Skip to main content
sharethis


เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่า นายสุพิเชฐ สุวรรณชาตรี ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย สาขาหาดใหญ่ เปิดเผยว่า เหตุการณ์การปะทะระหว่างกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่กรุงเทพฯ ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ จนรัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในเขตกรุงเทพฯ ทำให้ประชาชนไม่พอใจมาก โดยเชื่อว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นแผนของรัฐบาลที่ต้องการดำเนินการขั้นเด็ดขาดกับกลุ่มพันธมิตร ดังนั้น สหภาพยืนยันจะร่วมต่อสู้กับพันธมิตรจนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย โดยยึดอารยะขัดขืน ด้วยการหยุดเดินขบวนรถไฟสายใต้ทั้งหมด 40 ขบวน ไม่มีกำหนดเพื่อกดดันรัฐบาลจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย


 



"เราจำเป็นต้องปิดเดินรถไฟเส้นทางสายใต้ไม่มีกำหนด ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่เดือดร้อน โดยเฉพาะชุมทางหาดใหญ่ซึ่งเป็นชุมทางยุทธศาสตร์ของการเดินรถไฟสายใต้ ซึ่งหยุดให้บริการติดต่อกัน 5 วันนั้น ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องถอดป้ายตารางเดินรถออก และติดประกาศหยุดวิ่งแทน" นายสุพิเชฐกล่าว


 



นายสนาน บุญงอก ประธานสหภาพรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กล่าวว่า ขณะนี้ พนักงานของ ขสมก.ยังไม่มีลางานเพื่อร่วมชุมนุมกับพันธมิตร ส่วนมีสมาชิกสหภาพเข้าร่วมชุมนุม ก็คงเป็นความต้องการแสดงการคัดค้านกรณีมีการใช้ความรุนแรงปราบปรามกลุ่มผู้ร่วมชุมนุม อย่างไรก็ตาม วานนี้ (1 ก.ย.) สหภาพ ขสมก.ได้หารือกัน และขอให้ฝ่ายบริหารออกหนังสือเวียนให้พนักงานมีอำนาจตัดสินใจว่าจะไม่วิ่งรถในเส้นทางที่เห็นว่าเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน


 



"ยืนยันว่าขณะนี้สหภาพ ขสมก.ยังไม่หยุดงาน เรายังเปิดให้บริการรถเมล์ตามปกติในทุกเส้นทาง ยกเว้นเส้นทางที่มีการชุมนุม และปิดการจราจร แต่หากสถานการณ์ตึงเครียดและแล้วเห็นว่าหากเปิดให้บริการขนผู้โดยสารไปยังสถานที่ต่างๆ ก็เสี่ยงต่ออันตรายอย่างมาก ก็คงต้องตัดสินใจใหม่อีกครั้ง เพราะต้องยอมรับว่าสถานการณ์ตอนนี้ยังน่าเป็นห่วง เพราะมีการเคลื่อนที่ของกลุ่มผู้ชุมนุมตลอดเวลา" นายสนานกล่าว



นายสมศักดิ์ บุญทอง ประธานกรรมการ ร.ฟ.ท.กล่าวหลังการประชุมคณะกรรมการ ร.ฟ.ท. ว่า ที่ประชุมยังไม่ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับการลาออกจากตำแหน่งของคณะกรรมการ เนื่องจากกรรมการส่วนใหญ่เห็นว่า ร.ฟ.ท.ยังมีความจำเป็นต้องมีคณะกรรมการ เพื่อตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ที่สำคัญของ ร.ฟ.ท.


 



นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ในการประชุมในครั้งนี้ได้แสดงความจำนงในการลาออกร่วมกับนายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ กรรมการ ร.ฟ.ท. แต่เมื่อที่ประชุมมีความเห็นยังไม่ควรลาออก ตนกับนายสุชัชวีร์จึงต้องระงับการลาออกไว้ก่อน แต่ส่วนตัวไม่ต้องการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป เพราะไม่สามารถเจรจากับสหภาพ ร.ฟ.ท.ได้รู้เรื่อง



นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อธิบดีกรมทางหลวงชนบท ในฐานะกรรมการ ร.ฟ.ท. กล่าวว่า นายสมศักดิ์ และนายสุชัชวีร์ ได้แสดงเจตนารมณ์ในการลาออก โดยได้ระบุว่าไม่ต้องการอยู่ในตำแหน่งแล้ว แต่ที่ประชุมคณะกรรมการ เห็นว่าหาก ร.ฟ.ท.ไม่มีคณะกรรมการเพื่อดำเนินงาน สถานการณ์จะเลวร้ายไปมากกว่านี้ ดังนั้น แนวทางที่ดีที่สุด คือ ต้องให้คณะกรรมการ ร.ฟ.ท.ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการ ร.ฟ.ท.พร้อมจะเจรจากับสหภาพ ร.ฟ.ท. แม้เคยนัดหารือไปแล้ว แต่สหภาพ ปฏิเสธที่จะพูดคุยกับคณะกรรมการ ร.ฟ.ท.


