Skip to main content
sharethis




เมื่อวันที่ 29 ..51  มูลนิธิชัยพัฒนา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ (TDRI) ร่วมกันจัดงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2551 "เรื่องสู่การเติบโต อย่างมีคุณภาพและยั่งยืน"(Sustaining Long-term Growth) ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ซิตี้ จอมเทียน จังหวัดชลบุรี


 


นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานสภาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย กล่าวเปิดงานในครั้งนี้ว่า  โจทย์สำคัญอยู่ที่วิกฤตเศรษฐกิจโลก วิกฤตเศรษฐกิจเสรีที่นำโดยสหรัฐอเมริกาเหตุการณ์วิกฤตของสหรัฐฯ กำลังจะทำให้ระบบเศรษฐกิจเดินต่อไปไม่ได้เมื่อเป็นเช่นนี้ ประเด็นการมีส่วนร่วมถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง  นอกจากนี้ยังต้องเร่งพัฒนาประเทศด้วยการกระจายโอกาสให้แก่ประชาชนในประเทศให้ทั่วถึง เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถรับมือกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่มีผลกระทบต่อประเทศไทยได้ สำหรับแนวทางในการดำเนินการคือไทยจะต้องปรับ ปรุงระบบและโครงสร้างกฎหมายเชิงสถาบันที่ก่อให้เกิดต้นทุนต่อระบบเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและเรื้อรัง จนทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียความสามารถในการพัฒนาบุคลากรของประเทศ เพื่อให้สามารถแข่งขันทางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมกับประเทศอื่นๆ ได้


ส่วนการปรับแต่งระบบเศรษฐกิจเสรีคงไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าจะทำอย่างไร แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแน่ๆ สำหรับประเทศไทย คือรัฐจะเข้ามากำกับดูแลมากขึ้น ซึ่งถ้าการบริหารจัดการ และการกำกับดูแลของรัฐไม่มีประสิทธิภาพ ไม่สมดุล ไม่พอดี ระบบเศรษฐกิจก็จะหยุดชะงักลงได้ ดังนั้น การบริหารจัดการการมีส่วนร่วมที่รัฐและทุกฝ่ายต้องให้ความสำคัญ


 


ส่วนวงสัมมนา "เติบโตอย่างไรจึงมีคุณภาพอย่างยั่งยืน" สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาเศรษฐกิจส่วนรวม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย พูดในเรื่องของการประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจไทยท่ามกลางวิกฤตการณ์เศรษฐกิจการเงินโลก กล่าวว่าผลกระทบที่เกิดกับไทยเมื่อเศรษฐกิจของโลกมีปัญหา เศรษฐกิจของไทยจะมีปัญหาหรือไม่ว่า เมื่อดูจากตัวเลขการขยายตัวเศรษฐกิจล่าสุดของ IMF ซึ่งออกมาเดือนนี้ซึ่งมองได้ 3 ตัวใหญ่ๆ คือ อียู ญี่ปุ่น อเมริกา จะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีหน้าแน่นอน จีนยังคงดีอยู่ถึงแม้ว่าจะชะลอตัวลงบ้าง ส่วนอาเซียน IMF ยังบอกว่ายังอยู่ในขั้นดี จะเจอผลกระทบไม่มาก และราคาน้ำมันเชื่อว่าคงจะอยู่ในระดับต่ำพอสมควรตลอดปีหน้า ส่วนในเรื่องของการปรับการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำจะไม่มีการปรับขึ้นตลอดปี 2552 ซึ่งเรื่องของการประกอบการระยะปานกลางอย่างเช่นภาย 3-5 ปีนั้นจะเป็นอย่างไร ต้องขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจด้วย ถ้ามองว่าวิกฤตการเงิน วิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นในครั้งนี้จริงๆ แล้วคือจุดเริ่มต้นของกระบวนการปรับตัวเพื่อแก้ปัญหาความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลก ซึ่งเป็นเรื่องที่บอกเรามาเป็นสิบๆปีแล้ว เพราะฉะนั้นกระบวนการตรงนี้ก็น่าจะใช้เวลาไม่น้อยเช่นกัน อย่างน้อยก็ประมาณ 2-3 ปีเป็นอย่างน้อย ซึ่งในส่วนของไทยเองก็น่าจะต้องเข้าร่วมในการปรับตัวนี้เช่นกัน คือจะต้องพึ่งพิงอุปสงค์ภายในมากขึ้น พึ่งการส่งออกอย่างเดียวไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการลงทุนและการขยายตัวของภาครัฐ ซึ่งจะปรับตัวได้มากน้อยเท่าไรนั้นมันก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุน และรัฐบาลเองที่จะต้องมีบทบาทมากขึ้น คงจะต้องมีการบริหารการคลังที่อย่างสมเหตุสมผล


