Skip to main content
sharethis

28 .. 51 - อาจารย์คณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงประชาชนและทุกภาคส่วนของสังคมไทย ให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และอย่างมีวิจารณญาณ รวมถึงเรียกร้องให้รัฐสภา (วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร์) จะต้องเข้ามามีบทบาทในการแก้ไข วิกฤตการณ์ทางการเมืองโดยเร่งด่วนและจริงจัง


 






 


จดหมายเปิดผนึกถึงประชาชนและทุกภาคส่วนของสังคมไทย


 


จากการที่ได้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ เรากลุ่มนักวิชาการซึ่งมีความวิตก กังวลต่อวิกฤตการณ์ครั้งนี้ได้ประชุมปรึกษาหารือและมีความเห็นร่วมกันว่า...


 


การประท้วง การบุกยึดพื้นที่สาธารณะและสถานที่ราชการ แม้จะผิดกฎหมายบ้านเมือง และอาจละเมิดสิทธิของบุคคลและสิทธิสาธารณชนมากบ้างน้อยบ้าง แต่ก็เป็นมาตรการที่ใช้กัน ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองภาคประชาชนที่ปฏิบัติกันในประเทศอื่นๆ ผู้ประท้วงซึ่งยึดหลัก "อารยขัดขืน (Civil Disobedience)" ในทางรัฐศาสตร์ ย่อมคาดการณ์ได้ล่วงหน้าและยอมรับการ ถูกลงโทษตามกฎหมาย


 


เราเห็นว่าวิกฤตการณ์ทางการเมืองไม่ใช่เรื่องของคนสองกลุ่ม คือ กลุ่มพันธมิตร ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กับรัฐบาลเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่องค์กรทางสังคมการเมืองภาคส่วน อื่นๆ และคนไทยทั้งประเทศจะต้องร่วมกันรับผิดชอบ ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งกลุ่มแกนนำ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย รัฐบาล รัฐสภา สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไปจึงควร ตระหนักในความจริงเรื่องนี้ และร่วมกันดำรงรักษาและส่งเสริมพัฒนาการทางการเมืองแบบ ประชาธิปไตย และการเมืองภาคประชาชนให้มีพื้นที่เวทีการเมืองไทย และต้องเข้มแข็งยิ่งๆ ขึ้น ไป ไม่ควรมองเพียงปรากฏการณ์ทางการเมืองในช่วง 2 วันที่ผ่านมาเท่านั้น หากควรจะ พิจารณาให้ครอบคลุมถึงสถานการณ์ที่ผ่านและที่จะกำลังเป็นไปในอนาคตด้วย


 


จากความเห็นร่วมกันดังกล่าว เรากลุ่มนักวิชาการจึงขอเรียกร้องต่อประชาชนและทุก ภาคส่วนของสังคมไทย ดังนี้


 


1. สื่อมวลชนอันประกอบไปด้วยหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ และสื่อสาธารณะอื่นๆ ควรจะทำหน้าที่เฝ้าติดตามและเสนอข่าวเหตุการณ์ทางการเมืองอย่างใกล้ชิด และ เข้มข้นมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทั้งในบริเวณการชุมนุม การดำเนินการกับผู้ต้องหา ทางการเมือง โดยควรจะให้พื้นที่ข่าวและให้ความสำคัญกับสถานการณ์นี้มากกว่า รายการบันเทิงอื่นๆ ซึ่งน่าจะลดพื้นที่ลงไปชั่วคราว เพราะการเฝ้าติดตามรายงาน สถานการณ์อย่างใกล้ชิดนี้จะเป็นมาตรการที่จะช่วยป้องกันมิให้มีการใช้กำลังหรือ ความรุนแรงในการแก้ปัญหา เพราะผู้ที่คิดจะใช้ความรุนแรงจะตระหนักว่าตนเอง กำลังถูกเผ้าดูโดยสื่อมวลชนอยู่ทุกขณะ


 


