วสันต์ ลิมป์เฉลิม: ระเบียบ ประโยชน์ร่วมที่ลืมตระหนัก

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ชื่อบทความเดิม: ความจริงที่อาจมีบางคนลืมตะหนักไปว่า ระเบียบ (Order) ไม่ใช่ผลประโยชน์เฉพาะของบางฝ่าย แต่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่าย

 

 

วสันต์ ลิมป์เฉลิม

 


ตามหลักในการพิจารณาแก้ไขความขัดแย้งของคนที่ต้องอยู่ร่วมในสังคมเดียวกัน สิ่งสำคัญหนึ่งคือ การชี้หรือทำความเข้าใจถึงจุดที่เป็นประโยชน์ร่วมกันของฝ่ายต่างๆ ในคู่ความขัดแย้งนั้น เพราะไม่จำเป็นว่าคู่ขัดแย้งนั้นต้องขัดกันไปในทุกเรื่อง เรื่องที่คิดว่าไม่ใช่ประโยชน์ของเรา แต่เป็นประโยชน์ของอีกฝ่าย ที่จริงอาจกลับเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่ายไม่ต่างกันเลย เพียงแต่อาจมีบางฝ่ายลืมตระหนักไปเท่านั้น

 

หากหยุดเรื่องวุ่นๆ ชวนให้ใจไม่สงบลงพักหนึ่ง แล้วตั้งสติคิดถึงผลประโยชน์พื้นฐานของทุกฝ่ายในความขัดแย้งของสังคมไทยในขณะนี้ ลองพิจารณาดูซิว่า จริงหรือไม่ว่าระเบียบ (order) คือ สิ่งที่เป็นประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่ายไม่ว่าฝ่ายแกนนำพันธมิตร ฝ่ายรัฐบาล ตลอดจนคนไทยที่เหลือทุกคน ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นสูง ชนชั้นกลาง หรือชนชั้นล่าง ไม่ว่าคนภาคใต้ กรุงเทพฯ หรือภาคใดๆ

 

ระเบียบเป็นพื้นฐานของสังคมและรัฐ หากปราศจากระเบียบแล้วไซร้ ย่อมนำมาซึ่งการไร้ความปลอดภัย การขาดความมั่นคงแน่นอนหรือคาดผลได้ของการกระทำ ตลอดจนการไม่สามารถพัฒนาความเจริญก้าวหน้าในด้านต่างๆ ได้ ปรากฏการณ์การยึดทำเนียบรัฐบาลของกลุ่มพันธมิตรตั้งแต่เมื่อ 26 สิงหาคม 2551 ตลอดจนการที่คนหลายส่วนของสังคมไม่ได้เน้นเรียกร้องให้ฝ่ายผู้ชุมนุมปฏิบัติตามกฎหมาย แต่กลับมองปัญหาไปที่รัฐบาลแทนนั้น เป็นเรื่องที่สะท้อนถึงการขาดการพิจารณาที่มากพอเกี่ยวกับเรื่องพื้นฐานคือ ความสำคัญของระเบียบ

 

แกนนำพันธมิตรอาจคิดว่า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของตน จำเป็นต้องไม่คำนึงถึงระเบียบหรือกฎหมายในเวลานี้ แต่วิธีคิดนี้จะไม่ทำให้เป้าหมายของตนเป็นจริงหรือถาวรไปได้เลย เพราะเป้าหมายของตนย่อมต้องตั้งอยู่บนฐานของการมีระเบียบอยู่ดี สมมุติว่าภายหลังเมื่อกลุ่มพันธมิตรสามารถ "สถาปนา" การเมืองใหม่อย่างว่าขึ้นมาได้แล้ว ในที่สุดฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับกลุ่มพันธมิตรก็ย่อมสามารถมากระทำการในสิ่งที่พันธมิตรทำอยู่เวลานี้ได้เช่นเดียวกัน

 

กลุ่มพันธมิตรอ้างว่าใช้ "อารยะขัดขืน" แต่นี่เป็นการอ้างที่ผิดกับหลักอารยะขัดขืนจริงๆ เพราะอารยะขัดขืนหมายถึงการกระทำที่แม้จะละเมิดกฎหมาย (the law-ระเบียบของประเทศในฐานะรูปธรรม) แต่ก็เคารพกฎหมาย (law-ระเบียบกติกาของสังคมในฐานะทั่วไปหรือนามธรรม) ด้วย การทำผิดกฎหมายดังกล่าวจึงทำด้วยสันติวิธี (ไม่ใช่ด้วยการใช้อาวุธไปทำร้ายหรือเข่นฆ่าใคร) เปิดเผย (ไม่ต้องปิดหน้า ปิดบังแผนบุกโจมตี ฯลฯ) จากนั้นก็เต็มใจที่จะยอมรับผลของการกระทำผิดกฎหมายนั้นสมกับเป็นคนที่เจริญแล้ว (ไม่ใช่ให้สตรี หรือนักบวชมาห้อมล้อมตนเพื่อป้องกันการถูกจับกุม) การกระทำที่เคารพต่อกฎหมายหรือระเบียบด้วยการกล้ายอมรับผิดในท้ายที่สุดนี้เอง ถ้าเหตุผลในการเคลื่อนไหวนั้นชอบธรรม ย่อมส่งผลสะเทือนต่อสังคมให้มาสนใจพิจารณาอย่างจริงจังต่อข้อเรียกร้องของผู้กระทำการอารยะขัดขืนนั้น

 

กลุ่มพันธมิตรมีสิทธิเสรีภาพในความคิดเห็นและการกระทำทุกอย่างภายใต้ขอบเขตของกฎหมายหรือระเบียบ รวมทั้งสิทธิในการกระทำที่เรียกว่าอารยะขัดขืนตามความหมายที่ถูกต้อง แต่ปัญหาสำคัญโดยเฉพาะตั้งแต่มีการบุกเข้ายึดสถานี NBT และยึดทำเนียบรัฐบาลเมื่อ 26 สิงหาคม 2551 ชี้ให้เห็นว่ากลุ่มพันธมิตรขาดความตระหนักในหลักความสำคัญของระเบียบ

 

ดังนั้น การแก้ปัญหาดังกล่าวจึงอาจทำได้ด้วยความพยายามทำความเข้าใจด้วยเหตุผลและสร้างความตระหนักให้แก่กลุ่มพันธมิตร เหตุผลสำคัญที่จะต้องทำความเข้าใจก็คือ ระเบียบนอกจากจะเป็นผลประโยชน์ของประชาชนทั่วไปที่กลุ่มพันธมิตรย่อมมีความปรารถนาดีด้วยแล้ว ระเบียบของสังคมยังเป็นผลประโยชน์ต่อกลุ่มพันธมิตรเองอีกด้วย ผู้เขียนเชื่อในฐานคติของประชาธิปไตย ที่ถือว่าโดยทั่วไปแล้ว คนเรามีเหตุผล และรู้จักผลประโยชน์ของตน และสำหรับระเบียบตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ก็เป็นเรื่องของเหตุผลและเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่สิ่งที่สามารถชี้แจงกับกลุ่มพันธมิตรในฐานะมนุษย์ผู้มีศักดิ์ศรี และก็ถือว่าตนนั้นต้องการประชาธิปไตยเช่นกันเข้าใจได้

 

แต่หากในเกมการต่อสู้ทางการเมืองนี้ กลุ่มพันธมิตรเลือกที่จะยอมละทิ้งหลักความสำคัญของระเบียบได้ กลุ่มพันธมิตรอาจประกาศ"ชัยชนะ" ตามที่ตัวเองปรารถนาได้ในครั้งนี้ แต่ตามธรรมชาติพื้นฐานของความเป็นจริงที่สังคมตั้งอยู่ได้ก็เพราะมีระเบียบรองรับนั้น ในท้ายที่สุด ชัยชนะในวันนี้ตามความเข้าใจของกลุ่มพันธมิตร ย่อมนำไปสู่ความพ่ายแพ้และล้มเหลวโดยสิ้นเชิงในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท