Skip to main content
sharethis

16 พ.ย.51 สมัชชาประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ จัดการประชุมครั้งที่ 1 ที่ห้อง102 ตึก 1 คณะรัฐศาสตร์ จุฬา และมีกำหนดจะจัดในทุกภาค โดยช่วงเช้าวันนี้เป็นการแลกเปลี่ยนในหัวข้อ "ข้อเสนอเพื่อขยายพื้นที่ประชาธิปไตย คัดค้านระเบียบใหม่ของพันธมิตรฯ และอำนาจทหาร" ส่วนช่วงบ่ายเป็นการแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับการรณรงค์เพื่อรัฐสวัสดิการ และข้อเรียกร้องเฉพาะหน้าท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ


 


 


ข้อเสนอเพื่อขยายพื้นที่ประชาธิปไตย


คัดค้านระเบียบใหม่ของพันธมิตรฯ และอำนาจทหาร


สมาภรณ์ แก้วเกลี้ยง นักศึกษาปริญญาโท สิทธิมนุษยชนเพื่อการพัฒนา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ประชาธิปไตยนั้นต้องควบคู่ไปกับสิทธิมนุษยชน ขณะที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) มีเป้าหมายคือการเมืองใหม่ ซึ่งไม่ว่าจะเป็น 70-30 หรือแบบสาขาอาชีพ ก็เป็นการเรียกร้องความไม่เท่าเทียมกัน กีดกันคนชั้นล่างคนยากจนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศออกไปจากการเมืองไทย เป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ซึ่งขัดกับหลักการสิทธิมนุษยชน จึงไม่เป็นประชาธิปไตย


 


ในระดับยุทธวิธี พธม. มีแก่นแกนอย่างเดียว คือมองเห็นคนไม่เท่ากัน โดยมองว่า คนคิดต่างไปจากตนเองนั้นไม่ใช่คน มีการสร้างบรรยากาศแห่งความเกลียดชัง เมื่อเห็นต่างให้ฆ่าได้เลย ไม่ว่าจะกรณีที่กล่าวหาว่า นายประภาส ปิ่นตบแต่ง หากินกับสมัชชาคนจน 200 ล้านบาท หรือกรณีที่นายนาคร ศิลาชัย (เปิ้ล นาคร) ทำให้ พธม.ไม่ชอบใจ ก็ถูกขุดคุ้ยและโจมตีไปถึงแคทรียา แมคอินทอช ซึ่งเป็นเพื่อนเป็นพี่น้องของนายนาคร ซึ่งนี่ไม่เกี่ยวกับประชาธิปไตยและการเมืองใหม่แต่อย่างใด


 


นอกจากนี้ สมาภรณ์ได้เล่าถึงการต่อสู้ทางความคิดบนพื้นที่ในอินเทอร์เน็ตว่า เธอได้เข้าไปแสดงความคิดเห็นในเว็บบล็อกที่เรียกร้องให้ปิดเว็บไซต์ประชาไท เนื่องจากเธอไม่เห็นด้วยกับการใช้ข้อหาหมิ่นสถาบันเบื้องสูง จากนั้น ก็มีการนำสโลแกนในเว็บบล็อกของเธอที่โอเคเนชั่นที่ว่า "โลกเราต้องเท่ากัน" มาโต้ โดยแสดงความเห็นว่า ความเท่าเทียมนั้นไม่ได้เกิดจากกระบอกไม้ไผ่ หากบอกว่าต้องเท่ากันก็คงเป็นทัศนคติที่แปลก เพราะไม่ยืนบนความเป็นจริง ทำให้สังคมไม่มีความเคารพต่อกัน นอกจากนี้การถือแต่เสียงข้างมากนั้นไร้ซึ่งประสิทธิภาพ ตอนนี้คนที่ทำงานหนักเป็นผู้จ่ายภาษี ดังนั้นจึงควรมีอำนาจกำหนดนโยบายต่างๆ คนจนเป็นคนโง่ ถ้าปล่อยให้เข้ามาตัดสินใจจะตกเป็นเหยื่อของประชานิยม


 


สมาภรณ์ กล่าวว่า แนวคิดแบบนี้มักเป็นที่กล่าวอ้างกันมาก เป็นแนวคิดที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนและไม่เป็นประชาธิปไตยด้วย เธอแสดงความเห็นว่า ที่ผ่านมา เวลาวิจารณ์ พธม. มักมีการเรียกร้องให้วิจารณ์แกนนำเพราะเชื่อว่า มวลชนมาด้วยความบริสุทธิ์ใจ อย่างไรก็ตาม ควรพูดถึงมวลชน พธม.ได้แล้ว เพราะหลายคนก็ไม่ได้เชื่อในหลักการสิทธิมนุษยชน


 


วิษรุต บุญยา เครือข่ายนักศึกษาพิทักษ์ ประชาชน (คพช.) เล่าถึงประสบการณ์การทำงานเรื่องสิทธิมนุษยชนในภาคใต้ว่า น้อยครั้งมากที่จะได้ยินนักสิทธิมนุษยชนแนวสันติวิธี เสนอให้ถอนทหารในภาคใต้ หรือการใช้ภาษามลายูควบคู่กับภาษาไทย แต่กลับมีคนที่พูดว่าแก้ปัญหานอกระบบโดยชนชั้นสูง เช่นนี้แล้วจะเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชนได้อย่างไร ถ้าไม่ทะลุกรอบมามองว่าคนทุกคนนั้นเท่ากัน นอกจากนี้คนต้องกล้าตั้งคำถามกับบทบาทและหน้าที่ของประมุขของประเทศ ต้องกล้าเรียกร้องสิทธิเพื่อขยายพื้นที่ประชาธิปไตย รวมถึงตั้งคำถามกับ พธม. และเบื้องหลังของ พธม. ด้วย


 


วิษรุต เสนอว่า ประชาชนต้องแสดงออกว่าปฏิเสธแนวของ พธม. สนับสนุนแนวทางการแก้รัฐธรรมนูญให้ ส.ว.ต้องมาจากการเลือกตั้ง แก้ไขรูปแบบ ส.ส.สัดส่วน ให้หนึ่งคนมีหนึ่งเสียง (one man one vote) แก้เรื่องงบประมาณทหาร และให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด


 


เขายังหยิบยกข้อเรียกร้องเพื่อแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ อาทิ การตั้งเขตปกครองพิเศษ เรียกร้องให้ถอนทหารออกจาก 3 จังหวัด ใช้ภาษามลายูคู่กับภาษาไทย พร้อมระบุว่าเหล่านี้คือ การขยายพื้นที่ประชาธิปไตย แต่สิ่งที่ขัดขวางประชาธิปไตยคือ กระบวนการอมาตยาธิปไตยของ พธม.


 


ประภาส ปิ่นตบแต่ง หัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนมีปัญหา เพราะทำให้คนข้างล่างไม่มีส่วนร่วมกำหนดนโยบาย หรือแบ่งฐานทรัพยากรกับผู้มีอำนาจ อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งก็เป็นสิ่งจำเป็น เพราะทำให้ประชาชนมีช่องทางแสดงอำนาจ ต่อรองผลประโยชน์ ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำควบคู่ไปด้วยคือขยายพื้นที่ของประชาธิปไตยทางตรงในระดับชุมชนต่างๆ เพื่อให้คนข้างล่างมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายทางการเมือง


 


