Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


ชื่อบทความเดิม :


จากคนสมองเปื้อนเลือด มัฆวาน ส.ค.51


ถึงเบื้องหลังฆาตกรรมโหด 6 ตุลาคม 19


โดย พิทยา ว่องกุล


 


 


 


สามัญสำนึก หรือคุณธรรมกับอำนาจนั้น สุดท้ายก็จะมีผู้เลือกเอาอำนาจเป็นใหญ่ บิดเบือนคุณธรรมอย่างเลวร้ายเสียหาย หรือยอมวางแผนด้วยความเลวร้าย เพื่อให้ตนได้อยู่ในอำนาจ ได้เป็นใหญ่อยู่เหนือคนอื่น โดยอาศัยเลือดหรือกองกระดูกของประชาชนผู้มีอุดมการณ์ประชาธิปไตย ผู้กล้าตรวจสอบความชั่วร้ายของนักการเมืองที่มากเล่ห์เพทุบาย มาต่อมาเรียงบนเก้าอี้รัฐมนตรี เก้าอี้นักการเมือง เพื่อที่ตัวเองจะได้นั่งชูคอมีหน้ามีอำนาจเหนือประชาชน และปากพร่ำบ่นความเป็นประชาธิปไตย รักษาประชาธิปไตย


 


มีการวางแผนก่อเหตุการณ์นองเลือด เพื่อรักษาอำนาจของรัฐบาลหรือไม่? เป็นคำถามของประชาชนที่เกิดขึ้น หลังจากเกิดกรณีม็อบ นปก.แหวกฝ่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ แล้วบุกลุยปะทะกับนักรบศรีวิชัยหรือหน่วยรักษาความปลอดภัยของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ต่างฝ่ายต่างใช้มีดไม้และอาวุธตีขว้างเข้าใส่กันใกล้บริเวณถนนราชดำเนิน จนกระทั่งตาย 1 ราย บาดเจ็บถึงขั้นอยู่โรงพยาบาล 11 ราย และบาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่งหลายสิบคน เลือดเริ่มหยาดหยดรดราชดำเนิน - ถนนแห่งประชาธิปไตยอีกครั้ง


 


ไม่มีใครมั่นใจว่า อนาคตอันไกล้ เลือดจะไม่นองแผ่นดินอีกครั้งหนึ่ง เพราะประชาชนสงสัยว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเกมการเมืองหรือเปล่า?


 


รัฐบาลหรือตำรวจวางแผนใช้ม็อบปะทะม็อบหรือเปล่า? เป็นคำถามทึ่รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช จักต้องเคลียร์ให้ชัดเจน เพราะเมื่อเรียงลำดับเหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองแล้ว จะพบว่า หลังจากพันธมิตรประชาชนฯยึดทำเนียบ พร้อมประกาศอารยขัดขืนเพื่อแสดงสัญลักษณ์ให้เห็นถึงการดื้อเพ่งต่อการปกครองของรัฐบาลสมัคร ไม่ยอมรับการบริหารปกครอง โดยอ้างเหตุผลว่าเป็นรัฐบาลไม่ชอบธรรมด้วยเหตุผลมากมาย


 


ต่อมารัฐบาลสมัครก็พยายามจะอ้างเอาคำสั่งศาล ไม่ว่าคำสั่งจับผู้นำพันธมิตรประชาชนฯ 9 คนที่แรงเกินและเลยเหตุผล แสดงเจตนารมณ์ที่ห้ำหั่นให้ถึงตาย หรือจำคุกตลอดชีวิต ด้วยคดีอาญาข้อหากบฎ ทำให้นักกฎหมาย นักวิชาการ สื่อมวลชน ผู้รักความเป็นธรรมสาขาอาชีพต่างๆออกมาทักท้วงและประณาม


 


สถานการณ์รุนแรงยิ่งขึ้น ในวันที่ 29 สิงหาคม 51 เวลา 10.จจ น. ตำรวจนับพันอ้างคำสั่งศาลแพ่งที่ให้พันธมิตรประชาชนฯถอนการชุมนุมและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปเอง แต่ตำรวจกับฉวยโอกาสนั้นบุกสลายการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนฯที่สะพานมัฆวานเสียทันที ด้วยความรุนแรงเยี่ยงศัตรูคู่แค้น โดยตำรวจพร้อมกระบองและโล่ห์ เดินเรียงหน้าไล่ตีประชาชนที่ไม่ละเว้นแม้คนแก่ และสตรี จนบาดเจ็บเลือดสาดหลายสิบคน รวมทั้งหน่วยแพทย์ที่มีเครื่องหมายกาชาดบางคนก็ถูกทำร้ายด้วย มิหนำซ้ำยังแสดงใจหินชาติ ไม่ยอมให้หน่วยแพทย์เข้าไปรับเอาคนบาดเจ็บไปรักษาพยาบาล สะท้อนจิตวิปริตผิดมนุษย์ เพราะแม้แต่ในยามสงครามรบพุ่งกัน คู่สงครามจะไม่ยอมทำร้ายหน่วยแพทย์ และต้องเปิดทางให้มีการรักษาพยาบาลผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างเท่าเทียมกัน โชคดีที่พรรคฝ่ายค้านเข้าไปเจรจาช่วยเหลือ ประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บจึงมีโอกาสไปถึงมือหมอ


