สมัชชาคนจน : ผลพวงการพัฒนาและการก้าวไปข้างหน้า

เนื่องในวาระที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้มอบรางวัล "ฉันรักประชาชน" ให้แก่ มด วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้ทุ่มเทเสียสละให้กับคนจนอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยตราบจนเสียชีวิต เพื่อเป็นการสืบทอดปณิธานในการเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับคนจน เมื่อวันที่ 7 .. ที่ผ่านมา

ในวันเดียวกัน คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับสมัชชาคนจน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย อนุกรรมการสิทธิในที่ดินและป่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนพัฒนาชนบท ได้จัดการสัมมนา "สมัชชาคนจน : ผลพวงการพัฒนาและการก้าวไปข้างหน้า" ตามโครงการสัมมนาวิชาการ "คนจน: ผลพวงของการพัฒนา" เพื่อทบทวนการแก้ไขปัญหาคนจนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนา และให้ภาคส่วนต่างๆ ได้มีส่วนร่วมในการผลักดันการแก้ไขปัญหาคนจน

00000

 

"สมัชชาคนจน"

 

"สมัชชาคนจน" เริ่มต้นจากวิกฤติความขัดแย้งในสิทธิการใช้ทรัพยากร-สิ่งแวดล้อม ที่ถูกการพัฒนารุกเรา ทำให้เกิดการรวมตัวของชาวบ้านกลุ่มต่างๆ และมีความพยายามขยายเครือข่ายให้กว้างขวางมากขึ้น ทั้งในระดับพื้นที่และกลุ่มผู้เข้าร่วม ซึ่งก็ได้รวมคนชั้นกลางคือ NGO และนักวิชาการเข้าไปด้วย เพื่อสร้างพลังในการเคลื่อนไหวต่อสู้ เริ่มตั้งแต่การเกิดขึ้นของ "สมัชชาเกษตรกรรายย่อย (สกย.)" ซึ่งเป็นการรวมตัวของเกษตรกรภาคอีสาน 9 กรณีปัญหา จนกระทั่งมีการรวมเครือข่ายที่มีความหลากหลาย ในขอบข่ายทั่วประเทศ โดยร่วมกับพันธมิตรในเอเชียอีก 9 ประเทศ ภายใต้ชื่อ "สมัชชาคนจน" ในเดือนธันวาคม 2538

 

การจัดตั้ง "สมัชชาคนจน" เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการจากการประชุมร่วมกันของเครือข่ายคนจน 10 ประเทศ ในวันที่ 10 ..2538 (วันสิทธิมนุษยชนสากล) ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีตัวแทนชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาทั้งในประเทศไทยและประเทศพันธมิตรเข้าร่วม จากนั้นได้เดินทางไปร่วมประชุมกันต่อที่ บ้านด่านเก่า อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ในระหว่างวันที่ 11-14 ..2538 และตัวแทนทั้งหมดได้ร่วมกันร่าง "คำประกาศลำน้ำมูล" หรือ "ปฏิญญาปากมูล" โดยระบุวัตถุประสงค์ในการรวมกันเป็นเครือข่ายสมัชชาคนจน เพื่อเป็นเวทีรวมพลังแห่งความร่วมมือ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และประสานความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

 

สมัชชาคนจนอธิบายได้ตัวเองว่า เป็นเครือข่ายของชาวบ้านคนยากคนจนจากชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการพัฒนาของรัฐ ที่เกิดขึ้นท่ามกลางสงครามการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า ระหว่างรัฐและภาคธุรกิจกับชาวบ้านที่อยู่ในชุมชนท้องถิ่นทั้งในชนบทและในเมือง นโยบาย และโครงการพัฒนาของรัฐ กฎหมาย ฯลฯ ได้รุกรานวิถีชีวิตปกติ ละเมิดสิทธิในการจัดการทรัพยากรของชุมชนท้องถิ่น ทำลายวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลาย

 

กำเนิดสมัชชาคนจน จึงเป็นการรวมตัวกันของเครือข่ายย่อย คือ เครือข่ายปัญหาเขื่อนหรือสมัชชาเขื่อน เครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือ (คกน.) เครือข่ายปัญหาสลัม เครือข่ายผู้ป่วยจากการทำงานฯ กรณีการคัดค้านโรงไฟฟ้าพลังขยะ-ลิกไนท์ อ.หางดง จ.เชียงใหม่ กรณีการคัดค้านการก่อสร้างศูนย์ราชการโพธิ์เขียว จ.สุพรรณบุรี ฯลฯ และในปัจจุบัน ประกอบด้วย 7 เครือข่ายทั่วประเทศ ประกอบด้วย เครือข่ายที่ดิน เครือข่ายป่า เครือข่ายน้ำและเขื่อน เครือข่ายสลัม 4 ภาค เครือข่ายสภาผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อม เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก และเครือข่ายประมงพื้นบ้านภาคใต้

 

00000


50 ปี ของการเร่งผลิต "คนจน" โดยการพัฒนาของรัฐ

ดร.อรศรี งามวิทยาพงศ์ สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ทั่วทุกภาคเจอปัญหาเหมือนกันหมด คือ ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา รัฐได้ทำให้คนธรรมดาที่อาศัยอยู่ในชุมชนซึ่งมีป่าไม้ มีทรัพยากรธรรมชาติได้กลายเป็นคนที่ไม่มีอะไรเลย ที่เรียกกันว่า "คนจน" ในความหมายของคนที่จนทางเลือก ซึ่งเดิมคนจนมีอยู่แล้วในสังคมไทยโดยการเปรียบเทียบฐานะทางการเงินที่น้อยกว่าคนอื่นๆ ในสังคม แต่คนจนในที่นี้คือคนจนไม่มีโอกาสเลือก มีคนคอยกำหนดทิศทางชีวิต และประวัติศาสตร์ชุมชนถูกทำลายโดยการพัฒนาของรัฐ

"คนจนมีมานานแล้วในสังคมไทย ไปศึกษาประวัติศาสตร์ แต่คนจนที่ไม่มีทางเลือก หมายถึงจนตรอก ต้องถูกคนอื่นกระทำ ต้องถูกคนอื่นตัดสินชะตาชีวิต ต้องเป็นคนอื่นที่บอกว่าคุณจะต้องไปทำงานอะไร คุณควรจะต้องอยู่ในโรงงาน คุณจะต้องออกไปจากพื้นที่ของคุณ อะไรอย่างนี้ มันถูกคนอื่นเป็นคนทำให้หมดเลย โดยไม่มีสิทธิเลือก" ดร.อรศรีกล่าวอธิบาย

ดร.อรศรี กล่าวต่อมาถึงการที่รัฐทำให้ชาวบ้านจนทางเลือกว่า แบ่งได้เป็น 3 ประเด็น คือ หนึ่ง "การทำลายทรัพยากร" ที่เรียกว่าทุบหม้อข้าว โดยการริบทรัพยากรผ่านนโยบายที่รัฐได้วางแนวทางไว้ แล้วออกเป็นกฎหมาย ข้อบังคับ กฎกระทรวง เครื่องมือต่างๆ ของรัฐ เพื่อไปแย่งชิงฐานทรัพยากร ซึ่งเปรียบเสมือนปัจจัยสี่ในการดำรงชีวิต และเป็นเหมือนกับร่างกายของคนในชนบท

ตัวอย่าง การที่รัฐเข้าไปยึดพื้นที่ป่าไม้เป็นของรัฐและเข้าไปจัดการโดยการให้สัมปทาน หรือการที่รัฐจัดการผ่านธนาคารโลกโดยใช่คณะผู้เชี่ยวชาญเดินทางไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ แล้วไปส่งเสริมการเอาทรัพยากรธรรมชาติออกมาขาย โดยใช้ทั้งอำนาจและสร้างอุบายที่ว่ารวยแล้วดีเพื่อเปลี่ยนวิธีคิดชาวบ้าน ตามคำขวัญของรัฐในยุคนั้นที่ว่างานคือเงินเงินคืองานบันดารสุข

การกระทำของรัฐได้เข้าไป ริบ ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ โดยเปลี่ยนให้เป็นกลายเป็นเงิน แล้วคนก็ต้องกลับมาพึ่งพิงเงิน แต่เงินจำนวนมหาศาลจากการส่งออกในยุคของการพัฒนานั้นได้เข้าสู่รัฐ เพื่อสร้างโรงงาน สร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้า ไม่ได้กลับเข้ามาสู้ประชาชนในชนบทโดยตรง นี่คือสิ่งที่รัฐได้ทำอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งการแย่งชิงของรัฐนี้แตกต่างจากอดีตที่เป็นการแย่งชิงเอาผลผลิต โดยบอกให้ประชาชนปลูกข้าวและเอาข้าวไปขาย เมื่อขายได้รัฐก็จะเอาเงินที่ได้จากการจัดเก็บภาษีส่งออกไปพัฒนาตัวเอง แต่ปัจจุบันรัฐได้พัฒนาการแย่งชิงไปสู่การทุบหม้อข้าว คือการเข้าไปชิงทรัพยากรถึงในพื้นที่

"แต่ก่อนเค้ายังเอาข้าวเรา แต่ตอนนี้เค้าขอหม้อข่าวทั้งหม้อข้าว เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้คนชนบทอยู่เฉยๆ แล้วปล่อยให้คนมาเอาหม้อข้าวไป" ดร.อรศรีกล่าว

ส่วนประเด็นต่อมา คือ "การทำลายความรู้" โดยการทำลายภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สั่งสมเรียนรู้ร่วมกันมานานนับร้อยนับพันปี จนสามารถอยู่รอดจากภัยธรรมชาติ และปัญหาต่างๆ ได้มาจนถึงปัจจุบัน ด้วยการออกนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติขึ้นมา พร้อมประกาศว่าชาวบ้านไม่มีความรู้พอ ติดฉลากชาวบ้านว่าเป็นคนไม่มีความรู้

"คนที่เคยมีความรู้อยู่ดีๆ มีภูมิปัญญาของตัวเองกลายเป็นคนโง่เฉียบพลัน ในข้ามวันที่รัฐประกาศเลยว่า ความรู้ที่เรามีอยู่ไม่ใช่ของรัฐ รัฐไม่ต้องการ รัฐเห็นว่ามันไม่ใช่ความรู้ ความรู้มีอยู่แต่ในโรงเรียน มีอยู่แต่ในมหาวิทยาลัย มีอยู่แต่ในนักวิชาการที่โง่บ้างฉลาดบ้างอย่างดิฉันหรือคนอื่นๆ ซึ่งทำตัวรู้ไปหมดทุกเรื่อง เพราะฉะนั้นรัฐเลยทำให้มนุษย์ที่เคยมีชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี มีความรู้อยู่รอดได้ ถูกทำให้ตัวเองไม่มีศักดิศรี กลายเป็นรู้สึกว่าตัวเองโง่" ดร.อรศรีกล่าว

ดร.อรศรี ยังกล่าวอีกว่า ความรู้ของชาวบ้านที่มีมากมาย ซึ่งความรู้ที่กินได้ไม่ใช่ความรู้ที่มาจากระบบการศึกษาซึ่งกินไม่ได้แต่เอาไว้เท่ แต่การที่รัฐทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่าตัวเองไม่มีมีศักดิ์ศรี ไม่มีความรู้ ทำให้ชาวบ้านไม่มีความมั่นใจที่จะพึ่งตนเอง ไม่มีความมั่นใจที่จะไปต่อสู้กับรัฐเพื่อช่วงชิงทรัพยากรคืนมา จนกลายเป็นฝ่ายที่ถูกกระทำ

ทั้งนี้ ขบวนการต่อสู้ของภูมิปัญญาท้องถิ่นไทยที่เริ่มในปีหลังแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที 5 ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐบอกว่าคนชนบทนั้นโง่จนเจ็บ เมื่อนักพัฒนาเอกชนได้ลงไปเรียนรู้ในพื้นที่ พบและพูดว่าต้องรื้อฟื้นสิ่งที่ชาวบ้านมี จึงเกิดกระบวนการรื้อฟื้นสิ่งที่เรียกว่าภูมิปัญญาท้องถิ่น ในปลายแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 5 ต่อเนื่องเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั้งคนที่ปฏิเสธความรู้แบบของรัฐหันมาฟื้นฟูภูมิปัญญาท้องถิ่น และกลับมีชีวิตรอดได้ เป็นโรงเรียนสำคัญที่ทำให้ชาวบ้านอื่นๆ ได้กลับมาคิดว่าเขาไม่ได้โง่ เขามีความรู้และเข้าไปต่อสู้กับชุดความคิดที่รัฐยัดเยียดให้