ประภาส ยกตัวอย่างการขยายประชาธิปไตยแบบตัวแทนไปสู่ประชาธิปไตยแบบทางตรง อาทิ การเกิดสมัชชาคนจน ซึ่งเป็นการเมืองจากข้างล่างที่พยายามสร้างการมีส่วนร่วม ให้มีการประชาพิจารณ์ มีสิทธิในฐานทรัพยากร รัฐธรรมนูญ 40 ที่ให้มีองค์กรอิสระ หรือในภาพใหญ่ คือการเปลี่ยนแปลงในละตินอเมริกา ที่มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยถ่ายโอนอำนาจให้ประชาชน เน้นให้มีการเลือกตั้งทางตรง การประชามติ การถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และการเสนอกฎหมายโดยประชาชน


 


ขณะที่การแก้ปัญหาประชาธิปไตยแบบตัวแทนที่ พธม.เสนอนั้นก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะเป็นการเอาอำนาจขึ้นข้างบน โดยมองว่า ปัญหาอยู่ที่ชาวบ้าน ซึ่ง พธม. ใช้คำว่า "โง่-งก" จึงออกแบบการเมืองใหม่ เพื่อดึงอำนาจออกจากชาวบ้าน ที่ "โง่-งก" ด้าน นปช. ก็ยังยึดกับประชาธิปไตยแบบตัวแทน อาศัยประชานิยม เพื่อสร้างกลุ่มทางอำนาจ มากกว่าการสร้างอำนาจให้ชาวบ้าน ดังนั้น หากให้ชุมชนจัดสวัสดิการด้วยตัวเอง ก็จะทำให้คนข้างล่างเข้มแข็งและออกจากประชานิยมได้ 


 


(อ่านรายละเอียดได้ที่ ประชาธิปไตยทางตรง ในบริบทปัญหาประชาธิปไตยแบบตัวแทน, ประภาส ปิ่นตบแต่ง)


 


จารุวัฒน์ เกยูรวรรณ สมาชิกกลุ่มเลี้ยวซ้าย กล่าวว่า ควรมีข้อเสนอที่ดีกว่าประชาธิปไตยทางตรง เพราะขณะที่พยายามสร้างชุมชนเพื่อต่อรองกับรัฐโดยตรงนั้น ไม่มีตัวแทนคนจนในสภาเลย แล้วจะแก้ปัญหาของชุมชนที่การรวมตัวไม่เข็มแข็งได้อย่างไร นอกจากนี้ยังตั้งคำถามด้วยว่า ประชาธิปไตยทางตรงนั้นจะก้าวข้ามปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อปกป้องปัญหาสังคมได้ขนาดไหน


 


จารุวัฒน์ เสนอว่า น่าจะสร้างระบบตัวแทนแบบใหม่ โดยการสร้างพื้นที่ประชาธิปไตยในหลายส่วน อาทิ ในระดับชาติ อาจต้องเลือกตั้งผู้นำเหล่าทัพ รวมถึงผู้พิพากษาหรือสูงกว่านั้น เพราะที่ผ่านมา องค์กรอย่างกองทัพ ไม่เคยถูกตรวจสอบการใช้งบลับ ไม่มีการมีส่วนร่วมของประชาชน รัฐบาลและประชาชนทำอะไรกับกองทัพไม่ได้เลย ไม่ว่าจะตัดงบหรือตรวจสอบ รวมถึงกระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่ตำรวจ อัยการ จนถึงศาล ด้วย


 


นอกจากนี้ จารุวัฒน์ ได้พูดถึงการขยายพื้นที่ประชาธิปไตยในระดับชุมชน โดยชี้ให้เห็นว่าที่ผ่านมา มหาวิทยาลัย โรงเรียน หรือโรงพยาบาลในชุมชน ไม่ได้ตอบสนองหรือรับใช้ชุมชนเท่าที่ควร เพราะองค์กรเหล่านี้ไม่ได้ยึดโยงกับชุมชน ไม่ได้มีตัวแทนที่มาจากการคัดสรรร่วมกัน แต่มาจากรัฐส่วนกลาง 


 


จิตรา คชเดช ประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย แสดงความเห็นว่า ควรแก้ปัญหาโดยเริ่มที่การแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นปัญหา โดยเล่าว่า ตอนที่สหภาพฯ ประท้วงหน้าโรงงาน ไม่มี ส.ส.ในพื้นที่ให้ความสนใจมาดูแล เพราะคนงานไม่ใช่ฐานเสียงของ ส.ส. ดังนั้น ต้องแก้ไขให้แรงงานสามารถเลือกตั้งในสถานประกอบการได้


 


นอกจากนี้ จิตรา กล่าวถึง พธม. ว่า แม้จะเคลื่อนไหวอย่างดุเดือด แต่ก็ทำได้เพียงหาเรื่อง กล่าวหาคนที่มีความเห็นไม่ตรงกับตัวเอง แต่ทำอะไรไม่ได้ เพราะ พธม. ไม่มีพรรคการเมือง หรืออย่างการสัมมนาที่ได้แต่พูดว่าจะเอาอย่างไร ก็ทำอะไรไม่ได้เช่นกัน เพราะไม่มีพรรคการเมือง ทั้งนี้ จิตราเสนอให้แก้กฎหมายให้ตั้งพรรคได้ง่ายขึ้น โดยให้การตั้งพรรคไม่ต้องจดทะเบียน จากนั้น เมื่อมีพรรคการเมืองเข้าไปในสภาแล้ว ก็เข้าไปแก้กฎหมายต่างๆ ได้


 


 


การรณรงค์เพื่อรัฐสวัสดิการ  และข้อเรียกร้องเฉพาะหน้าท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ


กมลเศรษฐ  เก่งการเรือ สมาคมฟ้าสีรุ้ง กล่าวว่า หน่วยงานที่ดูแลเรื่องสวัสดิการของสังคมอย่างกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์นั้น เมื่อปี 2546 มีความพยายามในการจัดกลุ่มผู้ให้และผู้รับบริการ แต่ยังไม่เข้าใจและไม่มีองค์ความรู้ในกลุ่มคนรักเพศเดียวกันมากนัก รวมทั้งบางครั้งยังนับคนกลุ่มนี้ว่าเป็นผู้พิการทางจิตด้วย และการบริการที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นเรื่อง "เอาหน้า" แต่ไม่ค่อยมีคุณภาพ ถ้ามองเรื่องรัฐสวัสดิการคงต้องดูระบบใหม่ทั้งหมดให้ครอบคลุมกับคนหลากหลายกลุ่มซึ่งอาจต้องผ่านการมีพรรคการเมืองใหม่ที่ประชาชนทุกกลุ่มพึ่งได้จริงๆ อย่างน้อยแม้คิดไม่เหมือนกัน ก็สามารถดึงในส่วนที่คิดเหมือนกันมาขับเคลื่อนได้ก่อน นอกจากนี้ในกลุ่มยังใช้วิธีการทำให้ความขัดแย้งหรือความแตกต่างนุ่มนวลลง โดยเน้นการมองความรักเป็นพื้นฐานยิ่งใหญ่ของมนุษย์และมองว่าความขัดแย้งทางความคิดเป็นเรื่องธรรมดา รวมทั้งเห็นว่าความรุนแรงไม่เคยแก้ปัญหาได้


 


บุญผิน สุนทรารัตน์  กรรมการสหภาพแรงงานกรุงเทพผลิตเหล็ก กล่าวว่า วันนี้เรามาพูดเรื่องใหญ่ๆ ที่คนใหญ่ๆ ไม่คุยกัน เรื่องนี้จึงตกเป็นภาระหน้าที่ของคนตัวเล็กๆ ทุกอย่างที่เปลี่ยนแปลงนั้นล้วนมาจากการรวมพลังของคนเล็กคนน้อย โดยเฉพาะบทบาทของแรงงานที่มีต่อการปรับปรุงสวัสดิการต่างๆ ให้ดีขึ้นหรือแม้แต่ระบบประกันสังคม มันเกิดขึ้นได้ ไม่ใช่เพราะเรามีความรู้ดี เขียนหนังสือเก่ง ยื่นจดหมายให้รัฐมนตรีแล้วเขาก็นำไปเปลี่ยนแปลง แต่เรารวมพลังกันเรียกร้องต่อสู้ยาวนาน และในหลายกรณีก็มีเลือดตกยางออก