 


เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สะท้อนจิตใจนักการเมืองที่อำมหิตชั่วร้ายขึ้นมีอำนาจปกครองประเทศ พวกเขามีจิตวิปริตที่นิยมใช้ความรุนแรงมาเป็นนิสัยสันดาน สร้างเหตุการณ์นองเลือดตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน ควรที่จิตแพทย์ควรหาตัวมารักษาที่โรงพยาบาลโรคจิต มิฉะนั้นการเมืองไทยคงมีปัญหานองเลือดต่อไป ถ้านักการเมืองนั้นยังอยู่ในอำนาจ


 


ส่วนตำรวจที่ทำร้ายเพื่อนร่วมชาติ ตามคำสั่ง ผู้บังคับบัญชาที่ได้รับมอบอำนาจจากนายกรัฐมนตรีให้สลายการชุมนุม โดยอ้างคำสั่งศาลแพ่งจนเป็นเหตุให้เลือดสาดถนนราชดำเนินนอกนั้น ทำให้ฝ่ายพันธมิตรประชาชนฯไปชุมนุมประท้วงล้อมสำนักงานตำรวจนครบาล เพื่อทวงถามหาความรับผิดชอบ ผลก็คือได้รับการยิงแก๊สน้ำตาสลาย พร้อมกับยิงปืนลูกกระสุนยาง หรือบางคนสงสัยว่าเป็นระเบิดปิงปอง จนทำให้พันธมิตรฯต้องแสบตาและบาดเจ็บถอยกลับมา


 


วันรุ่งขึ้น ท่ามกลางข่าวการเคลื่อนไหวของส.ส.พรรคพลังประชาชนระดมม็อบต้านม็อบ หรือที่เรียกว่าม็อบ นปก. พลันฝ่ายตำรวจก็ประกาศว่าจะใช้เฉพาะโล่ห์ป้องกันตัว ไม่ติดอาวุธแม้แต่กระบอง นี่เป็นปริศนาให้ขบคิด เพราะในคืนถัดมาเมื่อส.ส.พรรคพลังประชาชนนำม็อบ นปก.จากสนามหลวง เคลื่อนเข้าหาฝ่ายพันธมิตรฯที่ราชดำเนินนอก ก็สามารถทะลวงด่านตำรวจเข้ามาสร้างเหตุนองเลือดปะทะกัน จนนองเลือดบาดเจ็บและตาย ตำรวจก็อ้างว่าไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ แต่ประชาชนกลับสงสัยว่า เป็นการวางแผนกันหรือไม่? ฝ่ายตำรวจจะต้องตอบปัญหานี้ให้ชัดแจ้งว่าเป็นการวางแผนกันหรือไม่?


 


สถานการณ์การเมืองที่เกิดขึ้น จึงมีแนวโน้มจะนองเลือดหนักยิ่งขึ้น เมื่อสมัคร สุนทรเวชอาศัยสถานการณ์นั้น ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างไม่มีเหตุสมควร โดยมีวัตถุประสงค์ที่ใครๆรู้เท่าทันว่า หาเรื่องอาศัยกฎหมายยุติการชุมนุมพันธมิตรฯ และเปิดโอกาสที่จะใช้กองทัพเป็นเครื่องมือจัดการปราบปรามพันธมิตรฯ ซึ่งผลก็คาดคิดได้ว่า เหตุนองเลือดครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์จะเกิดขึ้นอีกครั้ง รัฐบาลสมัครก็จะเป็นรัฐบาลมือเปื้อนเลือดที่สังคมชิงชังรังเกียจ และในอนาคตสมัครจะยอมรับจำนวนประชาชนที่ตายแค่ไหน?


 


สมัครเป็นคนที่ยอมรับความจริง มีความสัตย์หรือไม่? สังคมไทยรู้อยู่แก่ใจดี และเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 19 เป็นตัวอย่างอันดีประการหนึ่ง


 


หลายเดือนที่ผ่านมา เมื่อมีการโต้กันเรื่อง เหตุการณ์ 6 ตุลาคม นายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวช ก็ยังกระต่ายขาเดียวกับคนทั่วโลกว่ามีคนตายเพียงคนเดียว ทั้งที่ตัวเองก็อยู่ในเหตุการณ์นั้นนอกธรรมศาสตร์(ตีความจากข่าว) โดยไม่สนใจหลักฐานจากวิดิโอ หรือภาพข่าว ขณะนั้นอดิศร เพียงเกษที่ยังมีจิตใจความเป็นมนุษย์จึงออกมาโต้แย้งฝ่ายเดียวกัน


 


