Skip to main content
sharethis


การประชุมวิชาการเพศศึกษาเพื่อเยาวชนครั้งที่ 4 "ชุมชนแห่งการเรียนรู้: ทบทวน ทายท้า ศรัทธา กล้าเลือก" จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-15 ตุลาคม ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ กรุงเทพฯ ได้เริ่มขึ้นแล้วเมื่อเช้าวันที่ 13 ต.ค. ที่ผ่านมา


 


 


ผอ.แพธเผยเน้นแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เติมไฟเพื่อทำงานต่อไป


โดยนางสาวภาวนา เหวียนระวี ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ องค์การแพธ กล่าวว่า การประชุมฯ ครั้งนี้ รวบรวมบุคลากรซึ่งทำงานในโครงการก้าวย่างอย่างเข้าใจ ซึ่งเป็นโครงการส่งเสริมการจัดกระบวนการเรียนรู้เรื่องเพศศึกษา และการป้องกันเอดส์ในกลุ่มเยาวชนในสถานศึกษา โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมฯ ประมาณ 1,500 คน ได้แก่อาจารย์จากทั่วประเทศ กลุ่มแกนนำเยาวชนที่มีส่วนร่วมกับโครงการ กลุ่มเอ็นจีโอและเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนบทเรียนจากการทำงานในการผลักดันเรื่องเพศศึกษาเข้าสู่สถานศึกษา


 


ผู้อำนวยการฯ องค์การแพธ กล่าวว่า รูปแบบของการประชุมมีความหลากหลาย ตามความสนใจที่หลายหลากของแต่ละบุคคล โดยมีทั้งการสัมมนาเชิงวิชาการ การล้อมวงแลกเปลี่ยนประสบการณ์ รวมถึงการแลกเปลี่ยนความรู้เชิงสันทนาการในบรรยากาศแบบผ่อนคลาย


 


"อยากให้ผู้ร่วมงานใช้เวลาตรงนี้ให้คุ้มค่า ตักตวงประสบการณ์และความรู้ใหม่ๆ ให้ตัวเองได้รับประโยชน์มากที่สุด เอาไว้ใช้เติมไฟในการทำงานเพื่อสังคมต่อไป" นางสาวภาวนา กล่าว


 


นางสาวภาวนา กล่าวต่อว่า โครงการก้าวย่างอย่างเข้าใจที่จัดอย่างต่อเนื่องมาถึงปีที่ 5 นี้ สร้างความคืบหน้าให้กับประเทศไทยในการผลักดันเพศศึกษาเข้าสู่สถาบันการศึกษาได้มากพอสมควร แต่ก็ยังเป็นเพียงก้าวเล็กๆ ในตอนนี้ ที่ยังมีอะไรให้ทำอีกมากในระยะยาว จึงหวังว่าเราจะสามารถขยายเครือข่ายออกไปในอนาคต เพื่อผลักดันภารกิจเรื่องเพศศึกษาให้ก้าวหน้าต่อไป


 


นางสาวอุษาสินี ริ้วทอง หัวหน้าฝ่ายรณรงค์ทางสังคม องค์การแพธ กล่าวว่า ภายในงานมีนิทรรศการหลายอย่างที่น่าสนใจ เช่น การเล่าเรื่องเพศศึกษาในบ้านเมืองอื่นๆ เพื่อให้เห็นวิธีคิดและมุมมองที่แตกต่างกันออกไปจากประเทศไทย มีการเสวนาเรื่องพัฒนาเด็กเชิงบวก ทั้งจากมุมมองของผู้ใหญ่และเด็กที่เคยเผชิญปัญหาในเรื่องเพศ และผู้ที่สนใจเรื่องเพศศึกษาในเชิงประวัติศาสตร์ต้องไม่พลาดการเสวนาประวัติศาสตร์เรื่องเพศในมุมมองจากงานวิจัย ที่จะแสดงให้เห็นว่าเอกสารทางประวัติศาสตร์กล่าวถึงเพศวิถีของสังคมไทยไว้อย่างไรบ้าง


 


ผู้สนับสนุนการประชุมครั้งนี้ ได้แก่ สำนักงานบริหารกองทุนโลก เพื่อเอดส์ วัณโรคและมาลาเรีย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA), องค์การแพลนอินเตอร์เนชั่นแนล อิงค์, สหภาพยุโรป, บริษัทเอสเอสแอล เฮลธ์แคร์ (ประเทศไทย) จำกัด (ดูเร็กซ์), ไบเออร์ เชริง ฟาร์มา, บริษัทแกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด


 


 


พ่อแม่ 2 หมื่น สนับสนุนการสอนเพศศึกษารอบด้าน


น.ส.อุษาสินี ริ้วทอง ยังกล่าวถึงกิจกรรมรณรงค์เชิญชวนผู้ปกครอง และผู้ที่เห็นด้วยร่วมลงชื่อเพื่อสนับสนุนแนวคิดการจัดการเรียนรู้เพศศึกษาให้กับเยาวชน ว่า กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการก้าวย่างอย่างเข้าใจ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อประมาณปลายเดือนสิงหาคม จากแนวคิดของ นายสมวงศ์ อุไรวัฒนา รองผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ สืบเนื่องมาจากการประเมินผลโครงการก้าวย่างฯ ในเชิงคุณภาพ ที่พบว่า ครูสอนเพศศึกษาในสถานศึกษาน้อยลง ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากความกลัว และกังวลใจว่าผู้ปกครองจะไม่เห็นด้วย เหตุนี้จึงมีแนวคิดที่ว่า ต้องการเสียงจากพ่อแม่ผู้ปกครองเพื่อมาสนับสนุนการสอนเพศศึกษาอย่างต่อเนื่องและรอบด้านให้กับเยาวชนระดับมัธยมศึกษาขึ้นไปในทุกระดับชั้น เป็นเวลา 16 ชั่วโมงต่อปีการศึกษา หรือภาคละ 8 คาบเรียน


 


"ถึงทางกระทรวงศึกษาธิการจะกำหนดไว้ว่า โรงเรียนมีอำนาจในการผลักดันหลักสูตรเพื่อใช้สอนนักเรียนนักศึกษาได้เอง แต่ครูและผู้บริหารในหลายๆ โรงเรียน ก็ยังต้องการเห็นสัญญาณ หรือไฟเขียวที่สว่างๆ กว่านี้ จากทางส่วนกลางอยู่" น.ส.อุษาสินีกล่าว


 


น.ส.อุษาสินี กล่าวต่อว่า เป้าหมาย คือ การระดมรายชื่อผู้ปกครอง หรือผู้ที่เห็นด้วย ให้ได้ทั้งสิ้น 100,000 รายชื่อ โดยให้องค์กรภาคีที่ทำงานด้านสถานศึกษาทั่วประเทศ ร่วมกันรณรงค์ร่วมกับการกระจายข่าวทางเว็บไซต์ เมื่อได้รายชื่อครบแล้ว จะนำไปเสนอให้ผู้กำหนดนโยบายในกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อยืนยันเสียงสะท้อนของพ่อแม่ผู้ปกครอง ซึ่งขณะนี้มีผู้มาร่วมลงชื่อแล้วประมาณ 20,000 คน สำหรับผู้ที่เห็นด้วยสามารถร่วมลงชื่อได้ทางเว็บไซต์ www.teenpath.net หรือโต๊ะที่จัดไว้ใกล้บูตประชาสัมพันธ์ ในงานประชุมวิชาการเพศศึกษาเพื่อเยาวชน ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 13-15 ต.ค. นี้ บริเวณล็อบบี โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ กรุงเทพฯ


 


 



นายประเสริฐ แก้วเพชร รองเลขาธิการคณะกรรมการอาชีวะศึกษากล่าวทักทาย และรับฟังข้อเสนอแนะจากเยาวชนกลุ่มอาชีวะ ในพิธีเปิดการประชุมวิชาการ 'เพศศึกษาเพื่อเยาวชน' ครั้งที่ 4 (ที่มาของภาพ: หนังสือพิมพ์กำแพงเพศ)