 


ถ้าเราอยากสร้างสวัสดิการอย่างเต็มที่ ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องตั้งพรรคการเมืองของเราเอง เพราะพรรคการเมืองจะเป็นเครื่องมือที่ดีในการนำเสนอปัญหาและทางออกของประชาชนชั้นล่างทั้งหลาย ไม่เช่นนั้น แรงงานก็ทำได้เพียงรวมตัวกัน อดข้าว กรีดเลือด ต่อรองกันเป็นกรณีๆ ไป และที่ผ่านมาพรรคการเมืองที่มีก็นำเสนอนโยบายไม่ค่อยถูกใจประชาชน บางทีก็ไม่ลงมือทำจริง แต่พรรคไทยรักไทยได้สร้างความเปลี่ยนแปลง ทำให้คนจนได้ประโยชน์แม้ไม่เต็มที่แต่ก็มีความชอบธรรม อย่างไรก็ตาม การตั้งพรรคของประชาชนโดยตรงน่าจะสะท้อนผลประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ได้ตรงที่สุด


 


รัฐธรรมนูญก็มีความสำคัญเพราะเป็นกรอบใหญ่ของทุกอย่าง ภาษาในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พูดถึงเรื่องจริยธรรมมากมาย โดยจริยธรรมของชนชั้นสูงนั้นไม่ได้สนใจว่าคนจนจะอยู่อย่างไร ดังนั้น จึงไม่ต้องเกรงใจพันธมิตรฯ หรือขุนศึกมากนักหากจะโต้แย้ง จริยธรรมใหม่ในยุคนี้น่าจะเป็นการอยู่ร่วมกันได้ ทำมาหากินร่วมกันได้ของประชาชนทุกคนทุกกลุ่ม


 


วิชุชพล สุวรรณรัตน์ สหภาพแรงงานอิเลคทรอนิกส์ และชิ้นส่วนยานยนต์ กล่าวว่า ในแวดวงแรงงานมีการรณรงค์เรื่องรัฐสวัสดิการ แต่ยังไม่กว้างขวางพอ ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยขณะนี้อย่าว่าแต่เรื่องสวัสดิการ การจ้างงานก็ยังเป็นปัญหามาก แรงงานถูกเลิกจ้างเยอะ แม้จะเอาเปรียบโดยใช้เป็นสัญญาปีต่อปีก็ตาม อย่างไรก็ตาม เมื่อโดนปลดจะมีการประกันการว่างงาน แต่เงินที่ได้รับไม่เพียงพอกับความเป็นจริง เพราะได้เดือนละ 1,000 กว่าบาทเท่านั้น ขณะที่สวัสดิการต่างๆ ที่รัฐจัดให้ก็มีปัญหา เช่น เรียนฟรี ฟรีแค่ค่าเรียน ค่าอื่นๆ เกือบหมื่นออกเอง


 


นุ่มนวล  ยัพราช วารสาร "เลี้ยวซ้าย" กล่าวว่า ขอพูดประเด็นต่อกรณีวิกฤตเศรษฐกิจ ถ้าดูวิกฤตเมื่อปี 40 ช่วงนั้นรัฐบาลประชาธิปัตย์เอาเงินจำนวนมากไปอุ้มภาคธุรกิจ ดังนั้น ถ้าเกิดวิกฤตอีกครั้งเราเรียกร้องว่ารัฐบาลต้องเอาเงินมาอุ้มคนจนมากกว่าคนรวย


 


วิกฤตเศรษฐกิจเกิดจากกลไกความล้มเหลวของระบบทุนนิยม ไม่ได้เกิดจากแรงงานปัจเจก ดังนั้นอยู่ดีๆ จะให้ออกไม่เป็นธรรม ระบบของมันมีขึ้นมีลงเป็นวงจร จึงเป็นที่มาของซีกหนึ่งของภาคประชาชนที่บอกว่าเราไม่ต้องการระบบตลาด เพราะมีขีดจำกัดในการตอบสนองความต้องการของคน เช่น เราเห็นไก่ทิ้งทะเล ขณะที่มีเด็กขาดสารอาหารทั่วโลกจำนวนมาก เราอยากได้ระบบที่มีการวางแผนเพื่อตอบสนองความต้องการของคนส่วนใหญ่


 


การแก้วิกฤตครั้งนี้ คนจนต้องไม่ใช่คนเสียสละ ต้องไม่เป็นหนี้เพิ่ม ปกป้องวิถีชีวิตให้คงอยู่ จึงต้องเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือคนจน และรัฐต้องลงทุนสร้างงาน สร้างรัฐวิสาหกิจเพื่อสร้างงานให้ประชาชน ซึ่งเป็นข้อเสนอตั้งแต่ปี 2475 ขณะที่ลักษณะของการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ ต้องชัดเจนว่าควรมีลักษณะอย่างไร เช่น ไม่เอานิวเคลียร์ แต่อยากได้พลังงานทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสร้างงานให้คนด้วย


 


งบประมาณทหาร ต้องลดลง แล้วเอามาเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของประชาชน รณรงค์ให้มีการยกเลิกการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งไม่เป็นธรรมเพราะรีดเลือดกับปู ต้องสร้างระบบภาษีก้าวหน้า นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้รัฐยกเลิกหนี้เกษตรกร และเลยไปถึงการทำนารวม โดยรัฐจัดการและพัฒนาการจัดสรรปันส่วนให้ยุติธรรมกว่าการระบบคอนแทรคฟาร์มิ่งที่เป็นอยู่ตอนนี้ เป็นต้น


 


สหภาพแรงงาน ชุมชน องค์ที่เราร่วมอยู่ สามารถร่วมมือกันเรียกร้องเรื่องเหล่านี้ได้ เราสามารถรณรงค์ ถกเถียงเรื่องเหล่านี้ได้ และต้องมั่นใจว่ามันเป็นไปได้ แม้จะไม่ในเร็ววัน


 


อย่างไรก็ตาม สนับสนุนข้อเสนอว่าให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ โดยต้องบอกว่าเปิดโอกาสให้ประชาธิปไตยเติบโตมากที่สุด เราไม่ได้เริ่มต้นจาก 0 เวทีไทยพูด เป็นการรวบรวมข้อเสนอกลุ่มต่างๆ มากมายเป็นตัวตั้งต้น จึงต้องจับมือกันแล้วร่วมกันทำต่อ


 


ใจ อึ๊งภากรณ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า วิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้จะมีผลกับประเทศไทย คือ 1.เรื่องการส่งออก 2.บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่จะลงทุนน้อยลง จึงอยากเสนอข้อเสนอคือ 1.ต้องรักษากำลังซื้อภายในประเทศ โดยคัดค้านการลดค่าจ้าง เพิ่มระดับค่าจ้างขั้นต่ำ ลดภาษีมูลค่าเพิ่ม 2.วิกฤตนี้คนรวยต้องเสียสละให้คนส่วนใหญ่ ต้องเริ่มระบบภาษีก้าวหน้า ประหยัดเงินที่ไม่สร้างงาน พิธีกรรมต่างๆ รวมถึงงบประมาณทหาร ข้อเสนอแบบนี้ทำให้เศรษฐกิจไทยมีประสิทธิภาพมากขึ้น และสร้างศักดิ์ศรีให้ประชาชน


 


 


 


 


 


 


 


 


 


 


 


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net