รวมแถลงการณ์จากหลากหลายเครือข่าย : ข้อเสนอต่อวิกฤตการเมือง

 

 





 

แถลงการณ์สมาพันธ์พรรคการเมืองเพื่อประชาชนและประชาธิปไตย (สพป.)

 

เรื่อง         การแก้ไขวิกฤตการเมืองและประชาธิปไตยของประเทศไทย

 

เรียน         นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อ

      ประชาธิปไตย ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธาน

      วุฒิสภา พรรคการเมืองทุกพรรคการเมือง ประชาชนชาวไทย และสื่อมวลชนทุกแขนง

 

 

สมาพันธ์พรรคการเมืองเพื่อประชาชนและประชาธิปไตย (สพป.) (ดังรายชื่อพรรคการเมืองสมาชิกท้ายแถลงการณ์ฉบับนี้) ขอเรียกร้องให้มีการแก้ไขวิกฤตการเมืองปัจจุบัน ดังต่อไปนี้

 

1.ทั้งสองฝ่ายยอมรับการมีผู้แทนคณะบุคคลที่แต่ละฝ่ายเสนอฝ่ายละ 3 คน และการมี

คณะบุคคลกลางที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับ 3 คน เพื่อเจรจายุติข้อขัดแย้ง และประกาศพันธสัญญาประชาคมร่วม

กันต่อประชาชนที่จะทำตามข้อตกลงโดยเร็วที่สุด

 

2.เนื้อหาข้อตกลงเบื้องต้นควรพิจารณาดังต่อไปนี้

 

2.1ทั้งสองฝ่ายยอมรับการดำรงอยู่ของรัฐบาล และการชุมนุมสาธารณะของ

พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยตามมาตรตา 63 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ที่ไม่เป็นการบุกรุกหน่วย

งานราชการใดๆ ไม่ทำให้บริการของรัฐที่มีต่อประชาชนหยุดชะงักหรือผิดจากสภาวะปกติ และไม่ก่อจลาจล

 

2.2 ทั้งสองฝ่ายจะสนับสนุนให้สภาผู้แทนฯและวุฒิสภาร่วมกันทำหน้าที่แก้ไข

วิกฤตบ้านเมือง โดยที่ประชุมรัฐสภาทั้งสองฝ่ายยอมรับที่จะนำเอาข้อเสนอของพันธมิตรประชาชนเพื่อ

ประชาธิปไตยมาพิจารณา และให้มีการจัดตั้ง "สภาปฏิรูปการเมืองและประชาธิปไตยของประเทศ" ที่มาจาก

การมีส่วนร่วมของผู้แทนจากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พรรคการเมืองทุกพรรค กลุ่มการเมือง

ต่างๆในสังคม นักวิชาการ และสื่อมวลชน เพื่อช่วยเหลืองานของทั้งสองสภา

 

2.3 พรรคการเมืองร่วมรัฐบาลยอมรับยุติการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และพันธมิตร

ประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยอมรับการชุมนุมที่ไม่ขยายตัวแต่จำกัดในสถานที่ที่ตกลงกับสำนักงานตำรวจ

แห่งชาติ

 

   2.4 ทั้งสองฝ่ายยอมรับการทำประชามติเพื่อให้ประชาชนตัดสินในประเด็นข้อขัดแย้งหลักๆ อาทิ

 

1) การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะทำได้หรือไม่ และ หากทำได้จะให้เป็นการ

ทำงานร่วมกันของผู้แทนรัฐสภา พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พรรคการเมืองทุกพรรค และผู้แทน

องค์การอื่นๆของประชาชน มิใช่โดยพรรคการเมืองในรัฐสภาเท่านั้น

 

2)      ประชาชนจะให้รัฐบาลปัจจุบันบริหารงานต่อไปหรือให้จัดตั้งรัฐบาล

แห่งชาติตามที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเรียกร้อง

 

3. การจะดำเนินการอย่างไรต่อไปนอกเหนือจากข้อ 3.4 ให้เป็นผลจากการดำเนินงาน

ของคณะกรรมการยุติข้อขัดแย้งตามข้อ 1. ที่มีคณะบุคคลกลางร่วมให้ความเห็นและลงนามเป็นสักขีพยาน

 

 

 

ด้วยขันติธรรมและสันติธรรม

วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ณ บริเวณหน้าอาคารรัฐสภา กรุงเทพมหานคร

 

หมายเหตุ : พรรคการเมืองที่เป็นสมาชิกสมาพันธ์พรรคการเมืองเพื่อประชาชนและประชาธิปไตยในปัจจุบัน :

พรรคสังคมธิปไตย พรรคแนวสังคมประชาธิปไตย พรรคแทนคุณแผ่นดิน พรรคราษฎรรักไทย พรรคแรงงาน พรรคสังคมไท พรรคเสียงประชาชน พรรคเสรีประชาไทย พรรคชีวิตที่ดีกว่า พรรคกสิกรไทย พรรคอธิปไตย พรรคเพื่อนเกษตรไทย พรรคชาติสามัคคี พรรคพัฒนาประชาธิปไตย พรรคสยาม พรรคกฤษไทยมั่นคง พรรคจงมีสยาม พรรคดำรงไทย (สังเกตการณ์)

 

 

 

 





แถลงการณ์ทางออกต่อวิกฤตความขัดแย้งทางการเมือง

     

ความขัดแย้งทางการเมืองของชนชั้นนำในภาวะปัจจุบัน ได้มีแนวโน้มนำไปสู่ความรุนแรงในสังคมไทยได้อีกครั้งหนึ่ง โดยมีประชาชนผู้บริสุทธิ์อาจจะตกเป็นเหยื่อของความขัดแย้งในครั้งนี้ได้

 เราขอเรียกร้อง ดังนี้     

1.รัฐบาลต้องไม่ใช้ความรุนแรงในการปราบปรามผู้ชุมนุม และพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยต้องหยุดสร้างเงื่อนไขใดๆทั้งปวงที่นำสู่ความรุนแรง  และเราไม่เห็นด้วยกับความรุนแรงจากทุกฝ่าย ตลอดทั้งกระบวนการที่จะนำไปสู่ความรุนแรง ไม่ว่าจะโดยข้ออ้างอันใดก็ตาม     

2.กรณีระเบิดแก๊สนำตา ทางตำรวจได้ปฏิเสธไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ขณะที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกล่าวหาว่าตำรวจเป็นผู้กระทำ เราขอเสนอให้รัฐสภาพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการที่เป็นกลางไม่สังกัดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมจากรัฐสภา องค์กรที่เป็นกลางได้รับความเชื่อถือ และผู้มีความรู้เชี่ยวชาญด้านๆต่างที่เกี่ยวข้องเป็นยอมรับจากทุกฝ่ายตรวจสอบสืบสวนหาข้อเท็จจริงดังกล่าว  

3.เราขอเรียกร้องให้ประชาชนคนไทย ติดตามข้อมูลข่าวสารไม่ว่าจากสื่อใดก็ตาม อย่างมีวิจารณญาณ มีสติปัญญา พิจารณาข้อมูลข่าวสารอย่างรอบคอบรอบด้าน ก่อนที่เชื่อว่าข้อมูลข่าวสารใดจริงใดเท็จ  ข่าวแบบแบบไหนเป็นข่าวลือ ข่าวลวง แบบใดเป็นเรื่องจริง เรื่องใดปั่นข่าวสร้างขึ้น อะไรเป็นการใส่ร้ายป้ายสี อะไรเป็นข้อเท็จจริง  เนื่องจากความขัดแย้งของชนชั้นนำในครั้งนี้ คู่ความขัดแย้งดังกล่าวได้พยายามทำทุกวิธีการเพื่อเอาชนะซึ่งกันและกัน รวมทั้งการทำสงครามข้อมูลข่าวสารด้วย

4.เราขอยืนยันว่า การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ต้องใช้ระบอบประชาธิปไตยรัฐสภาควบคู่กับการเปิดให้ภาคประชาชนส่วนอื่นๆเข้ามีส่วนร่วมด้วย เป็นการแก้ไขปัญหาอย่างสันติวิธี และปิดช่องทางการแก้ไขปัญหาด้วยความรุนแรงได้

5.เราขอให้ประชาชนคนไทยร่วมคัดค้านและประณามการฉวยโอกาสสร้างสถานการณ์เพื่อเปิดทางให้มีการรัฐประหาร และหรือฉวยโอกาสรัฐประหารไม่ว่าจากฝ่ายใดก็ตาม เนื่องเพราะประวัติศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจสังคมเมืองทั้งไทยและทั่วโลก ชี้ชัดว่าระบบรัฐประหารเป็นอุปสรรคขัดขวางการพัฒนาประชาธิปไตยรัฐสภาและประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมในหลายๆด้าน เช่น  สิทธิการรวมกลุ่มกันของประชาชน  การเคารพสิทธิเสรีภาพของสื่อสารมวลชนและประชาชน  การแก้ไขปัญหาความยากจน  การพัฒนาเศรษฐกิจสังคม และการถูกละเมิดสิทธิของประชาชน เป็นต้น

6. เราไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอเรื่องรัฐบาลแห่งชาติ หรือการเมืองใหม่70/30 ของพันธมิตรประชาธิปไตยเพื่อประชาชน ซึ่งอำนาจอธิปไตย อำนาจรัฐบาล อำนาจผู้ปกครองบริหารประเทศมาจากการแต่งตั้ง หรือ "ระบอบอำมาตยาธิปไตย" นั่นเอง และไม่ได้มีส่วนเชื่อมโยงกับฐานสิทธิของประชาชนแต่อย่างใด

 

ด้วยความเชื่อมั่นในเจตนารมณ์ระบอบประชาธิปไตย

กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนเพื่อประชาธิปไตย  ภาคเหนือ

กลุ่มนักศึกษาปริญญาโทเพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

กลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ(ปรส.)

สำนักเรียนรู้การกระจายอำนาจและประชาธิปไตยท้องถิ่น

ชมรมส่งเสริมการเรียนรู้ภาคเหนือ ตอนล่าง

 

 

 





 

 

คัดค้านการใช้ความรุนแรงและการมีข้อเสนอต่อประชาชนทุกภาคส่วน

 

 

โดยกลุ่ม 26 สิงหาและพรรคแนวร่วมภาคประชาชน

29 สิงหาคม 2551

 

 

1. เราไม่เห็นด้วยกับการคุกคามสื่อและไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงใดๆ กับผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และไม่เห็นด้วยที่พันธมิตรฯยั่วยุให้เกิดความรุนแรง 

 

2. การใช้ความรุนแรงของตำรวจและการดำเนินการบังคับคดีของฝ่ายตุลาการแสดงให้ เห็นปัญหาใหญ่ของฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้านในรัฐสภา รวมไปจนถึงสมาชิกแห่งวุฒิสภา และกระบวนการยุติธรรมในประเทศ โดยเฉพาะปรากฏการณ์ตุลาการภิวัฒน์ ที่ไม่สามารถสร้างความยอมรับให้เกิดขึ้นในหมู่สาธารณชนได้อย่างทั่วถึง

 

3. การต่อสู้ขัดแย้งกันของฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่เคยสนับสนุนการรัฐประหารปี2549 กับฝ่ายรัฐบาลและกลไกรัฐที่มีลักษณะบีบบังคับ นอกจากไม่ได้ให้ประโยชน์สุขกับประชาชนคนส่วนใหญ่ ซึ่งต้องเผชิญหน้ากับวิกฤติเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ยังเปิดเผยเนื้อแท้ของการแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ระหว่างชนชั้นนำด้วยกัน ซึ่งเร่งให้วิกฤตการณ์ในสังคมไทยรุนแรงมากยิ่งขึ้น และสหภาพแรงงานทั้งหลายพึงระมัดระวังในเรื่องนี้

 

4. บนพื้นฐานของผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ เราจึงขอเรียกร้องให้ภาคประชาชนคนส่วนใหญ่เฝ้าติดตามและเร่งพัฒนาการเรียน รู้ไปสู่การเฝ้าระวังผลประโยชน์โดยรวมของตน ที่สำคัญเฉพาะหน้าคือ

 

4.1  ประณาม การใช้ความรุนแรงของกลไกรัฐ การไร้ความสามารถและการเฝ้าแต่แสวงหาประโยชน์ของสมาชิกรัฐสภา และปัญหาการบีบบังคับของกระบวนการยุติธรรม

 

4.2  การ เมืองไทยในวันข้างหน้ายังต้องมีระบบตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้ง และต้องมีการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง มิใช่มุ่งไปในทิศทางการเมืองใหม่ ที่ระบุให้มีการแต่งตั้งตัวแทน 70% และเลือกตั้ง 30% ตามที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเสนอ

 

4.3  ประชาชน ทุกภาคส่วนต้องเร่งรณรงค์เรียกร้องอย่างหนึ่งอย่างใดให้คู่ขัดแย้งทั้งสอง ฝ่าย ที่ล้วนเป็นกลุ่มคนรวยและเป็นชนชั้นนำของประเทศ หันกลับมาแสดงตนเองว่ามีความรับผิดชอบเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนคนส่วนใหญ่ อย่างแท้จริง และตัวอย่างหนึ่งที่สำคัญก็คือ การที่กลุ่มคนรวยๆ และชนชั้นนำทุกระดับต้องยอมตกลงที่จะเสียภาษีทางตรง โดยเฉพาะภาษีทรัพย์สินและภาษีมรดกในอัตราที่ก้าวหน้า (รวยมากๆ ก็เสียมากๆ  รวย น้อยเสียน้อย คนจนไม่ต้องเสีย) ทั้งนี้เพื่อนำเงินที่ได้ไปใช้ในการปฏิรูปสังคมไทยในทุกๆ ด้านเพื่อให้ประชาชนทุกๆ คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตั้งแต่เกิดจนตาย
 

 

 

 





 

แถลงการณ์ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย (YPD)

เรื่อง ประณามการใช้ความรุนแรงและขอให้ทุกฝ่ายดำเนินการแก้ไขความขัดแย้งอย่างจริงจัง

 

สืบเนื่องจากการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ได้จัดการชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลลาออก บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ ถนนราชดำเนินและทำเนียบรัฐบาล  นำมาสู่การใช้ความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่ตำรวจในการเข้ายึดพื้นที่การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จนเกิดเหตุการณ์ปะทะกันและมีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายราย ในวันที่ 29 สิงหาคม 2551  โดยในช่วงค่ำวันเดียวกัน จากการเดินขบวนของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเพื่อประท้วงเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำการสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงและเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รับผิดชอบความเสียหายหน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาลนั้นได้เกิดการปะทะและยิงแก๊สน้ำตาจนทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก

 

จากการลงพื้นที่เข้าสังเกตการณ์ตลอดทั้งวันของศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย และเครือข่ายประชาสังคมไม่ใช้ความรุนแรง ซึ่งเป็นกลุ่มที่วางตัวเป็นกลางทางการเมืองและพยายามหาทางออกจากความขัดแย้งอย่างสันติมาโดยตลอด   ได้พบว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการยิงแก๊สน้ำตาของฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ  หลายรายอาการสาหัส  โดยก่อนหน้านี้จากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อช่วงกลางวันในวันเดียวกัน  ผู้ชุมนุมบางรายถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจทุบตีด้วยกระบองจนบาดเจ็บสาหัสจนไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ 

 

ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย(YPD) สนับสนุนสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองอย่างหลากหลาย โดยยึดแนวทางสันติวิธี  คัดค้านการยั่วยุให้เกิดการใช้ความรุนแรงหรือกระทบกระทั่งกัน  และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงระหว่างกันมาโดยตลอด  มีความเห็นเพิ่มเติมต่อสถานการณ์และข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้

 

1. ขอเรียกร้องให้รัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกว่าการกระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกองบัญชาการตำรวจนครบาล ยุติแนวทางการใช้กำลังและอาวุธเข้าสลายการชุมนุมทั้งหมด กระทั่งความคิดที่จะประกาศภาวะฉุกเฉินฯ เพื่อเปิดทางให้ใช้กระบวนการทางการเมืองเข้าเจรจา การใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐในครั้งที่ผ่านมา ถือเป็นการก่ออาชญากรรมต่อพลเมืองอย่างหนึ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นในยุคที่มีความเป็นประชาธิปไตย  และหากแม้พฤติกรรมใดๆ ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นการเข้าข่ายผิดกฎหมายหรือลิดรอนสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น  ก็สมควรถูกดำเนินการทุกอย่างไปตามขั้นตอนของกฎหมาย  ดังนั้น  รัฐบาลจะต้องให้มีการสืบสวนสอบสวนกรณีที่เกิดขึ้น ใครเป็นผู้ยิงแก็สน้ำตาตามที่นายกรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามบิดเบือนและปัดความรับผิดชอบ เพื่อลงโทษผู้ที่มีส่วนในการสั่งการให้เกิดการใช้ความรุนแรงดังกล่าว  และรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น

 

2. เราขอเรียกร้องให้กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พยายามอย่างถึงที่สุดที่จะควบคุมไม่ให้เกิดการใช้ความรุนแรงเกิดขึ้นจากมวลชนของตนเอง ซึ่งอาจจะนำไปสู่ข้ออ้างของเจ้าหน้าที่รัฐในการใช้ความรุนแรงเพื่อปราบปรามการชุมนุมได้ สำหรับกรณีที่ถูกสังคมตั้งข้อกังขา เช่นการบุกยึดสถานีโทรทัศน์NBT ซึ่งเข้าข่ายการลิดรอนเสรีภาพของสื่อมวลชน  กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยควรออกมาแสดงความขอโทษ พร้อมกับชี้แจงถึงเหตุผล และข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปฏิบัติการดังกล่าว ที่ปรากฏออกมาตามสื่อมวลชนด้วย  นอกจากนี้กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยควรพิจารณาหาทางปรับเปลี่ยนแนวทางการชุมนุมให้นำไปสู่การเจรจาหาข้อยุติร่วมกันกับฝ่ายรัฐบาล แทนการมุ่งเป้าหมายไปที่การกดดันขับไล่รัฐบาลเพียงอย่างเดียว  โดยไม่ได้นำไปสู่ทางออกที่เกิดจากการพบกันครึ่งทางของทุกฝ่ายท่ามกลางวิกฤตการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง

 

3. เราขอเรียกร้องรัฐสภา โดยพรรคการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา แสวงหาทางออกจากวิกฤติร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกันจากทุกฝ่าย โดยไม่ฉกฉวยโอกาสทางการเมืองเพื่อประโยชน์ส่วนตนในท่ามกลางวิกฤตความขัดแย้งในสังคมไทย ขอให้สมาชิกรัฐสภาและรัฐบาล ทำหน้าที่ในการเป็นผู้แทนปวงชนทั้งประเทศอย่างเป็นกลาง ปราศจากอคติทั้งปวง เพื่อหาทางออกจากวิกฤติความรุนแรงอย่างจริงจังและประกาศเป็นสัญญาประชาคม โดยมีผู้แทนจากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย รัฐบาล และตัวแทนพรรคการเมืองต่างๆ ร่วมเจรจาแสวงหาทางออก โดยใช้เวทีรัฐสภา

 

4. เราขอคัดค้านกองทัพ ให้ยุติแนวคิดหรือแนวทางที่จะนำมาสู่การก่อปฏิวัติรัฐประหารโดยการใช้กำลังทหาร ซึ่งไม่สามารถเป็นทางออกที่ดีแก่การพัฒนาประชาธิปไตยได้  ดังนั้น เราจะอาจยอมรับเหตุผลข้ออ้างของฝ่ายใดๆ ที่ต้องการให้มีการใช้กำลังทหารเพื่อยุติความขัดแย้งทางการเมืองไทยได้  ไม่ว่าฝ่ายใด  การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยจำเป็นต้องอาศัยการพัฒนาการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงทางความคิดของประชาชนในสังคม มิใช่การใช้กำลังอาวุธข่มขู่ เข่นฆ่า เปลี่ยนมือผู้มีอำนาจโดยขาดซึ่งการพัฒนาทางความคิดและสำนึกความเป็นพลเมืองในสังคมประชาธิปไตย

 

5. เราขอเรียกร้องให้ผู้นำทางการเมืองและกลุ่มพลังทางการเมืองต่างๆ ยุติการนำกำลังมวลชน เข้าปะทะ ก่อความรุนแรง หรือคุกคามต่อร่างกายและทรัพย์สินระหว่างกัน ซึ่งจะนำมาสู่การขยายตัวของความขัดแย้งและความรุนแรงไม่สิ้นสุด

 

 

ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย(YPD) มีความหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาทางการเมืองไทยไปในทิศทางที่ดีขึ้น  โดยอยู่บนหลักการสันติวิธีและกระบวนการวิถีประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

           

 

ปัญหาการเมืองไทย ต้องแก้ด้วยกระบวนการประชาธิปไตย

ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย (YPD)

31 สิงหาคม 2551

 

 

 

 





 

แถลงการณ์เครือข่ายสิทธิมนุษยชนอีสานใต้

 

ตามที่มวลชนในนามพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย  บุกยึดสถานีโทรทัศน์ NBT และปิดล้อมสถานที่ราชการหลายกระทรวง    และปิดท่าอากาศยานหลายแห่ง  สังคมไทยได้ตกอยู่ในภาวะตึงเครียดอย่างยิ่ง  ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลและพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ทำให้มองไม่เห็นหนทางว่าความขัดแย้งในขณะนี้จะยุติลงอย่างสันติได้อย่างไร พวกเราในฐานะประชาชนที่ห่วงใยสังคมไทยจึงขอแสดงทรรศนะและข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้


1. รัฐบาลยุติการใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุม โดยเฉพาะที่ทำเนียบรัฐบาล

             2. ฝ่ายพันธิมิตรยุติการใช้ยุทธวิธีที่ยั่วยุให้ตำรวจใช้ความรุนแรงต่อมวลชน เพื่อหวังผลทางการเมืองในการ ดึงให้กองทัพเข้ามาแทรกแซงการเมืองโดยการยึดอำนาจ   นำสังคมไทยกลับสู่วงจรอุบาทย์ทางการเมืองอีกต่อไป

              3. สื่อมวลชน เสนอข่าวอย่างเป็นกลาง  ไม่ลำเอียงเข้าข้างฝ่ายใด  จนนำไปสู่การชี้นำให้มวลชนเข้าร่วมการเคลื่นไหวของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจนนำไปสู่วิกฤตของสังคม

              4. นักวิชาการ นักปราชญ์ บุคคลสำคัญ มีความกล้าหาญในการแสดงความเห็นอย่างเป็นกลาง  ยึดหลักการตามหลักวิชาการ  กล้าวิจารณ์ เสนอแนะต่อคู่ขัดแย้งสองฝ่าย  อย่างตรงไปตรงมาเพื่อประโยชน์ของแผ่นดิน
               3. ขอเรียกร้องให้ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายพันธมิตรยอมถอยคนละก้าว  และประชุมหารือเพื่อหาทางออกให้สังคมโดยสันติ

    

 

                                                                        

 

เครือข่ายสิทธิมนุษยชนอีสานใต้ (คสต.)

                                                                                    30 สิงหาคม 2551   

 

 

 






 

แถลงการณ์ทางออกปัญหาการเมืองไทย

 

            สืบเนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองไทย ณ ปัจจุบัน ได้นำไปสู่ความขัดแย้งและรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ สถานการณ์ดังกล่าว อาจนำไปสู่การนองเลือด การตัดสินใจใช้กำลังเพื่อบรรลุจุดประสงค์ของทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ไม่ก่อให้เกิดผลดีต่อประเทศชาติและประชาชน รวมทั้งการเรียกร้องของทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายพันธมิตรฯ ก่อให้เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายโดยไม่มีทางเลือกให้กับประชาชนผู้ซึ่งไม่เห็นด้วยกับทั้ง 2 ฝ่าย

 

            ดังนั้น เราขอเสนอข้อเรียกร้องเพื่อเป็นทางออกให้กับการเมืองไทยในขณะนี้ ดังนี้

 

1.    รัฐบาลควรแสดงความรับผิดชอบด้วยการยุบสภา และยุติการใช้ความรุนแรงโดยเครื่องมือและกลไกต่างๆ ของรัฐ รวมทั้งจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ตามแนวทางประชาธิปไตยโดยเร็ว

2.       พันธมิตรควรยุติบทบาทการชุมนุม และคืนอำนาจในการตัดสินใจให้กับประชาชน

3.       สื่อมวลชนควรเสนอข่าวอย่างเป็นกลาง โดยเห็นแก่ประโยชน์ของชาติและประชาชน

4.    องค์กรทุกภาคส่วนควรแสดงท่าที และความคิดเห็น บนพื้นฐานของเหตุผลและความเป็นกลางทางการเมือง

 

วันที่ 31 สิงหาคม 2551

 

รายนามผู้ร่วมแถลงการณ์

1.  นางสาวกิ่งกาญจน์  สำนวนเย็น    (อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี)

2.  นางสาวพิสมัย  ศรีเนตร (อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี)

3.  นายอนุสรณ์ งอมสงัด                (อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี)

4.  นางสาวญาเรศ อัครพัฒนานุกูล    (อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี)

5.  นายประดิษฐ์ ชินอุดมทรัพย์        (อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี)

6.  นายกิตติ อินทรีย์                     (นายกสโมสรนักศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี)

7.  นายศราวุธ เห็มภิระ                   (นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี)

8.  นางสาวรจนา คำดีเกิด               (นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี)

9. นายอภิสิทธิ์ บัวแก้ว                   (นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี)

10. นายธวัชชัย เกษียร                  (นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี)

11. นายทวีรักษ์ หวังสุข                 (นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี)

12. นางสาวจีรวรรณ มลามาตย์        (นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี)

13. นายอาทิตย์ โรจน์ดวง               (นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี)

14. นายหิรัณชพงศ์ โพธิ์ดำ (นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี)

15. นายปัญญา หล่าแสนเมือง         (นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี)

16. นางสาวศิรินภา ดาทอง (นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี)

17. นางสาววัชราวลี บุญเทียน          (นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี)

19. นางสาววริษา สังคมศิลป์           (นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี)

 

 

 

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท