Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์


ชุดโครงการ MEAs Watch


เว็บไซต์ www.measwatch.org


3 พฤศจิกายน 2551


 


เมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ผมได้ไปที่ จ.สกลนคร แถวอำเภอกุดบากและอำเภอภูพาน เพื่อสำรวจศึกษาข้อมูลเรื่องการปลูกป่าเพื่อขายเป็นคาร์บอนเครดิตในตลาดคาร์บอนฯ แบบสมัครใจ (Voluntary Market) ที่ผ่านมาเคยได้ยินข้อมูลมาหลายครั้งแล้วว่ามีกิจกรรมการซื้อขายคาร์บอนเครดิตแบบนี้ในประเทศไทย แต่ไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าดำเนินการอยู่ตรงจุดใด ครั้งนี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ศึกษาติดตามความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ ก่อนจะไปเรื่องที่สกลนครขอกล่าวถึงเรื่องตลาดคาร์บอนฯ เพื่อเป็นข้อมูลความเข้าใจร่วมกันก่อนนะครับ


 


ตลาดคาร์บอนฯ ในต่างประเทศมีอยู่ด้วยกัน 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มแรกเป็นตลาดคาร์บอนฯ ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการภายใต้พิธีสารเกียวโต เป็นตลาดคาร์บอนที่มีตัวบทกฎหมายภายในประเทศกำกับดูแล (Regulated Market) เช่น ตลาดคาร์บอนฯ ในสหภาพยุโรป (EU ETS) ตลาดคาร์บอนฯภายใต้โครงการ CDM (CERs) เป็นต้น ตลาดคาร์บอนเหล่านี้มีการซื้อขาย "คาร์บอนเครดิต" เนื่องจากมีการกำหนดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศที่มีพันธกรณี ประเทศที่ต้องลดการปล่อยก๊าซตามพันธกรณีสามารถซื้อคาร์บอนเครดิตไปเพื่อชดเชยกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศตน สำหรับประเทศไทยก็มีส่วนดำเนินการในเรื่องการค้า CERs ภายใต้โครงการ CDM ข้อมูลล่าสุดในเดือนตุลาคม 2551 โครงการ CDM ที่ คณะกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกของไทยพิจารณาให้ความเห็นชอบและออกหนังสือรับรองโครงการแล้วมี 27 โครงการ


 


กลุ่มสอง เป็นตลาดคาร์บอนฯ แบบสมัครใจ (Voluntary Carbon Market) ที่เกิดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการ เริ่มขึ้นประมาณปี ค.ศ.1989 และมีการเติบโตอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ปี ค.ศ.2002 เป็นต้นมา ตลาดคาร์บอนฯ ประเภทนี้อาจจะมีการซื้อขาย "Carbon Credit" หรือ "Carbon Offset" ก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเภทของตลาด (Carbon Offset หมายถึง ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่จะต้องลดลงในแหล่งอื่น เพื่อชดเชยให้เท่ากับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาในกระบวนการผลิตในโรงงานหรือบริษัท หรือกล่าวได้ว่า Carbon offset นี้ จะทำให้เกิด Carbon neutral สำหรับผู้ซื้อ Carbon offset )


 


ตลาดคาร์บอนฯ แบบสมัครใจยังสามารถจำแนกออกเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทแรก ตลาดที่มีการกำหนดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (หรือ Cap-and-Trade System) เช่น ตลาดคาร์บอนฯ ที่จัดการโดย Chicago Climate Exchange (CCX) ซึ่งถือว่าในขณะนี้เป็นตลาดเดียวที่เป็นตลาดสมัครใจแบบควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประเภทที่สอง เป็นตลาดที่มีการตกลงซื้อขายแบบทวิภาคีระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย โดยอาจซื้อขายกันโดยตรงหรือผ่านระบบนายหน้าก็ได้


 


ในปัจจุบัน ตลาดคาร์บอนเครดิตของภาคสมัครใจมีสัดส่วนที่น้อยเมื่อเปรียบเทียบกับตลาดคาร์บอนฯ ตามพันธกรณีของพิธีสารเกียวโต (ในปี 2006 คิดเป็นร้อยละ 1.42 ของตลาดคาร์บอนฯ ทั้งหมด และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.18 ในปี 2007) อย่างไรก็ดี ความต้องการซื้อในตลาดคาร์บอนฯ แบบสมัครใจก็เพิ่มขึ้นอย่างน่าสนใจ (ปริมาณการซื้อขายในปี ค.ศ. 2007 มีมากกว่า 2 เท่าของปี ค.ศ. 2006) เป็นที่คาดกันว่า ปริมาณการซื้อขาย Carbon Credit /Carbon Offset จะเติบโตในช่วงปี ค.ศ. 2010-2012 เป็นจำนวน 400-500 MtCO2e ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ตลาดคาร์บอนฯ แบบสมัครใจกลายเป็นที่สนใจของบุคคลทั่วไป ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน


 


มีข้อถกเถียงอภิปรายกันมากเกี่ยวกับประสิทธิผลของการจัดทำ Carbon Offset เพื่อชดเชยกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมปกติ โดยเฉพาะในประเด็นว่า Carbon Offset อาจจะไม่นำไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Economy) เพราะเป็นการยากเกินกว่าที่จัดทำโครงการประเภท Carbon Offset มาชดเชยให้ครบทุกกิจกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ แต่ก็มีข้อคิดเห็นอีกด้านหนึ่งว่ากิจกรรมเหล่านี้สามารถเป็นประโยชน์ได้มากกว่าการลดก๊าซเรือนกระจกด้วยมาตรการอื่นๆ แล้วยังเปิดโอกาสให้ประชาชนและธุรกิจเอกชนได้เรียนรู้เรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอีกด้วย (ข้อมูลเหล่านี้ได้จากการศึกษาของ ดร.นิรมล สุธรรมกิจ ในโครงการติดตามความตกลงพหุภาคีระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อม (www.measwatch.org))


 


สำหรับโครงการปลูกป่าเพื่อขายคาร์บอนในตลาดแบบสมัครใจที่ จ.สกลนครนั้น มีพื้นที่ดำเนินการรวม 625 ไร่ (ตามเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนดไว้ 100 เฮกเตอร์) เป็นไม้สัก มีเกษตรกรเข้าร่วมกว่า 4 พันครอบครัว ในสองรายที่ได้ไปเก็บข้อมูล 2 รายนั้น เป็นสวนสักที่ปลูกมาแล้วประมาณ 15 ปี ตามโครงการส่งเสริมการปลูกสวนป่าของรัฐบาล ชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการขายคาร์บอนจะต้องเก็บสวนสักนี้ไว้อีก 30 ปี ในปลายปี 2551 นี้จะเริ่มขายคาร์บอนเครดิตให้ตลาด CCX ในสหรัฐอเมริกาผ่านทางมหาวิทยาลัยมิชิแกน เครือข่ายอินแปงซึ่งเป็นแกนหลักในการประสานดูแลโครงการนี้มองว่าคาร์บอนเครดิตนี้เป็นเพียงเครื่องมือเสริม เป้าหมายหลัก คือ ความยั่งยืนของระบบนิเวศและชุมชน


 


ที่ผ่านมา ประเทศไทยยังไม่เปิดรับโครงการ CDM ด้านป่าไม้ด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น หากส่งเสริมโครงการ CDM ด้านป่าไม้พร้อมกับโครงการด้านอุตสาหกรรม/พลังงาน โครงการส่วนใหญ่จะมุ่งมาด้านป่าไม้เพราะต้นทุนต่ำกว่า โครงการด้านป่าไม้จะไม่ได้ประโยชน์ด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยี ปัญหาผลกระทบในการใช้ประโยชน์จากป่าของชุมชน รวมทั้งข้อคำนึงถึงการเก็บพื้นที่ทำโครงการ CDM ด้านป่าไม้ไว้สำหรับโอกาสที่ประเทศไทยอาจต้องมีพันธกรณีการลดก๊าซเรือนกระจกในอนาคต ฯลฯ


 


เราจะรับมือกับปรากฏการณ์ข้ามรัฐ-ลอดรัฐที่เกิดขึ้นนี้อย่างไร รัฐควรจะมีนโยบาย มีบทบาท หรือสร้างกติกาอย่างไร เพื่อให้ชุมชนรู้เท่าทัน ได้รับประโยชน์อย่างเป็นธรรม รวมทั้งทำให้การแก้ไขปัญหาโลกร้อนเกิดผลขึ้นจริง ไม่เป็นการส่งเสริมโดยทางอ้อมให้ประเทศอุตสาหกรรมปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นไปอีก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net