ย้อนอดีต การปราบปรามนักศึกษาครั้งนั้น มันโหดเหี้ยมอำมหิตผิดมนุษย์มนา เหมือนสัตว์ร้ายขยี้เหยื่อเล่น เลือดแดงนองแผ่นดินธรรมศาสตร์ ท่ามกลางเสียงหัวเราะ ปรบมือ ร้องเพลงปลุกใจ และสหบาทาที่รุมเตะกระทืบไปยังนักศึกษา ระงมด้วยเสียงปืนจากเอ็ม 16 บาซูก้าของตำรวจซัดเข้าไปในมหาวิทยาลัย คละเคล้ากับเสียงร้องครวญครางของนักเรียนนักศึกษาที่มือว่างเปล่า เสียงตะโกนผ่านลำโพงขอร้องอย่าให้เจ้าหน้าที่อย่าทำร้ายนักศึกษาประชาชน


 


คนเดือนตุลาจำนวนมากรู้สึก เจ็บ เดือดดาล เคียดแค้น ร้องไห้ และดิ้นรนหาทางเข้าป่า เพราะตอนนั้นรู้สึกว่า เมืองพุทธทำไมถึงโหดร้ายขนาดนี้ ไม่อยากจะอยู่ภายใต้การปกครองอันชั่วร้ายอีกต่อไป ทั้งที่ไม่รู้เรื่องคอมมิวนิสต์นัก แต่ต้องการเข้าป่าเพื่อต้องการแก้แค้นให้เพื่อน และ "เลือดต้องล้างด้วยเลือด" จำกันได้ไหมว่าแถลงการณ์ประกาศเจตนารมณ์เข้าร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์ของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ในสถานการณ์สู้รบที่ปฏิวัตินั้น พวกคุณชิงชังรังเกียจความเหี้ยมอำมหิตของเจ้าหน้าที่อย่างไม่ยอมให้อภัย ไม่ยอมเผาผีเสียด้วยซ้ำสำหรับคนปากเสียที่ใช้วิทยุยานเกราะปลุกระดมให้คนไทยฆ่ากันเหมือนครั้งนี้


 


จำได้ไหม ? เพื่อนพ้องน้องพี่เดือนตุลา โดยเฉพาะจรัล ดิษฐาภิชัยที่ร่วมปลุกระดม นปก. เคลื่อนมาตีปะทะประชาชน ยังจำกบ(จำชื่อจริงไม่ได้)ได้ไหม? นักศึกษาธรรมศาสตร์ร่างผอมสูง เพื่อนรุ่นน้องของคุณเขาเป็นคนดีเพียงใด? ผมเห็นเขาถูกลูกเสือชาวบ้านผูกวิ่งลากไปมาในสนามหลวงฝั่งตรงกันข้ามกับธรรมศาสตร์ ก่อนที่เขาจะตายนั้นมันเจ็บปวดแค่ไหน เมื่อเนื้อหนังนั้นครูดไปกับพื้น เลือดทะลักออกมาคลุกกรวดทราย ผมตูห่างๆด้วยความสังเวชใจ เดินร้องไห้น้ำตานองหน้า ไม่สามารถจะเข้าไปช่วยอะไรได้ และก็มีนักข่าวรุ่นพี่มาดึงแขนออกจากสนามหลวง ด้วยคำพูดสั้นๆว่า "ไป เดี๋ยวก็โดนอีกคนหรอก" โดยผมไม่ได้เห็นภาพถูกแขวนคอประจาน และถูกข้อหาว่าเป็นญวนดังปรากฏเป็นข่าวในภายหลัง


 


ผมไม่ทราบว่า คนที่ชอบอ้างว่าเป็นคนเดือนตุลา จิตใจเขาทำด้วยอะไร ที่ยังจะร่วมมือเข้าร่วมกับรัฐบาล ร่วมกับคนบางคนที่มักโกหกตลบแตลงว่าไม่มีส่วนร่วมในการวางแผนสังหารโหด 6 ตุลาคม 19 มือเขาไม่ได้เปื้อนเลือด จริงครับ มือเขาไม่ได้เปื้อนเลือด มือเขาไม่ได้ทำ หากแต่สมองเขาต่างหากเต็มไปด้วยเลือด ปากของเขาหิวกระหายเลือด ดีนะที่พวกคุณยังมีชีวิตรอดอยู่มาได้ จนได้เป็นใหญ่เป็นโต และมีโอกาสได้มาปกป้องเขาในภายหลัง จิตใจคุณทำด้วยอะไร


 


เอาละ! ขอไม่พูดถึงคนๆนั้นในอดีต คนที่หนังสือพิมพ์ส่วนมากในปี 2519 -21 เรียกว่า สันดานรัฐมนตรี ป.ม. ไอ้ซ่าส์ จอมเนรคุณ นักตลบแตลงปลิ้นปล้อน หากใครสนใจหาอ่านได้จากหนังสือพิมพ์พิมพ์และพ็อคเก็ตบุ๊คในยุคนั้น อีกทั้งสื่อมวลชนเองจะต้องมีความหวังว่า ยุคมืดของสื่อมวลชน โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์จะต้องไม่หวนกลับคืนมาอีก


 


