานฉันท์แทนที่จะเข้าไปรู้จักกับคนกลุ่มนั้นนี้ แต่ว่าไม่ทำ เขาไปเก็บข้อมูลอย่างหลวมๆ แล้วไปตัดสินจึงเกิดปัญหาขึ้นมา

ที่จริงการพูดคุยกันนั้นเป็นสิ่งที่ดี ที่เราจะสร้างความรู้จากข้างในว่าแต่ละเผ่าเป็นอย่างไร มีวิถีชีวิตอย่างไร มาแลกเปลี่ยนกันแล้วเราจะบูรณาการให้เป็นอันเดียวกันได้อย่างไร การศึกษาความหลากหลายวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่นนั้นไม่มีทางที่คนนอกจะทำได้ เพระว่าเข้าไม่ถึงในวิถีชีวิตของเขา มันต้องมีความร่วมมือของคนในท้องถิ่น

สิ่งที่เกิดขึ้น คือ รัฐเอาคนที่ไม่มีหัวนอนปลายตีนไปอยู่ในท้องถิ่น เข้ามาจากการเลือกตั้งโดยการซื้อสิทธิ์ขายเสียง เพราะฉะนั้น มันถึงพังไปหมด สังคมไทย เปลี่ยนชาวนาเป็นอุตสาหรรม ทำให้คนไม่มีสำนึกท้องถิ่น กลายเป็นปัจเจกไปหมด คนถิ่นอื่นถาโถมเข้ามาทับ แล้วรัฐเอาโครงสร้างภาคอุตสาหกรรมลงไป

ตัวอย่างที่ผมกำลังทะเลาะกับคนอื่นๆ ในเวลานี้คือ เรื่องของมรดกโลก ซึ่งโครงสร้างของมรดกโลกนั้นเป็นโครงสร้างที่จากบนลงล่างไม่เข้าใจวิถีของคน โครงการพัฒนาต่างๆ ที่มาจาก โลกาภิวัตน์นั้นอันตรายมาก อย่างเช่นการทำเขื่อนในแม่น้ำโขง 11 แห่งนั้น เป็นโครงสร้างที่ทำลายคนท้องถิ่นหมดเลย ซึ่งจะถูกแทนที่ด้วยคนข้ามชาติ

เสนอให้นักวิชาการ-เอ็นจีโอ ต้องลดบทบาท
เน้นสร้างคนท้องถิ่นสู้ด้วยตนเอง
ผมเคยคุยกับเอ็นจีโอ ว่า ถ้าหากเขาจะต่อสู้ เขาจะมาบอกเพียงว่าเรื่องปลาไม่มีนั้นไม่ได้ ไม่มีทาง มันต้องผนึกกำลังความหลากหลายของคนในท้องถิ่น แต่ละถิ่นมาคุยกัน เป็นภาคีใหญ่ แล้วเอาความจริงท้องถิ่นมาประชาพิจารณ์ต่อรอง จึงจะสามารถต่อต้านการข้ามชาติได้ เพราะพวกโครงการข้ามชาติมันหนัก เมืองไทยนั้นอย่างเช่นเรื่องบางสะพานเป็นต้น อ.นิธิ (เอียวศรีวงศ์) ก็ตกกระไดพลอยโจนไปด้วย เพราะว่าท่านไปทำเรื่องบ้านกรูด แต่เผอิญว่ามันไม่ใช่เพียงบ้านกรูดอย่างเดียว มันเป็นโครงการของโรงงานเหล็กขนาดใหญ่ ซึ่งชาวบ้านเขาเดือดร้อน อ.นิธิต้องเข้าไปช่วยชาวบ้านเรื่องการทำประชาพิจารณ์

ทีนี้ที่ อ.นิธิทำนั้นจะเห็นว่าคนในเขาแสดงตัวออก แต่ที่ผ่านๆ มานั้น เราพวกเอ็นจีโอ ไปทำแทนพวกชาวบ้านจึงทำให้ถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกมือที่สามไป หากเอาคนข้างมาทำประชาพิจารณ์โดยที่นักวิชาการช่วย นั่นคือการให้พลังเขาเพื่อที่จะสร้างความรู้อีกชุดหนึ่งขึ้นมาต่อรอง เพราะฉะนั้นถ้าหากเราพูดถึงความหลากหลายในสิทธินั้น เราต้องมาคิดว่าในกระบวนการต่อไปเราจะทำอย่างไร

ผมเห็นว่าบาทของ นักวิชาการ เอ็นจีโอ ต้องลดความเป็นพี่เลี้ยง แล้วต้องสร้างคนท้องถิ่นขึ้นมา เอาเรื่องราวของตนเองขึ้นมาเพื่อที่จะเห็นความหลากหลาย อย่างเช่นในเรื่องของบางสะพานไม่ใช่คนกลุ่มเดียวที่แสดงตัวออกมา แล้วให้รายละเอียดที่น่าสนใจมาก ซึ่งตรงนี้คือการประชาพิจารณ์ ในอนาคต ถ้ามองว่าจะสู้อย่างไร เราจะต้องลงมาข้างใน สร้างให้เป็นความรู้ แล้วเป็นกลุ่ม ถิ่นใดถิ่นหนึ่งจะสู้ด้วยตนเองไม่ได้ กรณีแม่น้ำโขงนั้นเป็นตัวอย่างที่ต้องสู้ เพราะสังคมสองระดับมันถูกทำลายด้วยสังคมอุตสาหกรรมที่เป็นปัจเจก แล้วยิ่งรุนแรงขึ้นในกระแสของโลกาภิวัตน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท