Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าเราใส่เสื้อเหลืองที่สงขลา หรือภูเก็ต แต่คุณจะโดนแม่ค้าไล่ออกจากร้านก๋วยเตี๋ยวหากมาใส่ที่เชียงราย หรืออาจถูกลากไปอัด หากไปใส่ที่เชียงใหม่... ในทางกลับกันหากวันนี้คุณไปใส่เสื้อแดงที่ภูเก็ต สงขลา หรือเพชรบุรี จะไม่มีใครรับรองได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับคุณ....


 


หรือว่าวันนี้ความแตกต่างของ "ความคิดทางการเมือง" ทำให้สังคมไทยกลายเป็นสังคมแห่งความแปลกแยกชิงชังจนไม่มีที่ว่างสำหรับความคิดเห็นที่แตกต่างแล้วหรือ


 


ท่ามกลางปรากฏการณ์แบ่งฝักแยกฝ่ายระหว่างคนเสื้อเหลือง-เสื้อแดงในวันนี้ สังคมไทยได้เรียนรู้อะไรจากเรื่องเหล่านี้บ้าง ไม่ต้องพูดถึงว่าฝ่ายใดจะชนะหรือแพ้ และความแปลกแยกจะพัฒนาไปสู่การแยกตัวของรัฐชาติ เหมือนหลายๆ ประเทศในโลกอย่างที่หลายคนเริ่มหวาดวิตกหรือไม่ นั่นยังเป็นสมมุติฐานที่ไม่ชัดเจนพอ แต่ท่ามกลางกระแสความขัดแย้งเหล่านี้สังคมไทยจะช่วยให้เกิดการปรับตัวของผู้คนที่ตกอยู่ท่ามกลางสายธารน้ำหลากได้อย่างไรบ้าง โดยเฉพาะเมื่อต้องตกอยู่ในสภาพของ "คนกลุ่มน้อย" ในท่ามกลางคนคิดต่างที่เต็มไปด้วยความเครียดแค้นชิงชัง


 


แน่นอนว่า "สังคม" / "ชุมชน" มีส่วนในการกำหนดบรรทัดฐานพฤติกรรมของสมาชิกว่าควรจะทำตัวอย่างไร อะไรถูกต้องเหมาะสมตามที่สังคมนั้นๆ ยึดถือ เมื่อพฤติกรรมของบุคคลใดเบี่ยงเบน (Deviance) ออกไปจากวิถี สังคมก็จะเข้ามาจัดการกับพฤติกรรมนั้นหนักเบาตามแต่กรรมและวาระ ที่ผ่านมาสังคมไทยมีความยืดหยุ่นสูง สามารถจัดการกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้ดีพอสมควรด้วยการเปิด "ที่ว่าง" ให้สำหรับความแตกต่างให้พอมีพื้นที่ดำรงอยู่ได้ เราถึงไม่ต้องแยกประเทศเหมือนอย่างเวียดนามหรือเกาหลี


 


ตัวอย่างเช่น เมื่อเกิดความแปลกแยกขึ้น สังคมไทยเลือกบริหารความขัดแย้งจากมาตรการเบาๆ เช่นการเยาะเย้ย ล้อเลียน (เช่น ล้อเลียนว่าเป็น "ตัวตลก" หรือเป็น "เพี้ยนๆ" แต่สังคมยกโทษให้ ไม่ถือสา) การติฉินนินทา ตำหนิติเตียน ดุด่าห้ามปราม จนถึงเลิกคบหาสมาคม หรือหนักขึ้นมาอีกหน่อยก็ถึงขั้นกล่าวหาให้ร้าย หรือป้ายมลทินให้ (Stigma) เช่น กล่าวหาว่าเป็น "ผีปอบ" ฯลฯ ซึ่งร้ายแรงที่สุดก็เพียงการขับไล่ออกจากชุมชนหรือสังคมนั้นๆ ไม่ถึงขั้นฆ่าแกง เผาทำลายเหมือนอย่างสังคมตะวันตก (เช่นกรณีกล่าวหาว่าคนเป็นแม่มดแล้วลงโทษด้วยการเผาทำลาย)


 


นอกจากนี้ทางออกที่สังคมเปิดช่องให้แก้ไขปัญหาความขัดแย้งก็ไม่ยุ่งยากซับซ้อนนัก เพียงแค่การแยกตัว หรือปิดบังอำพราง หรือแม้กระทั่งพยายามทำตัวให้กลมกลืนกับวิถีของคนในสังคมส่วนใหญ่ก็สามารถดำรงชีวิตอย่างปกติสุขเช่นเดิมได้ อย่างไรก็ตามทางแก้ไขแบบเดิมนี้อาจจะไม่สามารถตอบ "ความรู้สึกในใจ" ของคนปัจจุบันได้มากนัก ถึงกับเคยได้ยินคำบ่นดังๆ ว่า "ให้ปกปิดว่าเป็นเสื้อสี....ยากกว่าบอกว่าเป็นกะเทยเสียอีก" ... (ขออภัยไม่มีเจตนาดูหมิ่นใดๆ)


 


ไม่ใช่เรื่องแปลกที่มาถึงวันนี้สังคมไทยไม่สามารถจัดการกับความแปลกแยกชิงชังที่เกิดขึ้นได้มากนัก อาจเป็นเพราะ "ความคิดความเชื่อทางการเมือง" เป็นปมของปัญหาที่อ่อนไหว ซับซ้อน และเกี่ยวข้องกับอัตลักษณ์ ตัวตนของผู้คนร่วมสมัยมากกว่าเรื่องราวทางสังคมด้านอื่น ๆ หากจะกล่าวว่าพฤติกรรมของมนุษย์เกิดขึ้นจากการนิยามความหมายที่เขามีต่อโลกรอบตัว แสดงว่าถึงวันนี้คนในสังคมไทยเลือกที่จะเอาตัวตนเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องราวของ "การบ้านบ้านเมือง" มากขึ้น (ไม่ได้ปล่อยให้เป็นเรื่องของเจ้านาย หรือขุนนาง เช่นในอดีต)


 


ถามว่า แล้วรากเหง้าของความคิด ความเชื่อ ที่แตกต่างจนสะสมเป็นความขัดแย้ง และความรุ่นแรงเหล่านี้มาจากไหน อาจตอบได้ว่ามาจากการรับรู้โลก และความเป็นไปของสังคมที่แต่ละคนแต่ละกลุ่มได้รับรู้ บางทีอาจเป็นเพราะคนส่วนใหญ่หลงลืมเรื่องง่ายๆ ที่ว่า ความคิดทางการเมืองพัฒนาได้ เปลี่ยนแปลงได้ แต่บังคับให้ใครเชื่อตามไม่ได้ ดังนั้นสังคมไทยวันนี้จึงแทบไม่เหลือพื้นที่สำหรับการแลกเปลี่ยน ถกเถียง หรือความคิดต่างมากนัก การรับรู้ของคนส่วนใหญ่จึงกลายเป็น "ความเชื่อแบบขาดสติ" และหัวใจที่ถูกปิดกั้นซึ่งมีแต่จะนำไปสู่ความแตกแยกร้าวลึกของสังคม


 


หนึ่งในหนทางแก้คือเราต้องกลับไปทบทวนและช่วยกันสร้างสังคมแห่งปัญญาให้มากยิ่งขึ้นนั่นเอง...


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net