Skip to main content
sharethis

โดย suchana (http://blogazine.prachatai.com/user/suchana/post/1425)



 



 


น้องๆ ชาวค่ายตื่นกันตั้งแต่ 05.30 น. เบิกบานด้วยโยคะยามเช้าริมทะเล ฝึกลมหายใจเข้าออกสูดอากาศบริสุทธิ์เพื่อความผ่องแผ้วของชีวิต หลังอาหารเช้าน้องทุกคนกระตือรือร้นขึ้นรถเพื่อออกตามรอยเรื่องเล่าเมืองจะนะจากสองวิทยากรเมื่อวานนี้ จุดแรกจะไปเรียนรู้เมืองเก่าที่บ้านเขาจันทร์ หมู่ที่10 ตำบลจะโหนง อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา หลังจากนั้นจะตามรอยส้มจุกสายพันธุ์ดั้งเดิมของเมืองจะนะ


 


รถยนต์มุ่งหน้าสู่บ้านเขาจันทร์ ตำบลจะโหนง อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา น้องๆ ชาวค่ายได้พบกับคุณตากุลจักร ศรียาภัย อายุ 80 ปีและ พี่คนึง นวลมณี ผู้จะนำทีมนำสำรวจรุ่นจิ๋วตามรอยเรื่องเล่าเมืองเก่าจะนะ


 


คุณตากุลจักร เล่าว่า เมื่อสมัยรัชการที่ 5 เจ้าเมืองจะนะคนสุดท้าย คือ พระมหานุภาพปราบสงคราม ชื่อเดิมว่า "ปลอด" ซึ่งเป็นพ่อของยาย บ้านเจ้าเมืองขณะนั้นมีเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ ในบริเวณบ้านจะปลูกไม้ไผ่หลอด มีลำขนาดเท่าหัวแม่มือ ปลูกล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน ปัจจุบันไม่มีซากบ้านหลงเหลือขณะนี้ที่บริเวณนั้นกลายเป็นที่นา


 


ตำบลจะโหนงเป็นเมืองเก่าในอดีต ลักษณะบ้านเรือน เป็นบ้านโบราณที่ทำด้วยไม้ทั้งหลังลักษณะคล้ายๆ เรือนไทยปัจจุบัน สมัยนั้นไม่มีตาปู ใช้ตัวสลักแทน (สลักทำจากไม้ปลายแหลมขนาดเล็ก) ใช้ตอกเพื่อการยึดเกาะ ส่วนฝาบ้านทำด้วยเปลือกไม้ นำมาผ่าเป็นชิ้นๆ กั้นฝาบ้าน ส่วนบริเวณรอบๆ โดยทั่วไปเป็นป่า การสัญจร สมัยก่อนเดินทางโดยทางเรือ ในคลองนาทับ เป็นคลองที่ต่อกับทะเล ผู้คน ส่วนใหญ่เป็นคนดั้งเดิม สมัยนั้นมีคนข้างนอกเข้ามาบ้างจากการแต่งงาน และจากการที่ลูกหลานชักชวนเข้ามา


 


การทำมาหากินในสมัยนั้น ชาวบ้านปลูกถั่ว ปลูกมัน ทำนา ทำไร่ ทำสวน หาปลาในคลองนาทับ ซึ่งในสมัยนั้นยังไม่มีการเลี้ยงปลา มีปลาเยอะไม่อดยาก เครื่องมือจับปลาในขณะนั้นใช้ สุ่ม เบ็ดตกปลา แห ส่วนสวนผลไม้ มีมะพร้าว มีทุเรียนป่าต้นใหญ่ มีหมาก สมัยนั้นคนนิยมกินหมากกันมาก และมีมะม่วง ส่วนใหญ่จะงอกเองตามธรรมชาติ สมัยก่อนไม่มีการแย่งชิงกันทำมาหากิน พึ่งพาอาศัยกัน


 


หลังจากที่ฟังคุณตากุลจักรเล่าเรื่อราวในอดีตแล้ว พี่คนึง นวลมณีได้พาน้องๆ ชาวค่ายไปสำรวจดูบริเวณที่เป็นจุดที่ตั้งของโรงถลุงเหล็กขนาดใหญ่ในอดีตบริเวณ "ควนเขาจันทร์" บริเวณโรงถลุงเหล็กปัจจุบันได้กลายเป็นสวนยางพารา ด้านหน้าที่ตั้งโรงถลุงเหล็กมีบ่อน้ำเก่าแก่ขนาดใหญ่ซึ่งปัจจุบันถูกปิดถมไป เล่ากันว่าบ่อน้ำแห่งนี้โจรได้จับเด็กๆ มาโยนแล้วเอาคมดาบรับ ถัดจากบริเวณที่ตั้งโรงถลุงเหล็กมีต้นมะขามขนาดใหญ่หลายคนโอบ บริเวณใกล้เคียงมีต้นตาลดำ ซึ่งเป็นสมุนไพรมีสรรพคุณรักษาโรคตาลขโมย และบริเวณใกล้เคียงยังมีสมุนไพรอีกหลากหลายชนิด ซึ่งปัจจุบันมีร้านขายยาสมุนไพรในตลาดจะนะมีเก็บขายอยู่เนื่องๆ พี่คนึงเล่าว่าเดิมทีมีต้นมะขามขนาดใหญ่อีกสองต้น แต่ถูกตัดโค่นไปต้นที่เหลืออยู่นี้เพราะต้นได้ขอร้องให้เจ้าของที่ดินเว้นไว้เพื่อเก็บให้ลูกหลานดู


 



 


ออกจากเมืองเก่าจะโหนงรถยนต์มุ่งหน้าสู่บ้านทุ่งใหญ่เพื่อพบกับ คุณตาเจิม มณีเจ้าของสวนส้มจุกบ้านทุ่งใหญ่ หมู่ที่ 5 ตำบลบ้านนา อำเภอจะนะ คุณตาเจิมเล่าว่าบ้านทุ่งใหญ่ในอดีตนับถือศาสนาพุทธและศาสนาอิสลาม ส่วนใหญ่อาชีพทำนา ประมาณปีพ.ศ.2497 - 2499 เป็นช่วงที่ส้มจุกจะนะรุ่งเรืองมีชื่อเสียง เดิมทีส้มจุกไม่ได้ได้ปลูกเป็นสวนแต่จะปลูกในบริเวณบ้านครัวเรือนละ 10-20 ต้น อดีตส้มจุกมีราคาดีลูกละหนึ่งบาทซึ่งเป็นราคาที่สูงในสมัยนั้น หมู่บ้านที่มีการปลูกกันมากได้แก่บ้านน้ำขาว บ้านคูและบ้านแค สมัยก่อนจะมีการทูนส้มจุก แบก หามมาขายในตลาดและมีการส่งขายไปยังที่ต่างๆ มีการขนส่งขึ้นรถไฟเป็นโบกี้ไปขายในกรุงเทพมหานคร นอกจากผลของส้มจุกที่ขายได้ราคาดีแล้วกิ่งตอนส้มจุกก็ได้รับความนิยมมีการสั่งซื้อจากที่ต่างๆ มากมาย


 


คุณตาเจิม มีภรรยาชื่อ ยายคลี่ มณี อาชีพดั้งเดิมเป็นครูสอนหนังสือ มีคนมาบอกขายที่นาลุงจึงซื้อที่ไว้เป็นที่นาหากปลูกส้มหัวจุกก็จะปลูกไม่ขึ้น จึงต้องมีการเตรียมที่ดินเพื่อปลูกส้มหัวจุกนานพอสมควรประมาณ 2 ปีกว่าจะได้ปลูก ซึ่งในขณะที่เตรียมดิน ได้ไปสอบถามวิธีการปลูกจากคนที่เขาปลูกแล้ว ไปถามว่าส้มจุกปลูกในดินแบบไหนถึงจะดี เขาบอกมาว่าปลูกดินปลวก ซึ่งในที่ดินที่ซื้อมาก็มีปลวกอยู่บ้าง 2 - 3 ลูก จึงนำดินปลวกจากที่อื่นมาถมด้วย และมีการขุดระบายน้ำออก เริ่มปลูกโดยหาเมล็ดมาเพาะ ในรุ่นแรกปลูกได้เก็บผลผลิต 5 ปี ภายหลังต้นตายหมดโดยไม่รู้สาเหตุ มีนายอำเภอเข้ามาดู บอกว่าจะเข้ามาเก็บตัวอย่างไปวิจัยดูว่าเพราะอะไร เขานำรากดิน กิ่งไปทำการวิจัย แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบ แต่คุณตาเจิมได้คำตอบด้วยการทดลองทำเอง


 


คุณตาเจิมปลูกส้มหัวจุกมา 4 รุ่นแล้ว ได้คำตอบว่าหากใช้เมล็ดปลูกจะได้ผลช้าถึง 7 ปีกว่าจะได้เก็บผลผลิต ปลูกกิ่งชำจะได้ผลเร็วกว่า ส้มหัวจุกเวลาที่ออกผลจะออกในคราวๆ ทีละมากๆ ต้องใช้ไม้ค้ำกิ่งไว้ไม่นั้น กิ่งจะหักได้ เพราะกิ่งรับน้ำหนักผลส้มไม่ไหว และลุงเจิมได้คำตอบอีกอย่างว่า หากปีไหนแล้งจะได้ผลมาก แต่หากปีไหนฝนเยอะก็จะได้ผลน้อย ในฤดูแล้งน้ำไม่พอใช้จึงขุดบ่อลึกขนาด 6 เมตร แต่ก็ยังไม่พอใช้ หากปลูกให้ได้ผลดีต้องปลูกช่วงเดือนมีนาคม


 


สวนส้มจุกของคุณตาปลูกอยู่หลังบ้าน ค่อนข้างโทรมมากแล้วเหลือไม่กี่ต้น พยายามหาวิธีอยู่ว่าทำอย่างไรไม่ให้มันตาย จนพบว่าในการปลูกส้มหัวจุกรุ่นที่ 4 มีส้มจีนอยู่ต้นหนึ่ง ผลเล็กสีส้มส่วนใหญ่เขานิยมนำไปไหว้พระจีน เดิมเขาบอกว่ามาจากเมืองจีน ปลูกไว้หลังบ้านพร้อมกับส้มหัวจุก ปรากฎว่าส้มหัวจุกตายหมด เหลือเพียงแต่ส้มจีน จึงคิดนำส้มจีนไปทำต้นกล้า จึงสืบหาต้นส้มหัวจุกมาเสียบยอด


 


ต่อมาในปี พ.ศ. 2502 เกิดน้ำท่วม ได้ปลูกต้นส้มหัวจุกไว้โตถึงเอวแล้วน้ำท่วมยอดหมด แต่น้ำลดเร็ว ส้มหัวจุกจึงไม่ตาย ต่อมาสักประมาณ 3 ปี มีคนต้องการเข้ามาซื้อมาก มีคนมาทำถามกับเกษตรอำเภอว่ามีส้มหัวจุกไหม เกษตรอำเภอหาคุณตา ขณะนั้นลุงตอนกิ่งขายมีคนมาหาซื้อไปหมด ปัจจุบันมีการตอนกิ่งขายไปทั่วประเทศ


 


คุณตาเล่าให้น้องๆ ชาวค่ายฟังว่าปัจจุบันส้มจุกดั้งเดิมของจะนะมีน้อยลงมาก มีส้มจุกจากที่ต่างๆ แต่รับรองว่ารสชาติสู้ส้มจุกพันธุ์ดั้งเดิมของจะนะไม่ได้ หากใครเคยลิ้มลองรสชาติของส้มจุกจะนะจะรู้ว่ารสชาติแตกต่างกันอย่างไร หลังจากนั้นคุณตาเจิม ผู้เอื้ออารีได้นำน้องๆ ชาวค่ายเข้าชมสวนส้มจุกและใจดีให้น้องๆ ได้ลองเก็บส้มจุกและลิ้มลองรสชาดสดๆ ของผลส้มจุกจากต้นเลยทีเดียว ทำเอาน้องๆ แสนดีใจและมีความสุข สนุกสนานเป็นกันใหญ่ไม่เฉพาะน้องๆ เท่านั้นที่สนุกผู้ปกครองที่อาสาเป็นพี่เลี้ยงก็พลอยตื่นตาตื่นใจไปด้วย และสดชื่นกับรสชาติที่ได้ลิ้มลอง  


 


หลังจากที่น้องๆ ได้สำรวจตามรอยเรื่องราวประวัติศาสตร์เมืองจะนะแล้ว น้องได้กลับมาเติมพลังมื้อเที่ยงด้วยขนมจีนแกงเขียวหวานไก่ เหนาะ(กิน)กับผักสดๆ ที่ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติเพื่อชุมชนแล้ว น้องๆ ได้สรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้จากค่ายร่วมกัน ซึ่งส่วนใหญ่สนุกและได้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์เมืองจะนะ อาจจะมีน้อยและตกหล่นไปมากเนื่องจากข้อจำกัดในการจดบันทึกเรื่องราวทางประวัติ จากการประสานผู้รู้ที่จะมาเล่าเรื่องราวของเมืองจะนะมีน้อยมาก หลายคนสะท้อนว่าการส่งทอดเรื่องราวของบ้านเรามีน้อยลงและขาดช่วง ที่สำคัญขาดการเห็นความสำคัญรากเหง้าประวัติศาสตร์ อีกทั้งระบบการศึกษาสอนให้เรียนรู้สังคม ประเทศชาติและโลกกว้าง ไม่ได้สอนให้นักเรียนนักศึกษาได้ศึกษาและสืบค้นเรื่องราวประวัติศาสตร์ของชุมชนตนเอง ทำให้ไม่เห็นรากเหง้าความเป็นมา ทำให้ขาดความรัก ความผูกพันและภาคภูมิใจในชุมชน


 


แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นจากประวัติศาสตร์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันคือการถูกรุกรานทางทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน อดีตตั้งแต่การส่วยดีบุก ส่วยไม้กระดาน แต่จากเรื่องราวในประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งทำให้เห็นอุปนิสัยด้านหนึ่ง คือการต่อสู้รบกับหัวเมืองมลายู ขัดขืนต่อการเอารัดเอาเปรียบที่ไม่ยุติธรรม นับถึงยุคสมัยในปัจจุบันที่คนจะนะยังต้องพิทักษ์ปกป้องตนเองจากการรุกรานของทุนที่เข้ามายึดครอง กอบโกยทรัพยากรของชุมชนและประเทศชาติ บทเรียนจากยุคดีบุกที่ร่ำรวย ส้มจุกที่รุ่งเรือง ถึงยุคทองของก๊าซธรรมชาติเป็นเรื่องราวที่น่าสะพรึงกลัวของ "คนจะนะ"


 



 


 


..........................


อ่านตอนก่อนหน้า


นักข่าวพลเมืองรายงาน: ค่ายโหมเรารักษ์จะนะ (ตอนที่ 1) ตามรอยประวัติศาสตร์เมืองจะนะ


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net