Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 


 


 


 


 


สมชาย ปรีชาศิลปกุล


ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 13 พ.ย. 2551


 


 


(หมายเหตุก่อนอ่าน : จำเป็นต้องกล่าวไว้ก่อนในเบื้องต้นว่า บทความนี้ อาจนำเสนอความเห็นที่ผู้อ่านรู้สึกไม่เห็นด้วย หรืออาจทำให้เข้าใจไปว่าผู้เขียนเป็นฝ่ายเสื้อแดง แต่พึงเข้าใจไว้ว่าบทความชิ้นนี้ผู้เขียนเขียนขึ้นด้วยความรู้สึกว่าระบบกฎหมายในสังคมไทย กำลังเข้าสู่ภาวะเสื่อมทรุดอย่างถึงที่สุด การใช้และการตีความกฎหมายถูกนำมารับใช้ผลประโยชน์ หรือจุดยืนทางการเมืองเฉพาะหน้า โดยปราศจากเหตุผล หรือหลักการทางวิชาการมารองรับ เฉพาะอย่างยิ่งกับข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มีการใช้ข้อกล่าวหากันอย่างกว้างขวาง และโดยที่นักกฎหมายส่วนใหญ่ต่างก็หลีกเลี่ยงในการพิจารณาประเด็นปัญหานี้ หรืออาจมีบ้างก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ทางการเมืองเป็นสำคัญ บทความชิ้นนี้ ต้องการเสนอให้มีการทำความเข้าใจกับกฎหมายนี้อย่างชัดเจนมากกว่าการใช้เพื่อมุ่งประโยชน์เพียงชั่วคราวเฉพาะกลุ่มเท่านั้น)


 


 


000


 


อาจกล่าวได้ว่าไม่มีห้วงเวลาใดอีกแล้วในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ซึ่งจะมีการใช้ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกันอย่างพร่ำเพรื่อ เท่ากับที่กำลังเกิดขึ้น ณ เวลาปัจจุบัน


 


การกล่าวหาที่มีต่อการอภิปราย การแสดงความคิดเห็นทางการเมือง การออกข้อสอบของอาจารย์ในมหาวิทยาลัย การนำพระราชดำรัสมาพิมพ์เป็นสติ๊กเกอร์ การวิจารณ์บทบาทขององคมนตรีในทางการเมือง หรือการขอพึ่ง "พระบารมี" เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงการนำข้อหาดังกล่าวมาใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยแทบจะไม่มีการทำความกันให้ชัดเจนว่าอะไรคือสิ่งที่เรียกว่าการกระทำความผิดในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ


 


การกระทำอันเป็นความผิดที่เรียกกันว่า "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" เป็นบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งบัญญัติว่า "ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกสามปีถึงสิบห้าปี"


 


การกระทำที่จะสามารถจัดว่าเป็นความผิดในฐานนี้ จึงต้องมีองค์ประกอบสำคัญสอง ประการ


 


ประการที่หนึ่ง การกระทำนั้นต้องเป็นการกระทำที่เข้าข่ายหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย


 


ทั้งนี้ ในส่วนของการแสดงความอาฆาตมาดร้ายว่า จะเป็นการแสดงออกให้เห็นถึงความประสงค์ร้ายต่อบุคคลที่ได้รับการคุ้มครองในมาตรานี้ ในส่วนความหมายของการดูหมิ่นและหมิ่นประมาทในทางกฎหมายนั้น มีความหมายที่แตกต่างกัน หมิ่นประมาทต้องเป็นการใส่ความ ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง หรือทำให้ถูกคนทั้งหลายดูถูกหรือเกลียดชัง การใส่ความ คือ การยืนยันถึงข้อเท็จจริงอย่างใดๆ เกี่ยวกับบุคคลอื่น โดยอ้างว่าเขาได้กระทำการอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งอาจด้วยคำพูดของตนหรือนำเอาคำพูดของบุคคลอื่นมาบอกเล่าอีกครั้งก็ได้ อาทิเช่น กล่าวหาว่านายอำเภอเป็นเสือผู้หญิง กล่าวหาว่าเขาเป็นคนทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นประจำ เป็นต้น


 


สำหรับการดูหมิ่นหมายถึง การกระทำการเหยียดหยามซึ่งอาจเป็นการกระทำทางกิริยา อาทิเช่น ยกส้นเท้าให้ ถ่มน้ำลายรด หรืออาจเป็นการกล่าวด้วยถ้อยคำ ดังเช่นการด่าด้วยคำหยาบ ด่าว่าอีกฝ่ายเป็นสัตว์เดรัจฉาน ก็นับว่าเป็นการดูหมิ่นได้


 


ประการที่สอง บุคคลที่ได้รับการคุ้มครองตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญาครอบคลุมเฉพาะพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เท่านั้น บุคคลอื่นนอกเหนือจากที่ได้บัญญัติไว้ไม่ได้รับการคุ้มครองแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นองคมนตรี หรือพระบรมวงศานุวงศ์อื่นใดก็ไม่ได้อยู่ในการคุ้มครองของมาตรานี้


 


จากบทบัญญัติดังกล่าวของกฎหมายอาญา ในการจะวินิจฉัยว่าการกระทำใดที่จะเข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือไม่ จึงต้องเป็นการกระทำที่มีลักษณะเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย ซึ่งได้กระทำต่อพระมหากษัตริย์ ราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์


 


ในกรณีที่การกระทำนั้นๆ มีความชัดเจนว่าเข้าข่ายการกระทำที่กล่าวมา ก็อาจไม่มีปัญหาในการวินิจฉัยแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ความยุ่งยากที่เกิดขึ้นจากความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ก็คือ มีการกระทำเป็นจำนวนมากที่มีความคลุมเครือว่าจะเข้าข่ายของการดูหมิ่น หรือหมิ่นประมาทหรือไม่


 


กรณีที่สามารถนำมาพิจารณาเป็นตัวอย่างได้ อาทิเช่น การกล่าวหาว่าการร้องขอ "พระบารมี"  ในการกลับสู่ประเทศไทยของอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ก็ได้ถูกอธิบายความจากองค์กรด้านกฎหมายอย่างรวดเร็ว ว่า เป็นการแทรกแซงการใช้อำนาจของพระมหากษัตริย์ จึงถือเป็นความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ


 


ในทัศนะของผู้เขียนมีความเห็นว่า การร้องขอพระบารมีมิได้มีลักษณะของการกระทำที่เข้าข่ายทำให้เสื่อมเสียหรือเป็นการกระทำที่เหยียดหยามต่อพระมหากษัตริย์ จึงยากที่จะเข้าข่ายของการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาท เพราะไม่ได้เป็นการกระทำที่แสดงให้เห็นว่าได้มีการลบหลู่พระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด ถึงแม้ว่าการกระทำนี้อาจถูกโต้แย้งได้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม แต่ความเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมของการกระทำก็เป็นอีกเรื่องต่างหาก มิใช่เป็นเรื่องการกระทำผิดในฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ


 


(มากไปกว่านั้น ถ้าหากการกระทำในลักษณะนี้เป็นความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแล้ว คำถาม ก็คือว่า บรรดาการเรียกร้องมาตรา 7 หรือนายกรัฐมนตรีพระราชทาน ก็ไม่ได้มีลักษณะที่แตกต่างกัน ก็ควรย่อมอยู่ในสถานะที่เป็นความผิดด้วย หาก พ.ต.ท. ทักษิณ มีความผิด บรรดานักกฎหมาย นักการเมือง นักวิชาการจำนวนมาก ก็เป็นผู้กระทำผิดเช่นกัน)


 


หรือในการไม่เคารพต่อสัญลักษณ์ที่แสดงถึงบุคคลที่ได้รับการคุ้มครองไว้ในมาตรานี้ก็ได้ถูกกล่าวหาว่าเป็นการกระทำที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพซึ่งเป็นประเด็นปัญหาอย่างมาก ทั้งนี้ หลักการสำคัญในการใช้กฎหมายอาญา ก็คือ จะต้องตีความอย่างเคร่งครัด เนื่องจากเป็นกฎหมายที่ใช้ลงโทษบุคคล การขยายความหรือถ้อยคำที่กำหนดไว้ในกฎหมายไม่อาจกระทำได้ เพราะจะเป็นผลกระทบต่อความมั่นคงในเสรีภาพของประชาชน เพราะฉะนั้น การดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทก็จะต้องปรากฏอย่างชัดเจนในสาระสำคัญว่าได้กระทำการเหยียดหยาม หรือกระทำให้เกิดความเสื่อมเสียเกิดขึ้น


 


ถ้าปล่อยให้มีการขยายความหมายของการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมีขอบเขตกว้างขวางรวมออกไปถึงการกระทำที่มีต่อสัญลักษณ์ของบุคคล ก็อาจทำให้เกิดเป็นปัญหาอย่างมาก อาทิเช่น การทิ้งปฏิทินหรือข้าวของซึ่งมีสัญลักษณ์ของบุคคลที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย หรือแม้กระทั่งการไม่ทำความเคารพต่อสัญลักษณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเพลง รูปภาพ ก็อาจกลายเป็นความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพได้เช่นกัน ถ้าเช่นนั้น การนำสติ๊กเกอร์ที่มีถ้อยคำว่า "เรารักในหลวง" มาติดกระจกรถยนต์ก็ย่อมเป็นความผิดเหมือนกัน เพราะการตีตนเสมอพระมหากษัตริย์โดยไม่ใช้ราชาศัพท์


 


ข้อเสนอในที่นี้ เป็นการพิเคราะห์ในเชิงกฎหมายว่าการกระทำใดที่จะเข้าข่ายเป็นความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือไม่ แต่ไม่ได้เป็นการกล่าวถึงในด้านของความเหมาะสมของการกระทำ ซึ่งเป็นประเด็นที่สามารถถกเถียงแลกเปลี่ยนกันได้ แต่ภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพการกระทำที่ไม่เหมาะไม่ควรของประชาชนต่อพระมหากษัตริย์ในปัจจุบัน ยังไม่ถือว่าเป็นความผิดที่จะต้องถูกลงโทษแต่อย่างใด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net