 


 


ม็อบปิดสนามบินหาดใหญ่ 3แอร์ไลน์ยกเลิกเที่ยวบิน


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  เมื่อเวลา 09.00 น. วานนี้ (2 ก.ย.) กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจังหวัดสงขลา ประมาณ 300 คน ที่ปักหลักชุมนุมอยู่บริเวณหน้าสถานีรถไฟหาดใหญ่ได้เคลื่อนขบวนออกจากสถานที่ดังกล่าว เพื่อเดินทางไปปิดล้อมท่าอากาศยานหาดใหญ่ เนื่องจากเห็นว่ามีการใช้ความรุนแรงหลังจากกลุ่ม นปช.เข้าทำร้ายสมาชิกกลุ่มพันธมิตร จนมีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ เห็นว่าการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตกรุงเทพฯ ของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ไม่เกิดความชอบธรรม


 



หลังจากกลุ่มผู้ชุมนุมเดินทางมาถึงหน้าบริเวณท่าอากาศยานหาดใหญ่ มีกลุ่มพันธมิตรจากพื้นที่ต่างๆ เดินทางมาร่วมสมทบกับพันธมิตรกลุ่มดังกล่าวอย่างต่อเนื่องด้วย มีการใช้เครื่องขยายเสียง ปลุกระดมกลุ่มผู้ชุมนุมบนรถกระบะ เพื่อยืนหยัดเจตนารมณ์ให้รัฐบาลชุดนี้ลาออกด้วยเช่นกัน


 



พล.ต.ต.วิรุฬ เอี่ยมไพจิตร์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ได้ย้ำต่อเจ้าหน้าที่ให้ปฏิบัติงานด้วยความรอบคอบ โดยไม่ให้ใช้ความรุนแรงกับประชาชนผู้มาชุมนุม ทั้งนี้ขอให้พยายามทำความเข้าใจกับผู้ชุมนุมให้ปฏิบัติ หรือดำเนินการภายใต้กรอบกฎหมาย เพื่อไม่ให้บ้านเมืองเกิดความวุ่นวาย รวมทั้งขอความร่วมมือประชาชนที่ใช้ยานพาหนะสัญจรเส้นทางสนามบินหาดใหญ่ ในการตรวจสอบความเรียบร้อยจากเจ้าหน้าที่ เพื่อป้องกันมือที่สามฉวยโอกาสสร้างสถานการณ์


 



"เราให้เจ้าหน้าที่ควบคุมความเรียบร้อย เพราะเชื่อว่ายังสามารถพูดคุยกันได้ โดยเฉพาะการไม่ก่อความวุ่นวายแก่บ้านเมือง และทำลายทรัพย์สินของทางราชการ ทั้งนี้มั่นใจว่าผู้ชุมนุมที่ยืนยันว่าจะยึดหลักสันติ อหิงสาจะไม่ก่อความรุนแรงใดๆ และจะไม่ทำให้สถานการณ์บานปลาย" พล.ต.ต.วิรุฬ ระบุ


 



นายเอกชัย อิสระทะ แกนนำพันธมิตรสงขลาเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า ทันทีที่นายสมัคร สุนทรเวช ประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยอาศัยเงื่อนไขที่รัฐบาลสร้างขึ้นมาเองให้เกิดการปะทะกันของประชาชน 2 กลุ่มเมื่อกลางดึกที่ผ่านมา ล่าสุด วันนี้ (2 ก.ย.) คณะทำงานพันธมิตรสงขลาเพื่อประชาธิปไตย ได้เรียกประชุมด่วนเพื่อกำหนดแนวทาง การสนับสนุนกลุ่มพันธมิตรส่วนกลาง


 



ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่กลุ่มพันธมิตรได้เรียกประชุมด่วน ทำให้ตำรวจกองร้อยชุดควบคุมฝูงชน ได้ระดมกำลังรักษาความปลอดภัยสนามบินหาดใหญ่มากขึ้น เพื่อเตรียมรับมือมาตรการป้องกันกรณีกลุ่มพันธมิตรสงขลาจะเดินทางมาชุมนุมปิดสนามบินกันอีกครั้ง เช่นเดียวกับ พล.ต.ต.วิรุฬ ได้สั่งการด่วนให้เจ้าหน้าที่ตั้งจุดตรวจสกัดตามเส้นทางสำคัญ โดยเฉพาะเส้นทางที่มุ่งหน้าไปยังสนามบินหาดใหญ่ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงและยืดเยื้อ รวมถึงให้เร่งตรวจสอบความเคลื่อนไหวกลุ่มพันธมิตรอย่างใกล้ชิด 24 ชั่วโมง


 



ด้านนาวาอากาศโทณัฏฐ์ โหมาศวิน ผู้อำนวยการท่าอากาศยานหาดใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.กล่าวว่า เมื่อเวลาประมาณ 11.30 น. ได้มีกลุ่มผู้ชุมนุมประมาณ 500 คน มารวมตัวกันด้านหน้าสนามบินหาดใหญ่ ปิดทางเข้า-ออกท่าอากาศยาน โดยกลุ่มผู้ชุมนุมได้ยื่นข้อเรียกร้องขอให้หยุดทำการบินขึ้น-ลง และขอใช้ไฟฟ้า เพื่อจัดตั้งเวทีปราศรัยหน้าท่าอากาศยาน


 



ทอท.ได้ยอมรับข้อเสนอของกลุ่มผู้ชุมนุม พร้อมทั้งเจรจาต่อรองขอให้ผู้โดยสารที่มากับเที่ยวบินในช่วงเที่ยง จากนั้นมีประชาชนเดินทางมาสมทบกับกลุ่มผู้ชุมนุม ส่งผลให้จำนวนผู้ชุมนุมเพิ่มขึ้นกว่า 2 พันคน ล่าสุดสายการบินที่ใช้บริการสนามบินหาดใหญ่ 3 สายการบิน ได้ประกาศยกเลิกทำการบิน


 



สำหรับเที่ยวบินที่ยกเลิกทำการบินเป็นของการบินไทย 4 เที่ยว สายการบินนกแอร์ ยกเลิก 2 เที่ยวบิน ส่วนสายการบินไทยแอร์เอเชีย ยกเลิก 10 เที่ยวบิน ตั้งแต่เวลา 12.30 น.จนถึงเที่ยวบินสุดท้ายเวลา 20.35 น.



นายเสรีรัตน์ ประสุตานนท์ รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. กล่าวว่า ที่สนามบินสุวรรณภูมิยังคงให้บริการปกติ ไม่ได้เพิ่มมาตรการด้านความปลอดภัย ที่ผ่านมาได้ปรับเพิ่มระดับมาตรการด้านความปลอดภัยเป็นระดับที่ 3 แล้ว ส่วนปริมาณเที่ยวบินและจำนวนผู้โดยสารที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยยังไม่ลดลง


 



นายสมศักดิ์ มานพ รองประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า วันนี้ (3 ก.ย.) สหภาพจะใช้มาตรการรุนแรงตอบโต้การกระทำของรัฐบาลที่ใช้ความรุนแรงกับประชาชนผู้บริสุทธิ์ โดยมาตรการที่จะนำมาใช้ ยอมรับว่าจะมีผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้บริการแน่นอน ต้องเข้าใจว่ารัฐบาลเองก็ใช้ประชาชนเป็นตัวประกันเช่นเดียวกัน


 


 


สหภาพ กทท.3พันคนหยุดบริการวันนี้


นายสมเกียรติ รอดเจริญ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า สมาชิกสหภาพ  3,600 คน จะหยุดให้บริการขนถ่ายสินค้าที่ท่าเรือกรุงเทพ และท่าเรือแหลมฉบัง ตั้งแต่เวลา 16.00 น. วานนี้ (2 ก.ย.) เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาสถานการณ์การเมืองโดยไม่ใช้ความรุนแรง  ที่ผ่านมาได้แจ้งให้สายการเดินเรือทราบล่วงหน้าแล้วว่าจะหยุดปฏิบัติงาน และให้สายการเดินนำเรือไปเทียบท่าของเอกชนแทน



         


"สหภาพจะหยุดงานโดยไม่มีกำหนด จนกว่าการแก้ปัญหาของรัฐบาลจะมีความชัดเจน  ขอย้ำว่ารัฐบาลต้องไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา เพื่อให้สถานการณ์ดีขึ้น ส่วนสินค้าที่ตกค้างอยู่ที่ท่าเรือ ได้เร่งขนถ่ายให้แล้วเสร็จภายในช่วงเย็นวันที่ 2 ก.ย. ที่ผ่านมา จะไม่รับสินค้าเพิ่มขึ้น" นายสมเกียรติ กล่าว



         


ด้าน นางสุนิดา สกุลรัตนะ ผู้อำนวยการ กทท. กล่าวว่ายังไม่ได้รับรายงานว่าจะมีพนักงานหยุดงานวันนี้ (3 ก.ย.) เชื่อว่าพนักงานส่วนใหญ่ยังคงปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ  แต่หากมีพนักงานบางส่วนหยุดงาน เชื่อว่าพนักงานที่เหลือสามารถปฏิบัติหน้าที่แทนได้ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการให้บริการ แต่ยอมรับว่ามีบริษัทเรือขอยกเลิกการนำเรือเข้าเทียบท่าที่ท่าเรือกรุงเทพวันนี้แล้วจำนวน 3 ลำ เพราะไม่มั่นใจว่าการขนถ่ายสินค้าจะแล้วเสร็จทันกำหนดหรือไม่ ส่งผลให้ กทท.ได้รับผลกระทบคิดเป็นเงินประมาณ 9 ล้านบาท โดยบริษัทเรือจะใช้บริการท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือเอกชนอื่นแทน



         


นายสุวัฒน์ อัศวทองกุล ประธานสมาคมเจ้าของและตัวแทนเรือกรุงเทพหรือบีเอสเอเอ กล่าวว่าบริษัทเรือต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยการนำเรือสินค้าที่เดินทางมาจากสิงคโปร์ ฮ่องกง และญี่ปุ่น กว่า 10 ลำ ไปใช้บริการท่าเรือแหลมฉบังหรือท่าเรือเอกชนต่างๆ ในแม่น้ำเจ้าพระยา แทนการใช้ท่าเรือกรุงเทพตามปกติ  ส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายในการเคลื่อนย้ายตู้สินค้าไปยังท่าเรือเหล่านี้เฉลี่ยตู้ละประมาณ 5 พันบาท โดยปกติจะมีตู้สินค้าขนถ่ายในท่าเรือกรุงเทพวันละประมาณ 4,000-5,000 ตู้ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 20 ล้านบาท โดยค่าใช้จ่ายส่วนนี้เจ้าของสินค้าต้องเป็นผู้รับภาระ



         


ส่วนบริษัทเรือจะได้รับผลกระทบจากการที่เรือสินค้าไม่สามารถเทียบท่าหรือออกเดินทางได้ตามตารางการเดินเรือ ส่งผลให้บริษัทเรือต้องรับภาระค่าเช่าเรือเพิ่มขึ้นวันละประมาณ 20,000-30,000 ดอลลาร์ต่อลำ อีกทั้งการนำเรือไปใช้บริการท่าเรืออื่น จะมีปัญหาความหนาแน่นในการใช้บริการ เพราะต้องรอคิว และยังไม่สามารถระบุได้ว่าเรือสินค้าจะออกเดินทางล่าช้ากว่าเดิมเป็นเวลาเท่าใด



         


"ปัจจุบันมีตู้สินค้าตกค้างอยู่ในท่าเรือกรุงเทพประมาณ 1 พันตู้ ซึ่งเป็นตู้สินค้าที่รอการขนถ่าย โดยบริษัทเรือและเจ้าของสินค้าไม่สามารถนำตู้สินค้าเหล่านี้ออกมาจากท่าเรือกรุงเทพได้ เพราะพนักงานปิดประตูทางเข้า-ออกท่าเรือ และยังไม่รู้ว่าตู้สินค้าเหล่านี้จะขนถ่ายได้เมื่อใด" นายสุวัฒน์ กล่าว



         


ด้าน นายเฉลิมเกียรติ สลักคำ ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง กล่าวว่า ท่าเรือแหลมฉบังไม่ได้รับผลกระทบจากการหยุดงานของพนักงาน กทท. เพราะเป็นการบริหารจัดการโดยเอกชนที่ได้รับสัมปทานจาก กทท. มั่นใจว่าจะรองรับเรือสินค้าได้ตามปกติ แม้ว่าจะมีเรือใช้บริการเพิ่มขึ้นก็ตาม


 


 


ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net