รายงาน : ปัญหา-สิทธิ-ทางออก ประมงพื้นบ้าน

โดย บุญรัตน์ อภิวันทนากร  

 

 

 

สืบเนื่องจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ร่วมกับกรมประมง จัดงาน "ประชุมระดับโลกของชาวประมงขนาดเล็ก" (Global Conference on Small-Scale Fisheries) เพื่อความยั่งยืนมั่นคงทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมของประมงขนาดเล็ก ด้วยความร่วมมือและมีความรับผิดชอบร่วมกัน

โดยระบุว่า เชิญชวนผู้เข้าร่วมออกไปอย่างกว้างขวางทั้งจากในและต่างประเทศ จากกลุ่มคนทำงานในกิจการประมง แรงงานรับจ้าง ผู้จัดการ นักวิทยาศาสตร์ทางสังคม เจ้าหน้าที่รัฐบาล ตัวแทนจากองค์กรวิชาชีพต่างๆ องค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรทางสังคมต่างๆ นักธุรกิจ

แต่องค์กรชาวประมงพื้นบ้าน ที่กระจายตัวอยู่ตามแนวชายฝั่งของประเทศไทย กลับไม่ได้รับรู้กับการจัดงานนี้ด้วย ทั้งที่เป็นผู้ที่มีทักษะในการทำประมงแบบอนุรักษ์ที่สืบทอดกันมายาวนาน

นายวิโชคศักย์ รณรงค์ไพรี ผู้ประสานงานสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านภาคใต้ ตั้งข้อสังเกตว่า แม้เอฟเอโอจะบอกว่าเป็นครั้งแรกในการจัดประชุมว่าด้วยประมงขนาดเล็ก แต่กลับไม่ให้ความสำคัญกับกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านที่อาศัยทำมาหากินอยู่ในประเทศไทย เท่ากับผู้จัดงานขาดความจริงใจ ที่จะแก้ปัญหาความยากจนให้กับชาวประมงพื้นบ้านอย่างแท้จริง

จากข้อสังเกตดังกล่าว จึงเป็นที่มาของการจัดงาน "สมัชชาชาวประมงพื้นบ้าน สิทธิ ปัญหา และทางออก" ที่บ้านป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 8-10 ต.ค.ที่ผ่านมา เป็นการรวมตัวกันของชาวประมงพื้นบ้านทั่วประเทศ และประสานความร่วมมือกับเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านโลก หรือ WFFP (World Forum of Fisher Peoples) กว่า 20 ประเทศ ร่วมแลกเปลี่ยนประเด็นปัญหาและสถานการณ์ร่วมกัน และจัดเวทีร่วมระหว่างชาวประมงพื้นบ้านของประเทศไทยกับชาวประมงนานาชาติ ในวันที่ 11-13 ต.ค. ที่โรงแรมเดอะแกรนด์ อยุธยา กรุงเทพฯ


หลังจากนั้นจะนำข้อเสนอที่ได้จากเวทีสมัชชาชาวประมงพื้นบ้านที่ประมวลขึ้นมา ไปเสนอต่อเวทีประชุมของเอฟเอโอที่กรุงเทพฯ

น.ส.สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ประธานคณะอนุกรรมการวิสามัญศึกษาและติดตามปัญหาประมงชายฝั่ง ในคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการประมงในประเทศไทย วุฒิสภา กล่าวว่า การสัมมนาครั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้ชาวชุมชนประมงพื้นบ้านชายฝั่ง แสดงสิทธิในฐานะชาวประมงให้สังคมรับรู้ รวมทั้งประกาศจุดยืนในฐานะชาวประมงพื้นบ้าน ที่ใช้ชีวิตพึ่งพาทรัพยากร ธรรมชาติ เป็นแหล่งอาหารเลี้ยงชีพ และเป็นนักอนุรักษ์ไปพร้อมกัน รวมทั้งยังเป็นเวทีรวบรวมข้อเสนอจากชาวประมงพื้นบ้านจากที่ต่างๆ เพื่อใช้ในการนำเสนอต่อเวทีประชุมนานาชาติ เสนอต่อวุฒิสภาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