 


ในส่วนของเรื่องนโยบายการเงินและตลาดเงินตลาดทุนนั้นสิ่งที่ไม่ควรทำคือไม่ควรใช้เม็ดเงินพยุงตลาดหุ้น เนื่องจากประสิทธิผลไม่ชัดเจน ซึ่งเมื่ออัดเงินไปแล้วก็ไม่แน่ว่าดีขึ้นหรือไม่ เพราะว่าหุ้นจะขึ้นกับตลาดหุ้นโลกเป็นหลัก และควรให้ปรับขึ้นเองตามกลไกตลาด และประการต่อมาคือไม่ควรที่จะให้ธนาคารขยายสินเชื้อ เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงของสถาบันการเงินและผู้กู้ในช่วงที่อุปสงค์ต่ำ


 


เรื่องที่จะฝากคือเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงจะเกิดภาวะเงินฝืดในปีหน้า เหตุผลก็คือว่ามีการถดถอยการผลิตของภาคเอกชน ซึ่งเมื่อเกิดภาวะเงินฝืดนั้นมันจะทำให้บรรยากาศการลงทุนนั้นแย่มาก เพราะฉะนั้นภาคเอกชนควรที่จะเตรียมตัวรับมือความผันผวนในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนในระยะปานกลาง โดยเฉพาะการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ


 


วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านหลักประกันทางสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย พูดถึงผลกระทบต่อการจ้างงานและอัตราการว่างงาน กล่าวว่าผลกระทบต่อการว่างงาน ผลกระทบของเศรษฐกิจโลกค่อนข้างรุนแรง และกดดันภาวการณ์เติบโตของเศรษฐกิจไทยก็ค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะในไตรมาส 1 จะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจประมาณร้อยละ 0.1 เท่านั้น ทำให้ความต้องการแรงงานภาคเอกชนลดน้อยลงตามไปด้วย ซึ่งการเลิกจ้างของทางผู้ประกอบการจะใช้วิธีการลดชั่วโมงการทำงานของลูกจ้างลงก่อน โดยยังไม่ทำการเลิกจ้างทันที ก็จะบางที่สถานประกอบการบางแห่งที่อยู่ไม่ได้ก็จะลดการจ้างงานลงโดยทันที ซึ่งการจ้างงานของภาคเอกชนที่สถานประกอบการที่อยู่นอกภาคการเกษตร ที่จะมีการลดการจ้างงานลงที่อยู่ในไตรมาส 1 ประมาณ 500,000 คน ผู้ที่ถูกเลิกจ้าง 500,000 คน ประมาณครึ่งหนึ่งจะมีสิทธิได้รับเงินประกันการว่างงาน เนื่องจากได้ทำงานมาแล้วอย่างต่ำ 6 เดือน ก็คือว่าจะมีสิทธิที่จะได้รับเงินจากสำนักงานประกันสังคม ผู้ถูกเลิกจ้างจำนวนหนึ่งจะสามารถหางานใหม่ได้ กับอีกจำนวนหนึ่งก็จะถูกถ่ายโอนไปสู่ภาคการเกษตร ซึ่งโดยรวมแล้วในไตรมาส 1 ของปี 2552 กำลังแรงงานของเราจะเพิ่มขึ้น แต่การสร้างงานในตลาดแรงงานในระบบลดลง แรงงานในระบบคือคนที่เป็นลูกจ้างนอกภาคการเกษตร รวมตั้งแต่เอกชน ราชการ รัฐวิสากิจ ผู้ว่างงานทั้งหมด 880,000 คน จะทำให้อัตราการว่างงานเป็น 2.34%


 


ผู้ว่างงานในไตรมาสที่ 1 จะไม่เหมือนกับผู้ว่างงานในปี 40 เนื่องจากในปี 40  ภาคก่อสร้างลดการจ้างงานลงถึง 900,000 คน แต่ไตรมาสที่ 1 ปี 52 ภาคที่ได้รับผลกระทบจะเป็นอุตสาหกรรมท่องเที่ยว อุตสาหกรรมการผลิต ไม่ว่าจะเป็น เครื่องจักรและอุปกรณ์ เหล็กและเหล็กกล้า เครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีเครื่องประดับ และพวกยานยนต์-ชิ้นส่วน ซึ่งพวกว่างงานส่วนใหญ่จะมีการศึกษาระดับมัธยมต้นและปลายเป็นหลัก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรกนิกส์ประมาณ 50% จะเป็นพวกมีการศึกษามอต้นมอปลาย


 


ซึ่งมาตรการช่วยเหลือผู้ว่างงานส่วนหนึ่งจะได้รับเงินประโยชน์ทดแทนโดยเฉลี่ย 4,000 บาทต่อเดือนซึ่งเป็นกลไกที่สามารถช่วยเหลือแบ่งเบาผู้ว่างานให้สามารถยังดำเนินชีวิตประจำวันได้ ซึ่งนโยบายด้านแรงงานที่ควรจะทำคือรัฐควรตรวจสอบในเรื่องของการลดชั่วโมงการทำงานของนายจ้างและรัฐควรที่จะมีการการจ่ายเงินสมทบประกันสังคมเพื่อประกันสุขภาพและว่างงานแทนนายจ้างและลูกจ้าง วิธีนี้สามรถทำให้ลูกจ้างสามารถมีเงินเหลือเก็บกลับไปใช้ที่บ้านได้มากขึ้น ซึ่งนโยบายที่ไม่ควรจะทำคือการที่นำเงินจากกองทุนประกันสังคมไปใช้จ่ายนอกกรอบการจ่ายเพื่อสิทธิประโยชน์


 


อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย พูดถึงกรอบแนวคิดของข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย กล่าวว่ากรอบแนวคิดจุดแรกก็คือว่าจะลดแรงกระแทกที่มาจากวิกฤติการณ์โลก ซึ่งพระเอกแก้ปัญหาต้องเป็นด้านนโยบายการคลัง นโยบายการเงินทำอะไรไม่ได้หรือทำได้น้อย หลักการที่เราคำนึงเวลาเราเสนอว่าควรหรือไม่ควรทำอะไรนั้น มีอยู่ 3 อย่าง 1.ต้องเป็นมาตรการที่กระจายเม็ดเงินสู่ระบบได้อย่างรวดเร็ว 2.ต้องเป็นมาตรการที่สามารถเลิกได้ในอนาคตเวลาผ่านพ้นวิกฤติไปแล้ว เพราะฉะนั้นเราจะชอบมากกว่าที่จะใช้จ่ายเงินรัฐบาลคือใช้แล้วถอนได้เมื่อถึงเวลา 3.ไม่เน้นการลดภาษีเพราะถ้าลดภาษีแล้วจะเพิ่มขึ้นไม่ได้ ซึ่งการลดภาษีพูดถึงเม็ดเงินไปถึงประชาชนจะเร็วมันมีข้อดีในประเด็นแรก แต่มีข้อเสียก็คือว่าลดแล้วถอนไม่ได้


 


ในรายละเอียดของมาตรการต่างๆไม่ว่าจะเป็นในส่วนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโครงการใหญ่ต่างๆที่มีอยู่ควรที่จะเร่งดำเนินการให้โครงการนั้นเสร็จไปโดยเร็ว ไม่ควรที่จะมั่วแต่มานั่งแบ่งเค้กกันอยู่ และไม่แนะนำให้ริเริ่มโครงการใหญ่ใหม่เข้ามา และควรเร่งปรับปรุงในภาคสังคมเช่น โรงเรียน ห้องสมุด โรงพยาบาล และเร่งผลิตบุคลกรที่ขาดแคลน


 


อันต่อมา มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทางด้านภาษี ไม่ควรที่จะลดภาษีเงินได้นิติบุคคล เนื่องมันไม่ตรงเป้ากับผู้ที่เดือนร้อนและไม่มีผลกระตุ้นเศรษฐกิจ และไม่ควรลดภาษีมูลค่าเพิ่ม อันหนึ่งที่น่าจะทำได้ชั่วคราวได้คือรัฐบาลจ่ายเบี้ยประกันสังคมแทนนายจ้างและลูกจ้างในส่วนของประกันสุขภาพและประกันการว่างงาน


 


อีกส่วนหนึ่งคือมาตรการช่วยเหลือกลุ่มคนฐานราก ควรอุดหนุนค่าครองชีพอย่างที่รัฐบาลทำมา เช่นรถโดยสารฟรี แต่ต้องคำนึงผลกระทบต่อรัฐวิสากิจที่เป็นให้ผู้ให้บริการและเอกชนที่เป็นผู้ร่วมให้บริการ และในส่วนของโรงเรียนนั้นที่รัฐบาลมีนโยบายฟรีมานานแล้ว แต่ก็ไม่ฟรีจริง ควรที่จะให้รัฐบาลผลักดันให้มีการศึกษาฟรีอย่างแท้จริง อย่าไปขี้เหนี่ยวเงินค่าหัวที่จ่ายให้กับโรงเรียน และในเรื่องของการรับประกันสินค้าเกษตรของรัฐบาลควรที่จะยกเลิกได้แล้ว เพราะคิดมันฉ้อฉล แต่ไม่ใช้ไม่ให้ช่วยเหลือเกษตรกร สิ่งที่รัฐบาลทำได้คือให้ประกันความเสี่ยงจากเกษตรกรแทน


 


อำพน กิตติอำพล เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า สำหรับความหมายของการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน เป็นแผนที่ต้องพัฒนาเพื่อสร้างให้เกิดความสมดุลในเรื่องของทุนเศรษฐกิจ ทุนสังคม และทุนทางด้านทรัพยากรสิ่งแวดล้อม การสร้างความความยั่งยืนจึงต้องทำให้ "ทุกคนในสังคมมีความสุขร่วมกัน" จากปรัชญาที่เกิดจากการนำเศรษฐกิจพอเพียงมาคิดวิเคราะห์ ซึ่งทุนทางด้านเศรษฐกิจในประเทศไทยเราจะไปพึ่งพากับภายนอกค่อนข้างมาก เป็นโครงสร้างเศรษฐกิจที่ไม่พึ่งพาคนในประเทศ เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรให้เราทุกคนนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ให้เกิดความยั่งยืนได้


 


ส่วนประเด็นในเรื่องวิกฤตการเงินของสหรัฐที่คาดไม่ถึงว่าจะมาถึงภาคธุรกิจเร็วขนาดนี้ สำหรับในประเทศเทศไทยจะมีการรับมืออย่างไรนั้น เรื่องโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่สำคัญ เนื่องจากข้อแตกต่างระหว่างสังคมเมืองและชนบทที่มีความเหลื่อมล้ำมาก ถ้าโครงสร้างสังคมและเศรษฐกิจไม่มั่นคงก็อาจจะไปทำลายสังคมในชนบทได้ เพราะฉะนั้นการที่จะก้าวไปสู่ความยั่งยืนได้นั้น ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหัวใจที่สำคัญ


 


นวพร เรืองสกุล ประธานกรรมการธนาคารเกียรตินาคิน จำ กัด (มหาชน) กล่าว่า ความเท่าเทียมกันในสังคมไทยเป็นปัญหาที่ควรได้รับการผลักดันแก้ไข เพราะความเท่าเทียมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน มีการเข้าไปทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ทำลายแก่ง เพื่อประโยชน์ทางการเดินเรือ และการมองว่าสังคมจะยั่งยืนหรือไม่นั้นอย่าไปมองแค่เรื่องของ GDP เพราะGDP ไม่ได้เป็นคำตอบของสังคมทั้งหมด ซึ่งต้องนำปัจจัยอื่นมาชี้วัด มาเปรียบเทียบด้วยเช่นงานบัญชี งานทางสังคม หรืองานในสาขาอื่นๆ ซึ่งไม่สามารถใช้ GDP มาวัดได้


 


นอกจากนี้คุณนวพร ทิ้งท้ายไว้ว่า เรื่องของการศึกษามีความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในโรงเรียน รั้วมหาวิทยาลัย แต่จะต้องมองอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะสื่อมวลชนซึ่งเป็นมหาลัยที่ใหญ่ที่สุด ที่ได้ให้ความรู้กับประชาชนอยู่ตลอดเวลา จะเห็นได้ว่าเด็กนักเรียน นักศึกษาเมื่อตื่นขึ้นมาสิ่งที่เขาจับ และสัมผัสเป็นสิ่งแรกโดยส่วนใหญ่จะไม่ใช่หนังสือเรียน แต่จะเป็น ทีวีหรือหนังสือพิมพ์ สื่อจึงสามารถปั้นคนให้เป็นทั้ง คนดี และคนเลว ได้มากกว่ากระทรวงศึกษาธิการอย่างเห็นได้ชัด สิ่งสำคัญจึงอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้สื่อในประเทศของเราเป็นสื่อที่ดีในการสื่อสารให้ประโยชน์กับประชาชน เพื่อพัฒนาประเทศให้ไปสู่ความยั่งยืนได้อย่างแท้จริง


 


ผาสุก พงษ์ไพจิตร คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ประเด็นนโยบายการลดใช้พลังงานอย่างเพลังงานจากซากดึกดำบรรพ์ เช่นน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และควรหันไปใช้พลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น อย่างพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งนโยบายพลังงานเป็นประเด็นที่สำคัญต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตามในอีก 1-3 ปี เมื่อน้ำมันมีราคาแพงขึ้นอีกถึงตอนนั้นประเทศไทยก็จะมีระบบเศรษฐกิจที่ขึ้นอยู่กับราคาน้ำมันอีก


 


เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาสิ่งเหล่านั้นต้องมองในเรื่องที่ใกล้ตัวอย่างพลังงานหมุนเวียน ซึ่ง "ประเทศไทยมีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ" ใน 2 ประเด็น คือ1.เราสามารถที่จะผลิตวัตถุดิบเพื่อมาทำพลังงานชีวมวลได้เร็วและราคาถูกกว่าประเทศอื่น 2.เรามีพลังงานแสงแดดเยอะมาก ซึ่งเราสามารถนำมาใช้ได้ แต่เราก็ไม่สามารถใช้ประโยชน์ในสิ่งที่เรามีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดได้เลย จากการคำนวณว่าถ้าเมืองไทยใช้เนื้อที่เพียง 0.037%ของพื้นที่ทั้งหมด ประมาณ 14 ตารางกิโลเมตรของประเทศ ติดตั้ง Sola Panel เราจะมีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอ ตรงนี้ก็ยังมีปัญหาทางเทคนิคอยู่บ้าง แต่ไม่ถึงกับต้องล้มเลิกหรือไม่มีทางเสียเลย ถ้าหากเราพร้อมที่จะลงทุน พร้อมที่จะเปลี่ยนทัศนะคติแบเดิมๆ


 


อย่างไรก็ตามการกำกับนโยบายที่ยังจำกัดอยู่ในวงแคบและมีแนวโน้มที่จะไม่รับฟังความเห็นของนักวิชาการข้างนอกหรือประชาชนที่อาจมีความเห็นต่างซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนอยู่ และจากการเสนอแผนนโยบายเรื่องพลังงานปี 2007 มีการเสนอเพื่อสนองความต้องการใช้พลังงานในอนาคต ซึ่งแหล่งที่มาของพลังงานจากแผนนี้หลักๆจะมาจากนิวเคลียร์ น้ำมัน แก๊ส และถ่านหิน โดยได้ให้ความสำคัญกับชีวมวลหรือพลังงานแสงอาทิตย์น้อยมาก


 


ผาสุก ทิ้งท้ายไว้ว่า นอกจากการเปลี่ยนในเรื่องทัศนะคติแล้วทางรัฐบาล กระทรวงพลังงานต้องช่วยผลักดันในเรื่องเทคโนโลยีการใช้พลังงานหมุนเวียนให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น


 


นิพนธ์ พัวพงศกร ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า สิ่งสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ต้องให้ความสำคัญในเรื่องของ "พฤติกรรมทางด้านเศรษฐกิจของชนชั้นกลาง" ว่าคนชั้นกลางในระดับล่างกับคนชั้นกลางในระดับบนมีชีวิตอย่างไร ความหมายของชนชั้นกลางจะไม่ตายตัว เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพเศรษฐกิจ ซึ่งแนวคิดคนชั้นกลางในทางเศรษฐศาสตร์มี 3 แนวคิด 1.แนวคิดคนชั้นกลางเป็นบ่อเกิดของนายทุน ซึ่งถ้าทำแบบนี้ความเจริญและการพัฒนาก็จะตามมา 2.แนวคิดที่ให้คนชั้นกลางเป็นตลาดสินค้าขนาดใหญ่ เมื่อตลาดตรงนี้ใหญ่ก็จะมีการผลิตในประเทศมากขึ้น ต้นทุนในการผลิตก็จะถูกลง แต่เมื่อไปศึกษาในหลายๆประเทศประมาณ 13 ประเทศ พบว่า คนชั้นกลางส่วนใหญ่เป็นมนุษย์เงินเดือน ไม่ได้เป็นผู้ประกอบการ มีวิถีชีวิตเพื่อสร้างความมั่นคงให้ตนเอง แล้วยังลงทุนทางด้านการศึกษาให้ลูกหลานเป็นมนุษย์เงินเดือนเช่นกัน 3. แนวคิดนี้เป็นแนวคิดที่จะอยู่ในสังคมที่ไม่มีความแตกต่างกันมาก เป็นสังคมที่กลายเป็นฉันทามติคนชั้นกลาง ซึ่งแนวคิดนี้ยังไม่มีข้อสรุป


 


ส่วนในเรื่องการลงทุนทางด้านการศึกษาของชนชั้นกลาง คนชั้นกลางในชนบทลงทุนในเรื่องการศึกษาน้อยกว่า อาจจะเป็นเพราะค่าเดินทางที่แพง และปัจจัยอื่นๆ เรื่องการกู้ยืมเงินของชนบทมีสัดส่วนที่คนกู้ไม่ได้ต่ำกว่าในเมืองด้วย เพราะว่า มีเงินกองทุนหมูบ้านหรืออะไรต่างๆเข้าไปทำให้เด็กหลายคนตกหล่น


เมื่อคนชั้นกลางกลายเป็นมนุษย์เงินเดือนซึ่งแยกได้เป็นคนชั้นกลางระดับล่างและคนชั้นกลางระดับบน คนชั้นกลางระดับล่างจะได้เงินเดือนเป็นรายวันหรือรายชิ้น แต่คนชั้นกลางในระดับบนจะขยับมาได้เงินเป็นรายเดือน  ซึ่งอาชีพของคนชั้นกลางในระดันล่างเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนของรายได้


 


นิพนธ์ กล่าวทิ้งท้ายถึงประเด็นคนชั้นกลางไว้ว่า จาการอธิบายเรื่องคนชั้นกลางนั้น เพราะคนชั้นกลางมีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศ ไม่ว่าการปฏิรูปทางเศรษฐกิจแบบใดๆก็แล้วแต่ถ้าไม่เริ่มที่คนชั้นกลาง ประเทศนั้นก็จะไปไม่รอด


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net