ความสำคัญของยุทธศาสตร์สากลด้านสาธารณสุขขององค์การอนามัยโลก

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

โดย เอเลน โฮเอน

News and Analysis • Volume 12 • Number 4 • August 2008
ICTSD's BRIDGES Review


เมื่อเร็วๆ นี้ หนึ่งในคณะผู้เจรจาหลักในการเจรจาที่นำไปสู่การจัดตั้งยุทธศาสตร์สากลว่าด้วยสาธารณสุข นวัตกรรม และทรัพย์สินทางปัญญา ได้มีหนังสือถึงข้าพเจ้าเพื่อแจ้งให้ทราบว่าภารกิจของเขานั้นสิ้นสุดแล้วเพราะงานเสร็จสิ้นแล้ว ว่าแต่เราควรเห็นด้วยกับคำกล่าวนี้หรือไม่

แน่นอนว่าไม่ จริงอยู่ว่าคณะผู้เจรจาในคณะทำงานระหว่างประเทศ (IGWG) ในประเด็นดังกล่าวจะสามารถเจรจาจัดตั้งยุทธศาสตร์สากล พร้อมด้วยแผนปฏิบัติการที่สามารถพลิกโฉมแนวทางการทำวิจัยและพัฒนา (R&D) ด้านสุขภาพได้อย่างมีนัยยะสำคัญ กล่าวคือ มีการจัดลำดับความสำคัญเสียใหม่เพื่อให้การทำวิจัยและพัฒนานั้นๆ สามารถตอบสนองความต้องการได้อย่างแท้จริง ตลอดจนเสนอให้เปลี่ยนแนวทางการสนับสนุนด้านเงินทุนในการทำวิจัยและพัฒนา เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นได้ตามความต้องการและจำเป็น

จึงนับได้ว่าเป็นความก้าวหน้า หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นการพลิกโฉมประวัติศาสตร์การทำวิจัยและพัฒนาเลยทีเดียว กระนั้นก็ยังห่างไกลจากคำว่างานเสร็จสิ้น ด้วยการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงนั้นจะเป็นเสมือนเกณฑ์หรือตัวชี้วัดความสำเร็จของ IGWG ซึ่งจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่อย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับความเอาจริงเอาจังขององค์การอนามัยโลก (WHO) และประเทศสมาชิกในอันที่จะนำหลักยุทธศาสตร์สากลนี้มาปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรมชัดเจน

แน่นอนว่า IGWG ไม่ได้ทำงานตามลำพัง แต่เป็นการต่อยอดงานของผู้อื่น จากผลการวิเคราะห์ในประเด็นว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาและการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านการแพทย์ ซึ่งจัดทำโดยคณะกรรมาธิการผู้ทรงคุณวุฒิด้านทรัพย์สินทางปัญญา นวัตกรรม และการสาธารณสุข (Commission on Intellectual Property Rights, Innovation and Health - CIPIH) ได้ชี้ให้เห็นว่า แนวทางการพัฒนาและทำตลาดผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ตั้งอยู่บนหลักตรรกะที่ผิดๆ ฉะนั้น เมื่อพิจารณาจากข้อแนะนำทั้ง 60 ข้อที่ CIPIH เสนอให้มีการแก้ไขปัญหาทั้งในด้านการเข้าถึงที่เกิดจากการจัดการทรัพย์สินทางปัญญา และการขาดแคลนนวัตกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งนวัตกรรมสำหรับโรคที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในประเทศกำลังพัฒนา จะเห็นได้ว่าทั้งหมดล้วนชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นอย่างยิ่งที่สุดที่ IGWG ต้องลงมือปฏิบัติภารกิจของตน

ทั้งนี้ข้อเสนออันทรงพลังของ CIPIH ที่เปี่ยมด้วยหลักวิชาการกลับถูกลดทอนความเข้มแข็งลงอย่างมากในบางประเด็น ที่เห็นได้ชัดคือแผนปฏิบัติการที่ IGWG นำเสนอขึ้นมานั้นได้สะท้อนถึงการยอมผ่อนปรนท่าทีเพื่อให้ทุกฝ่ายหันมาเจรจากัน ยกตัวอย่างเช่น IGWG ระบุว่าสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาเป็น "แรงจูงใจที่สำคัญต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ด้านสุขภาพ" ขณะที่ CIPIH ในฐานะคณะผู้ทรงคุณวุฒิที่จัดตั้งขึ้นก่อนลงความเห็นว่า "ไม่ปรากฎว่ามีหลักฐานใดจะพอพิสูจน์ชัดว่าการปฏิบัติตามความตกลงทริปส์จะช่วยส่งเสริมการทำวิจัยและพัฒนาด้านยาในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาได้แต่อย่างใด" และ "แรงจูงใจทางการตลาดที่ไม่มีประสิทธิภาพพอ" นั้นเองที่เป็นต้นตอของปัญหา เช่นนี้แล้วทำไมมันถึงได้แตกต่างกันมากขนาดนี้

 

กระนั้น วันเวลาที่ใครๆ มัวไชโยโห่ร้องกันอย่างหน้ามืดตามัวให้ทวีความเข้มงวดในการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาด้วยเห็นว่าเป็นหนทางเดียวที่จะนำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมนั้นกำลังจะสิ้นสุดลง เพราะเวลานี้ยุทธศาสตร์สากลได้เรียกร้องอย่างจริงจังให้มีการเปลี่ยนแปลง ในยุทธศาสตร์ฉบับนี้ได้บรรจุข้อเสนอให้มีการจัดตั้งการร่วมใช้สิทธิในสิทธิบัตรเทคโนโลยีทั้งในระดับต้นน้ำ (Upstream) และปลายน้ำ (Downstream) เพื่อขยายการเข้าถึงและการสร้างสรรค์นวัตกรรม ตลอดจนส่งเสริมการใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิเพื่อกระตุ้นการแข่งขันในตลาดการผลิตยาชื่อสามัญ และปฏิเสธการบรรจุมาตรการทริปส์ผนวก (TRIPS-plus) ลงในความตกลงการค้าต่างๆ รวมถึงสนับสนุนการคิดค้นกลไกใหม่ๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการทำวิจัยและพัฒนา อาทิเช่น รางวัลงานวิจัย และการมีส่วนร่วมของภาครัฐในการจัดลำดับความสำคัญการทำวิจัยและพัฒนา

ยิ่งไปกว่านั้น ยุทธศาสตร์สากลฉบับนี้ยังได้ปูทางไปสู่การเปลี่ยนแปลงในสองส่วนหลักๆ คือ

ความสัมพันธ์ระหว่างต้นทุนกับราคาขาย โดยยึดตามแนวทางของมติที่ประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลก (หน่วยงานผู้พิจารณานโยบายระดับสูงสุดขององค์การอนามัยโลก) ที่ 60.30 ซึ่งเรียกร้องให้มีการจัดทำข้อเสนอให้ทำการวิจัยและพัฒนาเพื่อมุ่งตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพ ตลอดจน "ขจัดปัญหาห่วงโซ่ความสัมพันธ์ระหว่างต้นทุนการวิจัยและการพัฒนากับราคาผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ"

การขจัดความสัมพันธ์ในข้างต้นจะช่วยทำลายวงจรการสนับสนุนเงินทุนการทำวิจัยและพัฒนาด้วยการตั้งราคายาสูงๆ ตราบเท่าที่การวิจัยและพัฒนายังคงอิงอาศัยแต่การตั้งราคาสินค้าไว้สูงๆ การที่จะเปลี่ยนแนวทางการทำวิจัยและพัฒนาที่เน้นแต่การแสวงหาโอกาสทำตลาดเช่นในปัจจุบันให้เป็นการทำวิจัยและพัฒนาที่มุ่งตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพเป็นสำคัญคงได้แต่เป็นเพียงความหวังลมๆ แล้งๆ และคงไม่มีทางที่จะทำให้ราคายาถูกลงได้อย่างยั่งยืนแท้จริง ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจะเท่ากับทิ้งให้เป็นธุระของประเทศต่างๆ ที่ต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ฟาดฟันเอาเองกับยาทีละรายการ

รางวัลงานวิจัยจะเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะช่วยขจัดห่วงโซ่ความสัมพันธ์ระหว่างต้นทุนกับการตั้งราคาผลิตภัณฑ์1 ประเทศบาร์บาโดส และโบลิเวีย ได้ยื่นข้อเสนอต่อ IGWG ให้มีการมอบรางวัลตอบแทนการสร้างสรรค์นวัตกรรม โดยเสนอแนะว่าให้มีการจัดตั้งรางวัลในหลายๆ รูปแบบ เช่น รางวัลสำหรับการพัฒนาเครื่องมือตรวจวินิจฉัยโรควัณโรคที่มีต้นทุนต่ำและให้ผลลัพธ์รวดเร็ว และการพัฒนายารักษาโรคชากาส หรือกองทุนรางวัลแก่ยาและวัคซีนรักษาโรคที่จำเป็นเร่งด่วน และรางวัลตอบแทนการคิดค้นกลไกใหม่ๆ ในการรักษาโรคมะเร็งในประเทศกำลังพัฒนา ตลอดจนกองทุนรางวัลตอบแทนผลิตภัณฑ์ที่อนุญาตให้ผู้บริจาคใช้สิทธิในผลิตภัณฑ์นั้นๆ2 ยุทธศาสตร์สากลมีข้อเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลกต้องดำเนินการตามแนวคิดดังกล่าวข้างต้น


ข้อที่สำคัญยิ่งในประเด็นเหล่านี้ก็คือ ยุทธศาสตร์สากลฉบับนี้ทำหน้าที่เสมือนตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยกลุ่มผู้เล่นที่หลากหลาย แม้ว่าแผนปฏิบัติการจะจำแนกรายละเอียดว่ายุทธศาสตร์สากลนี้ควรนำมาปฏิบัติในลักษณะใดแต่ก็มิได้มีข้อสรุปเป็นที่แน่ชัด จึงดูเหมือนว่ายุทธศาสตร์สากลฉบับนี้มีขึ้นด้วยเจตนารมณ์สำคัญคือ เพื่อสร้างศูนย์ถ่วง หรือที่แท้จริงคือ กระตุ้นให้ผู้เล่นคนอื่นๆ ได้ตระหนักและเข้าใจประเด็นปัญหาด้านการเข้าถึงยาและทรัพย์สินทางปัญญาที่มีความยุ่งยากซับซ้อนได้อย่างถ่องแท้มากขึ้น

ตัวอย่างหนึ่งก็คือ UNITAID (องค์กรสนับสนุนเงินทุนในการเข้าถึงยารักษาโรค โดยส่วนหนึ่งของกองทุนได้มาจากภาษีการบินของประเทศฝรั่งเศส) ที่เสนอให้มีการจัดตั้งมาตรการการร่วมใช้สิทธิในสิทธิบัตร (Patent pool) สำหรับผลิตภัณฑ์ยา เพื่อช่วยส่งเสริมการเข้าถึงยาต้านไวรัสรายการใหม่ๆ เพื่อการรักษาโรคเอดส์ในประเทศกำลังพัฒนา ตลอดจนสนับสนุนการพัฒนายาสูตรรวมเม็ดซึ่งเป็นยาหลายขนานรวมในเม็ดเดียว และยาต้านไวรัสสูตรสำหรับเด็กชนิดรวมเม็ดสามขนาน แม้ว่ายาแต่ละรายการจะมีสิทธิบัตรและเป็นของผู้ทรงสิทธิต่างรายกันก็ตาม

ส่วนข้อเรียกร้องในยุทธศาสตร์สากลฉบับนี้ที่ให้มีการแสวงหาทางเลือกใหม่ๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการทำวิจัยและพัฒนาด้านสุขภาพนั้น ได้ก่อกระแสวิพากษ์วิจารณ์และการถกกันในแวดวงวิชาการและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แนวคิดที่ให้มีรางวัลตอบแทนแทนการสมนาคุณด้วยสิทธิผูกขาดนั้นเริ่มมีแนวร่วมมากขึ้น3 จากการประชุมโต๊ะกลมของบรรดาผู้เชี่ยวชาญที่จัดขึ้นโดยองค์การหมอไร้พรมแดนเมื่อเร็วๆ นี้ พบว่า นักวิจัย นักเศรษฐศาสตร์ และนักเคลื่อนไหวเพื่อการรณรงค์ แสดงความสนใจอย่างมากในข้อเสนอให้มีการจัดตั้งกองทุนรางวัลเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเครื่องมือที่สามารถตรวจวินิจฉัยโรควัณโรคได้ ณ จุดรักษาผู้ป่วยและใช้งานง่าย และสามารถใช้ตรวจวินิจฉัยวัณโรคในผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

โดยสรุปคือ แนวความคิดที่จะให้เปลี่ยนจากการให้สิทธิผูกขาดเพื่อตอบแทนการสร้างสรรค์นวัตกรรมเป็นการสรรหาวิธีทางเลือกอื่นๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจนั้น ขณะนี้เริ่มมีแนวร่วมที่เห็นด้วยเพิ่มมากขึ้น หลักการขจัดห่วงโซ่ความสัมพันธ์ระหว่างต้นทุนการทำวิจัยและพัฒนากับการตั้งราคาขายนั้น องค์กรพัฒนาที่ไม่แสวงหากำไรก็ได้นำมาเป็นแนวทางปฏิบัติแล้ว ยกตัวอย่างเช่น องค์กรเพื่อการพัฒนายาที่ถูกละเลยและไม่มีการผลิต (Drugs for Neglected Diseases initiative หรือ DNDi) ซึ่งจ่ายเงินตอบแทนล่วงหน้าให้กับการทำวิจัยและพัฒนาโดยไม่มีนโยบายที่จะจดสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการวิจัยแต่อย่างใด ทำให้ผลิตภัณฑ์นั้นๆ มีวางจำหน่ายในชื่อสามัญนับแต่วันแรกที่ทำตลาดเลยทีเดียว


สำหรับที่อื่น โนวาร์ติสเสนอให้จัดตั้งกองทุนโลกเพื่อการวิจัยและพัฒนาโรคที่ถูกละเลย ทั้งนี้เพื่อเป็นการสนับสนุนการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ไม่แสวงหากำไร ข้อเสนอนี้รวมถึงให้มีการรวบรวมผลงานและการจัดการทรัพย์สินทางปัญญาไว้ที่ส่วนกลาง โดยมีข้อกำหนดให้ผู้ที่ใช้ประโยชน์จากกองทุนนี้ต้องอนุญาตให้กองทุนสามารถใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของตนได้แต่เพียงผู้เดียวสำหรับกรณีโรคที่ถูกละเลย แต่ผู้ที่ใช้ประโยชน์จากกองทุนนี้ยังอาจมีสิทธิที่จะแสวงหาประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาของตนในตลาดที่ร่ำรวยได้ โดยมีข้อแม้ว่าต้องจ่ายค่าตอบแทนการใช้สิทธิให้กับกองทุน หากมีค้นพบสารประกอบทางเคมีชนิดใหม่ที่จะเป็นประโยชน์ในการรักษาโรคและมีมูลค่าทางการค้ามหาศาล ผู้คิดค้นหรือบริษัทนั้นๆ ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่กองทุนสำหรับข้อมูลที่คิดค้นพัฒนาขึ้นพร้อมให้การสนับสนุนทุนแก่โรคที่ถูกละเลย4

 

แน่นอนว่า ข้อเสนอของโนวาร์ติสนั้นมุ่งสนใจเฉพาะโรคที่ถูกละเลย อีกทั้งข้อเสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงในระบบ R&D ของโลกนั้นยังจำกัดเฉพาะบางส่วน แต่ถึงกระนั้น เงื่อนไขที่กำหนดให้มีการเข้าถึงทรัพย์สินทางปัญญาที่ได้จากการวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนเพื่อส่งเสริมให้เกิดการผลิตด้วยต้นทุนที่ต่ำลงตลอดจนการกระจายผลิตภัณฑ์นั้นๆ ได้แสดงให้เห็นถึงความตระหนักในปัญหาการเข้าถึงอันเป็นผลพวงจากสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาได้อย่างชัดเจน ซึ่งนับได้ว่าเป็นเสียงสะท้อนที่ไม่เคยมีมาก่อนจากอุตสาหกรรมยา


ทริปส์หรือสนธิสัญญา?


ความเปลี่ยนแปลงประการสำคัญอีกข้อหนึ่งที่ยุทธศาสตร์สากลฉบับนี้เป็นผู้ริเริ่มขึ้นมาก็คือ เกิดแนวโน้มการเจรจาระหว่างรัฐบาลในระดับประเทศเพื่อหารือเกี่ยวกับสนธิสัญญาด้านสุขภาพและชีวการแพทย์ที่จำเป็น ทั้งนี้ก็เพื่อมุ่งเปลี่ยนแปลงกฎข้อบังคับในการทำวิจัยและพัฒนาด้านการแพทย์

