Skip to main content
sharethis

มร.โทมัส เจมส์ ไวท์ รองประธานบริหารระดับสูง และผู้บริหารอาวุโสประกันชีวิตภูมิภาคเอเชีย บริษัท เอไอเอ (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า บริษัท เอไอเอ (ประเทศไทย) ไม่ได้มีการลงทุน หรือการถือหุ้น บริษัท เอไอจี ประเทศสหรัฐ รวมทั้งไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการล้มละลายของ บริษัท เอไอจี โดยยืนยันว่า ทางบริษัท เอไอเอ ยังมีสถานภาพทางการเงินที่แข็งแกร่ง ซึ่งบริษัทมีเงินทุนสำรองประกันภัยถึง 286,674 ล้านบาท และมีเงินกองทุนถึง 69,242 ล้านบาท หรือ คิดเป็นร้อยละ 1,107 หรือ 10 เท่าของเงินกองทุนที่ต้องมีตามกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ.



 


ทั้งนี้ การลงทุนของ เอไอเอ ไม่ได้มีสภาวะเสี่ยง เนื่องจากการลงทุนของ เอไอเอ ได้ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลถึงร้อยละ 70 และตลาดหลักทรัพย์ ร้อยละ 10 นอกจากนี้ยังลงทุนในต่างประเทศอีก ร้อยละ 20 ซึ่งก็อยู่ในรูปแบบของตราสารหนี้ รวมทั้งบริษัทมีผู้ถือกรมธรรม์ในปัจจุบันกว่า 4.8 ล้านฉบับส่วนการยกเลิกกรมธรรม์ของประชาชนก็ยังมีบ้าง แต่ไม่ถึงกับผิดปกติอย่างในประเทศสิงคโปร์ อย่างไรก็ตาม บริษัทมั่นใจในความแข็งแกร่ง เนื่องจากบริษัทมีทรัพย์สินรวมกว่า 380 ล้านบาท และเป็นบริษัทที่มีทรัพย์สินเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ ในการประกอบธุรกิจด้านการประกันภัย


 



เลห์แมนล้ม จับตากระทบส่งออก


ทั้งนี้ ผลกระทบจากปัญหาซับไพรม์สหรัฐอเมริกาที่ยังไม่สิ้นสุด ประกอบกับวิกฤติสถาบันการเงินต่างประเทศที่ประสบปัญหาสภาพคล่อง และกำลังเป็นปัญหาใหญ่ต่อเศรษฐกิจโลก  กรณีล่าสุด คือ การล้มละลายของ บริษัท เลห์แมน บราเธอร์ส โฮลดิ้งส์ อิงก์ วาณิชธนกิจ ใหญ่อันดับ 1 ใน 4 ของสหรัฐฯ และการขาดสภาพคล่องผู้ให้บริการทางการเงินเครือใหญ่อย่างเอไอจี ทำให้เกิดผลกระทบที่ตามมาอย่างรอบด้าน ทั้งต่อสถาบันการเงินคู่ค้าในประเทศอื่นๆ  ลูกค้า และต้นทุนของธุรกิจ


         


หลังจากเกิดกรณีข่าวการล้มละลายของเลห์แมน และปัญหาขาดสภาพคล่องของไอเอจี ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาชี้แจงข้อมูลเมื่อวันที่ 15 และ 16 กันยายนที่ผ่านมา


 


ดร.บัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า การล้มละลายของเลห์แมน อาจมีผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ไหลกลับจากภูมิภาคเอเชียไปยังสหรัฐอเมริกา เพื่อช่วยเพิ่มทุนหรือซื้อสินทรัพย์ในสถาบันเงินที่มีปัญหา ซึ่งเป็นปัจจัยที่จะต้องทำการติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป และหากกรณีปัญหาที่เกิดขึ้น ตลาดการเงินสหรัฐฯ ใช้เวลาในการปรับตัวนาน จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯและเศรษฐกิจโลก และจะกระทบต่อภาคส่งออกของไทยได้


 


อย่างไรก็ตาม ในส่วนของผลกระทบต่อระบบสถาบันการเงินของไทยนั้นมีไม่มาก โดยอาจส่งผลกระทบต่อสถาบันบางแห่งที่ทำธุรกรรมทางการเงินกับเลห์แมน ซึ่งโดยภาพรวมสถาบันการเงินไทยกู้ยืมและลงทุนในตราสารต่างๆที่เลห์แมนออก คิดเป็นมูลค่าทั้งหมด 4,300 ล้านบาท เทียบจากมูลค่าสินทรัพย์ทั้งหมดของสถาบันการเงินที่ 8.1 ล้านล้านบาท และมีรายการนอกงบดุล เช่น การทำสัญญาล่วงหน้าในอนุพันธ์ต่างๆระหว่างสถาบันการเงินไทยและเลห์แมน มูลค่าทั้งหมด 5,300 ล้านบาท เทียบจากมูลค่าธุรกรรมนอกงบดุลทั้งหมดที่สถาบันการเงินมี 11.4 ล้านล้านบาท


 


ธปท. สั่งเอไอจีแจงลูกค้า หวั่นแห่ถอนเงิน


เมื่อ 16 กันยายน  นายสรสิทธิ์ สุนทรเกศ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธปท. ได้กล่าวถึง กรณีที่สเตต ออฟ นิวยอร์กได้อัดฉีดสภาพคล่องให้กับ เอไอจี กรุ๊ป จำนวน 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯว่า ขณะนี้เอไอจีมีธนาคารเพื่อรายย่อยหลายแห่งในประเทศไทย ซึ่งในแง่นิติบุคคลได้แยกออกจากบริษัทแม่อย่างเด็ดขาด เนื่องจากเป็นธนาคารในประเทศไทย จึงมีเงินกองทุนแยกจากบริษัทแม่ หรืออาจจะกล่าวได้ว่าด้านสินทรัพย์ต่างๆไม่มีการเกี่ยวโยงกับบริษัทแม่เลย ยกเว้นเงินทุนเท่านั้นที่จะมาจากบริษัทแม่ ซึ่งปัจจุบันเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 24% สูงกว่าที่กฎหมายกำหนดที่ 8.5% สะท้อนถึงฐานะการเงินที่ยังแข็งแกร่ง


 


ขณะนี้มีปัญหาเพียงว่าผู้ฝากเงินอาจจะตื่นตระหนกกับข่าวที่เกิดขึ้น ซึ่งเบื้องต้นธปท.ได้สั่งการให้ธนาคารเอไอจี เพื่อรายย่อย ชี้แจงข้อมูลกับลูกค้าแล้ว และที่สำคัญขณะนี้สถาบันคุ้มครองเงินฝากยังให้การคุ้มครองเงินฝาก 100% ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นที่ประชาชนจะแห่ถอนเงินแต่อย่างใด แต่ก็ยอมรับว่าล่าสุดได้มีประชาชนผู้ฝากเงินรายใหญ่ถอนเงินออกไปบ้างแต่ไม่มากนัก  ซึ่งธนาคารได้เจรจาให้ฝากเงินกับธนาคารต่อไป แต่แม้จะมีผู้ถอนเงินออกบ้าง ขณะนี้ธนาคารก็มีสภาพคล่องเพียงพอที่จะรองรับ และที่สำคัญยังได้ติดต่อไปยังบริษัทในเครือในฮ่องกง เพื่อส่งเงินมาให้การช่วยเหลือหากเกิดฉุกเฉินขึ้น


         


ต้นทุนธุรกิจกู้นอกพุ่ง


จากการรายงานของ "ฐานเศรษฐกิจ" ที่สำรวจความเห็นของผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ไทยยืนยันว่าไม่ได้รับผลกระทบจากกรณีปัญหาที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันมีการตั้งข้อสังเกตถึงผลกระทบที่อาจจะตามมา คือ  ธุรกิจประสบปัญหาสภาพคล่อง ธนาคารพาณิชย์ให้สินเชื่อยากขึ้น ส่งผลให้ภาคธุรกิจหาเงินกู้ยากและต้นทุนเพิ่มขึ้น ขณะที่ผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศมีผลให้ภาคการส่งออกชะลอตัว


 


นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)  กล่าวว่า ธนาคารไม่มีสินเชื่อหรือธุรกรรมที่เกี่ยวกับเลห์แมน แต่ยังคงต้องติดตามผลกระทบในภาพรวมอย่างต่อเนื่อง เพราะขณะนี้สถาบันการเงินขนาดใหญ่ในสหรัฐฯมีปัญหาสภาพคล่อง ซึ่งในประเทศไทยก็มีส่วนที่เลห์แมนมาลงทุนอยู่บ้าง  และอาจจำเป็นต้องขายหุ้นที่ถือครองในเมืองไทยเพื่อรักษาสภาพคล่อง ขณะที่ผลกระทบต่อบริษัทไทยหรือต่างประเทศที่ระดมทุนในต่างประเทศ ต้องประสบปัญหาราคาแพง (อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น) หรือในกรณีที่บริษัทเอกชนในประเทศต้องการระดมทุนในต่างประเทศในสถานการณ์นี้ก็จะมีต้นทุนที่แพงและยากขึ้น


 


"ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในตลาดการเงินต่างประเทศขณะนี้ ไม่ได้เป็นเรื่องเกิดขึ้นในวันหรือสองวัน  เป็นเรื่องที่เห็นมาตลอดตั้งแต่กลางปีที่แล้ว เพียงแค่ปรากฏชื่อสถาบันการเงินรายใหญ่ขึ้น แต่จะรุนแรงเหมือนซับไพรม์หรือไม่ยังเป็นเรื่องที่พูดยาก และยังไม่มีใครกล้าออกมารับรอง ในไทยเองก็มีการคาดการณ์ไปต่างๆนานา ทำให้เกิดปฏิกิริยาราคาหุ้นตกหรือพยายามรักษาความเชื่อมั่นของสถาบันการเงินสหรัฐฯ เชื่อว่าต้นตอของปัญหานี้มีความซับซ้อนพอสมควร โดยเฉพาะความสัมพันธ์ทางการเงินแบบอนุพันธ์ที่ไม่สามารถแยกออกมาได้ง่าย"


 


นางกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวในเรื่องนี้ว่า ธนาคารเพิ่งขายตราสารหนี้ออกไป แต่เป็นจำนวนเงินที่ไม่มาก หากเทียบกับการลงทุนในตราสารซีดีโอ ที่ก่อนหน้านี้โดนกันเยอะ และน่าจะขาดทุนจากการลงทุนบ้าง โดยเงินที่ได้จากการขายตราสารดังกล่าวจะบันทึกในไตรมาสที่ 3  ส่วนผลกระทบนั้น หวังว่าจะหยุดได้ แต่ต้องดูในระยะยาว โดยประเมินว่าไม่น่าจะกระทบต่อสถาบันการเงินไทย อย่างไรก็ตาม ในสัปดาห์หน้าธนาคารยังยืนยันแผนโรดโชว์ที่ฮ่องกง


 


นางสาวอุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นว่า วิกฤติครั้งนี้ เป็นผลจากสถานการณ์ที่สุกงอมของปัญหาซับไพรม์ซึ่งเป็นจุดเลวร้ายและมีนัยต่อตลาดเงิน 3 ข้อ คือ 1. เงินทุนเคลื่อนย้ายออกจากตลาดหุ้นไปยังตลาดพันธบัตรสหรัฐฯที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุด 2. การทยอยขายสินทรัพย์กรณีที่สถาบันการเงินในสหรัฐต้องการดอลลาร์จนเกิดสภาพคล่องตึงตัว และ 3.เงินดอลลาร์สหรัฐฯจะอ่อนค่าลงในช่วงสั้นๆแต่ในระยะยาวยังแข็งค่า


 


"สิ่งที่น่าห่วง คือ ถ้าเศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมหลักถดถอย เมืองไทยก็จะมีปัญหาจากทั้งการเมืองภายใน การลงทุนที่ชะงัก และภาคส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจเอเชียที่ชะลอตัว ครึ่งหลังของปีนี้เศรษฐกิจอาจโตเพียง 3.8% จากที่โต 5.7% ในครึ่งปีแรก หรือทั้งปีอาจโตเพียง 4.7% และในปีหน้าอาจโตเพียง 4.5% "


 


คลังชี้ผลทางอ้อมต่อตลาดหุ้น


ด้านน.พ.สุรพงษ์  สืบวงศ์ลี  (รักษาการ) รองนายกฯ  และรมว.คลัง กล่าวว่า  ผลกระทบโดยตรงนั้นคงมีไม่มากนัก  เนื่องจากเป็นเรื่องของผู้บริหาร ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เรารับรู้เรื่องความเสียหายมาก่อนหน้านี้แล้ว  อย่างเช่น กรณีของไทยธนาคารก็ดี ก็ได้มีการบันทึกเรื่องความเสียหายมาตั้งแต่เมื่อช่วงต้นปี ขณะที่ถ้าจะเป็นผลกระทบทางอ้อมเรื่องเกี่ยวกับทางจิตวิทยาของตลาดหุ้น  ก็คงจะเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งโลก


 


นอกจากนี้ ในเรื่องส่งออกอาจจะมีผลกระทบได้ แต่คงไม่มากมายอย่างที่หวั่นเกรงกัน ดังนั้นปัญหาต่อภาคส่งออกอาจไม่ชัดเจนใน 3-4 เดือนข้างหน้า แต่ที่เป็นห่วงคือ ปีหน้า ถ้าหากสถานการณ์ในสหรัฐฯยังไม่ถึงจุดที่เลือดหยุดไหล อย่างที่นักวิเคราะห์บางท่านว่าไว้ ตรงนั้นก็เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังเศรษฐกิจของเราในปีหน้าว่าจะได้รับผลกระทบมากกว่าในช่วงระยะสั้น 3-4 เดือนนี้ เพราะกรณีนี้เป็นกรณีที่ได้เคยเห็นการวิเคราะห์มาในช่วง 2-3 เดือนก่อนหน้านี้แล้ว ที่บอกว่ายังไม่จบ ดังนั้นเราก็ควรจะติดตามเรื่องนี้ให้ดี


 


"ขณะนี้ต้องติดตามกันต่อไปอย่างใกล้ชิด โดยที่ไม่ได้มีมาตรการใดออกมารองรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น เป็นเพราะเราคิดว่ายังไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง  แต่บางประเทศที่ธนาคารกลางต้องเตรียมมาตรการต่างๆ  เพราะว่าสถาบันการเงินของประเทศเหล่านั้นมีนิติสัมพันธ์ หรือกิจกรรมธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับเลห์แมนมาก  ขณะที่ในประเทศไทยเองอาจจะมีธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินดังกล่าวน้อย"


         


เจพี มอร์แกน คาดวิกฤติถึง 9 เดือน


นายวรภัค  ธันยาวงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธนาคารเจ พี มอร์แกน และบริษัทหลักทรัพย์(บล.) เจพี มอร์แกน(ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เจพี มอร์แกน ประเมินว่าวิกฤติสถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกาจะมีความชัดเจนประมาณกลางปี 2552 โดยเชื่อว่าปัญหาที่เกิดครั้งนี้ คือ เลห์แมนล้มละลาย ถือว่าร้ายแรงที่สุดแล้ว และหลังจากนี้เชื่อว่าความเสียหายที่จะเกิดกับสถาบันการเงินซึ่งจะทยอยประกาศออกมาเป็นระยะ ๆนั้น คงไม่ใช่สถาบันการเงินขนาดใหญ่แล้ว


 


"หากให้ประเมินมูลค่าความเสียหายจากวิกฤติสถาบันการเงินในสหรัฐฯครั้งนี้มีมูลค่าประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งที่ประกาศความเสียหายออกมาแล้วนั้นมีประมาณ 500,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเท่านั้น"


 


หุ้นทรุด-ต่างชาติขายเฉียด 2 แสนล.


สำหรับบรรยากาศการซื้อขายในตลาดหุ้นไทยช่วง 2 วันที่ผ่านมา (15-16 ก.ย.)หลังปรากฏข่าวเลห์แมนล้มละลาย ได้ปรับตัวลงเช่นเดียวกับหุ้นทั่วโลก โดยดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ปรับตัวลง 29.78 จุด (รวม 2 วัน ) หรือลดลง 4.61 % โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 2,164.17 ล้านบาท


 


อย่างไรก็ตามหากนับตั้งแต่วิกฤติซับไพรม์ก่อตัวช่วงครึ่งหลังของปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน( 1 ส.ค.50-16 ก.ย.51)  พบว่านักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยรวม 190,864.60 ล้านบาท  ส่งผลให้ยอดซื้อสะสมลดลงเหลือประมาณ 200,000 ล้านบาทเท่านั้น จากช่วง 4 ปีที่ผ่านมา (2548-2551 ) ต่างชาติมียอดซื้อสะสมในตลาดหุ้นไทยประมาณ 400,000 ล้านบาท


 


ขณะที่นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ต่างมีมุมมองในทางเดียวกันว่าวิกฤติสถาบันการเงินในสหรัฐฯ จะทำให้ความหวังที่เม็ดเงินไหลเข้าตลาดหุ้นไทยช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้อาจต้องชะลอออกไปเป็นปีหน้า


 


ด้านสถาบันวิจัยนครหลวงไทย  ระบุว่า ผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทย ในด้านผลประกอบการยังคงประเมินว่าจะอยู่ในวงจำกัดเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามภาวะตลาดโดยรวมยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากเงินทุนไหลออก ที่คาดว่าจะมีอย่างต่อเนื่อง


        


ก.ล.ต.เรียกขวัญนักลงทุน


บ่ายวันที่ 16 กันยายน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ได้ออกแถลงการณ์ หลังจากตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงรุนแรงในภาคเช้า โดยนายประสงค์ วินัยแพทย์ รองเลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า สืบเนื่องจากวันนี้(16ก.ย.) การซื้อขายในตลาดหุ้นไทยลดลงอย่างรุนแรง ผลจากความกังวลของผู้ลงทุนต่อข่าวฐานะการเงินของสถาบันการเงินในต่างประเทศ ทั้งนี้ปัญหาของสถาบันการเงินในต่างประเทศตามที่ปรากฏเป็นข่าวไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคธุรกิจในประเทศไทย โดยก.ล.ต. และหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องได้ประสานงานและติดตามข้อมูลที่อาจเกิดผลกระทบกับบริษัทจดทะเบียนและบริษัทหลักทรัพย์อย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว


 


"จากข่าวที่เลห์แมน จะยื่นขอคุ้มครองต่อศาลล้มละลาย และส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยและภูมิภาคนั้น ถือเป็นการปรับสภาพคล่องเพื่อรองรับการไถ่ถอนการลงทุนของผู้ลงทุนต่างประเทศ  จึงขอให้ผู้ลงทุนตัดสินใจซื้อขายหุ้นด้วยความรอบคอบเพราะระบบเศรษฐกิจของประเทศยังคงมั่นคงและอยู่ในทิศทางที่ดี"


 


นายประสงค์ กล่าวอีกว่า ก.ล.ต. ได้ประสานงานใกล้ชิดกับหน่วยงานทางการที่เกี่ยวข้องเพื่อติดตามผลกระทบของเรื่องดังกล่าว  สำหรับธุรกิจด้านหลักทรัพย์ พบว่าเลห์แมนไม่ได้มีการประกอบธุรกิจในประเทศไทย  ด้านธนาคารพาณิชย์ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนด้วยนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ติดตามดูแลใกล้ชิดอยู่แล้ว  ผู้ลงทุนจึงน่าจะคลายความกังวลลงได้


        


"สนธิ" เสนอทางออกปิดประเทศทางการเงิน การเมืองใหม่ทำได้


17 ก.ย. เมื่อเวลาประมาณ 21.50 น. นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ขึ้นเวทีปราศรัยที่ทำเนียบรัฐบาล โ ได้อธิบายเกี่ยวกับปัญหาทางเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาว่า กรณีการล่มสลายของเลห์แมน บราเธอร์ส วาณิชธนกิจขนาดใหญ่อันดับ 4 ของสหรัฐนั้นเป็นบทสะท้อนให้เห็นถึงความโลภของระบบทุนในสหรัฐ และว่าสหรัฐฯ นั้นใช้วิธีกู้เงินจากทั่วโลกในรูปของพันธบัตรปีละ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่ออุดช่องโหว่ของเงินที่ขาด โดยเงินจำนวนนี้เป็นเงินที่ประเทศต่างๆ ในเอเชียและยุโรปทำมาค้าขายได้กำไร แล้วเอาไปซื้อพันธบัตรสหรัฐฯ เปรียบเสมือเป็นเงินฝาก แต่เมื่อสหรัฐได้เงินนี้ไปก็เอาไปปล่อยกู้ต่อให้กับสถาบันการเงินในประเทศของเขาเพื่อปล่อยกู้ให้บริษัทข้ามชาติของเขาที่เอาสินค้ามาขายให้เราอีกทีหนึ่ง พอเราซื้อของเขา ก็มีเงินที่เอาไปสะสมอีกเป็นวงจรอย่างนี้


       


 นายสนธิกล่าวต่อว่า ตามหลักที่ถูกต้อง เมื่อธนาคารมีเงินมากขึ้นควรจะเอาเงินนั้นไปลงทุนที่เป็นประโยชน์ เช่น ลงทุนทางเกษตรกรรม อุตสาหกรรม เครือข่ายโทรคมนาคม ลงทุนการศึกษา แต่คนกุมอำนาจในสหรัฐคือนักการเงิน รอไม่ได้ที่จะลงทุนไปแล้วรอเป็นปีๆ กว่าจะได้กำไร เขาอยากจะได้กำไรทุกๆ วินาที จึงคิดวิธีที่จะเอาเงินต่อเงิน จึงมีการคิดนวัตกรรมการค้าเงินแบบใหม่ มีการซื้อสินค้าล่วงหน้า ไม่ว่าจะเป็นสินค้าเกษตร น้ำมัน ทองคำ เพื่อที่จะเอาเงินต่อเงิน เล่นกันทุกวินาที ซื้อสินค้าทุกอย่างล่วงหน้า นี่คือสิ่งที่เรียกว่า ตลาดอนุพันธ์


     


วันดีคืนดีบอกว่าซื้อขายสินค้าล่วงหน้า ยังไม่พอ ต้องมีการปั่นราคาสินทรัพย์ โดยการซื้อหนี้ในโครงการอสังหาริมทรัพย์ทั่วสหรัฐอเมริกาแล้วปั่นราคาให้สูงขึ้น แล้วนำไปขายต่อ แล้วขายต่อกันไปเรื่อยๆ จนราคาขึ้นไป 4-5 เท่า ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อมีการยึดบ้านมาแล้วจะขายต่อในราคาสูงแต่ราคาในตลาดตกลงมา ก็เลยขาดทุนกันระนาว นี่คือเหตุผลของการเจ๊งของเลห์แมน บราเธอร์ส เพราะความโลภ


      


นายสนธิ ยังได้ย้อนอดีตถึงการลดค่าเงินบาทในประเทศไทยว่า มีครั้งหนึ่งในสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี นายสมหมาย ฮุนตระกูล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเห็นว่าถ้าไม่ลดค่าเงินบาทเมืองไทยอยู่ไมได้ และประกาศลดทันที ซึ่งทำให้ธุรกิจได้รับความเสียหายแต่เป็นธุรกิจสั่งสินค้าเข้า เช่น บริษัทปุ๋ยศรีกรุง แต่ในช่วง 2 ปีให้หลังเศรษฐกิจไทยก็ฟื้น


      


การลดค่าเงินบาทครั้งสุดท้ายที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ที่ยืนยันว่าจะไม่ลดค่าเงินบาท แต่วันรุ่งขึ้นก็ลดค่าเงิน เหมือนกับนักการเมืองที่บอกว่าไม่มีการแตกแยก วันรุ่งขึ้นก็แยกพรรคทันที เพราะฉะนั้นในทางสาธารณะ อะไรก็ตามที่เป็นเรื่องร้ายแรง ถ้าเราได้ข่าวมาแล้วเขาบอกว่าไม่ใช่ นั่นคือใช่ เหมือนกับกรณีที่บางแบงก์กรุงเทพที่บอกว่าการล้มของเลห์แมนฯ ธนาคารกรุงเทพฯ ไม่เสียหาย หรือเสียหายบ้างเล็กน้อย แต่แปลไทยเป็นไทยคือเสียหายมาก


      


นายสนธิ กล่าวต่อว่า เศรษฐกิจตอนนี้ เราไปเลียนแบบต่างประเทศจนเกินไป เราจึงอยู่ในภาวะที่ใกล้จะตกเหวเช่นกัน และคนจบประวัติศาสตร์อยากจะสอนคนที่จบเศรษฐศาสตร์ที่ทำบ้านเมืองเสียหาย ให้รู้ว่า วงจรของคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่าเริ่มขาดลง โดยชี้ให้เห็นว่าสังคมคนอายุน้อยใหม่นั้นเป็นวัยที่ทำงานมีรายได้ ลงทุนทำธุรกิจ มีเรี่ยวมีแรง ขยายธุรกิจ ขณะที่สังคมคนอายุมากอายุ 50-60 ไปแล้ว เป็นสังคมที่พึ่งพาเงินที่ตัวเองเก็บไว้ใช้หลังเกษียณ ใช้เงินที่ตัวเองมีไปซื้อทรัพย์สินเล็กๆ น้อย และออมทรัพย์ พอคนรุ่นเก่าตายไป คนรุ่นใหม่ที่เริ่มมีอายุก็จะมาเป็นกลุ่มที่ใช้เงินหลังเกษียณแทนเป็นวงจรอย่างนี้ ขณะนี้เมืองไทยกำลังมีปัญหา วงจรของคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่าเริ่มขาดลง ขาดตรงที่ว่าคนรุ่นใหม่ที่เริ่มสะสมทรัพย์ พอเข้าสู่ปัจฉิมวัยยังเป็นหนี้อยู่ ช่องว่างที่จะสะสมทรัพย์หรือซื้อทรัพย์สินโดยคนอายุมากก็ไม่มีแล้ว และมันจะเกิดในรุ่นลูกเรา บางคนผ่อนบ้านไปจนเกษียณ แต่ยังใช้หนี้ไม่หมด นี่ถือว่าเป็นเรื่องที่น่ากลัวที่สุดสำหรับประเทศไทย ซึ่งถ้าใช้การเมืองเก่ามันแก้ไมได้ เนื่องจากเดินตามแบบสหรัฐอเมริกาที่มีแต่ความโลภ


      


นายสนธิ กล่าวต่อว่า เมื่อเช้านี้ ธนาคารกลางของสหรัฐ(เฟด) ประกาศใช้เงิน 85,000 ล้านเหรียญสหรัฐเข้าไปอุ้มบริษัทเอไอจีที่กำลังจะล้มละลาย จึงอยากจะพูดคำนี้ว่า "รัฐบาลอเมริกันเฮงซวย" ที่พูดเช่นนี้ เพราะในปี 2540 ตอนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจของไทย 56 ไฟแนนซ์ของไทยมีปัญหา แต่สหรัฐขัดขวางไม่ให้รัฐบาลไทยและแบงก์ชาติเข้าไปช่วย อ้างว่าปล่อยให้ล้มไปเพื่อคนใหม่จะได้เกิดขึ้น ซึ่งสาเหตุที่แท้จริง เพราะกลัวว่า ถ้ารัฐบาลเข้าไปช่วยไฟแนนซ์เหล่านั้นจะไม่ล้มและไม่มีการยึดทรัพย์ลูกหนี้ และมีโอกาสที่จะฟื้นตัว แต่เขาไม่ยอมเพราะต้องการให้ประเทศไทยเจ๊ง เพื่อให้เราไปกู้ไอเอ็มเอฟ แล้วต้องทำตามเงื่อนไขของเขา ซึ่งทำให้เขามาเอาทรัพย์สินเราไปเลหลังขายราคาถูกได้


      


เขาชอบอ้างคำว่า moral hazard ห้ามไม่ให้รัฐเข้าไปช่วยบริษัทเอกชน วันที่ 16 กันยายน 2551 ธนาคารกลางของรัฐบาลสหรัฐเอาเงิน 85,000 ล้านเหรียญไปอุ้มเอเอจี ถ้าจะทำแบบนี้ แล้วเมื่อปี 2540 สหรัฐอเมริกาด่าไทยทำไม ที่ทำเช่นนี้เพราะมีนักวิเคราะห์ของซีเอ็นบีซีและไฟแนนเชียลไทม์วิเคราะห์ว่าการช่วยเอไอจีคือการช่วยสหรัฐอเมริกา จึงมีคำถามว่าทำไมทีสหรัฐจึงรักชาติได้ แต่ประเทศไทยทำไมได้ อ้างว่าเดี๋ยวสากลจะไม่ยอมรับ เดี๋ยวอายต่างประเทศ


      


"ไอ้นักวิชาการ นักการเงินของไทยที่พูดแบบนี้คือพวก เชี่ย คิดให้ดีๆ พี่น้อง เวลามันจะช่วยพวกมันเอง มันบอกว่า ช่วยเอเอจีคือช่วยสหรัฐอเมริกา เพราะฉะนั้น วันนั้นที่ผมพูดว่าเราควรปิดประเทศทางการเงิน ก็ไปแปลความหมายผิด โง่ ไม่ได้ฟัง ด่าผมว่า ปิดประเทศจะเป็นพม่าหรือไง คุณฟังไมได้ศัพท์จับไปกระเดียด ผมหมายความว่าปิดประเทศทางการเงิน เฉพาะตลาดการเงิน ไม่ให้เอาเงินบาทไปแลกเปลี่ยนที่เมืองนอก


      


"แล้วก็จะมีไอ้โง่ ไออวิชชาอีกหลายคนขึ้นมาบอกว่า คุณสนธิทำอย่างงั้นไม่ได้นะ เราเสียชื่อนะ คนเขาจะดูถูกเรานะ เราจะไม่เป็นสากล แล้วอเมริกาให้บริษัทของมันเองกู้ 85,000 ล้านเหรียญมันไม่เสียชื่อมันเหรอ หรือว่าอเมริกาพ่อคุณทำอะไรก็ไม่ผิดใช่มั้ย แต่ถ้าคนไทยทำเพื่อคนไทยมันผิดหรือ"


      


นายสนธิ กล่าวต่อว่า ขณะนี้มีเงินบาทอยู่ในต่างประเทศประมาณ 2 แสนล้านบาท เป็นเงินจากการคอร์รัปชั่น ที่ขนใส่กระเป๋าไปที่สิงคโปร์ เพราะเราปล่อยให้เงินบาทลอยตัวได้ทั่วโลก เงินบาทอยู่ที่สิงคโปร์ก็ซื้อขายได้ ถ้าเราปิดตลาด เงิน 2 แสนล้านบาทก็ต้องแลกเป็นดอลลาร์กลับมาแลกกับเรา ซึ่งเราสามารถตั้งเงื่อนไขว่าต้องบอกมาก่อนว่าเจ้าของเงินที่แท้จริงเป็นใคร ไม่เช่นนั้นไม่ให้แลกคืน ซึ่งสามารถทำได้ แต่ไม่ทำ เพราะต้องการให้เงินบาทลอยตัวในต่างประเทศได้ เพื่อจะได้โจมตีค่าเงิน เพราะฉะนั้นถ้าจะแก้ เราต้องเปลี่ยนวิธีคิด


      


นายสนธิย้ำว่า ถ้าไม่มีการเมืองใหม่เราจะแก้ปัญหานี้ไม่ได้ ไม่เช่นนั้นวงจนคนหนุ่มกับคนแก่จะถูกตัดขาด คนหนุ่มวันนี้จะกลายเป็นคนแก่ที่ยังผ่อนหนี้ไม่หมด คนหนุ่มรุ่นต่อมาก็เป็นหนี้ต่อไป ในที่สุดสังคมไทยก็เป็นสังคมที่ทุกคนเป็นหนี้เป็นสินกันหมด


      


ในตอนท้ายนายสนธิ เปิดเผยว่าอีก 2-3 วันจะรวบรวมความคิดเกี่ยวกับปรัชญาการเมืองใหม่ว่าเป็นอย่างไร ซึ่งจะตรงกับแกนนำที่คิดกัน แต่ตนจะเก่งในเรื่องการยกตัวอย่าง จะยกตัวอย่างให้ดูว่าทำไมจึงไม่เอาการเมืองเก่า และการเมืองเก่าทำให้เสียหายอย่างไร จะพิมพ์หนังสือเป็นแสนๆ เล่มแจกให้และช่วยเอาไปแจกต่อๆ กันด้วย


 


 


เรียบเรียงจาก : โพสต์ทูเดย์ แนวหน้า ผู้จัดการ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net