2. ขอให้ประชาชนทุกภาคส่วนควรได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และอย่างมี วิจารณญาณ เพราะวิกฤตการณ์ครั้งนี้จะกระทบต่อท่าน และเพื่อทำความเข้าใจ สำหรับการมีส่วนร่วมเพื่อแก้ไขวิกฤตนี้


 


3. รัฐสภา (วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร์) จะต้องเข้ามามีบทบาทในการแก้ไข วิกฤตการณ์ทางการเมืองโดยเร่งด่วนและจริงจัง ซึ่งที่ผ่านมายังแสดงบทบาทไม่เพียงพอ ประเด็นที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ การส่งสัญญาณให้สาธารณชนได้รับรู้และ มั่นใจ ว่ารัฐสภาจะไม่ดำเนินการใดๆ ที่จะกระตุ้นให้เกิดความขัดแย้งทางการเมือง เช่น การชะลอหรือเลิกล้มความพยายามที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 237 หรือ 309 เป็นต้น เพื่อลดหรือบรรเทาเงื่อนไขอันก่อให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองลง ไปให้มากที่สุด


 


4. รัฐบาลควรดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยใช้หลักสันติวิธี ใช้กฎหมายในการดำเนินการ กับกลุ่มผู้กระทำผิดกฎหมาย (ซึ่งมิใช่ผู้ประท้วงทั้งหมด) ตามควรแก่เหตุ การตั้ง ข้อหากบฏถือเป็นข้อหาที่รุนแรงเกินควร เพราะนอกจากไม่ได้ช่วยป้องปรามหรือ แก้ไขปัญหาแล้ว ยังเป็นการยั่วยุให้เกิดความโกรธและใช้ความรุนแรงของอีกฝ่าย หนึ่งด้วย


 


5. นอกจากนั้น รัฐบาลจะต้องไม่เข้าไปแทรกแซงการเสนอข่าวของสื่อ (ทั้งสื่อของรัฐ และสื่ออื่นๆ) หลีกเหลี่ยงที่จะใช้สื่อเป็นเครื่องมือหรือกระบอกเสียงในการต่อสู้ทาง การเมืองกับกลุ่มผู้ประท้วง ซึ่งจะทำให้เกิดความสับสน เข้าใจผิด และยั่วยุให้เกิด ความรุนแรงขึ้นในหมู่ประชาชนทั้งสองฝ่ายได้โดยง่าย เปิดโอกาสให้สื่อสาธารณะได้ เฝ้าติดตามดูและรายงานสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและจริงจัง


 


6. กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ควรตระหนักและยึดหลักการต่อสู้ ทางการเมืองโดยสันติวิธี ดังเช่นที่ได้ปฏิบัติมาเป็นเวลาเกือบ 100 วัน ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ที่เป็นแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ และผู้เข้าร่วมการชุมนุมประท้วงควรตระหนักว่า การคลี่คลายและปลายทางของการต่อสู้ทางการเมืองของกลุ่มพันธมิตรฯ ในครั้งนี้ มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะเป็นบรรทัดฐานของการเมืองภาคพลเมืองใน สังคมไทยทั้งในวันนี้และในอนาคต จึงควรใช้ความรอบคอบระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง


 


7. สำหรับเรา-ในภาควิชาการในเบื้องต้นนี้จะได้ติดตาม และเปิดเวทีวิชาการเพื่อ วิเคราะห์และให้ความคิดเห็นต่อสาธารณชนอย่างต่อเนื่อง


 


 


ทั้งนี้เวบไซต์คมชัดลึกได้รายงานว่า ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 28 ส.ค. นายจรัส สุวรรณมาลา คณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ นายสุรัตน์ โหราชัยกุล คณะรัฐศาสตร์ นายไชยยันต์ ชัยพร คณะรัฐศาสตร์ นางสุดา รังกุพันธุ์ คณะอักษรศาสตร์ นายวรศักดิ์ มหันทธโนบล คณะรัฐศาสตร์ นางสุภาวดี มิตรสมหวัง คณะสังคมวิทยา ร่วมกันแถลงข่าวถึงความคิดเห็นของนักวิชาการต่อสถานการณ์บ้านเมือง ซึ่งพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยบุกยึดทำเนียบรัฐบาล


 


นายจรัส กล่าวว่า ในช่วงเช้าที่ผ่านมานักวิชาการจากหลายสถาบันได้ร่วมหารือต่อสถานการณ์บ้านเมืองใน และได้ข้อสรุปว่า กระบวนการต่อสู้ทางการเมืองของกลุ่มพันธมิตรฯ เกือบ 100 วันที่ผ่านมา แสดงถึงพัฒนการทางการเมืองภาคประชาชนที่มีการพัฒนาขึ้นไปมาก มีการต่อสู้อย่างสันติวิธี


 


ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลก็ไม่ใช้กำลังเข้าปราบปราม จึงถือเป็นพัฒนาการด้านบวกที่จะเป็นรากฐานของประชาธิปไตยในอนาคต ส่วนเหตุการณ์การบุกยึดสถานีโทรทัศน์เอ็นบีและทำเนียบรัฐบาล แม้ว่าสังคมไทยจะมองว่าการยึดสถานที่ราชการเป็นความรุนแรง แต่ในต่างประเทศถือเป็นเรื่องธรรมดา การประท้วงของบางประเทศมีการตัดน้ำ ตัดไฟ ยึดสถานที่ราชการ ซึ่งไม่ถือเป็นเรื่องเลยเถิด อย่างไรก็ตาม ผู้ประท้วงต้องยอมรับว่าเมื่อมีการกระทำผิดกฎหมาย จากการต่อสู้แบบอารยะขัดขืน ก็ต้องกล้ายอมรับกับผลของการกระทำ ที่จะต้องถูกจับกุมดำเนินคดี



นายจรัส กล่าวอีกว่า นักวิชาการขอเรียกร้องให้สถาบันหลักทางการเมือง อาทิ สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และพรรคการเมือง ออกมามีบทบาทในการคลี่คลายปัญหาครั้งนี้ เพราะส่วนหนึ่งของปัญหาครั้งนี้เกิดขึ้นจากรัฐสภา ดังนั้นจึงควรมีส่วนร่วมแก้ปัญหาของประเทศ ด้วยการเปิดอภิปรายเพื่อร่วมกันหางทางออกให้กับปัญหา หรือให้รัฐสภาแสดงออกอย่างเร่งด่วนถึงการชะลอหรือล้มเลิกการแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตรา โดยเฉพาะมาตรา 237 และ 309 ซึ่งเป็นชนวนของความขัดแย้งครั้งนี้ อย่ายืนอยู่เฉยๆแล้วปล่อยให้ 2 ฝ่ายแก้ปัญหากันเอง เพราะจะมีโอกาสนำไปสู่ความรุนแรง ยืนยันว่าประเทศไทยยังไม่ถึงทางตัน สำหรับสื่อมวลชนต้องทำหน้าที่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะจะเป็นการป้องกันไม่ให้มีการใช้กำลังหรือความรุนแรง อย่างไรก็ตาม เท่าที่ได้ติดตามข่าวสารจากฟรีทีวีช่องต่างๆ พบว่า ยังนำเสนอแต่รายการบันเทิง ควรเปิดพื้นที่ข่าวให้มากขึ้น


 


นายจรัส กล่าวอีกว่า ในส่วนของรัฐบาลขอเรียกร้องให้แก้ปัญหาอย่างสันติวิธี ใช้หลักกฎหมายในการดำเนินการกับผู้กระทำความผิด แต่ควรเป็นกฎหมายที่สมควรแก่เหตุ การตั้งข้อหาที่รุนแรงเกินไปไม่ใช่การแก้ปัญหา แต่จะเป็นการยั่วยุให้อีกฝ่ายโกรธแค้น และอาจนำไปสู่ความรุนแรง นอกจากนี้รัฐบาลต้องไม่แทรกแซงการทำงานของสื่อ โดยต้องให้สื่อทำหน้าที่อย่างเป็นกลาง และต้องหลีกเลี่ยงการใช้สื่อเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาล สำหรับพันธมิตรต้องยึดหลักการต่อสู้อย่างสันติวิธีให้ถึงที่สุด เพื่อให้การต่อสู้ครั้งนี้เป็นบรรทัดฐานใหม่ของการเมืองภาคประชาชน ในส่วนของนักวิชาการจะจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง โดยในวันที่ 30 ส.ค.นี้ จะมีการจัดเสวนาเพื่อรับฟังความเห็นเพื่อร่วมหาทางออกให้บ้านเมือง ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ


 


ผู้สื่อข่าวถามว่าแกนนำพันธมิตรต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาลหรือไม่ นายไชยยันต์ กล่าวว่า เมื่อศาลมีคำสั่งให้กลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนย้ายออกจากทำเนียบรัฐบาล แกนนำก็ต้องปฏิบัติตาม เพราะคำสั่งศาลต้องเป็นที่สุดของทุกเรื่อง และทุกฝ่าย หากไม่ปฏิบัติตามบ้านเมืองจะไม่มีกติกา ขณะที่นายจรัส กล่าวว่า หากแกนนำไม่ฟังคำสั่งศาล เลือกจะต่อสู้ด้วยอารยะขัดขืน ก็ทำได้แต่จะต้องพร้อมยอมรับความผิดที่จะตามมาในทุกข้อกล่าวหา


 


ด้านนายสุรัตน์ กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้สื่อรายงานสถานการณ์อย่างเป็นกลาง เสนอมุมมองในเชิงวิเคราะห์ให้ประชาชนได้รับทราบว่า การบุกยึดทำเนียบฯและสถานีเอ็นบีทีมีที่มาที่ไปอย่างไร สำหรับสถานีเอ็นบีทีเป็นสื่อของรัฐ มาจากเงินภาษีของประชาชน เอ็นบีทีจึงไม่ใช่สื่อของรัฐบาล จึงไม่ควรใช้เอ็นบีทีเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาล จะต้องใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน


 


ทางด้านนางสุภาวดี กล่าวว่า การเสนอภาพข่าวการบุกยึดเอ็นบีทีซ้ำไปมา โดยไม่แสดงข้อมูลที่รอบด้าน จะมีผลต่อจิตวิทยาทางสังคมและประชาชนผู้รับสาร ซึ่งอาจมองว่าจะมีความรุนแรงถึงขั้นเกิดสงคราม จึงอยากเตือนให้สื่อระมัดระวังการเสนอข่าว สื่อมวลชนไม่ว่าจะเป็นของรัฐหรือเอกชน และต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบของต้นสังกัด ขณะเดียวกันคนที่เป็นสื่อต้องตะหนักถึงจิตวิญญาณในการทำหน้าที่ด้วยความเป็นกลาง วันนี้สื่อไม่ได้ทำหน้าที่โดยปราศจากอารมณ์ การรายงานข่าวไม่ใช่เวทีละครที่จะให้นางร้ายออกมาแสดงอารมณ์ จึงเรียกร้องให้ผอ.ช่อง 11 พิจารณาคัดเลือกผู้ประกาศข่าวที่มีประสบการณ์และคุณวุฒิของนักนิเทศศาสตร์ อย่าเลือกคนที่หน้าสวย หน้าหล่อแต่ไม่มีจิตวิญญาณของนักนิเทศศาสตร์ วันนี้เราใช้พื้นที่ของทีวีและหนังสือพิมพ์เพื่อความเด่นดัง ผู้ดำเนินรายการของเอ็นบีทีไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ พวกเขาเป็นเพียงผู้ที่มาเช่าเวลาของสถานีจัดรายการ จึงไม่ควรให้ใครก็ได้มาใช้เวลาของสถานีกล่าวโทษคนในสังคมอย่างไร้ความรับผิดชอบ หากผู้บริหารเอ็นบีทีปล่อยไว้เช่นนี้จะถูกตราตรึงว่าทำหน้าที่ไม่ถูกต้องในฐานะสื่อของรัฐ



         

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net