 


 


อาชีวะเปิดเพศศึกษาเป็นวิชาบังคับเลือก


นายประเสริฐ แก้วเพ็ชร รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวด้วยว่า ขณะนี้โรงเรียนในกลุ่มอาชีวศึกษาจัดการเรียนการสอนเพศศึกษาให้เป็นวิชาเลือกเสรี ซึ่งนักเรียนบางคนอาจจะไม่เลือก จึงจะบรรจุวิชาเพศศึกษาลงในหลักสูตรให้เป็นวิชาบังคับเลือก และจะขยายเพศศึกษาจาก 200 กว่าวิทยาลัยให้ครบ 404 วิทยาลัยทั่วประเทศด้วย


 


"การขยายให้ครอบคลุมอย่างรวดเร็วนั้น คิดว่าเป็นไปได้ไม่ยาก เนื่องจากมีองค์ความรู้และบุคลากรที่พร้อมแล้ว เราจะพยายามผลักดันเข้าโครงสร้างหลักสูตรอย่างเต็มที่ และมีความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มเวลาสอนจาก 1 คาบ เป็น 2 คาบต่อสัปดาห์ เพราะต้องการส่งเสริมในเรื่องนี้อยู่แล้ว" นายประเสริฐกล่าว


 


นายสมภพ พุ่มนิคม แกนนำกลุ่มเยาวชนบาลีฮาย เครือข่ายอาชีวศึกษา จ.ชลบุรี กล่าวว่า การเรียนการเพศศึกษารอบด้านสนุกมาก จากเมื่อก่อนที่เคยโดดเรียน เพราะอาจารย์เปิดตำราสอนอย่างเดียวมันน่าเบื่อ แต่ตอนนี้ต้องเข้าเรียนเพศศึกษาทุกครั้ง เพราะไม่อยากพลาดกิจกรรมสนุกๆ และอยากให้มีเรียนสัปดาห์ละ 2 ชั่วโมง นอกจากนี้คิดว่าการสอนเพศศึกษาไม่ใช่การชี้โพรงให้กระรอก เพราะเป็นการสอนให้เยาวชนรู้จักการป้องกัน ไม่ใช่ปล่อยให้เรียนรู้อย่างผิดๆ


 


นพ.ทวีทรัพย์ ศิระประภาศิริ ผู้แทนกองทุนสหประชาชาติเพื่อกิจการด้านประชากร (UNFPA) กล่าวว่า สาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของเด็กและเยาวชนมาจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันดังนั้นสถาบันการศึกษาจึงต้องให้เยาวชนเรียนรู้เพศศึกษา "มีผลการศึกษายืนยันชัดเจนว่า การเรียนการสอนเพศศึกษารอบด้านสามารถลดอายุของการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกลงได้ อยากจะให้ผู้ใหญ่ดูแลให้เด็กให้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ไม่ใช่ห้ามไม่ให้มีเพศสัมพันธ์" นพ.ทวีทรัพย์ กล่าว


 


นางเบญจลักษณ์ น้ำฟ้า ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า โรงเรียนต้องถ่ายทอดวิชาชีวิตให้เยาวชนด้วย โดยเฉพาะเรื่องเพศศึกษา ถือเป็นทักษะการใช้ชีวิตที่สำคัญเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่เหมาะสมให้กับเยาวชน


 


 


กศน. ส่งเสริมเพศศึกษารอบด้าน ให้ทำพร้อมกันทั่วประเทศ ไม่เน้นนำร่อง


ด้านนางนพรัตน์ เวโรจน์เสรีวงศ์ นักวิชาการศึกษา กลุ่มพัฒนาการศึกษานอกโรงเรียน สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) กล่าวเกี่ยวกับข้อสรุปในการประชุม ณ ห้องประชุมคณะกรรมการ กศน. เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2551 ว่าในที่ประชุมมีนโยบายให้ดำเนินการพัฒนาเรื่องเพศศึกษารอบด้านต่อไป แต่ต้องมีการจัดการอบรมครูทั่วประเทศให้มีความรู้ความเข้าใจเรื่องเพศศึกษาไปพร้อมๆ กัน ไม่ให้มีการใช้ระบบนำร่อง เพื่อต้องการให้ทุกคนรู้เท่าทันกัน โดยให้สถาบัน กศน. 5 ภาคและหน่วยงานพัฒนาบุคลากรของ กศน. ช่วยพัฒนาบุคลากร และให้องค์การแพธเป็นผู้ให้ความรู้ทางด้านวิชาการ ทั้งนี้ให้ดำเนินการได้ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2552 นี้


 


"ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีการประชุมที่องค์การแพธ ซึ่งตัวแทนแต่ละโหนด มารายงานความคืบหน้าของตัวเอง ทั้งนี้มีการพูดคุยในการเตรียมความพร้อมในเรื่องต่างๆ เช่น การปรับคู่มือ ออกแบบหลักสูตร กศน.ซึ่งจะดำเนินการทันทีเมื่องานประชุมวิชาการเพศศึกษาจบลง"นางนพรัตน์กล่าว


 


นักวิชาการศึกษา กลุ่มพัฒนา กศน. กล่าวต่อว่า ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2551 เป็นการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ คือ 1. การปรับคู่มือการเรียนการสอน เพราะเล่มเดิมที่ใช้มาแล้ว 2 ปี เนื้อหาบางเรื่องยังไม่ชัดเจน ทำให้ครูขาดความมั่นใจในการนำไปสอน 2. ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ หลักสูตร กศน. เรื่องการพัฒนาทักษะชีวิต 1 บทเรียนนั้นมีเรื่องหนึ่งเป็นเรื่องเพศศึกษา มีข้อมูลเพศศึกษารอบด้าน และมีการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ให้แล้วว่าควรจัดกิจกรรมอย่างไร ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมอย่างไร แต่ 4 เรื่องที่เหลือครูต้องออกแบบเองทำให้ครูไม่สามารถใช้กระบวนการที่เราสร้างไปได้อย่างเต็ม 3. อบรมครูทั่วประเทศ ให้มีความรู้ความเข้าใจเรื่องเพศศึกษารอบด้าน ประการสุดท้าย ทบทวนหลักสูตรโค้ชชิ่ง ซึ่งเป็นกระบวนการอบรมตัวแทนแต่ละพื้นที่และนำไปขยายต่อ


 


 


ผลประเมินโครงการก้าวย่างฯ พบเพศสัมพันธ์ไม่ได้ทำให้นักเรียนมีเซ็กส์มากขึ้น


นายยุทธพงษ์ ศรีวลัย ทีมวิจัยสำนักที่ปรึกษาพันธมิตรสาธารณสุข (H.C.C.) กล่าวว่า การประเมินผลโครงการก้าวย่างอย่างเข้าใจมีจุดประสงค์เพื่อติดตามสถานศึกษาเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการ ทั้งจากโรงเรียนมัธยมศึกษาในสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ. ) และอาชีวศึกษาในภาพรวมว่าต้องการอะไร ทำอะไรไปบ้าง มีอุปสรรคอะไร รวมทั้งติดตามกลุ่มผู้เรียนว่ามีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ความรู้และทัศนคติเรื่องเพศอย่างไร ซึ่งเป็นการติดตามผลอย่างต่อเนื่องทุกปี


 


นายยุทธพงษ์ กล่าวถึงการประเมินผลเชิงปริมาณว่า เมื่อติดตามผู้เรียนกลุ่มเดิมในแต่ละปี ตั้งแต่พ.ศ. 2549 เมื่อศึกษาในระดับชั้นปีที่ 1 จนถึงปัจจุบันเมื่อนักเรียนอยู่ในระดับชั้นปีที่ 3 และเปรียบเทียบในนักเรียน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ผ่านการเรียนรู้เพศศึกษาตามหลักสูตรโครงการและกลุ่มที่ไม่ได้เรียน พบว่าการจัดการเรียนรู้เพศศึกษาไม่มีผลให้นักเรียนมีเพศสัมพันธ์เพิ่มขึ้น แต่นักเรียนในโครงการมีความรู้เรื่องการป้องกันและทัศนคติเชิงบวกในเรื่องเพศวิถี เพศสภาวะและสัมพันธภาพต่อผู้อื่นมากกว่านักเรียนนอกโครงการ และแม้ว่านักเรียนในโครงการจะมีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดี แต่ระดับการเปลี่ยนแปลงในบางเรื่องยังไม่มากพอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเชิงบวก เช่น การป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีด้วยการใช้ถุงยางอนามัยในผู้ที่มีเพศสัมพันธ์แล้ว ทางสถานศึกษาจึงควรให้ความสำคัญกับการจัดการเรียนการสอนเพศศึกษาเพื่อปลูกฝังความรู้ความเข้าใจอย่างต่อเนื่องต่อไป


 


นางสาวจอมญาดา ชื่นประจักษ์กุล ทีมวิจัย H.C.C. กล่าวว่า การประเมินผลเชิงคุณภาพมีจุดประสงค์เพื่อศึกษาทักษะความสามารถในการคิด การตัดสินใจเรื่องเพศของผู้เรียนและการประยุกต์นำสิ่งที่เรียนมาใช้กับประสบการณ์จริง ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใหญ่เข้าใจวิธีการตัดสินใจของเยาวชนในด้านสัมพันธภาพกับคนรัก สัมพันธภาพกับบุคคลรอบข้าง รวมถึง พฤติกรรมและสุขภาพทางเพศ โดยศึกษารูปวาด จากกระบวนการวาดรูปเล่าเรื่องเพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ประกอบการสัมภาษณ์เชิงลึกจากกลุ่มตัวอย่าง นักเรียนชั้นม.2 และปวช.ปี 2 จากสถานศึกษาทั้งในและนอกโครงการอย่างละ 10 แห่ง แห่งละ 5 คน พบว่านักเรียนในโครงการมีข้อมูลความรู้เรื่องเพศ เอดส์และสื่อสารเรื่องเพศกับคู่ก่อนมีเพศสัมพันธ์ แตกต่างจากนักเรียนนอกโครงการที่ส่วนใหญ่จะแสวงหาความรู้และสื่อสารกับคู่หลังมีเพศสัมพันธ์แล้ว และการตัดสินใจป้องกันเพื่อมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยของนักเรียนหญิงในโครงการจะมาจากการตัดสินใจของตัวเอง


 


ทั้งนี้ โครงการก้าวย่างอย่างเข้าใจ องค์การแพธ จะจัดประชุมวิชาการเพศศึกษาเพื่อเยาวชน ครั้งที่ 4 "ชุมชนแห่งการเรียนรู้: ทบทวน ทายท้า ศรัทธา กล้าเลือก" ในวันที่ 13 - 15 ตุลาคม นี้ ที่โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ กรุงเทพฯ


 


โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอผลการดำเนินงาน บทเรียน ประสบการณ์ และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการผลักดันและขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้เพศศึกษาสำหรับเยาวชนในสถานศึกษา ของภาคีเครือข่ายโครงการฯ เติมเต็มแนวคิด มุมมอง และทักษะ ในการพัฒนาการสร้างการเรียนรู้เรื่องเพศวิถีกับการพัฒนาเยาวชนเชิงบวก สร้างเครือข่ายคนทำงานเพศศึกษา และนำเสนอแนวทางการดำเนินงานเพื่อขยายผลการทำงานเพศศึกษาในระดับประเทศ


 


สำหรับผู้สนใจเข้าร่วมชมกิจกรรมอื่นๆ ภายในงานนั้นสามารถ ดูกำหนดการได้ที่นี่ http://www.teenpath.net/teenpath/news/00155.doc


 


 


ที่มาของข่าว: หนังสือพิมพ์ออนไลน์กำแพงเพศ หนังสือพิมพ์ในงานประชุมเพศศึกษาเพื่อเยาวชนครั้งที่ 4 "ชุมชนแห่งการเรียนรู้ ทบทวน ทายท้า ศรัทธา กล้าเลือก" http://www.teenpath.net/sexwall/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net