Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

bow_der_kleine


http://www.biolawcom.de/blog/852/Bundeswehr-and-Demonstration.html


 


 


หลังจากที่คุณเชฯ เขียนเรื่อง สลายม็อบ ผมก็คุยกับคุณเช ฯ ในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้กันต่อ คุยไปคุยมาเลยนึกขึ้นได้ว่า ตอนฝึกทหารที่เยอรมัน วิชาบังคับที่ต้องเรียนวิชาหนึ่ง คือ "กฏหมายทหาร" ซึ่งเป็นวิชาที่ทหารเยอรมันทุกคนต้องเรียน ในตัวเนื้อหาหลักที่ต้องเรียน ก็คือ "ภารกิจของกองทัพเยอรมัน" มีอะไรบ้าง "สิทธิและหน้าที่ของทหาร" มีอะไรบ้าง ดูแล้วไม่น่าจะเกี่ยวกับการ "สลายม็อบ" ได้ แต่จริง ๆ แล้วกองทัพเยอรมันก็มีภารกิจ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวโดยตรง

ก่อนที่จะเขียนเรื่องภารกิจของกองทัพที่นี่ คงต้องท้าวความถึงภูมิหลังของกฎหมายดังกล่าวก่อน ว่าเยอรมันมีบาดแผลจากสงครามโลกครั้งที่สองที่ลึกจนไม่อาจลืมเลือนอยู่ ซึ่งแน่นอนเกี่ยวพันโดยตรงกับทหารเยอรมัน ชาวเยอรมันสัญญากับตัวเองว่า เหตุการณ์อย่างนี้ จะไม่มีทางเกิดขึ้นซ้ำเป็นรอบที่สอง (Never Again) การออกกฎหมายต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทหาร ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง หรือช่วงก่อร่างสร้างตัว จึงคำนึงถึงเรื่องนี้ค่อนข้างมาก

ในกฏหมายรัฐธรรมนูญเยอรมันกำหนดบทบาทและหน้าที่ของกองทัพเยอรมันไว้ค่อนข้างชัดเจน โดยหลัก ๆ แล้ว หน้าที่ของกองทัพเยอรมัน ตาม Art. 87a รัฐธรรมนูญเยอรมัน มีดังนี้...


 






 


(1) Der Bund stellt Streitkräfte zur Verteidigung auf. Ihre zahlenmäßige Stärke und die Grundzüge ihrer Organisation müssen sich aus dem Haushaltsplan ergeben.

การจัดตั้งกองกำลังเพื่อป้องกันอธิปไตยเป็นหน้าที่ของสหพันธรัฐ. ขนาดกองกำลังและนโยบายพื้นฐานของกองทัพ ได้รับการกำหนดโดยงบประมาณแผ่นดิน.

(2) Außer zur Verteidigung dürfen die Streitkräfte nur eingesetzt werden, soweit dieses Grundgesetz es ausdrücklich zuläßt.

กองทัพจะสามารถปฏิบัติการใด ๆ ที่นอกเหนือจากการป้องกันอธิปไตยได้ก็ต่อเมื่อ กฏหมายรัฐธรรมนูญอนุญาตไว้อย่างชัดเจน

(3) Die Streitkräfte haben im Verteidigungsfalle und im Spannungsfalle die Befugnis, zivile Objekte zu schützen und Aufgaben der Verkehrsregelung wahrzunehmen, soweit dies zur Erfüllung ihres Verteidigungsauftrages erforderlich ist. Außerdem kann den Streitkräften im Verteidigungsfalle und im Spannungsfalle der Schutz ziviler Objekte auch zur Unterstützung polizeilicher Maßnahmen übertragen werden; die Streitkräfte wirken dabei mit den zuständigen Behörden zusammen.

ในภารกิจป้องกันอธิปไตย และกรณีเกิดภาวะฉุกเฉิน กองทัพมีอำนาจในอันที่ดำเนินการป้องกันทรัพย์สินพลเรือน หรือกำหนดเส้นทางคมนาคม ได้เพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อการบรรลุภารกิจนั้น นอกจากนี้ เพื่อป้องกันทรัพย์สินของพลเรือนในการป้องกันอธิปไตย และในภาวะฉุกเฉิน กองทัพสามารถให้การสนับสนุนการใช้มาตรการต่าง ๆ ของตำรวจ ทั้งนี้ กองทัพต้องประสานงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ

(4) Zur Abwehr einer drohenden Gefahr für den Bestand oder die freiheitliche demokratische Grundordnung des Bundes oder eines Landes kann die Bundesregierung, wenn die Voraussetzungen des Artikels 91 Abs. 2 vorliegen und die Polizeikräfte sowie der Bundesgrenzschutz nicht ausreichen, Streitkräfte zur Unterstützung der Polizei und des Bundesgrenzschutzes beim Schutze von zivilen Objekten und bei der Bekämpfung organisierter und militärisch bewaffneter Aufständischer einsetzen.
2Der Einsatz von Streitkräften ist einzustellen, wenn der Bundestag oder der Bundesrat es verlangen.

เพื่อธำรงไว้ซึ่งระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตยของสหพันธรัฐหรือรัฐใดรัฐหนึ่ง ภายใต้เงื่อนไขตามที่กำหนดไว้ใน มาตรา 91 อนุมาตรา 2 รัฐบาลแห่งสหพันธ์สามารถขอกำลังสนับสนุนจากกองทัพ เพื่อเข้าช่วยเหลือภารกิจของตำรวจและตำรวจรักษาดินแดน หากตำรวจและตำรวจรักษาดินแดนนั้นมีกำลังพลไม่เพียงพอ แต่ทั้งนี้ภารกิจของกองทัพนั้นต้องสิ้นสุดลงทันที เมื่อมีคำสั่งจากรัฐสภาหรือวุฒิสภา


 


แปลกฎหมายให้อ่านอย่างเดียวคงกระไรอยู่ เห็นควรต้องตีความให้อ่านประกอบ แม้ว่าผมจะเป็นทหาร และเคยเรียนเกี่ยวกับกฎหมายดังกล่าวมาบ้าง แต่เนื่องจากผมไม่ได้เรียนกฎหมายมาโดยตรง หากตีความผิดพลาดไปบ้าง หวังว่าผู้อ่านคงให้อภัย

สำหรับในอนุมาตราแรก นั้น เนื่องจากเยอรมันใช้ระบบการปกครองแบบสหพันธรัฐ อำนาจหน้าที่บางอย่างเป็นของสหพันธ์ บางอย่างเป็นของมลรัฐ ดังนั้นเพื่อความชัดเจน รัฐธรรมนูญจึงต้องกำหนดไว้ว่า ใครจะเป็นผู้กำหนดขนาด และนโยบายของกองทัพเยอรมัน และอำนาจหน้าที่นี้ก็เป็นของสหพันธรัฐ และโดยผลของบทบัญญัตินี้่ย่อมเท่ากับว่า กองทัพเยอรมันไม่มีสิทธิกำหนดขนาด และนโยบายของกองทัพได้เอง การตัดสินใจต่าง ๆ ตกเป็นของรัฐบาลกลาง โดยผ่านทางการกำหนดงบประมาณแผ่นดินอีกทอดหนึ่ง ดังนั้นการสะสมกองกำลัง และอาวุธของกองทัพเยอรมันโดยที่รัฐบาลพลเรือนไม่ได้รับรู้จึงเป็นไปไม่ได้เลย

อนุมาตร 2 คือ บทบาทและหน้าที่ของกองทัพเยอรมัน ที่นอกเหนือไปจากการป้องกันอธิปไตยซึ่งเป็นหน้าที่หลัก ซึ่งโดยมากแล้วก็จะเป็นเรื่องของภารกิจร่วมระหว่างประเทศ หรือที่เกี่ยวข้องกับองค์กรนานาชาติ เช่น NATO หรือ UNO ที่ทางรัฐบาลเยอรมัน สามารถพิจารณาส่งกองทัพไปสนับสนุนภารกิจขององค์กรณ์ดังกล่าวได้ เพื่อให้เป็นไปตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศ หรือเป็นการช่วยเหลือประชาชนจากผลกระทบภัยธรรมชาติต่าง ๆ ทั้งภายในและนอกประเทศ


น่าจะต้องเข้าใจ หรือเป็นที่ทราบกันดีว่า องค์กรผู้มีหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยภายในนั้นคือ ตำรวจ ส่วนทหาร เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ป้องกันศัตรูจากนอกประเทศ และเมื่อใดก็ตามที่ทหารเข้ามาแทรกแซง หรือเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องภายใน มันก็มักมีจุดจบไม่ค่อยดีนัก ตัวอย่างของเรื่องนี้ในเยอรมันก็เช่น การเข้ามากำหนดระเบียบทางสังคม ของหน่วย SS (กองทหารพิเศษของฮิทเลอร์) ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นต้น ดังนั้น เพื่อป้องกันเหตุการณ์ก้าวก่ายงานในลักษณะดังกล่าว รัฐธรรมนูญจึงกำหนดสถานการณ์ในกรณีที่ทหารสามารถเข้ามาทำหน้าที่แทนตำรวจ หรือทำงานร่วมกับตำรวจไว้ให้ชัดเจน ซึ่งเป็นเนื้อหาที่อยู่ในอนุมาตรา 3 และ 4

อนุมาตร 3 กำหนดว่าในสถานการณ์บางอย่าง (ในการป้องกันอธิปไตย และภาวะฉุกเฉิน) กองทัพมีสิทธิเข้ามาทำหน้าที่ของตำรวจได้ แต่ทั้งนี้ การเข้ามาทำหน้าที่ดังกล่าวนั้น ทหารไม่ได้มีสิทธิหรืออำนาจเท่าเทียม หรือทำแทนตำรวจทั้งหมด หรือในทุก ๆ เรื่อง (หน้าที่บางอย่าง หากไม่มีสิทธิก็ทำไม่ได้) ทหารเข้ามาในฐานะเพียงเพื่อสนับสนุน ช่วย หรือประสานงานกับตำรวจเท่านั้น วิธีการขั้นตอนต่าง ๆ กองทัพไม่ได้เป็นผู้กำหนดเพียงฝ่ายเดียว แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา ยิ่งกว่านั้นจะเห็นได้ว่า เมื่อใดที่จำเป็นต้องดึงกองทัพเข้ามาทำหน้าที่ของตำรวจ สิทธิต่าง ๆ ของกองทัพจะถูกริดรอนเหลือเพียงน้อยนิดเท่านั้น


อนุมาตรา 4 เป็นบทที่เปิดช่องให้รัฐบาลกลาง สามารถดึงกองทัพเข้ามาเกี่ยวข้อง กับเหตุการณ์วุ่นวายภายในโดยตรง ซึ่งเหตุการณ์ที่จะเข้าเงื่อนไขดังกล่าวได้นั้น ไม่ได้เป็นเรื่องของการชุมนุมประท้วงทั่วไป แต่ต้องเป็นเหตุการณ์ภายใน ที่มีผลต่ออธิปไตยของมลรัฐใดมลรัฐหนึ่ง หรือของทั้งสหพันธรัฐ ตัวอย่างที่ง่ายที่สุด ก็คือ มีการบุกรุก หรือก่อความไม่สงบในมลรัฐต่าง ๆ โดยกองกำลังติดอาวุธ ซึ่งในกรณีดังกล่าว ตำรวจเพียงหน่วยงานเดียวอาจไม่สามารถจัดการให้ลุล่วงไปได้

กรณีอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ จะมีเงื่อนไขและต้องมีการพิจารณากันพิเศษครับ และกรณีที่อาจารย์มักเอามาออกเป็นข้อสอบบ่อย ๆ ก็คือ สถานการณ์ที่เรียกว่า "Innerer Widerstand" หรือ "ความไม่สงบภายใน" ที่คนภายในรัฐเป็นคนก่อขึ้นเอง และหมายรวมไปถึง การชุมนุมประท้วงเพือสร้างความไม่สงบด้วย

อย่างไรก็ตาม การชุมนุมประท้วงที่รุนแรง ถึงขนาดที่ต้องดึงกองท้ทัพเข้ามาเกี่ยวข้องได้นั้น ต้องมีปัจจัยและเงื่อนไขประกอบกันหลายอย่าง อย่างแรก คือ ต้องมีอาวุธร้ายแรง ที่สามารถทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บล้มตายได้ อาทิ ปืน หรือ ระเบิด อาวุธอื่น ๆ จำพวก มีด กระบอง จอบ เสียม กรรไกรตัดเล็บ ไม่เข้าข่ายดังกล่าว นอกจากนั้น การได้มาซึ่งอาวุธเหล่านั้น ต้องมีการจัดการ และสนับสนุนอย่างเป็นระบบ เงื่อนไขต่อมาที่สำคัญมาก ก็คือ การชุมนุมประท้วงนั้น ๆ อาจมีผลทำให้มลรัฐ หรือสหพันธรัฐสูญเสียอธิปไตย หรือเป็นไปเพื่อล้มล้าง รัฐบาล หรือล้มล้างระบอบประชาธิปไตย ข้อสังเกตจากอาจารย์ผู้สอนผม ก็คือ สถานการณ์ที่จะเข้าเงื่อนไขเหล่านี้ได้ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากการชุมนุมเพื่อแสดงความคิดเห็นโดยปกติ หรือเกิดขึ้นในลักษณะ spontaneous แต่ต้องมีการจัดการวางแผนกันมาอย่างเป็นระบบ

อนึ่งแม้ทุกอย่างจะเข้าเงื่อนไขแล้ว กองทัพก็ยังไม่สามารถเข้ามาได้ทันทีครับ แต่จะเข้ามาเกี่ยวข้องได้ก็ต่อเมื่อ มีข้อเท็จจริงปรากฏว่า กองกำลังของตำรวจ และตำรวจรักษาดินแดนไม่เพียงพอในการรักษาความสงบนั้น และทางตำรวจได้ยื่นขอกำลังสนับสนุนจากทางกองทัพ กองทัพจึงมีสิทธิให้การสนับสนุนตำรวจได้ นอกจากนั้น รัฐสภา หรือวุฒิสภา ยังสามารถออกมติให้กองทัพถอนกำลังออกจากเหตุการณ์ดังกล่าวได้ตลอดเวลา และในทางปฏิบัติ การขอกำลังสนับสนุนจากกองทัพ มักมีสองลักษณะ คือ การขอกำลังคน และขอใช้อุปกรณ์ (ส่วนมากเป็นเครื่องบิน และกล้องถ่ายภาพทางอากาศ) การนำรถถัง หรืออาวุธสงครามมาใช้กับคนภายในประเทศ ไม่มีให้เห็นเลยในประเทศเยอรมัน


อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2007 ภารกิจกองทัพเยอรมันที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม มีลักษณะเปลี่ยนไปเช่นกัน เมื่อปรากฏว่า มีคำสั่งโดยตรงจากรัฐสภาเยอรมัน ให้กองทัพส่งกำลังไปสนับสนุนตำรวจ ในการประชุมกลุ่ม G8 ที่ Heiligendamm โดยรัฐบาลเยอรมันใช้ข้ออ้างยอดนิยม คือ เพื่อ "ป้องกันการก่อการร้าย" ที่อาจแฝงมากับกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงจำนวนมาก ซึ่งทางตำรวจของรัฐ Mecklenburg Vorppommern มีกำลัง และยุทโธปกรณ์ไม่เพียงพอ โดยหน้าที่หลักของกองทัพเยอรมันในครั้งนั้น คือ การถ่ายภาพทางอากาศ โดยใช้เครื่องบินรบ และอุปกรณ์ถ่ายภาพทางอากาศที่มีประสิทธิภาพสูงซึ่งกองทัพเยอรมันเป็นเพียงหน่วยงานเดียวในประเทศที่มีอุปกรณ์ดังกล่าว

สิ่งที่ชาวเยอรมันตั้งคำถาม ก็คือ รัฐสภาเยอรมันใช้หลักอะไรในการสั่งการครั้งนี้ แม้ว่าภารกิจดังกล่าวไม่ใช่ภารกิจในเชิงรุก แต่ก็ยังไม่เข้าข่ายภารกิจอื่น ๆ ที่กำหนดไว้ในกฎหมายเช่นกัน (ภารกิจภายในประเทศของกองทัพเยอรมันมีสองอย่าง คือ ช่วยเหลือประชาชนในเหตุการณ์ภัยพิบัติ และช่วยเหลือตำรวจในกรณี Innerer Widerstand)

รัฐบาลเยอรมันถูกตั้งคำถาม และกดดันในเรื่องครั้งนี้อย่างมาก จนเมื่อต้นเดือนนี้เอง (ตุลาคม 2008) รัฐบาลก็หาทางปลดล็อคตัวเอง ด้วยการมีมติให้ออกกฎหมาย (ตัวกฎหมายยังไม่ออก ต้องใช้เวลาในการร่างและพิจารณาอีกนานทีเดียว) อนุญาตให้ทางกองทัพส่งกองกำลังสนับสนุนตำรวจ เพื่อรักษาความสงบในกรณีมีการชุมนุมประท้วงได้ ภายใต้เงื่อนไขใหม่คือ เพื่อป้องกันการก่อการร้าย แต่ ณ เวลาปัจจุบัน เสียงตอบรับ (ทั้งแง่ดี และไม่ดี) จากประชาชนยังไม่ชัดเจนนัก เนื่องจากกฎหมายฉบับจริงยังไม่ออก


จะเห็นได้ว่า สถานการณ์ต่าง ๆ ที่เล่ามานั้น สำหรับเยอรมันแล้วชัดเจนยิ่งครับว่า การเข้ามาของกองทัพ (ในทุก ๆ กรณี) คือ การเข้ามาเพื่อช่วยเหลือหน่วยงานผู้รักษาความสงบเรียบร้อยภายใน ดำเนินการกับการชุมนุม/ผู้ชุมนุมประท้วงที่มีปัญหา โดยมีเป้าหมายเพื่อให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย เท่านั้น และเมื่อจบภารกิจแล้ว (หรือมีเหตุอื่นใดที่รัฐบาลพลเรือนเห็นว่า ไม่ต้องใช้กองทัพแล้ว) ก็กลับเข้ากรมกองไป หาใช่การออกมาเพื่อปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดกับ "รัฐบาลพลเรือน" หรือ ปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดที่มีผลกระทบต่อระบอบเสรีประชาธิปไตย เสียเอง

และจากตัวกฎหมายที่มีอยู่ (ผมเห็นว่า) เป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ที่กองทัพเยอรมันจะใช้โอกาสในการเข้ามาสนับสนุนตำรวจนั้นเพื่อ "ก่อรัฐประหาร" ซึ่งนอกจากกฎหมายแล้ว ยังมีเหตุผลที่ช่วยรองรับข้อสันนิษฐานข้อนี้ของผมอีกอย่างด้วย นั่นคือ โครงสร้างและระบบบังคับบัญชาของกองทัพเยอรมัน

ในเยอรมนี ตั้งแต่วาระแรกของการฝึกทหาร ทหารเยอรมันทุกคนในทุกเหล่าทัพ ต้องเรียน และทำความเข้าใจกฎหมายทหารพื้นฐานก่อน ทหารจะได้เรียนรู้จากวิชานี้ว่า ตัวเองมีหน้าที่อะไรบ้าง และมีคำสั่งใดบ้างที่ ต้องปฏิบัติ ห้ามปฏิบัติ หรือ (เลือกที่จะ) ปฏิบัติหรือไม่ก็ได้ และคำสั่งที่ทหารเยอรมันห้ามปฏิบัติตาม แม้จะออกมาจากปากผู้บังคับบัญชาก็ตามที คือ คำสั่งที่ขัดต่อกฎหมาย ซึ่งหลักนี้ก็มักมีสถานการณ์ที่ทหารเยอรมันนำมาปรับใช้จริง ให้เห็นอยู่เนือง ๆ แม้ในภารกิจประจำวัน ฉะนั้นจึงยิ่งไม่ต้องพูดถึง คำสั่งให้รัฐประหารล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หรือล้างระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตยของรัฐเลยครับ ที่เยอรมนีหากมีใครทะลึ่งสั่งทหารเยอรมัน หรือ ทหารเยอรมันสั่งกันเองให้ก่อรัฐประหาร สิ่งแรกที่ทหารเยอรมันจะทำ ก็คือ แจ้งจับคนสั่งให้ทำรัฐประหาร นั่นแหละ

สรุปโดยรวม ในระบบกฎหมายของเยอรมันเท่าที่ผมรู้จัก ไม่มีคนหรือหน่วยงานรัฐหน่วยงานใดที่ต้องคอยแบกภารกิจกู้ชาติไว้บ่นบ่าหรอกครับ เพราะด้วยการจัดระบบ การแบ่งสิทธิ บทบาท อำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบของคนแต่ละกลุ่ม ในแต่ละสถานการณ์หรือในแต่ละเวลา (ทหารหลังเลิกงาน ก็คือประชาชนคนหนึ่ง) ที่ชัดเจน เพียงแค่ทุกคน (หรือย่างน้อยก็คนส่วนใหญ่) หรือทุกหน่วยงาน เข้าใจอำนาจหน้าที่เหล่านั้นให้ถูกต้อง และทำตามในบริบทและขอบเขตรับผิดชอบของตัวเอง ทั้งกฎหมาย ทั้งระบบระเบียบสังคมก็จะอยู่และดำเนินไปได้ ไม่มีสถานการณ์ประเทศกำลังจะล่มสลาย จนต้องมีคนร้องขอให้ช่วยกู้.


 


 





 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net