Skip to main content
sharethis



 

 


นายเอกลักษณ์ หลุ่มชมแข


หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา


www.notforsale.in.th



 


 


            ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา หน่วยงานที่มีภารกิจในการติดตามปัญหาการค้ามนุษย์ วิเคราะห์เจาะลึก 5 พื้นที่เลี่ยงในการล่อลวงเหยื่อการค้ามนุษย์ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เตรียมเสนอผู้ว่าราชการกรงุเทพฯ อีกสมัยเร่งแก้ไขปัญหาด่วน หลังพบมีผู้เดินทางเข้ามาหางานทำในเมืองหลวงจำนวนมากตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการถูกบังคับให้ใช้แรงงานบนเรือประมง


 


            ลักษณะพฤติกรรมของขบวนการค้ามนุษย์จะมองหาเหยื่อที่เดินทางเข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯ, เหยื่อที่ไม่มีงานทำ และเหยื่อที่ไม่มีที่พักอาศัยเป็นหลักแหล่ง ขบวนการค้ามนุษย์กลุ่มนี้จะเข้าไปทำทีตีสนิทพูดคุย ชักชวน และนำเสนอว่ามีงานให้ทำ เป็นงานสบาย รายดีได้ ซึ่งผู้เสียหายส่วนใหญ่มักจะหลงเชื่อ เนื่องจากมีความต้องการหางานทำ ประกอบกับขบวนการค้ามนุษย์มักจะมีจิตวิทยาสูงในการจูงใจ เพราะบางครั้งก็พูดภาษาถิ่นเดียวกับผู้เสียหาย จึงยิ่งทำเกิดความไว้วางใจ ผลสุดท้ายจึงถูกนำไปขายต่อให้กับเรือประมงในราคาประมาณ 1-3 หมื่นบาทต่อหัว ทั้งนี้ ลักษณะของขบวนการค้ามนุษย์ทุกกลุ่มจะใช้วิธีการที่คล้ายคลึงกันในการล่อลวงผู้เสียหาย


 


 


            สถานที่จุดเสี่ยงที่มีการล่อลวงแรงงานประมง ได้แก่


 


            1.สถานีขนส่งหมอชิต


            สถานีขนส่งหมอชิต ถือว่าเป็นแหล่งใหญ่ที่มีกลุ่มมิจฉาชีพแฝงตัวอยู่เป็นจำนวนมากซึ่งขบวนการค้ามนุษย์ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่อาศัยพื้นที่หมอชิตเป็นทำเลในการหาเหยื่อจุดเสี่ยงในสถานีขนส่งหมอชิตมีอยู่หลายจุด ประกอบด้วย


 


            บริเวณอาคารผู้โดยสารขาออก


            บริเวณอาคารผู้โดยสารขาออกเป็นพื้นที่เป้าหมายสำคัญที่มีขบวนการค้ามนุษย์แฝงตัวอยู่ โดยมิจฉาชีพกลุ่มนี้จะแฝงตัวทำทีเป็นพนักงานขายตั๋วโดยสาร คอยเดินสอบถามประชาชนที่เดินทางเข้ามาซื้อตั๋วโดยสาร ซึ่งจะแนบเนียนมาก เพราะบริเวณอาคารผู้โดยสารขาออกจะมีพนักงานขายตั๋วโดยสารของบริษัทรถทัวร์ต่างๆ คอยเดินเร่หาผู้โดยสารจนเป็นเรื่องปกติที่สถานีขนส่งหมอชิต ดังนั้นมิจฉาชีพกลุ่มนี้จึงกลมกลืนไปกับพนักงานขายตั๋วโดยสาร และมิจฉาชีพกลุ่มนี้จะเลือกผู้เสียหายที่กำลังจะเดินทางกลับภูมิลำเนาที่ต่างจังหวัด โดยจะแกล้งสอบถามว่ามีเงินหรือมีทรัพย์สินข้าวของกลับบ้านหรือเปล่า ถ้าลักษณะภายนอกของผู้เสียหายบ่งบอกว่าไม่มีทรัพย์สินเงินทอง มิจฉาชีพกลุ่มนี้จะเสนอว่ามีงานรายได้ดี ทำงานเพียง 1-2 เดือนก็อาจจะมีเงินกลับบ้านหลายหมื่นบาท หากลองไปทำงานเก็บเงินแล้วค่อยเดินทางกลับบ้านจะดีกว่า ซึ่งผู้เสียหายหลายรายหลงเชื่อ เนื่องจากมีค่านิยมว่าเวลามาทำงานที่กรุงเทพฯ ควรมีเงินมีทองกลับบ้าน ดังนั้นจึงตัดสินใจไปทำงานเก็บเงินก่อน


