Skip to main content
sharethis

 




นักกิจกรรมชาวเกาหลีเหนือโชว์ธนบัตร 1 ดอลลาร์ และธนบัตร 10 หยวน และใบปลิว ก่อนที่จะปล่อยบอลลูนเข้าไปในเกาหลีเหนือ บริเวณเกาะยอนจอง (Yeongjong Island) ใกล้กับเมืองอินชอน (Incheon) ทางตะวันตกของเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 10 ต.ค. ที่ผ่านมา (REUTERS/Im Young-ju/Newsis, SOUTH KOREA)


 



ชาวเกาหลีเหนือแปรพักตร์ปาร์ค ซัง ฮัค (บนสุด) ซูซาน โชลท์ (คนกลาง) ประธานคณะประสานงานด้านเสรีภาพเกาหลีเหนือในสหรัฐฯ และสมาชิกกลุ่ม "นักสู้เพื่อเกาหลีเหนือเสรี" (the Fighters for Free North Korea) ตะโกนคำขวัญก่อนร่วมกันปล่อยบอลลูน (ที่มา: AP Photo/Ahn Young-joon)


 



ช่วยกันปล่อยบอลลูน (AP Photo/Ahn Young-joon)


 


  


ชายชาวเกาหลีเหนือผู้นั้นตัวสั่นเทาเมื่อเขาพบใบปลิวร่อนลงมาจากบอลลูนที่บินมาจากฝั่งเกาหลีใต้ เขาคว้ามันไว้ ยัดมันลงในกระเป๋าแล้วจึงวิ่งไปอ่านข้อความนั้นในห้องน้ำ


 


ปาร์ค ซังฮัค (Park Sang-hak) บอกว่าเขาอ่านแผ่นไวนิลนี้ด้วยความไม่น่าเชื่อถึง 15 ครั้งแล้ว มันเป็นใบปลิวที่บอกเล่าเกี่ยวกับผู้ที่หลบหนีออกไปจากเกาหลีเหนือและกำลังใช้ชีวิตอยู่ในเกาหลีใต้ด้วยสภาพความเป็นอยู่ที่ดี


 


15 ปีต่อมา ปาร์คได้ไปอยู่อีกฝั่งของพรมแดน เขาหนีไปยังเกาหลีใต้ในปี 2542 และขณะนี้เขาหันมาช่วยลอยบอลลูนโฆษณาชวนเชื่อที่ภายในบรรจุใบปลิวต่อต้านการปกครองด้วยระบอบสตาลินในเกาหลีเหนือ


 


บอลลูนขนาด 40 ฟุต ใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงมีรูปร่างเหมือนจรวดมิสไซล์ เป็นหนทางที่ดีที่สุดสำหรับการเข้าถึงประชาชนที่อยู่ในประเทศที่ปลีกตัวออกจากโลกมากที่สุด มีชาวเกาหลีเหนือเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่สามารถใช้โทรศัพท์มือถือหรืออินเทอร์เน็ตได้ ขณะที่อีกหลายล้านคนไม่มีหนทางติดต่อสื่อสารกับญาติที่อยู่ในเกาหลีใต้ได้เลย


 


กว่าทศวรรษมาแล้วที่เกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ซึ่งเป็นปรปักษ์กันได้ต่อสู้ทางความคิดอุดมการณ์โดยใช้ใบปลิว เครื่องขยายเสียง และ วิทยุกระจายเสียงผ่านพรมแดนที่ตรึงกำลังอย่างแน่นหนา ท่ามกลางสงครามโฆษณาชวนเชื่อนี้ จากการให้ข้อมูลของเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการทางจิตวิทยาของกองทัพเกาหลีใต้ ทำให้ทราบว่า เกาหลีใต้ได้ใช้เครื่องขยายเสียงของกองทัพโหมประโคมโฆษณาชวนเชื่อ 20 ชั่วโมงต่อวัน


 


แต่ในปี 2543 ผู้นำของทั้งสองประเทศได้ริเริ่มไกล่เกลี่ยฟื้นคืนความสัมพันธ์กัน และในปี 2547 พวกเขาก็ยกเลิกโฆษณาชวนเชื่อนี้ไป


 


กระนั้นก็ตาม นักกิจกรรมและผู้แปรพักตร์จากเกาหลีเหนือ ยังไม่หยุดส่งบอลลูนที่มีใบปลิวข้ามผ่านพรมแดน แม้ว่าทางรัฐบาลกรุงโซลจะขอร้องให้หยุดการกระทำดังกล่าวในช่วงที่ความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้ กำลังถึงจุดต่ำสุดในรอบปีที่ผ่านมา ส่วนฝ่ายนักกิจกรรมตั้งความหวังว่ามันจะเป็นการจุดชนวนการกบฏเพื่อล้มล้างคิมจองอิลได้


 


ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เกาหลีเหนือขู่จะเนรเทศชาวเกาหลีใต้ที่ทำงานในโครงการร่วมระหว่างสองประเทศออกไป และเตือนด้วยว่าจะมี "การโจมตีทางทหารครั้งใหม่" หากพบใบปลิววิพากษ์วิจารณ์คิมจองอิล ซึ่งถือเป็นการละเมิดกฎหมายในเกาหลีเหนือ


 


คิม โฮ เนียน (Kim Ho-nyeon) โฆษกของกระทรวงรวมชาติของเกาหลีใต้ กล่าวว่ามันไม่มีพื้นที่ทางกฎหมายใดๆ สามารถฟ้องดำเนินคดีกับผู้ที่ส่งใบปลิวได้ ทั้งนี้ยังได้อ้างถึงอิสรภาพในการแสดงความเห็นด้วย ทางด้านปาร์คบอกว่าเขามีความกระตือรือร้นที่จะสนับสนุนโครงการโฆษณาชวนเชื่อนี้


 


ปาร์ค ซึ่งขณะนี้อายุ 40 ปี กล่าวว่าเขามีความกระตือรือร้นในการทำกิจกรรมรณรงค์เพื่อโฆษณาข่าวสารให้กับชาวเกาหลีเหนือ


 


"ผมพยายามจะบอกความจริงให้กับชาวเกาหลีเหนือ ผู้ที่ไม่แม้แต่จะรู้ตัวเลยว่าพวกเขากำลังใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการ" ปาร์คบอกหลังจากที่เขาปล่อยบอลลูนออกจากเรือหาปลาลำเล็กในคาบสมุทรฝั่งตะวันตกของเกาหลีซึ่งเป็นวันครบรอบการปกครองปีที่ 63 ของพรรคแรงงาน ซึ่งเป็นพรรคการเมืองเดียวในเกาหลีเหนือ


 


เนื้อหาในใบปลิวซึ่งพิมพ์ขาวดำเรียกร้องให้ชาวเกาหลีเหนือลุกขึ้นมาต่อต้าน คิมจองอิล


 


"คิมจองอิล เป็นเผด็จการที่ชั่วร้ายที่สุด และเป็นฆาตกรแห่งศตวรรษที่ 21 ไม่ใช่ดวงอาทิตย์แห่งศตวรรษที่ 21" คือคำที่ระบุในใบปลิว "ขอให้พวกเราร่วมกันทำให้การปกครองแบบเผด็จการทหารแบบสืบทอดเชื้อสายของคิมจองอิลจบสิ้นลง และปลดปล่อยชาวเกาหลีเหนือ"


 


นอกจากนี้ บนใบปลิวยังมีแผนผังแสดงความสัมพันธ์เชิงชู้สาวของคิมและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมถึงภรรยาของเขา ผู้หญิงอีกแปดคนและลูกๆ ของพวกเขา เป็นยุทธวิธีหนึ่งที่จะทำให้ชาวเกาหลีเหนือที่ยึดมั่นในประเพณีตั้งคำถามกับศีลธรรมของผู้นำประเทศ แต่ทางผู้จัดทำใบปลิวไม่ได้เปิดเผยว่าได้ข้อมูลมาจากไหน


 


ใบปลิวบางแผ่นมีธนบัตร 1 ดอลลาร์ บางแผ่นมีธนบัตร 10 หยวน (1.50 ดอลลาร์) ซึ่งเป็นเงินจำนวนที่เชื่อกันว่ามากกว่าเงินเดือนโดยเฉลี่ยในเกาหลีเหนือเสียอีก


 


ขณะเดียวกันทางเกาหลีเหนือก็มีการป้องกันไม่ให้คนอ่านใบปลิว ซูซาน โชลท์ (Suzanne Scholte) ประธานคณะประสานงานด้านเสรีภาพเกาหลีเหนือในสหรัฐฯ ให้ข้อมูลโดยอ้างจากชาวเกาหลีเหนือที่อพยพไปเกาหลีใต้เมื่อเดือนที่แล้วว่า รัฐบาลเปียงยางได้เตือนประชาชนว่า "ถ้าคุณเก็บแผ่นพับนี้ล่ะก็ มันจะเผามือคุณ" ทางกลุ่มของซูซานเองก็ให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินในการดำเนินโครงการปล่อยบอลลูน 10 ลูกเมื่อวันที่ 10 ต.ค. ที่ผ่านมา


 


"ไม่มีสิ่งใดที่จะมีพลังมากไปกว่าการที่ชาวเกาหลีเหนือที่มีชีวิตอยู่อย่างเสรีพยายามยื่นมือช่วยเหลือชาวเกาหลีเหนือที่ยังคงมีชีวิตอยู่เยี่ยงทาส" ซูซาน กล่าวระหว่างการรับรางวัลสันติภาพโซล เมื่ออาทิตย์นี้


 


มีแปรพักตร์จากเกาหลีเหนืออีกคนหนึ่งที่ชื่อ คัง โชล ฮวาน (Kang Chol-hwan) บอกว่าใบปลิวนี้เป็นเหมือนการปลุกให้ชาวเกาหลีเหนือที่ถูกล้างสมองให้เชื่อว่าตนอยู่ในสวรรค์ตื่นขึ้นมา


 


"ใบปลิวของเกาหลีใต้แสดงให้ชาวเกาหลีเหนือเห็นว่าพวกเขามีชีวิตที่ดีได้ในเกาหลีใต้" คัง กล่าว "สิ่งที่กระตุ้นให้ผมหนีมาที่เกาหลีใต้ในปี 2535 คือใบปลิวและรายการวิทยุจากนอกประเทศ"


 


จุดผกผันที่น่าสนใจคือ มีรูปของคังในใบปลิวชุดแรกๆ ที่ ปาร์ค ซังฮัค พบและอ่านมันอย่างลับๆ ในปี 2536


 


ปาร์คบอกว่า เขาถูกสอนในโรงเรียนว่า คังและอีกคนอื่นๆ ที่มีรูปอยู่บนใบปลิวถูกประหารชีวิตหลังจากที่ถูกจับได้ว่าพยายามหลบหนีจากเกาหลีเหนือ แต่รูปในใบปลิวแสดงให้เห็น คัง ซึ่งยังคงมีชีวิตอยู่ดีในเกาหลีใต้ โดยหลังจากนั้นเขาได้เขียนบันทึกความทรงจำที่มีชื่อว่า "อควอเรี่ยมแห่งเปียงยาง" (The Aquariums of Pyongyang) มีเนื้อหาเกี่ยวกับวัยเด็กของเขาในค่ายกักกันของเกาหลีเหนือ


 


"ผมช็อคมาก" ปาร์คกล่าว "ผมรู้ว่ารัฐบาลโกหก แต่ไม่คิดว่าว่าจะโกหกได้ขนาดนี้"


 


ปัจจุบัน ปาร์คบอกว่าเขาและผู้แปรพักตร์อีกสองคนที่มีรูปอยู่บนใบปลิวกลายเป็นชาวเกาหลีใต้แล้ว และพวกเขาก็เป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน


 


 


................................................


แปลและเรียบเรียงจาก


NKorea defectors drop leaflets condemning leader, Kwang-Tae Kim, AP, 14/10/2551


ข้อมูลเพิ่มเติม http://www.defenseforum.org/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net