ดร.อรศรี กล่าวต่อมาถึงประเด็นที่สามว่า 50 ปีที่ผ่านมา รัฐได้สร้างกลไกลในการเข้าไปควบคุมการแย่งชิงทรัพยากร และการแย่งชิงความรู้ โดยกดให้ชาวบ้านเชื่อว่าไม่มีความรู้แล้วแย่งชิงทรัพยากรมากที่สุดโดยอาศัยมือไม้ของรัฐ คือ นักพัฒนา ข้าราชการ กลไกจากกระทรวงลงไปในระดับพื้นที่ โดยกตัวอย่าง กระทรวงการศึกษา ลงไปศึกษาธิการจังหวัด ศึกษาธิการอำเภอ ผู้อำนวยการโรงเรียน ครูใหญ่ และเกษตรที่มีตั้งแต่ระดับกระทรวงไล่ลงไปเรื่อยๆ ถึงเกษตรตำบล ข้าราชการเกิดขึ้นมากมายในทุกพื้นที่ และคนเหล่านี้รับเอาความรู้ของรัฐเข้าไปเบียดขับความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวบ้าน ซึ่งการพัฒนาชนบทมาเรื่อยก่อนหน้านี้ไม่มีการสร้างมือไม้ของรัฐมากขนาดนี้

นอกจากนี้ ข้าราชการที่คิดว่าตัวเองมีความรู้ ฉลาด เก่ง ได้ลงไปกระทำสิ่งต่างๆ ในพื้นที่โดยไม่เคยสนใจฟังความคิดของชาวบ้าน และวัฒนธรรมเช่นนี้ก็ได้บ่มเพาะมาจนถึงทุกวันนี้ และข้าราชการจำนวนมากยังปลดไม่พ้นความคิดเช่นนี้

ส่วนการที่รัฐหันกลับมาให้ความสนใจกับภูมิปัญญาท้องถิ่นในทุกวันนี้ เนื่องมาจากการพัฒนาตามวิธีคิดของรัฐล้มเหลว ทำให้คนจนยิ่งจนยิ่งขึ้น และไม่มีทางเลือกในการที่จะอยู่ในพื้นที่ของตนเอง เพราะรัฐได้เข้าไปยึดครองจัดระเบียบการใช้ทรัพยากร อีกทั้งความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาไม่สามารถนำมาใช้ในการดำรงชีวิตในท้องถิ่นของตนเองได้ ในขณะที่ภูมิปัญญาท้องถิ่นได้ผ่านกระบวนการต่อสู้จนสามารถพิสูจน์ได้ว่า ชาวบ้านถูกฟื้นฟูและสามารถจดการตัวเองได้

อย่างไรก็ตาม ภูมิปัญญาชาวบ้านที่รัฐเอาไปใช้นั้น ถูกเน้นไปที่กระบุง ตะกร้า ผ้าทอ โอทอป โดยไม่ยอมรับว่าถึงที่สุดความรู้ของชาวบ้านมีความหมายแค่สร้างผลผลิตเอาส่งไปขาย

ทั้งนี้ การพัฒนา 50 ปีที่ผ่านมารัฐเข้าไปการทำลายชุมชนในหลายเรื่อง แต่ทั้ง 3 ประเด็นเป็นเรื่องหลักที่ก่อผลกระทบให้คนธรรมดากลายเป็นคนที่จนทางเลือก เพราะไม่มีทั้งทรัพยากรที่เป็นเหมือนร่างกาย ไม่มีทั้งสติปัญญาที่จะพึ่งตัวเอง และไม่มีทั้งอำนาจที่จะจัดการชีวิตตัวเองว่าควรจะเป็นอย่างไร ซึ่งท้ายที่สุดไม่มีทางที่รัฐจะคืนสิ่งเหล่านี้ให้เอง การต่อสู้ทางการเมืองของขบวนการทางสังคม ด้วยการต่อรองจึงเป็นปัจจัยชี้ขาด และสมัชชาคนจนคือคุณูประการที่สำคัญที่สุดที่ทำให้สังคมเป็นความสำคัญของขบวนการต่อสู้ทางสังคมที่ลุกขึ้นมาและบอกว่าการเมืองภาคประชาชนเรื่องสำคัญ

ในส่วนข้อเสนอดร.อรศรี กล่าว่า อำนาจการต่อรองของสมัชชาขึ้นอยู่กับเงื่อนไข ในข้อแรก คือ การรู้จุดยืนของตัวเองที่อยู่ทามกลางสถานการภายใต้บริโภคนิยม และความพยายามที่จะทำให้เกิดการแยกออกจากกัน รวมทั้งมีค่านิยมชุดใหม่ที่ส่งผ่านสื่อต่างๆ เพื่อเปลี่ยนระบบคุณค่า เป็นการทำลายความเป็นชุมชนโดยผ่านสื่อต่างๆ มากมาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องเข้าใจและเท่าทัน รวมทั้งการให้ความหมายในการใช้คำศัพท์ ส่วนข้อสอง คือ การทำให้คนรู้จักสมัชชาคนจนมากขึ้น หลังจากที่ผ่านมารัฐพยายามทำให้ "คนจน" กลายคนที่จนเพราะขี้เกียจ ไม่ขยัน ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย แต่รัฐไม่ยอมรับว่าความจนนั้นเกิดขึ้นจากรัฐ ดังนั้นต้องทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่าความจนที่สมัชชากำลังจะแก้ไม่ใช่ความจนระดับบุคคลแต่เป็นความจนเชิงโครงสร้าง เพื่อหามิตรในการทำงานร่วมกัน


เตรียมรับ ทุนนิยมเสรีใหม่และลมหวนประชาธิปไตยโจทย์ใหญ่ของสมัชชาคนจน

ดร.ฉันทนา บรรพสิริโชติ ที่ปรึกษาทางวิชาการของสมัชชา กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงของการเมืองระดับประเทศในช่วงสิบกว่าปีที่มีสมัชชาคนจนเกิดขึ้นว่า ขบวนการภาคประชาชนทำให้เนื้อหาและตัวละครของการเมืองเปลี่ยน โดยขบวนการภาคประชาชนของสมัชชาทำให้นักการเมืองต้องพูดเรื่องที่ไม่อยากจะพูด ยกตัวอย่างเช่น การตัดสินใจในเรื่องการสร้างเขื่อน การเอาคนออกจากพื้นที่ป่าหรือป่าชุมชน ซึ่งนักการเมืองต้องคิดเรื่องการอธิบายถึงการตัดสินใจในเรื่องเหล่านี้ต่อประชาชน และการที่นักการเมืองต้องพูดถึงเกษตรกรรมทางเลือกรวมถึงเรื่องสุขภาพของแรงงาน

นอกจากนี้ วัฒนธรรมการเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ ข้าราชการ หรือนักการเมือง กับชาวบ้านได้เริ่มเปลี่ยนไป จากเดิมที่ชาวบ้านต้องนั่งคุกเข่ายกมือไหว้เวลาเจอเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือนักการเมือง ปัจจุบันชาวบ้านสามารถนั่งโต๊ะเจรจากับรัฐได้ โดยความคิดที่ว่ารัฐควรทำหน้าที่รับใช้ประชาชน และประชาชนจะเป็นคนกำหนดชะตาชีวิตของตัวเอง ซึ่งดร.ฉันทนาเล่าว่าคุณวนิดาเคยพูดว่าการที่ประชาชนจะเป็นคนกำหนดชะตาชีวิตของตัวเขาเองคือหัวใจของประชาธิปไตย และดร.ฉันทนา มองว่าในส่วนนี้จะเป็นทุนที่สำคัญของคนจนในการที่จะทำงานต่อไปได้ในอนาคต แต่การจะก้าวอย่างไรต่อไปต้องเป็นเรื่องที่ต้องมาคิดกันต่อไป

ดร.ฉันทนา กล่าวต่อมาว่า ประชาชนได้เข้าสู่การเมือง โดยเป็นการเมืองที่มีเนื้อหาที่เกี่ยวของกับวิถีชีวิตของผู้คน แต่มีโจทย์ที่สำคัญสำหรับอนาคต 2 ข้อ คือ 1.คนจนจะเผชิญหน้ากับเสรีนิยมใหม่ที่ทุนเป็นใหญ่อย่างไร เมื่อทุนมีความเสรีเคลื่อนไหวไปทั่วโลกโดยไม่มีขีดขั้นในระบบตลาด และทุนที่เสรีจะเข้ามามีส่วนในการดำเนินชีวิตของคน แล้วคนจนดำเนินชีวิตที่เหมือนยืนอยู่บนเส้นด้ายโดยที่มีสิทธิเพลี่ยงพลั้งอยู่ตลอดเวลาได้อย่างไร เพราะเสรีนิยมใหม่ไม่ได้มาทื่อๆ แบบการถกเถียงเรื่องการสร้างเขื่อน แต่แทรกแซงมาอย่างแยบยลแทบจนไม่รู้ตัว โดยเฉพาะเรื่องการบริโภค ความเสียงต่างๆ ที่ไม่รู้ อย่างในเรื่องความปลอดภัยทางอาหาร

"มันมีสิ่งที่เรียกว่าไม่รู้เยอะมากในโลกเสรีนิยมใหม่ ซึ่งเราอยู่ภายใต้เทคโนโลยีที่มันมีอำนาจเหลือเกินที่จะอธิบายอะไรได้หลายอย่าง" ดร.ฉันทนากล่าว

ตัวอย่างสถานการณ์ที่ประเทศเกาหลีต่อต้านการนำเข้าเนื้อวัวจากสหรัฐอเมริกาเพราะหวั่นเกรงเรื่องโรควัวบ้าว่า เป็นภาวะของการไม่รู้ ที่ไม่สามารถปฏิเสธได้เพียงการเลือกไม่ซื้อมาบริโภค และในบางครั้งเค้าไม่สามารถตัดสินใจแบบรวมหมู่ได้ เช่น เนื้อที่จะเข้าไปในโรงเรียนเพื่อทำอาหารให้เด็ก เนื้อที่จะเข้าไปในโรงพยาบาลเพื่อทำอาหารให้ผู้ป่วย ซึ่งคนเหล่านี้อยู่ในสภาพบังคับที่ไม่สามารถปฏิเสธว่าไม่เอาเนื้อของอเมริกาได้ อีกทั้งกระดูกและหนังที่จะถูกนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่แทรกอยู่ในชีวิตประจำวันซึ่งไม่สามารถรู้ได้

นี่คือโจทย์ที่หนักหนาสาหัสของคนจนว่าจะทำอย่างไร จะอยู่อย่างไร และอาจจะต้องคิดถึงขนาดว่าจะต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตที่เราทำอยู่หรือเปล่า จะต้องปรับองค์กรทางสังคมที่ต่างคนต่างอยู่หรือเปล่า และจะทำอย่างไรให้รู้เท่าทัน นี่คือโจทย์ที่มี และสมัชชาคนจนจะต้องเปิดประเด็นเหล่านี้ขยายสู่สังคมต่อไป

โจทย์ข้อที่ 2 คนจนจะเผชิญหน้ากับลมหวนของประชาธิปไตยได้อย่างไร ภายใต้ความไม่ลงตัวทางการเมืองในขณะนี้ โดย ดร.ฉันทนากล่าวแสดงความคิดเห็นว่า ในระยะหลังนี้ชาวบ้านอ่อนเปลี้ยไปมากเพราะเอาอนาคตไปฝากไว้กับผู้นำที่ใจดี และอาจทำให้เกิดความระส่ำระสายในกระบวนการของประชาชน ซึ่งทำให้เกิดคำถามถึงหลักการ ประชาธิปไตยที่ประกอบด้วย สิทธิ เสรีภาพ ภราดรภาพ และข้อสุดท้ายคือภารดรภาพหรือความเป็นพี่น้องถูกละเลย ทั้งนี้ หากต้องต่อสู้กับเสรีนิยมใหม่คงต้องหันย้อนกลับมาคิดถึงความเป็นพี่น้อง มองข้ามความขัดแย้ง คนที่อยู่ท้ายเขื่อนและคนที่อยู่เหนือเขื่อนซึ่งเคยขัดแย้งกันจะมีชะตาชีวิตร่วมกัน ต้องหันกลับมาทำงานร่วมกัน และเป็นสิ่งที่ท้าทายว่าสมัชชาคนจนจะสามารถขยายความสัมพันธ์ตรงนี้ไปได้มากน้อยขนาดไหน

"ประชาธิปไตยไม่ได้บอกให้เรามาขัดแย้งแล้วก็ฆ่าฟันกัน แต่มันต้องเรียกร้องอย่างอื่นด้วยนั่นก็คือความเป็นพี่น้อง สิ่งนี้คงจะหาไม่ได้ในที่อื่นๆ แต่น่าจะคงอยู่ในหมู่คนจน" ดร.ฉันทนากล่าว

ในเรื่องตัวละครของการเมืองที่เปลี่ยนไป ดร.ฉันทนากล่าวว่า จุดนี้เป็นความหวังแม้ว่าจะมีหวนของประชาธิปไตย เพราะช่วง 12 ปีที่ผ่านมาหลังจากเกิดสมัชชาคนจน ได้เกิดตัวแสดงทางการเมืองเยอะขึ้น จากขบวนการประชาชน และองค์กรอย่างสมัชชาก็ไม่ใช่องค์กรเฉพาะของคนจนเท่านั้น แต่เป็นองค์กรที่คนมีสำนึกของปัญหาของคนจน เข้าใจปัญหาของคนจน และมียุดยืนร่วมกับคนจน ทำให้เห็นถึงเครือข่ายซึ่งทุกคนก็กำลังทำงานของตัวเองอยู่ แต่ปัญหาคือการที่จะทำให้สิ่งเหล่านี้เติบโตและก้าวหน้าไปโดยเชื่อมโยงกับปัญหาของคนจนได้อย่างไร

"ดิฉันคิดว่าสมัชชาเป็นตัวแสดงทางการเมืองไปแล้ว ยังไงก็คงต้องเกี่ยวกับการเมือง แต่ไม่ได้หมายความว่าความที่เป็นกลุ่มก้อนนี้ตัวปัจเจกจะหายไป คือคิดว่าแต่ละคนคงจะมีจุดยืนเป็นของตนเอง และคิดว่านั่นเป็นสิทธิที่จะทำได้ ดังนั้นเรื่องทักษิณหรือไม่ทักษิณคงไม่ใช่สิ่งสำคัญ เพราะทั้งหมดท้ายที่สุดก็ต้องมาแก้ไขปัญหาของคนยากคนจนอยู่ดี แต่ดิฉันคิดว่าสิ่งที่อาจจะหายไปจากเวทีที่เราพูดกันวันนี้ก็คือว่าเราวิพากษ์วิจารณ์การเมืองแบบเป็นตัวแทนและเราก็บอกว่ามันไม่ใช่คำตอบ ซึ่งก็คิดว่าเป็นการวิเคราะห์ที่คงไม่ห่างจากความเป็นจริง แต่ถ้าเราพูดถึงประชาธิปไตยและระบบการเมืองทั้งหมดคงหลีกเลี่ยงระบบตัวแทนไปไม่ได้

เพราะฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่อาจจะไม่ได้มีความชัดเจนตลอดการต่อสู้ของสมัชชาคนจน คือ เราจะสัมพันธ์กับการเมืองแบบเป็นตัวแทนอย่างไร เพราะว่าเราใช้แต่วิธีการกดดันเพื่อที่จะให้เค้าตอบคำถามและผลักดันต่อ แต่ว่าการที่จะหล่อหลอมให้ระบบการเมืองแบบตัวแทนมีอนาคตที่ดี หรือว่าการที่จะเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับทิศทางของการเมืองแบบเป็นตัวแทน เราให้ความสำคัญกับตรงส่วนนี้น้อยเกินไป แต่ที่จริงแล้วมันต้องไปทั้งสองขา แล้วก็อนาคตของการเมืองของภาคประชาชนมันหลีกเลี่ยงไม่ได้กับความมีประสิทธิภาพและพัฒนาการของคนที่เป็นตัวแทนของเราด้วย เพราะฉะนั้นเราก็ต้องเป็นผู้ที่ขัดเกลาตัวแทนของเรานั่นเอง" ปรึกษาทางวิชาการของสมัชชากล่าวถึงข้อเสนอ


สมัชชาคนจนในมุมมองด้านสิทธิ

นางสุนี ไชยรส ประธานอนุกรรมการสิทธิในที่ดินและป่า กล่าวว่ากรรมการสิทธิและสมัชชาคนจนได้ทำงานเกี่ยวเนื่องกันในบางส่วน และจากการติดตามทำให้รู้สึกว่าสมัชชาได้สร้างพลังของประวัติศาสตร์การต่อสู้ จากความคิดที่ว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชนต้องได้มาด้วยการต่อสู้ไม่ว่าในมิติไหน และสมัชชาคนจนได้เกาะเกี่ยวพลังของคนตัวเล็กตัวน้อยหลายร้อยปัญหาจากปัญหาเมืองไปจนถึงประมงพื้นบ้าน จนกลายเป็นเครือข่ายที่มีพลังยิ่งใหญ่ โดยไม่ต้องมีรัฐธรรมนูญรับรองในสิทธิในการต่อสู้ซึ่งเป็นสิทธิทางธรรมชาติ ซึ่งไม่ว่ารัฐธรรมนูญจะถูกฉีกอีกครั้ง หรือไม่มีรัฐธรรมนูญรูปแบบนี้แต่พลังการต่อสู้ของประชาชนก็ได้ถูกปักหลักไว้แล้ว

สิ่งที่สมัชชาคนจนได้สู้มาในส่วนของนโยบาย แม้จะไม่ได้ส่งผลถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างใหญ่ๆ แต่เมื่อมาดูเรื่องร้องเรียนในกรรมการสิทธิก็จะพบมติ ครม.ที่อ้างอิงถึงสมัชชาคนจนเป็นจำนวนมาก ซึ่งแสดงถึงความพยายามในการต่อสู้เรียกร้องที่หวังผลไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบาย ระเบียบกฎหมายต่างๆ โดยประสบผลสำเร็จบ้างในบางเรื่อง การต่อสู้ การเดินขบวน การต่อรองต่างๆ ได้นำมาซึ่งการแก้ปัญหาบางส่วน และบางส่วนก็ได้ขยายขอบเขตครอบคลุมไปทั้งประเทศ แม้บางส่วนไม่ชนะเด็ดขาดแต่ก็เป็นการต่อสู้เชิงถ่วงดุล และสร้างพื้นที่ทำให้เครือข่ายของสมัชชาสามายืนอยู่ได้

ส่วนกระบวนการต่อสู่ที่มีขาขึ้นขาลงนั้นเป็นเรื่องปกติ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือการสร้างตัวละครใหม่ๆ ในพื้นที่ต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย โดยสร้าง และสั่งสมความสามารถในการอธิบายปัญหาของกลุ่มตัวเอง อธิบายถึงผลพวงการพัฒนา ความสำคัญของระบบนิเวศน์และทรัพยากรต่างๆ ที่มีความสลับซับซ้อนได้อย่างมีหลักการ และกระบวนการถูกร้อยให้เห็นเชิงมิติทางโครงสร้างโดยอัตโนมัติ โดยความคาบเกี่ยวของแต่ละปัญหา เพราะไม่ได้เป็นการสู้เฉพาะปัญหาใดปัญหาหนึ่ง เวลารวมศูนย์การวิจารณ์ปัญหามันจึงพุ่งเป้ามายังโครงสร้างของทิศทางการพัฒนาของรัฐ

"นี่เป็นการต่อยอดของขบวนภาคประชาชนที่มีนัยยะสำคัญ แล้วบทบาทขององค์กรอย่างกรรมการสิทธิ หรือองค์กรอย่างนักวิชาการ องค์กรอื่นๆ คือองค์กรสนับสนุน คือองค์กรที่ช่วยในส่วนกระบวนการเฉยๆ แต่ไม่สามารถไปทดแทนพลังที่พี่น้องต่อสู้ได้ และจุดไหนที่เข้มแข็งก็เป็นจุดต่อยอดที่มาทำงานร่วมมือกันและทำให้มันเดินต่อไปได้บ้าง แต่ว่าแท้จริงแล้วพลังของพี่น้องประชาชนโดยเฉพาะของสมัชชาคนจนเป็นฐานใหญ่" ประธานอนุกรรมการสิทธิในที่ดินและป่า

ในส่วนข้อแลกเปลี่ยนในการจะก้าวไปข้างหน้าของสมัชชาคนจน นางสุนีได้กล่าวถึงนิยามว่า คำว่า "คนจน" ซึ่งถูกรัฐนำไปใช้ทำให้จากคำว่า "คนจน" ของสมัชชาคนจนที่เป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ที่พูดกันถึงคนจนไม่ว่าในระดับไหนก็ตามที่ถูกผลกระทบจากการพัฒนาของประเทศ คือสิทธิของคนที่จะพิทักษ์สิทธิในการจัดการฐานทรัพยากร ไม่ว่าที่ดิน ป่าไม่เขื่อน สลัม ผู้ป่วยจากการทำงาน ถูกแปรสิทธิการต่อสู้กลายไปเป็นการสงเคราะห์ โดยใช้ "นโยบายคนจน" ของรัฐบาล

แม้การต่อสู้ของสมัชชาคนจนยังคงพูดแต่เรื่องเดิมๆ จนถูกมองว่าล้าหลัง แต่เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องขั้นพื้นฐานของการปฏิรูปการเมือง ตราบใดก็ตามที่สิทธิในการจัดการทรัพยากรของชุมชนยังเกิดขึ้นไม่ได้ ทั้งทรัพยากรป่าไม่ ที่ดิน น้ำ เขื่อนที่ได้รับความเดือดร้อนเฉพาะหน้ายังแก้ไม่ได้ ก็ต้องสู้ตรงนี้ต่อไปด้วย แล้วเติมเต็มด้วยการสร้างความเข้าใจต่อยุคโลกาภิวัตน์ที่สลับซับซ้อน ท่ามกลางการเรียนรู้เพิ่มเติม และแม้ว่าจะมีการรวมกันเป็นเครือข่ายต่างๆ แต่การเชื่อมร้อยในการอธิบายภาพใหญ่ของการต่อสู้ยังไม่เข้มข้นเป็นเนื้อเดียวกัน ซึ่งน่าจะมีการปรับในส่วนนี้ได้

นางสุนี กล่าวต่อมาว่า ถานการณ์ในตอนนี้ไม่เหมือนในช่วงของการก่อตั้งสมัชชาคนจน เพราะสังคมตื่นตัวในเรื่องการต่อสู้ของภาคประชาชนมากขึ้น มีรัฐธรรมนูญที่เขียนรับรองในเชิงกฎหมาย และมิติอื่นๆ มากขึ้น มีกลไกลต่างๆ มากขึ้น อย่างกรรมการสิทธิก็เป็นองค์กรหนึ่งที่ร่วมเคลื่อนไหวสนับสนุนไปด้วย แต่ในอนาคตทำอย่างไรที่การต่อสู้ของสมัชชาคนจนจะใช้ประโยชน์จากกลไกองค์กรต่างๆ มากขึ้น ขณะเดียวกันกับที่ใช้พลังของตัวเองเป็นพื้นฐาน

สำหรับสถานการณ์ทางการเมืองตอนนี้ กำลังเป็นบทพิสูจน์ในการยอมรับจุดต่าง หรือเสรีภาพทางการเมืองในการแสดงความคิดเห็นของคนที่คิดต่างกันได้อย่างไร ส่วนคำตอบสำหรับรูปแบบการเมืองที่จะนำไปสู่ความเข้มแข็งและการเคารพต่อสิทธิของประชาชน สมัชชาคนจนรวมทั้งกรรมการสิทธิ์เองจะต้องช่วยกันตีโจทย์ต่อสาธารณะชนอย่างต่อเนื่องและเอาจริงเอาจัง เพราะมันคงไม่ได้คำตอบแต่เพียงว่าเปลี่ยนนายก อันนี้เป็นโจทย์ที่ท้าทายและควรจะต้องช่วยกันสร้างหลักการ แนวคิด และวิธีการปฏิบัติที่เป็นจริงเป็นจังมากขึ้น


ประเด็นท้าทายการต่อสู้ของคนจน ในสถานการความขัดแย้งทางการเมือง

นายไพโรจน์ พลเพชร ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) กล่าวว่าขณะนี้สมัชชาคนจนอยู่ในบรรยากาศการต่อสู้ทางการเมืองที่แหลมคม คนถูกระดมเข้าสู่ความสนใจต่อการเมืองที่กำลังมีการเผชิญหน้า ทั้งนี้ มีการลุกขึ้นมาต่อสู้กับรัฐและทุนในสังคมไทยไม่ไม่ได้มีเพียงขบวนการของสมัชชาคนจน และมีมาโดยตลอด เพียงแต่สมัชชาคนจนเป็นขบวนหนึ่งที่ลุกมาสู้ในขณะที่ขบวนอื่นล้าไป

การก่อตั้งสมัชชาคนจนอย่างเป็นทางการในวันที่ 10 ..2538 มีนัยยะที่มีความหมายทั้งในทางสากล โดย วันที่ 10 ..นั้นเป็นวันสิทธิมนุษยชนสากล ที่มนุษย์ทั่วโลกตกลงกันว่าจะปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์โดยมาตรฐานขั้นต่ำอย่างไร และในประเทศไทยเองวันที่ 10 ..คือวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ หรือเรียกว่าวันรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีความหมายในการทำให้การเมืองเป็นของราษฎรทั้งหลาย ให้ไพร่ได้สามารถเลือกการเมืองของตนเอง สิ่งที่สมัชชาคนจนประกาศกับสังคม คือ ประชาชนมีปากเสียงที่จะกำหนดชะตาชีวิตของตัวเองได้

"...เรามีความเห็นร่วมกันว่า แนวความคิดที่สนับสนุนแต่เพียงการเติบโตทางเศรษฐกิจของรัฐ และภาคธุรกิจเอกชน เป็นแนวคิดที่เป็นอันตรายต่อประชาชนและต่อการพัฒนาสังคม จึงถือเป็นการจำเป็นอย่างเร่งด่วน ที่จะต้องได้รับการแก้ไขและเปลี่ยนแปลงทัศนะ ความคิด ยุทธศาสตร์ และการปฏิบัติในกระบวนการพัฒนาทั้งของรัฐและบรรษัทธุรกิจเอกชนเสียใหม่ ตามแนวทางที่จะมุ่งไปสู่ความก้าวหน้าของมวลมนุษยชาติที่ไร้พรมแดน..." ตอนหนึ่งของคำประกาศลำน้ำมูล เมื่อวันที่ 15 ..2538

นายไพโรจน์ กล่าวอีกว่า สมัชชาคนจนเป็นปฏิญญาตอบโต้กับภัยคุกคามของรัฐและทุนที่คุกคามต่อชีวิตผู้คน ทั้งโดยนโยบายและกฎหมาย เพื่อจัดความสัมพันธ์ใหม่ โดยที่ผ่านมาการตอบโต้มี 3 ระดับคือ ระดับที่ 1.ขอจัดความสัมพันธ์ใหม่กับรัฐในมุมที่ว่าถ้ารัฐจะทำโครงการหรือกิจกรรมที่กระทบกับวิถีชีวิตของประชาชน ขอประชาชนตรวจสอบ ดูแล จัดการ เพราะกระทบกับชีวิตตัวเอง โดยรัฐต้องไม่สนใจเฉพาะทุนอย่างเดียวแต่ต้องสนใจชีวิตของผู้คนที่เป็นคนเล็กๆ ที่อยู่ในพื้นที่ ต้องตอบสนองความต้องการ และดูแลผลกระที่เกิดขึ้นกับประชาชนด้วย

ระดับที่ 2 สมัชชาคนจนไม่เพียงแต่เพื่อแก้ปัญหาของตัวเองหรือภายในกลุ่ม แต่กำลังพยายามสร้างกติกาใหม่ซึ่งไม่ได้แก้ปัญหาเฉพาะในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่พยายามขยายให้กว้างขวางออกไป เช่น การแก้ไขเกี่ยวกับคนที่ได้รับผลกระทบจากการทำงานซึ่งไม่ได้หวังผลเพียงเฉพาะในกลุ่มนี้ แต่คนที่ทำงานทั้งหมดควรได้รับการดูแล หรือถ้าจะกำหนดแผนนโยบายของประเทศ หรือมีการจัดทำโครงการขนาดใหญ่ควรให้พื้นที่ประชาชนเป็นคนกำหนดและร่วมตัดสินใจด้วย นี่เป็นการกำหนดกติกาแบบรวม ที่เป็นการจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนเสียใหม่ว่ารัฐไม่ควรมีอำนาจตามอำเภอใจที่จะจัดการ และกำหนดชะตาชีวิตประชาชนแต่ฝ่ายเดียว

ในส่วนนี้ออกมาในรูปของการผลักดันกฎหมาย ผลักดันรัฐธรรมนูญ ซึ่งในช่วงระยะเวลา 10 ปีมีการผลัดดันต่อสู้ในระดับนี้มาก ทั้งการต่อสู้ให้มีกฎหมายป่าชุมชน ต่อสู้ให้มีการปฏิรูปที่ดิน เพื่อจัดความสัมพันธ์ว่าเรื่องเหล่านี้ควรให้ประชาชนทั้งหลายได้เข้าร่วมกำหนด ตรงนี้แม้จะสำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้างแต่ก็ทำให้สมัชชาคนจนมีพื้นที่ที่ชัดเจนขึ้น

คำพูดที่สำคัญมากในช่วงปี 50 ของสมัชชาคนจน คือ การบอกว่า การเมืองในมุมมองของสมัชชาคนจนคือการเมืองที่กินได้ เป็นการเมืองที่เห็นหัวคนจน คำนี้ได้รับการสถาปนาขึ้นในสังคมไทยภายใต้นิยามใหม่ที่ว่าการเมืองไม่ใช่การเมืองเรื่องการเลือกตั้ง การเมืองใหม่ไม่ใช่การช่วงชิงอำนาจรัฐที่ทำกันอยู่ในทุกวันนี้ แต่สิ่งสำคัญคือ "การเมืองใหม่" จะต้องเป็นการเมืองที่ใช้อำนาจรัฐเพื่อประโยชน์ของผู้คน และที่สำคัญต้องเป็นการเมืองที่คนสามารถกำหนดชะตาชีวิตตนเองได้

ระดับที่ 3 ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่กำลังเดินหน้าอยู่ในขณะนี้ คือ การจัดการด้วยตัวเอง แทนที่จะไปกำหนดนโยบายรัฐ หรือการร้องขอให้รัฐจัดการ การที่ชุมชนหนึ่งๆ ขอดูแลชีวิตตัวเอง จัดการที่ดิน จัดการทรัพยากร จัดการการผลิตด้วยตนเองภายใต้คำขวัญที่ว่ากำหนดชะตาชีวิตตัวเอง ปฏิบัติการแบบนี้เริ่มมีมากขึ้น และถือเป็นปฏิบัติการที่มีอิสระจากรัฐค่อนข้างสูงมาก

จากปฏิบัติการทั้ง 3 ระดับของสมัชชาคนจน เป็นบทเรียนของประชาชน ในเรื่องการปลดปล่อยตัวเองจากความกลัว ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากที่สุดในกระบวนการต่อสู้ โดยการที่ได้ลุกขึ้นมาปฏิบัติการเดินขบวน เรียกร้อง และเรียนรู้ เพื่อตอกย้ำว่าประชาชนต้องไม่กลัวอำนาจรัฐ อีกทั้งต้องปลดปล่อยตัวเองจากการอุปถัมภ์ทั้งหลาย และเชื่อมั่นในพลังของตนเอง ทั้งนี้ การไปชุมนุมครั้งใหญ่ๆ มากกว่าสามของสมัชชาคนจน รวมถึงการร่วมชุมนุมยาวนาน 99 วัน การมีปฏิบัติการเข้าไปในทำเนียบโดยอารยะขัดขืน รวมทั้งการไปปีนสภา เป็นการสร้างพลังในความเชื่อมั่น ไม่กลัวกับอำนาจรัฐ พร้อมที่จะท้าทายกฎหมาย เพื่อพิสูจน์ว่ากฎหมาย การกระทำ หรือนโยบายของรัฐบางอย่างนั้นไม่เป็นธรรม แต่ก็พร้อมจะยอมรับผลตามกฎหมาย

นายไพโรจน์ กล่าวต่อมาถึงคุณลักษณะของสมัชชาคนจนว่า สมัชชาคนจนไม่ใช่องค์กรในรูปแบบเดิมๆ ซึ่งมีอุดมการณ์ร่วมที่เหนียวแน่น มีการจัดตั้งที่เข้มแข็งมาก และพร้อมที่จะลุกขึ้นไปสู้ที่สัมผัสได้ในสังคม แต่เป็นองค์กรที่มีลักษณะที่มีอิสรภาพซึ่งกันและกันสูง แต่ละเครือข่ายมีลักษณะเฉพาะของตัวเอง มีการสร้างพลังของตัวเองแล้วมาร่วมมือกัน โดยเครือข่ายจะมีการเคลื่อนไหวร่วมกันเมื่อมีความเห็นพ้องต้องกัน ไม่ใช่การบัญชาการรบ แบบองค์กรสู้รบในรูปแบบเดิม ซึ่งทำให้มีทั้งจุดอ่อนและจุดแข็งในตัว อีกทั้งยังมีลักษณะขึ้นลงของสมาชิก เพราะเปิดกว้างในการเข้าร่วมหรือออกจากการรวมกลุ่ม

สิ่งที่ท้าทายต่ออนาคตสมัชชาคนจนคือเผชิญหน้ากับวิกฤติ โดยเฉพาะในส่วนวิกฤติอาหารและวิกฤติพลังงาน ซึ่งเป็นวิกฤติระดับโลกอันนำมาสู่การปฏิวัติเขียวในระบบเกษตรใหม่ทั้งระบบ โดยกำลังเป็นการจัดการทรัพยากรใหม่อีกแบบหนึ่งที่กระทบต่อการจัดการทรัพยากรในรูปแบบเดิม ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องสงผลกระทบต่อการต่อสู่ของสมัชชาคนจน ที่ต้องเลือกระหว่างระบบเกษตรเพื่อผลิตอาหารตามแบบเดิม หรือเลือกที่จะรวยด้วยน้ำมันบนดินด้วยการปลูกพืชพลังงาน

"ในขณะที่สมัชชาคนจนได้บอกว่าเราจะต้องปฏิรูปที่ดินโดยชุมชน เราจะต้องจัดการเศรษฐกิจของเราเอง เราจะต้องเป็นเศรษฐกิจอีกรูปแบบกับกระแสที่มันถาโถมเข้ามาตอนนี้ แล้วเราจะทำอย่างไร จะพลิกตัวเองอย่างไร" นายไพโรจน์กล่าวถึงประเด็นท้าทายแรก

ประเด็นที่สอง ในขณะที่ความหมายของการต่อสู้ภาคประชาชนได้มีที่ยืนในสังคมไทย ทั้งในรัฐธรรมนูญ ทั้งการยอมรับว่าเป็นสถาบัน และยังมีการเคลื่อนไหวที่เป็นรูปธรรม โดยมีการเมืองภาคประชาชนหลากหลายรูปแบบ ดังเช่นในปัจจุบัน และสมัชชาคนจนก็เป็นการเมืองหนึ่งในนั้น คำถามคือ การเมืองภาคประชาชนนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป จะมีการร่วมมือประสาน หรือจะเป็นการเมืองภาคประชาชนภายใต้ระบบอุปถัมภ์ ของคน หรือกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ดังเช่นที่มีอยู่ในปัจจุบัน

ภารกิจของการสร้างการเมืองภาคประชาชนในนิยามที่ว่าจะต้องให้อำนาจกับภาคประชาชนสูงขึ้น มีอำนาจมีอิสระในการตัดสินใจมากขึ้น รับรองการกำหนดชีวิตตัวเองมากขึ้น สมัชชาคนจนจะตอบโจทย์นี้ได้อย่างไร และในขณะที่สถานการณ์ปัจจุบันกำลังจะสู่วงจรที่ว่า ชุมนุม ต่อสู้ ขัดแย้ง ตรวจสอบ รุนแรง ยึดอำนาจ แก้รัฐธรรมนูญ ประเทศไทยจะข้ามพ้นวัฏจักรตรงนี้ได้อย่างไร

"จะปล่อยให้สังคมกำหนดกติกา ให้คน 2 กลุ่มกำหนดกติกาการเมืองอยู่ไหม หรือเราจะกำหนดกติกาการเมืองในฐานะเราด้วย เพราะเราเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองที่เราปฏิบัติการมายาวนา อันนี้เป็นประเด็นท้าทายที่สำคัญในสถานการณ์เฉพาะหน้า" ประธาน กป.อพช.กล่าว

ประเด็นท้าทายต่อมา นายไพโรจน์ กล่าวถึงพื้นที่ปฏิบัติการของสมัชชาคนจนบางพื้นที่ขอจัดการตนเองซึ่งได้มีการเริ่มต้นขึ้นแล้ว โดยตั้งคำถามว่า ในส่วนนี้จะขยายผลและเดินหน้าต่อไปได้อย่างไร จึงจะยั่งยืนและสร้างความเป็นธรรมขึ้นจริง

ต่อสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน นายไพโรจน์ กล่าวว่า สิ่งที่ควรใส่ใจมากคือสังคมไทยจะฝ่าข้ามพ้นความรุนแรงได้หรือไม่ และจะสามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองร่วมกันให้ไปสู่วิถีทางประชาธิปไตยได้หรือไม่ พร้อมแสดงความคิดเห็นว่า ทุกคนต้องแสดงออกต่อเรื่องเหล่านี้ได้ไม่ว่าจะในนามบุคคลในนามกลุ่ม และต้องเรียกร้องมโนธรรมสำนึกให้คนในสังคมตระหนักถึงความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากการใช้ความรุนแรง และอาจนำมาซึ่งการยึดอำนาจกันอีกรอบหนึ่ง ทั้งนี้ เมื่อการเมืองเดิมมันมีปัญหา ระบบการเมืองเดิมมีปัญหา การเมืองภาคประชาชนมีปัญหา การเมืองในระบบสถาบันทางการเมืองมีปัญหา ตรงนี้จะกลายเป็นโจทย์ที่ต้องช่วยกันคิดสำหรับการสร้างใหม่หรือการปฏิรูปการเมืองต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท