Newsline สรุปข่าวพม่าประจำวันที่ 5 - 17 กันยายน 2551

สรุปข่าวที่เกี่ยวข้องกับประเทศพม่าประจำวันศุกร์ที่ 5 ถึงวันพุธที่ 17 กันยายน 2551

 


  1. สถานการณ์ในประเทศพม่า

1.1              อองซานซูจีที่กำลังล้มป่วย ยอมรับอาหารที่รัฐบาลส่งให้เป็นครั้งแรกในรอบ 1 เดือน

1.2              องค์กรนิรโทษกรรมสากลกลัวรัฐบาลพม่าทรมานนักเคลื่อนไหวผู้หญิง

 


  1. การค้าชายแดน

2.1              พม่าปิดด่านพระเจดีย์สามองค์นาน 1 ปี เศรษฐกิจพื้นที่ถดถอย

2.2              การค้าชายแดนไทย-พม่าลงลงกว่า 50 %

 


  1. แรงงานข้ามชาติ

3.1              เตรียมเปิดจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติรอบสุดท้ายเดือน พ.ย.นี้

3.2              กรมการจัดหางานเปิดพิสูจน์สัญชาติแรงงานข้ามชาติสัญชาติลาวและพม่า

 


  1. ผู้ลี้ภัย

4.1              ที่ปรึกษาอาวุโส ส.ส.สหรัฐอเมริกา ลงพื้นที่ศูนย์พักพิงชั่วคราวบ้านในสอย


 

 


  1. สถานการณ์ในประเทศพม่า

 

1.1              อองซานซูจีที่กำลังล้มป่วย ยอมรับอาหารที่รัฐบาลส่งให้เป็นครั้งแรกในรอบ 1 เดือน

 

นางอองซาน ซูจี หัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยพม่า หรือเอ็นแอลดี ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน ยอมรับอาหารที่รัฐบาลส่งให้เป็นครั้งแรกในรอบ 1 เดือน หลังจากช่วงนี้กำลังล้มป่วยลง ขณะที่ทนายความของนางซูจี กล่าวว่า สุขภาพของนางซูจีย่ำแย่ลงอย่างมาก นับตั้งแต่ปฏิเสธการรับประทานอาหารมาตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา

ด้านเจ้าหน้าที่รัฐบาลทหารพม่า ระบุว่า นางซูจีได้รับอนุญาตให้อ่านนิตยสารไทมส์และนิวส์วีค แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้อนุญาตให้ติดต่อสื่อสารกับสมาชิกในครอบครัว ทั้งนี้พรรคเอ็นแอลดี ระบุว่านางซูจีไม่ได้ติดต่อกับบุตรชายทั้งสองคน นับตั้งแต่ปี 2003 เป็นต้นมา

(สำนักข่าว INN วันที่ 17/09/2551)

 

1.2              องค์กรนิรโทษกรรมสากลกลัวรัฐบาลพม่าทรมานนักเคลื่อนไหวผู้หญิง

 

องค์กรนิรโทษกรรมสากล ซึ่งมีที่ตั้งในกรุงลอนดอนของอังกฤษ ออกแถลงการณ์เมื่อวันเสาร์ที่ 13 กันยายน ว่านาง นิลาร์ เทียน นักเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลทหารพม่าคนสำคัญวัย 36 ปี มีความเสี่ยงที่จะถูกทรมานและได้รับการปฏิบัติที่ไม่ดีต่างๆจากรัฐบาลทหารพม่า หลังจากเธอถูกจับกุมตัวได้เมื่อวันพุธที่ 11 กันยายน ที่นครย่างกุ้ง ขณะไปเยี่ยมมารดาของเพื่อนผู้ถูกคุมขังคนหนึ่ง ทั้งที่เธอสามารถหลบหนีการตามจับของทางการมาได้นานกว่า1 ปี หลังจากรัฐบาลทหารพม่าทำการปราบปรามกลุ่ม"นักศึกษารุ่น 88" (the 88 Generation Students group)

แถลงการณ์ระบุด้วยว่าในปีนี้ พม่าได้จับกุมตัวแสดงความเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยสงบไปเกือบ 300 คนแล้ว และทางการพม่าได้เพิ่มความเข้มงวดในการรักษาความปลอดภัยในประเทศตั้งแต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้มีการประท้วงในโอกาสครบรอบ 1 ปีของการประท้วง เมื่อสิงหาคมปีที่แล้ว

