Skip to main content
sharethis


เครือข่ายสันติประชาธรรมแถลงข่าว


 


เมื่อเวลา 13.00น. ที่ห้องประชุมชั้น 2 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กลุ่มนักวิชาการในนาม "เครือข่ายสันติประชาธรรม" แถลงข่าวเรียกร้องให้ผู้นำพันธมิตรต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และรัฐบาลต้องยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน


 


โดยนายประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มธ. เป็นตัวแทนอ่านแถลงการณ์ร่วมของกลุ่ม โดยมีเนื้อหาเรียกร้องให้ผู้นำพันธมิตรเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เช่นเดียวกับประชาชนธรรมดาทั่วไป เพื่อแสดงให้สังคมไทยเห็นว่าต้องไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย และเพื่อแสดงให้เห็นว่าผู้นำพันธมิตรเคารพอำนาจศาลและกระบวนการยุติธรรม ส่วนมวลชนของพันธมิตรย่อมมีสิทธิที่จะชุมนุมต่อต้านรัฐบาลโดยสงบสันติ ได้ต่อไป โดยปราศจากอาวุธใดๆ และรัฐบาลต้องยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน อันเป็นกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพในการรวมกลุ่มและแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของประชาชน และอาจเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ของรัฐละเมิดสิทธิของประชาชนได้


 


นายประจักษ์ กล่าวว่า การรณรงค์ครั้งนี้ต้องการจุดประเด็น และส่งลูกต่อให้ประชาชน อาจมีประชาชนที่อึดอัดกับสภาพที่เป็นอยู่ ไม่พอใจนโยบายของรัฐบาล แต่ก็ไม่เห็นด้วยกับวิธีการขับไล่รัฐบาลของพันธมิตรฯ ที่ละเมิดกฎหมาย และไม่เห็นด้วยกับวิธีการของ นปช. ที่ใช้การเผชิญหน้ากับพันธมิตรฯ อย่างรุนแรง จึงอยากดึงพลังเงียบตรงนี้ออกมาให้มีช่องทางแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถร่วมลงชื่อได้ที่เว็บไซต์ http://ruleoflawthailand.wordpress.com/ หรือส่งไปรษณียบัตรมายัง เครือข่ายสันติประชาธรรม ห้อง 9 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ 10200


 


ถ้าจะใช้อารยะขัดขืนเรียกมโนธรรมสำนึกของประชาชน แกนนำ พธม.ควรปฏิบัติตามกฎหมาย


ด้านนายประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า พันธมิตรฯ ควรเริ่มต้นทำการเมืองใหม่ด้วยการปฎิบัติตามหลักการพื้นฐาน ซึ่งเป็นหลักการดั้งเดิมที่สำคัญของสังคม คือการปฎิบัติตามหลักกฎหมาย ไม่ใช่ปฎิบัติการทางการเมืองที่อาศัยความรุนแรงและใช้ประชาชนเป็นตัวประกัน รวมถึงการเมืองใหม่ก็ยังคลุมเครือและดูเหมือนจะลดอำนาจประชาชน เพิ่มอำนาจชนชั้นนำ 


 


นายประภาส กล่าวเสริมว่า อยากให้พันธมิตรฯ ที่พูดถึงอารยะขัดขืน ช่วยประคับประคองหลักของอารยะขัดขืน เพื่อให้ประชาชนกลุ่มอื่นๆ ได้ใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้เพื่อปากท้องของตัวเอง เพราะหลักที่สำคัญของอารยะขัดขืนคือ ยอมรับการกระทำของกฎหมาย เพื่อสื่อสารกับสังคม และให้ผู้มีอำนาจทางการเมืองมาแก้ปัญหา  


 


ต่อการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ เขามองว่า ถ้าพันธมิตรฯ วางตัวเองเป็นกองกำลังปฎิวัติประชาชน ทำแบบนี้ก็คงไม่ผิด คือถ้าแพ้ก็เป็นกบฎ ชนะก็ยึดอำนาจรัฐได้ แต่ถ้าพันธมิตรฯ ทำตามสิ่งที่ตัวเองพูดมาตลอดคือ อารยะขัดขืน บทบาทของอารยะขัดขืน คือต้องวางตัวเองเป็นองค์กรหรือกลไกตรวจสอบ ทำให้สังคมอารยะมากขึ้น สมัชชาคนจน 235 คนปีนไปในทำเนียบเมื่อปี 43 และยอมถูกจับ เพื่อใช้การกระทำนี้เรียกมโนธรรมสำนึกให้คนในสังคมมาฟังว่ารัฐบาลไม่ได้แก้ปัญหาอย่างไรจึงนำมาสู่การเคลื่อนไหวดังกล่าว ดังนั้น ถ้าพันธมิตรฯ อยู่บนหลักนี้ก็ต้องทำตามกระบวนการทางกฎหมาย


 


ตราบใดที่พันธมิตรฯ ยังไม่เข้าสู่อารยะขัดขืนที่แท้จริง สังคมไม่ควรเจรจากับพันธมิตรฯ


นายอภิชาต สถิตินิรามัย อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ทางกลุ่มต้องการเป็นตัวกลางเพื่อบอกว่ายังมีทางออก และเพื่อยืนยันว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองต้องเป็นไปตามระบบ เราปฎิเสธอำนาจนอกระบบทุกชนิด


 


ทั้งนี้ นายอภิชาต แสดงความเห็นส่วนตัวว่า ไม่ว่าการเมืองใหม่ของพันธมิตรฯ หรือข้อเรียกร้องของพันธมิตรฯ คืออะไรก็ตามแต่ พันธมิตรฯ และผู้ติดตามมีสิทธิตามกฎหมายที่จะเสนอ แต่การเสนอนั้นต้องทำตามกฎหมาย ไม่ใช่ตามวิธีที่ทำอยู่ สังคมยังไม่ควรรับฟังการเมืองใหม่ด้วยซ้ำไป ตราบใดที่พันธมิตรฯ ยังไม่เข้าสู่อารยะขัดขืนที่แท้จริง สังคมไม่ควรเจรจากับพันธมิตรฯ หลังจากพันธมิตรฯ ปฎิบัติตามอารยะขัดขืนอย่างแท้จริงแล้ว พันธมิตรฯ มีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะเรียกร้องอะไรก็ได้ที่อยู่ในกรอบของระบอบประชาธิปไตย หลังจากนั้น สังคมจึงจะนำข้อเสนอของพันธมิตรฯ มาถกเถียงต่อ


 


นายธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ตอนนี้มีการใช้คำว่า สงครามกลางเมือง กันแพร่หลายเหมือนจะเกิดสงครามกลางเมืองขึ้น แต่ตามสถานการณ์แล้วยังไม่เกิดและยากที่จะเกิด เพราะสงครามกลางเมืองจริงๆ เช่นในสหรัฐฯ ทั้งสองฝ่ายต้องสถาปนาอำนาจของตัวเองให้ได้ก่อน แต่สถานการณ์ของเรา คิดว่าอย่างมากที่สุด อาจเกิดรัฐประหาร โดยอาจเป็นรัฐประหารที่นองเลือด ซึ่งจะต่างกับรัฐประหาร 70 กว่าปีที่ผ่าน ที่ฝ่ายยึดอำนาจไม่เคยเจอกับการต่อต้านอย่างจริงจังและใช้กำลังเลย แต่ถ้าสถานการณ์ของเราคลี่คลายไม่ได้ด้วยระบบกฎหมายหรือนิติรัฐ ก็จะไถลไปสู่การยึดอำนาจด้วยการรัฐประหารที่นองเลือด เพราะไม่มีใครคุมได้ และประชาชนก็ถูกแยกเป็นหลายฝ่าย อาจมากกว่าสองฝ่าย อย่างไรก็ตาม ในขณะที่สังคมยังมีสติอยู่ สิ่งที่นักวิชาการทำได้ก็คือพยายามเป็นสติของสังคม แม้ว่าจะแผ่วเบาก็ตาม


 


เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว สำนักงานสิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สิทธิชุมนุมเป็นการแสดงความเห็นทางการเมืองที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน แต่ต้องอยู่บนฐานของการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ แต่ที่ผ่านมา การแสดงออกซึ่งความเห็นเหล่านี้ เป็นความพยายามยั่วยุให้เกิดความรุนแรง เพราะฉะนั้น ข้อเสนอต่อสถานการณ์ปัจจุบันคือ แม้ว่ารัฐบาลควรเคารพสิทธิการชุมนุม แต่ก็ต้องชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ปลดอาวุธทั้งสองฝ่าย เพราะตราบใดที่ยังมีอาวุธอยู่ในมือ ความรุนแรงก็จะมากขึ้น และอาจนำไปสู่อำนาจนอกระบบได้


 


นายอาเต็ป โซ๊โก เลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) กล่าวว่า ทุกคนอาจมองว่าประเทศชาติเข้าสู่ความเลวร้าย แต่อีกแง่ก็มองว่า เป็นความสวยงามของประชาธิปไตย ที่เห็นกลุ่มต่างๆ ออกมาเคลื่อนไหว อย่างไรก็ตาม อยากเตือนสติเพื่อนนักศึกษาไม่ให้ใช้อารมณ์ในการเข้าร่วม ไม่ว่าจะเข้าร่วมกับกลุ่มไหน อยากให้ใช้เหตุผลในการชุมนุม เคารพในสิทธิการแสดงความเห็น แม้จะเห็นต่างกัน และอยู่ในกรอบของประชาธิปไตย


 


การต่อสู้ทางการเมือง คือการโน้มนำให้คนอื่นเห็นด้วยโดยเหตุผล ไม่ใช่บีบบังคับให้ยอมรับ


นายอุเชนทร์ เชียงเสน นักศึกษาปริญญาโทคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตัวแทนกลุ่มโดมแดง กล่าวว่า ข้อเสนอของเราไม่ได้ยุติความขัดแย้งทางการเมือง แต่ยุติความรุนแรงทางการเมือง ความขัดแย้ง หรือเห็นต่างเป็นสิทธิที่ทำได้ แต่ปัญหาทางการเมืองตอนนี้ คนในความขัดแย้งพยายามสร้างเงื่อนไขให้เกิดความรุนแรง


 


เขาแสดงความเห็นว่า เวลาเรามองความรุนแรงเรามักมองไปที่เจ้าหน้าที่รัฐ แต่ยังมีความรุนแรงอีกแบบคือความรุนแรงจากประชาชน การยึดเอ็นบีทีและทำเนียบของพันธมิตรฯ ต้องการให้เกิดความรุนแรง เพื่อให้รัฐบาลใช้กำลังในการปราบปราม เพื่อใช้เป็นเงื่อนไขในการโค่นล้มรัฐบาล เพราะคนเหล่านี้รู้ว่าการชุมนุมโดยปกติไม่สามารถล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ จึงต้องดำเนินการให้รัฐผิดพลาดในส่วนนี้


 


นายอุเชนทร์ กล่าวว่า ความขัดแย้งไม่จำเป็นต้องยุติ แต่เราต้องการยุติความรุนแรง เพราะฉะนั้น วันนี้พันธมิตรฯ ต้องให้เจ้าหน้าที่รัฐปลดอาวุธกองกำลังของตัวเอง ตอนนี้แนวโน้มที่ดีคือเจ้าหน้าที่รัฐ ปลดอาวุธแล้วเหลือเพียงโล่และกระบอง


 


ที่ผ่านมา พันธมิตรฯ อธิบายว่าสิ่งที่ตัวเองทำเป็นอารยะขัดขืน โดยอ้าง อ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เหมือนกัน ทั้งนี้ อารยะขัดขืน คือการกระทำที่มีลักษณะสาธารณะ เปิดเผย สันติวิธี มีมโนธรรมสำนึก ตั้งใจขัดกฎหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงกฎหมายหรือนโยบายบางอย่างของรัฐ แต่ที่สำคัญที่สุดคือ ต้องยอมรับผลที่เกิดขึ้นจากกฎหมายนั้นด้วย  เพราะอารยะขัดขืนคือการพยายามเรียกร้องมโนธรรมสำนึกของสังคม ให้สงสัยว่า ทำไมคนดีๆ จึงตั้งใจละเมิดกฎหมาย ให้สังคมสงสัยว่า มีสิ่งผิดปกติในสังคมการเมืองแน่ๆ เพราะฉะนั้นอยากเรียกร้องให้  ผู้นำพันธมิตรฯ ที่ตั้งใจละเมิดกฎหมาย เรียกร้องมโนธรรมสำนึกจากสังคมโดยการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม


 


ทั้งนี้ ไม่ใช่ชอบหรือไม่ชอบนายสมัคร แต่ไม่ควรให้พันธมิตรฯ เอาเงื่อนไขความรุนแรง เอาชีวิตผู้คนเป็นตัวประกัน เพื่อบีบให้รัฐบาลลาออก เพื่อบีบให้ทุกคนยอมรับเป้าหมายที่ตัวเองต้องการแต่ฝ่ายเดียว เป็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรม และไม่สามารถยอมรับได้


 


นายอุเชนทร์ กล่าวว่า เขาต้องการสนทนากับแกนนำพันธมิตรฯ โดยตรงว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดในการต่อสู้ทางการเมือง คือการโน้มนำให้คนอื่นเห็นด้วยกับตัวเอง โดยการถกเถียงกันอย่างมีเหตุผล ไม่ใช่การเข้าไปอยู่ในทำเนียบรัฐบาลแล้วใช้เงื่อนไขความรุนแรงมาบีบบังคับให้คนอื่นยอมรับ ในคืนวันที่ 5 ก.ย. หลังจากหลายคนออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา หรือลาออกนั้น สุริยะใส กตะศิลา ได้ปราศรัยว่า เราสำเร็จแล้วที่ทำให้คนอื่นเห็นด้วยกับเรา ซึ่งมองว่าไม่จริง เพราะเป็นการบีบคั้นให้คนอื่นเห็นด้วย


 


ร่วมรณรงค์สนับสนุนหลักการ "ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย บ้านเมืองต้องกลับสู่ภาวะปกติ"


7 กันยายน 2008


 


"เครือข่ายสันติประชาธรรม" ร่วมรณรงค์สนับสนุนหลักการ


ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย บ้านเมืองต้องกลับสู่ภาวะปกติ


1. ผู้นำพันธมิตรต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม


2. รัฐบาลต้องยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน


 


การชุมนุมเรียกร้องขับไล่รัฐบาลโดยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ดำเนินมานานกว่า 3 เดือน และยกระดับมาสู่การบุกยึดสถานีโทรทัศน์เอ็นบีทีและทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมา จนนำมาสู่การปะทะกันระหว่างกลุ่มพันธมิตรและ นปช. และการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินโดยรัฐบาลนี้ กล่าวได้ว่าได้ทำให้สังคมไทยกำลังเข้าสู่ทางตันและสภาวะสงครามการเมือง โดยเฉพาะเมื่อฝ่ายพันธมิตรปฏิเสธที่จะประนีประนอมหรือยอมรับการเจรจาใดๆ และปฏิเสธที่จะเคารพต่อกฎหมายของบ้านเมือง เราเห็นว่าหนทางที่จะนำสังคมไทยออกจากความรุนแรงทางการเมืองในขณะนี้ คือต้องทำให้บ้านเมืองกลับสู่ภาวะปกติเสียก่อน เพื่อให้ฝ่ายต่างๆ สามารถช่วยกันแสวงหาแนวทางปฏิรูปทางการเมืองตามวิถีทางประชาธิปไตยและสันติ ได้อย่างแท้จริง แต่การจะกลับสู่ภาวะปกติได้ เราขอเรียกร้องให้


 


1. ผู้นำพันธมิตรเข้ามอบตัวต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อต่อสู้คดีในชั้นศาลตามกระบวนการยุติธรรม เฉกเช่นประชาชนธรรมดาทั่วไป เพื่อแสดงให้สังคมไทยเห็นว่าต้องไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย และเพื่อแสดงให้เห็นว่าผู้นำพันธมิตรเคารพอำนาจศาลและกระบวนการยุติธรรมซึ่ง เป็นหลักการพื้นฐานอันขาดไม่ได้ของระบบนิติรัฐ ในส่วนของมวลชนของพันธมิตรย่อมมีสิทธิที่จะชุมนุมต่อต้านรัฐบาลโดยสงบสันติ ได้ต่อไป โดยปราศจากอาวุธใดๆ


 


2. รัฐบาลต้องยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน อันเป็นกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพในการรวมกลุ่มและแสดงความคิดเห็นทางการ เมืองของประชาชน และอาจเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ของรัฐละเมิดสิทธิของประชาชนได้


 


3. ประชาชนร่วมกันแสดงความคิดห็นทางการเมืองอย่างสงบสันติ ทั้งนี้ ขณะที่ทั้งฝ่ายพันธมิตรและรัฐบาลต่างอ้างประชาชนเพื่อสนับสนุนความชอบธรรม ของตน แต่เราเชื่อว่ายังมีประชาชนอีกจำนวนมากที่ต้องการให้บ้านเมืองกลับเข้าสู่ ภาวะปกติ และเห็นการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองด้วยสันติวิธี รักษาหลักการประชาธิปไตย และความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายบ้านเมืองเอาไว้ แต่ประชาชนส่วนใหญ่ที่ไม่ได้เลือกข้างยังขาดช่องทางการแสดงความคิดเห็นอย่าง มีพลัง เราจึงต้องการเป็นเวทีกลางที่รวบรวมความเห็นของพลังเงียบเหล่านี้เพื่อแสดง ให้ทั้งฝ่ายพันธมิตรฯและรัฐบาลตระหนักถึงความคิดเห็นของพวกเขา เราเชื่อว่าทางเลือกนี้ช่วยป้องกันการปะทะเผชิญหน้าระหว่างประชาชนฝ่ายต่างๆ และหลีกเลี่ยงความบาดเจ็บสูญเสียที่อาจจะเกิดจากการสลายการชุมนุม ทั้งยังไม่ต้องรอการจัดประชามติจากรัฐบาล ซึ่งอาจจะใช้เวลานานจนไม่ทันต่อเหตุการณ์ 


 


เราจึงอยากชักชวนให้ทุกคนมาร่วมแสดงออกทางการเมืองอย่างง่ายๆ
ด้วยการรณรงค์ให้ประชาชนช่วยกันเผยแพร่และสนับสนุนหลักการ:               


 


ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย บ้านเมืองต้องกลับสู่ภาวะปกติ


1. ผู้นำพันธมิตรต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม


2. รัฐบาลต้องยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน


 


ชาญวิทย์ เกษตรศิริ  อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ฉลอง สุนทราวาณิชย์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ คณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ไชยันต์ รัชชกูล คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เกษม เพ็ญภินันท์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ยุกติ มุกดาวิจิตร คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อภิชาต สถิตนิรามัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ประภาส ปิ่นตบแต่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เวียงรัฐ เนติโพธิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว สิทธิมนุษยชนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
จีรพล เกตุจุมพล ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
วีรศักดิ์ กีรติวรนันท์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อรอนงค์ ทิพย์พิมล คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อัครพงษ์ ค่ำคูน คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
บุญส่ง ชัยสิงกานานนท์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
นพ. กิติภูมิ จุฑาสมิต  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ
ฆัสรา มุกดาวิจิตร นักวิชาการอิสระ
คำ ผกา  นักเขียนอิสระ


 


โดยส่งรายชื่อและสังกัดของท่านไปยัง ruleoflawthailand@hotmail.com


หรือไปรษณียบัตรมายัง เครือข่ายสันติประชาธรรม ห้อง 9 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ 10200


 


 


อมธ.ตั้งโต๊ะล่าแสนชื่อถอดถอนสมัคร


ขณะเดียวกัน ที่บริเวณลานโพธิ์ องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) ได้ตั้งโต๊ะล่ารายชื่อ 1 แสนชื่อ เพื่อร้องต่อประธานวุฒิสภาให้ถอดถอนนายสมัคร สุนทรเวช ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากนายสมัคร ไม่มีความเหมาะสมในการบริหารราชการแผ่นดิน และขาดหลักธรรมาภิบาล


 


 


 



บริเวณทางเดินหน้าคณะศิลปศาสตร์ มธ. ท่าพระจันทร์


 


 


 


อมธ.ตั้งโต๊ะล่ารายชื่อ บริเวณลานโพธิ์


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net