Skip to main content
sharethis




แถลงการณ์ ฉบับที่ 2


 


เครือข่ายสนับสนุนการป้องกันและลดความรุนแรง


 


Non-Violence fop Social Chang Network


 


เรื่อง ข้อเสนอมุมมองต่อวิกฤตที่เกิดขึ้น


 


น้อมจิต คารวะพลเมืองไทยและพี่น้องประชาชนที่รัก


 


วิกฤตการณ์การเมืองในขณะนี้ นับวันหนทางออกดูจะตีบตันเต็มที เรากำลังก้าวลงไปสู่หลุมดำร่วมกันทั้งสังคมจนดูเหมือนว่าต่างฝ่ายต่างรอคอยการใช้ความรุนแรงเพื่อให้ได้มาซึ่งรายงานจำนวนยอดของผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ซึ่งสิ่งนั้นอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในที่สุด อย่างไรก็ตาม ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีกลุ่มประชาชนผู้รักชาติ รักสงบเป็นจำนวนมาก หลากหลายกลุ่มที่ออกมารณรงค์เรียกร้องให้ผู้ที่จะใช้ความรุนแรง ยุติการกระทำที่ยั่วยุและนำไปสู่เหตุแห่งความรุนแรงในหลากหลายรูปแบบที่เป็นการแสดงออก เพื่อให้สังคมไทยทั้งหมดได้สติและหันมาใช้วิธีการที่สันติแทน


 


ฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเอง ก็พยายามที่จะสื่อสารข้อความบางอย่างให้แก่คนทั่วไปได้รู้ถึงสาเหตุรากเหง้าของปัญหา พร้อมกับ เรื่องการเมืองใหม่ ที่มีคุณภาพ จริยธรรม ให้ความเป็นธรรมและสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้คนอย่างกว้างขวาง โดยใช้มาตรการอารยะขัดขืนเป็นเครื่องมือในการปฏิเสธอำนาจของรัฐบาล ที่พวกเขาเชื่อว่าไม่มีความเป็นธรรม ขาดความชอบธรรมในการบริหารประเทศ


 


ขณะเดียวกัน ฝ่ายรัฐบาลก็ยืนหยัดแห่งความชอบธรรมของการได้มาซึ่งอำนาจทางการบริหาร ที่มาจากกระบวนการเลือกตั้ง โดยพี่น้องประชาชนจำนวนมาก ซึ่งได้ผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว


 


ซึ่งทั้ง 2 ฝ่าย ที่กำลังเผชิญประชาธิปไตยหน้า ล้วนแล้วแต่ยืนอยู่บนหลักการเช่นเดียวกัน แต่เป็นความเหมือนบนความแตกต่างของเนื้อหาและรูปแบบของประชาธิปไตย


 


ฝ่ายแรกพูดถึงประชาธิปไตย "ทางตรง" ที่มุ่งเน้นระบบคุณธรรม จริยธรรม และการมีส่วนร่วมของประชาชนที่แท้จริง บนฐานคุณภาพใหม่ ที่คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่คุ้นชิน


 


ฝ่ายหลังพูดถึง ประชาธิปไตย "ตัวแทน" อันเป็นรูปแบบและวิธีปฏิบัติ ที่เป็นที่ยอมรับในสังคมไทยมาเนิ่นนาน ที่มุ่งแก้ไขชีวิต สร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยระบบรัฐสภาและจำนวนของเสียงที่ให้การสนับสนุน


 


เมื่อยืนอยู่คนละด้านของความคิดอย่างสุดขั้ว ภายใต้สถานการณ์ที่รุมเร้าและโหมกระหน่ำเข้ามา และการประกาศสถานการณ์ทางฉุกเฉินของรัฐบาล โอกาสที่จะเกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนวิธีคิด มุมมองใหม่ๆ ทางสังคม(Citizen Dialogue) ย่อมเป็นเรื่องยากที่จะเกิดขึ้น สังคมไทยจึงเสียโอกาสที่จะได้เข้าถึงการสร้างประชาธิปไตยที่มีอัตลักษณ์ของตัวเอง


 


เครือข่ายสนับสนุนการป้องกันและลดความรุนแรง จึงขอวิงวอนให้


1. กระบวนการตุลาการยุติธรรม ต้องเร่งพิจารณาตัดสินคดีโดยเร็วที่สุด เพื่อคลี่คลาย ถอดสลักความรุนแรง ถอดชนวนของปัญหาทั้งหมดที่ยังเป็นที่ค้างคาใจของผู้คนทั้งสังคมด้วยความถูกต้องและเป็นธรรมที่สุด


 


2. สื่อมวลชนทุกแขนง ควรฉายภาพความคิดทั้งสองฝ่ายบนพื้นที่สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่อง Free tv เพื่อให้ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับรู้ข้อมูล อันเป็นที่มาของฐานความคิดในการเรียกร้องของแต่ละฝ่าย ได้รับทราบ เนื้อหา จุดเหมือน จุดต่าง นอกเหนือไปจากการรายงานสถานการณ์เฉพาะหน้า การปะทะ การประท้วง เหยื่อ ที่เกิดจากผลพวงของความรุนแรง ซึ่งเป็นปลายเหตุของปัญหา


 


3. ผู้ที่มีอำนาจต้องหยุดการสร้างเงื่อนไขใหม่ ซึ่งเป็นการสุมเชื้อไฟแห่งความขัดแย้งชนิดใหม่ๆ เข้าไปอีก


 


4. พลเมืองไทยทั้งหมด ต้องตั้งสติ ถอยออกมาจากการใช้อารมณ์และอคติส่วนตัว การแบ่งเขาแบ่งเราเพื่อประหัตประหารกัน มาสู่การพิจารณาด้วยเหตุด้วยผล ตามหลักพระพุทธศาสนาที่ใช้ปัญญาเป็นธรรม ไร้อคติและทิฐิ ซึ่งเป็นหลักการปรัชญาที่เราต่างนับถือละน้อมนำมาใช้ในการดำเนินชีวิตร่วมกันแต่ละครั้ง


 


5. ฝ่ายที่คิดจะใช้ความรุนแรง ได้โปรดยั้งคิด ทบทวนประวัติศาสตร์ เหตุการณ์ชุมนุมต่างๆ ของประชาชนทั่วโลก รวมทั้งเหตุการณ์เดือนตุลา พฤษภา 35 และคำนึงถึงผลกรรมที่จะตามมา รวมทั้งใช่โอกาสที่มีวิกฤตนี้ใช้เป็นห้องเรียนห้องปฏิบัติการทางสังคม (Social Lab) ทั้งในแง่มุมของประวัติศาสตร์/การเมืองการปกครอง/รัฐศาสตร์/นิติศาสตร์/ปรัชญา/สันติวิธี/นิเทศศาสตร์/ศิลปวัฒนธรรม และอื่นๆ เพื่อให้เด็กและเยาวชน ผู้ที่กำลังจะเติบโตมาเป็นเจ้าของประเทศที่แท้จริงในอนาคตอันใกล้ ได้มีโอกาสเรียนรู้จากสถานการณ์จริง ดูของจริง ที่ผู้ใหญ่ครูบาอาจารย์นักการเมืองที่พวกเขานับถือและให้ความเคารพ ได้แสดงเป็นตัวอย่างให้ดู


 


6. ฝ่ายที่กำลังจะใช้ประชาธิปไตยเชิงปริมาณ ในแง่ของการลงประชามติ เพื่อเอาแพ้เอาชนะและวัดโหวตกันที่จำนวนของฐานเสียงที่ให้การสนับสนุน บนพื้นฐานของการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ข้อเท็จจริงที่แตกต่างและไม่เท่าเทียมกัน โปรดเปิดพื้นที่ให้มีกระบวนการประชาธิปไตยเชิงคุณภาพและเนื้อหา ได้แสดงออกทางความคิดที่หลากหลาย เฉกเช่นเดียวกับช่วงที่มีการเปิดเวทีเพื่อร่างรัฐธรรมนูญปี2540 ร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจละสังคมแห่งชาติฉบับที่8,9,10 เพื่อมุ่งไปสู่การสร้างวิสัยทัศน์ร่วม(Share Vision) ของผู้คนทั้งหมดในสังคมไทยร่วมกัน กำหนดนิยามความหมาย รูปแบบ บรรทัดฐานเชิงจริยธรรมของผู้ที่จะเข้ามามีอำนาจในการบริหารประเทศ ซึ่งเป็นวิธีการที่เราคุ้นเคยกันแล้ว