ขอกลับมาถึงช่วงเวลานั้น กรณีที่ ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย ออกมาปกป้องสมัคร สุนทรเวช ที่ว่านักศึกษาตาย 1 คน โดยอ้างว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาเกิดขึ้นจากไอ้ปื๊ด หรือตำรวจคนหนึ่งทำปืนลั่น ผลก็คือได้เกิดเรื่องโจ๊กการเมืองที่เล่ากันอย่างขบขันในตอนนี้อีกเรื่องหนึ่ง พร้อมกับความรู้สึกไม่น่าเชื่อถือต่อนายกฯและอดีตรัฐมนตรีมหาดไทย ว่า โกหกบิดเบือนข้อมูล เป็นประเภทปากพล่อย หรือไม่รู้ข้อมูล หรืออะไรกันแน่? อันสะท้อนถึงวุฒิภาวะ หรือไม่น่าเชื่อว่า เขาจะหูหนวกตาบอดที่เกิดร่วมยุคสมัย แต่ไม่รับรู้เหตุการณ์ใดๆในขณะที่ตนเป็นนักการเมืองอยู่เลย บุคคลเช่นนี้สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีหรือ?


 


ในประเทศที่เจริญแล้ว ความสัตย์และวุฒิภาวะของรัฐมนตรีถือเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คำพูดของนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีกระทรวงสำคัญ ถ้าหากบิดเบือนหรือกล่าวเท็จในเรื่องสำคัญ หากมีคนจับได้ต้องแสดงสปริตด้วย ๑)ขั้นรับผิดชอบระดับต้นๆ ก็คือ แสดงคำขอโทษ และ ๒)ถ้าเรื่องสำคัญถึงขั้นต้องแสดงจิตใจรับผิดชอบสูง ก็ลาออกจากตำแหน่ง แต่สำหรับประเทศด้อยพัฒนาหรือนักการเมืองวุฒิภาวะต่ำ จักทำเฉย บิดเบนประเด็น แก้ตัวพัลวัน แล้วปล่อยให้เรื่องเงียบหายไป โดยไม่คำนึงว่า อสัตย์ที่ปล่อยออกไปที่มาแห่งความเสื่อมความเชื่อถือของผู้เป็นบุคคลสาธารณะนั่นเอง


 


ดังนั้น สังคมไทยจึงอย่าหวังอะไรในเรื่องนี้ และก็อย่าหวังว่าจะมีการชำระประวัติศาสตร์ ๖ ตุลาขึ้นมา ความอำมหิตโหดเหี้ยมที่เจ้าหน้าที่ของรัฐก่อกรรมกับนักศึกษาอย่างกักขละเยี่ยงสัตว์ป่า มันไม่สามารถบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ที่อัปยศอดสูให้พวกเขายอมรับได้ ไม่เพียงผู้ที่เกี่ยวข้องวางแผนจะไม่ต้องการเท่านั้น จิตใจพวกเขายังปฏิเสธที่จะยอมรับว่ามีเหตุการณ์ชั่วร้ายสุดๆนี้ได้เกิดขึ้นบนแผ่นดินไทย - เมืองศูนย์กลางพระพุทธศาสนา


 


ยังจำกันได้ไหม ข่าวบีบีซี 6 ตุลาคมที่แพร่ผ่านโทรทัศน์ไปทั่วโลก บอกชัดเจนว่า มีขบวนการของกลุ่มอำนาจที่ผสมผสานระหว่างตำรวจทหารสมัยนั้นสร้างสถานการณ์ปราบปรามนักศึกษาที่ชุมนุมกันเรียกร้องให้ พลเอกถนอม กิตติขจรออกไป ด้วยการฆ่าคนมือเปล่าไม่มีทางสู้อย่างบ้าคลั่ง โดยการใช้วิทยุทหารปลุกระดมลูกเสือชาวบ้านออกมาผสมโรง


 


จะเห็นว่าเวลา 4.00 น. ตำรวจราว 200 คนพร้อมเอ็ม 16 และปืนจรวดต่อต้านรถถัง ได้เข้าล้อมธรรมศาสตร์ทุกด้าน แบบประตูตีแมว จะไปไหนก็ไม่รอด พอเวลา ประมาณ 5.00 น. เอ็ม 79 ถูกยิงเข้าไปในธรรมศาสตร์ตกบริเวณที่ชุมนุมนักศึกษา ตายทันที 4 ศพและบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง จากนั้นในตอนเช้า ๖ ตุลา มหกรรมฆาตกรรมหมู่อันนองเลือดก็ถูกก่อขึ้นทั้งภายในธรรมศาสตร์ และนักศึกษาประชาชนที่หนีออกมาสู่สนามหลวงก็ถูกเข่นฆ่าอย่างหฤโหด พวกเขาถูกเผาทั้งเป็นด้วยยางรถยนต์จุดไฟ แขวนคอ กระทืบ เตะต่อยแม้กระทั่งศพที่ถูกแขวนบนต้นมะขามยังกลายเป็นถุงทราย ผมยอมรับว่าเคยดูภาพข่าวนี้ และดูไม่จบ เพราะสะอิดสะเอียนและจะอาเจียนสำรอกความรู้สึกเกลียดความโหดเหี้ยมอำมหิต และภายในวันนั้นเอง หนังสือพิมพ์ได้เสนอภาพสุดสยองออกมา นักศึกษาตายเป็นจำนวนมาก ถูกรังแกเตะกระทืบ เผาไฟ ยังจำได้ไหม ภาพหนึ่งนักศึกษาหญิงตายขณะที่มีขวดอยู่ในช่องคลอด ที่ผมยังจำภาพต่างๆได้ดี เพราะในหนังสือเล่มนี้ ภาพนักศึกษาที่นอนคว่ำกลางสนามหลวง แผ่นหลังมีรูโหว่เท่าฝ่ามือจากกระสุนหัวระเบิดเอ็ม 16 นั้น เป็นน้องชายของผม(ลูกน้า) ข้างๆมีแผ่นหนังสือพิมพ์ที่ใช้ปิดปลิวตกจากร่าง...จำกันได้ไหม...คนเดือนตุลา...