 


            ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าบริเวณดังกล่าวจะมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำการณ์ตลอดและมีกล้องวงจรปิดติดตั้งอยู่ก็ตาม แต่ขบวนการค้ามนุษย์กลุ่มนี้ ก็ยังคงแฝงตัวคอยหาเหยื่อได้


 


            บริเวณอาคารผู้โดยสารขาเข้า


            บริเวณอาคารผู้โดยสารขาเข้า เป็นจุดเสี่ยงสำคัญ เนื่องจากเป็นจุดที่ผู้โดยสารที่เดินทางเข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯ ต้องมาลงรถโดยสารที่บริเวณนี้ ขบวนการค้ามนุษย์จะแฝงตัวในรูปของกลุ่มแท็กซี่ป้ายดำ และยืนรอเหยื่ออยู่บริเวณชานชาลาขาเข้าตลอดทั้งวัน


 


            บริเวณดังกล่าวไม่ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำการณ์อยู่ มีเพียงพนักงานรักษาความปลอดภัยของบริษัทเอกชนที่รับสัมปทานดูแลการจัดการรถแท็กซี่ในอาคารผู้โดยสารขาเข้าเท่านั้น


            ทั้งนี้ ตัวอย่างในการรักษาความปลอดภัยที่ค่อนข้างเป็นระบบ คือ ระบบการรักษาความปลอดภัยของสถานีขนส่งสายใต้ใหม่ ซึ่งห้ามไม่ให้มีการเดินเร่ขายตั๋วโดยสาร จึงทำให้ขบวนการมิจฉาชีพไม่สามารถเดินปลอมปนหรือทำการล่อลวงได้ นอกจากนั้นภายในอาคารผู้โดยสารขาออก ยังควบคุมไม่ให้บุคคลภายนอกที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเดินทางเข้าไป โดยต้องแสดงตั๋วโดยสารก่อนเข้าอาคาร และถ้าเป็นคนมาส่งญาติจะต้องแลกบัตรก่อนเข้าอาคารโดยสาร


 


 


2.สนามหลวง


สนามหลวงเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่เป็นแหล่งรวมคนเป็นจำนวนมาก ทั้งใช้เป็นที่หลับนอนของผู้เดินทาง หรือผู้ที่ไม่มีที่พักอาศัย ตลอดจนเป็นศูนย์กลางในการต่อรถประจำทางหลายต่อหลายสาย โดยคนเดินทางส่วนใหญ่มักมีทัศนคติต่อสนามหลวงว่า ไม่รู้จะไปที่ไหนก็ไปตั้งหลักที่สนามหลวงก่อน ดังนั้น สนามหลวงจึงเต็มไปด้วยประชาชนจากหลากหลายที่มา และ มีคนพักอาศัยค้างคืนที่สนามหลวงเป็นจำนวนมาก


 


บริเวณสนามหลวงเต็มไปด้วยมิจฉาชีพในรูปแบบต่างๆ ซึ่งขบวนการค้ามนุษย์ในการล่อลวงแรงงานประมงก็แฝงตัวอยู่บริเวณรอบๆ สนามหลวงด้วยเช่นกัน โดยข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีรายงานว่า มีขบวนการค้ามนุษย์บริเวณสนามหลวงประมาณ 3 กลุ่ม


 


โดยรูปแบบการล่อลวงที่พบบริเวณสนามหลวง มีทุกรูปแบบ ทั้งการชักชวนแบบปกติ การใช้สารออกฤทธิ์ต่อประสาทผสมในอาหาร และการใช้กำลังประทุษร้าย


 


ทั้งนี้ บริเวณที่พบการก่อเหตุ ได้แก่บริเวณสวนหย่อมแม่พระธรณีบีบมวยผม บริเวณริมคลองหลอดและหลังศาลฎีกา และบริเวณโดยรอบสนามหลวง


 


            นอกจากนี้ เมื่อต้นปี 2551 ที่ผ่านมา ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา ได้ช่วยเหลือผู้เสียหายรายหนึ่ง ซึ่งถูกหลอกบริเวณสนามหลวง (ด้านมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) โดยผู้ที่เข้ามาล่อลวงแฝงตัวมาในคราบของคนขี่จักรยานยนต์รับจ้าง โดยพาผู้เสียหายไปส่งที่ชุมชนหลังวัดดงมูลเหล็ก และถูกนำไปขายให้กับเรือประมงที่จังหวัดสงขลา โดยขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินคดี โดยกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดต่อเด็ก เยาวชน และสตรี


 


 


3.สวนรมณีนาถ


               สวนรมณีนาถ หรือสวนพิพิธภัณฑ์เรือนจำ ตั้งอยู่ในบริเวณตรงข้ามกับศาลาว่าการกรุงเทพฯ ทั้งนี้ จากข้อมูลของผู้เสียหายที่ได้รับการช่วยเหลือจากสถานีตำรวจน้ำสงขลา พบว่า เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2551 มีชายอายุ 20-39 ปี จำนวน 3 ราย ถูกล่อลวงในบริเวณสวนสาธารณะแห่งนี้ โดยนายหน้าที่อ้างว่าจะหางานให้ทำ โดยชายทั้งสามคนโดนล่อลวงในเวลาที่ต่างกรรมต่างวาระกัน แต่เหตุเกิดในวันที่ 11 กรกฏาคม 2551 และผู้ที่ล่อลวงก็เป็นนายหน้าคนเดียวกัน


              


               ลักษณะของสวนสาธารณะดังกล่าวเป็นที่พักผ่อนของคนทั่วไป มีคนลักษณะเร่ร่อน ไร้บ้านอยู่นอนกระจายกันไปบางส่วน ในช่วงเวลากลางวันมีคนมาใช้บริการไม่มากนัก จึงทำให้ค่อนข้างเงียบสงบ ทั้งนี้ ประชาชนจากบริเวณสนามหลวงจะเคลื่อยย้ายมาพักผ่อนที่นี่ด้วยในเวลากลางวัน เนื่องจากมีร่มไม้และนอนพักผ่อนได้


              


               สวนรมณีนาถ ถือเป็นพื้นที่ใหม่ที่ได้รับแจ้งเรื่องการนายหน้าค้ามนุษย์แอบแฝงล่อลวงประชาชน และยังไม่ปรากฏในรายงานอาชญากรรมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ


 


 


 


         4.สถานีรถไฟหัวลำโพง


               บริเวณสถานีรถไฟหัวลำโพงเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่มีประชาชนสัญจรผ่านไปมาเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นศูนย์รวมของระบบคมนาคมที่มีราคาประหยัด ดังนั้นจึงเป็นที่นิยมของประชาชนที่เดินทางมาจากต่างจังหวัด ทั้งนี้ พื้นที่สถานีรถไฟหัวลำโพงมีข้อมูลปรากฏในรายงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่ามีขบวนการค้ามนุษย์แฝงตัวอยู่เพื่อล่อลวงแรงงานไปส่งต่อให้กับเรือประมง โดยมีขบวนการล่อลวงแรงงานขนาดใหญ่อยู่ 1 ขบวนการ


        


         จากการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลของศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา พบว่า จุดเสี่ยงสำคัญที่เกิดการล่อลวงแรงงาน จะอยู่โดยรอบนอกบริเวณอาคารห้องโถงซึ่งมีประชาชนจำนวนมากอาศัยพัก และหลับนอน ซึ่งไม่มีเจ้าหน้าที่คอยสอดส่องดูแล เนื่องจากเจ้าหน้าที่มักจะตรวจตราภายในอาคารห้องโถงผู้โดยสารเท่านั้น


 


          ประเด็นที่น่าสนใจอีกกรณีหนึ่ง คือ ในช่วงหลังเวลา 22.30 น. เป็นต้นไป จะมีการกันประชาชนให้ออกไปยังนอกห้องโถงอาคารผู้โดยสาร เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและความสะดวกในการทำความสะอาด ตรงจุดนี้เองเป็นผลให้ประชาชนต้องออกไปอยู่บริเวณรอบนอกอาคารในยามวิกาล โดยที่ไม่มีการสอดส่องดูแลจากเจ้าหน้าที่เท่าที่ควรนัก ซึ่งส่วนใหญ่คือผู้ที่รอการเดินทางในช่วงเช้ามืด หรือเป็นกลุ่มคนที่เข้ามาหางานทำ แต่ยังไม่มีงานรองรับ ด้วยเหตุนี้เองทำให้ขบวนการค้ามนุษย์อาศัยโอกาสนี้ เข้าไปชักชวนคนที่กำลังเตรียมเดินทาง หรือคนหางาน ไปลงเรือประมง


 


         กระนั้นก็ตามเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองบังคับการตำรวจรถไฟยืนยันว่า ขบวนการค้ามนุษย์ลักษณะดังกล่าวหมดไปจากหัวลำโพงนานแล้ว เนื่องจากมีการกวาดล้างครั้งใหญ่ แต่ทั้งนี้ ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา ได้ให้การช่วยเหลือเด็กชายอายุ 14 ปี ที่ถูกขบวนการค้ามนุษย์ล่อลวงจากหัวลำโพงเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2551 ที่ผ่านมา โดยนำไปขายให้กับเรือประมงที่จังหวัดสมุทรปราการ จึงอาจจะหักล้างข้อมูลดังกล่าวได้ว่า ปัจจุบันยังคงมีขบวนการค้ามนุษย์ที่ยังแอบแฝงเพื่อล่อลวงแรงงานประมงอยู่ในพื้นที่สถานีรถไฟหัวลำโพง


 


 


            5.วงเวียนใหญ่


            บริเวณวงเวียนใหญ่ถือเป็นอีกจุดหนึ่งที่ได้รับการแจ้งจากผู้เสียหายว่าถูกนายหน้าล่อลวงไปจากบริเวณดังกล่าว โดยนายหน้าในคราบของบริษัทจัดหางาน ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่สำรวจของเจ้าหน้าที่มูลนิธิกระจกเงา ปรากฏข้อเท็จจริงดังนี้


 


บริเวณวงเวียนใหญ่-สี่แยกบ้านแขก


บริเวณวงเวียนใหญ่ พบ บริษัทจัดหางาน 1 แห่ง และบริเวณสี่แยกบ้านแขก พบบริษัทจัดหางาน 4 แห่ง ซึ่งทุกสำนักงานจะบอกกล่าวในลักษณะเดียวกัน คือ ถ้าพร้อมให้เก็บเสื้อผ้าพร้อมเดินทางได้เลย โดยไม่มีการแจ้งลักษณะงาน หรือรายละเอียดเกี่ยวกับงาน ทั้งนี้ ภายในสำนักงานจัดหางานต่างๆ พบแรงงานที่คล้ายเดินทางเข้ามาหางานในกรุงเทพฯ จำนวนหนึ่งกำลังรอการเดินทางไปทำงาน นอกจากนี้ เมื่อสอบถามถึงประกาศรับสมัครงานที่ติดอยู่หน้าประตู กลับได้รับคำตอบว่างานดังกล่าวเต็มแล้ว แต่มีงานย่านมหาชัยที่เปิดรับอยู่


 


บริเวณสถานีรถไฟวงเวียนใหญ่


ในบริเวณสถานีรถไฟ แนวยาวจะมีของขายตลอดเส้น ทั้งฝั่งซ้าย และขวา ดูแออัด มีคนเดินเข้าออกตลอดเวลา ช่วงกลางคืน จะมีคนมานอนพักตรงบริเวณดังกล่าว ส่วนบริเวณด้านนอกจะมีรถยนต์สามล้อรับจ้าง และจักรยานยนต์รับจ้างจอดให้บริการอยู่ตลอด ในช่วงเวลากลางคืน จะมีคนเร่ร่อนเข้ามาพักอาศัยนอนอยู่บริเณชานชลา


 


ลักษณะของพื้นที่วงเวียนใหญ่จะคล้ายกับสนามหลวง ตรงที่เป็นจุดพักคนเดินทาง และมีขบวนการค้ามนุษย์แอบแฝงอยู่ แต่ยังไม่ปรากฏในรายงานของหน่วยงานรัฐฉบับใด


 


ทั้งหมดนี้เป็นพื้นที่เสี่ยงในการถูกล่อลวงจากนายหน้าค้ามนุษย์ที่แฝงตัวคอยหากินกับประชาชนผู้บริสุทธิ์ หวังว่าผู้ที่เกี่ยวข้องจะเข้าไปดำเนินการปัดกวาดบ้านของตัวเอง และดูแลความปลอดภัยในชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพ่อเมืองอีกสมัยของกรุงเทพมหานคร !!!


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net