 


เพราะเรามิอาจปฏิเสธในเรื่องของความเปลี่ยนแปลงได้ ทุกสิ่งมีพลวัตรในตัวของมันเอง ประชาธิปไตยไทยเดินทางมา 76ปีแล้ว เมื่อเรารับรู้รับทราบความเป็นจริงของสรรพสิ่งที่จะเกิดขึ้นที่มาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลง ทำอย่างไรชาวไทยทุกคนจึงใช้สติ ได้ครุ่นคิด ละใช้โอกาสนี้ ร่วมกันยกระดับคุณภาพใหม่ของประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่กำลังจะก้าวข้ามพ้นไปจากการทำปฏิวัติรัฐประหารโดยกำลังของทหารและการใช้ความรุนแรง ไปสู่ประเทศที่มีความเป็นอารยะ ยืนอย่างสง่างามบนเวทีโลกอย่างมีอัตลักษณ์ของตนเองและนำมาซึ่งความสุขร่วมกันของคนทั้งแผ่นดิน


 


เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ จะนำพาให้เราทุกคนรวมถึงประเทศชาติ เติบโตเข้มแข็งขึ้น อันเป็นพัฒนาการของขบวนการประชาธิปไตยแบบไทยๆของเราเองด้วยกัน


 


ก่อนที่จะสายเกินไป ท่ามกลางไฟแห่งความขัดแย้งของผู้คนในบ้านเมืองเวลานี้


คนไทยต้องสร้างจิตนาการร่วมกันว่า สังคมไทย พ้นทุกข์ร่วมกันได้


 


 


 ด้วยความเคารพรักในเพื่อนมนุษย์


 


 เครือข่ายสนับสนุนการป้องกันและลดความรุนแรง


Non-Violence fop Social Chang Network 


 


 


 


 


 


แถลงการณ์กลุ่มโดมแดง


 


ฉบับที่ 1/2551


 


"กล้าทำ กล้ารับ" ตามแนวทางอารยะขัดขืน,


ต่อต้านการพราก/ยึดอำนาจในการตัดสินใจของเรา, รักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตย


 


สืบเนื่องจากความพยายามในการขับไล่ "โค่นล้ม" รัฐบาลของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้นำมาซึ่งปัญหาความยุ่งยากและความรุนแรงดังที่ปรากฏ และมีแนวโน้มที่ชัดแจ้งว่า จะนำไปสู่การทำลายหลักการและระบอบประชาธิปไตย อย่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีต


 


เรา "กลุ่มโดมแดง" เป็นกลุ่มอิสระเล็กๆ ที่เป็นการรวมตัวกันของนักศึกษาธรรมศาสตร์ และศิษย์เก่า ในฐานะสมาชิกของชุมชนทางการเมืองนี้ มีความเห็นและข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้


 


 1. ต่อความขัดแย้งทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ความเห็นที่แตกต่างและความขัดแย้งทางการเมืองเป็นเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตย และสามารถที่จะแสดงออกได้ด้วยวิธีการต่างๆ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพราะผู้ที่มีส่วนในความขัดแย้งใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือ/วิธีการเพื่อบรรลุเป้าหมายของตน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ความรุนแรงโดยตรงหรือสร้างเงื่อนไขให้เกิดความรุนแรงเพื่อบรรลุเป้าหมาย


 


 2. ต่อพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย การแสดงออก การชุมนุมทางการเมืองเป็นสิทธิที่สามารถกระทำได้ แต่ต้องเป็นไปโดยสันติและปราศจากอาวุธเท่านั้น ดังนั้น หากพันธมิตรฯ มีความบริสุทธิ์ใจ ต้องปลดอาวุธกองกำลัง/ผู้เข้าร่วมชุมนุมของตนเอง หรืออนุญาตให้เจ้าหน้าที่รัฐทำการปลดอาวุธให้ในกรณีที่ไม่สามารถควบคุมหรือจัดการเองได้


 


นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ดูแลการชุมนุม ต้องปลดอาวุธของตนเอง และกลุ่มอื่นๆ ทุกกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อป้องกันไม่ให้มีการใช้อาวุธมาห้ำหั่น/เข่นฆ่ากันอย่างที่เกิดขึ้น


 


ทั้งนี้ เนื่องจากพันธมิตรฯ ระบุว่าการกระทำของตน ไม่ว่าจะเป็นการยึดทำเนียบรัฐบาลหรือสถานีโทรทัศน์ เป็น "อารยะขัดขืน" อันเป็น "การกระทำทางการเมืองซึ่งมีลักษณะเป็นสาธารณะ (public) สันติวิธี (nonviolent) และมีมโนธรรมสำนึก (conscientious) ที่ขัดต่อกฎหมาย (contrary to law) ปกติเป็นสิ่งที่ทำโดยมุ่งให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในกฎหมาย (in the law) หรือนโยบายของรัฐบาล" ซึ่ง "ต้องยอมรับผลที่เกิดขึ้นจากการละเมิดกฎหมายนั้น" ด้วย


 


ดังนั้น เราขอเรียกร้องให้ผู้นำพันธมิตรฯ หยุดการใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือ เอาชีวิตและเลือดเนื้อของประชาชนเป็นตัวประกัน เพื่อโค่นล้มรัฐบาล ด้วยการแสดงความกล้าหาญและมี "อารยะ" ตามคำกล่าวอ้าง โดยการมอบตัวแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจตามหมายศาล เพื่อเผชิญหน้ากับกระบวนการยุติธรรมตามปกติ ตามหลัก "กล้าทำ ต้องกล้ารับ" ส่วนการชุมนุมประท้วงรัฐบาลยังคงดำเนินต่อไปได้ในที่อื่นที่เหมาะสมกับการแสดงออกตามสิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย ไม่เช่นนั้นการกระทำของพันธมิตรฯ ก็ไม่แตกต่างจากการกระทำของอันธพาลการเมืองที่วางอำนาจบาตรใหญ่อยู่เหนือกฎหมาย


 


 3. ต่อประชาชน ข้อเรียกร้องให้รัฐบาลลาออกโดยไม่มีเงื่อนไข รวมทั้งการใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือ เอาชีวิตและเลือดเนื้อของประชาชนเป็นตัวประกัน ข่มขู่ กดดัน เพื่อโค่นล้มรัฐบาล ของพันธมิตรฯ และเครือข่ายไม่ว่าจะในนามใด เป็นข้อเรียกร้องและการกระทำที่ขาดความชอบธรรมและฉวยโอกาส แม้ว่าผู้คนอาจจะมีท่าทีต่อรัฐบาลที่แตกต่างกัน แต่การยินยอมให้พันธมิตรฯ ใช้ "กฎหมู่" บีบบังคับรัฐบาล และผู้คนในสังคมให้ยอมรับข้อเรียกร้องของตน เป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตย เป็นการยึด ลิดรอน สิทธิ เสรีภาพ และอำนาจอธิปไตยที่เป็นของเราทุกคนไปพร้อมกันด้วย ดังนั้น หากใครไม่เห็นด้วยกับการกระทำของพันธมิตรฯ ควรร่วมกันแสดงออกอย่างสันติเพื่อคัดค้านการนำสังคมการเมืองไปสู่ "อนาอารยะ" ของพันธมิตรฯ ทั้งหมดนี้ มิใช่เพื่อปกป้องรัฐบาลที่เราชอบหรือไม่ชอบ แต่เป็นไปเพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตยไว้


 


4. ต่อรัฐบาล รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องมีความอดทนและระมัดระวังในการดำเนินการหรือบังคับใช้กฎหมาย ป้องกัน ระงับไม่ให้เกิดความรุนแรง และยุติวิธีการใดๆ ที่อาจจะนำไปสู่ความรุนแรง เพราะรัฐมีหน้าที่ในการปกป้อง พิทักษ์ สิทธิ เสรีภาพ ชีวิตและทรัพย์สินของพลเรือน ความรุนแรงจะทำให้รัฐบาลสูญเสียความชอบธรรม และถูกใช้เป็นเครื่องมือของฝ่ายต่อต้านในการล้มล้างรัฐบาล หรือถูกฉกฉวยโดยอำนาจอื่นในการใช้อำนาจนอกระบบมาแทรกแซงหรือทำลายระบอบประชาธิปไตยได้ ดังที่ปรากกฎมาก่อนหน้านี้


สำหรับการริเริ่มของรัฐบาลในการเสนอให้มีการจัดทำประชามติเพื่อสอบถามความเห็นของประชาชนตามรัฐธรรมนูญในมาตรา 165 (1) นั้น ในทางหลักการ เป็นแนวคิดที่ดี แต่จะต้องมีการกำหนดประเด็นที่ชัดเจนและมีกระบวนการที่ยุติธรรม เปิดกว้างให้มีการรณรงค์แสดงความคิดเห็นทั้งสนับสนุนและคัดค้านอย่างกว้างขวางตามหลักสากล โดยมีระยะเวลาที่เพียงพอเหมาะสม ไม่ใช่ประชามติแบบ "มัดมือชก" อย่างการประชามติรัฐธรรมนูญฉบับ คมช.


 


5. ท้ายที่สุด เราเห็นว่า "การใช้สันติวิธีของทุกฝ่าย" ในการรับมือกับความขัดแย้งแม้จะไม่สามารถการันตีผลลัพธ์ที่ต้องการของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือยุติความขัดแย้งและความคิดเห็นที่แตกต่างทางการเมืองได้ แต่จะไม่พรากชีวิตของผู้ใดในการต่อสู้แข่งขันทางการเมืองอีก ทำให้เราอยู่กับความขัดแย้งอย่างมีอารยะ และธำรงไว้ได้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยได้


 


เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย


กลุ่มโดมแดง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


5 กันยายน 2551


 


 


 


 


 


แถลงการณ์แนวร่วมศิลปินประชาธิปไตย คัดค้านความไม่ชอบธรรมของรัฐบาลปัจจุบัน


 


วิกฤตการณ์วันนี้ ได้สร้างความแตกแยกร้าวฉานในแผ่นดินอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และหนทางออกไม่ได้เนื่องจากมีการตั้งหลักแบ่งฝักฝ่ายอย่างสุดขั้ว โดยที่นายกรัฐมนตรีฯ ในฐานะผู้นำรัฐบาล นอกจากไม่พยายามแก้ปัญหาและยิ่งยกระดับความขัดแย้งแล้ว ยังหมดความชอบธรรมในการดำรงตำแหน่งหน้าที่เนื่องจากไม่สามารถรับมือแก้ไขปัญหาของประเทศตามครรลองประชาธิปไตยโดยได้รับฉันทามติจากประชาชนส่วนใหญ่ผู้เป็นเจ้าของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากเกิดเหตุการณ์รุนแรงเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2551


 


พวกเราแนวร่วมศิลปินประชาธิปไตยขอคัดค้านความไม่ชอบธรรมที่เป็นเหตุแห่งความแตกแยกร้าวฉานในแผ่นดินจากการกระทำของรัฐบาล จึงขอเสนอให้นายสมัคร สุนทรเวชซึ่งเป็นหัวหน้ารัฐบาลและดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ลาออกจากตำแหน่งและยุติบทบาททางการเมือง เนื่องจากบริหารงานล้มเหลว ไม่สามารถแก้ปัญหาของประเทศได้ ทั้งยัง เป็นต้นเหตุที่สำคัญของวิกฤติครั้งนี้


 


พวกเราแนวร่วมศิลปินผู้มีชื่อข้างท้ายนี้ มีความเห็นร่วมกันว่า สันติสุขแห่งสังคมอารยะจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อประชาชนกลุ่มต่างๆ ได้มีส่วนร่วมและบทบาทในการแสดงความคิดและพิทักษ์คุณค่าแห่งศักดิ์ศรี ภูมิปัญญา และจริยธรรมสังคมให้มั่นคงด้วยวิถีทางต่างๆ โดยที่ผู้นำประเทศจะต้องมีบทบาทเป็นแบบอย่างที่สำคัญ ซึ่งในกรณีนี้ เราเห็นว่าเหลืออยู่ทางเดียวเท่านั้น คือ นายกรัฐมนตรีจะต้องสมัครใจลาออกเพื่อเห็นแก่ความสงบสุขของสังคมส่วนรวม


พวกเราขอเรียกร้องให้ประชาชนและกลุ่มวิชาชีพต่างๆ ที่ห่วงใยประเทศชาติ เปิดใจกว้างยอมรับข้อแตกต่างทางความคิด และออกมาแสดงทัศนะจุดยืนที่สร้างสรรค์ เพื่อช่วยกันหาทางออกที่เหมาะสมในสถานการณ์สุดขั้วที่เป็นอยู่ในเวลานี้


 


แนวร่วมศิลปินประชาธิปไตย


อังคาร กัลยาณพงศ์ ศิลปินแห่งชาติ


อาจินต์ ปัญจพรรค์ ศิลปินแห่งชาติ


'รงค์ วงษ์สวรรค์ ศิลปินแห่งชาติ


เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ


ประเทือง เอมเจริญ ศิลปินแห่งชาติ


สถาพร ศรีสัจจัง ศิลปินแห่งชาติ


อัศศิริ ธรรมโชติ ศิลปินแห่งชาติ


สุเทพ วงศ์กำแหง ศิลปินแห่งชาติ


ชัย ราชวัตร ศิลปินรางวัลศรีบูรพา


สุรชัย จันทิมาธร ศิลปินรางวัลศรีบูรพา


จิระนันท์ พิตรปรีชา กวีซีไรต์


ไพวรินทร์ ขาวงาม กวีซีไรต์


ศักดิ์ศิริ มีสมสืบ กวีซีไรต์


ไพฑูรย์ ธัญญา นักเขียนซีไรต์


คมทวน คันธนู นักเขียนซีไรต์


มนตรี ศรียงค์ นักเขียนซีไรต์


วสันต์ สิทธิเขตต์


จามิกร แสงศิริ


จิตติมา ผลเสวก


วิชชุกร ตั้งไพบูลย์


พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ


ชัชรินทร์ ชัยวัฒน์


สุชาติ สวัสดิศรี


พินิจ นิลรัตน์


จันทนา ฟองทะเล


ป่อง ต้นกล้า


นิด กรรมาชน


เอกชัย ลวดสูงเนิน


ชูเกียรติ ฉาไธสง


ประพันธ์ ศรีสุดา


โชติช่วง นาดอน


สุนทรี เวชานนท์


ล้านนา คามิน


แน่งน้อย ปัญจพรรค์


วิลิต เตชะไพบูลย์


สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์


สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย


กลุ่มวรรณกรรมภูเก็ต


กลุ่มคลื่นใหม่สตูล-นคร


กลุ่มวรรณกรรมสตูล


 


 


 


 


 


 


แถลงการณ์โรงเรียนสาธิตมัฆวาน แห่งมหาวิทยาลัยราชดำเนิน และเครือข่าย


 


ฉบับที่ 5 / 2551


 


"คำถามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ต้องตอบประชาชน"


 


จากสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างมากมายในปัจจุบัน องค์กรตำรวจในฐานะผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ควรจะเป็นหน่วยงานที่เป็นที่พึ่งของประชาชน แต่กลับกลายเป็นว่าในขณะนี้สังคมได้ตั้งข้อกังขาต่อองค์กรตำรวจอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติงานที่มีพฤติการณ์อันแสดงให้เห็นว่ามุ่งปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐ จนละเลยที่จะคุ้มครองสวัสดิภาพของประชาชนเป็นสำคัญ การเพิกเฉยต่อความเดือดร้อนของประชาชน ความล่าช้าในการดำเนินการเป็นขั้นต้นของกระบวนการยุติธรรมในคดีต่างๆ


 


เราในฐานะของเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่มีความห่วงใยต่อสถานการณ์บ้านเมือง จึงพิจารณารวบรวมข้อสงสัยอันเกี่ยวเนื่องกับการทำหน้าที่ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ของท่าน เป็น 10คำถามที่ตำรวจต้องตอบประชาชน ดังต่อไปนี้


 


1.กรณีนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ถูกดักยิงขณะเดินทางไปบ้านพักนายกรัฐมนตรี จะใช้เวลาเท่าใดในการสืบสวนสอบสวน หาคนผิดมาดำเนินคดี?


 


2.เหตุใดขณะที่เกิดเหตุการณ์รุนแรงในหลายๆ จังหวัด ทั้งที่ อ.กันทรลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ ทั้งกรณีกลุ่มคนรักอุดรรุมทำร้ายพันธมิตร และกรณี นปช.บุกเขามาทำร้ายประชาชน ณ สะพานมัฆวาน เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงทำได้เพียงยืนมองอย่างแน่นิ่งราวไร้วิญญาณ? เหตุใดตำรวจถึงไม่รีบเร่งดำเนินคดีกับมวลชนที่บ้าคลั่งทำร้ายทำลายประชาชน?


 


3.ผู้รับผิดชอบในเหตุการณ์ตำรวจทำหน้าที่เกินขอบเขต ทำร้ายประชาชน และขโมยทรัพย์สินของประชาชน บริเวณสะพานมัฆวานคือใคร? จะมีการดำเนินการลงโทษตำรวจทำหน้าที่เกินขอบเขตหรือไม่?


 


4เหตุการณ์วางระเบิดก่อกวนการชุมนุมบริเวณสะพานมัฆวาน และย้อนไปถึงเหตุระเบิดในกรุงเทพ เมื่อช่วงปีใหม่ปี 2550 มีเบาะแสบ้างหรือยัง?


 


5.ทำไมจึงปล่อยให้กลุ่มที่ก่อให้เกิดความรุนแรงที่หน้าบ้านสี่เสาเทเวศน์ ของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2550 ลอยนวลออกมาก่อความรุนแรงครั้งแล้วครั้งเล่า? ทั้งๆ ที่ทราบดีว่าแกนนำของกลุ่มนี้เป็นใคร


 


6.เหตุใดคดีความเรื่องการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของนายจักรภพ เพ็ญแข อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จึงมีความล่าช้าอย่างผิดสังเกต?


 


7.ทนายสมชาย หายไปไหน? แม้เวลาจะผ่านไปนานแล้ว แต่ใช่ว่าเราจะลืมเรื่องนี้ หวังว่าท่านคงไม่แสร้งทำเป็นลืมไปเสียก่อน


 


8. ในฐานะผู้ปฏิบัติหน้าที่ จะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้เหตุการณ์ที่ฝ่ายรัฐใช้กำลังกับฝ่ายประชาชนดังเช่นเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2516 และ 2519 เกิดขึ้นอีก?


 


9.ระหว่างรัฐบาลที่มีพฤติกรรมนิยมความรุนแรง กับประชาชนผู้บริสุทธิ์ ท่านจะเลือกปกป้องสวัสดิ์ภาพ และรักษาผลประโยชน์ของฝ่ายใดเป็นสำคัญ?


 


10.เกียรติตำรวจของไทย ปัจจุบันนี้อยู่ที่ไหน และท่านตระหนักในหน้าที่ ดังที่เพลงมาร์ชพิทักษ์สันติราษฎร์ได้กล่าวไว้มากน้อยเพียงใด?


 


คำถามเหล่านี้เป็นคำถามที่ ราษฎร ที่ท่าน พึง พิทักษ์อยากจะถาม เราหวังที่จะเห็นองค์กรตำรวจ เป็นองค์กรที่ปฏิบัติหน้าที่เพื่อ "พิทักษ์สันติราษฎร์" คือมุ่งเน้นประโยชน์สุขของประชาชนเป็นสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านจะให้ความกระจ่างต่อข้อสังเกตข้างต้นนี้ และกระตือรือร้นขององค์กรตำรวจ ในการปฏิบัติหน้าที่ของตน


 


นี่คือโอกาสสำคัญที่องค์กรตำรวจ จะกอบกู้ภาพลักษณ์ และเปลี่ยนทัศนคติของประชาชนต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ เราอยากให้อนุชนรุ่นหลังจดจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในฐานะพิทักษ์สันติราษฎร์ มากกว่าผู้พิทักษ์ทรราช


 


 


 ด้วยจิตสำนึกความเป็นพลเมือง


 


 โรงเรียนสาธิตมัฆวานฯ และเครือข่าย


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net