ทุกวันนี้ ความตกลงทริปส์ขององค์การการค้าโลกถือเป็นสนธิสัญญาด้าน R&D ระดับโลกที่มีอำนาจบังคับและครอบงำสูงสุด ความตกลงนี้ยึดหลักการให้สิทธิผูกขาดเพื่อสร้างแรงจูงใจในการคิดค้นนวัตกรรม ทว่าบทบัญญัติที่กำกับการถ่ายทอดเทคโนโลยียังมีอยู่จำกัด หากมีคนถามว่าเราควรเริ่มใช้ความตกลงทริปส์กันเสียแต่บัดนี้เลยดีหรือไม่ เมื่อพิจารณาจากปัญหาการเข้าถึงและการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เวลานี้เราต่างทราบกันดี ทำให้เราเชื่อว่าแม้แต่ฝ่ายสนับสนุนที่มั่นอกมั่นใจในความตกลงทริปส์อย่างยิ่งที่สุดยังจะตอบว่า ไม่

เมื่อครั้งที่มีการเจรจาจัดตั้งความตกลงทริปส์ขององค์การการค้าโลก เรายังไม่มีการอภิปรายในระดับสาธารณะ อีกทั้งระดับความรุนแรงของการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ในประเทศกำลังพัฒนาก็ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด ยิ่งไปกว่านั้นกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสุขภาพเองก็แทบไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับตัวบทกฎหมายหรือความรู้ในเชิงวิชาการที่เกี่ยวข้อง แต่ในทางตรงข้ามกลุ่มอุตสาหกรรมกลับได้เข้าไปมีบทบาทสำคัญในการร่างความตกลงฉบับนี้ ตลอดจนล็อบบี้ให้มีบทบัญญัติที่เอื้อประโยชน์แก่ฝ่ายตน

ในทางตรงข้าม หากวันนี้ฝ่ายต่างๆ ในความตกลงทริปส์หันมาร่วมกันออกแบบความตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยการวิจัยและพัฒนาด้านสุขภาพที่จำเป็น แรงจูงใจต่างๆ ที่จะบรรจุลงในความตกลงทริปส์คงจะมีความหลากหลายและแตกต่างไปจากบทบัญญัติที่มีอยู่เดิมนับแต่จัดตั้งความตกลงฉบับนี้เป็นอย่างมาก

แนวคิดนี้คือหัวใจของข้อเสนอจาก Love และ Hubbard ที่ให้มีการจัดตั้งกรอบโครงสร้างทางการค้ารูปแบบใหม่ที่เน้นการมีส่วนร่วมสนับสนุนต้นทุนการทำวิจัยและพัฒนาอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมด้วยหลากหลายมาตรวิธี โดยไม่จำกัดเฉพาะแต่วิธีการจดสิทธิบัตรเพื่อให้สิทธิผูกขาดแต่เพียงอย่างเดียว5 ด้วยเหตุนี้จะทำให้เกิดการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ได้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น และไม่ถูกผูกขาดสิทธิตามสิทธิบัตรเป็นระยะเวลาถึง 20 ปี ทั้งนี้ย่อมมีตลาดสำหรับการทำวิจัยและพัฒนา และมีตลาดการแข่งขันแยกต่างหากสำหรับการผลิตและจำหน่าย ซึ่งอาจเป็นผลิตภัณฑ์ชื่อสามัญทั้งหมด บรรทัดฐานสำหรับการมีส่วนร่วมสนับสนุนการทำวิจัยและพัฒนาที่จัดตั้งขึ้นโดยสนธิสัญญาระหว่างประเทศนั้น จะช่วยรับประกันแหล่งทุนสำหรับการทำวิจัยและพัฒนา แต่แหล่งทุนเหล่านี้จะไม่ยึดหลักการตั้งราคาสูงๆ อีกต่อไป ดังนั้นจึงจะไม่เกิดปัญหาในการจัดสรรปันส่วนผลิตภัณฑ์ต่างๆ

 

การเปลี่ยนประเด็นการร่วมหารือจากทรัพย์สินทางปัญญาเป็นการวิจัยและพัฒนาจะส่งผลต่อความสามารถของประเทศต่างๆ ในการนำเสนอทิศทางการจัดตั้งความตกลงทางการค้า เมื่อใดที่การเจรจาไม่ได้พุ่งเป้าไปที่แนวทางการสร้างมาตรฐานด้านทรัพย์สินทางปัญญาในระดับสูง แต่เน้นที่แนวทางที่จะทำให้ประเทศต่างๆ เข้ามามีส่วนในการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านสุขภาพที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ของทุกฝ่าย เมื่อนั้นจะเป็นการเปลี่ยนโฉมการเจรจาหารือ และจะทำให้ยากลำบากยิ่งขึ้นที่จะดันทุรังยัดเยียดมาตรการทริปส์ผนวกในการเจรจาการค้า

ก้าวต่อไปขององค์การอนามัยโลก


ยุทธศาสตร์สากลฉบับนี้ถือเป็นการประกาศเจตนารมณ์ร่วมโดยภาคีหลายฝ่ายที่มีความสำคัญที่สุด ด้วยมีวัตถุประสงค์ที่จะเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการด้านสุขภาพที่แท้จริงได้ดียิ่งๆ ขึ้น แต่ครั้งนี้หน่วยงานด้านสาธารณสุขกำลังดำเนินการเจรจา ณ องค์การอนามัยโลก ไม่ใช่องค์การการค้าโลก ดังนั้น ความสำเร็จของยุทธศาสตร์ฉบับนี้จึงขึ้นอยู่ความเอาจริงเอาจังและปณิธานขององค์การอนามัยโลกเป็นสำคัญ


ทว่า บทบาทขององค์การอนามัยโลกในยุทธศาสตร์ฉบับนี้ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอย่างมาก นอกจากนี้ ประเทศต่างๆ ยังต้องเห็นพ้องว่าใครคือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักๆ ที่สมควรเป็นผู้ปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการส่วนต่างๆ ในยุทธศาสตร์นี้

จนกระทั่งบัดนี้ การที่องค์การอนามัยโลกยังไม่สามารถยอมรับ จัดแปล และจัดพิมพ์ข้อเสนอจัดตั้งกองทุนรางวัลวิจัยของโบลิเวียและบาร์บาโดสได้ แม้ว่าจะเป็นข้อเสนอที่จัดทำขึ้นเพื่อสนองตอบต่อมติที่ประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลกในปี 2550 ก็ตาม จึงไม่ใช่นิมิตหมายที่ดีนัก รวมไปถึงการโต้แย้งถกเถียงกันที่ได้ประสบพบเห็นในการเจรจาว่าด้วยหน้าที่รับผิดชอบขององค์การอนามัยโลกในประเด็นทรัพย์สินทางปัญญา

ยุทธศาสตร์สากลนั้นเป็นเรื่องของการลงมือปฏิบัติ องค์การอนามัยโลก ในฐานะที่เป็นหน่วยงานด้านสุขภาพที่สำคัญที่สุดของโลก จึงควรสวมบทผู้นำ หากปราศจากการลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังแล้ว ยุทธศาสตร์ฉบับนี้ก็ไม่ต่างอะไรจากประกาศเจตนารมณ์ดีๆ อีกฉบับหนึ่งเท่านั้น ซึ่งลมปากพวกนี้ทั่วโลกเขาฟังมาจนพอแล้ว

 

..................................................................................................

เอเลน โฮเอน (Ellen't Hoen) ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการด้านการรณรงค์เชิงนโยบายของฝ่ายรณรงค์เพื่อการเข้าถึงยาจำเป็น องค์การหมอไร้พรมแดน (MSF)

เอกสารอ้างอิง

1 Stiglitz, Joseph. 2550. Prizes, Not Patents. 2550. http://www.project-syndicate.org/commentary/stiglitz81

2 เอกสารนำเสนอโดยประเทศบาร์บาโดสและโบลิเวียร์ 17 เมษายน 2551 http://www.keionline.org/

3 Stiglitz, Joseph. 2550. Prizes, Not Patents. 2550. http://www.project-syndicate.org/commentary/stiglitz81

4 Paul Herrling, R&D และการสนับสนุนด้านเงินทุนในการทำวิจัยและพัฒนาสำหรับโรคที่ถูกละเลยได้อย่างยั่งยืนและพยากรณ์ได้, หัวข้อนำเสนอ ณ ที่ประชุมระหว่าง KEI, MSF, Global Forum for Health Research เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2550 ณ กรุงเจนีวา

5 Hubbard, T. and Love, J. A New Trade Framework for Global Healthcare R&D. PLoS Biol. 2547; 2:E52.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท