Skip to main content
sharethis

คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็สนใจ อยากรู้แต่ไม่อยากถามไม่อยากพูดคุย เรื่องเพศจึงเป็นเรื่องที่ถูกปกปิด แต่ก็มักจะถูกแง้มดูอยู่เสมอ และเมื่อเราต่างก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องเกี่ยวพันกับเรื่องเพศอยู่ตลอดเวลาในชีวิตประจำวัน การพูดคุยเรื่องเพศจึงเป็นสิ่งที่เราจะมามัวแต่เขินอาย อ้ำๆ อึ้งๆ อยู่ไม่ได้ ในโอกาสนี้ "ประชาไท" จึงขอเสนอให้ใครก็ตามมาคุยเรื่องเพศกัน แต่จะคุยอย่างไรแบบไหนนั้น ตุล ไวฑูรเกียรติ, พนิดา เอี่ยมศิรินพกุล, เมษ จารุอมรจิต และ ณิชา หลีหเจริญกุล มีข้อเสนอดีๆ สนุกๆ มาฝาก


 


00000


 


เก็บความจาก วงเสวนา "คุยเรื่องเพศยังไง ให้ได้ใจวัยรุ่น" ในการประชุมวิชาการ "เพศศึกษาเพื่อเยาวชน" ครั้งที่ 4 ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ กรุงเทพฯ เมื่อวันพุธที่ 15 ตุลาคม 2551


 


ผู้ร่วมเสวนาประกอบไปด้วย พนิดา เอี่ยมศิรินพกุล บรรณาธิการนิตยสาร Knock Knock, ตุล ไวฑูรเกียรติ นักเขียนและนักร้องนำวงอพาร์ตเม้นท์คุณป้า, เมษ จารุอมรจิต "ชายพเนจร" เจ้าของคอลัมน์ห้องลูกที่ปรึกษา SexChange, และดำเนินการเสวนาโดย ณิชา หลีหเจริญกุล


 


 


 


"เพศศึกษา" ก็เหมือนโปรแกรม Anti-Virus ไม่ใช่ชี้โพรงให้กระรอก


ตุล ไวฑูรเกียรติ กล่าวว่า การที่ผู้ใหญ่ต้องพูดคุยสื่อสารกับวัยรุ่นในเรื่องเพศนั้นเป็นความจำเป็นในแง่ของความปลอดภัย การป้องกันตนเอง ต่อทั้งโรคติดต่อ หรือการตั้งครรภ์อย่างไม่ได้ตั้งใจ และยังรวมไปถึงอาจนำไปสู่ปัญหาสังคมอีกมากที่จะตามมา การให้เด็กรับรู้เรื่องเพศตั้งแต่เนิ่นๆ ก็เหมือนเป็นเกราะป้องกันที่ดี


 


พนิดา เอี่ยมศิรินพกุล กล่าวว่า เรื่องเพศเป็นเรื่องที่วัยรุ่นอยากรู้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะจากสิ่งที่พบเห็นจากสื่อหรือจากสัญชาตญาณก็ตาม และเมื่ออยากรู้แต่ไม่ได้รู้ ถูกห้าม ถูกปกปิด ก็ยิ่งดื้อ ยิ่งต่อต้าน ซึ่งก็ไม่ใช่เฉพาะเรื่องเพศเท่านั้นแต่รวมถึงเรื่องอื่นด้วย ในแง่นี้แล้ว การสั่งจึงเป็นอะไรที่ลำบาก เพราะวัยรุ่นจะไม่ฟัง แต่วัยรุ่นก็จะคุยกันเอง คุยกับเพื่อน กับพี่ กับน้อง จึงควรพูดให้เหมือนเป็นเรื่องปกติที่สามารถพูดกันได้


 


เมษ จารุอมรจิต เสนอว่า การพูดเรื่องเพศกันอย่างเปิดเผยก็เหมือนการจะพูดเรื่องอื่นๆ อย่างเปิดเผย เพศศึกษาก็เหมือนวิชาอื่นๆ ที่ไม่เห็นจะต้องบิด ต้องเลื้อย พูดอ้อมๆ หรือปกปิด เรื่องเพศก็ควรจะเป็นเรื่องธรรมดาๆ เรื่องหนึ่ง แต่เราทำให้มันเป็นเรื่องที่ไม่น่าพูดไปเอง ยิ่งไปกว่านั้น เรื่องเพศเป็นเรื่องสำคัญเสียด้วยซ้ำ เพราะถ้าหากไม่มีความรู้มากพอ อาจนำไปสู่ปัญหาสังคมได้


 


 


พูดกันมากขึ้น ใกล้กันมากขึ้น เข้าใจกันและกันมากขึ้น


เมษ กล่าวถึงการพูดคุยกับผู้ใหญ่ว่ามักจะพูดกับคนที่ไม่ได้บอกหรือสั่ง แต่เป็นลักษณะของการพูดคุยกัน แลกเปลี่ยนกัน ขณะที่จะมีผู้ใหญ่บางประเภท ที่เวลาคุยกันก็จะพูดอย่างเดียว แล้วเวลาพูดด้วย เขาก็ไม่ได้คิด ไม่ได้ฟัง แบบนี้มันเหมือนเป็นการสั่งมากกว่า แต่การพูดคุยมันคือการแลกเปลี่ยนกัน การพูดกับวัยรุ่นมันจึงไม่ต่างกับการพูดคุยกับคนอื่นๆ วัยอื่นๆ


 


ต่อประเด็นนี้ ณิชา หลีหเจริญกุล กล่าวเสริมว่าเป็นการพูดคุยกันแบบที่เป็นมนุษย์เท่าๆ กันนั่นเอง ส่วน พนิดา ได้กล่าวเสริมอีกว่า "การที่เราจะลดกำแพง ไม่ใช่ว่าผู้ใหญ่เป็นคนสอน แต่วิธีการเข้าใกล้วัยรุ่นมากสุดคือผู้ใหญ่ต้องเป็นคนฟัง วัยรุ่นหรือทุกวัย ถ้าเวลาพูด ไม่ว่าไร้สาระหรือไม่ แต่มันก็มีพื้นที่ รู้สึกว่ามีคนสนใจ แค่ถามเขาไป แล้วฟังเขาพูดกลับมาน่าจะเป็นวิธีการที่ช่วยได้"


 


ตุล กล่าวเพิ่มเติมว่า ต้องสามารถคุยกันเรื่องอื่นได้ด้วย หรือหากผู้ใหญ่อยากจะพูดคุยกับวัยรุ่นอาจเริ่มคุยจากเรื่องอื่นก่อน และดังนั้นการทำตัวเป็นเด็กมันจึงสำคัญ ทำอะไรอย่างที่เด็กทำ เชียร์ฟุตบอลทีมเดียวๆกัน ครูก็จะใกล้ชิดกับเด็กมากขึ้น ไอ้เรื่องเล็กๆ น้อยๆ เนี่ย มันสำคัญ ให้เด็กรู้สึกว่าเราไม่ต่างกัน ให้คุยกันได้ทุกเรื่อง


 


"อย่างตอนเด็กๆ ผมมีครูคนหนึ่งที่เขาไม่ปิดบังว่าเป็นเกย์ เขาก็บอกว่าชอบหลิวเต๋อหัว แล้วเวลาเราเอาโปสเตอร์พี่หลิวมาเขาก็จะดีใจ แล้วก็จะคุยกันเรื่องผู้หญิงข้าใครอย่าแตะ แล้วเขาก็จะทำให้เรารู้สึกว่าจริงๆ แล้วเราไม่ต่างกัน เรามาคุยกันได้ เรามีครูเป็นเกย์แล้วครูก็เท่ดี แล้วเราก็สนิทกันด้วย... ผมว่าทำอะไรก็ได้… เมื่อเด็กเห็นครูเป็นฮีโร่ เด็กจะกล้าพูดเอง" ตุล กล่าว


 


 


อินเทอร์เน็ต กับ "คนสมัยนี้"


ตุล กล่าวว่า "ผมได้ยินบ่อยๆว่า "เด็กสมัยนี้" อย่างนั้นอย่างนี้ ผมว่ามันต้องเป็นอย่างนี้อยู่แล้ว เพราะโลกมันเปลี่ยนตลอด การเปลี่ยนแปลงอยู่คู่กับมนุษยชาติมาตลอด พฤติกรรมที่เราเป็นทุกวันนี้มันก็ไม่เหมือนเดิม การที่คุณพูดว่า "เด็กสมัยนี้" นั้นแปลว่าคุณเป็น "ผู้ใหญ่สมัยโบราณ" ไปแล้ว"


 


ตุล กล่าวต่อมาว่า โลกมันเปลี่ยนไปแต่อย่าไปมองว่าเป็นสิ่งเลวร้าย อย่างเช่นอินเทอร์เน็ต ซึ่งสามารถใช้สร้างสายใยครอบครัวได้ ทำให้คนได้ใกล้ชิดกันได้ อย่างเช่น Hi5 หรือ MSN มันก็ทำให้ตัวเขากับหลานที่อยู่ต่างจังหวัดได้คุยกัน สนิทกันมากขึ้น


 


เมษ กล่าวว่า สำหรับเรื่องเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ขึ้นอยู่กับว่าจะใช้มันให้ก่อเกิดประโยชน์ในแง่ไหน มองได้ว่ามันเหมือนกับมีด ที่อาจเอาไปทำกับข้าวก็ได้ หรืออาจเอาไปแทงคนอื่นก็ได้ ในแง่นี้แล้ว สื่อแบบนี้ก็เหมือนเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง เป็นอีกวิธีการหนึ่ง การมีเทคโนโลยีมันอาจช่วยอะไรได้มากกว่า


 


พนิดา กล่าวว่า นึกถึงเรื่องของตัวเธอเองและคุณแม่ของเธอ ช่วงแรกเธอก็ยังใช้คอมพิวเตอร์ไม่เป็น ใช้อินเทอร์เน็ตไม่ค่อยเป็น แล้วก็ค่อยๆ เริ่ม ค่อยๆ พัฒนาขึ้น มาเล่น MSN มี Hi5 เขียนโฮมเพจ เขียนไดอารี่ได้ คุณแม่ของเธอก็อยากรู้อยากเข้าไปอ่าน คุณแม่ของเธอก็เริ่มที่จะใช้คอมพิวเตอร์ ตอนนี้ก็ chat เป็นแล้ว ใช้ MSN เข้าไปอ่านไปคอมเม้นท์ไดอารี่ของเธอในอินเทอร์เน็ต ไปอ่านไปตอบกระทู้ในพันทิป


 


"มันเหมือนเป็นโลกอีกใบหนึ่ง มันเป็นอีกอันที่รู้สึกว่าสนุกนะ ทำให้โลกของเรา กับโลกของแม่ มันมีอีกใบที่เพิ่มขึ้น" พนิดา กล่าว


 


 


"สื่อลามก" : สิ่งทดแทนการมีเพศสัมพันธ์?


ตุล กล่าวถึงงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่บอกว่า "สื่อลามก" ลดอัตราการมีเพศสัมพันธ์ ตัวอย่างคือประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีสื่อลามกเยอะแยะมากมาย มีเซ็กส์ช็อป มีร้านวีดีโอ มีดารา AV (adult video) ที่ได้รับการเชิดชูเหมือนนักร้อง ฯลฯ แต่อัตราการข่มขืนของญี่ปุ่นต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ขณะที่ในสังคมไทยนั้นขาดเรื่องสิ่งทดแทนการมีเพศสัมพันธ์ อาจกล่าวได้ว่าทำให้ อัตราการข่มขืน อัตราการมีเพศสัมพันธ์ หรืออัตราการล่วงละเมิดทางเพศของไทยก็เลยสูง


 


"บางทีสื่อลามก อาจช่วยลดการมีเพศสัมพันธ์ เช่น เมื่อคนดูสื่อลามกแล้วช่วยตัวเอง อาจลดความต้องการในการมีเพศสัมพันธ์ได้" ตุล กล่าว


 


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net