"ทะเล ชายฝั่ง รวมทั้งเกาะแก่งต่างๆ ของประเทศไทยเป็นแหล่งที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ เป็นทั้งแหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งอาหาร แหล่งทำมาหากินของประมงพื้นบ้านนับแสนคน และประมงพื้นบ้านนับเป็นอาชีพที่สืบทอดมาตั้งแต่ครั้งอดีต โดยบรรพบุรุษซึ่งใช้ทักษะความสามารถเฉพาะตัว เริ่มตั้งแต่การเรียนรู้จากสภาพแวดล้อม ระบบนิเวศ ลมฟ้าอากาศ ตลอดจนกระ แสลม กระแสน้ำที่เปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล กระทั่งมีการคิดค้นพัฒนาเครื่องไม้เครื่องมือ เทคนิคที่ชาญฉลาดเพื่อช่วยผ่อนแรงได้ดีขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถกล่าวได้ว่า ชาวประมงพื้นบ้านได้ชื่อว่าเป็นนักล่าแห่งท้องทะเลและเป็นนักอนุรักษ์ไปพร้อมๆ กัน"



"แต่ชาวประมงรายย่อยหรือที่เรานิยมใช้คำว่า ประมงพื้นบ้าน ยังต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมาย ทั้งเรื่องภาวะความยากจน ความไม่มั่นคงในชีวิตและการทำงาน ไม่มีสิทธิในที่อยู่อาศัย และสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งยังเข้าไม่ถึงบริการทางด้านสุขภาพและการศึกษายังไม่เพียงพอ ขาดสวัสดิการทางสังคม ขาดการมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาของประเทศ ตลอดจนการตัดสินใจในโครงการต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อตนเองและครอบครัว เนื่องจากปัญหาทางด้านโครงสร้างสังคมที่อ่อนแอ"

ด้านนายสะมะแอ เจ๊ะมูดอ เลขาธิการสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้ กล่าวว่า ชาวประมงพื้นบ้านมีสิทธิเท่าเทียมกับทุกคนในสังคม มีสิทธิที่จะใช้ทรัพยากรธรรมชาติในการประกอบอาชีพของตน แม้รัฐจะคุ้มครองทั้งสิทธิของชาวประมงพื้นบ้าน และทรัพยากรธรรมชาติ แต่กฎหมายนโยบายเหล่านั้น มักจะถูกละเลยปล่อยให้กลุ่มทุนละเมิด และกอบโกยผลประโยชน์ ชาวประมงพื้นบ้านมีความหวงแหนในทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง รวมทั้งหวงแหนสิทธิของตน ชุมชน จึงรวมตัวกันเพื่อตรวจสอบการทำงานของรัฐ และผลักดันแก้ไขนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนประมงพื้นบ้าน

นายสนิท มาสเสมอ อายุ 66 ปี ประธานกลุ่มอนุรักษ์บ้านป่าคลอก กล่าวถึงปัญหาและความคาดหวังในการจัดการสัมมนา ว่า ปัญหาใหญ่ของชาวประมงพื้นบ้านในขณะนี้ คือ ปัญหาการทำลายล้างทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม โดยมีระบบทุนเข้ามาครอบงำ จนมีผลต่อการจำกัดสิทธิทำกินของชาวบ้าน ที่เห็นชัดเจนคือการรุกเข้ามาของธุรกิจการท่องเที่ยว การก่อสร้างท่าเรือ กระทบกับวิถีชีวิตการทำมาหากินของชาวประมงพื้นบ้าน ที่หากินกันมานับร้อยปีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำลายระบบนิเวศ โดยเฉพาะปะการังพังเสียหายยับเยิน โดยที่ระบบทุนได้ประโยชน์แต่ฝ่ายเดียวจากธุรกิจการท่องเที่ยวที่ขยายตัวไปทั่วเกาะภูเก็ต

"การอ้างว่าแม้ทรัพยากร ธรรมชาติจะเสียหายบ้าง แต่คุ้มกับเม็ดเงินพันล้านหมื่นล้านของอุตสาห กรรมการท่องเที่ยวที่เข้ามานั้น เมื่อลองมองย้อนไปถึงผลกระทบที่เกิดกับวิถีชีวิต และคุณค่าของความเป็นคนของชาวบ้าน 100-1,000 ครัวเรือน เพราะเมื่อศักยภาพของคนท้องถิ่นที่เข้าสู่ธุรกิจการท่องเที่ยวไม่เป็นที่ยอมรับต้องถอยออกมา แต่ไม่สามารถกลับมาทำประมงพื้นบ้านได้อีก เพราะทรัพยากรถูกทำลายสิ้น จนบางคนต้องไปเป็นโจรลักขโมย ติดยาเสพติด สร้างภาระต่อสังคมด้วยซ้ำ จึงอยากเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐสนใจการทำมาหากินของรากหญ้า รักษาวิถีการดำรงชีวิตของชาวบ้านอย่างจริงจังโดยเร็ว"

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสดรายวันฉบับวันที่ 19 ตุลาคม 2551



 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท