Skip to main content
sharethis

มูฮำหมัด ดือราแม


 


"หมู่บ้าน/ชุมชนศรัทธา" ภายใต้การดำเนินโครงการของ "ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้" เป็นอีกชื่อโครงการ ที่คนจังหวัดชายแดนภาคใต้เริ่มคุ้นหู


โครงการนี้เริ่มดำเนินการใน 37 หมู่บ้านนำร่อง และพื้นที่ขยาย 133 หมู่บ้าน ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วยจังหวัดยะลา จังหวัดปัตตานี และจังหวัดนราธิวาส บวกกับอีก 4 อำเภอ  ในจังหวัดสงขลา ประกอบด้วย อำเภอเทพา อำเภอสะบ้าย้อย อำเภอนาทวี และอำเภอสะเดา


กิจกรรมที่ดำเนินการ ในช่วงที่ผ่านมา คือ การประชุมประจำเดือนคณะกรรมการบริหารเครือข่ายฯ, ประชุมประจำเดือนแกนนำขับเคลื่อนระดับจังหวัดทั้ง 4 จังหวัด และการเปิดโรงเรียนชาวบ้านพัฒนาศักยภาพผู้นำ อันเป็นการดำเนินการภายใต้วัตถุประสงค์ ต้องการสร้างและพัฒนาศักยภาพแกนนำขับเคลื่อนให้มีทักษะในการทำงาน และสามารถวางเป้าหมายไปในทิศทางเดียวกัน, เสริมสร้างความเข้าใจในแนวทาง "หมู่บ้าน/ชุมชนศรัทธา" ให้มากยิ่งขึ้น และเพื่อสร้างจิตสำนึกสาธารณะ ให้แต่ละภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมช่วยเหลือสังคมมากยิ่งขึ้น


จากการดำเนินงานตลอดช่วงที่ผ่านมา พบว่าก่อนดำเนินกิจกรรม แกนนำขาดความมั่นใจในการดำเนินกิจกรรม, แกนนำไม่มีทักษะในการทำงานเป็นหมู่คณะ, แกนนำทำงานหลายประเด็นไม่สามารถลำดับขั้นตอนและวางเป้าหมายในกิจกรรมของตนเองได้ชัดเจน ทำให้มองไม่เห็นพัฒนาการของตัวเอง เพื่อยกระดับสู่กิจกรรมที่เหนือขึ้นไปได้, แกนนำขาดทักษะการวางแผนในการขับเคลื่อนงานอย่างเป็นระบบ


ประเด็นที่น่าสนใจ ก็คือ กิจกรรมพัฒนาที่ผ่านมาส่วนมากไม่ได้อยู่บนหลักศรัทธา ส่งผลให้เกิดปัญหาการทุจริต ความมั่นใจในการรับผิดชอบงานยังไม่เต็มที่ แกนนำดำเนินกิจกรรมในหลายองค์กรไม่บูรณาการกัน ทำให้สิ้นเปลืองเวลาและงบประมาณ และแกนนำขาดการคิดค้นการทำงานในลักษณะองค์กรอย่างแท้จริง ทำให้พลังแห่งการสร้างความสำเร็จเหลือน้อยลง อีกทั้ง ทำให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องต่อยอดงานลำบากเพราะขาดเจ้าภาพดำเนินการ


ทว่า หลังดำเนินกิจกรรม กลับส่งผลในเชิงบวกอย่างเห็นได้ชัด เริ่มจากแกนนำมีความมั่นใจในการดำเนินกิจกรรมมากขึ้น, แกนนำได้เรียนรู้ทักษะในการทำงานเป็นทีม เกิดความตระหนักในการลำดับกิจกรรม และสร้างเป้าหมายที่ชัดเจน สามารถพัฒนาการวางแผนงานได้เป็นระบบมากขึ้น เริ่มใช้หลักศรัทธาเข้ามาในการดำเนินกิจกรรมที่ทำร่วมกับชาวบ้าน และเริ่มการคิดค้นนวัตกรรมการสร้างองค์กรของตัวเอง


สำหรับงานในพื้นที่เป้าหมาย แยกเป็น พื้นที่นำร่อง 37 หมู่บ้าน และพื้นที่ขยาย 133 หมู่บ้าน มีกิจกรรมกิจกรรมที่ดำเนินการไปแล้ว ประกอบด้วย เวทีทำแผนชุมชนพึ่งตนเอง และการดำเนินการกิจกรรมตามแผนชุมชนฯ


เป็นการดำเนินการภายใต้วัตถุประสงค์ เพื่อการพัฒนาวิถีชีวิตตามหลักศาสนาที่ถูกต้อง, เพื่อพัฒนาหมู่บ้าน/ชุมชนสู่สันติ, เพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตที่ดีงามของหมู่บ้าน/ชุมชน, เพื่อวางรากฐานการพัฒนาแห่งการพึ่งพาตนเอง  และเพื่อวางรากฐานการพัฒนา และส่งต่อสู่การพัฒนาอื่นๆ ได้


ประเด็นที่น่าสนใจ คือ ก่อนดำเนินการกิจกรรม ผู้นำหมู่บ้าน ไม่มั่นใจในบทบาทหน้าที่ของตัวเอง ต่างหวาดระแวงกันและกัน โดยเฉพาะระหว่างผู้ใหญ่บ้านกับโต๊ะอิหม่าม ด้วยมองว่าผู้ใหญ่บ้านเป็นคนของทางราชการ ไม่ค่อยมีความรู้ทางศาสนา ส่วนโต๊ะอิหม่ามเป็นผู้มีความรู้ทางด้านศาสนา สามารถตัดสินแก้ปัญหาต่างๆ ได้ดีกว่า


นอกจากนี้ ยังพบว่า ชาวบ้านไม่ค่อยเชื่อมั่นในระบบงานพัฒนาของทางราชการ เพราะขาดความต่อเนื่อง ส่งผลให้ชาวบ้านขาดความกระตือรือร้นที่จะเข้ามีส่วนร่วม เนื่องจากที่ผ่านมายังไม่เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ขณะที่ผู้นำส่วนใหญ่แตกความสามัคคี บางพื้นที่ถึงขั้นรุนแรง ส่งผลให้แผนชุมชน ที่มีการจัดทำเป็นรูปเล่มอย่างดี กลับขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริงตามไปด้วย


ทว่า หลังจากดำเนินการกิจกรรม ผู้นำเริ่มตระหนักและเห็นความสำคัญของตัวเอง มีความมั่นใจในการทำงานร่วมกัน เนื่องจากมีกฎหมายรองรับ และมีผู้คอยประสานงานกิจกรรมให้, มีความเชื่อใจมากขึ้น เนื่องจากประชาชนได้พูดคุยกัน ผ่านการเปิดโอกาสให้ชาวบ้านเป็นตัวหลักในการทำกิจกรรม ส่งผลให้ชาวบ้านมีความกระตือรือร้นมากขึ้น เพราะเป็นกิจกรรมที่อ้างอิงอยู่กับหลักศาสนา และใช้กระบวนการการมีส่วนร่วม


สิ่งที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง ก็คือ มีผู้นำหลายแห่งใช้กิจกรรมเป็นเครื่องมือในการประสานความสามัคคีกลับคืนมา สำหรับแผนชุมชนพึ่งตนเอง จำเป็นต้องค่อยๆ พัฒนาตามทิศทางของชาวบ้าน โดยไม่ต้องเร่งรีบ เพื่อให้ชาวบ้านรู้สึกเป็นเจ้าของให้มากที่สุด


ถึงกระนั้น ทุกพื้นที่ต่างมีปัญหาที่ต้องแก้ไข วิธีการที่นำมาใช้ ก็คือ การชี้แจงพูดคุยอย่างเป็นกันเอง จนกระทั่งเกิดความเข้าใจ สามารถทำกิจกรรมได้ บางครั้งจำเป็นต้องมีการสับเปลี่ยนแกนนำระหว่างจังหวัด เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจกับบุคคลที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่


สำหรับพื้นที่นำร่องทุกพื้นที่ในจังหวัดสงขลา ชาวบ้านไม่ถนัดในการพูดคุยภาษาไทย จำเป็นต้องเชิญแกนนำจากพื้นที่จังหวัดปัตตานีไปทำเวที แต่ก็เป็นนิมิตหมายที่ดี ที่คนในพื้นที่จังหวัดสงขลาเกิดการปฏิสัมพันธ์กับคนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะโดยปกติไม่ค่อยมีกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์กันมาก่อน


ในส่วนของกิจกรรมที่จะดำเนินการต่อไป ประกอบด้วย การดำเนินการกิจกรรมร่วมในพื้นที่นำร่อง เช่น กิจกรรมการพัฒนาระบบกลุ่มออมทรัพย์ของหมู่บ้าน ซึ่งสามารถต่อยอดสู่การตั้งกองทุนงานพัฒนาชองบุคลากรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้, การจัดทำแผนชุมชนพึ่งตนเองและดำเนินกิจกรรมร่วมในพื้นที่ขยาย, กิจกรรมติดตามและประเมินผลกิจกรรมในหมู่บ้านนำร่องและพื้นที่ขยาย, เวทีสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างหมู่บ้าน, กิจกรรมเชื่อมโยงเครือข่ายหมู่บ้าน เช่น การศึกษาดูงาน การสัมมนา เป็นต้น, กิจกรรมรวบรวมองค์ความรู้และผลิตสื่อเผยแพร่ และกิจกรรมพัฒนาศักยภาพผู้นำ หรือโรงเรียนชาวบ้าน 


แนวทางการดำเนินการโครงการหมู่บ้าน/ชุมชนศรัทธา ในระดับโครงการ จัดสัมมนาแกนนำขับเคลื่อน เพื่อสร้างความเข้าใจ จัดกลไกขับเคลื่อน กำหนดเป้าหมาย ขั้นตอนการดำเนินการ, พบปะบรรดาผู้นำศาสนา นักวิชาการ นักพัฒนา เพื่อสร้างความเข้าใจ สอบถามความคิดเห็น เพื่อกำหนดวัตถุประสงค์ เป้าหมาย วิธีการดำเนินการ ให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน 


นอกจากนี้ ยังเน้นการประสานงาน/สัมมนาผู้นำทุกหมู่บ้าน เพื่อสร้างความเข้าใจ เตรียมพื้นที่ในการเปิดเวที รับฟังข้อคิดเห็นเพื่อนำมาปรับปรุง กำหนดแนวทางการดำเนินงาน, การเก็บข้อมูลพื้นฐานของหมู่บ้าน เช่น ขนาดของหมู่บ้าน จำนวนประชากร สภาพปัญหา จุดแข็ง จุดอ่อนของหมู่บ้าน, เปิดเวทีสร้างความเข้าใจในระดับหมู่บ้าน, ให้ผู้นำประสานงานกับชาวบ้านให้มีความหลากหลายในเวที ทั้งหญิงชาย เยาวชน ผู้สูงอายุ นักการศาสนา ข้าราชการ เป็นต้น 


พร้อมกับจัดเวทีกระบวนการสร้างแผนชุมชนพึ่งตนเอง เพื่ออธิบายให้ประชาชนจัดกิจกรรมที่มีลักษณะการพึ่งพาตนเอง เกิดการรวมกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มออมทรัพย์ ส่วนการจัดโครงสร้างให้ไปโดยธรรมชาติที่สุด, ส่งเสริมให้ผู้นำกับชาวบ้านดำเนินกิจกรรมร่วมในหมู่บ้าน ใช้กิจกรรมร่วมเป็นเครื่องมือในการสร้าง และการพัฒนา ภายใต้หลักการกระบวนการมีส่วนร่วม 


จากนั้น กำหนดให้แกนนำขับเคลื่อนติดตาม ประเมินผลกิจกรรมหมู่บ้าน โดยให้แกนนำขับเคลื่อนแต่ละจังหวัด เข้าไปประเมินและติดตามกิจกรรมเป็นระยะๆ พร้อมกับรวบรวมข้อมูลทั้งหมด, การจัดเวทีสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างหมู่บ้าน เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ สามารถนำความรู้ที่ได้ไปพัฒนากิจกรรมในหมู่บ้านของตนเองได้, ปรับปรุงพัฒนากิจกรรมในหมู่บ้าน โดยใช้เกณฑ์ตัวชี้วัดและลักษณะของการเป็นชุมชนศรัทธาเป็นตัวนำทาง ในการดำเนินกิจกรรมและการต่อยอด 


ต่อด้วย กิจกรรมเชื่อมโยงเครือข่ายหมู่บ้าน การดำเนินการเพียงหมู่บ้านเดียวไม่สามารถสร้างพลังแห่งการเรียนรู้อย่างเป็นระบบได้ ฉะนั้นการสร้างเครือข่ายที่ดีแต่ละหมู่บ้านสามารถเชื่อมโยง แลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้ตลอดเวลา และสร้างพลังการต่อรองที่ดีเพื่อประโยชน์ของชุมชนได้, รวบรวมองค์ความรู้และผลิตสื่อเผยแพร่กิจกรรมหมู่บ้าน รณรงค์สร้างกระแส "หมู่บ้าน/ชุมชนศรัทธา" นำเสนอต้นแบบของหมู่บ้านที่ประสบความสำเร็จ 


ประเด็นสำคัญ ของโครงการนี้ อยู่ที่การพัฒนาศักยภาพผู้นำ หรือโรงเรียนชาวบ้าน เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในงานพัฒนา จำเป็นต้องสร้างผู้นำหรือแกนนำในพื้นที่มีทักษะการจัดการที่ดี มีการเรียนรู้ตลอดเวลา สร้างองค์ความรู้จากการได้ปฏิบัติกิจกรรมด้วยตนเองเป็นหมู่คณะ 


ทั้งนี้ ในระดับหมู่บ้านแลชุมชน มีการประสานงาน 4 เสาหลัก  และเก็บข้อมูลพื้นฐานของหมู่บ้าน, เปิดเวทีสร้างความเข้าใจในระดับหมู่บ้าน, จัดเวทีกระบวนการสร้างแผนชุมชนพึ่งตนเอง และจัดตั้งคณะกรรมการหมู่บ้าน, สนับสนุนให้ผู้นำกับชาวบ้านดำเนินกิจกรรมร่วมกันในหมู่บ้าน เพื่อแก้ปัญหา หรือพัฒนาด้านต่างๆ


ด้วยการใช้กิจกรรมร่วมเป็นเครื่องมือ ในการพัฒนากระบวนการกลุ่มของคณะกรรมการหมู่บ้านกับชาวบ้าน สร้างกฎกติกาของหมู่บ้าน (ฮูถมปากัต) ใช้หลักการซูรอ และสร้างความรู้สึกในการเป็นเจ้าชองงานพัฒนา เน้นกิจกรรมเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยบูรณาการกับหลักการทางศาสนา พร้อมกับสร้างความรักความสามัคคี เช่น กิจกรรมบูรณะศาสนสถาน กิจกรรมทางประเพณีวัฒนธรรม การส่งเสริมอาชีพ ตาดีถา กีรออาดี การบรรยายธรรมและการอยู่ร่วมกันในพหุสังคม การเสริมสร้างสถาบันครอบครัว การแก้ปัญหายาเสพติด ส่งเสริมกิจกรรมเยาวชน การส่งเสริมอาชีพ ศูนย์เด็กกำพร้าและผู้สูงอายุ การดูแลสุขภาพและกีฬา กิจกรรมกลุ่มออมทรัพย์ การสอนภาษาไทยนอกระบบโรงเรียน เป็นต้น


ในขั้นตอนนี้หน่วยงานที่มีความชำนาญเฉพาะทาง (หน่วยงานรัฐหรือเอกชน) ควรเข้าไปส่งเสริมดูแลร่วมกับผู้นำแลพชาวบ้าน โดยให้ชาวบ้านได้เกิดเรียนรู้ท่ามกลางการปฏิบัติงานจริง


ส่งเสริมให้แกนนำขับเคลื่อนติดตาม และประเมินผลกิจกรรมหมู่บ้านเป็นระยะๆ โดยใช้ตัวชี้วัดความสำเร็จและลักษณะของชุมชนศรัทธา เป็นแนวในการติดตามความคืบหน้าของการพัฒนากิจกรรมในหมู่บ้าน เช่น ใช้มัสยิดเป็นศูนย์กลางในการทำกิจกรรมหรือประชุม ความสมัครสมานสามัคคีชุมชนมีความสะอาด เกิดระบบการซูรอ ปลอดอบายมุข ระบบฐานข้อมูลชุมชน การรวมกลุ่ม เกิดวิสาหกิจชุมชน ผู้นำครอบครัวอยู่ในหลักศาสนา ผู้นำมีจิตสำนึกสาธารณะและอยู่ในหลักธรรม คนในชุมชนมีระเบียบวินัย เป็นต้น


การจัดเวทีสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างหมู่บ้าน, ปรับปรุงพัฒนากิจกรรมในหมู่บ้าน และพัฒนาคณะกรรมการหมู่บ้าน, กิจกรรมเชื่อมโยงเครือข่ายหมู่บ้าน, รวบรวมองค์ความรู้ และผลิตสื่อเผยแพร่กิจกรรมหมู่บ้าน


และทั้งหมดนี้คือหลากหลายกิจกรรมที่จะนำไปสู่การพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ ผ่านการสร้างผู้นำที่เข้มแข็งให้กับชุมชน ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่กำลังเริ่มผลิดอกออกผลอยูในเวลานี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net