Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ใจ อึ๊งภากรณ์


 


"เราจะไม่ตื่นจากฝันร้ายอันนี้ ด้วยความมั่นใจในอุดมการณ์กลไกตลาด"  นี่คือคำพูดของ Samuel Brittan นักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมสุดขั้ว  ที่เคยช่วยออกแบบเศรษฐกิจกลไกตลาดของอังกฤษตั้งแต่ทศวรรษที่ 70  คำพูดของ Brittan เป็นปฏิกิริยาต่อวิกฤตเศรษฐกิจในกลไกตลาด และการที่รัฐบาลกลางของสหรัฐต้องก้าวเข้าไปกู้สถานการณ์ หนี้เสียของสถาบันการเงิน ที่มีปริมาณเทียบเท่ากับ 2 ใน 5 ของเศรษฐกิจสหรัฐ เช่นการนำธนาคาร Fannie  Mae และ  Freddie Mac มาเป็นของรัฐ และข้อเสนอของรัฐบาลเพื่อซื้อหนี้เสียทั้งหมด


     แม้แต่คนส่วนใหญ่ของฝ่ายขวาพรรค Republicans ซึ่งเคยบูชากลไกตลาดเสรี กลัวการพังพินาศของระบบจนต้องเห็นด้วยกับการแก้ปัญหาโดยรัฐ  ความกลัวของนายทุนยิ่งเพิ่มขึ้นเมื่อธนาคาร Lehman Brothers ธนาคารที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 4 ของสหรัฐล้มละลายไป


     ระบบโลกกำลังถูกลากลงเหว สู่วิกฤติเศรษฐกิจเนื่องจากเงื่อนไข "พิษ"  สองอย่าง คือ วิกฤติในระบบธนาคารการเงินและวิกฤติเงินเฟ้อ แต่ในขณะเดียวกันปัญหาเศรษฐกิจเหล่านี้ เกิดขึ้นในช่วงที่การเมืองโลกไร้เสถียรภาพ


     ประธานาธิบดี Medvedev ของรัสเซีย  ได้เปรียบเทียบสงครามระหว่างรัสเซียกับจอร์เจีย ว่าเหมือนเหตุการณ์ 9/11 ที่นิวยอร์ค ในแง่หนึ่งเขาพูดถูก เพราะสงครามกับจอร์เจียเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่ทำให้เราเห็นการรื้อฟื้นความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจนิวเคลียร์ สหรัฐอเมริกาและรัสเซีย


     รัฐบาลของ จอร์ช บุช ในสหรัฐ กำลังส่งทหารข้ามพรมแดนเข้าไปในปากีสถานเพื่อโจมตีสิ่งที่เขาอ้างว่าเป็นฐานที่มั่นของ Taliban และ Al Qaida ซึ่งในรูปธรรมหมายถึงการขยายสงครามไปสู่ปากีสถาน มีการยิงกันระหว่างสหรัฐกับกองทัพปากีสถาน ทำให้การเมืองในประเทศนั้นปั่นป่วนมากขึ้น และทำให้รัฐบาลสหรัฐต้องสิ้นเปลืองเงินทองในการเป็น "ตำรวจโลก" ในจำนวนมหาศาล อย่าลืมว่าสหรัฐเป็นลูกหนี้ใหญ่สุดอันดับหนึ่งของโลก และกำลังเผชิญหน้ากับการชะลอตัวของเศรษฐกิจ


     สถานการณ์ตึงเครียดระหว่างรัฐบาลฝ่ายซ้ายในเวเนซุเอล่าและโบลิเวียกับสหรัฐอเมริกา  ถึงจุดวิกฤติเมื่อมีการขับไล่ทูตสหรัฐออกไปจากสองประเทศนี้  เนื่องจากมีหลักฐานว่าสหรัฐกำลังหนุนฝ่ายขวาที่ต้องการทำรัฐประหาร และล้มรัฐบาล ในขณะเดียวกัน กองทัพเรือเวเนซุเอล่ากำลังฝึกรบร่วมกับกองทัพเรือรัสเซีย นับเป็นครั้งแรกที่รัสเซียส่งทหารไปในภูมิภาคนี้ตั้งแต่สมัยวิกฤตคิวบาในทศวรรษที่ 60 สรุปแล้วสถานการณ์ความตึงเครียดในโลกและท่าทีก้าวร้าวของจักรวรรดินิยมสหรัฐตั้งแต่ 9/11 จะไม่เปลี่ยนแปลงไม่ว่า Obama หรือ MaCain จะชนะการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน


 


วิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้เหมือน 1929 หรือไม่


การล้มละลายของธนาคาร Lehman Brothers ตามด้วย Merril  Lynch และ Goldman Sachs ทำให้เราเห็นความร้ายแรงของวิกฤติเศรษฐกิจทุนนิยมรอบนี้ อดีตผู้ว่าธนาคารกลางสหรัฐ Alan Greenspan ตั้งข้อสังเกตว่านี่คือวิกฤติแห่งศตวรรษ  ในช่วงนี้รัฐบาลสหรัฐนำเงินของประชาชน ไปอุดช่องโหว่ในระบบธนาคารหลายแสนล้านดอลล่า และรัฐบาลอื่นรอบโลก โดยเฉพาะรัฐบาลญี่ปุ่น ก็กำลังทำเช่นเดียวกัน  การที่ Henry  Paulson รัฐมนตรีคลังสหรัฐไม่ยอมช่วยธนาคาร Lehman Brothers และปล่อยให้ล้มละลาย สร้างปัญหาเพิ่ม แต่เป็นเพราะรัฐบาลสหรัฐไม่มีเงินเพียงพอที่จะกู้ธนาคารนี้ วิกฤตนี้ยังไม่ถึงจุดจบแน่ และต้องมีผลกระทบต่อการลงทุน การส่งออก และสถาบันการเงินในประเทศไทย


     ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจแบบนี้ทุกคนกำลังย้อนกลับไปคิดถึงวิกฤติ Wall Street ในปี 1929 ซึ่งลามไปทั่วโลกและเปิดโอกาสให้ ฮิตเลอร์ ขึ้นมามีอำนาจในเยอรมัน เป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการปฏิวัติ 2475 ในไทย และในที่สุดนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่สอง


     แต่เราต้องเข้าใจว่าวิกฤตินี้ไม่ใช่วิกฤติของระบบธนาคารเท่านั้น  มันเป็นวิกฤติกลไกตลาดทุนนิยมทั้งหมด   รากฐานแท้ของวิกฤติเกิดจากแนวโน้มการลดลงของอัตรากำไรในระบบการผลิตของประเทศพัฒนา ตั้งแต่ทศวรรษที่ 60 นี่คือปรากฏการณ์ในระบบทุนนิยมที่ คาร์ล มาร์กซ์ เคยพูดถึงในหนังสือว่าด้วยทุนเล่ม 3 ปัญหาการลดลงของอัตรากำไรในสหรัฐถูกปิดบังโดยการสร้างเศรษฐกิจฟองสบู่หลายรอบ  รอบแรกในภาคอินเทอร์เน็ต รอบล่าสุดมีการชักชวนให้คนจนกู้เงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยไม่ขึ้นค่าแรง แต่พวกนายทุนบีบบังคับให้คนจนจ่ายหนี้ด้วยอัตราดอกเบี้ยสูง  ในที่สุดฟองสบู่ก็แตกเพราะหนี้เสียลามไปทั่ว


     นักการเมืองและนักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมทั่วโลก  ซึ่งเคยส่งเสริมเศรษฐกิจ "คาสิโน" แบบนี้ ไม่รู้ว่าวิกฤตินี้จะจบลงอย่างไร บางครั้งก็พูดปลอบใจประชาชน บางครั้งก็เรียกร้องให้เราเสียสละ แต่สิ่งที่เรากำลังเห็นคือ สำนักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมกลไกตลาด (Neo-liberal) กำลังหมดความชอบธรรมลงอย่างรวดเร็ว มีการหันมาให้ความสำคัญกับการควบคุมตลาดโดยรัฐ และการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการลงทุนของรัฐ อย่างที่ John Maynard Keynes เคยเสนอในช่วง 1930


     ในประเทศไทย พวกพรรคประชาธิปัตย์ ทหารคมช. พันธมิตรฯ และสำนัก "เศรษฐกิจพอเพียง" ยังหลงเชื่อมั่นในกลไกตลาดและการจำกัดบทบาทรัฐเพื่อสร้าง "วินัยทางการคลัง" โดยปิดหูปิดตาถึงสถานการณ์จริงในโลก ส่วนนักการเมืองซีกทักษิณ เห็นชอบกับการผสมผสานนโยบายรัฐกับนโยบายตลาด คำถามคือวิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งนี้จะมีผลต่อการถ่วงดุลอำนาจระหว่างสองฝ่ายนี้หรือไม่?


 


บทสรุปสำคัญจากวิกฤตินี้คือ


1.       กลไกตลาดเสรีของทุนนิยมมีปัญหาเรื้อรัง ทำให้เกิดวิกฤติเป็นประจำ


2.       รัฐยังมีบทบาทสำคัญในการกู้สถานการณ์  ซึ่งแสดงว่ารัฐมีทั้งประสิทธิภาพและอำนาจเหนือตลาด ประเด็นนี้ถูกปฏิเสธมาตลอดโดยนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ดังนั้นเราต้องเรียกร้องให้รัฐช่วยคนจน


3.       ในสถานการณ์วิกฤติรัฐบาลนายทุนมักจะกดดันให้คนจนแบกรับภาระเสมอ


 


มันถึงเวลาแล้วที่เราต้องรวมตัวกันต่อสู้  ด้วยข้อเรียกร้องรูปธรรมสำหรับคนจน นี่คือสาเหตุที่ เลี้ยวซ้าย และคนอื่นในภาคประชาชนกำลังเสนอ สมัชชาประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ โดยเน้นการขยายพื้นที่ประชาธิปไตย และการรณรงค์เพื่อรัฐสวัสดิการ การประชุมสมัชชาครั้งแรกจะจัดที่จุฬาฯ ในเดือนพฤศจิกายนปีนี้


 


 


……………………….


ที่มา: เลี้ยวซ้าย ตุลาคม 2551

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net