เมื่อ 22 สิงหาคมปีที่แล้ว สมาชิก 13 คน ของกลุ่ม"นักศึกษารุ่น 88" รวมทั้งนายโก จิมมี่ สามีของนางนิลาร์ เทียน ได้ถูกจับกุมตัว หลังจัดชุมนุมประท้วงความยากลำบากทางเศรษฐกิจ และเรียกร้องประชาธิปไตย นางนิลาร์นำคนประมาณ 500 คนประท้วงรัฐบาลในวันรุ่งขึ้น ก่อนที่เธอจะหลบซ่อนตัว ทิ้งให้บิดามารดาช่วยดูแลบุตรสาววัยทารก

หลังเธอหลบไป การชุมนุมประท้วงดำเนินต่อไป โดยมีพระพม่าและประชาชนเข้าร่วมด้วย จนถูกกองทัพพม่าเข้าปราบปรามรุนแรงเมื่อกันยายนปีที่แล้ว ซึ่งสหประชาชาติคาดว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 31 คน รวมทั้งพระสงฆ์หลายรูป ผู้ประท้วงหลายร้อยคนถูกจับ และหลายคนหนีออกนอกประเทศหรือหลบซ่อนตัว 

(สำนักข่าวเนชั่น วันที่ 13/09/2551)


 

 


  1. การค้าชายแดน

 

2.1              พม่าปิดด่านพระเจดีย์สามองค์นาน 1 ปี เศรษฐกิจพื้นที่ถดถอย

 

นายวิชาญ เหล่านิพนธ์ รองประธานหอการค้าจังหวัดกาญจนบุรี ฝ่ายชายแดน เปิดเผยว่าสถานการณ์การค้าขายชายแดนด้านด่านพระเจดีย์สามองค์ อ.สังขละบุรี ตั้งแต่มีการปิดด่านชายแดนด้านนี้มากว่า 1 ปี การค้าขายเกิดความชะงักงันขึ้น จะเห็นได้ว่าสินค้าที่เป็นวัสดุก่อสร้างและสินค้าที่เคยเป็นสินค้าส่งออก เช่น น้ำมันพืช อาหารสำเร็จรูปอื่นๆ ไม่สามารถส่งเข้าไปขายในฝั่งพม่า มีแต่ประชาชนทั้งไทยละพม่าเท่านั้นที่สามารถเข้าออกได้ แต่ก็ไม่สะดวก

ที่สำคัญการค้าขายที่เคยมีเงินหมุนเวียนกว่า 10 ล้านบาท/เดือน ขณะนี้ติดลบโดยสิ้นเชิง และในระยะหลัง

พบว่ามีนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่น้อยมาก กระทบต่อเศรษฐกิจชายแดนของ อ.สังขละบุรีอย่างมาก จนถึงขณะนี้มีสินค้าบางประเภทที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ ที่ได้รับการผ่อนปรน เช่น น้ำมันพืช พริก น้ำปลา สามารถเข้าออกช่องทางพิเศษได้บ้าง ไม่เช่นนั้นชาวพม่าเองก็คงอยู่ไม่ได้ สำหรับการประสานงานเพื่อขอให้เปิดด่าน ในส่วนของหอการค้าเองก็ได้เคยหารือในระดับคณะกรรมการชายแดนระดับประเทศ แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าที่เป็นการตอบรับจากทางฝั่งพม่า อยากเรียกร้องให้ทางจังหวัดเข้ามาดูแลในเรื่องนี้

พ.อ.พิเศษ สุรินทร์ จันทร์เพียร นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยว จ.กาญจนบุรี เปิดเผยว่า หลังจากที่มีการปิดด่านบริเวณด่านพระเจดีย์สามองค์นานกว่า 1 ปี ทำให้ผู้ค้าและนักธุรกิจที่ประกอบการค้าอยู่ที่ด่านพระเจดีย์สามองค์ได้รับความเดือดร้อน จากเดิมที่แต่ละปีบริเวณด่านพระเจดีย์สามองค์ สามารถนำรายได้เข้าประเทศสูงกว่า 100 ล้านบาท แต่ปัจจุบันนี้กลับขาดหายไป

อนึ่งที่มาของการปิดด่านชายแดนไทยทางด้านนี้เกิดขึ้นหลังจากตำรวจตระเวนชายแดนชุดชุมชนสัมพันธ์ 2 นาย ที่ถูกจับไปเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2550 ที่ผ่านมา โดยทางฝ่ายพม่าอ้างว่า เจ้าหน้าที่ทั้งสองรุกล้ำเข้าไปในเขตพม่า มีการเจรจาให้ปล่อยตัวบุคคลทั้งสองในเวลาต่อมา จากนั้นเป็นต้นมาความสัมพันธ์ทางด้านการค้าระหว่างสองฝ่ายก็ถดถอยลง

(กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 16/09/2551)

 

2.2              การค้าชายแดนไทย-พม่าลงลงกว่า 50 %

 

นายสุชาติ ตรีรัตน์วัฒนา ประธานที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดตาก เปิดเผยว่า ปัญหาการเมืองของไทยไร้เสถียรภาพ ทำให้นักธุรกิจขาดความมั่นใจในการลงทุน ประกอบกับระบบการขนส่งสินค้าไปยังประเทศพม่าเสียหายจากน้ำป่าไหลหลากตัดถนนขาดหลายสาย ส่งผลทำให้เศรษฐกิจ ธุรกิจการท่องเที่ยว การค้า และการลงทุน ด้านด่าน อ.แม่สอด-เมียวดีของพม่า ลดลงไปกว่า 50%

นอกจากนั้นยังพบว่าอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจบริเวณดังกล่าวซบเซา เนื่องจากช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค. เป็นช่วงที่ชาวพุทธทั้งคนไทยและพม่าเข้าพรรษา และชาวพม่าที่เป็นมุสลิมนับถือศาสนาอิสลามถือบวชในช่วงรอมฎอนตลอดเดือน ก.ย. จึงมีการสั่งซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคลดลง

อย่างไรก็ตามต้องรออีกประมาณ 1-2 เดือน คาดว่าเศรษฐกิจ การค้าชายแดนไทย-พม่า ที่ด่านแม่สอด-เมียวดีน่าจะดีขึ้นหลังจากออกพรรษาแล้ว ขณะเดียวกันก็อยากให้รัฐบาลพม่าเร่งปรับปรุงและซ่อมแซมระบบคมนาคม ที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมให้กลับมาใช้ได้ตามปกติ เพื่อจะได้ส่งสินค้าไปยังพม่าได้สะดวกขึ้น

เศรษฐกิจชายแดนไทย-พม่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้จะกลับมาดีอีกครั้งหรือไม่ยังไม่สามารถบอกได้ เพราะมีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้ารัฐบาลสามารถแก้ปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองได้ การค้าการลงทุนก็จะกลับมาดีอีกครั้ง ตลอดทั้งการคมนาคมของพม่าจะสามารถใช้ขนส่งสินค้าได้ตามปกติหลังหมดฤดูฝน

หากปัจจัยดังกล่าวไม่ดีขึ้นอย่างที่คาดหวังไว้ คาดว่าเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว การค้าสินค้าอุปโภคบริโภค การค้าตลาดริมเมย และตลาดพลอยแม่สอด อาจจะซบเซาลงกว่าเดิม แต่ถ้าสามารถแก้ปัญหาได้เศรษฐกิจก็จะกลับมาอย่างแน่นอน

ทั้งนี้การค้าชายแดนสินค้าข้ามแดนไทย-พม่า มีมูลค่าส่งออกและนำเข้าประมาณเดือนละ 1.3 หมื่นล้านบาท หรือมีการซื้อขายประมาณวันละ 30-40 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามหลังจากเกิดวิกฤตการเมืองและถนนของพม่าพัง ส่งผลให้การค้าชายแดน อ.แม่สอดลดลง เหลือรายได้เพียงวันละ 12-15 ล้านบาท ขณะที่ตลาดริมเมยและตลาดอัญมณี รวมถึงธุรกิจที่พักโรงแรมรีสอร์ทและสถานบริการก็ลดลงประมาณ 50%

(โพสต์ทูเดย์ วันที่ 13/09/2551)


 

 


  1. แรงงานข้ามชาติ

 

3.1              เตรียมเปิดจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติรอบสุดท้ายเดือน พ.ย.นี้

 

นายไพโรจน์ สุขสัมฤทธิ์ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า วันที่ 11 กันยายน ในที่ประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารแรงงานต่างด้าวทั้งระบบได้พิจารณาเรื่องสำคัญ 2 เรื่อง คือ

1.การพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า ซึ่งทางคณะทำงานเร่งรัดการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวได้บรรลุข้อตกลงกับทางการพม่าในการกำหนดจุดพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าวพม่าที่มีประมาณ 500,000 คน ใน 3 จุด คือที่ เกาะสอง ตรงข้าม จ.ระนอง เมืองเมียวดี ตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตาก และ ท่าขี้เหล็ก ตรงข้าม อ.แม่สาย จ.เชียงราย หากนายจ้างมีลูกจ้างพม่าที่จดทะเบียนถูกต้องแล้วสามารถนำไปพิสูจน์สัญชาติได้ตั้งแต่เดือน ต.ค.นี้เป็นต้นไป

2. เรื่องการเปิดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองรอบใหม่ ทางคณะอนุกรรมการฯ เห็นชอบให้มีการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวรอบใหม่ และเป็นรอบสุดท้าย ซึ่งจะมีการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบปลายเดือนนี้ คาดจะสามารถดำเนินการจดทะเบียนได้ในเดือน พ.ย. หรือ ธ.ค.ปีนี้

โดยการจดทะเบียนรอบใหม่จะให้จดทะเบียนเฉพาะตัวแรงงานต่างด้าวเท่านั้น บุตรและผู้ติดตามจะมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการว่าจะจัดหาที่อยู่หรือผลักดันออกไป

สำหรับระยะเวลาการจดทะเบียนจะกำหนด 30 วัน หลัง ครม.มีมติเห็นชอบ ยกเว้น กิจการประมง และแรงงานใน 5 จ.ชายแดนใต้ คือ ยะลา นราธิวาส ปัตตานี สตูล และสงขลา ที่สามารถผ่อนผันวันจดทะเบียนออกไป

ขอย้ำว่ารอบนี้เป็นรอบสุดท้ายจริง ๆ ต่อไปนี้แรงงานต่างด้าวจะเข้ามาจะต้องนำเข้าอย่างถูกกฎหมาย และระหว่างนี้ฝ่ายความมั่นคงจะเข้มงวดเรื่องการหลบหนีเข้าเมืองตามชายแดน จึงขอแจ้งเจ้าของสถานประกอบการให้ทราบ ขณะนี้ระบบการนำเข้าแรงงานต่างด้าวอย่างถูกต้องเสร็จเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะช่วยแก้ปัญหาแรงงานเถื่อนให้หมดไป

ต่อไปนี้นายจ้างที่ต้องการแรงงานต่างด้าวสามารถแจ้งโควตาความต้องการมายังสำนักงานจัดหางานจังหวัด จากนั้นทางกระทรวงแรงงานจะประสานไปยังประเทศที่แรงงานต่างด้าวสังกัดผ่านกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อได้แรงงานแล้วก็นัดนายจ้างรับแรงงานได้ตามจุดที่กำหนดต่อไป เชื่อว่าปัญหาแรงงานเถื่อนจะหมดไป

สำหรับยอดแรงงานที่จดทะเบียนในรอบนี้น่าจะมีประมาณ 700,000 คน ส่วนการจดทะเบียนจะอำนวยการความสะดวกแก่นายจ้างมากขึ้น ลดขั้นตอนและค่าธรรมเนียม ที่ผ่านมากว่าลูกจ้างจะได้บัตรแรงงานต่างด้าวใช้เวลานานมาก แต่ขั้นตอนใหม่จะใช้เวลาวันเดียวหลังจากตรวจโรคแล้ว อย่างไรก็ตามที่ประชุมมีความกังวลเรื่องปัญหาการปลอมบัตร แต่เชื่อว่าระบบการตรวจสอบที่ดำเนินการไว้จะทำให้ปลอมบัตรได้ยาก

 (สำนักข่าวไทย วันที่ 11/09/2551)

 

3.2              กรมการจัดหางานเปิดพิสูจน์สัญชาติแรงงานข้ามชาติสัญชาติลาวและพม่า

 

กรมการจัดหางานได้หารือและเห็นชอบร่วมกันกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและสหภาพพม่า ในการที่จะพิสูจน์สัญชาติเพื่อออกหนังสือเดินทาง ประทับตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร และออกใบอนุญาตทำงานให้กับแรงงานทั้ง 2 ประเทศ

สำหรับแรงงานสัญชาติลาวให้มายื่นเรื่องเพื่อดำเนินการพิสูจน์สัญชาติ ณ หน่วยงานพิสูจน์สัญชาติแรงงานลาว สถานที่ตั้งศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์คบางแค แขวงบางหว้า เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ  ตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2552

ส่วนแรงงานพม่า ให้ไปขอรับแบบฟอร์มเพื่อยื่นความประสงค์ขอเข้ารับการพิสูจน์สัญชาติ ณ สำนักงานจัดหางานของจังหวัดแต่ละจังหวัด พร้อมทั้งติดรูปถ่ายและพิมพ์ลายนิ้วมือด้านซ้าย จัดส่งให้กองการจัดระบบการนำเข้าแรงงานต่างด้าว เพื่อจะได้รวบรวมส่งให้ทางการพม่าผ่านช่องทางทางการทูต เพื่อนัดหมายการเดินทางของแรงงานแต่ละคนในการพิสูจน์สัญชาติ ณ หน่วยงานพิสูจน์สัญชาติแรงงานพม่า ที่เมืองท่าขี้เหล็ก เมืองเมียวดีและเมืองเกาะสอง บริเวณชายแดนเขตประเทศพม่า

(สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ วันที่ 10/09/2551)


 

 


  1. ผู้ลี้ภัย

 

4.1              ที่ปรึกษาอาวุโส ส.ส.สหรัฐอเมริกา ลงพื้นที่ศูนย์พักพิงชั่วคราวบ้านในสอย

     

นาย JAMES H TURNER JR ที่ปรึกษาอาวุโสของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประจำสภาสหรัฐอเมริกา พร้อมคณะ 8 คน ได้เดินทางมายังศูนย์ที่พักพิงชั่วคราวผู้หนีภัยจากการสู้รบบ้านใหม่ในสอย ต.ปางหมู อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน เมื่อ 3 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยมีนายวันชัย สุทธิวรชัย รองผู้ว่าราชการจังหัดแม่ฮ่องสอน นำคณะฯ เข้าตรวจพื้นที่ศูนย์ ฯ และดูความเป็นอยู่ของผู้หนีภัยจาการสู้รบกว่า 20,000 คน ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ

นายวชิระ โชติรสเศรณี ปลัดอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ในฐานะผู้กำกับดูแลศูนย์ที่พักพิงชั่วคราวผู้หนีภัยจากการสู้รบบ้านใหม่ในสอย ต.ปางหมู อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า การที่ที่ปรึกษาอาวุโสของ ส.ส.ประจำสภาสหรัฐอเมริกา เดินทางมาดูความเป็นอยู่ของผู้หนีภัยจากการสู้รบครั้งนี้ เป็นโครงการของสถานเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงวอชิงตันดีซี ที่ให้คณะที่ปรึกษาอาวุโสของ ส.ส.อเมริกามาดูความเป็นอยู่ของผู้หนีภัยจากการสู้รบ จ.แม่ฮ่องสอน

ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับการร่างกฎหมายของสภาสหรัฐฯ ให้สามารถเข้ามาดูแลผู้หนีภัยจากการสู้รบ หรือการนำผู้หนีภัยจาการสู้รบไปอยู่ประเทศสหรัฐฯ และการช่วยเหลือผู้หนีภัยจาการสู้รบในด้านต่าง ๆ ซึ่งคณะที่ปรึกษาอาวุโสของ ส.ส.ประจำสภาสหรัฐ ฯ มีหน้าที่กลั่นกรองการร่างกฎหมายให้ ส.ส.ประจำสภาสหรัฐฯ

ภายในศูนย์ที่พักพิงผู้หนีภัยจาการสู้รบบ้านใหม่ในสอย ต.ปางหมู อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ปัจจุบันมีผู้หนีภัยจากการสู้รบรวมทั้งชาย-หญิงและเด็กประมาณ 20,000 คน มีองค์กรเอกชนจากต่างประเทศเข้ามาช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ โดยทางอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอนจะเป็นผู้ควบคุมดูแลไม่ให้ผู้หนีภัยจากการสู้รบออกนอกพื้นที่พักพิง โดยมีกำลังอาสาสมัครรักษาดินแดน ควบคุมดูแลภายในศูนย์ที่พักพิงฯ

(ผู้จัดการ วันที่ 04/09/2551)


 





Newsline เป็นกิจกรรมหนึ่งของโครงการวิจัยไทย (Thai Research) มูลนิธิส่งเสริมสันติวิถี (Peaceway Foundation) เป็นการรวบรวมข่าวภาษาไทย พร้อมทั้งการนำเสนอบทความภาษาไทยเกี่ยวกับประเทศพม่า และผลกระทบที่มีต่อประเทศไทย เพื่อให้ผู้คนในสังคมไทยได้รับรู้ ตระหนักถึงความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับประชาชนในพม่า และเพื่อกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและรณรงค์ให้เกิดสันติภาพที่แท้จริงในประเทศพม่าต่อไป


 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท