สหภาพแรงงาน สอฟส. เตรียมยื่นหนังสือถึงสถานทูตญี่ปุ่นและกระทรวงแรงงาน

จากการที่ กรณีบริษัทโฮย่ากลาสดิสก์ประเทศไทยจำกัด ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จังหวัดลำพูน ได้เลิกจ้างพนักงานที่เป็นกรรมการและสมาชิกสหภาพแรงงานอิเล็คทรอนิคส์และเครื่องไฟฟ้าสัมพันธ์ (สอฟส.) จำนวน 60 คน และนายผดุงศักดิ์ เทพหัสดินทร์ ณ อยุธยา อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานมีคำสั่งเพิกถอนการขึ้นทะเบียนของสหภาพแรงงานอิเล็คทรอนิคส์และเครื่องไฟฟ้าสัมพันธ์

 

นายศรีทน เปรื่องวิชาธร ประธานสหภาพแรงงานฯ ได้กล่าวถึงแนวทางการเคลื่อนไหวของสหภาพฯว่า ในเร็วๆ นี้ ทางสหภาพฯ จะมีตัวแทนยื่นหนังสือถึงเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยและกระทรวงแรงงาน เพื่อ ขอให้ตรวจสอบการดำเนินการเกี่ยวกับการล้มสหภาพแรงงานของบริษัทโฮย่า ฯ เนื่องจากว่าภายหลังจากที่มีสหภาพแรงงานแล้ว การดำเนินกิจกรรมของสหภาพแรงงานได้รับแรงกดดันจากฝ่ายบริหารของบริษัทฯ มาโดยตลอด

 

ยกตัวอย่างเช่น การออกประกาศของบริษัทฯ ไม่ให้สหภาพแรงงานฯ ดำเนินกิจกรรมของสหภาพแรงงานในบริษัทฯ ไม่ให้ความร่วมมือ และไม่ให้ความสำคัญในการประชุมกับทางสหภาพฯ ในประเด็นที่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาตามที่คนงานร้องเรียน เพื่อการจัดสวัสดิการของคนงาน และเพื่อการสร้างระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง

 

โดยคณะกรรมการสหภาพฯ คณะกรรมการลูกจ้างได้ทำหนังสือยื่นต่อบริษัทฯ เพื่อขอประชุมร่วม ทั้งหมด 7 ครั้ง แต่มีการตอบรับพูดคุยเพียงครั้งเดียวเท่านั้นคือการนัดประชุมในครั้งแรก เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551 ซึ่งก็ไม่มีข้อสรุปเพราะฝ่ายบริษัทฯ ส่งตัวแทนที่พนักงานฝ่ายบุคคลที่ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจใด ๆ เข้าร่วมประชุม หลังจากการประชุมในครั้งนั้นคณะกรรมการสหภาพแรงงาน คณะกรรมการลูกจ้าง ได้ขอนัดประชุมกับทางฝ่ายบริหารของบริษัทอีกหลายครั้งแต่ก็ไม่เป็นผล ฝ่ายบริหารของบริษัทไม่ใส่ใจที่จะจัดการประชุมพูดคุยร่วมกับคณะกรรมการสหภาพแรงงาน คณะกรรมการลูกจ้าง

 

นายศรีทน ยังกล่าวถึงการดำเนินการทำลายของสหภาพฯโดย บริษัทฯ ว่า มีการเลิกจ้างคนงานที่เป็นสมาชิกของสหภาพฯ 6 คน มีการขออำนาจศาลเพื่อเลิกจ้างประธาน รองประธาน และเลขา ของสหภาพแรงงาน อ้างเหตุในการขอเลิกจ้างคือ พนักงานได้มีพฤติกรรมอันไม่เหมาะสมกับการเป็นพนักงานและหัวหน้างานที่ดีอันพึงจะปฏิบัติและได้ฝืนระเบียบข้อบังคับของบริษัทฯ ซึ่งไม่มีเหตุผลเพียงพอ และที่สำคัญในระหว่างการขออำนาจศาลบริษัทฯ ไม่ยอมให้ทั้งสามคนเข้าไปทำงานตามปกติ แต่ให้อยู่ข้างนอกโรงงานแทนซึ่งการกระทำเช่นนี้นำมาสู่ปัญหาของการดำเนินงานของสหภาพแรงงานเป็นอย่างยิ่ง เพราะทั้ง 3 คน เป็นคณะกรรมการและสามารถเข้าถึงสมาชิกสหภาพฯ ได้อย่างกว้างขวาง ดังนั้นเมื่อต้องอยู่นอกโรงงานก็ทำให้กสหภาพฯ ไม่สามารถที่จะได้พบปะกับสมาชิกและรับเรื่องร้องทุกข์จากสมาชิกได้ อย่างทั่วถึงและทันท่วงที

 

ด้านนายอัครเดช ชอบดี รองประธานสหภาพฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมาสหภาพแรงงานพยายามที่จะดำเนินงานสหภาพเพื่อสร้างระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างมาโดยตลอด พยายามที่จะทำหนังสือขอพูดคุยกับบริษัทฯ แต่ไม่เป็นผลเพราะทางบริษัทฯ ไม่ยอมพูดคุยด้วย

 

และเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2551 บริษัทได้เรียกคณะกรรมการสหภาพแรงงานฯ ทั้ง 21 คน ไปพบ เพื่อรับทราบการเลิกจ้าง หลังจากที่มีการแจ้งให้ทราบว่ามีการเลิกจ้างแล้ว ก็ให้คณะกรรมการทั้งหมดออกจากโรงงานในตอนนั้นเลย แต่คณะกรรมการก็ยังไม่ได้ออกจากบริษัทฯ ในทันที แต่มายืนคุยกันอยู่ที่บริเวณหน้าบริษัท (ด้านในบริษัทฯ) ถึงเรื่องที่เกิดขึ้นเพราะคณะกรรมการทุกคนอยู่ในสภาพมึนงงด้วยไม่รู้ว่าทำไมนายจ้างถึงเลิกจ้างกะทันหันเช่นนี้ และอีกอย่างเพราะว่าคณะกรรมการสหภาพฯ ทุกคนเป็นคณะกรรมการลูกจ้างด้วยซึ่งถ้าหากนายจ้างต้องการเลิกจ้างก็ต้องไปร้องขอต่อศาลแรงงานก่อนเพื่อให้ศาลแรงงานตัดสิน จึงจะสามารถเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างได้ ทำให้คณะกรรมการลูกจ้างยังไม่ออกจากโรงงานเพราะกลัวว่าจะกลายเป็นละทิ้งหน้าที่การงาน หลังจากนั้นไม่นานนายจ้างก็สั่งให้หน่วยรักษาความปลอดภัยของบริษัทฯ เข้ามาฉุด กระชาก ลากถู คณะกรรมการให้ออกจากโรงงานส่งผลให้คณะกรรมการบางคนได้รับบาดเจ็บ โดยคณะกรรมการสหภาพฯ ที่ได้รับบาดเจ็บได้แจ้งความดำเนินคดีกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้แล้ว

 

นายอัครเดช ยังกล่าวต่อว่า ในช่วงสายของวันที่ 4 สิงหาคม 2551 นี้เองที่สหภาพฯได้รับทราบว่ามีคำสั่งโดยนายทะเบียนกลางกรุงเทพฯ มีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนคณะกรรมการสหภาพแรงงาน และเพิกถอนทะเบียนสหภาพแรงงานอิเล็คทรอนิกคส์และเครื่องไฟฟ้าสัมพันธ์ ดังนั้นบริษัทจึงได้เลิกจ้างคณะกรรมการสหภาพซึ่งเป็นคณะกรรมการลูกจ้างด้วย ทั้ง 21 คน ทันทีที่มีการแจ้งเพิกถอนทะเบียนสหภาพ

 

"ประเด็นที่ชัดเจนก็คือความตั้งใจของนายจ้างในการต้องการเลิกจ้างแกนนำสหภาพอยู่แล้วจึงดำเนินการทันที แสดงถึงเจตนาที่ชัดแจ้ง และเลิกจ้าง คนงานสมาชิกสหภาพอีก 22 คนด้วยในวันเดียวกัน คือวันที่ 4 สิงหาคม 2551 และหลังจากนั้นได้มีการเลิกจ้างคนงานที่เป็นสมาชิกสหภาพฯ อีก 8 คน และก็มีท่าทีว่าจะไม่หยุดเพียงแค่นี้ รวมถึงการที่บริษัทฯพยายามที่จะให้หัวหน้างานมาขู่คนงานไม่ให้มายุ่งเกี่ยวกับสหภาพแรงงาน ฯ ซึ่งการดำเนินการต่าง ๆ ของบริษัทโฮย่ากลาสดิสก์ (ประเทศไทย) จำกัด ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิในการรวมกลุ่มเพื่อจัดตั้งเป็นสหภาพแรงงานของคนงาน เป็นการกระทำไม่เป็นธรรม และต้องการล้มล้างสหภาพแรงงานให้หมดไป ดังนั้น สหภาพฯ จึงใคร่ขอให้ท่านเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย ได้ดำเนินการให้บริษัทโฮย่ากลาสดิสก์ (ประเทศไทย)จำกัด หยุดการทำลายสหภาพแรงงาน และเคารพกฎหมายไทย" นายอัครเดช กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท