Skip to main content
sharethis


รศ.ดร.อรรถจักร สัตยานุรักษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์รายการ "มองคนละมุม" ออกอากาศทางสถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน FM100 MHz มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 27 ก.ย. ที่ผ่านมา มีเื้นื้อหาเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน และเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมีรายละเอียดของการให้สัมภาษณ์ดังนี้


 


000


 


 


ความสัมพันธ์ทางอำนาจใหม่ในสังคมไทย


ในวันนี้เองน่าจะถือว่าทุกรูปแบบการปฏิรูปการเมืองที่ถูกเสนอขึ้นมามีค่าเท่ากันหมด ซึ่งควรที่จะมีกระบวนการในการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจกันใหม่ที่น่าจะกว้างขวางกว่านี้ แต่ละฝ่ายได้เสนอความเห็นเข้ามาทั้งพันธมิตรฯ หรือ พรรคพลังประชาชน และประชาชน โดยให้ประชาชนเป็นคนตัดสิน


 


โดยที่แต่ละฝ่ายอย่าพยายามยัดเยียดว่าจะต้องเป็นรูปแบบของตนเองเท่านั้น ทุกคนมีสิทธิเท่ากันหมด ดังนั้นอาจจะต้องมีการตั้งคณะกรรมการกลางขึ้นมา เพื่อที่จะให้กรรมการกลางมานั่งคิดกันว่าจะจัดกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่อย่างไร ที่จะทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกติกาใหม่มากที่สุด กรรมการที่ว่าไม่ได้หมายถึงกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ แต่เป็นกรรมการที่จะมาหากติกาก่อนการร่างรัฐธรรมนูญ


 


น่าจะทำให้ความขัดแย้งผ่อนคลายลง อย่างที่เราเห็นนายกฯ สมชาย วงศ์สวัสดิ์พูดว่า "จะมี ส.ส.ร.3" คุณจำลองเองก็บอกว่าเป็นแนวทางที่ดี ก่อนที่จะถึงวิธีการ ส.ส.ร. ลองคิดดูว่าจะมีวิธีการไหนดี อยากให้มีกรรมการกลางมานั่งวิเคราะห์ว่ามีข้อดีข้อเสียอย่างไร ถ้ากรรมการกลางเสนอว่าเป็น ส.ส.ร. ก็ตกลง ถ้าหากตั้ง ส.ส.ร.เลยโดยที่ไม่ได้มีกติกาอย่างอื่นเลย บางทีข้อบังคับในรัฐธรรมนูญบางมาตราก็แปลกๆ เช่น รัฐธรรมนูญปี 40 ที่กำหนดให้ ส.ส.ต้องจบปริญญาตรีเท่านั้นจึงสมัครได้ ทั้งที่ ส.ส.ร.ชุดนั้นได้มาจากประชาชน ซึ่งประชาชนมีความต้องการให้ ส.ส. ต้องจบปริญญาตรีจริงหรือไม่ ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าไม่ใช่


 


ดังนั้น กรรมการกลางซึ่งตั้งมาเพื่อร่างกติกา กติกาตรงนี้ก็จะทำให้ข้อเสนอบางข้อเสนอที่มาจากประชาชนจริง แต่บางกรณีก็ต้องกลับไปถามประชาชนว่าจะเอาอยู่ไหม ทำให้มีความสลับซับซ้อนเพื่อให้ความสัมพันธ์ทางอำนาจได้ดุลมากที่สุด กรรมการกลางที่ว่าจึงเป็นกรรมการที่จะศึกษารูปแบบก่อนที่จะมีสภายกร่างรัฐธรรมนูญ


 


 


องค์ประกอบของสังคมไทยที่อยู่ในจังหวะที่ไม่มีใครไว้ใจกันเลยไม่ว่าใครก็ตาม


ดังนั้น ถ้าตั้ง ส.ส.ร.3 ขึ้นมาเอง คำถามที่ตามมาคือใครเป็นคนตั้ง สมมติแต่งตั้งโดยรัฐบาลก็จะมีเสียงโจมตีหรือว่าจะดึงมาจากพันธมิตรฯ ก็ไม่พ้นเหมือนกัน ดังนั้นจึงต้องมีกรรมการกลางในการทำให้เกิดการยกร่างรัฐธรรมนูญได้อย่างไร เพื่อที่ให้สภาร่างรัฐธรรมนูญมีความสมดุลมากที่สุด ไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นกลางมันคงยากที่จะเป็นไปได้ แต่มีความสมดุลของกลุ่มต่างๆ มากขึ้น


 


ส่วนหนึ่งของกรรมการต้องมาจากภาคการเมืองแน่นอน ส่วนที่สองอาจจะต้องคัดมาจากกลุ่ม ส.ส.ร. ปี40 เดิมเพราะ ส.ส.ร. ชุดนั้นมีกระบวนการรับฟังประชาชนอย่างกว้างขวางและน่าจะมีส่วนของกรรมการที่ศึกษาข้อด้อยของ ส.ส.ร.ปี 40 ด้วย ซึ่งมีคณะทำงานอยู่หลายชุด และจากกลุ่มองค์กรที่มีผลงานในระดับหนึ่ง เช่น องค์กรคุ้มครองผู้บริโภค ฯลฯ เพื่อที่จะเข้าไปร่วมกันคิด ในขณะที่ร่วมกันคิดก็จะต้องสื่อสารกับสังคมเพื่อที่จะต้องเปิดให้คนวิจารณ์ ต้องโปร่งใสรับเสียงสะท้อนจากสังคมให้มากที่สุด เพื่อให้กรรมการยกร่างเป็นที่ยอมรับของสังคมทุกภาคส่วน


 


ถ้าหากคณะกรรมการชุดแรกสามารถทำให้คณะกรรมการชุดที่สองคือสภาร่างรัฐธรรมนูญ เป็นที่ยอมรับของสังคมได้ กระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่กว้างขวางและเข้าถึงประชาชนจริง คิดว่ามีผลดีคือจะทำให้คนทุกฝ่ายเห็นซึ่งกันและกัน สิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้แต่ละฝ่ายถูกทำให้มองไม่เห็นกัน ไม่ว่าพันธมิตรฯ ก็มองเห็น นปก. เป็นศัตรูคลุมไปหมด ฝ่ายที่ไม่ชอบพันธมิตรฯ ก็เหมารวมว่าพันธมิตรฯ เป็นกลุ่มเดียวกันหมด ซึ่งความเป็นจริงทั้งสองฝ่ายมีเฉดสีที่หลากหลายไม่ว่า นปก. หรือพันธมิตรฯ ขบวนการที่ทุกคนมีส่วนร่างจะทำให้ทุกคนเห็นเป้าหมายของแต่ละกลุ่ม เห็นอุดมคติความใฝ่ฝันได้ชัดขึ้น


 


การเลือกตั้งจะต้องมีต่อไป โดยส่วนตัวขอปฏิเสธการแต่งตั้ง ท้ายสุดการแต่งตั้งก็จะถูกตั้งคำถามว่า "ใครมีอำนาจที่จะแต่งตั้ง" ซึ่งจะนำไปสู่ความขัดแย้งเสมอ การเลือกตั้งทั้งสภาล่างและสภาบนได้ถูกเลือกมาแล้วแต่จะจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจได้อย่างไร เช่น วุฒิสมาชิกโดยส่วนตัวอยากจะให้มีการเลือกตั้ง แต่หน้าที่ของวุฒิสภาจะไม่มีมากขนาดนี้ เพื่อให้วุฒิสมาชิกเป็นเสียงของคนที่หลากหลาย ให้รัฐธรรมนูญระบุไว้เลยว่า ส.ว. ทั้งหมดมีหน้าที่ทำประชาพิจารณ์ในทุกปัญหาที่ประชาชนมากกว่า 20 คน เสนอขึ้นมา (20 คน เป็นเพียงตัวอย่าง) และเมื่อประชาพิจารณ์เสร็จแล้ว ส.ว. นั้นจะต้องนำเรื่องเข้าสู่สังคมเพื่อการเรียนรู้ รวมทั้งนำเรื่องเข้าสู่สภา ถ้าทำเช่นนี้ได้เสียงจากผู้ที่ไม่มีเสียงก็จะมีเสียงขึ้น ในเมื่อ ส.ว.ไม่มีอำนาจอื่นๆนอกจากอำนาจที่ว่ามา ก็จะทำให้พวกซื้อเสียงไม่อยากจะเข้า สามารถแก้ไขปัญหาการซื้อเสียงได้ ซึ่งก็จะเป็นพลังกดดันให้ ส.ส.หรือรัฐบาลให้ปรับตัวตามเสียงของประชาชน ในต่างประเทศมีตัวอย่างให้เห็นแล้ว เช่น สภาสูงของอังกฤษ


 


ถ้าทำได้เช่นนี้เราจะสามารถหนีจากการเมืองที่โป้ปดมดเท็จการเมืองธุรกิจได้ วันนี้สังคมไทยถูกปลุกระดมอย่างง่ายๆ จากทุกฝ่ายแม้แต่ในวิทยุชุมชน ประเทศไทยไม่สามารถอยู่อย่างนี้ได้


 


 


การเรียนรู้ใหม่ของสังคม


การเรียนรู้การร่างรัฐธรรมนูญครั้งใหม่ ด้านหนึ่งจึงเป็นการเรียนรู้ของสังคมครั้งใหม่ว่าพวกเราจะอยู่อย่างไรในสังคมที่แต่ละคนไม่เหมือนกับเรา อย่างน้อยที่สุดน่าจะทำให้คนในสังคมรู้สึกว่า รัฐธรรมนูญเป็นของพวกเรา จะมีความผูกพันกับกติกากลางมากขึ้น ไม่เหมือนกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ซึ่งเป็นของคนเพียงครึ่งประเทศจึงเป็นการยากมากที่จะปกครองประเทศไปได้


 


สังคมทั้งหมดตกอยู่ในขั้วความขัดแย้ง อยากเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายโดยเฉพาะผู้ร่วมชุมนุมถอนตัวออกมาสัก 4-5 ก้าวจากความรักความศรัทธาความชอบ ลองมานั่งดูว่าพวกเราจะทำอย่างไรให้สังคมเคลื่อนไปข้างหน้า เราจะกดดันให้รัฐบาลจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจกันใหม่เกิดกติกากลางให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้อย่างไร ถ้าทุกฝ่ายยืนยันว่าจะต้องเป็นแบบที่ตนเองต้องการ มันก็ไม่ใช่ทางเลือกที่ดีของสังคมอย่าได้ยัดความคิดของตน คนที่ไม่เห็นด้วยก็มีสิทธิที่จะคัดค้าน


 


ภาพสังคมไทยที่ประนีประนอมกันเป็นสังคมไทยในสมัยเมื่อก่อน ที่เรายังมีความแตกต่างระหว่างคนไม่มากนัก ความแตกต่างระหว่างรายได้ห่างกันสักสิบเท่าเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2520 ในช่วงนั้นความแตกต่างของคนไม่มากนัก มันจึงทำให้ทั้งหมดมีผลประโยชน์ร่วมกันทุกคนยังประนีประนอมกันได้ แต่ในวันนี้ไม่ใช่ความแตกต่างทางรายได้เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 15 เท่า มีสัดส่วนของคนจนประมาณ 12 เปอร์เซ็นต์ ของประชากรทั้งหมด การประนีประนอมแบบเดิมที่เราคิดว่าสังคมไทยเป็น ถามว่ายังมีอยู่ไหม โดยส่วนตัวคิดว่าไม่มี ดังนั้น จึงไม่สามารถเรียกร้องการประนีประนอมแบบเดิมได้ เราคงต้องทำให้ทุกฝ่ายที่แตกต่างกันเป็นสังคมแยกย่อยสามารถที่จะจัดความสัมพันธ์ต่อรองกันได้ ในสังคมที่แต่ละคนไม่เหมือนกับเราสังคมไทยไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว ในวันนี้มีความแตกต่างกันทั้งหมด


 


"สังคมเรามักจะยอมรับการตัดสินใจของผู้มีอำนาจเป็นหลัก เราถูกกับดักทางปัญญาของการสร้างความหมายของสังคมไทยในยุคก่อนหน้านี้ เช่น สังคมไทยนี้ดีจังเลย สังคมไทยสมานฉันท์ ทั้งหมดเป็นกับดักที่ทำให้เรามองไม่เห็นความเปลี่ยนแปลง เราจึงไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น สมัยก่อนมีคำพูดว่า สังคมไทยแม้กระทั่งสุนัขก็ไม่อดตาย แต่ถึงวันนี้ไม่มีการพูดอีกแล้วเพราะมันไม่จริง เราต้องหลุดจากกับดักอันนี้ จะทำให้รู้จักสังคมที่เราอยู่ดีขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงที่ลึกซึ้งทั้งวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ วิถีชีวิตทางสังคม อุดมการณ์ที่หลากหลาย"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net