Skip to main content
sharethis

28 .. 51 - จากการให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชนของนายสมบูรณ์ ภู่งาม กำนันตำบลแม่รำพึง อ.บางสะพาน แกนนำเครือข่ายสมานฉันท์เครือสหวิริยา ในวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2551 ที่ผ่านมา ว่าในช่วงต้นเดือนตุลาคมจะมีการประท้วงโรงถลุงเหล็กครั้งใหญ่ของกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึงที่ศาลากลางจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แต่ชาวประมงเรือเล็กจาก อ.บางสะพาน หรือ อ.ทับสะแก จะไม่ไปร่วมประท้วง เนื่องจากไม่นิยมความรุนแรงพร้อมทั้งกล่าวว่าหากฝ่ายคัดค้านโรงถลุงเหล็กฯ นัดชุมนุมทีมงานสมานฉันท์จะมีการรวมตัวอีกครั้ง พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งบังคับใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ และเชื่อว่าจะมีผู้สนับสนุนกับการก่อสร้างโรงถลุงเหล็กกว่าร้อยละ 95


 


นางจินตนา แก้วขาว ประธานกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูดกล่าวว่า การออกมาให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชนของกำนันสมบูรณ์ขัดแย้งกับแนวทางการทำงานของข้าราชการที่ควรวางตัวเป็นกลางต่อความขัดแย้งในพื้นที่เป็นอย่างมาก


 


ซึ่งหากเราจะมีการชุมนุมจริงก็เป็นการชุมนุมเพื่อแสดงสิทธิในการปกป้องทรัพยากรของชาวบ้าน เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญยอมรับ และการที่ชาวบ้านออกมาคัดค้านก็เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการตรวจสอบการดำเนินงานของโครงการ ซึ่งที่ผ่านมาจากการตรวจสอบของชาวบ้านพบว่ามีการกระทำที่ผิดกฎหมายหลายอย่าง ทั้งการก่อสร้างโครงการเก่าบนพื้นที่ป่าคุ้มครองเป็นจำนวน 1,000 ไร่ การก่อสร้างถนนขวางทางน้ำจนเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดน้ำท่วมกักขัง อ.บางสะพานเป็นเวลานาน การก่อให้เกิดมลพิษจนชาวบ้านไม่สามารถรองน้ำฝนกินได้ต้องซื้อน้ำทุกหลังคาเรือน ฉะนั้นการที่บริษัทจะก่อสร้างโครงการใหม่ควรทำประเด็นที่ชาวบ้านสงสัยและตั้งคำถามต่อผลกระทบด้านต่างๆ ต่อสิ่งที่ผ่านมาให้เป็นที่เปิดเผย โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้เสียก่อน ซึ่งการใช้การออกเสียงประชามติก็ทำได้ แต่ไม่ควรตั้งประเด็นเพียงแค่การสร้างหรือไม่สร้างเท่านั้น เพราะนี่เป็นโครงการที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชีวิตผู้คนมากมายและส่งผลในหลายด้าน ฉะนั้นการออกเสียงประชามติจึงเป็นการแก้ปัญหาของบริษัทและข้าราชการที่หนุนให้เกิดการก่อสร้างโครงการเท่านั้น


 


"การที่กำนันออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่าพวกเราเป็นพวกนิยมความรุนแรง เราขอยืนยันว่าทางชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ไม่เคยใช้แนวทางนี้ในการออกมาต่อสู้เลย ซึ่งกิจกรรมที่ผ่านมาของพวกเราคือการเปิดเวทีให้ความรู้ การออกรณรงค์ในพื้นที่ และการยื่นหนังสือต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ในทางกลับกันเมื่อเกิดทีมงานสมานฉันท์ขึ้นมาก็มีการดักกว้างปาขบวนรถรณรงค์ มีการข่มขู่ชาวบ้าน จนทำให้เกิดความรุนแรงหลายครั้ง และการที่กำนันออกมากล่าวว่าหากชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์มีการไปยื่นหนังสือที่ศาลากลางทางทีมงานสมานฉันท์จะมีการรวมตัวอีกครั้ง คำพูดที่ออกมาก็สื่อให้เห็นได้ว่ากำนันไม่เชื่อเรื่องสิทธิในการชุมนุมของชาวบ้านและเป็นตัวแปรทำให้เกิดความรุนแรงเสียเอง"


 


นางจินตนา กล่าวต่อว่า " ท่าทีของกำนันสมบูรณ์เป็นท่าทีที่สอดรับกับแนวนโยบายของนายปานชัย บวรรัตนปราณ ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นอย่างมาก ซึ่งเมื่อตอนย้ายเข้ามารับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดคนใหม่ ได้แสดงท่าทีว่าต้องการเข้ามาแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง แต่เมื่อชาวบ้านเข้าไปยื่นหนังสือและให้ข้อมูลกลับถูกปฏิเสธที่จะรับฟัง และในทางกลับกันก็ประกาศหนุนให้มีมีการก่อสร้างโดยอ้างว่าจะต้องสนับสุนุนมติครม. และมีการสั่งการไม่ให้ผู้นำท้องถิ่นขึ้นเวทีคัดค้านโครงการ ซึ่งเป็นการทำให้เกิดความขัดแย้งมากยิ่งขึ้นขัดกับตอนที่เข้ามารับตำแหน่งใหม่ๆ ซึ่งแท้ที่จริงแล้วผู้ว่าต้องมีหน้าที่หลักในการจัดการกับปัญหาทั้งการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ อยู่ที่บางสะพาน โครงการอุตสาหกรรม เป็น พัน ๆ ไร่ และการคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรง และควรห้ามไม่ให้ข้าราชการในพื้นที่ที่เข้ามามีผลประโยชน์ทับซ้อนกับโครงการ เพราะส่วนหนึ่งของปัญหาก็เพราะมีข้าราชการพวกนี้หนุนหลัง เสาหลักลอยต่าง ๆ ของผู้ว่า ทั้ง แปดต้น เสนอทำให้ได้สักต้นคือปราบโกงที่สาธารณะให้ได้ก่อน ปราบการทำลายฐานทรัพยากรให้ได้ก่อน ชาวบ้านประจวบฯ เขาทำมาทั้งชีวิตแล้ว " นางจินตนากล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net