 


เหตุการณ์ครั้งนั้น คณะปฎิรูปการปกครองแผ่นดินก่อการรัฐประหาร ล้มรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมทย์ หนังสือพิมพ์ถูกปิดหมดทุกฉบับ มิให้แพร่ข่าวสยองขวัญที่ทำให้ประชาชนไม่พอใจกับความหฤโหดที่เกิดขึ้น อีกสองวันคือ 8 ตุลาคม นาย ธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 14 ของเมืองไทย และในคณะรัฐมนตรีชุดนี้ สมัคร สุนทรเวชได้เป็นรัฐมนตรีมหาดไทย ซึ่งต่อมารับหน้าที่ไปชี้แจงเหตุการณ์ 6 ตุลากับคนไทยในต่างประเทศ จนกระทั่งมีรายข่าวว่าคนไทยในลอนดอนไม่พอใจ โห่ไล่ออกจากที่ประชุม ดังนั้น คำถามจึงมีว่า เป็นไปได้หรือที่สมัครรู้เพียงว่ามีนักศึกษาตายเพียง 1 คน และไม่ได้ดูข่าวบีบีซีแพร่กระจายที่ทำลายชื่อเสียงไทยไปทั่วโลก หรือไม่ได้ดูข่าวหนังสือพิมพ์ดาวสยามและอื่นๆในช่วงนั้น


 


นักศึกษากรรมกรจำนวนมากถูกจับกุมคุมขัง สุดท้ายได้รับประกันและปล่อยตัวไป คงเหลืออยู่ 18 คนที่ต้องขึ้นศาลทหาร ในข้อหาหมิ่นพระบรมราชานุภาพองค์รัชทายาท ถ้าใตรอยากรู้รายละเอียดก็ไปถาม สุธรรม แสงปทุม ดูก็แล้วกัน ส่วนการบริหารปกครองประเทศ รัฐบาลธานินทร์จะอ้างชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และแอนตี้คอมมิวนิสต์ ใช้เป็นข้อหากำจัดคนที่ไม่เห็นด้วย มีขั้นตอนจะให้ประชาธิปไตยเมื่อครบ 12 ปี และพยายามจำกัดสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน ปิดหนังสือพิมพ์มากมาย ถ้าหากรัฐบาลไม่พอใจในการเสนอข่าว ยุคนั้นจึงได้รับการประณามว่าเป็นยุคเผด็จการ และนักการเมืองพรรคต่างๆ ล้วนสงบปากสงบคำ


 


รัฐประหารเกิดขึ้น เมื่อคณะปฏิวัตินำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ไม่พอใจการปกครองของรัฐบาลธานินทร์ที่สร้างปัญหามากมาย เช่น นโยบายต่างประเทศแทนที่จะผูกมิตรกลับสร้างศัตรู รัฐบาลไปก้าวก่ายแทรกแซงข้าราชการประจำ มีการคอรัปชั่น บริหารตามอำเภอใจ ริดรอนสิทธิเสรีภาพของหนังสือพิมพ์ เศรษฐกิจเสียหายยับเยิน งบประมาณนำไปใช้อย่างไม่ประหยัด ถ่วงเวลาที่จะให้ประชาธิปไตยแก่ประชาชน ไม่รับฟังข้อเสนอของนายทหารชั้นผู้ใหญ่ คณะทหารหนุ่มไม่พอใจบทบาทของรัฐมนตรีหลายคน และที่สำคัญ "รัฐมนตรีบางคนบังอาจกล่าวในที่รโหฐาน เป็นการลบหลู่ดูหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ( ทหารเก่า,ฯพณฯหอย มาเพราะปฏิรูป ไปเพราะปฏิวัติ,หน้า 210-222.)


 


เหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นเมื่อ 21 กันยายน 2520 ก่อนรัฐประหาร 1 เดือน เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานธงลูกเสือชาวบ้าน มีคนร้ายนำระเบิดเวลาไปวางไว้ห่างจากพลับพลาที่ประทับไม่มากนัก และระเบิดขึ้น 2 ลูก แต่ไม่เกิดอันตรายถึงพระองค์ กับอีกเรื่องหนึ่ง มีพลตำรวจเสพสุราเมา ขับมอเตอร์ไซค์ฝ่าขบวนรถพระที่นั่ง และชนรถพระที่นั่งเสียหาย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเหตุให้มีการวิจารณ์รัฐบาลมากมาย หนังสือพิมพ์โจมตีความไม่เอาไหนในการถวายความอารักขา โดยพุ่งไปที่กระทรวงมหาดไทย ต่อมากรมตำรวจออกแถลงชี้แจง แต่ประชาชนไม่พอใจ กลับเรียกร้องให้พิจารณาตัวเอง


 


ต่อมามีกระทู้ถามเรื่องนี้ในที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เกี่ยวกับการอารักขาพระประมุข "...รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้กล่าวเป็นทำนองว่า มีผู้ต้องการจะให้ข้าพเจ้าพิจารณาตัวเองลาออกจากการเป็นรัฐมนตรีด้วยเหตุที่เกิดขึ้น ซึ่งข้าพเจ้าไม่พิจารณา เพราะจะเป็นแบบอย่างว่า ถ้าใครต้องการให้รัฐมนตรี(ว่าการกระทรวงมหาดไทย)ออกแล้ว ก็เอาระเบิดไปโยนใส่ขบวนเสด็จ"(ทหารเก่า,สันดานรัฐมนตรี ป.ม. หน้า 126.)


 


"คณะรัฐมนตรีและสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติแทบทุกคนตกตะลึงตัวแข็ง เพราะไม่นึกว่า คำพูดดังกล่าวนั้นจะเป็นคำพูดของรัฐมนตรี และคิดไม่ถึงว่าคนไทยในจำนวน 40 กว่าล้านคนจะกล้าพูดได้ถึงเพียงนั้น


 


ด้วยเหตุนี้ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาตินายหนึ่ง ซึ่งเป็นทหารประจำการ คือ พันโท ประจักษ์ สว่างจิตต์ จึงได้ลุกขึ้นยืนอภิปรายอย่างสุภาพในทำนองเตือนรัฐบาลให้สำนึกในความรับผิดชอบว่า การปฏิบัติงานและการบริหารงานของรัฐบาลนี้ เป็นการกระทำที่สวนทางกับความรู้สึกและความประสงค์ของประชาชน จึงขอให้พิจารณาตัวเอง ก่อนที่จะมีอะไรเกิดขึ้น


 


...คำอภิปรายของนายทหารหนุ่ม พันโทประจักษ์ สว่างจิตต์ ได้รับการต้อนรับจากประชาชนทั่วไปเป็นอย่างมาก แต่ต่อมาก็ได้กลายเป็นมติมหาชน โดยเรียกร้องขอให้คณะรัฐบาลพิจารณาตัวเองด้วยการลาออกเฉพาะอย่างยิ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยนั้น..."(เพิ่งอ้าง,หน้า ๑๒๗-๑๒๘)


 


เดือนต่อมาก็มีการรัฐประหาร โดยทหารกลุ่มเดียวกันกับที่ล้มรัฐบาลม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมทย์เมื่อ 6 ตุลา และสนับสนุนให้มีรัฐบาลธานินทร์นั่นเอง ข้อมูลที่ยกมาอ้างนี้ ก็เพื่อให้ผู้ที่เป็นใหญ่เป็นโต เมื่อมีอำนาจแล้วควรระวังปาก เพราะคำพูดในฐานะบุคคลสาธารณะที่ออกไปนั้น ความเป็นผู้นำจะทำให้คำพูดที่ไม่ว่าจริง คำพูดพล่าม และคำพูดโกหกหลอกลวง จะมีฐานะทางประวัติศาสตร์ที่มีผู้นำมาบันทึกไว้ได้


 


เช่นเดียวกับ คำปราศรัยที่ท้องสนามหลวงครั้งแรกของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรคประประชาธิปัตย์ หลังเหตุร้ายทางการเมืองผ่านไป และประเทศไทยจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้น พรรคประชาธิปัตย์ก็โหมโฆษณาจูงใจประชาชนว่า วันที่ 15 ก.พ.22 มีการเปิดเผยความจริงในเหตุการณ์ 6 ตุลา ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ปราศรัยว่า


 


"1.การที่คนกลุ่มหนึ่งเห็นว่า เป็นภาพหมิ่นพระบรมเดชานุภาพองค์รัชทายาท จนกระทั่งถือเอาเป็นความเจ็บแค้นเข้าทำร้าย เข่นฆ่านักศึกษาประชาชนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อเช้ามืดวันที่ 6ตุลาคม 2519 นั้น หม่อนราชวงศ์เสนีย์ว่า เป็นภาพที่สร้างขึ้นอย่างแน่นอน เทคนิคในการตัดต่อหรือสร้างภาพขึ้นมาก็ไม่สลับซับซ้อนแต่อย่างใด มองแวบเดียวก็รู้ว่าเป็นภาพที่สร้างขึ้นมา


 


2.เช้าวันที่ 6 ตุลาคมนั้น นายตำรวจที่ชื่อเจริญฤทธิ์ จำรัสโรมรัน ผู้อำนวยการลูกเสือชาวบ้านเข้าพบที่ทำเนียบรัฐบาล ขออนุญาตจัดการกับนักศึกษาที่ขุมนุมกันอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลจัดการกับถนอม กิตติขจร เพราะเจริญฤทธิ์ จำรัสโรมรันเห็นว่า นักศึกษาประชาชนที่ชุมนุมกันอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้นคือ "เสี้ยนหมามของแผ่นดิน"(สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์, 25 ก.พ.22. )


 


และม.ร.ว.เสนีย์ ยังให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์นิสิตนักศึกษา สรุปความว่า ขุดความจริงที่ไหนก็ทำได้ ทำไมต้องขุดความจริงในศาล(ศาลทหาร-ผู้เขียน)ให้เด็กติดตะราง ใจผมไม่เชื่อว่าเด็กทำผิด มีการตั้งข้อหาเดียวว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ผมไม่เชื่อว่าจริง ผมว่าเป็นรูปแต่ง ทำง่ายนิดเดียว และมีลงพิมพ์ 2 ฉบับคือดาวสยามและบางกอกโพสต์


 


นายชวน หลีกภัยยังได้ปราศรัยในการหาเสียงครั้งแรกของประชาธิปัตย์ว่า "เหตุการณ์ที่มันประทับตาประทับใจที่เกิดขึ้นในวันที่ ๖ ตุลาคม ใครทนได้ ความโหดเหี้ยมของทหาร ตำรวจ ที่อยู่ในธรรมศาสตร์ในวันนั้นใครลืมได้ คนเหล่านั้นตกเป็นเครื่องมือของผู้วางแผนปฏิรูปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ โดยความเชื่อว่านักศึกษาในธรรมศาสตร์นั้นเป็นคอมมิวนิสต์


 


หลักฐานชิ้นสำคัญที่น่าเชื่อถือ ได้แก่จดหมายของพระสุรินทร์ มาศดิตถ์(อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี) ลงวันที 24 ต.ค.20 เปิดเผยเบื้องหลัง ว่า รัฐบาลจะประกาศภาวะฉุกเฉิน แต่ได้รับการคัดค้านจากพรรคร่วมรัฐบาล "...เหตุผลการค้านของพล.ต.ชาติชาย ชุณหวันอ่อน รัฐมนตรีส่วนมากนั่งเฉย แสดงว่าเห็นด้วย ในการประกาศภาวะฉุกเฉิน พลตรีชาติชาย จึงได้ไปนำเอา พล.ต.ต.เจริญฤทธิ์ จำรัสโรมรัน ผู้เป็นหัวหน้าลูกเสือชาวบ้านคนหนึ่ง ของฝ่ายต.ช.ด.เข้ามาในคณะรัฐมนตรี มาคัดค้านการประกาศภาวะฉุกเฉิน และกล่าวว่า จะต้องปราบนักศึกษาใมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้สิ้นซาก นายกรัฐมนตรีพูดว่า ไม่ได้ คุณจะเอาลูกเสือชาวบ้านเอาประชาชนไปฆ่านักศึกษาประชาชนไม่ได้ หากเกิดจลาจลเป็นหน้าที่ของตำรวจทหาร บ้านเมืองมีขื่อมีแป คุณจะเอาประชาชนไปฆ่าประชาชนไม่ได้ พล.ต.ต.เจริญฤทธิ์ บังอาจโต้นายกต่อไปว่า ลูกเสือชาวบ้านก็มีวินัยรวมกับทหารตำรวจได้ ดูเหตุการณ์จากการกระทำของรัฐมนตรีฝ่ายพรรคชาติไทย และที่ไปนำ พล.ต.ต. เจริญฤทธิ์ เข้ามาโต้เถียงกับนายกรัฐมนตรีแล้ว อาตมาเข้าใจได้ทันทีว่า พวกนี้ต้องวางแผนการปฏิวัติไว้แล้ว..."


 


จดหมายยังบรรยายต่อไปว่า "...พล.ต.ท.ชุมพล โลหะชาละ รองอธิบดีกรมตำรวจ ได้เข้ามารายงานในคณะรัฐมนตรี พร้อมกับร้องไห้โฮๆว่า ฝ่ายนักศึกษามีอาวุธปืนสงครามร้ายแรง ระดมยิงตำรวจบาดเจ็บและตายจำนวนมาก ฝ่ายนักศึกษาก็ตายแยะ พูดพลางร้องไห้พลาง ตำรวจนครบาลสู้ไม่ได้ จึงส่งตำรวจพลร่มและตชด.เข้าไปปราบปรามต่อมาพล.ต.อ.ศรีสุข มหินทรเทพอธิบดีกรมตำรวจเข้าไปรายงานเหตุการณ์ว่า ควบคุมสถานการณ์ในธรรมศาสตร์ไว้ได้แล้ว มีความสงบเรียบร้อยแล้ว นายกรัฐมนตรีถามว่า "ตำรวจตายกี่คนท่านอธิบดี" อธิบดีกรมตำรวจตอบว่า "ตำรวจไม่ตาย แต่บาดเจ็บไม่กี่คน" รัฐมนตรีจึงแสดงสีหน้าสงสัย อธิบดีกรมตำรวจหันไปมองพล.ต.ท.ชุมพลนั่งเช็ดน้ำตา จึงไม่รู้ว่าก่อนนั้นเขารายงานกันว่าอย่างไร อธิบดีกรมตำรวจจึงเดินออกจากที่ประชุมไป ต่อไป พล.ต.ต.กระจ่าง ซึ่งเป็นหัวหน้าตชด.เข้าไปทำการควบคุมนักศึกษา 3,000 คนเศษไว้แล้วนั้น เข้ารายงานเหตุการณ์ในคณะรัฐมนตรี ท่านผู้นี้อาตมาไม่ทราบนามสกุล และอาตมายกย่องเขาอยู่จนบัดนี้ว่า เขาเป็นตำรวจอาชีพ ผู้บังคับบัญชาสั่งไปทำงานก็ไปทำ แล้วมารายงานคณะรัฐมนตรีตามความเป็นจริง แต่สังเกตดูไม่เป็นที่พอใจของรัฐมนตรีฝ่ายที่ไม่ใช่ประชาธิปัตย์ พล.ต.ต. กระจ่างรายงานว่า ปืนที่ยึดจากนักศึกษาเป็นปืนพกเพียง 3 กระบอก คุณเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ รองนายกรัฐมนตรีถามว่าปืนอะไร ที่เสียงดังปุดๆปึงๆ ใครยิง ฝ่ายเรายิงหรือฝ่ายนักศึกษายิง พล.ต.ต.กระจ่างตอบว่าปืนอย่างนั้น นักศึกษาจะเอามาจากไหน ตำรวจยิงทั้งนั้น..."


 


เขียนมาถึงตรงนี้ ผู้อ่านคงจะวินิจฉัยได้ว่าอะไรเป็นอะไร ใครทำกับโคร? แล้วจะไปเรียกร้องประวัติศาสตร์กันทำไมกัน จะเรียกร้องให้รัฐบาลชำระประวัติศาสตร์หาวิมานอะไรกันครับ โดยเฉพาะรัฐบาลชุดนี้ สิ่งที่ควรคิดและมีสติปัญญาหนักแน่น มั่นคงเพื่อประชาชนส่วนใหญ่ ระวังอย่าให้ใครเขาใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือสังเวยการเมืองเลือดเย็นอีกต่อไป


 


และขอจบบทความนี้ด้วยจดหมายของพระสุรินทร์ มาศดิตถ์ ด้วยตอนหนึ่งของจดหมายท้ายๆ ฉบับ ว่า "หลังจากนั้น พล.ต.ชาติชาย ชุณหวัณ ก็ออกจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ไม่นาน ลูกเสือชาวบ้านและพวกเขาที่เตรียมไว้ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า โดยมี นายธรรมนูญ เทียนเงิน นายสมัคร สุนทรเวช นายส่งสุข ภัคเกษม และพวกได้ไปร่วมอยู่ด้วยนั้น ก็เคลื่อนขบวนมาทั้งรถยนต์ และเดินมาล้อมทำเนียบรัฐบาล ขณะนั้นฝนกำลังตกหนัก การประชุมคณะรัฐมนตรีเลิกประมาณ 15 น.เศษ อาตมานั่งรถยนต์จากตึกไทยคู่ฟ้าไปตึกบัญชาการ ตั้งใจว่าจะทำงานอยู่ตามปกติ เพราะถือว่าตนไม่ได้ทำผิดอะไร แต่นายตำรวจคนหนึ่งยืนกรำฝนรออยู่ และเตือนว่า ท่านรัฐมนตรีรีบออกจากทำเนียบรัฐบาลเร็วที่สุด มิฉะนั้นอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต..."


 


นี่เป็นข้อมูลส่วนหนึ่งเท่านั้น ส่วนข้อมูลภาพนั้นมีมากมาย และภาพที่เห็นการตอกอกนักศึกษา พร้อมกับมีคนตายข้างๆหลายศพ ภาพนี้เป็นฝีมือของปรีชา การสมพจน์ จากเดลินิวส์ ได้รับรางวัลอิศรา ประจำปี 19 และภาพในลักษณะคล้ายคลึงกันนี้ ทำให้นักข่าวฝรั่งได้รับรางวัลฟูลิตเซอร์ในอเมริกา


 


คนมือเปื้อนเลือด มันสมองเปื้อนเลือด ทำอะไรก็ได้ เพื่อที่จะให้ตนมีอำนาจ แม้จะสร้างสถานการณ์ปราบปรามประชาชนครั้งใหญ่ บิดเบือนความจริง และนิสัยนี้เปลี่ยนไปหรือ?


 


สังคมไทยจำเป็นจะต้องระดมพลังยับยั้งคนสมองเปื้อนเลือดทันที!


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net