Skip to main content
sharethis

 อานุภาพ นุ่นสง



ประชาชนที่เข้าไปร่วมชุมนุม ต้องจำแนกว่าส่วนหนึ่งสะท้อนความรู้สึกที่ว่าการเมืองในระบบรัฐสภาไม่สามารถตอบสนองความต้องการของเขาได้ ดังนั้นการเติบโตของคนกลุ่มนี้ทำให้เห็นว่าการเมืองแบบอิงพรรค เป็นการเมืองที่ไปรับใช้คนบางกลุ่มที่ไม่ตอบสนองความต้องการของคนจน


ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองไทยที่มีการเผชิญหน้าระหว่างพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกับรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ที่เริ่มตึงเครียดมากขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งที่ผ่านมานำไปสู่การใช้ความรุนแรงเพื่อพยายามสลายการชุมนุม ทั้งการใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ การใช้สื่อของรัฐปลุกปั่น ยั่วยุ จนถึงการใช้แก๊สน้ำตาเข้าจัดการ กรณีที่เกิดขึ้นทุกภาคส่วนในสังคมต่างไม่ปรารถนาให้การเผชิญหน้าครั้งนี้มีข้อสรุปลงด้วย ความสูญเสีย อ่านมุมมอง ดร.ชยันต์ วรรธณะภูติ ผอ.ศูนย์ภูมิภาคด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน (RCSD) และเครือข่ายนักวิชาการเพื่อประชาธิปไตยและสิ่งแวดล้อมภาคเหนือ ต่อทางออกที่ควรจะเป็น


 -------------------------------


การชุมนุมของพันธมิตรฯ นอกจากมีเป้าหมายขับไล่รัฐบาลสมัคร สุนทรเวชแล้ว ในมิติการเมืองภาคประชาชนสะท้อนให้เห็นถึงอะไรบ้าง


ประการแรกนั้นคิดว่าต้องมองว่ากลุ่มประชาชนที่ออกมาต่อต้านอำนาจรัฐนั้น ไม่สามารถที่จะมองออกมาเป็นหนึ่งเดียวได้ บางคนมองว่ากลุ่มพันธมิตรเป็นกลุ่มคนที่เป็นแบบเดียว เป็นชนชั้นกลาง เป็นตัวแทนของชนชั้นนายทุนที่อยู่ในเมือง และมีความขัดแย้งในทางผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับอีกฝ่ายหนึ่งที่เป็นกลุ่มทุนโลกาภิวัตน์ ซึ่งในส่วนของประชาชนที่เข้าไปร่วม ต้องมาจำแนกว่าส่วนหนึ่งต้องสะท้อนความรู้สึกที่ว่าการเมืองในระบบที่อิงกับการเมืองในระบบรัฐสภา หรือว่าการเลือกตั้งที่มีการซื้อเสียงนั้นมันไม่สามารถจะตอบสนองความต้องการของเขาได้ ดังนั้นการเติบโตของคนกลุ่มนี้สะท้อนให้เห็นว่าการเมืองแบบอิงพรรค เป็นการเมืองที่ไปรับใช้คนบางกลุ่มที่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของคนชั้นล่าง หรือว่าไม่สามารถตอบสนองความต้องการของคนที่กำลังเผชิญปัญหาต่างๆ อย่างเช่นเรื่องสิ่งแวดล้อม ความต้องการของคนที่กำลังเผชิญกับปัญหาสุขภาพอนามัย เรื่องของการสูญเสียอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม รวมทั้งการขาดการมีส่วนร่วมทางการเมือง


แน่นอนว่าในกลุ่มนี้มีการเคลื่อนไหวโดยเหตุผลเดียวกัน และนำไปรับใช้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของเขา แต่อีกกลุ่มหนึ่งนั้นผมคิดว่าเป็นความรู้สึกของคนระดับชั้นกลางในเมือง หรือว่าคนชั้นกลางระดับล่างที่ไม่พอใจกับระบบในปัจจุบัน ผมไม่อยากจะให้มองว่าเป็นก้อนเดียว เพราะว่าถ้าหากเรามองก้อนเดียวเราก็จะถูกทำให้ถามว่าเป็นการเมืองภาคประชาชนหรือเปล่า และถ้าหากเป็นจะเป็นการเมืองภาคประชาชนในระดับไหน กลายเป็นว่าการเมืองภาคประชาชนแบบนี้กลายเป็นการเมืองภาคประชาชนแบบชนชั้นไปเลย


ผมเชื่อว่าถ้าหากมองอย่างแยกส่วนแล้วมันมีการเมืองของภาคประชาชนที่ตั้งอยู่ในประเด็นปัญหา อาจจะไม่ครอบคลุมทั้งหมดในตอนนี้ เพราะว่าการดึงใครเข้ามานั้น อาจจะติดเรื่องปัญหาท่าทีของแกนนำ ปัญหาเรื่องวิธีการ การสร้างแนวร่วมที่ทำให้ถูกมองไปว่าคนกลุ่มนี้ไปสัมพันธ์กับอมาตยาธิปไตย หรือว่าศักดินาเพราะภายในกลุ่มนี้นั้นจะมีตัวแทนของกลุ่มการเมืองแบบรากหญ้าก็มี


การปฏิเสธการเมืองในระบบรัฐสภามีมาก่อนหน้านี้ อย่างกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการพัฒนาของรัฐ เช่น ปากมูล จะนะ หรือเครือข่ายป่าชุมชน เหล่านี้สามารถเชื่อมโยงกับการชุมนุมของพันธมิตรฯได้อย่างไร


ไม่ใช่ตัวแทนของกลุ่มชาวบ้านรากหญ้ามากเท่าที่ควร แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า คือผมคิดว่ามันไม่ชัด เพราะว่าหากเราพูดถึงกระบวนการสิ่งแวดล้อม หรือว่ากระบวนการป่าชุมชน หรือว่ากระบวนการชนเผ่า ซึ่งจะเห็นว่ามันเป็นกลุ่มที่ตั้งขึ้น พัฒนาขึ้นมาจากปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ตอนนี้มันถูกนำเอามาเชื่อมโยงกัน กลายเป็นปัญหาที่สะท้อนให้เห็นว่าทั้งสองกลุ่มภายใต้กระบวนการประชาชนเห็นว่าระบบการเมืองที่มาตามรัฐธรรมนูญนั้นไม่ได้รับใช้เขา จึงกลายมาเป็นความขัดแย้งระหว่างสองฝ่าย อีกฝ่ายที่กุมอำนาจรัฐ อีกฝ่ายเป็นประชาชน ซึ่งก็มีอยู่หลายฝ่าย


คือในสังคมตอนนี้ผมมองเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกก็อาจจะเป็นชนชนชั้นกลาง หรือว่าชนชั้นสูง และอีกส่วนหนึ่งก็จะเป็นส่วนล่าง แต่ว่าเราไม่ค่อยเห็นตัวตนของเขาในตอนนี้ อาจจะเป็นเพราะว่าการชุมชนในกรุงเทพฯนั้นอาจจะทำให้ชนชั้นล่างไปชุมนุมกันได้ยาก ไม่เหมือนกับการเรียกร้องสิทธิของคนที่รากหญ้าที่เกิดในภูมิภาคไม่ว่าจะเป็นในกลุ่มท่อแก๊ส หินกรูดบ่อนอก


ในระดับพื้นที่เองอาจมีปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างนักการเมืองท้องถิ่นหรือหัวคะแนนพรรคการเมือง


เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าในช่วงที่ผ่านมานั้น กลุ่มรากหญ้าก็มองเห็นโอกาสของนโยบายประชานิยม ว่าเป็นสิ่งที่เขาอาจจะนำมาแก้ปัญหาของเขาได้ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า


ที่ผ่านมาหลายภาคส่วน อย่าง ม.เที่ยงคืน รวมทั้งประชาชนทั่วไปเองก็ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมของพันธมิตรฯ โดยเห็นว่าเป็นอภิสิทธิ์ชน เปลี่ยนแปลงข้อเรียกร้องไปเรื่อย


ไม่ได้ปฏิเสธว่าในเรื่องของคนที่เข้ามามีส่วนร่วม มีแนวโน้มไปในทางที่มีชนชั้นสูงที่เราเรียกว่ารอยัลลิสต์  ผมมองแยกว่าการเปลี่ยนข้อเรียกร้องไปวันต่อวันมันเป็นยุทธวิธีในการดึงภาคประชาสังคมเข้ามาร่วมให้มากที่สุด ผมเชื่อว่าในบรรดาชนชั้นสูงพวกราชนิกูล ราชวงศ์ หรือว่าคนในระดับกลางล่างก็ดี ผมเชื่อว่าเราอาจจะยังขาดความเข้าใจองค์ประกอบของคนกลุ่มนี้อย่างเพียงพอ ผมยังไม่เข้าใจส่วนประกอบของคนเหล่านี้ อย่างเช่นในกรณีของกลุ่มของคุณบรรจง นะแส (ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้) ผมคิดว่าในส่วนของกลุ่มคนเหล่านี้ไม่ได้เป็นส่วนของคนชั้นสูง แต่ว่าเป็นชาวบ้าน เป็นเอ็นจีโอ ซึ่งอาจจะมีเหตุผลบางประการ ผมเข้าใจว่ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มตัวแทนของประมงชายฝั่ง เป็นกลุ่มชาวบ้านที่ต่อต้านท่อก๊าซที่จะนะ เขาได้รับความเจ็บปวดจากการที่รัฐเข้ามาปราบปราม เขาจึงเข้ามามีส่วนร่วม แต่ในขณะเดียวกันทางด้านของฝ่ายของสมัชชาคนจนที่ไม่ได้เข้ามาร่วม ซึ่งพวกเขามองเห็นการเมืองของอีกฝ่ายหนึ่ง


ประเด็นสุดท้ายคือมันต้องมีอีกส่วนหนึ่ง สมมติว่าเรามีการวิจารณ์ว่าด้วยการจัดการชุมนุม หรือการเปลี่ยนประเด็นของการเคลื่อนไหวของฝ่ายพันธมิตรฯนั้น เหมือนกับว่าเป็นเรื่องของชนชั้นสูง นั่งรถเบ๊นซ์มาร้องเพลง มันก็มีคำถามตามมาว่า เราจะไม่ยอมกลับไปตั้งคำถามเรื่องความโปร่งใสของความซื่อสัตย์ของอีกฝ่ายหนึ่ง เช่น กรณีของฝ่ายรัฐบาลที่มีการสืบทอดอำนาจมากจากรัฐบาลทักษิณ เหมือนกับว่าเราหันไปวิจารณ์ วิธีการหรือว่าท่าทีของพันธมิตรฯ ดูเหมือนว่าพอพูดถึงวิธีการเราจะไม่ได้พูดถึงปัญหาเกี่ยวกับเรื่องของการทุจริตคอร์รัปชั่นของฝ่ายทักษิณ เรากลับไปวิจารณ์อีกฝ่ายหนึ่ง กลายเป็นว่าเรากลับไปยึดติดกับท่าทีหรือเปล่า


แต่หากคำว่าอภิสิทธิ์ชนนั้นหมายถึงอำนาจรัฐไม่กล้าเข้าไปจัดการ ผมเห็นว่าพวกเขาอาจจะใช้อภิสิทธิ์เรื่องการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ หรือว่าอาจจะใช้หลักการอารยะขัดขืน เข้ามาเป็นเกมส์ในการทำให้เขาสามารถจะต่อรองได้ ผมคิดว่าตำรวจเองคงจะมีบทเรียนมาแล้วอาจจะเป็นเรื่องจะนะ แต่ผมคิดว่ามันอาจจะมีเบื้องลึกที่เป็นกลุ่มนำของพันธมิตรฯ เพราะว่าเราอาจจะมองในเรื่องของปรากฏการณ์ที่มันกำลังเกิดขึ้น


การชุมนุมของพันธมิตรฯ ณ ปัจจุบันอาจารย์มองว่าจะมีข้อสรุปอย่างไร จะนำไปสู่การเผชิญหน้าที่แหลมคมมากขึ้นไปหรือไม่


ผมคิดว่าคงไม่สิ้นสุดการรวมตัวของคนกลุ่มนี้ ภาวะการณ์กลายเป็นว่ามันอาศัยแนวความคิดเรื่องชาตินิยม ศักดินา พร้อมๆ กับการเรียกร้องให้รัฐบาลมีความโปร่งใส ถ้าหากมีการเปลี่ยนแปลงทางรัฐบาลเกิดขึ้นผมคิดว่าคนกลุ่มนี้ก็จะเป็นกลุ่มที่ยังคงเป็นคู่ขัดแย้งอยู่ ถึงแม้ว่าในระยะข้างหน้าอาจจะมีการคลี่คลายของการเผชิญหน้า


ตอนนี้หลายฝ่ายพยายามที่จะเสนอทางออกให้มีการคลี่คลายโดยการให้ผู้หลักนำผู้ใหญ่ในบ้านเมืองทีเป็นที่ยอมรับ รวมทั้งองค์กรอิสระเป็นตัวกลางในการแก้ปัญหา


ถ้าเราเห็นว่าความขัดแย้งในปัจจุบันเป็นปัญหาระหว่างภาคประชาชนกับรัฐนั้น ในขณะนี้การเมืองแบบเดิม กติกาแบบเดิม การเมืองแบบรัฐสภา ประชาชนก็ถือว่าเป็นการเมืองนอกรัฐสภา ต้อง


ใช้ประชาชนเข้าไปตรวจสอบ เข้าไปกดดัน เรียกร้องให้มีการเปิดเผยข้อเท็จจริง หรือว่าเรียกร้องให้มีการเมืองเป็นการเมืองที่สะอาดขึ้น สองอย่างนั้นจะไปด้วยกันไม่ได้ น่าจะมีกลไกที่สามารถคลี่คลายความขัดแย้งขึ้นมา ผมก็ไม่ได้มองจากรัฐธรรมนูญว่ามีองค์กรอิสระอะไรบ้าง แต่คิดว่าถ้าหากว่าไม่มีการทบทวนดูมาตราต่างๆ ในรัฐธรรมนูญ น่าจะมีองค์กรอิสระที่ไม่สังกัดพรรคการเมืององค์กรเหล่านี้น่าจะมีส่วนในการดูแลไม่ให้ความขัดแย้งนั้นลุกลามบานปลาย ทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นมากขึ้น หรืออาจจะมีกลุ่มบุคคลที่เป็นราษฎรอาวุโสเข้ามาคุยกัน


ซึ่งขณะนี้ทั้งสองฝ่ายไม่มีการพูดคุยกัน มันจะต้องมีคนกลางที่เข้ามาพูดคุยกัน แต่ว่าจะทำอย่างไรกัน ผมนึกไม่ออก ถ้าหากเราเสนอไปแล้วทั้งสองฝ่ายจะยอมรับหรือเปล่า อาจจะมีข้อเสนอของทางรัฐสภาหรือเปล่า หรือสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือว่าภาคประชาสังคมที่หาคนมาทำให้การเมืองในระบบนั้นมันก็สามารถเป็นไปได้ แต่ว่าในขณะเดียวกันนั้นทำให้การเมืองภาคประชาชนก็มีบทบาทในการตรวจสอบการเมืองในระบบเช่นเดียวกัน ผมไม่ได้ปฏิเสธการเมืองในระบบ ผมคิดว่าการเมืองในระบบยังมีความจำเป็นอยู่ และส่วนหนึ่งในการพัฒนาก็ยังต้องอาศัยภาคประชาชน แต่ตอนนี้สองอย่างไม่ยอมรับ นักการเมืองพูดแล้วเห็นว่าเขาไม่พยายามเข้าใจปรัชญาของรัฐธรรมนูญปี 2540 หรือว่าที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมในปี 2550


ดังนั้น ผมเห็นว่าหากปล่อยไว้มันไม่มีทางที่จะคลี่คลายได้ มันจะต้องมีสองส่วนนี้อยู่ด้วยกัน การเมืองทางการกับไม่เป็นทางการ การเมืองในระบบกับการเมืองภาคประชาชน แต่ว่าตอนนี้สองอย่างอาจจะไม่เพียงพอ ต่อไปอาจจะต้องมีกลไกที่จะเข้ามาในการประคับประคองในส่วนนี้.



ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net